ตั้งแต่ที่ประเทศญี่ปุ่นปล่อยฟรีวีซ่าให้กับชาวไทย และเริ่มหันมาเล็งนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นตลาดใหม่ สังเกตได้จากการจัดงานการท่องเที่ยวเมื่อไหร่ บู๊ทญี่ปุ่นก็ครองไปเกือบครึ่งงาน แถมสายการบินโลว์คอสต์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การไปเที่ยวญี่ปุ่นไม่ใช้เรื่องยากเหมือนเดิม
ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะไปที่แหล่งท่องเที่ยวไหน ก็มักจะเจอนักท่องเที่ยวไทยได้เสมอ ขนาดบางทีไปเมืองรองอย่าง ‘อุซึโนมิยะ‘ ที่ผมเขียนรอบก่อนก็ยังเจอนักท่องเที่ยวไทยอยู่ที่สถานีเลย เทียบกับเมื่อสมัยผมเรียนปริญญาโทที่นาโกย่า ที่นานๆ เจอคนไทยทีนึง ปัจจุบัน ครอบครัวผมมาเยี่ยมที่นี่ยังบังเอิญเจอกับคนรู้จักกลางนาโกย่าได้ อะไรต่อมิอะไรก็เปลี่ยนไปเยอะ และไม่ใช่นักท่องเที่ยวไทยอย่างเดียว นักท่องเที่ยวสารพัดชาติต่างพากันแห่มาเที่ยวญี่ปุ่นกันอย่างเต็มสูบ เจ้าของนโยบายเน้นการขายการท่องเที่ยวในประเทศ หนึ่งในศรสามดอกของนายกรัฐมนตรีอาเบะก็ยิ้มแฉ่ง เพราะประเทศสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล
แต่เมื่อมีข่าวว่า “ย่านกิออง ในเกียวโต ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวเรื่องมารยาท พร้อมทั้งปรับคนที่ถ่ายรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตในถนนส่วนบุคคลเป็นจำนวน 10,000 เยน” ก็กลายเป็นภาพสะท้อนของปัญหาของการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นที่ค่อยๆ สั่งสมมาระยะหนึ่งจนปัจจุบันเริ่มเป็นปัญหาที่คนญี่ปุ่นเองก็ถกเถียงกันในวงกว้างมากขึ้น นั่นก็คือปัญหา ‘overtourism’ หรือการท่องเที่ยวที่ล้นขนาดเกินความสามารถที่สถานที่ท่องเที่ยวจะรับไหว
จริงๆ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไปรอบนึงเมื่อปี ค.ศ. 2017 (อ่านได้ที่นี่) ซึ่งตอนนั้นก็เริ่มมีปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ดูเป็นปัญหาใหญ่มากนัก มักจะเป็นเรื่องของการกระทบกระทั่งกันของความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวกับคนท้องถิ่น และปัญหานักท่องเที่ยวกว้านซื้อของไปจนคนท้องถิ่นเสียความสะดวกในการใช้ชีวิตไป
แต่รอบนี้เมื่อย่านกิอองออกมาประกาศเรื่องมารยาทของนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งกล้าที่จะปรับนักท่องเที่ยวที่ไมได้ปฏิบัติตามนโยบายของเขา มันก็กลายเป็นข่าวใหญ่ทั้งในญี่ปุ่นและในหมู่นักท่องเที่ยว
ราวกับชาวกิอองจะบอกว่า “Enough is Enough” ดังๆ
ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องน่าสนใจเอามากๆ เพราะที่ผ่านมา กิอองและแหล่งท่องเที่ยวทั้งหลายของญี่ปุ่นคงยังไม่เคยเจอคลื่นมหาชนมากขนาดนี้มาก่อน สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว เวลาพูดถึงการท่องเที่ยว แต่ไหนแต่ไร ก็หมายถึงการออกไปเที่ยวโดยเฉพาะไปเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชาวญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองที่แห่กันไปเที่ยวเป็นว่าเล่น
แต่เมื่อญี่ปุ่นพยายามเชื้อเชิญนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และในปี ค.ศ. 2015 ก็เป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี ที่ยอดนักท่องเที่ยวที่มาเยือนประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนมากกว่านักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่ออกไปเที่ยวในต่างประเทศ จนเมื่อพูดถึงคำว่า ‘การท่องเที่ยว’ แล้ว สำหรับชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันก็หมายถึง การเปิดประเทศ เปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้
ซึ่งก็มีหลักฐานชัดเจนให้เราได้เห็นเสมอ ทั้งการพยายามเพิ่มการให้บริการต่างๆ เป็นภาษาต่างประเทศ หรือการพยายามทำสินค้าเพื่อเจาะตลาดนักท่องเที่ยว ตัวอย่างของบ้านเราก็เช่น การที่ท้องถิ่นให้งบ หรือจ้างผู้ผลิตสื่อในเมืองไทย เข้าไปทำสื่อบันเทิงเกี่ยวกับท้องถิ่นของตัวเองจนประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถสร้างรายได้มหาศาล ทั้งๆ ที่หลายต่อหลายสิ่งที่นักท่องเที่ยวแห่กันไปนั้นไม่ใช่สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักเลยด้วยซ้ำ ต้องยอมรับกว่าการตลาดดีสามารถสร้างสินค้าได้ครับ
แต่ปัญหาต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามมา เหมือนในบทความที่ผมเขียนไปเมื่อสองปีก่อน แต่นั่นก็แค่ออเดิร์ฟ เพราะหลังจากนั้นผมก็เขียนเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้ชนิดที่สามารถรวมเป็นหนังสือได้อีกเล่มแล้วมั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถล่มชิบุยะในช่วงฮัลโลวีน หรือการแข่งรักบี้โลกที่ทำให้คนญี่ปุ่นต้องเตรียมรับมือกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่พร้อมกินดื่มและเมาอย่างเต็มที่ รวมไปถึงประเด็นเรื่องการรักษาพยาบาล หรือเรื่องการไม่ต้อนรับชาวต่างชาติในสถานบริการบางแห่ง
แต่กับเกียวโตและกิอองในรอบนี้คือการแสดงออกอย่างเป็นทางการว่าไม่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว จนคนอาจจะงงว่า ทำไมล่ะ ไม่แคร์รายได้เหรอ ก่อนอื่นก็คงต้องทำความเข้าใจไปทีละส่วนก่อนนะครับ เริ่มจากเกียวโต แน่นอนว่าในฐานะ ‘เมือง’ และ ‘รัฐบาลท้องถิ่น’ แล้ว ก็ต้องการเงินรายได้จากการท่องเที่ยวแน่นอน เพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญ โดยเฉพาะเมืองที่มีจุดขายที่ทรงพลังอย่างเกียวโต ยิ่งเป็นแหล่งปั๊มเงินที่ดี
แต่ในขณะเดียวกัน สำหรับชาวเมืองแล้ว นี่ก็เป็นทั้งเรื่องน่ายินดีและปัญหาสำหรับพวกเขา เพราะเกียวโตเองก็เป็นเมืองเก่า ย่านโบราณต่างๆ ก็มีถนนตรอกซอยที่เล็ก ตัวเมืองเองก็เป็นผังเมืองเก่าแก่ หลายต่อหลายอย่างไม่ได้อำนวยให้กับการเพิ่มจำนวนคนมากขนาดนั้นโดยกระทันหัน การมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากก็กลายเป็นความลำบากให้กับชาวเมืองไปในตัว
แต่กับย่านกิอองนั้น ยิ่งกลายเป็นปัญหาหนักกว่าเดิม ขนาดที่ตอนประกาศพร้อมปรับคนถ่ายรูปนั้น ผมไม่ได้รู้สึกตกใจเลย แต่กลับรู้สึกว่าในที่สุดก็มาถึงจุดนี้จนได้ ถ้าใครถามว่า ทำไมเขาถึงกล้าปฏิเสธนักท่องเที่ยวล่ะ ก็คงต้องถามกลับว่า แล้วนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับย่านกิอองแค่ไหน?
