ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผมหนีกรุงเทพไปสัมผัสลมหนาวที่ญี่ปุ่นเป็นเวลาเกือบสิบวัน (ด่าได้แต่อย่าด่าแรงมาก) ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมประจำของครอบครัวผมไปแล้ว เพราะตัวหม่อมเมียก็อยากกลับบ้านช่วงปีใหม่ ผมเองก็เบื่อๆ ช่วงปีใหม่ที่ไทย เพราะว่าไม่หนาวเหมือนแต่ก่อน แถมที่ญี่ปุ่นก็มีอะไรน่าสนใจเยอะด้วย โดยเฉพาะช่วงปลายปีแสนโรแมนติกนี่ล่ะครับ แฮ่
แต่พอไปถึงญี่ปุ่น แม้จะเป็นช่วงปลายปีที่อากาศหนาว และโรงเรียนก็ปิดเทอมเป็นส่วนใหญ่กันแล้ว เวลานั่งรถผ่านโรงเรียนกวดวิชาของเขาตอนเย็นๆ ค่ำๆ แต่ก็ยังเห็นนักเรียนเดินเข้าออกกันเหมือนปกติ ก็ได้แต่คิดว่าจะไม่พักกันบ้างเหรอ แต่พอคิดว่ามันใกล้ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปลายปีก็อาจจะเป็นช่วงตัดสินได้ว่าใครจะสอบเข้าได้หรือไม่ได้
เอาจริงๆ ทั้งไทยและญี่ปุ่นก็มีจุดเหมือนกันในเรื่องโรงเรียนกวดวิชานะครับ ผมเองก็บอกไม่ได้ว่าของไทยมีมานานแค่ไหน เพราะไม่เคยศึกษา แต่เท่าที่สังเกตเอง ก็รู้สึกว่าธุรกิจการศึกษานี่ขยายตัวในช่วงประมาณ 15-20 ปีที่ผ่านมาเยอะมาก ก่อนหน้านั้นก็ยังเป็นแบบเปิดของใครของมัน แต่ 15 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นเครือใหญ่ขยายตัวเป็นกิจการขนาดยักษ์ที่มีสาขาครอบคลุมไปทั่วประเทศ
ส่วนของญี่ปุ่นเอง เท่าที่ทราบคือกิจการโรงเรียนกวดวิชาเริ่มเบ่งบานในยุค 70 ซึ่งเด็ก Generation X ต้องพบกับความกดดันในการแข่งขันในกันภายใต้สังคมที่รุ่น Baby Boomers เป็นคนสร้างไว้
ยิ่งเรียนสูง ยิ่งเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีได้ ก็ยิ่งได้งานดี
ชีวิตก็จะดีกว่าพวกไม่มีโอกาสได้เข้า
ทำให้กิจการโรงเรียนกวดวิชาทำกำไรและแพร่ขยายสาขา หยั่งรากลึกในสังคมญี่ปุ่นที่เน้นระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าพิจารณาจากเอกสารอย่างเดียว
เอาจริงๆ แล้ว โรงเรียนกวดวิชาในญี่ปุ่น ที่เรียกง่ายๆ ว่า Juku หรือ 塾 ก็ยังมีสองกลุ่มนะครับ กลุ่มแรกเราเรียกรวมๆ ว่า Gakushu Juku 学習塾 หรือโรงเรียนกวดวิชาทั่วไป สอนเสริมจากการเรียนในโรงเรียน สอนวิธีทำข้อสอบ หรือสอนเทคนิคการเตรียมสอบเข้า แต่อีกกลุ่มหนึ่งคือ Yobikou 予備校 หรือโรงเรียนเตรียมสอบ ซึ่งเน้นการเรียนการสอนสำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ บางโรงเรียนก็เจาะไปที่มหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่งโดยเฉพาะไปเลย ซึ่งระบบการเรียนก็จะเข้มข้นกว่า และหลายครั้ง Yobikou ก็เป็นสถานที่เรียนสำหรับ โรนิน หรือ เหล่านักเรียนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการไม่ได้ แล้วก็ยังไม่ยอมไปเข้าเรียนที่ไหน แต่จะเลือกไปติวหนังสือที่ Yobikou เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ได้แทน
ดูอะไรหลายๆ อย่างแล้ว มันก็ทำให้เกิดคำถามว่า ‘โรงเรียนกวดวิชาจำเป็นต่อสังคมแค่ไหน’ นะครับ แล้วในสังคมที่อัตราการเกิดต่ำ เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างประเทศญี่ปุ่น โรงเรียนกวดวิชาเขาจะอยู่กันอย่างไร ผมก็เลยอาศัยไปสืบถามข้อมูลจากคนรู้จัก ซึ่งก็โชคดีที่เพื่อนสมัยเรียนปริญญาโท ออกมาทำงานในแวดวงกวดวิชากัน บางคนก็ทำงานกวดวิชาตั้งแต่สมัยเรียนเลย ก็จัดว่าได้ข้อมูลจากคนใน
