ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในวงการวรรณกรรมอเมริกันที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ คือการที่สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association หรือ ALA) ประกาศว่าตัดสินใจจะ ‘เปลี่ยน’ ชื่อรางวัลวรรณกรรมสำคัญรางวัลหนึ่ง
รางวัลนี้เป็นรางวัลวรรณกรรมเยาวชน ที่เดิมทีใช้ชื่อตาม ลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ (Laura Ingalls Wilder) ผู้เขียนหนังสือชุด Little House หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ แต่เปลี่ยนมาเป็นรางวัลชื่อ Children’s Literature Legacy Award แทน
การเปลี่ยนชื่อรางวัลแบบนี้ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่นะครับ ลองนึกถึงรางวัลที่ตั้งตามชื่อคนดูก็ได้ เช่นของไทยก็มีรางวัลอิศรา อมันตกุล, รางวัลศรีบูรพา หรือรางวัลอื่นๆ ตอนตั้งชื่อรางวัลถือเป็นการ ‘ให้เกียรติ’ กัน แต่ถ้ามีการ ‘เปลี่ยน’ ชื่อรางวัล ก็คล้ายเป็นการ ‘ปลดเกียรติ’ ของคนคนนั้นออกไปจากตัวรางวัลนั่นเอง
คำถามคือ – ทำไมถึงมีการตัดสินใจแบบนั้น?
คำประกาศมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2018 บอกว่ามีการโหวตกันโดยคณะกรรมการสมาคมในด้านที่เกี่ยวกับวรรณกรรมเยาวชน (คือ Association for Library Service to Children หรือ ALSC) ปรากฏว่าเสียงโหวตเป็นเอกฉันท์ 12 ต่อ 0 ว่าให้นำชื่อของลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ ออกไปจากรางวัลเสีย เนื่องจากทัศนคติของนักเขียนที่เป็นชื่อรางวัลไม่สอดคล้องกับ ‘คุณค่าหลัก’ ของสมาคม
ไม่สอดคล้องอย่างไร?
ตัวอย่างของความ ‘ไม่สอดคล้อง’ ก็คือการที่หนังสือชุดบ้านเล็กนั้น มีหลายครั้งที่แสดงอาการ ‘เหยียดชาติพันธุ์’ หรือ Racism อย่างรุนแรง เช่น ในหนังสือ Little House on the Prairie หรือ ‘บ้านเล็กในทุ่งกว้าง’ มีข้อความว่า “The only good Indian is a dead Indian” หรืออินเดียนแดงที่ดีมีแต่อินเดียนแดงที่ตายแล้วเท่านั้น หรือในหนังสือ On the Banks of Plum Creek (บ้านเล็กริมห้วย) พี่สาวของลอร่าบอกเธอว่าถ้าเธอตากแดดมากเกินไป เธอจะผิวเป็นสีน้ำตาลเหมือนพวกอินเดียนแดง “แล้วเด็กสาวๆ ในเมืองจะคิดกับเราอย่างไร”
โดยท่อนที่ร้ายกาจที่สุด น่าจะเป็นประโยคแรกๆ ของหนังสือชุดบ้านเล็กเลย ที่บอกว่าลอร่าอาศัยอยู่ในดินแดนที่ “ไม่มีบ้าน ไม่มีถนน ไม่มีมนุษย์ (คำเดิมคือ People) มีแต่อินเดียนแดงและสัตว์ป่า” ซึ่งวอชิงตันโพสต์บอกว่า มีการเปลี่ยนคำว่า People เป็น Settlers หรือนักบุกเบิกในฉบับพิมพ์ปี 1953 และในบางฉบับ (เช่นที่ขายใน Amazon ปัจจุบันนี้) ก็ตัดคำว่าอินเดียนแดงทิ้งไปเลย เพื่อจะได้ ‘ซอฟท์’ ลง
