อ่านพบว่าเมื่อวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 มีพิธีเปิดอนุสรณ์สถานแห่งมิตรไมตรี ณ ถนนสยาม (Rue de Siam) ในเมืองแบรสต์ (Brest) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส บริเวณถนนสายนั้นได้ประดิษฐานรูปปั้นขนาดครึ่งตัวของ ‘โกษาปาน’ หรือ Kosa Pan : Le buste ข่าวข้างต้นสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผมไม่เบาทีเดียว เพราะผมชอบศึกษาเรื่องราวของบุคคลท่านนี้เสมอๆ
สืบเนื่องจากในพ.ศ.2562 เป็นโอกาสครบรอบ 333 ปีที่คณะทูตสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยานำโดยออกพระวิสุทธสุนทร ราชทูต (ต่อมาก็คือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)) ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี คณะทูตรอนแรมเรือล่องท้องทะเลนาน 6 เดือน จนขึ้นฝั่งท่าเรือเมืองแบรสต์ในปี พ.ศ.2229 รวมถึงพำนักที่เมืองนี้ก่อนจะเดินทางไปยังกรุงปารีส จึงไม่แปลกเลยหาก ‘สยาม’ จะกลายเป็นชื่อถนนสายหลักของเมือง ซึ่งเดิมทีชื่อถนนแซงต์ปีแอร์ (Rue de S. Pierre) ต่อมาทางฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นถนนสยาม (Rue de Siam) และล่าสุดรูปปั้นของท่านราชทูตก็ถูกนำไปตั้งไว้ที่นั่น
โกษาปานเป็นผู้มีชื่อเสียงลือเลื่องในประวัติศาสตร์และได้กลายเป็นบุคคลสำคัญของไทยมาทุกยุคสมัย อีกทั้งยังจำหลักในความทรงจำและความสนใจของชาวไทยไม่น้อยราย กระทั่งนามท่านราชทูตยังเคยถูกนำมาใช้เป็นชื่อสินค้าด้วย ครับ ช่วง 2 ปีมานี้ พอเอ่ยนาม ‘โกษาปาน’ ผมมิแคล้วนึกถึงยาสูบช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
คุณผู้อ่านอาจสงสัย เอ๊ะ! ท่านราชทูตไปเกี่ยวข้องกับยาสูบได้อย่างไรกันเล่า?
ขอเฉลยครับ ก็ผมเคยเจอโฆษณายาเส้นยี่ห้อ ‘โกสาปาน’ (เขียนด้วย ส. แทน ษ. แบบภาษายุค ‘เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย’ หรือสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ประกาศเผยแพร่ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2486 โดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์ นิกร หรือ THE NIKORN DAILY NEWS (พบการลงโฆษณานี้ตั้งแต่ฉบับกลางเดือนเมษายนติดต่อไปอีกหลายฉบับหลายเดือน)
ยาเส้น ‘โกสาปาน’ ผลิตโดยโรงงานยาสูบ ในโฆษณาจะปรากฏภาพเรือสำเภาลอยล่องคลื่นทะเลและภาพกระป๋องบรรจุยา โปรยถ้อยคำเชิญชวนว่า “ยาเส้นโกสาปาน รสเยี่ยม ราคาเยาว์”
ผมคิดว่า การนำเอาชื่อของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์มาเป็นชื่อสินค้าช่างน่าขบคิด เท่าที่เคยผ่านตาหลักฐานสื่อสิ่งพิมพ์ก่อนกึ่งพุทธกาล (พ.ศ.2500) ก็เจอลักษณะเช่นนี้เนืองๆ กล่าวเฉพาะสินค้าประเภทยาสูบ นอกเหนือจากชื่อบุคคลในอดีตแล้ว ตัวละครในวรรณคดีก็ถูกหยิบยกมาใช้โฆษณาเช่นกัน ดังปรากฏในหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพยนตร์ ฉบับประจำวันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2468 ที่นำเอาตัวละครในเรื่อง ราชาธิราช มาโฆษณาผลิตภัณฑ์บุหรี่ของบริษัทยาสูบนานยาง ท.จ.ก. โปรยถ้อยความว่า
“เรื่องราชาธิราชเปนเรื่องเก่าแก่ก็จริงอยู่ แต่ความสนุกจับใจย่อมไม่แพ้เรื่องจักร์ๆ วงศ์ๆ หรือไม่แพ้เรื่องใหม่ๆ ในยุคนี้ ผู้ที่เคยอ่านมาแล้วย่อมจะพอใจอยากจะเห็นตัวของพวกแม่ทัพนายกองตลอดจนตัวพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องซึ่งเปนผู้มีฝีมือและชื่อเสียงว่าเปนนักรบสำคัญในยุคโน้น ทุกๆ คนคงไม่ปฏิเสธอย่างแน่นอน ทุกๆ คนย่อมอยากเห็นโฉมหน้าของวีรบุรุษ, บัดนี้บริษัทได้ให้ช่างผู้มีฝีมือในการวาดเขียนวาดรูปทหารและนักรบตลอดจนรูปพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องให้ท่านชมอย่างงดงาม ทั้งการแต่งกายก็แต่งตามยุคแลสมัยกระโน้น ระบายสีอย่างงดงามที่สุด คุยได้ว่าไม่มีใครสู้ได้ละกระบวนรูปเขียนด้วยกัน ทั้งครบชุดถึง ๑๐๐ รูป แบ่งเปนฝ่ายละ ๕๐ รูป คือฝ่ายมอญแลฝ่ายพม่า รูปอันงดงามเหล่านี้ได้บรรจุอยู่ในซองบุหรี่ตราลูกโลกทุกๆซอง ควรท่านจะมีไว้ให้ครบชุด ควรจะรีบแสวงหา ถ้าช้าไปเกรงว่ารูปเหล่านี้จะหมด ถ้าบรรจุอัลบัมครบชุดแล้วงามอย่างเหลือล้นพ้นประมาณ จะดูรูปก็สรวยหรู แกมเปนเรื่องจริงและเปนตำนานอันสำคัญด้วย
เพราะฉนั้นโปรดรีบแสวงหาเสียโดยเร็ว ในซองบุหรี่ตราลูกโลกจะมีรูปอยู่ทุกๆซอง โปรดอย่าลืมนะขอรับ”
แท้จริง ภาพจากวรรณคดีไทยที่เกี่ยวข้องกับซองยาสูบและซองบุหรี่เคยมีมาตั้งแต่ทศวรรษ 2450 ในรูปแบบที่เรียกว่า ‘ยากาแร็ต’ ซึ่งนำเสนอภาพจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน อิเหนา และพระอภัยมณี เป็นต้น
บ่อยครั้ง สินค้าก็อาศัยบทร้อยกรองหรือฉันทลักษณ์มาประพันธ์เป็นคำโฆษณา วิธีนี้ใช้โดยโรงงานยาสูบซึ่งมิใช่เพียงจะผลิตแค่ยาเส้น หากภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ยังได้ผลิตบุหรี่ตราฆ้องและบุหรี่ตราประตูชัยออกมาวางจำหน่ายในตลาดคู่กัน บุหรี่ตราฆ้องเป็นซองกระดาษ ส่วนบุหรี่ตราประตูชัยเป็นกล่องไม้อัดคล้ายๆ กล่องไม้ขีดไฟ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักประพันธ์เลื่องชื่อจำได้ว่าเขาเคยอ่านคำโฆษณาบุหรี่ทั้งสองบนหน้าหนังสือพิมพ์ในรูปแบบภุชงคประยาตฉันท์ 12 (ฉันท์ที่มีลีลาเหมือนงูกำลังเลื้อย) เนื้อความคือ
“ประโคมฆ้องระฆังขาน
สิกังวานสนั่นเวียง
บุหรี่ฆ้องประเดิมเคียง
ตลาดคู่ประตูชัย”
จะเห็นว่า สินค้าประเภทยาสูบและบุหรี่ก่อนปี พ.ศ.2500 ดูเหมือนเน้นให้ความสำคัญการนำเสนอเรื่องบุคคลสำคัญของไทย วรรณคดีไทย บทร้อยกรองและฉันทลักษณ์ไทย ราวกับพยายามสะท้อนภาพลักษณ์ ‘ความเป็นไทย’ ผ่านผลิตภัณฑ์ไปสู่ลูกค้าด้วย ฉะนั้น การโฆษณาสินค้าประเภทนี้ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่มองเผินๆ ก็เหมือนไม่มีอะไร เป็นแค่การสร้างจุดขายดึงดูดลูกค้า
แต่พอมองให้ลึกซึ้ง บางที อาจพบประเด็นและแง่มุมเรื่องประวัติศาสตร์ไทยอย่างน่าสนใจมากๆ
เอกสารอ้างอิง
- ข่าวภาพยนตร์. (27 กรกฎาคม 2468)
- เฉลิมศักดิ์ รามโกมุท, ติกาหลัง. เกิดกลางกรุง ชุดรามเกียรติ์. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2537
- เดอ วีเซ, เลอกงต์ ญัง ดอนโน. โกศาปานไปฝรั่งเศส. แปลโดย เอฟ ฮีแลร์. พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร,
- 2497
- นิกร. ปีที่ 5 ฉบับที่ 2771 (14 เมสายน 2486)
- ปียกนิฏฐ์ หงษ์ทอง. สยามสนุกข่าว.กรุงเทพฯ: กัญญา, 2531
- อาจินต์ ปัญจพรรค์. โอ้ละหนอน้ำหมึก. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2544.
- เอนก นาวิกมูล. สิ่งพิมพ์คลาสสิค. กรุงเทพฯ: สารคดี, 2533