ช่วงนี้ผมมักจะได้หลังไมค์จากมิตรสหายที่รู้จักหลายต่อหลายคน คำถามคือ จะไปญี่ปุ่นตอนนี้สถานการณ์เรื่องโคโรนาไวรัสเป็นอย่างไรบ้าง ต้องห่วงแค่ไหน ที่ไหนไม่น่าไปบ้าง ซึ่งผมก็ตอบเท่าที่รู้นั่นล่ะครับ
แต่พอเจอคำถามแบบนี้เยอะเข้าเรื่อยๆ ก็เริ่มคิดว่า เออ คนไทยมาญี่ปุ่นกันเยอะจริงๆ บางคนผมไม่ได้เจอที่ไทยแท้ๆ แต่กลับได้เจอที่ญี่ปุ่น ยิ่งหลังๆ มิตรสหายบางคนว่างสามวันก็แวะมาบ้าง ยิ่งช่วงหยุดยาวนี่ไม่ต้องพูดถึงครับ บนไทม์ไลน์เฟซบุ๊คของผมต้องมีคนแวะมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเช็คอินเสมอ
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะตอนนี้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นบูมมากๆ ปริมาณนักท่องเที่ยวล้นหลาม ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางลูกศรสามดอกของนายกฯ อาเบะที่ต้องการสร้างรายได้ให้ประเทศจากการท่องเที่ยว และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งก็มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้การมาเที่ยวญี่ปุ่นสะดวกและง่ายกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเตอร์เน็ตที่ช่วยให้คนไม่ต้องงมอะไรเองเหมือนเดิม รวมถึงสายการบินโลว์คอสต์ต่างๆ ก็เป็นปัจจัยหนุนการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ชนิดที่นักท่องเที่ยวเพิ่มจากเดิม ในปี ค.ศ.2011 มีเพียงปีละ 6.22 ล้านคน กลายมาเป็น 30 ล้านคนในปี ค.ศ.2018 ใช้เวลาแค่ 7 ปี แต่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มถึง 5 เท่าตัว แบบนี้ก็ยิ้มรอรายได้สิครับ
ทีนี้ ก็มีคนเริ่มสงสัยว่า เวลารายการทีวีญี่ปุ่นไปสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวประเทศตัวเอง ว่าชอบอะไรในญี่ปุ่น ก็มักจะไปสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวชาวตะวันตก บางคนก็คิดว่าเพราะดูเป็น ‘ชาวต่างชาติดี’ ซึ่งหลายครั้งก็มักจะได้คำตอบว่า มาเพราะชอบวัฒนธรรมบ้าง ชอบอาหารญี่ปุ่นบ้าง ถ้าฮาๆ หน่อยก็อาจจะเป็นสายเนิร์ด มาสักการะสถานที่สำคัญของชาวโอตาคุ แต่ก็มีนักเขียนและนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งมองว่า
เพราะชาวญี่ปุ่นไม่อยากได้ยินความจริงเรื่องหนึ่งจากนักท่องเที่ยว
ชาวเอเชียด้วยกันนั่นคือ ‘การมาเที่ยวญี่ปุ่นมันราคาถูกดี’
เรื่องนี้เป็นเรื่องจากมุมมองของคนญี่ปุ่นที่เริ่มหันกลับมามองสังคมตัวเองพยายามเรียกให้ชาวญี่ปุ่นด้วยกันเริ่มตระหนักได้แล้วว่า ประเทศตัวเองเป็นประเทศที่ ‘ถูกลง’ ไปเสียแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นที่ไม่เคยออกจากประเทศตัวเองคงจะเข้าใจได้ยาก เพราะการอาศัยอยู่แต่ในประเทศตัวเองไม่ได้ไปสัมผัสที่อื่น ก็จะทำให้ไม่สามารถมองย้อนกลับมายังประเทศตัวเองได้ง่ายๆ
ตั้งแต่การท่องเที่ยวญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่นิยม จากที่แต่เดิมคนที่มาเที่ยวญี่ปุ่นอาจจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่มีฐานะดีพอ หรือคนที่มาติดต่อธุรกิจเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่งคือชาวจีน ที่มีจำนวนประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งพวกเขาก็ได้สร้างปรากฏการณ์ บาคุไก (Bakugai) หรือซื้อของแบบถล่มทลาย (ซึ่งผมเคยเขียนถึงไปแล้ว) และปัจจุบันนักท่องเที่ยวก็มาญี่ปุ่นเยอะมากจนเริ่มเกิดปัญหา Over-Tourism จนเกิดการต่อต้านนักท่องเที่ยว (ซึ่งผมก็เคยเขียนไปแล้ว)
ซึ่งประเด็นที่ผ่านมาอาจจะสร้างความชวนหงุดหงิดให้กับชาวญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวล้นเกิน แต่ปัญหาคือ หลายคนยังไม่ทันฉุกคิดว่า ทำไมนักท่องเที่ยวถึงได้มาเที่ยวในประเทศตัวเองเยอะขนาดนั้น ยังดีที่ในปัจจุบัน เริ่มมีคนเสนอแง่มุมว่า ที่นักท่องเที่ยวมาเยอะ เพราะเขามองว่าญี่ปุ่นอะไรก็ราคาถูก ซื้อของง่าย จับจ่ายเพลิน ขนาด NHK World ยังเพิ่งทำคลิปสั้นรายงานเรื่องคนไทยแห่มาเที่ยวญี่ปุ่นเพราะของถูกเลย
โอเคครับ จากมุมมองคนไทย อะไรหลายต่อหลายอย่างอาจจะยังแพงอยู่ แต่อย่าลืมว่า หลายต่อหลายอย่างก็ถูกขนาดที่เรากว้านซื้อหอบกลับไทยเหมือนกัน ผมเองอยู่ที่นี่เวลาแวะซื้อของที่ดองกี้หรือ Matsumoto Kiyoshi ที่อิเคะบุคุโระทีไร ก็ไม่พลาดที่จะได้ยินภาษาไทย หรือเห็นชาวไทยหอบหิ้วของเป็นถุงใหญ่เสมอ เอาก่อนหน้านี้ช่วงอากาศกรุงเทพแย่ๆ ก็เจอคนแห่มาหิ้วหน้ากากกันฝุ่นกันเพียบ (ก่อนจะหมดเกลี้ยงเพราะเจอคนแย่งกันซื้อป้องกัน Corona Virus) และหลายต่อหลายคนก็ชอบพูดกันว่า อาหารที่ญี่ปุ่นราคาถูกหรือเหมาะสมแล้วเมื่อเทียบกับคุณภาพ
พอผมคุยกับเพื่อนคนญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ในต่างประเทศ เขาก็บอกว่าคิดเหมือนกันว่า หลายๆ อย่างในญี่ปุ่นถูก เมื่อเทียบกับต่างประเทศ และต้องยอมรับว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผมตัดสินใจย้ายมาญี่ปุ่นเพราะหลังๆ รู้สึกว่าค่าครองชีพในญี่ปุ่นไม่ได้แพงมาก แต่สมเหตุสมผล (ยกเว้นค่าเช่าบ้านกับค่าแท็กซี่ที่แพงนรกครับ) จนไม่น่าจะอยู่ลำบากมาก และพอทำงานที่นี่แล้วได้ไปอังกฤษ ก็รู้สึกล่ะครับว่า แต่ละมื้อทำไมมันแพงจังเลยวะครับ ถ้าเทียบกับที่ญี่ปุ่นแล้ว
พอเทียบราคาของอาหารที่มีสาขาทั่วโลกอย่างแมคโดนัลด์แล้ว เซ็ตอาหารแบบเดียวกัน ญี่ปุนราคาถูกกว่าประเทศทางตะวันตกไม่น้อยครับ ค่าเฉลี่ยอาหารเซ็ตของญี่ปุ่นคือ 695 เยน แต่ที่นิวยอร์กคือ 986 เยน ซิดนีย์ 853 เยน ปารีส 1,055 เยน
เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วด้วยกันนี่จัดว่าตามหลังมากเลยล่ะครับ
ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรที่เริ่มมีร้านอาหารที่จัดว่า ‘แพง’ สำหรับคนญี่ปุ่น แต่ชาวต่างชาติกลับเข้าไปกินกันอย่างเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารแฟรนไชส์จากต่างประเทศที่ชาวต่างชาติมาก็แวะกินเพราะรู้ว่าเป็นรสชาติแบบที่ตัวเองคุ้น โดยไม่รู้สึกว่าแพงอะไร เมื่อเทียบกับคนท้องถิ่นที่มองว่าเป็นของราคาแพงไป หรือร้านราเมงญี่ปุ่นที่ใช้เนื้อวัววะกิวปรุง เปิดสาขาที่ต่างประเทศในราคาประมาณชามละ 3,000 เยน ก็มีคนต่อคิวกิน แต่ขายในญี่ปุ่นกลับขายที่ประมาณ 1,500 เยน แต่ก็ยังได้ลูกค้าเป็นชาวต่างชาติเป็นหลักมากกว่า เพราะสำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ราเมงชามละ 1,500 เยนนี่จัดว่าแพงไปครับ
เมื่อเอาราคาอื่นมาเทียบก็น่าสนไม่แพ้กัน ตัวอย่างสำคัญคือ Tokyo Disney Land ที่ราคาบัตรเข้าของญี่ปุ่นคือ 7,500 เยน เมื่อเทียบกับที่แคลิฟอร์เนียคือประมาณ 11,440 เยน ถึง 16,390 เยน ราคาพอๆ กับที่ปารีส ส่วนของที่เซี่ยงไฮ้คือ ประมาณ 6,384 ถึง 9,200 เยน ที่ฮ่องกงก็ประมาณ 8,946 เยน ต่อให้ที่โตเกียวจะเพิ่มราคาในเดือนเมษายนปีนี้เป็น 8,200 เยน แต่ก็ยังถูกกว่าประเทศอื่นๆ อยู่ดีครับ
