เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา (จริงๆ คือวันที่ 4 กันยายน 2560 แต่มีการเปลี่ยนแปลง ดังรายละเอียดที่ผมจะแจ้งต่อไป) ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกแถลงการณ์เพื่ออธิบายต่อสาธารณะถึงเหตุผล รวมถึงอุดมการณ์เบื้องหลังวิธีคิดของคำตัดสินที่มีต่อเนติวิทย์ และเพื่อนๆ[1] (การตัดสินได้ผลสรุปเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2560 และนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งฝ่ายสนับสนุนฝั่งนิสิต และฝั่งที่สนับสนุนจุฬาฯ) คำแถลงการณ์ของทางจุฬาลงกรณ์ฯ นี้ หากอ่านผ่านๆ แล้วอาจจะรู้สึกว่า “อืมมมม ก็ดูดีนะ” หรือ “มันก็โอเค มีเหตุมีผลอยู่” อะไรแบบนี้ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสัญญาณอันตรายได้ หากอ่านแล้วเกิดความรู้สึกแบบนั้นขึ้นจริงๆ วันนี้เลยจะลองมาแกะร่องรอยทางความคิดดู ว่าแถลงการณ์ของจุฬาฯ นี้เขียนขึ้นบนฐานทางความคิดอย่างไร
ก่อนที่ผมจะพูดถึงรายละเอียดอะไรในเชิงข้อถกเถียงในทางความคิด อยากจะเริ่มจากประเด็นเล็กๆ ก่อน ที่อ่านตอนแรกก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พออ่านจบแล้วก็ต้องงงกับแถลงการณ์นี้ เค้าว่างี้ครับ
“ประการที่หนึ่ง ในกรณีการลงโทษทางวินัยอื่นๆที่ผ่านมา จุฬาฯ มิได้เปิดเผยรายละเอียดคำตัดสินลงโทษต่างๆ ด้วยเกรงว่าจะส่งผลต่ออนาคตของนิสิตที่ถูกลงโทษ…”
คือ เนื่องจากมันเป็น ‘ประการที่หนึ่ง’ อะนะครับ อ่านตอนแรกเลยไม่รู้สึกอะไร แต่พออ่านจนจบครบถ้วนดีแล้ว หากได้อ่านประโยคนี้ซ้ำ หรือจำความในประโยคนี้ได้ก็จะต้องสงสัยกันบ้างแหละครับว่า “ตรงไหนของแถลงการณ์นี้วะที่เขียนมาโดยมีเนื้อหาที่ปกป้องอนาคตของนิสิตหรือช่วยให้อนาคตของเด็กดีขึ้น ในกระแสดราม่าร้อนเร่าๆ ที่กำลังมีอยู่?” เนื้อหาทั้งหมดในแถลงการณ์นี้มีขึ้นเพื่อปกป้องหรือแก้ต่างข้อหาที่จะมาสร้างมลทินให้กับตัวมหาวิทยาลัยเองล้วนๆ ครับ ไม่ได้เขียนอะไรเพื่อไปล้างมลทินให้อนาคต ‘นิสิต’ เลย หากจะมีอะไรที่เกี่ยวกับเนื้อหาในแถลงการณ์นี้บ้างก็คือ “นิสิตเหล่านี้คือตัวร้าย ที่ไม่รู้ความและไม่เข้าใจหลักการของสากลโลก (แต่ผยองคิดว่าตัวเองเข้าใจ) มหาลัยจึงใจดีลงมาดูแลตามกระบวนการ” เท่านั้นครับ เอาจริงๆ ไอ้การเริ่ม ‘ประการแรก’ แบบนี้ของทางจุฬาฯ เองก็ฟ้องนิสัยได้ในระดับหนึ่งกันแล้ว
นอกจากนี้ผมยังเพิ่งได้รับทราบมาว่าแถลงการณ์ฉบับที่อ้างอิงถึงนี้ ทางจุฬาฯ เองนั้นมีการแอบเปลี่ยนเนื้อหาของตัวแถลงการณ์ด้วย ที่เรียกว่า ‘แอบ’ เพราะไม่เพียงไม่มีฟังก์ชั่นในการให้ย้อนดูได้ว่ามีการแก้ไขแล้ว ยังไม่มีการบอกให้ทราบว่าบทความมีการแก้ไขขึ้น หรือแก้ไขจุดใดบ้าง ที่เห็นชัดๆ ว่าจงใจก็คือ แถลงการณ์นี้ลงครั้งแรกจริงๆ ในวันที่ 4 กันยายน 2560 แต่ในบริเวณหน้าเว็บมีการลงรายละเอียดว่าเผยแพร่วันที่ “6 กันยายน 2560” พร้อมกับลงท้ายว่า “แก้ไขครั้งสุดท้ายวันที่ 6 กันยายน 260 เวลา 19.00 น.” การเปลี่ยนวันที่ที่ลงแถลงการณ์ให้ตรงกับวันแก้ไขครั้งหลังสุดนั้นนับผมคิดว่าน่าจะพอนับได้ว่าเป็นความจงใจในการ ‘แอบ’
เนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นก็ชัดเจนว่าแก้ไขเอา “ส่วนที่เหมือนจะยอมรับความไม่ดีของจุฬาฯ เอง (แม้แต่เพียงน้อยนิด)” ออกไป ซึ่งต้องขอบคุณคุณ Thanawat Wongchai ที่ได้แคปรูปเอาไว้เป็นหลักฐาน และนำมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของเขา (ผมได้ขออนุญาตนำรูปมาลงแล้ว แต่สามารถดูรูปและตัวโพสต์เต็มๆ ของคุณธนาวัฒน์ได้ที่ลิ้งก์นี้ครับ www.facebook.com) เนื้อหาเดิมคือส่วนบน และส่วนล่างคือเนื้อหาแถลงการณ์ที่แสดงอยู่ในปัจจุบันนะครับ
ส่วนที่ลบออกไปนี้เองคือส่วนที่ชี้ให้เห็นชัดถึง ‘จุดประสงค์หลัก’ ของแถลงการณ์นี้ว่าไม่ได้มีเจตนาเขียนขึ้นเพื่อนิสิตคนใดเลย แต่มีขึ้นเพื่อ ‘ปกป้องชื่อของมหาวิทยาลัยให้ไร้มลทิน’ อย่างการตัดคำว่า “…เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าอับอายยิ่งสำหรับมหาวิทยาลัย..” หรือ “…จุฬาฯ ไม่คาดหวังให้สื่อตะวันตกเห็นชอบกับการตัดสินใจและวิธีการในเรื่องนี้…” ออกไป เพราะทางจุฬาฯ อ่านแล้วคงจะทราบดีว่าเนื้อหาส่วนพวกนี้ เมื่ออ่านแล้วแปลว่าจุฬาฯ เองยอมรับว่า ‘ตัวเองมีส่วนผิด’ หรืออย่างน้อยๆ วิธีการที่ตนทำลงไปนั้นมันมีโอกาสสูงที่จะไม่ถูกต้องตามมาตราฐานสากลที่ตนชอบอ้าง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อปรับแก้ภาษาชุดเดิมออกไปแล้ว เนื้อหาฉบับปัจจุบัน ก็ดูจะมีความเป็น ‘นางฟ้า’ หรือ ‘นางเอก’ ตามภาษาบ้านๆ ไปเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ผมจะขอยึดการวิจารณ์ใดๆ ต่อจากนี้ทั้งหมดตาม ‘เวอร์ชั่นปัจจุบัน’ หรือ ‘เวอร์ชั่นแก้แล้ว ดีแล้ว’ ของจุฬาฯ เลยนี่แหละครับ ว่าขนาดแก้แล้วแก้อีกเอาให้ภาพตัวเองดีที่สุดแล้ว ยัง ‘ย่ำแย่’ อยู่ปานใด
ผมคิดว่าเนื้อหาหลักๆ ของแถลงการณ์นี้ เริ่มจากส่วนนี้
“ประการที่สาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์เกี่ยวกับความเป็นอนุรักษนิยมของมหาวิทยาลัย พร้อมคำวิจารณ์ว่า จุฬาฯ ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับความคิดที่แตกต่าง ทางจุฬาฯ ขอย้ำว่ามหาวิทยาลัยเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมรับความแตกต่างนั้น พิธีการทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยเป็นกิจกรรมที่นิสิตเข้าร่วมโดยสมัครใจและมีสิทธิที่จะไม่เข้าร่วม โดยไม่มีผลเสียใด ๆ ต่อตัวนิสิต…”
(อย่างที่เห็นนะครับว่าที่แถลงการณ์นี้ดีเฟนด์นั้นคือ ‘ตัวมหาลัย’ เอง) ข้อความข้างต้นนี้อ่านผ่านๆ อาจจะดูเหมือนไม่มีปัญหาอะไร แต่เอาจริงๆ มันฟ้องว่าผู้บริหารมหาลัยชั้นนำของประเทศไทยนี้ (หรืออย่างน้อยเค้าก็อ้างตัวเองเช่นนี้ประจำ) ไม่เข้าใจแนวคิดเรื่อง Consent หรือ ‘ความยินยอมพร้อมใจ’ เลย
คือ แนวคิดเรื่อง Consent นี้เป็นอะไรที่มาพร้อมกับสภาวะความเป็นสมัยใหม่และมีการพัฒนาเพิ่มเป็นลำดับ ทั้งยังมีการแยกชนิดแยกหมวดหมู่หลายขนานด้วย แต่โดยหลักการแล้ว Consent นั้นมันคือ การแสดงออกซึ่งความยินยอม/ยินดีที่จะทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างตามเงื่อนไขที่มีขึ้นกับชุมชนการเมืองนั้นๆ หรือคู่ความสัมพันธ์ที่ต้องอาศัยการตัดสินใจต่างๆ นั่นเอง รูปแบบที่เราอาจจะเคยชินที่สุดก็อย่างเช่น การที่เพื่อนชวนกันไปกินข้าว ว่า “เฮ้ย เที่ยงนี้ไปกินร้านลุงตู่ปากไวดีมั้ย?” แล้วถ้าเพื่อนโอเคกันหมดก็ไปกินกัน นี่ก็เป็นลักษณะหนึ่งของความยินยอมพร้อมใจ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แบบนี้มักจะอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า Expressed Consent คือ มีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่ายินยอมหรือไม่ยินยอม แน่นอนบางครั้งอาจจะมีลักษณะของ Implied Consent คือ การอนุมานเอาว่าพร้อมใจจากลักษณะแวดล้อมหรือการที่เพื่อนมันเงียบแต่สุดท้ายก็ตามๆ เรามา อะไรแบบนี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ Expressed Consent มีน้ำหนักกว่า Implied Consent เสมอ (และหลังๆ มา Implied Consent เองก็ไม่เป็นที่ยอมรับนักแล้ว)
ซึ่งจุดนี้เราต้องตอกย้ำและเข้าใจจุดยืนนี้ให้ชัด เพราะมันส่งผลต่อวิธีคิดในวงที่ ‘กว้าง’ ขึ้นไปด้วย เช่น การแต่งตัวยั่วเย้า ไม่ได้เป็น Implied Consent ให้มาข่มขืนหรือมีเพศสัมพันธ์ด้วยได้ และต่อให้สังคมใดตีความผิดๆ ว่ามันมี Implied Consent แต่หากเหยื่อแสดงชัดเจนออกมาด้วย Expressed Consent ของตนว่า “ไม่ให้ทำ” นั่นย่อมสำคัญเหนือกว่า Implied Consent ใดๆ ก็ตาม หรือต่อให้เรามี Implied Consent จริงๆ แต่แรก แต่ Consent มันก็สามารถ ‘เปลี่ยนได้ตลอดเวลา’ (ตราบเท่าที่ไม่ใช่การยินยอมตามกฎหมายที่มีข้อตกลงผูกมัดเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างการทำนิติกรรมสัญญา) อย่างในกรณีการมีเพศสัมพันธ์ ต่อให้ตอนแรก ‘ยินยอม’ มีเพศสัมพันธุ์ด้วย (จะด้วย Implied หรือ Expressed Consent ก็ตาม) แต่เมื่อกาลล่วงไป ต่อให้เริ่มมีการ ‘สอดใส่’ (Penetrate) แล้วก็ตามที ก็สามารถเปลี่ยน Consent ของตนได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากแสดงออกมาอย่างชัดเจนด้วยการบอกว่า ‘ไม่ยินยอม’ (ซึ่งได้ทั้งจากคำพูด, การเขียน หรือท่าทางที่ชัดเจน อย่างการขัดขืน การส่ายหัว การเดินออก ฯลฯ) แล้ว ความยินยอมที่ยินยอมไว้ก่อนหน้า ย่อมถือว่าหมดไปครับ คิดเสียว่านัดกันไปกินข้าวกับเพื่อน ที่ทุกคนโอเคกันหมดในตอนแรก แต่สุดท้ายโดนเทไม่เหลือสักคนนั่นแหละ เพราะ Consent มันเปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา (อันนี้พื้นฐานนะครับ ยังไม่พูดถึงสภาพเสมือนยินยอมพร้อมใจ ที่เกิดจะสภาวะบังคับทางอื่นอีกที คือ ไม่ได้มี Consent ด้วยเจตจำนงของตนเองล้วนๆ นั่นแหละครับ ซึ่งแบบนี้ไม่นับเป็น Consent แต่แรก)
Consent ที่มีต่อการถวายสัตย์อะไรนี่ก็เหมือนกัน มันสามารถ ‘เปลี่ยนได้’ ตลอดเวลา เหมือนเซ็กซ์ที่แม้จะยอมให้สอดใส่แล้ว แต่จะให้หยุดเมื่อไหร่ก็ได้ด้วย กรณีที่เกิดขึ้นก็เช่นเดียวกัน ต่อให้มีความยินยอมพร้อมใจที่จะ ‘เข้าร่วมถวายสัตย์ในตอนต้น’ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็สามารถที่จะ ‘เปลี่ยนใจได้’ และการเดินออกจากพิธี ‘อย่างสงบ’ ไม่ได้ไปบังคับลากคอ ขืน Consent ใครอื่นให้ ‘ออกจากพิธีด้วย’ ย่อมไม่ผิดหลักการสากลอะไรใดๆ เลยครับ แต่การโดนลงโทษจากการไม่ได้ทำอะไรผิดเลยนี่ต่างหากที่คือความวิปริต และเข้าใจผิดอย่างมากของผู้อ้างตัวว่าเป็น ‘ปัญญาชนชั้นนำของไทย’
ลองดูท่อนนี้ของแถลงการณ์นะครับ
“นิสิตกลุ่มนี้เลือกที่จะก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยในพิธีการโดยการเดินออกไปจากแถวที่จัดไว้สำหรับพวกเขาในฐานะสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ และแสดง “พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์” โดยการยืนโค้งคำนับ ในขณะที่นิสิตคนอื่น ๆ นับพันคนถวายบังคมอย่างพร้อมเพรียงเป็นระเบียบ”
จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในตัวแถลงการณ์เองก็ยอมรับชัดเจนว่าสิ่งที่นิสิตกลุ่มนี้ที่ว่า (ซึ่งเราจะทำเป็นไม่รู้ว่าคือ ‘เนติวิทย์และเพื่อนๆ’ ก็ได้) ทำนั้น มันเพียงแค่การเดินออกจากแถวของพวกเขา และยังคงยืนโค้งคำนับอยู่ด้วยซ้ำ ไม่ได้ไปลากคอ ดึงเข่าให้ใครที่โค้งกราบกลางสายฝนให้ลุกขึ้นมาตามพวกเขาแม้แต่น้อย นี่มันคือเรื่องของ Consent อย่างชัดเจนที่สามารถเปลี่ยนได้ ปรับได้ ‘ไม่ผิดใดๆ’ ต่อให้ตั้งใจแบบนี้อยู่แล้วก็ไม่ผิดครับ เพราะไม่มีกฎของมหาวิทยาลัยใดจะมาสำคัญเหนือสิทธิเหนือร่างกายในฐานะมนุษย์ได้ (ฉะนั้นพวกโรงเรียนที่ยังบังคับตัดผม, ตีนักเรียน หรือบังคับยืนตากแดดหน้าเสาธงอยู่ ควรหัดใช้สมองส่วนที่เป็นมนุษย์ให้ทำงานกันบ้างนะครับ)
ส่วนสุดท้ายนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็น ‘วรรคทอง’ ของแถลงการณ์นี้เลยครับ อาจจะยาวสักนิด แต่ผมขออนุญาตแปะส่วนพีคๆ มาให้อ่านนะครับ เพราะสำคัญ
