ณ ปี 2022 ละครโทรทัศน์หรือซีรีส์ญี่ปุ่นยังถือเป็นจักรวาลลับแลที่เข้าถึงยากอยู่ไม่น้อย ผลงานหลายเรื่องยังคงฉายแต่ในประเทศตัวเองแบบทำกันเองดูกันเอง ไม่ได้หาดูได้ตามบริการสตรีมมิ่ง (สมฉายาของญี่ปุ่นว่า ‘ประเทศเกาะ’) เดือดร้อนเหล่าแฟนคลับต้องมานั่งทำแฟนซับและแจกจ่ายกันเอง อย่างไรก็ดี แนวโน้มซีรีส์ญี่ปุ่นที่ฉายทางสตรีมมิ่งก็มากขึ้นเรื่อยๆ และมีหลายเรื่องที่ทำเพื่อฉายทางเน็ตฟลิกซ์โดยเฉพาะ อาทิ The Naked Director (2019-2021) หรือ Alice in Borderland (2020-2022)
ส่วน First Love (2022) คือออริจินอลคอนเทนต์สัญชาติญี่ปุ่นเรื่องล่าสุดทางเน็ตฟลิกซ์ จุดขายคือการโฆษณาใหญ่โตว่าเป็นการเอา 2 เพลงของศิลปินเจป๊อปตัวแม่ ฮิคารุ อูทาดะ อย่าง First Love (1999) และ Hatsukoi (2018) มาเป็นแรงบันดาลใจของซีรีส์ โดยสองเพลงนี้มีเนื้อหาว่าด้วย ‘ความรักครั้งแรก’ เหมือนกัน First Love คือมุมมองความรักของอูทาดะในวัย 15 และกลายเป็นเพลงฮิตที่คนญี่ปุ่นทุกคนต้องรู้จัก ส่วน Hatsukoi คือเพลงที่อูทาดะกลับไปมองรักแรกอีกครั้งในวัย 35 ช่วงชีวิตที่เธอผ่านมาแล้วทั้งการแต่งงาน หย่าร้าง และเป็นแม่คน
เนื้อหาของ First Love เล่าถึงความสัมพันธ์ของ ยาเอะ รับบทโดย ฮิคาริ มิตสึชิมะ (Hikari Mitsushima) และฮารุมิจิ รับบทโดย ทาเครุ ซาโตะ (Satō Takeru) ในช่วงเวลายาวนานถึง 20 ปี ทั้งคู่เป็นคนรักกันในช่วงมัธยมปลาย แต่ด้วยโชคชะตาและเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้พวกเขาต้องพลัดพรากจากกันไป ต้องสารภาพว่าก่อนชมซีรีส์นี้ผู้เขียนก็หวาดหวั่นอยู่ไม่น้อย ทั้งกลัวว่ามันจะฟูมฟายเกินเหตุ หรือกลายเป็นหนังรักเลื่อนลอยแบบพวกหนังหรือละครที่ดัดแปลงจากการ์ตูนตาหวาน อีกทั้งผู้กำกับ ยูริ คันจิคุ ก็มีเครดิตการกำกับหนังยาวมาเพียงเรื่องเดียว พ่วงด้วยสารคดีวง AKB48 อีกหนึ่งเรื่อง
ถึงกระนั้น ในภาพรวมของ First Love ก็ไม่ได้ ‘น้ำเน่า’ หรือ ‘แบ๊วใส’ จนเกินไป ซีรีส์วางสมดุลได้ดีระหว่างความน่ารักวัยหวานช่วงมัธยม (สมัยเด็กพวกเราก็เคยทำอะไรเบียวๆ เด๋อๆ กันทั้งนั้นแหละน่า) และความขมขื่นของชีวิตที่เพิ่มขึ้นตามช่วงวัย ผู้เขียนชอบการปูเรื่องว่ายาเอะวาดฝันอยากเป็นแอร์โฮสเตส ส่วนฮารุมิจิตั้งใจจะเป็นนักบินของกองกำลังป้องกันตนเอง แต่ในชีวิตจริงเธอและเขาคือคนขับแท็กซี่และพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งซีรีส์ก็ค่อยๆ เล่าสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน จนทำให้เราเข้าใจได้ว่าพวกเขามาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร อาจจะมีพล็อตบางส่วนที่ดูไม่ค่อยเมคเซนต์ แต่ก็เจ็บปวดอย่างน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะฉากสนามบินของนางเอกในตอน 7 ที่ปวดใจสุดๆ
การแสดงของคู่พระนางอย่างฮิคาริและทาเครุถือว่าหายห่วง แม้ว่าบทของบางช่วงบางตอนจะให้รู้สึกหยึ๋ยขึ้นมาบ้าง แต่แอ็กติ้งของทั้งสองช่วยแบกให้ซีรีส์รอดไปได้ โดยเฉพาะฮิคาริที่ผู้เขียนมักพูดกับคนรอบข้างอยู่เสมอว่าเธอคือหนึ่งในนักแสดงวัย 30+ ของญี่ปุ่นที่ดีที่สุดคนหนึ่ง ช่วงการแสดงของฮิคารินั้นกว้างมาก นอกจากบทนางเอกสวยๆ แล้วเธอสามารถเล่นได้ทั้งหนังคัลต์แบบ Love Exposure (2008) หรือสก๊อยน่าตบใน Villain (2010) ส่วนใน First Love แม้ว่าตัวละครของเธอจะร้องไห้บ่อยมาก แต่มันมีเฉดการร้องไห้ที่ให้ความหมายต่างกันไป โดยเฉพาะฉากที่เธอหลั่งน้ำตาเมื่อได้กลับมาฟัง First Love อีกครั้งตอนเป็นผู้ใหญ่