หนังสือชุด ‘บ้านเล็กฯ’ ถือเป็นวรรณกรรมเยาวชนสำคัญของอเมริกาและอาจจะของโลกด้วย เพราะเขียนขึ้นด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สนุก ด้วยเรื่องราวของเด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เติบโตขึ้นในรอยต่อประวัติศาสตร์ของคนอเมริกันยุคบุกเบิกดินแดนตะวันตก ที่ต้องต่อสู้กับอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ตั้งแต่โรคภัยไข้เจ็บ การย้ายบ้านครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อแสวงหา ‘โอกาส’ ที่ดีกว่า ผ่านการจับจองที่ดิน ภัยธรรมชาติอันโหดร้าย สัตว์ป่า แทรกไว้ด้วยเกร็ดการทำอาหาร ชีวิตทางสังคม ความรัก และความอบอุ่นในครอบครัว จึงกลายเป็นหนังสือ ‘อันเป็นที่รัก’ ของผู้คนมากมาย ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่มีการนำชื่อของผู้เขียนอย่างลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ มาเป็นชื่อรางวัลวรรณกรรมเยาวชน
คนแรกที่ได้รับรางวัล ลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ ในปี 1954 (โปรดสังเกตว่า เป็นปีถัดจากการเปลี่ยนคำว่า People เป็น Settlers) ก็คือตัวลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์เอง แต่นอกจากนี้แล้ว ยังมีนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังของอเมริกาอีกหลายคนที่ได้รับรางวัลนี้ เช่น อีบี ไวท์ หรือ ดร.ซุส โดยรางวัลนี้ไม่ได้มอบให้ทุกปี แต่มีถี่ห่างกันไปตามแต่จะมีผู้เหมาะสมได้รับรางวัลหรือเปล่า จึงพูดได้ว่าเป็นรางวัลสำคัญ
เด็บบี้ รีส (Debbie Reese) ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ทำงานด้านวรรณกรรมเยาวชนของชาวอินเดียนแดง (ซึ่งถ้าจะเรียกให้ถูกต้องก็ต้องเรียกว่าชาว Native Americans) บอกว่า ไวลเดอร์ฉายภาพทั้งคนผิวดำ (หรือ African Americans) และชาวพื้นเมืองอเมริกันได้อย่างบกพร่องและเหยียดชาติพันธุ์ (Flawed and Racist) เธอบอกว่าอาจมีคนเแย้งว่า – ก็ในยุคสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องผิดนี่นา แต่เธอโต้ว่า สำหรับคนแอฟริกันอเมริกันและเนทีฟอเมริกันแล้ว – พวกเขารู้ว่ามันผิด แม้คนผิวขาวจะไม่คิดว่าผิดในยุคหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรก็ผิด
แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนชื่อรางวัลเริ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการสำรวจบรรณารักษ์จำนวนมาก พบว่าบรรณารักษ์ราว 300 คนที่เป็นสมาชิกของสมาคมเห็นว่าควรเปลี่ยนชื่อ แต่มีราว 150 คนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน คนที่ไม่เห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนบอกว่า การเปลี่ยนคือการ ‘โค้งคำนับ’ ให้กับแรงกดดันเรื่อง PC หรือ Political Correctness (โดยบอกว่าเป็น Bowing to PC pressure) และเป็นการตัดสินคนจากอดีต โดยใช้มาตรฐานของปัจจุบัน ซึ่งไม่น่าจะยุติธรรมเท่าไหร่นัก
อย่างไรก็ตาม ประธานของ ALA อย่าง จิม นีล (Jim Neal) และประธานของ ALSC อย่างนีนา ลินด์เซย์ (Nina Lindsay) ก็บอกว่านี่เป็นแค่การเปลี่ยน ‘ชื่อ’ รางวัลเท่านั้น ไม่ได้เป็นความพยายามจะเซนเซอร์ ตำหนิ หรือห้ามอ่านหนังสือของลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ แต่อย่างใด พวกเขาเข้าใจว่าหนังสือชุดนี้มีความหมายลึกซึ้งต่อผู้อ่านมากขนาดไหน และมีที่ทางอันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์วรรณกรรมเยาวชนอย่างไร แต่ในเวลาเดียวกัน หนังสือชุดนี้ก็เป็น ‘ผลผลิต’ ของประสบการณ์ชีวิตและมุมมองในฐานะนักบุกเบิกยุคศตวรรษที่สิบเก้า จึงสะท้อนให้เห็นทัศนคติทางสังคมต่อคนพื้นเมืองและคนผิวสีที่ล้าสมัย และสวนทางกับการยอมรับ เปิดกว้าง และความเข้าใจเรื่องความหลากหลายของสังคมในปัจจุบัน
ที่จริง กรณีแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกนะครับ ในปี 2015 World Fantasy Convention ซึ่งแต่เดิมเคยมอบรางวัลเป็นถ้วยโทรฟี่ (หรือรูปปั้น – แบบเดียวกับออสการ์) โดยใช้ใบหน้าของเอชพี เลิฟคราฟต์ (H.P. Lovecraft) มาเป็นถ้วยรางวัล ก็เกิดมีการล่ารายชื่อเพื่อขอเปลี่ยนจากเลิฟคราฟท์มาเป็น ออคทาเวีย บัตเลอร์ (Octavia Butler) ซึ่งเป็นนักเขียนผิวสีแทน ที่จริง เลิฟคราฟต์เป็นนักเขียนเรื่องสยองขวัญสั่นประสาทผสมแฟนตาซีที่ดังกว่าบัตเลอร์มาก โดยเหตุผลที่ขอเปลี่ยนก็คือหลายคนเห็นว่า เลิฟคราฟต์ได้สร้างงานที่มีลักษณะ ‘เหยียดชาติพันธุ์’ และมีการใช้คำที่ย่ำแย่เลวร้ายในงานเขียน (เป็น Terrible Wordsmith) ทำให้นักเขียนในรุ่นหลังหลายคนไม่สบายใจที่รางวัลนี้นำเอาคนที่มีความคิดเห็นน่าขยะแขยง (Hideous Opinion) มาเป็นสัญลักษณ์ของรางวัล
อย่างไรก็ตาม เรื่องของรางวัลวรรณกรรมยังไม่ ‘สนุก’ ในความขัดแย้งทางความคิดมากเท่าเรื่องการเปลี่ยนชื่ออาคารต่างๆ ในมหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งการอยากให้รื้อทำลายรูปปั้นหรืออนุสาวรีย์บางแห่งลง
ตัวอย่างเช่น ในปี 2015 คณะกรรมการของมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลน่า ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อหอประชุมจาก Saunders Hall ที่ตั้งตามชื่อของ วิลเลียม ซอเดอร์ส (William Saunders) ไปเป็น Carolina Hall ทั้งที่จริงๆ แล้ว วิลเลียม ซอเดอร์ เคยเป็นรัฐมนตรี และเป็นนักบันทึกประวัติศาสตร์คนสำคัญด้วย จึงมีการใช้ชื่อเขาเพื่อเป็นเกียรติ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นที่รู้กันมาตั้งแต่ยุคโน้นแล้วว่า เขาเป็นหัวหน้าของขบวนการคูคลักซ์แคลนด้วย แต่ในยุคก่อนคนไม่ได้สนใจเรื่องนี้มากนัก พอมาถึงปัจจุบันจึงเกิดเสียงเรียกร้องให้นำชื่อนี้ออกไปจากมหาวิทยาลัย
แต่นั่นไม่ใช่ชื่อเดียว ยังมีชื่อของอดีตผู้ว่าการรัฐอย่าง ชาลส์ อายค็อก (Charles Aycock) ที่ก็เป็นพวกเหยียดผิว ทว่าคณะกรรมการมีมติว่าจะให้หยุดการเปลี่ยนชื่อตึกอื่นๆ ไปอีก 16 ปี ทำให้ชื่อนี้จะยังคงอยู่คู่กับมหาวิทยาลัยไปอีกจนถึงปี 2031 เป็นอย่างน้อย
ในเซาธ์แคโรไลน่าก็เหมือนกันครับ มีมหาวิทยาลัยชื่อ Clemson University ซึ่งมีหอประชุมชื่อ Tilman Hall ตั้งตามชื่อเบนจามิน ทิลแมน (Benjamin Tillman) ที่เคยเป็นผู้ว่าการรัฐมาก่อน แถมยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้วย แต่ทิลแมนเคยเป็นผู้นำกลุ่ม Red Shirts ที่มีความเป็น White Supremacists แบบเดียวกับ KKK เขานำคนบุกเข้าไปสังหารหมู่คนผิวดำถึงหกคน และจับตัวไปเป็นเชลยอีกสี่คน ซึ่งต่อมาก็สังหารทั้งหมด เหตุการณ์นี้ส่งผลกับเขาสองด้าน ด้านหนึ่งคือเป็นแรงขับให้คนสนับสนุนเขาเข้าสู่อาชีพการเมืองนานถึงยี่สิบสี่ปี (อันนี้เป็นวิธีคิดและทัศนคติในแบบที่เราอาจเข้าใจไม่ได้แล้วในยุคนี้) แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์รุนแรงตลอดมา