“กลุ่มนิสิตที่ถูกตัดสินลงโทษทางวินัย มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ทุกชุมชนและสังคมมีสิทธิที่จะเรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น โดยเฉพาะเมื่อการแสดงออกนั้นกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล พิธีถวายสัตย์ฯ แม้จะกำเนิดขึ้นมากว่า 20 ปี … จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประวัติอันยาวนานที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ยึดถือในแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย”
ข้ออ้างโคตรคลาสสิคเลยครับ นี่มันคือเรื่อง Multiculturalism ครับ หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่า ‘พหุวัฒนธรรมนิยม’ นั่นเอง มันคืออะไร? มันคือแนวคิดพื้นฐานทางสังคมวิทยาและปรัชญาการเมือง (ซึ่งเอาจริงๆ การใช้คำคำนี้ของ 2 ค่ายนี้ มีความต่างกันอยู่ แต่มันมีรากที่เป็นลักษณะร่วมกัน) คือ แนวคิดหรือสังคมที่คนจากหลากหลายที่มา หรือเชื้อชาติ หรือศาสนา หรืออื่นๆ ซึ่งมีรากทางวัฒนธรรม ความคิด และความเชื่อที่แตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ หากต่างคนต่างไม่ไปลดทอนคุณค่าหรือดูแคลนวัฒนธรรมอื่น (ไม่เห็นว่าดักดาน, งี่เง่า, ไม่เป็นเหตุเป็นผล, หรือพฤติกรรมเยี่ยงคนเถื่อน อะไรแบบนั้น) การทำอะไรบนฐานของความเชื่อที่ต่างกันควรได้รับการให้คุณค่าอย่างเท่าเทียมกัน แน่นอน นั่นย่อมหมายถึง “พิธีถวายสัตย์ และประวัติอันยาวนานที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์” ที่แถลงการณ์เอ่ยถึงด้วย
แนวคิดเรื่อง Multiculturalism นี้ โดยสากลแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามและควรค่าแก่การปกป้องสนับสนุน โดยเฉพาะในหมู่นักคิดสายเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายจำนวนมากในโลกตะวันตก (แน่นอน มีข้อยกเว้นบ้าง ที่ดังๆ ก็เช่น Slavoj Zizek ซึ่งมีข้อวิพากษ์ที่เมามันมากกับแนวคิดเรื่อง Multiculturalism รวมไปถึงเรื่อง Political Correctness ด้วย[2] เป็นต้น) ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุน Multiculturalism ในเชิงหลักการอยู่ไม่น้อย (แต่มีหลายส่วนที่ไม่นิยมชมชอบนักบ้างอยู่ แต่คงต้องเอ่ยถึงในวาระอื่น) แต่ปัญหาในสังคมมันเกิดขึ้นแบบนี้เรื่อยๆ ครับ คือ
เรากำลังเห็นปัญญาชนหลายภาคส่วน นำคำอธิบายแบบพหุวัฒนธรรมนิยมนี้ มาเป็นเกราะกำบังต่อการกระทำอันกดทับหรือโครงสร้างอำนาจอันไม่เป็นธรรมในชุมชนทางการเมืองของตน เพื่อธำรงรักษาสภาพกดทับและโครงสร้างที่อยุติธรรมให้ดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างฟังดูสวยงามและถูกต้อง
แถลงการณ์ฉบับนี้ โดยเฉพาะในวรรคที่ยกมา ก็เช่นเดียวกันครับ
แต่ผมบอกได้เลยว่า นั่นคือการใช้ที่ “ผิด!!!”
ก่อนหน้าความหลากหลายทางความเชื่อใดๆ ก่อนหน้าวัฒนธรรมย่อยอันเกิดจากลักษณะเฉพาะใดๆ ก่อนหน้าความเคารพที่ต้องมีต่อสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมการเมืองที่เรียกว่าธรรมเนียมปฏิบัติใดๆ ก่อนหน้าความเท่าเทียมที่ต้องมอบให้กับวิถีปฏิบัติและคติที่ทำกันมายาวนานใดๆ มันมีคุณค่าสากลพื้นฐานที่ต้องยึดเป็นเกณฑ์หลัก นั่นคือสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ‘ในฐานะมนุษย์ของโลกนี้’ ครับ ก่อนหน้าที่จะเป็นมนุษย์ของ ‘ชุมชนย่อยใดๆ’
นั่นแปลว่า เราต้องเคารพในสิทธิพื้นฐานในฐานะมนุษย์ ก่อนที่จะไปเคารพวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา ฉะนั้นหากวัฒนธรรมใด มันขัดหรือไปทำลายความเป็นมนุษย์ ทำลายสิทธิและเสรีภาพในฐานะมนุษย์ วัฒนธรรมเช่นนั้นจะต้อง ‘หยุด และถูกทำลายลง’ ไม่ใช่มาบอกว่า “เราจะยุติสิทธิเสรีภาพในฐานะมนุษย์ลง เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมซึ่งเกิดมาจากมือมนุษย์อีกทีหนึ่ง”
ไม่เช่นนั้น ไอเอสก็คงจะอ้างพหุวัฒนธรรมนิยมในการฆ่าคนอย่างโหดเหี้ยมมากมายได้ เพราะบอกว่าตัวเองปฏิบัติหรือตีความศาสนาอิสลาม “ตามทัศนะของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของตนเอง”, การขริบอวัยวะเพศหญิงในหลายประเทศในฐานะพิธีกรรมทางศาสนาคงดำเนินต่อไปได้, การคลุมถุงชนในฐานะความเชื่อทางวัฒนธรรมคงจะควรได้รับการส่งเสริม, ฯลฯ เราไม่สามารถอ้างพหุวัฒนธรรมนิยมอย่างนี้ได้ครับ “มันต้องมีและเคารพในตัวมนุษย์ ก่อนจะไปมีและเคารพในวัฒนธรรมของมนุษย์” (สิโว้ย)
การอ้างว่า “คน (นิสิต) ผิด เพราะใช้สิทธิในการแสดงออกของตนในฐานะมนุษย์ ผู้ซึ่งมีความคิดและความพร้อมใจเป็นของตน แล้วไปขัดกับวัฒนธรรมย่อยซึ่งทำกันต่อเนื่องมา 20 ปี” อย่างที่แถลงการณ์ของจุฬาฯ ว่ามา จึงเป็นอะไรที่ผิด และฟอนเฟะในทางความคิดอย่างมากครับ
ผมขอปิดท้ายบทความสัปดาห์นี้ด้วยคำพูดของคุณบัน คี มุน อดีตเลขาธิการแห่งสหประชาชาติครับ คุณบันเขาพูดไว้ พอจะแปลเป็นไทยได้ว่า
“ข้าพเจ้าเคารพในวัฒนธรรม, ประเพณี และศาสนา แต่ว่าสิ่งเหล่านี้มิอาจสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานได้” – บัน คี มุน (เมษายน 2013)
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แถลงการณ์จุฬาฯ ต่อสื่อมวลชนกรณีการลงโทษทางวินัยนิสิต. ลงวันที่ 6 กันยายน 2560. เข้าถึงได้จาก www.chula.ac.th
[2] โปรดดู www.theguardian.co หรือในกรณีที่อย่างฟังลุงแกพูดแบบรัวและเมามันส์ ก็ดูได้จาก www.youtube.com หรือคำอธิบายเรื่องนี้ในภาษาไทยโดย สรวิศ ชัยนาม จากคลิปงานเสวนานี้ครับ www.youtube.com/watch