ปัญหาของญี่ปุ่นคือ ตั้งแต่ฟองสบู่แตกมาได้ 30 ปี ญี่ปุ่นก็ติดอยู่ในสภาพเงินฝืดมาโดยตลอด เศรษฐกิจญี่ปุ่นนิ่งมานาน ราคาสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่มเท่าไหร่นัก ฟังดูก็เหมือนเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาคือ รายรับของชาวญี่ปุ่นก็ไม่ได้เพิ่มตามด้วย เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ ต่อให้ร้านค้าอยากจะเพิ่มราคาสินค้าก็ทำได้ยาก เพราะลูกค้าก็ไม่มีศักยภาพในการจ่ายเพิ่ม ทำให้กลายเป็นปัญหางูกินหางไป
ฟังดูก็เหมือนจะดีนะครับที่ราคาสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่ม แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันโลกมันเชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าเดิม ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ผลิตเพื่อบริโภคกันเองในประเทศ แต่ต้องรับสินค้าจากชาติอื่นๆ เข้ามาขายด้วย ตัวอย่างคือสมาร์ทโฟนที่ราคาเท่ากันทั่วโลก เมื่อรายรับชาวญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่มในอัตราที่เร็วพอ สินค้าเหล่านี้ก็กลายเป็นสินค้าราคาแพงสำหรับชาวญี่ปุ่น
เทียบกับยุคฟองสบู่ที่ชาวญี่ปุ่นออกไปเที่ยวต่างประเทศเป็นว่าเล่น พนักงานบริษัทหญิงยังไปเที่ยวฮ่องกอง นอนโรงแรมเพนนิซูล่า กินอาหารหรู ซื้อของแบรนด์เนมกลับประเทศ แต่ในปัจจุบัน ภาพกลายเป็นกลับกัน เมื่อชาวฮ่องกงมาเที่ยวกินของอร่อยที่ญี่ปุ่นในร้านที่ชาวญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยจะกล้าเข้ากันนัก (โอเค กลุ่มคนที่มีเงินเขาก็เข้ากันนั่นล่ะครับ แต่ว่าจำนวนคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีมากเท่าแต่ก่อน) และหอบซื้อของแบรนด์เนมกลับประเทศ เพราะว่า ‘ซื้อที่ญี่ปุ่นถูกกว่า’ ปัญหามันก็มาจากการที่ญี่ปุ่นหยุดนิ่งแต่ประเทศอื่นๆ พัฒนาขึ้นมาได้ (แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเพราะว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นมาได้สูงกว่า ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศเองก็กลายเป็นติดว่าไม่รู้จะพัฒนาต่อไปอย่างไรและหยุดนิ่งกันมานาน)
อย่างที่บอกไปนั่นล่ะครับว่า การที่ญี่ปุ่นมีราคาถูกลง ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดีสำหรับหลายๆ คนที่มาเที่ยวแล้วรู้สึกไม่ได้แพงอะไรมาก จับจ่ายใช้สอยอย่างเพลิดเพลิน แต่กับชาวญี่ปุ่นเองแล้ว แน่นอนว่าหลายคนก็ได้ประโยชน์จากธุรกิจตรงนี้ และทางรัฐเองก็ยินดีที่การท่องเที่ยวสามารถทำรายได้เข้าประเทศแน่นอน แต่ปัญหาหนึ่งคือการท่องเที่ยวที่ล้นเกินว่าจะจัดการได้แค่ไหน และรวมไปถึงว่า การท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะเป็นแบบนี้ต่อไปได้นานแค่ไหน ญี่ปุ่นจะมีโอกาสที่อาศัยจุดนี้พัฒนาเศรษฐกิจตัวเองได้หรือไม่ หรือติดกับดักว่าไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าและบริการได้ เพราะว่าทุกคนติดภาพว่า ‘ญี่ปุ่นคือประเทศที่ราคาถูก’ ไปเสียแล้ว
ของแบบนี้ ถ้าไม่ออกนอกประเทศก็ไม่รู้หรอกครับ เพราะไม่มีโอกาสได้เทียบเอง แต่ปัจจุบัน ต่อให้ไม่ได้ออกนอกประเทศ ชาวญี่ปุ่นหลายคนเองก็เริ่มรู้สึก เพราะการเห็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาจับจ่ายใช้สอยในญี่ปุ่นอย่างเพลิดเพลินแล้วย้อนกลับมามองตัวเองที่ไม่มีโอกาสซื้อสินค้าและบริการอย่างเดียวกัน อาจจะทำให้ชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มที่ยังติดอยู่กับภาพวันรุ่งเรืองในยุคฟองสบู่ คงต้องเริ่มกลับมาคิดแล้วว่า อนาคตของญี่ปุ่นและตนเองจะเป็นอย่างไร หรือจะเหลือแค่วันอันสวยงามในอดีตที่รุ่งเรืองที่เล่าผ่านชีวิตของคนที่ผ่านช่วงฟองสบู่กันเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก