ดูเหมือนว่า ความต้องการนิยามการสูบบุหรี่ภายในบ้านให้เป็นความผิดทางกฎหมาย เป็นความรุนแรงในครอบครัว จะมีความหมายเฉพาะผู้ชายดูดบุหรี่เท่ากับผู้ชายตีเมีย มากกว่าจะมองว่า ไม่ว่าสมาชิกในครอบครัวคนใดก็สามารถดูดบุหรี่ได้ หรือมุ่งอธิบายบุหรี่ในฐานะสินค้าผูกขาดทางการค้าโดยรัฐ ซึ่งรัฐควรจัดหาสวัสดิการบริการใดบ้างให้กับผู้บริโภคบุหรี่ อย่างน้อยดูดบุหรี่ในบ้านผิดกฎหมายแล้วให้ไปดูดที่ไหนได้บ้าง
อันที่จริง สูบบุหรี่กินเหล้าถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพักผ่อนหย่อนใจ นันทนาการและการเข้าสังคม มันส่งผลเสียต่อสุขภาพก็จริง แต่รัฐมักเลือกเอาความเชื่อทางศาสนาว่าบาปแปะป้ายให้กับบุหรี่เหล้า พร้อมทำมาหากินกับมันในนาม ‘ภาษีบาป’ (sin tax) ที่เป็นการเรียกเก็บภาษีสุรายาสูบเบียร์ในราคาแพงและง่ายต่อการสร้างความชอบธรรมในการขึ้นภาษี
มิพักต้องพูดถึงชุดวาทกรรมสุขภาพจากบางหน่วยงานรัฐ ที่ภาษีบาปเป็นดั่งบุญคุณข้าวแดงแกงร้อนรดหัวให้รณรงค์ตีตราผู้บริโภคเหล้าบุหรี่อีกที
และอันที่จริงยิ่งกว่า การดูดบุหรี่กับมนุษยชาติก็อยู่ร่วมกันมายาวนานไม่ว่าเพศไหนหรือซีกโลกไหนก็ตาม ทว่าบุหรี่ก็จัดให้เป็นแท่งหรือดุ้นบางอย่างที่ผู้ชายนิยมดูด และเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่อนุญาตให้ผู้ชายมากกว่า เหมือนที่เชื่อว่าอาการอยากบุหรี่ของ ‘ผู้สูบบุหรี่’ นำไปสู่การตีลูกเมียได้ หรือดูดบุหรี่ในบ้านเป็นความรุนแรงในครอบครัวพอๆ กับทุบตีลูกเมีย
ความกังวลใจต่อผู้หญิงดูดบุหรี่จึงไม่ใช่จะหน้ามืดอยากทุบตีลูกผัว หากแต่เป็นการทำลายคุณสมบัติ ‘ความเป็นหญิง’ ในอุดมคติภายใต้โครงสร้างปิตาธิปไตย ที่บุหรี่เป็นของต้องห้ามสำหรับสตรี ในยุโรปศตวรรษที่ 17-ต้นศตวรรษที่ 20 ผู้หญิงที่ดูดบุหรี่—พวกเธอถูกตีตราว่าเป็นนางบาป หญิงคนชั่ว ไร้จริยธรรม ไม่รักนวลสงวนตัว มีพฤติกรรมทางเพศที่อยู่นอกศีลธรรม เป็นหญิงรักหญิง แม่เล้าและโสเภณี บุหรี่จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในภาพโป๊ยุควิกตอเรียน การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะของผู้หญิงกลายเป็นสิ่งต้องห้ามถึงขั้นในนิวยอร์กปี 1908 มีผู้หญิงถูกจับโทษฐานสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ[1]
ต่อให้สงครามโลกครั้งที่ 1 จะดึงผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านใช้แรงงานชดเชยผู้ชายที่ไปออกรบ ทำให้พวกเธอเริ่มสูบบุหรี่นอกบ้านมากขึ้น (ทำงานหนักๆ มันก็อยากผ่อนคลายประเดี๋ยวประด๋าวบ้างปะ) แต่พวกเธอก็ยังคงถูกประณามอยู่ดี พื้นที่สูบบุหรี่ของผู้หญิงยังคงเป็นพื้นที่ในบ้าน
ถ้ามีผู้หญิงที่หาญกล้าจะดูดบุหรี่อย่างเปิดเผยในช่วงเวลานั้น ก็เป็นนักวิชาการขบถ จิตรกร ปัญญาชนหัวก้าวหน้าแหกคอก
และเมื่อสุขภาพวาทกรรมทางการแพทย์เข้ามามีบทบาททดแทนศีลธรรม ความกังวลต่อผู้หญิงสูบบุหรี่ก็ยังคงอยู่ภายใต้กรอบปิตาธิปไตย และการนิยาม ‘หญิงดี-หญิงชั่ว’ อยู่ดี ที่ผู้หญิงดูดบุหรี่ส่งผลร้ายต่อการตั้งครรภ์ อนามัยเจริญพันธุ์ของพวกเธอ ที่การให้ความสำคัญสุขภาพของผู้หญิงยังคงถูกผูกกับช่องคลอด มดลูก รังไข่ อวัยวะเพื่อการสืบพันธุ์ เพิ่มประชากรมากกว่าจะมองว่าผู้หญิงและจิ๋มของเธอเป็นของเธอเองที่มีอำนาจ การปฏิบัติงานที่เอนกประสงค์กว่า พูดง่ายๆ จิ๋มของผู้หญิงเป็นของผู้หญิงเองไม่ใช่ของใคร และไม่ได้มีหน้าที่ให้กำเนิดประชากรอย่างเดียว
ความน่ากังวลเกี่ยวการสูบบุหรี่จึงน่าจะเป็นที่ว่า หากเราหวาดผวาควันบุหรี่ขนาดเชื่อว่าพ่อสูบบุหรี่สามารถไปไกลถึงขั้นทุบตีลูกเมียได้
ผู้หญิงสูบบุหรี่ก็สามารถอธิบายให้เลยเถิดไปเท่ากับการทำแท้งได้ ทั้งๆ ที่การทำแท้งและสูบบุหรี่ย่อมไม่ถึงกับอาชญากรรม
อย่างไรก็ดี ในอเมริกานับตั้งแต่1920s เป็นต้นมา การตลาดของบุหรี่พุ่งมายังผู้บริโภคหญิงอย่างจริงจัง อันเป็นช่วงขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเฟื่องฟูที่กลายเป็นเฟมินิสต์คลื่นลูกแรก มุ่งประเด็นไปยังการมีสิทธิเสรีภาพและโอกาสที่เสมอภาคกับผู้ชาย ผู้หญิงก็สามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้เท่ากับผู้ชาย การออกมาทำงานนอกบ้านของหญิงชนชั้นกลางเหมือนกับผู้ชาย ทำให้พวกเธอสร้างรายได้มั่นคงด้วยตัวของเธอเอง ไม่ต้องพึ่งผู้ชายและการแต่งงาน มีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย เข้าสังคม บุหรี่เองก็ถือว่าเป็นโอกาสการเข้าถึงอย่างหนึ่งที่ถูกผูกขาดโดยผู้ชายก่อนหน้านั้น
ในช่วงเวลานั้น บริษัท Lucky Strikes นอกจากโฆษณาบุหรี่กับสาวๆ ว่าเป็นอีกวิธีในการรักษาหุ่นสวย เพราะสูบบุหรี่แทนกินของหวานได้และตลอด ยังสถาปนามวลบุหรี่ให้เป็น “Torches of Freedom” หรือ “คบเพลิงแห่งเสรีภาพ” เพื่อให้ผู้หญิงบริโภคยาสูบนอกบ้าน ประกาศตัวตนของพวกเธอ และความสามารถที่พวกเธอทำได้เช่นเดียวกับพวกผู้ชาย ตลอดยุค 1920s-1960s บุหรี่กลายเป็นพร๊อพของสาวมั่น หญิงสมัยใหม่ มีคาแรคเตอร์ มีไลฟ์สไตล์โก้หรู ก๋ากั่น ไฮแฟชั่น ผ่านนิตยสารสาร Vogue
แต่ในเวลาเดียวกันเฟมินิสต์ขณะนั้นก็ถูกมองว่า กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือของโรงงานยาสูบในการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้หญิงของพวกผู้ชายนายทุน บริษัทบุหรี่ก็ล้วนเป็นของพวกหนุ่มๆ “Torches of Freedom” เอง ก็เป็นสโลแกนที่ตั้งขึ้นโดยนักจิตวิเคราะห์เพศชาย Abraham Brill เพื่อสร้างยอดขายบุหรี่ สนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และในเทศกาลอีสเตอร์ ปี 1929 Edward Bernays นัก PR ชื่อดังในขณะนั้นก็ได้จ้างหญิงสาวและเฟมินิสต์ออกไปสูบบุหรี่ตามงานเทศกาล เพื่อโฆษณาบุหรี่ให้กับบริษัท Lucky Strikes
วัฒนธรรมบริโภคบุหรี่ของผู้หญิงทวีความเข้มข้นขึ้นหลังช่วงสงรามโลกครั้งที่ 2 นำไปสู่การปรับเปลี่ยนบุหรี่ให้เข้ากับเพศสภาพของผู้หญิงมากขึ้นตามมายาคติ ทั้งกลิ่น บรรจุภัณฑ์ และขนาดของบุหรี่ ให้มี ‘ความเป็นหญิง’’ มากขึ้น และความคำนึงถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของผู้หญิงให้ดูเก๋และเซ็กซี่ (แบบที่ผู้ชายนิยาม) นิตยสารผู้หญิงหน้าแฟชั่นมีการจับคู่เสื้อผ้าหน้าผมเครื่องแต่งกายให้เข้ากับเวลาคีบยาสูบ[2]
ในปี 1968 บริษัทยาสูบ Philip Morris ก็ได้ออกบุหรี่สุภาพสตรี เส้นรอบวง 23 มิลลิเมตร ยาว 100 กับ 120 มิลลิเมตร นามว่า Virginia Slims ที่มีขนาดเล็กกว่าบุหรี่สุภาพบุรุษ ควันน้อยกว่าเพื่อให้การดูดบุหรี่ของพวกผู้หญิงดูมากแต่น้อย เรียบแต่โก้ ไฮแฟชึ่น
แต่ไม่ว่าอย่างไร ‘บุหรี่ผู้หญิง’ ที่ถูกผลิตขึ้นด้วยรูปลักษณ์สวยๆ เพรียวๆ ขนาดเล็กกะทัดรัด ก็มีชื่อลำลองในสายควันว่า ‘บุหรี่กะหรี่’ ตอกย้ำภาพลักษณ์เดิมของผู้หญิงดูดบุหรี่เมื่อหลายศตวรรษก่อน
ความกังวลใจว่าผู้หญิงจะดูดบุหรี่ ไม่ได้เกิดจากความกลัวว่าเธอจะไปประกอบอาชีพกะหรี่หรือแม่เล้า หากแต่เป็นความหวาดกลัวว่าผู้หญิงจะเริ่มมีอำนาจและเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับการที่พวกเธอกล้าขบถฉีกข้อห้ามสังคมชายเป็นใหญ่ หรือเริ่มทำอะไรในสิ่งที่เคยสงวนไว้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น
เหมือนกับที่หนังสืออ่านนอกเวลาของกระทรวงศึกษาธิการ พ่อสอนลูก ของทวี บุณยเกตุ ที่เขียนสอนลูกๆ ในทศวรรษ 2490 ว่า
“สมัยนี้เป็นสมัยเสรีภาพ เสมอภาค และเป็นสมัยของการสังคม ผู้หญิงได้ถูกยกย่องให้มีเกียรติเสมอทัดเทียมกับผู้ชาย ฉะนั้นผู้ที่ไม่มีความรู้จึงเป็นผู้ล้าสมัยเข้าในสังคมใดเขาไม่ได้ เพราะจะพูดจากับใครไม่รู้เรื่อง จะมีความกระดากเคอะเขิน มีความประหม่ากลัว กลายเป็นคนเปิ่นหรือตัวตลกไป”[3]
อย่างไรก็ตามพ่อทวีก็ได้สอนลูกสาวอีกว่า
“แต่ในสมัยนี้ความอ่อนโยนนิ่มนวล และสุภาพเรียบร้อยของผู้หญิงออกจะลดน้อยลง ทั้งนี้คงเป็นเพราะผู้หญิงได้รับการยกย่องให้มีสิทธิทัดเทียมกับผู้ชาย ได้สมาคมกับผู้ชายมากขึ้น มีเวลาอยู่กับพ่อแม่น้อยลงเพราะต้องไปเรียนหนังสือ ต้องสมาคมกับเพื่อนนานาชนิด ความเป็นผู้หญิงจึงหมดไป เช่นเรียนรวมกับผู้ชาย เข้าสังคมปะปนกับผู้ชาย และมีอิสระเสรีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ความนิ่มนวลอันเป็นคุณสมบัติของผู้หญิงจึงลดน้อยลง เช่นเดี๋ยวนี้ผู้หญิงริอ่าน สูบบุหรี่ กินเหล้า แต่งกายเลียนแบบผู้ชาย เล่นกีฬาอย่างผู้ชาย ชอบแสดงกิริยาท่าทางและพูดจาเอาอย่างผู้ชาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความกระด้างทำให้ขาดความเป็นผู้หญิงไป และบางคนก็เป็นเอามากจนน่าเกลียด การกินเหล้าและสูบบุหรี่นั้น แม้คนดีๆ ในสมัยนี้เขานิยมกัน และในสังคมเกือบทุกแห่งเราก็จะเห็นผู้หญิงเป็นจำนวนมิใช่น้อยกินเหล้า สูบบุหรี่กันอย่างเปิดเผยก็ตาม แต่พ่อเห็นว่าเป็นการไม่สมควร เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ขาดความเป็นผู้หญิงไป”[4]
แต่ความพยายามรณรงค์ป้องปรามผู้หญิงจากยาสูบแทนที่จะสร้างสำนึก gender-neutral ลดอิทธิพลชายเป็นใหญ่และ ‘บุหรี่ผู้หญิง’ ไปพร้อมกัน กลับอาศัยระบอบชายเป็นใหญ่เพื่อจำกัดนิยามตัวตนผู้หญิงให้อยู่ฝั่งตรงข้ามกับบุหรี่ ตอกย้ำความหมาย ‘หญิงดี-หญิงชั่ว’ แบบเก่าๆ
ทันทีที่เริ่มมีโครงการรณรงค์ “หญิงไทยไม่สูบบุหรี่” ในปี 2537 ก็กลายเป็นกิจกรรมเวทีประกวดนางงาม (ซึ่งเป็นที่รู้ๆ กันว่าเป็นผลผลิตของปิตาธิปไตย) ก็ได้ให้ อารียา สิริโสภา นางสาวไทยประจำปี 2537 เป็นพรีเซนเตอร์คนแรก ในปีเดียวกันนั้น เวทีประกวดมิสทีนไทยแลนด์ก็ประกาศให้เวทีการประกวดปลอดบุหรี่ และให้ผู้เข้ารอบการประกวด 30 คน เป็นพรีเซนเตอร์
และในปีต่อๆ มา พรีเซ็นเตอร์รณรงค์ไม่ให้ผู้หญิงสูบบุหรี่ก็เป็นหน้าที่ของมิสไทยแลนด์เวิลด์และมิสทีนไทยแลนด์ และไปไกลถึงขั้นกองการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์สกำหนดให้การไม่สูบบุหรี่เป็นคุณสมบัติหนึ่งของผู้เข้าประกวด และผู้ได้รับรางวัลทุกตำแหน่งจะต้องเป็นพรีเซนเตอร์ของการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่ปี 2545[5]
ไม่เพียงผู้หญิงไม่ดูดบุหรี่จะกลายเป็นคุณสมบัติผู้หญิงในอุดมคติของชาติ แต่บุหรี่ยังคงถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัด ‘หญิงดี-หญิงเลว’
เช่นในปี 2553 องค์การอนามัยโลกกำหนดประเด็นการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ว่า “Gender and tobacco with an emphasis on marketing to women” แต่พอมาแปลเป็นไทยกลับเป็นคำขวัญ “หญิงไทยฉลาด ไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่” เฉย
ไม่ว่าจะความหมายนัยใดของการสูบหรือไม่สูบบุหรี่ ปิตาธิปไตยยังคงมีอิทธิพลและอยู่เบื้องหลังทั้ง 2 ฝั่ง แต่ถึงกระนั้นบุหรี่ก็ถือว่ายังได้สร้างพลังให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาต่อสู้กับโครงสร้างชายเป็นใหญ่ แหกกฎข้อห้ามที่ทำให้เธอไม่มีสิทธิเท่าผู้ชาย แม้บุหรี่จะรบกวนสุขภาพตัวเธอเองและคนใกล้ชิดที่สูดควันเข้าไป แต่พวกเธอและเขาก็มีสิทธิที่จะป้องกันในระดับปัจเจก หรือเลือกที่จุดสูบหรือหยุดเมื่อไหรที่ไหนก็ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจตัดสินใจและระดับความใส่ใจของพวกเธอ ขณะที่ปิตาธิปไตยแฝงฝังอยู่ทุกอณูของพื้นที่ ทุกขณะจิตลมหายใจเข้าออก คอยทำหน้าที่ตีตราและจำกัดตัวตนตลอดเวลา ไปพร้อมกับกับจัดวางพื้นที่ของผู้หญิงให้อยู่ภายในบ้าน โดยไม่ให้พวกเธอมีทางเลือกตั้งแต่ต้น ซ้ำยังผลิตสารก่อมะเร็งออกมาเป็นเพื่อนเฟมินิสต์คอยบั่นทอนสุขภาพพวกนางอีก
การที่ผู้หญิงจะหันมาจุดบุหรี่สูบจึงไม่ใช่เรื่องคอคาดบาดตายสาหัสสากรรจ์อะไร ต่อให้มีคนมาบอกว่ามันทำให้เธอดูแย่ แต่เชื่อเถอะ ไม่มีอะไรแย่กว่าโลกชายเป็นใหญ่นี้หรอก
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Greaves L. Smoke screen : women’s smoking and social control. Halifax : Fernwood Publishing, 1996.
[2] Deadly in Pink: Big Tobacco Steps Up Its Targeting of Women and Girls. New Jersey : Robert Wood Johnson Foundation, 2009.
[3] ทวี บุณยเกตุ. พ่อสอนลูก. กรุงเทพ: บรรณกิจ, น. 209-210.
[4] เรื่องเดียวกัน, น. 278.
[5] .มณฑา เก่งการพานิช (บรรณาธิการ). หญิงไทยกำลังตกเป็นเหยื่อ. กรุงเทพ : มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, 2553.