คนนึงเป็นเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาแบบเปิดสอนเอง บริหารเอง ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาขนาดเล็กแบบนี้ก็พบเห็นได้เรื่อยๆ คล้ายๆ กับบ้านเราที่เปิดเองนั่นล่ะ ส่วนอีกคนหนึ่ง เคยทำงานในเครือโรงเรียนกวดวิชาเครือใหญ่ มีสาขาอยู่ตามเมืองต่างๆ แต่คนที่สอนก็เป็นอาจารย์ที่ประจำแต่ละสาขานั่นเอง ไม่ได้เป็นการเปิดดีวีดีแบบบ้านเรา ซึ่งแต่ปีก็จะมีการรับคนเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ แล้วส่งไปประจำตามสาขาต่างๆ เรียกได้ว่า ก็ได้เรียนกับอาจารย์โดยตรง สงสัยอะไรก็ถามได้
เรื่องแรกที่ผมสงสัยเป็นการส่วนตัวก็คือ ทำไมต้องเรียนกวดวิชา มันจำเป็นจริงๆ เหรอ ซึ่งทั้งสองคนก็ตอบเหมือนกันว่า “จำเป็น” ถ้าต้องการให้ผลการเรียนดี หรือเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการให้ได้ การเรียนในโรงเรียนมัธยมอย่างเดียวนั้นไม่พอแน่นอน เพราะว่าเป้าหมายของการเรียนในโรงเรียนมัธยมทั่วไปคือการสอนความรู้พื้นฐานแบบเท่าเทียมกัน (ยกเว้นพวกโรงเรียนมัธยมสายที่เน้นเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย) ทำให้เด็กบางคนก็ตามไม่ทันบ้าง หรือบางคนครอบครัวก็ไม่สามารถช่วยสอนหลังเลิกเรียนให้ได้ ส่วนที่ไม่เข้าใจ ก็ได้โรงเรียนกวดวิชาคอยช่วยเสริมให้ และสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย หรือการสอบวัดอื่นๆ เช่น TOEIC ก็จะมีข้อสอบที่วางกับดักคนสอบไว้ ถ้าอยากสอบให้ผ่าน ก็ต้องเรียนรู้วิธีการทำข้อสอบเหล่านั้นล่ะครับ และอีกอย่าง โรงเรียนกวดวิชาก็เป็นศูนย์รวมเด็กที่ มุ่งมั่นที่จะเรียน ต่างกับชั้นเรียนมัธยมที่อาจจะมีคนไม่สนใจ เล่นอยู่หลังห้อง ทำให้โรงเรียนกวดมีบรรยากาศเหมาะกับการสร้างแรงจูงใจในการเรียนและแข่งขันกันมากกว่า
ส่วนเรื่องเวลาเรียน จริงๆ ก็แล้วแต่ตัวเด็กด้วยว่าจะเรียนแค่ไหน แต่รวมๆ แล้ว ถ้าระดับมัธยมต้น ก็อาจจะเรียนสัปดาห์ละสองวัน วันละ 1.5 ชั่วโมง แล้วสุดสัปดาห์ก็มาเรียนต่ออีก 3 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นระดับมัธยมปลายก็จะเรียนเยอะขึ้นไปอีก และช่วงปิดภาคเรียนก็มาเรียนเสริมหนักขึ้น ยิ่งถ้าเป็นช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยยิ่งเข้าไปใหญ่
เด็กที่อยากเข้ามหาลัยของรัฐชื่อดัง
ต้องเรียนวันละ 8 ชั่วโมง สุดสัปดาห์อีก 15 ชั่วโมง
ฟังแล้วก็หนักใจแทน ซึ่งเขาก็บอกว่า หลายครั้งก็เห็นเด็กเรียนกันจนแทบจะเป็นซอมบี้ในชั้นเรียนไปแล้ว
แต่ส่วนที่ผมสนใจสุดคือ ความแตกต่างระหว่างโรงเรียนแบบเครือ กับโรงเรียนที่บริหารเอง ว่ามีอะไรต่างกันบ้าง เริ่มจากโรงเรียนแบบเครือกันก่อน ซึ่ง บางทีเราฟังดูก็อาจจะรู้สึกแปลก คือ ใครก็เป็นอาจารย์สอนได้ ไม่เหมือนบ้านเราที่มักจะติดภาพของอาจารย์ชื่อดัง ขายแบรนด์ได้ แต่ของเขา แม้จะเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ แต่เขาก็จะมีคู่มือเตรียมสอนให้ และมีการอบรมอาจารย์ใหม่ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจรูปแบบการสอนของโรงเรียนเหมือนกัน ที่เหลือก็แล้วแต่ว่าใครจะมีเทคนิคเพิ่มเติมแค่ไหน ตั้งใจสอนแค่ไหน เด็กจะชอบแค่ไหน ค่อยๆ แตกต่างกันออกไป แต่ก็ยังอยู่ในแนวทางของโรงเรียนอยู่ ซึ่งเครือใหญ่ๆ ก็เปิดโรงเรียนหลายๆ ที่ ใครผลงานดีก็ได้เลื่อนขึ้นไปดูแลสาขานู้นสาขานี้ ตามสไตล์ระบบพนักงานกินเงินเดือนเลย ซึ่งผู้ปกครองหลายรายก็ไว้ใจเครือใหญ่พวกนี้ เพราะว่าขายแบรนด์ได้ แบรนด์ติดตลาด มีการโชว์ผลงานว่าเด็กที่เรียนพัฒนาขึ้นแค่ไหน และมีมาตรฐานแน่นอน
ในขณะเดียวกัน กลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่บริหารเอง (จะว่าเป็นธุรกิจครอบครัวก็ว่าได้) ก็แน่นอนว่า การสอนต้องอาศัยสไตล์ส่วนตัวของเจ้าของเป็นหลัก ไม่ได้มีคู่มือ (ก็สอนเองบริหารเองนี่ครับ) และที่สำคัญคือ ไม่สามารถทุ่มงบโปรโมตแข่งได้แน่ๆ ซึ่งแนวทางของเขาคือ แม้นักเรียนจะไม่เยอะ แต่ก็พยายามดูแลแต่ละคนเป็นอย่างดี พอเด็กสร้างผลงานได้ดี ก็จะไปโปรโมตปากต่อปากเอง ทำให้ได้นักเรียนเพิ่มขึ้น และโรงเรียนแบบนี้ยังมีจุดแข็งที่ความยืดหยุ่น เพราะสเกลเล็กกว่า เมื่อมีอะไรเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษา เขาก็สามารถปรับตัวได้ไวกว่าเครือใหญ่ที่กว่าจะเคลื่อนไหวที่ก็ต้องผ่านการประชุม แล้วค่อยกระจายไปตามสาขาอีกที ในขณะที่โรงเรียนเล็ก ก็สามารถปรับหัวข้อการสอนให้ทันสมัยได้ไวกว่าเยอะ ฟังดูแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็มีข้อดีข้อเสียของตัวเองนะ
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ในประเทศที่จำนวนเด็กลดลงเรื่อยๆ แต่ธุรกิจที่ทำมาหากินกับเด็กอย่างโรงเรียนกวดวิชาจะเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งสองคนก็ลงความเห็นตรงกันว่า ก็คงยิ่งใหญ่กว่าเดิม สวนทางกับจำนวนเด็กที่ลดลง เพราะว่าโรงเรียนกวดวิชาก็ต่างกับโรงเรียนมัธยม หรือมหาวิทยาลัย ที่นับวันก็ยิ่งปิดตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงที่ เป็นสถานที่สำหรับคนที่เงินถึง และต้องการเรียนเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ
ถึงเด็กจะลดน้อยลง แต่ก็ใช่ว่าผู้ปกครองจะเลิกส่งลูกหลาน
เข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชา เพราะมันคือการลงทุนเพื่ออนาคตนั่นเอง
นอกจากนี้ยังเปิดการสอนแนวใหม่ๆ ไม่ใช่กวดวิชาเพื่อสอบเข้าอย่างเดียว แต่ยังขยับขยายไปสอนเรื่องอื่นเช่น สอนภาษาอังกฤษเพื่อการสนทนาอย่างจริงจัง (ไม่ใช่ท่องไวยากรณ์อย่างเดียว) บางที่ก็สอนเรื่อง IT เรื่องปรัชญา ไปจนกระทั่งการเมืองการปกครองตามความสนใจของตลาด เครือใหญ่ก็ทดลองของแปลกเช่น เปิดหลักสูตรฟรีเรียนผ่านสมาร์ตโฟนได้ก็มี บางเจ้าก็ถือว่ามีสถานที่และบุคลากรพร้อมแล้ว ก็บุกตลาดใหม่ เปิดหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุให้มาเรียนเพื่อจะได้ไม่เป็นอัลไซเมอร์ ก็ถือว่าเป็นตลาดใหญ่เอาเรื่องนะครับ แบบนี้คงอยู่ได้สบายๆ นั่นล่ะครับ
พอไล่อ่านคำตอบดูแล้ว ก็รู้สึกว่า กวดวิชาของไทยกับญี่ปุ่น แม้จะคล้ายกัน แต่ก็มีอะไรต่างกันเยอะเหมือนกันนะครับ นึกได้อีกอย่างคือ จะไม่ค่อยเห็นกวดวิชาที่ดังเฉพาะวิชา หรือขายอาจารย์คนเดียวไปเลย จะว่าไปก็อาจจะสะท้อนรูปแบบการทำงานของแต่ละชาติได้เหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าญี่ปุ่นจะไม่มีอาจารย์กวดวิชาที่ดังเป็นเซเล็บนะครับ ของเขาเผลอๆ จะดังกว่าของไทยอีก แต่คราวนี้ชักจะยาวไปล่ะ ขอเอาไว้เล่าในโอกาสหน้าดีกว่าเนอะ
Illustration by Namsai Supavong