คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเกม INSIDE ถ้าใครไม่เคยเล่น กรุณาเลิกอ่านโดยพลัน สละเวลา 3-4 ชั่วโมงในชีวิตไปโหลดเกมนี้มาเล่นก่อนอ่าน รับรองว่าไม่ผิดหวัง!
เด็กชายตัวน้อยวิ่งหนีหัวซุกหัวซุนกลางป่าลึก หนีใครหรือทำไมก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าถ้าถูกเงาตะคุ่มหรือสุนัขของพวกนั้นตะครุบตัวได้ เป็นอัน game over ต้องเริ่มต้นใหม่ วิ่งไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่แดนสนธยา อาคารทึบทะมึนไฟสลัวรางเลือน ข้างในเต็มไปด้วยหุ่นยนต์ เครื่องจักรกล คนใส่เสื้อขาว (นักวิทยาศาสตร์?) ทำการทดลองอะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าขนพองสยองเกล้าขึ้นเรื่อยๆ วิ่งไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่ายน้ำ ดำน้ำ ปรับระดับน้ำ ปรับแรงโน้มถ่วงกลับด้าน (โลกอนาคต?) ใส่หมวกบังคับฝูงซอมบี้ (คนประดิษฐ์?) ให้ช่วยพาหนี ล้มลุกคลุกคลานเพื่อที่สี่ชั่วโมงให้หลังจะได้นั่งมองฉากจบยามเย็น ฉากที่ไม่มีเด็กน้อยอยู่ในนั้นอีกต่อไป
ถ้าไม่นับอาร์ตไดเร็กชั่นที่สร้างอารมณ์ร่วมได้ ‘เป๊ะ’ ไม่ต่างจากภาพยนตร์ดีๆ หนึ่งเรื่อง แม้ว่าทั้งเกมจะไม่มีใครพูดอะไรเลย ประกอบกับระบบเกมที่ผนึกคนเล่นอย่างแนบสนิทเข้ากับโลกของเกม ความที่ไม่มีอินเทอร์เฟซโผล่ขึ้นมาและเล่นง่ายอย่างยิ่ง (ทั้งเกมใช้แค่ปุ่มวิ่งซ้ายขวา และ ‘แอ็คชั่น’ อีกปุ่มเดียวบนคีย์บอร์ด) ย่อหน้าข้างต้นก็อาจเพียงพอแล้วที่ใครจะสรุปว่า INSIDE เป็นเกมแพลตฟอร์มแก้ปริศนา (puzzle platformer) ธรรมดาๆ เกมหนึ่ง
สนุกและมีสไตล์กว่าเกมทั่วไป แต่ไม่ได้มี ‘อะไร’ มากกว่านั้น
ต่อเมื่อย้อนกลับไปเล่นใหม่ คราวนี้ตั้งใจสังเกตสิ่งต่างๆ จนพบเส้นทางไป ‘ฉากจบลับ’ เท่านั้น เราจึงจะได้คลี่ปริศนาชั้นต่างๆ ของเกมนี้ออกมา – ปริศนาที่ตั้งคำถามคมๆ มากกว่านำเสนอคำตอบแกนๆ
ปริศนาที่น่าขบคิดทั้งหมด อาจมีจุดเริ่มต้นจากคำว่า ‘ซอมบี้’
ใน INSIDE เราในฐานะเด็กน้อยจะเจอฝูง ‘ซอมบี้’ มากมาย – ไม่ใช่ผีดิบกินคน หากเป็นสิ่งที่ดูเหมือนคนแต่ไร้ซึ่งชีวิตจิตใจ ราวกับว่าถูกตั้งโปรแกรมมาแล้วว่า ‘ชีวิตนี้ต้องเดิน’ เป็นสรณะ ถ้าเดินไปทางไหนก็จะเดินไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ ถ้าเจอตะแกรงหรือสิ่งกีดขวางก็จะพยายามปีนป่ายหรือยกมันออกเพื่อให้เดินต่อไปได้
เมื่อเราสวม ‘หมวกควบคุม’ – หมวกเหล็กตะปุ่มตะป่ำสายระโยงระยาง ลงไป เราก็จะสามารถควบคุมทิศทางการเดินของซอมบี้ได้ตามใจต้องการ หลายฉากเราต้องควบคุมให้ซอมบี้เดินไปกองรวมกันเพื่อกดสวิตช์ ผลักกรง บางทีฝูงซอมบี้จะช่วยโยนตัวเราไปขึ้นที่สูง บางฉากเราต้องทำตัวเลียนแบบซอมบี้เหล่านี้ เพื่อผ่านด่านตรวจไปให้ได้ (เป็นตลกร้ายที่ผู้เขียนชอบที่สุดฉากหนึ่งในเกม)
แต่ ‘ฉากจบลับ’ กลับทำให้เราพบว่า เด็กน้อยในเกมก็เป็น ‘ซอมบี้’ เหมือนกัน
แต่เรื่องก็ไม่จบเท่านั้นอีก!
การปลดล็อกฉากจบลับนั้นยากเย็นไม่ใช่เล่น ก่อนอื่นเราต้องย้อนกลับไปควานหาลูกบอลเหล็ก 13 ใบที่ซ่อนอยู่ตามเลเวลต่างๆ ในเกมให้เจอ (โดยมีเบาะแสคือสายไฟที่ยืดยาวออกมาถึงลูกบอล) ดึงปลั๊กดับไฟบนลูกบอลทุกลูก วกกลับไปยังทุ่งข้าวโพดซึ่งเป็นฉากแรกๆ ในเกม บันไดลับจะเปิดออกให้เราปีนลงไปในฐานทัพใต้ดิน จากนั้นพอกดโค้ดดนตรีลับเปิดประตู (ซึ่งต้องจดใส่กระดาษมาจากซอกตึกเล็กๆ ตอนที่ไปดึงปลั๊กลูกบอลลูกที่ห้า) ปีนเข้าไปในอุโมงค์มืดยาว สุดท้ายไปโผล่ที่ห้องควบคุม
ในห้องนี้มีหมวกเหล็กหน้าตาเหมือนกับที่เราใช้คุมซอมบี้ตลอดทั้งเกม แต่จุดที่ต่างออกไปคือใบนี้เชื่อมติดอยู่กับพื้น เมื่อเราเปิดตะแกรงและดึงปลั๊กออกจากผนัง ร่างของเด็กน้อยก็ร่วงผล็อยลงกับพื้น แน่นิ่งไม่ไหวติง
และจอของเราคนเล่นก็ค่อยๆ ดับวูบลง
ในเมื่อเด็กน้อยนิ่งสนิทหลังจากที่ถอดปลั๊ก ไม่ต่างจาก ‘ซอมบี้’ เวลาที่เราถอดหมวกควบคุมออก INSIDE ดูจะสื่อสารตรงๆ ว่า เราในฐานะคนเล่นนั่นเองที่ควบคุมเด็กน้อย เขาไม่ได้ฝ่าฟันภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงด้วยเจตจำนงของตัวเอง แต่เป็นเพราะเราสั่งให้เขาทำ
ณ จุดนี้ INSIDE ดูเหมือนจะส่งสารคล้ายกับ BioShock (อ่านบทความย้อนหลังได้ในคอลัมน์นี้) แต่ทฤษฎีนี้จะดูอ่อนเกินไปทันทีที่เรามาครุ่นคิดว่า ‘เด็กน้อย’ ในเกมนี้เป็นใครกันแน่
ถึงแม้ว่าเขาจะหยุดเคลื่อนไหวไม่ต่างจากซอมบี้ทันทีที่ดึงปลั๊กออกในฉากจบลับ ตลอดเกมก็ชัดเจนว่าเด็กน้อยไม่เหมือนซอมบี้เหล่านั้นแน่ๆ ยกตัวอย่างเช่น ซอมบี้ไม่ว่าหญิงชายล้วนแต่ทนทายาดกว่ามนุษย์ปุถุชน ตกจากที่สูงๆ ก็ลุกขึ้นมาเดินปร๋อต่อไปได้ แต่เด็กน้อยตกจากที่ไม่สูงมากก็คอหักแล้ว ยังไม่นับว่าเด็กน้อยมีความสามารถมากกว่าซอมบี้หลายอย่าง เช่น สามารถว่ายน้ำ กระโดด และพอถึงฉากหลังๆ ก็ควบคุมซอมบี้ได้โดยไม่ต้องสวมหมวกควบคุมเลยด้วยซ้ำ!
ถ้าหากเด็กน้อยเป็น ‘หนูทดลอง’ ในเกม (ซึ่งฉากจบลับดูจะบอกเช่นนั้น) เขาก็ ‘ก้าวหน้า’ กว่าซอมบี้ตัวอื่นๆ มาก แต่คำถามต่อไปก็คือ ถ้าหากเขาเป็นหนูทดลองที่บังเอิญ (?) หนีจากศูนย์ทดลอง/โรงงานแห่งนี้ได้ แล้วเขากลับเข้ามาทำไม?
ฉากแรกๆ ของ INSIDE ในป่าลึกและทุ่งข้าวโพดชวนให้เชื่อว่าเด็กน้อยกำลังหนี ออกมา แต่ไม่นานเราจะถึงบางอ้อว่า เขากำลังวิ่งกลับ เข้าไป ข้างใน – กลับไป INSIDE ตามชื่อเกมต่างหาก!
ในเมื่อเด็กน้อยวิ่งกลับเข้าไปข้างใน และในเมื่อฉากจบธรรมดาของเกมนี้ (ที่ไม่ต้องขวนขวายเท่ากับฉากลับ) บอกเราว่าเด็กน้อยถูก ‘กลืน’ เข้าไปในก้อนเนื้อมหึมาน่าเกลียด ก้อนเนื้อที่ดูเหมือนจะมีเจตจำนงของตัวเอง ทฤษฎีที่ดูมีความเป็นไปได้มากกว่า ‘ถอดปลั๊ก=ถอดเด็กน้อยออกจากคนเล่น’ ก็คือ ‘ถอดปลั๊ก=ถอดเด็กน้อยออกจากก้อนเนื้อยักษ์’ ต่างหาก
ทฤษฎีใหม่นี้ชี้ว่า จุดหมายปลายทางของการวิ่งและว่ายทั้งหมดของเด็กน้อย คือ การวิ่งเข้าไปช่วยก้อนเนื้อยักษ์ให้หนีออกจากโรงงาน ได้สำเร็จ ก้อนเนื้อยักษ์นั่นเองที่เพรียกหาเด็กน้อยให้กลับเข้าไปข้างใน เพราะมันมีศักยภาพมากพอที่จะหนีออกจากกรงใต้น้ำได้สำเร็จก็ต่อเมื่อมันกลืนกินเด็กน้อยเข้าไปแล้ว ดูดซับ ‘ความสามารถ’ ของเขาเข้าไปแล้ว
(ภายใต้ทฤษฎีนี้ ฉากใต้น้ำที่เด็กชาย ‘รวมร่าง’ เข้ากับสิ่งมีชีวิตประหลาดใต้น้ำไม่ได้แปลว่าเขาเสียท่าแต่อย่างใด สิ่งมีชีวิตตัวนี้ที่ดูคุกคามและเราว่ายหนีตลอดมานั้นจริงๆ ไม่ได้อยากฆ่าเรา แต่อยากมอบความสามารถในการหายใจใต้น้ำให้กับเราต่างหาก – ซึ่งความสามารถนี้ก็ขาดไม่ได้ในการช่วยให้ก้อนเนื้อหนีออกมา)
เราคิดว่าเรา ‘เล่นเป็น’ เด็กน้อยตลอดทั้งเกม แต่จริงๆ แล้วเราเล่นเป็นก้อนเนื้อยักษ์ที่ควบคุมเด็กน้อยอีกทอดหนึ่งต่างหาก
หรือถ้าจะพูดให้ถูกกว่านั้น คือ ก้อนเนื้อยักษ์นั่นเองที่ควบคุมเรา (คนเล่น) เพราะเราแทบไม่รู้อะไรเลยระหว่างเล่นว่าทำอะไรไปเพื่ออะไร รู้แต่ว่าต้องหาทางไปฉากอื่นให้ได้โดยไม่ถูกจับ หรือตายด้วยวิธีสยดสยองต่างๆ
เด็กน้อยไม่เป็นอิสระ เราก็ไม่เป็นอิสระ แต่ก้อนเนื้อยักษ์เป็นอิสระจริงหรือ?