หลายคนอาจมองว่า เรื่องทำนองนี้ที่เกิดในรัฐฝั่งตะวันออกอาจไม่แปลกนัก เพราะฝั่งตะวันออกมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เรื่องสีผิวมายาวนานหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กระนั้น ในมหาวิทยาลัยดังอย่าง สแตนฟอร์ด ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก ก็มีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้น
ในปี 2016 เริ่มมีข้อเสนอให้เปลี่ยนชื่ออาคารสถานที่ต่างๆ ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่เกี่ยวข้องกับนาม ฮูนิเปโร เซรา (Junípero Serra) ออกไปให้หมด
ที่จริง ฮูนิเปโร เซรา เป็นบาทหลวง และเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากศาสนจักรคาทอลิกให้เป็นนักบุญในปี 2015 โดยพระสันติปาปาฟรานซิส ในศตวรรษที่สิบแปด เขาเป็นมิชชันนารีชาวสเปน ที่เดินทางเข้าไป ‘บุกเบิก’ แคลิฟอร์เนีย (ทำให้ได้ฉายาว่าเป็น ‘ประกาศกแห่งแคลิฟอร์เนีย’ ด้วย)
ความครัดเคร่งและอยากเผยแผ่ศาสนา ทำให้เซราใช้วิธีประกาศศาสนาอย่างก้าวร้าวแต่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีอยากให้ชาวอินเดียนแดงได้ขึ้นสวรรค์ เขาเชื่อว่า ก่อนตาย คนเราควรได้รับศีลล้างบาปเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ เขาจึงปฏิบัติต่อชาวอินเดียนแดงด้วยวิธีแบบ ‘พ่อ’ ที่ลงโทษลูกๆ ผู้ออกนอกลู่นอกทาง แต่เป็นพ่อในทางจิตวิญญาณ เขาจึงหาวิธีมาลงโทษอินเดียนแดงอย่างรุนแรง โดยมีเป้าประสงค์จะทำให้คนเหล่านี้กลัวและหันมาเชื่อถือในพระเจ้าของตัวเขา จะได้รอดไปสวรรค์ เขาเชื่อว่า ถ้ารับศีลล้างบาปแล้ว ต่อให้ตายก็ไม่เป็นไร เพราะจะได้ไปพบความสุขในชีวิตหน้า
ในตอนหลัง มีหลักฐานว่าน่าจะมีชาวอินเดียนแดงเสียชีวิตทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเนื่องจากวิธีการของเซราไปเป็นพันคน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เกิดการเรียกร้องให้เพิกถอนชื่อของเซราออกจากสแตนฟอร์ด ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและของโลก
แต่ข้อเสนอนี้ก็ยืดเยื้อยาวนานมาก ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องบอกว่า หากมีการ ‘กำจัด’ ชื่อของเซราออกไปจากมหาวิทยาลัย ก็ต้องใช้หลักการเดียวกันนี้เพื่อ ‘กำจัด’ ชื่อของสแตนฟอร์ดออกไปด้วย เพราะตัวผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเอง คือ ลีแลนด์ สแตนฟอร์ด (Leland Stanford) ก็มีบันทึกเอาไว้อย่างเปิดเผยว่ามีพฤติกรรม ‘เหยียดชาติพันธุ์’ เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้เหยียดชาวอินเดียนแดงหรือคนผิวสี ทว่าเขาเหยียดชาวจีน
ในยุคตื่นทองของแคลิฟอร์เนีย ผู้คนหลั่งไหลเข้ามามากมาย รวมทั้งชาวจีนด้วย ตอนนั้นสแตนฟอร์ดเป็นผู้ว่าการรัฐ เขาเขียนบันทึกเอาไว้ในปี 1862 ว่า (ขออนุญาตไม่แปลนะครับ)
To my mind it is clear, that the settlement among us of an inferior race is to be discouraged by every legitimate means. Asia, with her numberless millions, sends to our shores the dregs of her population. Large numbers of this class are already here; and, unless we do something early to check their immigration, the question, which of the two tides of immigration, meeting upon the shores of the Pacific, shall be turned back, will be forced upon our consideration, when far more difficult than now of disposal. There can be no doubt but that the presence among us of numbers of degraded and distinct people must exercise a deleterious influence upon the superior race, and to a certain extent, repel desirable immigration.
ข้อความข้างต้นแสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่า เขาเห็นว่าคนเอเชียเป็นชนชาติที่ ‘ต่ำต้อย’ กว่า และจะเข้ามาสร้างปัญหาให้กับชุมชน ซึ่งเอาเข้าจริงอาจเป็นเจตนารมณ์ที่เลวร้ายกว่าเซราเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงมีคนเสนอด้วยว่า ถ้าสแตนฟอร์ด ‘ทน’ ให้มีชื่อของเซราไม่ได้ ก็ต้องใช้หลักการเดียวกัน ‘ทน’ ต่อชื่อของสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยไม่ได้ด้วย
ความขัดแย้งนี้ทำให้สแตนฟอร์ดต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพร้อมหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ประเมิน เช่นหลักเกณฑ์ประเมินผู้เป็นเจ้าของชื่อ ว่ามีพฤติกรรมโดยรวมทั้งหมดเหมาะสมกับเกียรติที่จะได้รับไหม พฤติกรรมก้าวร้าวต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร มีแรงขับเคลื่อนอย่างไร มีความสัมพันธ์อย่างไรกับมหาวิทยาลัย หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับผลกระทบในการเปลี่ยนชื่อ เช่น ถ้ายังคงชื่อเอาไว้จะมีผลเสียอย่างไรบ้าง ถ้าเปลี่ยนชื่อล่ะ ผลเสียจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงการที่สังคมรอบข้างมีความรู้สึกผูกพันกับชื่อนั้นๆ อย่างไร หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ใช้ประเมินถูกต้องแค่ไหน รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาประเมินกันนานมาก เพราะแค่เรื่องการย้อนกลับไปดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อนมากแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงกระบวนการหรือขั้นตอนอื่นๆ อีก ดังนั้น จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าคณะกรรมการกำลัง ‘ซื้อเวลา’ ไม่ยอมตัดสินใจเสียที
เรื่องของลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ จึงนำเราย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ไล่ผ่านเลิฟคราฟต์, ซอเดอร์ส, เซรา ไปจนถึงสแตนฟอร์ด ทำให้เราเห็นว่า เมื่อโลกเปลี่ยน ก็เกิดโจทย์ความขัดแย้งทางความคิดใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้