องค์ประกอบอื่นๆ ใน First Love ก็ถือว่าน่าชื่นชม ไม่ว่าจะการเลือกถ่ายในจังหวัดฮอกไกโดเป็นหลักเพื่อใช้ภูมิทัศน์หิมะขาวโพลนอย่างเป็นประโยชน์ นอกจากนั้นการเลือกเพลงประกอบยังเปี่ยมด้วยรสนิยมที่ดี มีทั้งเพลงของ Paul Otten, The Mary Onettes และ The Radio Dept. ฯลฯ ชนิดว่าการนั่งฟังเพลย์ลิสต์เพลงประกอบจากซีรีส์ อาจจะดีกว่าการนั่งดูซีรีส์นี้เสียอีก (ฮา)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นของ First Love ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือมันว่าด้วย ‘ประวัติศาสตร์’ ในแง่แรกคือประวัติศาสตร์ของเจป๊อปและวัฒนธรรมป๊อป อย่างที่เห็นว่าซีรีส์วางให้ชีวิตของเหล่าตัวละครมีไทม์ไลน์คู่ขนานไปกับวันวางจำหน่ายผลงานของอูทาดะ ตามมาด้วยสัญลักษณ์สำคัญของยุคปลาย 90 ต้น 00 อย่างม้วนวิดีโอ, เครื่องเล่นซีดี หรือการที่ผู้คนแห่แหนกันไปดูหนังเรื่อง Titanic (1997) ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างเซอร์ไพรส์ที่ซีรีส์ลงทุนจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลง My Heart Will Go On มาใช้ในหนังกันเลยทีเดียว
First Love ยังเล่าถึงประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของตัวละคร อาทิ การที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจสนับสนุนสหรัฐอเมริกาด้วยการส่งทหารของกองกำลังป้องกันตนเองไปร่วมรบที่อิรัก ซึ่งทำให้พระเอกต้องไปทำภารกิจในพื้นที่เสี่ยงอันตราย, เหตุการณ์สึนามิ 11 มีนาคม 2011 ทำให้ความสัมพันธ์ฮารุมิจิกับสึเนมิ-แฟนสาวของเขาเปลี่ยนทิศทาง ลากยาวมาถึงการระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2020 ที่ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้และดับฝันบางประการของนางเอก
หากแต่ประวัติศาสตร์สำคัญที่สุดของ First Love ก็คือประวัติศาสตร์ของรักแรกของยาเอะและฮารุมิจิ ซีรีส์พยายามตีความจากเพลง First Love ของอูทาดะที่ว่ารสชาติของจูบแรกนั้นขมเหมือนบุหรี่ ความรักครั้งแรกจึงไม่ใช่เรื่องสวยงามอย่างเดียว ชีวิตของทั้งสองจึงต้องพบพานกับความผิดหวังอยู่หลายครั้ง ทว่าสิ่งดีๆ ที่ซีรีส์บอกเล่ามาทั้งหมดก็มาพังครืนลงในตอนสุดท้ายที่ดูจะเพ้อเจ้อ ชวนฝัน และคลี่คลายง่ายดายแบบไม่น่าเชื่อถือ จากจูบรสบุหรี่กลายเป็นรสกัญชาที่ล่องลอย (หรืออาจเรียกว่าขาดสติ)
ผู้เขียนเดาเอาเองว่าเหตุการณ์ในช่วงสุดท้ายเป็นโลกยุค Post-Covid ผู้สร้างเลยอาจพยายามให้ความหวังแก่ผู้ชม แต่มันก็ดูไม่สมเหตุสมผลในหลายจุด และแม้ว่าซีรีส์จะโหมประโคมเพลง Hatsukoi มาปิดท้ายเพื่อสรุปธีมว่า “เธอคือรักแรกของฉัน หากไม่ได้พบเธอ ไม่รู้ว่าชีวิตฉันจะเป็นเช่นไร” มันก็ไม่อาจทำให้ผู้เขียนคล้อยตามได้อีกต่อไป
ผู้เขียนคิดว่าปัญหาใหญ่ของ First Love คือการ romanticize รักแรกมากเกินไป สำหรับคนมองโลกในแง่ร้ายอย่างผู้เขียน รักแรกนั้นหมายถึงความผิดหวังครั้งแรกและการเรียนรู้วิธีรับมือกับความเจ็บช้ำทางใจ แต่เมื่อลองสำรวจความเห็นในโลกโซเชียลอย่างคร่าวๆ ดูเหมือนจะมีผู้ชมไม่น้อยที่ซาบซึ้งไปกับซีรีส์ บางทีพวกเขาอาจจะเป็นคนที่มีความทรงจำอันดีกับรักแรกหรือยังมีความหวังกับความรักอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี (นี่พูดจริงๆ ไม่ได้ประชดแต่ประการใด)
ด้วยความที่ First Love เลือก ‘ทางลง’ ของตัวเองในทิศทางเพ้อๆ แบบนี้ (ซึ่งใกล้เคียงกับพวกหนัง/ละครจากการ์ตูนตาหวานแบบที่เคยหวั่นใจ) ผู้เขียนคิดว่าคนที่อินกับอะไรแบบนี้คงต้องคุ้นเคยกับวัฒนธรรมละครหรือมังงะญี่ปุ่นพอประมาณ ผู้ชมทั่วไปอาจจะเกาหัวแกรกๆ เอาได้ นั่นทำให้ First Love เข้าข่ายเป็นซีรีส์แบบทำกันเองดูกันเองเฉพาะกลุ่มอีกครั้ง