คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write Award) ประจำปีพุทธศักราช 2560 ได้ลงมติมอบรางวัลแก่จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุทจากผลงานรวมเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’ นั่นคือสิ่งที่หลายคนคงพอจะทราบกันดี สำหรับผม ชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ยังชวนให้ฉุกนึกถึงใครคนหนึ่งขึ้นมาทันทีทันใด และพอติดตามข่าวสารเดือนมิถุนายนซึ่งกำลังจะล่วงผ่านไป ดูเหมือนประเด็น ‘ประหารชีวิต’ กลายเป็นกระแสสนใจอีกหน ผมจึงรู้สึกว่าน่าจะลองเขียนเรื่อง ‘สิงโต’ ในรั้วแม่โดมบ้าง เอาล่ะ หลายบรรทัดต่อไปนี้หาใช่เรื่องแต่ง (fiction) แต่เป็นความจริงอันเกิดขึ้นช่วงทศวรรษ 2480
บอกเลยว่าผิดครับ หากคุณผู้อ่านคาดเดาเกี่ยวกับ ‘เจ้าแม่สิงห์โตทอง’ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ๆโรงอาหารข้างๆ คณะเศรษฐศาสตร์ แท้แล้ว ผมตั้งใจแนะนำให้ทุกท่านทำความรู้จัก ‘สิงโตนอกคุก’ ผู้เคยทำงาน ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ในอดีตต่างหาก ทำไมจึง ‘นอกคุก’? อ้าว ก็ผมไม่ได้เขียนถึงตอนที่เขาอยู่ในคุกน่ะซี
เรื่องราวของผู้ชายที่ลูกแม่โดมรุ่นปู่รุ่นย่าเรียกขานติดปาก ‘ลุงสิงโต’ ซึ่งถอยหลังย้อนเวลาไปราวๆ ปีพุทธศักราช 2483- 2484 บรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง(มธก.) รวมถึงนักเรียนแผนกเตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยเดียวกัน หรือ ต.ม.ธ.ก. จะพบเจอเขาตรงประตูฝั่งท่าพระจันทร์ประจำ อย่าเพิ่งด่วนน้อยอกน้อยใจแม้คุณผู้อ่านมิได้เป็นศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันในสำนักธรรมศาสตร์ แต่ก็สามารถเลาะสายตาได้อย่างเพลิดเพลิน แน่นอนว่าสัมพันธภาพและความเป็นมนุษย์ของคนเราย่อมมีส่วนพ้องพานอย่างเป็นสากล
การจะเข้าออกรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อราว 77 ปีก่อน นักเรียนนักศึกษามิพ้นเผชิญหน้ากับพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยเฝ้าประตูท่าพระจันทร์จอมเข้มงวดเยี่ยงลุงสิงโต โดยควรเข้าออกตามเวลาที่กำหนดไว้และแต่งกายเรียบร้อยถูกระเบียบ วันใดมีเรียนวิชาลูกเสือต่อให้หลังเลิกเรียนแล้วก็ยังต้องแต่งชุดลุกเสือสมุทรลูกเสือเสนา สำคัญยิ่งยวดคือการสวมหมวก อ้อ เกือบลืมบอกไป ยุคนั้นประเทศไทยอยู่ภายใต้บรรยากาศ ‘มาลานำไทย’ ตามนโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลพิบูลสงคราม
ไหนๆ ก็ฟุ้งฝอยจนออกเรื่องหมวกแล้ว ผมใคร่เสริมเกร็ดความรู้ว่าด้วยประวัติศาสตร์หมวกในสังคมไทยเป็นของแถม ช่วงปีพุทธศักราช 2456 หมวกที่ชาวสยามผลิตขึ้นเองและได้รับความนิยมแพร่หลายคือหมวกกันแดดทำจากใบลาน ห้างวิวิธภูษาคารจัดจำหน่ายราคาใบละ 5บาท ขณะนั้นนับว่าแพงทีเดียว ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยกระทั่งชาวบ้านชอบซื้อมาสวมใส่กันทั่วไป ถัดต่อมาปีพุทธศักราช 2467 แฟชั่นอันโดดเด่นคงไม่แคล้ว ‘บางกอกแฮต’ หรือหมวกฟางข้าวย้อมสี หมวกแบบนี้หาได้รู้จักเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ก็มีโดยเรียกกันในชื่อ ‘บางกอกปานามาแฮต’ กระทั่งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ Overseas Daily Mail ของอังกฤษยังประกาศขายหมวกฟางข้าวจากสยามราคา 2 ชิลลิง
เรื่อยมาจนถึงห้วงเวลาที่การสวมหมวกกลายเป็นของเอิกเริกสุดๆ น่าจะต้นปีพุทธศักราช 2484 สืบเนื่องจากรัฐบาลบังคับให้ประชาชนทั้งชายหญิงสวมหมวกยามออกจากบ้านเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ กระทรวงธรรมการออกคำสั่งเพิ่มหมวกเป็นเครื่องแบบของนักเรียนสตรีในโรงเรียนรัฐบาลและมิยกเว้นโรงเรียนราษฎร์ กลางๆ เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็ออกข้อบังคับให้นักศึกษาชายหญิงทำตามนโยบายรัฐบาล
ด้วยเหตุฉะนี้เอง ลุงสิงโตจึงสวมบทบาทผู้ตรวจตราการสวมหมวก และก็เรื่อง ‘หมวก’ เลยทำให้เกิดเรื่องสนุกๆ เนืองๆ
เครือพันธ์ บำรุงพงศ์ (ภรรยาของเสนีย์ เสาวพงศ์ นักเขียนเลื่องชื่อ) ซึ่งเธอเคยดำรงสถานะนักเรียนต.ม.ธ.ก. รุ่น 3 หวนรำลึกความทรงจำถึงลุงสิงโตว่า “…นอกจากบรรดาครูอาจารย์แล้ว เจ้าหน้าที่อื่นๆ ของโรงเรียนก็ทำให้รู้สึกว่าเขาก็เป็นกันเองและทำหน้าที่ได้ดี ที่สำคัญคือทำให้เรารู้สึกว่าเขาจะรักมหาวิทยาลัยมาก บางคนก็ได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาบ่อยจนนักศึกษารู้สึกสนิทใจจนเย้าแหย่ได้ อย่างคนเฝ้าประตูซึ่งเราจะเรียกแกว่า ‘ลุงสิงโต’ ตอนที่เขาบังคับว่าใครไม่สวมหมวกจะเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ บางทีมีคนลืมเอาหมวกมา ก็ให้คนที่สวมหมวกเดินเข้าไปก่อนแล้วก็โยนหมวกมาให้ ลุงสิงโตก็ไม่ว่าอะไร ขอให้มีหมวกอยู่บนหัวเป็นพอ”
คนลืมหมวกคนหนึ่งแบบที่เครือพันธ์พาดพิง เห็นทีคะนึง ฤาไชย นักเรียน ต.ม.ธ.ก. รุ่น 3 เช่นกันน่าจะรู้จักคุ้นเคยดี ดังเขาเล่าว่า “เพื่อนรุ่นผมคนหนึ่งเป็นผู้หญิงชื่อมาลีวิภา สาระเกษตรตริน เค้าลืมเอาหมวกมาหรือยังไงนี่ละ ลุงโตก็ไม่ให้ออก ก็ต้องบอกเพื่อนให้โยนหมวกเข้ามาให้ใส่ถึงจะได้ออกจากโรงเรียน”
ความเข้มงวดของลุงสิงโตเข้าขั้นระดับโหด นักเรียนคนไหนทำผิด คนเฝ้าประตูท่าพระจันทร์จะจดชื่อนามสกุลพร้อมระบุความผิดไว้ จากนั้นรายงานไปสู่กองอำนวยการคือครูอาบ คอมันตร์ซึ่งมีกิตติศัพท์เลื่องลือในด้านความดุจนนักเรียนครั่นคร้ามดูแลอยู่ ลุงสิงโตเป็นหูเป็นตาให้ครูอาบอย่างจริงจังส่งผลให้นักเรียนหลายคนถูกส่งตัวไปดัดนิสัย วิธีลงโทษของครูอาบมีทั้งเฆี่ยนบ้างหรือให้ยืนตากแดดบ้าง นอกเหนือจากควบคุมพฤติกรรมเยาวชน ครูอาบยังรับหน้าที่สอนวิชาอ่านเขียนและไวยากรณ์ภาษาฝรั่งเศสด้วย
แม้พวกนักเรียน ต.ม.ธ.ก. รู้สึกหงุดหงิดต่อความเจ้าระเบียบของคนเฝ้าประตูท่าพระจันทร์ ทว่าก็ชอบเหลือเกินที่จะกลั่นแกล้งหรือบางทีถึงขั้นหลอกลวงลุงเป็นการแก้เผ็ดให้สาสม ฝ่ายลุงสิงโตเองถึงจะวางมาดขึงขังดูน่าเกรงขาม แต่เขาก็ไม่เคยถือโกรธอะไรเด็กๆ ที่มาหยอกเย้า ดังกรณีนักเรียนลืมหมวกแล้วเพื่อนโยนหมวกมาให้ ลุงก็หยวนๆ ให้อย่างเอ็นดู ยังมีเสียงคุยกันว่าลูกชายของลุงสิงโตเป็นนักเรียนวิชาทหาร
คุณผู้อ่านชักสงสัยแล้วสินะ เล่ามาตั้งเยอะ ไม่ยักเห็นลุงสิงโตไปเกี่ยวข้องกับคุกตรงไหน ก็ในเมื่อผมเกริ่นนำไว้ว่า ‘สิงโตนอกคุก’ คนเฝ้าประตูท่าพระจันทร์มีหรือจะไม่เคยพัวพันในพื้นที่คุก ไม่ใช่หรอกครับ หากคุณผู้อ่านคาดเดาถึงความเคยเป็นนักโทษของเขา
เพราะจริงๆ แล้ว ลุงคือหมื่นพิฆาตทรชน อดีตเพชฌฆาตของกรมราชทัณฑ์ โอ้โห! พวกนักเรียน ต.ม.ธ.ก.ที่ชอบหยอกแกล้งลุงจะรู้ภูมิหลังนี้หรือเปล่านะ
ลักษณะการประหารชีวิตนักโทษของสังคมสยามดั้งเดิมใช้วิธีตัดศีรษะ โดยมักนำนักโทษไปประหารยังสถานที่ซึ่งได้กระทำความผิดต่อหน้าชาวบ้านล้อมวงมุงดู ทั้งนี้ก็เพื่อประจานนักโทษและทำให้ชาวบ้านรู้สึกเกรงกลัว จวบจนช่วงทศวรรษ 2460 และทศวรรษ 2470 จึงไม่ให้มีการประหารอย่างเปิดเผย ต้องกระทำในพื้นที่มิดชิดและห้ามชาวบ้านเข้าไปดู ในการประหารครั้งหนึ่งมีเพชฌฆาตจำนวน 2 คน ประกอบด้วยเพชฌฆาตดาบ 1 และเพชฌฆาตดาบ 2 ทั้งสองนักประหารจะได้รับเงินครั้งละ 50 บาท และ 30 บาทตามลำดับ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2478 จึงเปลี่ยนวิธีการตัดศีรษะมาเป็นการยิงเป้า ซึ่งนักโทษคนแรกสุดที่ถูกยิงเป้าได้แก่สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัดในคดีอันเนื่องมาจากกบฏนายสิบ
ไม่แน่ใจนักว่าลุงสิงโตหรืออดีตหมื่นพิฆาตทรชนเคยเป็นเพชฌฆาตประหารนักโทษด้วยวิธีตัดศีรษะหรือวิธียิงเป้า กระนั้น ที่ชัดเจนคือหลายชีวิตคงถูกปลิดไปด้วยน้ำมือของเขา อย่างไรก็ดี ความเป็นมนุษย์และสัมพันธภาพระหว่างลุงสิงโตกับนักเรียนนักศึกษาในรั้วแม่โดมช่วงทศวรรษ 2480 ช่างงดงามยิ่ง และน่าจะจำหลักอยู่กับความทรงจำของชาวธรรมศาสตร์ยุคนั้นมิเสื่อมคลาย
กาลเวลาค่อยๆ ย่ำย่างตามปีพุทธศักราชที่เปลี่ยนไปไม่หยุดยั้ง ผู้คนแห่งวันวานก็ค่อยๆ ย่างย่ำหายไปในกาลเวลาที่ผ่านเลย ยิ่งคนเล็กๆ น้อยๆ แล้ว อาจจะไม่ปรากฏเรื่องราวมากมายนักในประวัติศาสตร์ แต่ก็ใช่ว่าชีวิตชีวาคนเหล่านั้นจะไม่ก่อเกิดร่องรอยในความรู้สึกของใครต่อใคร
อ้างอิงข้อมูลจาก
- นายหนหวย. (ศิลปชัย ชาญเฉลิม). กบฏนายสิบ 2478 : สารคดีการเมืองยุคเริ่มแรกของระบอบประชาธิปไตย จำเลยคนแรกที่ได้รับโทษประหารชีวิตด้วยวิธียิงเป้า.กรุงเทพฯ : มติชน, 2543
- “ประหารชีวิต” ใน หลักเมือง (11ตุลาคม 2472)
- ส. พลายน้อย. เรื่องเล่าจากข้าวของเครื่องแต่งกาย.กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ, 2546.
- สยามรีวิว 1,ฉ. 51 (วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน 2470).
- อมรา ขันอาสา. สภาพสังคมไทย : ศึกษาจากงานการราชทัณฑ์ระหว่าง พ.ศ. 2433-2476. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2525
- อังคาร จันทร์เมือง,กาญจนา เหล่าโชคชัยกุล. ประวัติศาสตร์บอกเล่าแผนกเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๙๐ เล่มหนึ่ง (พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๕). วารุณี โอสถารมย์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ และสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2554