ชื่อของ Orhan Pamuk กลายเป็นที่พูดถึงในวงการนักอ่านไทยอย่างชื่นมื่น เมื่อหนังสือสองเล่มหนาๆ ของเขาอย่าง หิมะ (Snow) และพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา (Museum of the Innocence) ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และวางขายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และถึงแม้ว่าวรรณกรรมทั้งสองนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลงานของเขาถูกแปลเป็นภาษาไทย (ก่อนหน้านี้สำนักพิมพ์ Bliss เคยได้แปล My Name is Red มาแล้ว) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า สำหรับวงการนักอ่านไทยเรา 2017 ดูจะเป็นปีสำคัญของนักเขียนตุรกีผู้เอกอุท่านนี้จริงๆ ครับ
แม้ว่าชื่อของปามุกจะโด่งดังและเป็นที่จดจำจากผลงานทางวรรณกรรม ทว่าก็ไม่ได้แปลว่าตัวเขาจะผลิตแต่งานเขียนประเภท Fiction เพียงอย่างเดียว อย่างใน Other Colors: Essays and a Story ก็เป็นหนังสือที่รวบรวมบทความต่างๆ ที่ปามุกเคยได้เขียนไว้ บันทึกทางความคิด และสปีชที่เขาเคยได้กล่าว หรืออย่าง Istanbul: Memories and the City หนังสือที่ผมจะพูดถึงในสัปดาห์นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งงานเขียนประเภท non-fiction ของปามุกอีกเล่มหนึ่งครับ
หากใครที่คุ้นเคยกับงานเขียนของออร์ฮาน ปามุก ก็คงจะรู้ว่าบ่อยครั้งฉากหลังในนวนิยายหลายๆ เรื่องของเขาคืออิสตันบูล
และก็อย่างที่รู้กันว่าตัวปามุกเองก็เกิดและเติบโตขึ้นในมหานครแห่งนี้ อิสตันบูลที่ถูกบอกเล่าผ่านสายตาของปามุกจึงไม่เพียงแค่ละเอียดลออ แต่ยังแฝงเร้นไว้ถึงทัศนคติบางประการที่เขามีต่อบ้านเกิดของเขา
เป็นปี 1952 ที่เด็กชายออร์ฮานลืมตาดูโลกครั้งแรก เติบโตขึ้นในครอบครัวฐานะดี หากแต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับแม่เขากลับไม่ค่อยจะสู้ดีนัก ปามุกเล่าว่าบ่อยครั้งเขาก็ไม่รู้ว่าจู่ๆ พ่อหายไปไหน หรือบางทีแม่ก็หายตัวไปจากบ้านเสียเฉยๆ เขามีพี่ชายหนึ่งคน หากสิ่งที่เด็กชายปามุกรับรู้อยู่เสมอกลับเป็นความรู้สึกประหลาดที่ว่า ณ ที่ใดสักแห่ง ในมหานครอิสตันบูลแห่งนี้ อาจเป็นบนท้องถนนสักแห่งที่เขาไม่รู้จัก บ้านสักหลังที่คล้ายคลึงกับบ้านของเขา จะมีเด็กชายอีกคนหนึ่ง ที่มีใบหน้าเหมือนเขาราวกับฝาแฝด
และเด็กชายคนนั้นก็หาใช่ใครอื่น แต่เป็นอีกตัวตนหนึ่งของเขา ปามุกใช้คำว่า ‘my ghostly other’
อิสตันบูลคือมหานครที่จากสายตาของคนนอกเมื่อมองเข้ามามักจะเพ่งพิจารณาไปที่การผสมผสานกันระหว่างความเป็นตะวันตกกับตะวันออก แต่สำหรับปามุกนั้นเขามองว่ามันคือส่วนผสมของอดีตและปัจจุบัน อดีตนั้นคือจักรวรรดิออตโตมันที่ล่มสลาย และถึงแม้ซากปรักหักพังแห่งอดีตกาลจะคล้ายว่ายังหลงเหลือ ทว่าอย่างรวดเร็วที่เหล่านักธุรกิจก็ได้กระโดดเข้ามาตะครุบเศษซากเหล่านั้น สร้างเป็นแมนชั่นและหมู่บ้านหรูหราที่ขยับขยายแค่เพียงพริบตา ส่วนอิสตันบูลในปัจจุบัน (พูดให้ถูกคืออิสตันบูลในช่วงก่อนหน้า และระหว่างที่ปามุกเติบโตขึ้นมา) ภายหลังจากที่มุสตาฟา เคมาล อตาร์เติร์ก ประธานาธิบดีคนแรก ได้เปลี่ยนตุรกีให้เป็นสาธารณรัฐ เป็นรัฐฆราวาส และเป็นประชาธิปไตย เปิดรับความเป็นตะวันตก หากสำหรับปามุกแล้ว อิสตันบูลในตอนนี้หาได้เป็นมหานครที่เคยยิ่งใหญ่เหมือนแต่ก่อน แต่เป็นเพียงเมืองที่ค่อยๆ ล่มสลายไปพร้อมๆ กับความผุพังของตัวเอง
