ปัจจุบันการนำเสนอข่าวสารแข่งขันที่ความฉับไว สื่อใดเผยแพร่เนื้อหาก่อนสื่ออื่นๆ ย่อมได้เปรียบมากกว่า ยิ่งในโลกออนไลน์ทุกข้อมูลจำเป็นต้องโลดแล่นด้วยความเร็วสูง จนบ่อยครั้งอาจส่งผลให้ข่าวจำนวนไม่น้อยเขียนขึ้นโดยเพี้ยนจากข้อเท็จจริง
สิ่งที่ผมจะเล่าผ่านอีกหลายบรรทัดถัดไปเกี่ยวข้องกับกรณีข่าวสารบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีหรืออาจจะเกือบศตวรรษที่แล้ว สมัยนั้นการเสาะหาข่าวมานำเสนอคงไม่แคล้วอาศัยความฉับพลันทันเวลา แม้จะแช่มช้ากว่าในปี พ.ศ.นี้ก็ตามที และพอเร่งรีบเข้าจึงปรากฏข่าวที่เขียนพลาดอย่างเข้าใจผิดอยู่เนืองๆ
งั้นผมจะไม่มัวเรื่อยเฉื่อย เราลองมาพิจารณาดูกันเลยดีกว่า เริ่มจากเหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมืองไทยในปีแรกสุดของทศวรรษ 2470 หนังสือพิมพ์หลายฉบับต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ได้ลงพาดหัวเสียน่าตื่นเต้นคือ
‘หม่อมเจ้าหญิงพูนถูกยิง’
เดี๋ยวๆ คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งขมวดหัวคิ้ว ตามวิธีนับศักราชของไทยแบบเดิม เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 เทียบกับวิธีนับศักราชปัจจุบันจะได้เป็นกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 ส่วนหม่อมเจ้าหญิงพูนก็จะใครล่ะนอกจากท่านหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นยังเป็น ‘กรมพระดำรงราชานุภาพ’)
ข่าวข้างต้นทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นเฝ้าติดตามรายละเอียด รวมถึงรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยต่อมูลความจริง ทางกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ‘กัมมันโต’ รายสัปดาห์พยายามไปสืบเสาะจนได้ความคลี่คลายกระจ่างชัด พร้อมลงพิมพ์ถ้อยอธิบายในฉบับประจำวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469
มีข่าวเล่าลือกันเซงแส้ร์ว่า- หม่อมเจ้าหญิงพูนในพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ เสด็จกลับจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ขบวนรถไฟแล่นมาถึงบ้านหัวดงในมณฑลพิศณุโลก มีผู้รายลอบเอาปืนยิงหม่อมเจ้าหญิงพูน แต่ด้วยเดชะบุญ กระสุนปืนหาได้ถูกพระองค์ไม่ เมื่อมีข่าวพูดเล่าลือกันเช่นนี้ นัยว่าพวกข้าไทยที่ฝักใฝ่ในกรมพระดำรง ได้พากันไปเยี่ยมเยือนถามข่าว เปนอันมาก แต่คงได้ความดูเหมือนว่ามีข่าวโทรเลขบอกมาว่า- ขบวนรถไฟที่หม่อมเจ้าหญิงพูนเสด็จกลับมานั้น นัยว่ามีผู้ร้ายลอบยิงนายสถานี แต่คำที่ว่านายสถานีนั้นตกหล่นขาดหายไปจึงเลยกลับกลายเปนว่าหม่อมเจ้าหญิงพูนถูกยิง
ดูเอาเถ๊อะช่างพูดลือกันได้ออกเซ๊งแสร์จนกระฉ่อนเมืองถึงปานดังนี้ เราสืบสวนได้ความว่าไม่เปนการสมจริงทั้งเพ หม่อมเจ้าหญิงพูนได้เสด็จกลับมาถึงวังแล้วตามปรกติฯ
สรุป ผู้ถูกลอบยิงหาใช่หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย แต่คือนายสถานีรถไฟบ้านหัวดงต่างหาก เท่าที่ผมเคยอ่านชีวประวัติท่านหญิงพูนพิศมัยมาจากหนังสือหลายเล่มก็ไม่เคยผ่านตาเรื่องนี้ (เอ๊ะ หรืออาจจะมีนะ แต่ผมยังไม่เห็น) ดูสิครับ เพียงแค่ตกคำว่า ‘นายสถานี’ เนื้อหาข่าวเปลี่ยนไปคนละแบบเลย
ข่าวสารอีกประเภทหนึ่งที่มักพบข้อผิดพลาดบ่อยๆ เห็นจะมิพ้นข่าวต่างประเทศ หรือริมฝีปากคนสมัยนั้นเรียกขานว่า ‘ข่าวโทรเลข’ เหตุไฉนจึงเรียกฉะนี้น่ะรึ ก็เพราะเป็นข่าวที่สำนักข่าวฝรั่งส่งเนื้อหาภาษาต่างประเทศมาให้ในลักษณะโทรเลข ต่อจากนั้นกรมไปรษณีย์สยามจะพิมพ์อัดสำเนากระจายไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ โดยแต่ละฉบับต้องเสียเงินค่าบำรุงให้เป็นรายเดือน ได้ข่าวมาแล้วหน้าที่สำคัญตกเป็นของผู้แปลข่าวโทรเลขประจำหนังสือพิมพ์เพื่อถ่ายทอดสู่ภาษาไทย
ลำพังเปิดดิกชันนารี (dictionary) เก่งกาจหาได้ช่วยให้ผู้แปลข่าวโทรเลขทำงานราบรื่นหรอกนะ หากเขาจะต้องสามารถคาดเดาตัวอักษรในโทรเลขอย่างแม่นยำทีเดียว เนื่องจากกระดาษที่พิมพ์ข่าวโทรเลขนั้นสีเหลืองซีดเซียว เนื้อหยาบและเก่าคร่ำ พิมพ์สองหน้าแต่มีหลายบรรทัดถี่ยิบ สำหรับข่าวแต่ละเรื่องขึ้นต้นด้วยชื่อเมืองอันเป็นแหล่งข่าวด้วยอักษรตัวเล็ก เนื้อข่าวทั้งสิ้นก็ใช้อักษรตัวเล็กตลอด ไม่ปรากฏอักษรตัวใหญ่ขึ้นต้นประโยคใหม่หรือแสดงชื่อเฉพาะสักนิด ปราศจากเครื่องหมายค็อมม่า (,) และจุดฟุลสต๊อบ (.) อะไรเลย พอจบข่าวเรื่องหนึ่งก็ขึ้นย่อหน้าใหม่เป็นข่าวอีกเรื่องต่อไป มิได้ง่ายๆ เหมือนปอกกล้วยเข้าปากนะครับงานนี้ ผู้รับหน้าที่แปลข่าวโทรเลขจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ เรียกว่าพวกเขากินเงินเดือนเยอะรองจากบรรณาธิการเลย มิหนำซ้ำ ในบางฉบับอาจได้เงินเยอะกว่าบรรณาธิการ
อย่าเผลอกะพริบตา ! ผมจะแสดงตัวอย่างให้ยล
‘ปริ้นศ์วรรณไวทยากรจะเสด็จกลับประเทศสยามโดยมีไปรษณีย์บัตรคอยอยู่’
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเกือบ 100 ปีก่อนว่าไว้ ปริ้นศ์แน่นอนคือการเรียกทับศัพท์ของ ‘Prince’ ส่วนปริ้นศ์วรรณไวทยากร (Prince Wan Waithyakon) ได้แก่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ถัดมาภายหลังรู้จักกันในฐานะพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระองค์วรรณขณะนั้นกำลังดำรงตำแหน่งราชการในต่างประเทศ ครั้นเมื่อจะเดินทางกลับคืนสู่สยาม สำนักข่าวฝรั่งจึงส่งโทรเลขเข้ามาแจ้งยังเมืองไทย จุดสะดุดตาของพาดหัวข่าวอยู่ตรงนี้ “…โดยมีไปรษณีย์บัตรคอยอยู่”
ไปรษณียบัตรอะไรกัน? สำคัญมากแน่ๆ เพราะรอคอยปริ้นศ์ชาวสยาม แต่นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญยุคนั้นอย่างครูอบ ไชยวสุ เจ้าของนามปากกาเขียนเรื่องขบขันว่า ‘ฮิวเมอริสต์’ และ ‘L.ก.ฮ.’ นั่งอ่านดูชวนให้รู้สึกแปร่งๆ อดมิได้ที่จะไปขอยืมต้นฉบับโทรเลขภาษาฝรั่งมาทอดสายตาอีกหน อ้อ ผู้แปลข่าวโทรเลขแปล ‘post’ ว่าไปรษณีย์พร้อมเติม ‘บัตร’ ต่อท้ายเข้าไปด้วย เขาช่างไม่นึกเฉลียวใจเลย ‘post’ คำเดียวกันนี้ยังแปลว่า ตำแหน่งงานได้ด้วย แท้แล้ว ที่รอคอยพระองค์วรรณคือตำแหน่งงานนั่นล่ะครับ
ข่าวอีกชิ้นหนึ่งที่เข้าข่ายแปลผิดเป็นเรื่องของบุคคลสำคัญจากประเทศอินเดีย คนทำหนังสือพิมพ์และนักอ่านรุ่นปู่ย่าตายายให้ความสนใจเขามากๆ นับแต่ช่วงทศวรรษ 2460 เรื่อยมาจนทศวรรษ 2490 โมหันดาส การามจันด์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) คือชื่อเขา แต่ใครๆ เรียกตามสมัญญาที่มหากวีเอกรพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) มอบให้ว่า ‘มหาตมะ คานธี’ (Mahatma Gandhi) คราวหนึ่งมีข่าวหนังสือพิมพ์เด่นหรา
‘มหาตมะคานธีไปประเทศอังกฤษ พอถึงสถานีชาริงครอสส์กองทหารก็อ้าแขนต้อนรับนำไปขึ้นรถหลวง’
ในเมื่อคานธีต่อต้านอังกฤษ กองทหารอังกฤษมาอ้าแขนต้อนรับ เอ๊ะ แปลกพิกล ครูอบคนเดิมอีกนั่นล่ะที่ระแคะระคายกลิ่นอายการแปลผิดตอนข่าวนี้ถูกถ่ายทอดสู่สายตาสาธารณชน แล้วพอไปย้อนดูต้นฉบับข่าวโทรเลข ก็พบทันทีภาษาอังกฤษเขียนตรงจุดที่ “…อ้าแขน…” ว่า ‘with arms’ แปลโดยนัยยะคือกองทหารปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไปรับตัวนักต่อสู้ชาวอินเดียพร้อมด้วยอาวุธครบมือต่างหาก ส่วนในหัวใจพวกทหารมีอารมณ์ต่อคานธีประมาณเพลงตั๊กแตน ชลดา “เหนื่อยก็รู้ เหงาก็เข้าใจ แต่ไม่อาจให้ยืมอ้อมแขน…” บ้างรึเปล่าคงมิอาจทราบได้
เรื่องต่างประเทศที่ชอบกลายเป็นข่าวผิดพลาดบ่อยหนเหลือเกินในหนังสือพิมพ์ไทย ต้องบอกว่าเกี่ยวพันกับ ‘President’ จากสหรัฐอเมริกา เอาล่ะ ไม่พูดพร่ำทำเพลง ไปเบิ่งพาดหัวข่าว ณ บัดนี้
‘ท่านประธานาธิบดีวู้ดโรว์ วิลสัน ได้มาเยี่ยมฟิลิปปินส์พร้อมด้วยสิ่งของช่วยเหลือวาตภัยเป็นจำนวนมาก’
คนอ่านหนังสือพิมพ์ตอนนั้นคงเอามือทาบอก อ้าว ก็ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันถึงแก่มรณกรรมไปแล้วตั้งหลายปี (เขาตายปี ค.ศ. 1924 ตรงกับพ.ศ. 2467 แต่ข่าวนี้เหมือนจะเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว) อยู่ดีๆ นำสิ่งของมาเยี่ยมเยียนชาวฟิลิปปินส์ได้เยี่ยงไร อย่าบอกนะ บางทีอาจจะใช่วิญญาณก็เป็นได้ เฮ้ย ดึงสติ นี่ไม่ใช่รายการผีฮะ อย่างไรก็ดี คราวนี้ ผู้แปลข่าวโทรเลขไม่ได้แปลผิดด้วย เพราะเนื้อข่าวภาษาอังกฤษก็เขียนว่า ‘President Woodrow Wilson’ มาฟิลิปปินส์จริงๆ
การแปลบางข่าวนอกจากใช้ภาษาฝรั่งคล่องแล้ว บางทีต้องมีความรู้รอบตัวประกอบด้วย ‘President Woodrow Wilson’ ในบริบทข่าวดังกล่าว แท้แล้วเป็นชื่อเรือเดินสมุทรซึ่งได้บรรทุกสิ่งของมาช่วยเหลือเหตุการณ์วาตภัยที่ฟิลิปปินส์
ยานนาวาสัญจรสมุทรตระกูล ‘President’ หรือ ‘American President Lines’ ที่นิยมหยิบยกชื่อประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามาต่อท้ายนั้น สร้างความสับสนให้นักหนังสือพิมพ์หลายคนและหลายครั้ง อย่างเช่นคราวหนึ่งหนังสือพิมพ์เสนอข่าวประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะมาเยือนและมาหยุดพักที่เมืองไทย กลายเป็นข่าวเกรียวกราว นักอ่านพากันตื่นเต้น ที่ไหนได้ ประธานาธิบดีสหรัฐตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลย แต่เป็นเรือ ‘President’ นั่นเองที่แวะมาจอดเทียบท่าหยุดพัก
จะเห็นว่าข่าวสารหนังสือพิมพ์ที่เขียนพลาดในอดีตนั้น มูลเหตุมักมาจากการแปลข่าวโทรเลข ซึ่งจัดเป็นงานยากและต้องอาศัยความรอบคอบที่สุด ในปี พ.ศ.นี้ โทรเลขไม่มีอีกแล้วในประเทศไทย การแปลข่าวโทรเลขก็น่าจะห่างหายไปหลายนาน ทางด้านวิธีหาข่าวดูจะง่ายขึ้นแยะ บางทีบางใครแค่โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กยังถูกนำมาขยายข่าวแพร่หลาย ชวนให้อดสงสัยส่งท้ายมิได้ บ้านเราเคยผ่านตั้งแต่ยุคหาข่าวรวดเร็วสุดจากโทรเลขมาตราบจนยุคหาข่าวฉับไวจากโลกออนไลน์ โดยกาลเวลามีพัฒนาการแน่ๆ แต่ที่ดูเหมือนยังคงคลับคล้ายคลับคลากันแทบทุกยุคก็คือข่าวสารมักผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงอยู่ ช่างแลเห็นดาษดื่นสรดื้นสรดัดเชียวเอย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- นราธิปพงศ์ประพันธ์, พล.ต. กรมหมื่น. งานบัญญัติศัพท์ของพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด พิมพ์ถวายเป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ณ เมรุพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 28 ตุลาคม 2519. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์พิฆเณศ, 2519
- พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าหญิง. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าพูนพิศมัยดิศกุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 23 สิงหาคม 2533. กรุงเทพฯ : บริษัทวัชรินทร์การพิมพ์ จำกัด, 2533
- มหาตมา คานธี. ข้าพเจ้าทดลองความจริง อัตชีวประวัติของมหาตมา คานธี. แปลโดยกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย.พิมพครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2553
- “หม่อมเจ้าหญิงพูนถูกยิง” ใน กัมมันโต 1. ฉ.10 (วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2469). หน้า 15
- สมบูรณ์ วรพงษ์. บนเส้นทางหนังสือพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : เพื่อนชีวิต, 2534
- ฮิวเมอริสต์. “ข่าว” ใน ลลนา. ล. 68 ปักษ์หลัง (ตุลาคม 2518). หน้า 36-40
- Cooper, John Milton. Woodrow Wilson: a biography. New York: Vintage Books, 2011