ฉากจบธรรมดาฉายภาพก้อนเนื้อยักษ์นั่งตากแดดรำไร ดูเหมือนมีความสุขที่หลบหนี ออกมา จากศูนย์ทดลอง/โรงงานได้สำเร็จ แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าแดดนั้นดูผิดธรรมชาติ ดูละม้ายคล้ายกับแสงไฟสปอตไลท์มากกว่าแสงจากดวงอาทิตย์
ถ้าย้อนกลับไปดูฉากกรงขังก้อนเนื้อก่อนที่มันจะทุบกระจกหนีออกมาได้ เราจะพบว่าตำแหน่งของแสงสปอตไลท์นั้นตรงกับฉากชายหาดตอนจบเปี๊ยบเลยทีเดียว
เท่ากับว่าตลอดทั้งเกม เราเริ่มต้นจาก ข้างนอก ที่เป็นธรรมชาติจริงๆ เข้ามาลงเอย ข้างใน – INSIDE อันเป็น ‘ข้างนอกเสมือน’ คือโลกเลียนแบบธรรมชาติ
และสุดท้าย แม้แต่ก้อนเนื้อก็ยังอยู่ข้างใน ยังคงเป็นวัตถุแห่งการศึกษาทดลองของใครบางคน หรืออะไรสักอย่างต่อไป
เกมจบลงไปแล้ว แต่เราคนเล่นจะรู้ได้อย่างไรว่า เราไม่ได้กำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกเสมือน หรือเกมคอมพิวเตอร์ของสิ่งเหนือมนุษย์อะไรสักอย่าง?
ฟังดูเหมือนสมมุติฐานที่ไม่มีทางทดสอบได้ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าทำได้ ยกตัวอย่างเช่น โซเรห์ ดาวูดิ (Zohreh Davoudi) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที บอกว่า “ถ้าหากจักรวาลของเราเป็นโลกเสมือนจริงๆ และการจำลองจักรวาลนี้ต้องอาศัยทรัพยากรการคำนวณที่มีขีดจำกัด (finite computational resources) แบบที่เราเผชิญ [เวลาที่เราเขียนโปรแกรม] ก็แปลว่ากฎฟิสิกส์ทั้งหมดจะต้องวางอยู่บนจุดที่มีจำนวนจำกัด ในปริมาตรที่มีจำนวนจำกัด …ทีนี้เราก็ต้องกลับไปดูว่าจะเจอสัญญาณอะไรบ้างที่บอกได้ว่า เราเริ่มต้นจากกาล-อวกาศ (spacetime) ที่ไม่ต่อเนื่อง (non-continuuous)”
ดาวูดิบอกว่า หลักฐานทำนองนี้ อย่างเช่นการกระจายตัวของพลังงานในรังสีคอสมิก (cosmic rays) ซึ่งบ่งชี้ว่ากาล-อวกาศประกอบด้วยจุดแต่ละจุด (discrete points) ไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน จะเพียงพอให้เขาเชื่อว่าเราและจักรวาลทั้งหมดเป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์
ต่อให้เรารู้ว่าชีวิตและจักรวาลทั้งหมดไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงโลกเสมือนแบบใน เดอะ เมทริกซ์ คำถามคือ แล้วไงล่ะ?
แม็กซ์ เท็กมาร์ก (Max Tegmark) นักจักรวาลวิทยาจากเอ็มไอที เสนอยิ้มๆ ว่า “ผมคิดว่าคุณก็ควรจะออกไปทำในสิ่งที่น่าสนใจ …อะไรก็ตามที่คุมโลกเสมือนจะได้ไม่ปิดโปรแกรมคุณลง”
‘พระเจ้า’ อาจเป็นสุดยอดแฮ็กเกอร์ในโลกถัดไป มิใช่ชายชราเครายาวในจินตนาการแต่โบราณ
แต่ไม่ว่าพระเจ้าจะมีอยู่จริงหรือไม่ INSIDE ก็ฉุกให้คิดอย่างแยบยลถึงกลไกของธรรมชาติ อำนาจ และฉากจบทั้งลับและไม่ลับก็จะถามคำถามหลายคำถามที่จะก้องกังวานไปอีกนาน
ดังเช่นคำถามที่ว่า อำนาจที่แท้จริงคืออะไร หากมิใช่ความสามารถในการควบคุมความคิด โดยให้เป้าหมายสำคัญผิดว่าตนเองเป็นอิสระ?