แต่ในทางหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า ปามุกเองก็เป็นผลผลิตหนึ่งของ Ataturk’s Reform เมื่อครอบครัวของเขาก็ไม่ได้เคร่งครัดในศาสนา เปิดรับความคิดแบบตะวันตก พวกเขาเปิดกว้างต่อการดื่มสุรา กระทั่งการจะมีสัมพันธ์ทางความรักเองก็ไม่ได้เคร่งครัดอะไร ปามุกเองยังคุ้นเคยกับการอ่านงานเขียนจากนักคิดและนักเขียนชาวตะวันตกหลายๆ คน อย่าง Jean Paul Satre หรือ Sigmund Freud อีกด้วย
หากแต่ถ้าจะพูดว่า Istanbul คือบทบันทึกถึงเรื่องราวชีวิตของปามุกเพียงอย่างเดียว ก็ดูจะผิดเจตนาที่เขาต้องการจะสื่อสารไปสักหน่อย นั่นเพราะประเด็นที่ปามุกต้องการจะนำเสนอให้เห็นนั้นคือผลกระทบซึ่งเกิดขึ้นจาก Ataturk’s Reform ที่ส่งผลต่ออิสตันบูลในตอนนี้ต่างหาก โดยยกตัวอย่างพื้นที่และอาคารแถวบ้านซึ่งเขากล่าวว่า
“เป็นร่องรอยท้ายๆ ของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ที่พวกเขา ไม่ได้พร้อมที่จะรับช่วงต่อแม้แต่น้อย ด้วยเพราะพวกเราต่างก็มัวเมาอยู่กับการเปลี่ยนอิสตันบูลให้กลายเป็นเมืองที่จืดชืด ยากจน เป็นเพียงของเลียนแบบชั้นสองของเมืองแบบตะวันตก”
ในภาษาตุรกี คำว่า Huzun หมายถึงความเศร้าโศก หดหู่ (Melancholy) และซึ่งคำคำนี้ก็คล้ายจะอธิบายถึงทัศนะของปามุกที่มีต่ออิสตันบูลได้เป็นอย่างดี
ซึ่งจะว่าไป ความสับสนและโศกเศร้าในลักษณะเดียวกันนี้ก็เคยถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนของปามุก ไม่ว่าจะในพิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสาที่แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาอย่างเข้มข้นของวัฒนธรรมตะวันตก รวมถึงสภาวะที่ไม่แน่ไม่นอนว่าจะเป็นตายร้ายดีของความเป็นตุรกีเดิมที่ค่อยๆ ถูกกลืนกินอย่างแนบเนียน หรืออย่างคาร์ ตัวเอกในเรื่องหิมะก็สะท้อนถึงความว่างเปล่าของอิสตันบูลตามทัศนคติของปามุกได้ดี นั่นคือเป็นตัวละครที่ถึงจะไม่ยึดถือความเชื่อทางศาสนา ทว่าเขาก็ต้องเผชิญกับความว่างเปล่าทางจิตวิญญาณ
แต่ถึงที่สุดแล้ว ปามุกเองก็ไม่ได้นำเสนอทางออก หรือถ้อยแถลงใดๆ ต่อประเด็นนี้ เขาเพียงแค่จงใจฉายภาพให้เราเห็นถึงความซับซ้อนที่เขารับรู้ผ่านสายตาของมนุษย์ที่คุนเคยกับบ้านเกิดของตัวเองดีก็เท่านั้น พูดได้ว่าหัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้อาจเป็นสภาวะคู่ขนานที่ขับเคลื่อนเลื่อนไหลกันไปกับอิสตันบูล อย่างเช่นอดีตกับปัจจุบันที่ซ้อนทับกันบนซากปรักหักพัง ความรู้สึกประหวั่นว่า ณ ที่ใดสักแห่งจะมีอีกตัวตนของเราอาศัยอยู่ และแน่นอน ความเป็นตะวันออกและตะวันตกที่ผสมผสานกันในมหานครแห่งนี้
หากใครที่เป็นแฟนของออร์ฮาน ปามุกอยู่แล้ว ก็ต้องบอกว่า นี่คือหนังสืออีกเล่มที่ไม่ควรมองข้าม
เพราะแม้จะไม่ใช่นวนิยายอย่างที่คุ้นเคย ทว่าปามุกก็ได้ใช้พรสวรรค์ทางการเล่าเรื่องถ่ายทอดชั่วขณะหนึ่งของชีวิตเขาออกมาได้อย่างงดงามและน่าจับใจ หรือสำหรับใครที่สนใจในประวัติศาสตร์ของอิสตันบูล หนังสือเล่มนี้ก็รวบรวมเกร็ดต่างๆ มาบอกเล่าได้อย่างสนุก ทั้งเรื่องของศิลปินต่างชาติที่เดินทางมาพำนักอยู่ในอิสตันบูลและถ่ายทอดภาพวาดของเมืองตามสายตาของคนนอกซึ่งสะท้อนมุมมองของเมืองได้อย่างน่าสนใจ หรือหนังสือ Encyclopedia ที่รวบรวมเรื่องเล่าประหลาดของอิสตันบูลไว้เพียบ
Istanbul Memoirs of a City จบเรื่องราวของปามุกไว้ในช่วงที่เขายังหนุ่ม ณ ชั่วขณะที่เขาค้นพบว่าแท้จริงแล้วเขาต้องการเป็นนักเขียน และก็คงจะกล่าวได้ว่า เรื่องราวต่อจากนั้นก็คือตำนานที่ถูกบอกเล่ามาแล้วนับไม่ถ้วนครั้งของหนึ่งในนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของตุรกีท่านนี้
Cover Illustration by Namsai Supavong