แม้ในรายละเอียดและผลกระทบของแต่ละเรื่องจะแตกต่างกัน เช่น การเปลี่ยนชื่อรางวัลอาจไม่ได้ใหญ่โตผลมากเท่าการเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก แต่กระนั้นก็ทำให้เห็นฐานคิดของความขัดแย้งเดียวกัน เป็นความขัดแย้งจากแนวคิด ‘เสรีนิยม’ แบบหนึ่งกับ ‘เสรีนิยม’ อีกแบบหนึ่ง – ที่ฐานที่มาจากคนละมุม
ด้านหนึ่งคือการพยายามกำจัดด้านเลวร้ายในประวัติศาสตร์ออกไป เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทางการเมืองมาตั้งแต่ต้น การ ‘ยอม’ ให้มีสิ่งเหล่านี้อยู่ ในแง่หนึ่งคือการ ‘ผลิตซ้ำ’ ความคิดและความเชื่อในแบบของคนเหล่านี้เอาไว้ ซึ่งทั้งไม่ถูกต้อง และยังเจ็บปวดต่อผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ เช่น ลูกหลานของชาวผิวสี ชาวอินเดียนแดง หรือชาวเอเชีย ที่ต้องเดินผ่านแล้วเห็นชื่อเหล่านี้ติดอยู่ตามอาคารเป็นการให้เกียรติ หรืออ่านหนังสือที่ได้ชื่อว่า ‘คลาสสิค’ และเป็น ‘หนังสือดี’ เหล่านี้แล้วต้องพบการเหยียดต่างๆ ที่อาจทำให้สะอึกได้โดยคาดฝัน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้โต้แย้งว่า การคิดแบบนี้ เอาเข้าจริงแล้วเป็นวิธีคิดเดียวกับฮูนิเปโร เซรา เลย, เพราะเซราพยายามไป ‘ทำความสะอาด’ แผ่นดินโลก ด้วยการ ‘กำจัด’ คนที่มีความเชื่อแบบอื่นๆ ออกไป แล้วเปลี่ยนคนเหล่านั้นให้มามีความเชื่อที่ดีงามแบบเดียวกันกับเขา เพียงแต่เซรามีเป้าหมายทางศาสนา ในขณะที่ในปัจจุบัน เป้าหมายคือความพยายามจะ ‘อนุรักษ์เสรีนิยม’ (อย่างน้อยก็เสรีนิยมแบบหนึ่ง) เอาไว้ภายใต้หลักการ ‘ความถูกต้องทางการเมือง’ (Political Correctness) จนอาจเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า Dogmatic Liberalism (ซึ่งผมไม่รู้จะแปลอย่างไรดี) ขึ้น
ถ้าคิดเล่นๆ กับประเด็นแบบนี้ในไทย เราอาจลองนึกดูว่า หากชาว LGBTQ ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้นำชื่อ ปรีดี พนมยงค์ ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะปรีดีเคยมีแนวคิดที่มีนัย ‘เหยียด’ ชาว LGBTQ (อ่านได้จากบทความนี้ thematter.co/thinkers ของ ชานันท์ ยอดหงษ์) จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และคนที่สนับสนุนหรือต่อต้านเรื่องนี้จะใช้ฐานคิดที่มาจากต้นทุนแบบไหนได้บ้าง
แม้แนวโน้มนี้จะยังไม่เกิดขึ้นในไทย แต่การต่อสู้ทางความคิดแบบนี้น่าจะค่อยๆ หนักหน่วงขึ้นในโลกสมัยใหม่ และอาจเกิดขึ้นจริงในอนาคตก็ได้ ในตอนนี้ เราจึงอาจทดลองใช้ตัวอย่างเหล่านี้จากโลกตะวันตก มา ‘ทดลองทางความคิด’ เพื่อจำลองสถานการณ์ดูว่า หากเกิดความขัดแย้งทำนองนี้ขึ้น ตัวเราจะคิดอย่างไร และสังคมอารยะทั้งหลายจะรับมือกับมันอย่างไร ด้วยวิธีไหน และที่สุดแล้ว คนที่ ‘คิดต่าง’ กันในประเด็นอ่อนไหวที่ยากจะชี้ชัดแบบนี้ – จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร
นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กและง่าย แต่คือเรื่องใหญ่ – และยาก
อ่านเพิ่มเติม
www.theguardian.com/books/2015