ซึ่งคำตอบก็คงเป็น แทบไม่มีผลอะไรต่อย่านกิอองเลย
ไม่แปลกที่เขาจะกล้าทำอะไรที่ดูเย่อหยิ่งขนาดนั้นนั่นล่ะครับ
ภาพของย่านร้านรวงและบ้านเก่าแก่ในย่านกิออง รวมถึงถ้าหากคุณโชคดี ก็อาจจะมีโอกาสได้เห็นไมโกะ หรือเกอิชาฝึกหัด มาในชุดกิโมโนสวยงามและแต่งหน้าขาว ทำให้รู้สึกว่า นี่ล่ะคือ ‘ญี่ปุ่น’ แบบที่เราคุ้นตาในสื่อบันเทิงหรือปฎิทินที่สายการบินแจกในอดีต ไม่แปลกที่ในยุคที่เราถ่ายรูปกันโดยไม่ต้องแคร์ค่าล้างฟิล์ม แถมยังมีโซเชียลที่พร้อมจะให้เราได้อวดประสบการที่สุดแสนจะพิเศษต่างไปจากชีวิตประจำวันของพวกเราแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นอยากจะควักเอามือถือออกมาถ่ายไมโกะคนนั้นให้ได้เพื่อเป็นที่ระลึกและได้รู้สึกว่าคุ้มแล้วที่มาเที่ยว
แล้วในมุมมองของคนที่ ‘ถูก’ ท่องเที่ยว อย่างไมโกะ ที่ออกจากร้านเพื่อไปทำงานของตัวเองแล้ว เธอจะรู้สึกอย่างไร ตรงนี้จริงๆ เพื่อนรุ่นน้องผมที่มีบ้านอยู่ในย่านที่จู่ๆ ก็ฮิปขึ้นมาของบางกอก ก็เล่าว่า งงๆ ที่อยู่ดีๆ แม่รดน้ำต้นไม้ตอนเช้า ก็กลายเป็นหนึ่งในนางแบบประกอบภาพถ่ายของนักท่องเที่ยวสะพายกล้องแบบฮิปๆ ไปงงๆ
ลองคิดดูว่า ถ้าคุณออกจากบ้านจะไปขึ้นวิน แล้วมีคนมาตามถ่ายรูปคุณตลอดทาง มันจะแปลกแค่ไหน นั่นล่ะครับ ตอนนี้สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว ไมโกะ ก็กลายเป็นเหมือนโปเกมอนตัวแรร์ ที่ออกมาเมื่อไหร่ก็พร้อมจะมีคนไล่ตามถ่ายรูปเสมอ แล้วถ้าเป็นไมโกะ ‘ตัวจริง’ น่ะ เขาไม่ได้ออกมาให้ถ่ายรูปเพื่อเก็บเงินหรอกครับ เขาไปบริการลูกค้าขาประจำเขาอย่างเดียวดีกว่า
เรื่อง ‘ลูกค้า’ ก็เป็นเรื่องสำคัญนี่ล่ะครับ เพราะว่า กิออง คือย่านท่องเที่ยวของเหล่าลูกค้าผู้มีฐานะและมีอำนาจในสังคมมาแต่ไหนแต่ไร คนที่จะมาใช้บริการความบันเทิงจากไมโกะและเกอิชาได้ นอกจากจะต้องมีทุนทรัพย์ไม่น้อยแล้ว ยังต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับ มีเส้นสายระดับหนึ่ง เพราะย่านนี้แต่ไหนแต่ไร เขาก็มีร้านที่ไม่ได้ต้อนรับคนที่ไม่รู้จักกันอยู่เยอะมาก สาเหตุก็เพื่อให้ลูกค้าประจำเขาเที่ยวได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องไปเจอคนแปลกหน้าที่อาจจะไม่ได้ประสงค์ดีเข้าได้ อย่าลืมว่าหลายคนก็มีอำนาจและมีหน้ามีตาในสังคม ก็คงไม่ค่อยอยากให้คนทั่วไปเห็นในย่านนี้เท่าไหร่นัก
อันนี้ก็ต้องย้ำอีกทีก่อนจะเข้าใจตามอคติเดิมๆ ว่า การเที่ยวเกอิชาคือการให้บริการทางเพศ ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้น อาจจะมีคนพร้อม ‘อุดหนุน’ ไมโกะหรือเกอิชาคนนั้น แต่หลักๆ แล้ว การเที่ยวเกอิชาคือการรับความบันเทิงจากศิลปะในการร้องรำและเล่นดนตรีของเหล่าเกอิชา และในย่านกิอองนั้น หลายแห่งที่คุณไม่รู้หรอกว่าเขาให้บริการเช่นนี้ เพราะหน้าบ้านก็ดูเหมือนบ้านคนธรรมดาทั่วไปนี่เอง มีแต่ขาประจำเท่านั้นที่รู้ ตัวผมเองก็โชคดีได้มีโอกาสถูกกระเตงไปสัมผัสกับความบันเทิงนี้บ้าง ก็ต้องยอมรับว่า กำแพงต่อคนภายนอกนี่สูงจริงๆ ครับ อย่างที่บอกไปว่า ปล่อยผมไปกลางกิอองก็คงแยกไม่ออกว่าไหนบ้านคน ไหนร้านที่ให้บริการกันแน่
ซึ่งก็ตามที่อธิบายไปว่า เมื่อรูปแบบการบริการและการเที่ยวของเขาเป็นแบบนี้ นักท่องเที่ยวเข้าไปจะมีผลอะไรบ้าง นอกจากจะไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ต่อย่านแล้ว ยังอาจจะเป็นการสร้างความไม่สะดวกใจให้กับลูกค้าตัวจริงจนหดหายไปหมด ไม่แปลกที่เขาจะพยายามแสดงออกว่าไม่ได้อยากต้อนรับนักท่องเที่ยวเท่าไหร่นัก และที่สำคัญคือในประกาศเขาก็บอกชัดล่ะครับว่า “ห้ามถ่ายรูปถนนส่วนบุคคล” ซึ่งแม้ถนนหลักจะเป็นของหลวง แต่ตรอกซอกซอยเล็กๆ ในย่านกิอองหลายเส้นก็เป็นถนนส่วนบุคคล ซึ่งการไปทำอะไรในที่ส่วนบุคคลนี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะล่ะครับ ก็ถือว่าเป็นการจัดการที่ผมว่าแฟร์ระดับนึง (ลองประกาศบนถนนสาธารณะสิครับ อันนี้คงไม่จืดแน่นอน) ยังไม่นับป้ายแนะนำเรื่องมารยาทที่แสดงชัดเจน แต่ก็มีคนพยายามประชิดตัวเกอิชาอยู่ประจำจนกลายเป็นปัญหา รวมไปถึงการไม่รักษาความสะอาดต่างๆ อีกด้วย
ก็อาจจะมีผู้อ่านแย้งผมว่า เขาไม่ได้มองเรื่องเศรษฐกิจมหภาค ไม่ได้คิดเรื่องรายได้ของประเทศ อันนี้ก็คงต้องมองในมุมกลับว่า ถ้าจู่ๆ ชีวิตประจำวันของคุณกลายเป็นสินค้า โดยที่คุณไม่ได้มีส่วนได้ประโยชน์โดยตรง สิ่งที่คุณสูญเสียไปมันมีมากกว่าสิ่งที่คุณได้รับโดยทางอ้อมแล้ว คุณจะยอมแบกรับภาระนั้นเพื่อสังคมโดยรวมไหมล่ะครับ ดูตัวอย่างเพื่อนรุ่นน้องผมก็ได้ครับ
จริงๆ ปัญหา overtourism นี่ก็ไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่น
แต่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลก
ซึ่งก็มาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งค่าเดินทางและที่พักที่ถูกลงเพราะสายการบิน Low Cost และ AirBNB โอกาสในการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทั้งดึงดูดให้เราออกไปและอยากให้เราแชร์ให้คนอื่นได้เห็น เมืองดังๆ หลายเมืองก็กลายเป็นเป้าหมายในการถล่มของนักท่องเที่ยวไป ตัวอย่างเช่น เวนิสที่แทบจะรับนักท่องเที่ยวไม่ไหว บาร์เซโลน่าที่เปิดศึกกับ AirBNB แต่ที่น่าสนใจสุดคงเป็นอัมสเตอร์ดัมที่อยากเอามาเป็นตัวอย่างสักหน่อย
อัมสเตอร์ดัมเคยเป็นเมืองที่หงอยเหงา และพยายามดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่กลายเป็นว่า ประสบความสำเร็จเกินคาดจนเกิดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกินและส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวเมือง ซึ่งเมืองก็เปลี่ยนเป้าหมายจากการเพิ่มนักท่องเที่ยวเป็นการพยายามควบคุมปริมาณการท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพแทน เพราะปัญหาที่พวกเขาพบมีสารพัดตั้งแต่เรื่องสาธารณูปโภคไม่พอเพียง นักท่องเที่ยวก่อความสกปรก หลายคนตั้งใจมาแค่พี้กัญชา นักท่องเที่ยวไปเดินชมย่านหญิงบริการทางเพศราวกับเป็นสวนสัตว์ แถมยังมีนักท่องเที่ยวที่อยากจะถ่ายรูปสวยๆ กับดอกทิวลิปจนลุยทุ่งดอกทิวลิปกันจนเสียหายนับไม่ถ้วน (คุ้นๆ มั้ย?)
สุดท้ายเมืองก็ต้องหักดิบ ตั้งแต่เอาสัญลักษณ์ I Amsterdam ที่อยู่หน้าพิพิธถัณฑ์ Rijksmuseum ออกไป ตัดจุดเช็คอินถ่ายรูปสำคัญของนักท่องเที่ยว คุมจำนวนโรงแรมและร้านของที่ระลึก หรืออะไรที่ชาวท้องถิ่นไม่ได้ผลประโยชน์ด้วย พยายามเพิ่มป้ายเตือนเรื่องมารยาทแก่นักท่องเที่ยว ทำคลิปวิดีโออธิบายเรื่อง Do and Don’t ในอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเน้น SEO ให้ขึ้นอันดับต้นๆ เวลาเสิร์ชเรื่องการท่องเที่ยวที่เมืองนี้ด้วย ที่สำคัญคือพยายามเตือนให้นักท่องเที่ยวคิดได้ว่า ชาวเมือง ‘อาศัย’ อยู่ที่นี่
มาถึงจุดนี้เราเองก็น่าจะคิดเรื่องจุดมุ่งหมายของการท่องเที่ยวเหมือนกันนะครับ เพราะเราเองก็มีปัญหานี้เหมือนกัน ที่ไหนฮิตๆ ก็แห่กันไปเช็กอินกันเต็มสูบ ถ่ายรูปมาอวดกัน ตั้งแต่ปาย เชียงคาน ที่นั่นที่นี่ ซึ่งหลายที่ก็บูมกันเป็นระยะ พอเลิกเห่อแล้วก็ไปที่อื่นต่อ ปล่อยให้ที่เดิมต้องอยู่กับผลกระทบของการท่องเที่ยวที่โดนถล่มแบบนี้ไป แต่บางทีการยอมเจ็บบ้าง ยอมเสียโอกาสไปบ้าง เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของผู้ที่อยู่อาศัย ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าก็ได้ครับ ให้ตายสิ ขึ้นต้นที่เกียวโตแล้วเลี้ยวกลับมาไทยอีกแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก