“พี่จะตายมั้ยหมอ?”
จู่ๆ น้องสาวของคนไข้สูงอายุก็โพล่งถาม อาทูล กาวานดี (Atul Gawande) หมอผ่าตัดชาวอเมริกัน ระหว่างคุยกันเรื่องแผนการรักษาพี่สาวซึ่งนอนแบบอยู่บนเตียงโรงพยาบาล ต้องให้อาหารทางสายยาง ตัวติดเครื่องช่วยหายใจและเครื่องฟอกไต อีกไม่กี่วันเธอจะต้องผ่าตัดเท้าเพราะเนื้อตายเน่าจากการติดเชื้อ
กาวานดีบอกว่า นั่นคือครั้งแรกในชีวิตที่เขาไม่รู้จะตอบญาติคนไข้อย่างไร “ผมไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่า คำว่า ‘ตาย’ แปลว่าอะไรแล้วทุกวันนี้” กาวานดีเล่าในหนังสือเขย่าวงการแพทย์ เรื่อง Being Mortal (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อ ‘ตาย-เป็น’ สำนวนแปล นพ. บวรศม ลีระพันธ์ สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส์)
เทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งแปลว่าหัวใจของคนไข้จะยังคงเต้นไปอีกนาน แต่โอกาสในการกลับไป ‘ใช้ชีวิต’ ถดถอยจนเหลือศูนย์ กาวานดีชี้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ ‘ความตาย’ (จุดที่หัวใจหยุดเต้น หรือสมองหยุดทำงาน) มาถึงอย่างฉุกละหุกไม่ทันตั้งตัว
คนไข้จำนวนนับไม่ถ้วนในยุคเทคโนโลยีก้าวไกลไม่เคยได้มี ‘มรณานุสติ’ เพราะหมออุทิศความพยายามทั้งหมดให้กับการต่ออายุลมหายใจ ทุ่มเทเวลาน้อยมากกับการช่วยให้คนไข้เตรียมพร้อมรับมือกับวาระสุดท้าย
คนจำนวนนับไม่ถ้วนล่วงลับโดยไม่มีโอกาสเอ่ยคำร่ำลา คำขอโทษ หรือ “ฉันรักเธอ”
อาจฟังดูไม่น่าเป็นไปได้ที่ผู้เขียนจะนึกถึงกาวานดี คนไข้ของเขา และเรื่องราวอันหนักอึ้งและลึกซึ้งของ Being Mortal หลายครั้งหลายคราระหว่างเล่นเกมที่ใช้กราฟิกกุ๊กกิ๊กแบบพิกเซลอาร์ท (pixel art) ตัวการ์ตูนน่ารักระดับสิบ
แต่มันก็เป็นไปแล้ว
ข้อเท็จจริงที่ว่าเกมนี้ทำให้ผู้เขียนน้ำตาซึมมากกว่าหนึ่งฉากและอดนึกถึงหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า Rakuen เกมอาร์พีจี (RPG หรือ role-playing game ให้เราสวมบทบาทเป็นคนอื่น) แบบญี่ปุ่น เป็นมากกว่าเกม ผู้เขียนยืนยันว่ามันคือ ‘งานศิลปะ’ ที่คอเกมทุกคนไม่ควรพลาด
‘Spirited Away เวอร์ชั่นเกม’ – ประโยคที่สรุปความเป็น Rakuen ได้ชัดที่สุดในความคิดของผู้เขียน
ราคุเอ็น (Rakuen) ให้เราเล่นเป็นเด็กชายตัวน้อยไร้นาม (เกมเรียกว่า ‘Boy’ เฉยๆ) ที่นอนป่วยหนักในโรงพยาบาล มีเพียงแม่กับนิทานเรื่อง ‘ราคุเอ็น’ (แปลว่า ‘สวรรค์’ หรือ ‘สวนสวรรค์’ ในภาษาญี่ปุ่น) เป็นเครื่องปลอบประโลมใจ วันหนึ่งเขาพบว่าหนังสือนิทานหายไป จากนั้นการจูงมือกันออกจากห้องคนไข้เพื่อตามหาสมุดนิทานของแม่ผู้อารี (เกมเรียกว่า ‘Mom’ เฉยๆ) ก็จะทำให้เราได้ทำความรู้จักกับหมอ พยาบาล และผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่ข้าวของส่วนตัวก็ถูกขโมยเช่นกัน ไม่นานทั้งสองก็หาหนังสือเจอ พร้อมกับที่ได้รู้จัก ‘หัวขโมย’ ในร่างชายแก่ลึกลับ ผู้จะกลับมามีบทบาทอีกครั้งในฉากหลังๆ
รอบนี้ระหว่างที่แม่เล่านิทานราควนให้ฟัง เธอก็บอกความลับให้เราฟังว่า มีวิธีที่เราจะสามารถเดินทางเข้าไปในโลกแฟนตาซี โลกในหนังสือ หลังจากที่พบประตูข้ามมิติ เรากับแม่ก็ได้สำรวจโลกแฟนตาซีสมใจนึก โลกที่เต็มไปด้วยสัตว์พูดได้ พืชพูดได้ และสัตว์ประหลาดหน้าตาพึลึกกึกกือมากมาย บางตัวโผล่ออกมาจากตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่น แต่อีกหลายตัวก็ออกมาจากจินตนาการบรรเจิดของดีไซเนอร์ ทุกตัวหรือคนดูพร้อมเสมอที่จะแลกเปลี่ยนพูดคุย เล่าโจ๊ก นินทาคนอื่น หรือระบายปัญหาหนักอกให้เรากับแม่ฟัง
ความฝันสูงสุดของเราคือการได้พบ ‘โมริโซรา’ (Morizora) ผู้พิทักษ์ป่าแห่งราคุเอ็น เขามีพลังวิเศษที่จะให้พรหนึ่งข้อกับทุกคน แต่ก่อนที่เราจะปลุกโมริโซราให้ฟื้นคืนจากการหลับใหลได้ เราจะต้องหาท่อนต่างๆ ของเพลงวิเศษให้ครบสี่ท่อน
ไม่นานเราจะพบว่า เพลงแต่ละท่อนอยู่ในความทรงจำของเพื่อนผู้ป่วยสี่คน แต่เขาหรือเธอไม่อยู่ในสภาพที่จะบอกเราได้ ไม่ว่าจะเพราะหลงลืมไปแล้ว หรือมีความทุกข์ซึ่งทำให้ไม่เปิดใจ เขาและเธอเหล่านี้ล้วนมี ‘ตัวตน’ ในโลกแฟนตาซีของราควนเหมือนกัน แม้จะหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่มีชื่อเดียวกัน เช่น ชายแก่หน้าบึ้งชอบเอ็ดพยาบาลในโลกจริงกลายเป็นหมีตัวโตที่ชาวบ้านครั่นคร้ามเพราะย่ำทำลายพืชผลในราควน ส่วนชายวัยกลางคนที่จำภรรยาตัวเองไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะโรคอัลไซเมอร์รุมเร้ากลายเป็นผีกัปปะปากหนักในราคุเอ็น ฯลฯ
ไม่นานเราจะพบว่าการช่วยเหลือเพื่อนผู้ป่วยเหล่านี้แปลว่าจะต้องไปช่วยเหลือตัวตนแฟนตาซีของพวกเขา บางครั้งด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมบางอย่างในโลกจริง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราควนด้วย เช่น รดน้ำต้นไม้ในกระถางในโรงพยาบาล เปิดประตูกลับมาโลกแฟนตาซี เดินหากระถางที่แปะสัญลักษณ์เดียวกัน เพื่อจะปีนต้นไม้ที่สูงชะลูดแล้วขึ้นไปเยือนเมืองในเมฆ ข้าวของต่างๆ ที่เราเก็บในโลกใดโลกหนึ่งจะติดตัวเราไปอีกโลกด้วย
เพื่อนผู้ป่วยในโลกจริงไม่ระแคะระคายถึง ‘ภาคราคุเอ็น’ ของพวกเขา แต่สิ่งที่เราทำในราคุเอ็นส่งผลถึงเขาและเธอในโลกจริง ยิ่งไปกว่านั้น โลกราคุเอ็นไม่เพียงแต่เป็นโลกแฟนตาซี แต่ยังเป็นประตูสู่โลกแห่งความทรงจำ หลายครั้งเราจะแก้ปริศนาด้วยการสวมบทบาทเป็นตัวละครสำคัญจากอดีตของเพื่อนผู้ป่วย หรือไม่ก็สวมรอยเป็นตัวผู้ป่วยคนนั้นเอง – พูดง่ายๆ คือ ต้อง ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ อย่างเป็นรูปธรรม
หลังจากที่จบฉากเหล่านี้ เราก็ไม่เพียงแต่จะเข้าใจสถานการณ์ของเพื่อนร่วมชะตากรรมมากขึ้น แต่จะสามารถช่วยให้เขาหรือเธอยอมรับอดีตอันขมขื่นที่พยายามลืมแต่ลืมไม่ลง หรือไม่ก็สามารถรื้อฟื้นอดีตที่อยากจำแต่กลับจำไม่ได้เสียที
การแก้ปริศนาต่างๆ ในเกมหมุนรอบการหาทางใช้ข้าวของต่างๆ ที่เก็บมาได้ และหาทางไปต่อ กิจกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโลกหลากสีของราคุเอ็น มากกว่าในโลกอันทึบทึมของโรงพยาบาล ราวกับจะสะท้อนว่าไม่มีใครหรอกที่อยากอยู่โรงพยาบาล ไม่มีใครอยากเผชิญหน้ากับความจริงอันรวดร้าว
ทว่าปลายทางของปริศนาทั้งหมดในราควนคือการรับมือกับความจริงก่อนจะถึงวาระสุดท้าย ความจริงอันหนักอึ้งจากอดีตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสีย ภาวะเสพติด ความจำเสื่อม อาชญากรรม ปัญหาครอบครัว และเหตุการณ์สำคัญๆ ในโลกจริงก็ส่งผลต่อเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดของตัวละครในเกมเช่นกัน อย่างเช่นเหตุแผ่นดินไหวปี 2011 ซึ่งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและก่อให้เกิดการหลอมละลายของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ รวมถึงอาการเหยียดเชื้อชาติหรือไม่ไว้วางใจระหว่างชาวเกาหลีใต้กับชาวญี่ปุ่น สองประเทศคู่แค้นในอดีต ซึ่งยังคงคุกรุ่นและดำรงอยู่ตลอดมาแบบเนียนๆ ใต้พื้นผิวแห่งมารยาททางสังคม
เควสท์หลัก (quest) หรือการผจญภัยในเกมนี้ค่อนข้างเป็นเส้นตรง แต่ก็มีเควสท์รองหรือปริศนาที่เราไม่จำเป็นต้องแก้ให้ครบ แต่สนุกดีถ้าลองทำ 1-2 เรื่อง เรื่องที่ผู้เขียนชอบมากคือการสรรหาข้าวของต่างๆ จากโลกราควนมาประดับห้องพักรวมของผู้ป่วย (lounge room) ในโรงพยาบาล ถ้าจะเก็บให้ครบหลายสิบชิ้น รวมถึงสัตว์เลี้ยงน่ารักๆ ด้วย จะต้องอาศัยทักษะการสังเกต และรวบรวมเงินเป็นกอบเป็นกำไปซื้อมา (ในเกมนี้หลักๆ เราหาเงินได้จากการเก็บผักหรือวัตถุดิบไปขายตัวละครในหมู่บ้าน)
ห้องพักรวมในเกมทำให้ผู้เขียนนึกถึงบทหนึ่งในหนังสือ Being Mortal ตอนที่กาวานดีเล่าเรื่องของผู้อำนวยการบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง เขาตัดสินใจซื้อนก 100 ตัว สุนัข 4 ตัว แมว 2 ตัว กระต่ายและแม่ไก่อีกหนึ่งฝูงมาไว้ในบริเวณ เพราะเชื่อว่ามันจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุขมากขึ้น สิ่งที่เขาพบหลังจากนั้นก็คือ ค่าใช้จ่ายด้านยาของบ้านพักนี้ลดลงมาก เหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของบ้านพักคนชราแบบเดียวกัน และอัตราการตายก็ลดลงร้อยละ 15 ดร. กาวานดีเขียนว่า ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดจากการทดลองนี้ก็คือ การพบเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ในบั้นปลายชีวิตนั้น สามารถลดอัตราการตายสำหรับผู้สูงอายุที่พิการได้จริงๆ
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เป็นไปได้ที่เราจะส่งมอบเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ให้กับพวกเขา”
เป็นไปไม่ได้ที่จะพูดถึงความวิเศษของเกมนี้โดยไม่พูดถึงเพลงและดนตรีประกอบ ซึ่งมีมากถึง 50 กว่าแทร็ก ทุกชิ้นเข้ากับบรรยากาศและอารมณ์ในเกมได้อย่างเหมาะเจาะ หลายแทรคดีจนนั่งรอให้เพลงเล่นจบก่อนจะเดินไปฉากอื่น ดีไซเนอร์เบื้องหลังเกมนี้คือ ลอร่า ชิกิฮารา (Laura Shigihara) ลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน นักแต่งดนตรีประกอบเกม ชิกิฮาราโด่งดังจากซาวน์แทร็กเกมฮิต Plants vs. Zombies โดยเฉพาะเพลงไตเติ้ล ราคุเอ็นเป็นผลงานเกมชิ้นแรกของเธอ
ไม่ง่ายเลยที่จะสร้างเกมในสไตล์อาร์พีจีญี่ปุ่น กราฟิกพิกเซลอาร์ทหลากสี โดยที่ไม่มีฉากต่อสู้ใดๆ ตลอดทั้งเกม ยากกว่านั้นคือการตรึงคนเล่นให้อยู่หมัดจนถึงฉากสุดท้าย ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น (มีใครเดาไม่ถูกบ้างหรือภายในสิบนาทีแรก ว่าทำไมเด็กน้อยถึงต้องใส่หมวกพับกระดาษตลอดเวลา)
หายากขนาดนับนิ้วได้ คือ เกมที่ทำให้คนเล่นเสียน้ำตา รับรู้โดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ ว่า ความรักนั้นสวยงามเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นความรักระหว่างแม่กับลูก คู่ครอง เพื่อนสนิท หรือเพื่อนมนุษย์ และสำคัญเพียงใดต่อชีวิตตราบจนสิ้นลมหายใจ
สุดท้าย ผู้เขียนคิดว่า ถ้าเราใช้คำว่า ‘ศิลปะ’ กับเกมที่ทำให้ ‘รู้สึก’ ไม่ต่างจากเวลาเดินน้ำตารื้นออกจากโรงหนัง หรือฟังอัลบั้มเพลงดีๆ ไม่ได้แล้วล่ะก็
คำว่า ‘ศิลปะ’ ก็คงจะไม่มีความหมายอะไรเลย.
หมายเหตุ: สำหรับเกมแนวเดียวกัน ผู้เขียนแนะนำ To The Moon เกมก่อนหน้านี้ที่ชิกิฮาราช่วยแต่งดนตรีประกอบ และเธอบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งซึ่งอยู่เบื้องหลัง Rakuen