เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในวงการศิลปะมีข่าวเมาท์กันให้แซ่ดว่า ทางทำเนียบขาวเขียนอีเมลไปหาพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ( Solomon R. Guggenheim Museum) ในนิวยอร์ก เพื่อไถ่ถามว่า จะขอยืมภาพวาด Landscape with Snow (1888) ของ วินเซนต์ แวนโกะห์ จากพิพิธภัณฑ์ มาแขวนโชว์ในบ้านพักส่วนตัวของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เมลาเนีย ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาว ได้หรือไม่?
หัวหน้าภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ แนนซี สเปกเตอร์ (Nancy Spector) ก็เขียนอีเมลตอบปฏิเสธ กลับไปว่า ทางพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถให้ยืมภาพนี้ได้ แต่เธอก็ได้ยื่นข้อเสนอให้ท่านประธานาธิบดียืมผลงานอีกชิ้นไปแทน นั่นก็คืองานศิลปะในรูปส้วมที่ทำจากทองคำ 18 กะรัตล้วนๆ ทั่งแท่ง ที่มีชื่อว่า America (2016) ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินชาวอิตาเลียนนาม เมาริสซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan) นั่นเอง
และเจ้า ‘ส้วมทองคำ’ นี้ ก็ไม่ได้เป็นแค่ส้วมศิลปะ ที่ตั้งโชว์ในห้องแสดงงานให้คนดูเฉยๆ หากแต่เป็นส้วมจริงๆ ที่ศิลปินสร้างเลียนแบบส้วมในห้องน้ำสาธารณะที่ชั้นห้าของพิพิธภัณฑ์ และนำมาติดตั้งให้ใช้งานจริงๆ แทนที่ส้วมเดิม โดยเปิดให้แขกผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทุกคน ทั้งหญิงและชายเข้าไปใช้งานถ่ายเบาถ่ายหนักกันได้ตามอัธยาศัย อ้อ ถ้าใครสงสัย ส้วมนี้เป็นส้วม unisex น่ะนะ
โดยผลงานส้วมทองคำชิ้นนี้แสดงถึงการเสียดสีการกระหายความมั่งคั่งความล้นเกินและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของสังคมอเมริกัน ซึ่งจะว่าไปก็ดูเข้ากันดีกับรสนิยมของ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพนต์เฮาส์ในแมนฮัตตัน ราคา 100 ล้านเหรียญสหรัฐของเขา ที่ประดับด้วยทองคำเหลืองอร่าม ทั้งเฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายใน ซึ่งอันที่จริงก็น่าแปลกใจที่ในนั้นไม่มีส้วมทองคำอยู่ในนั้นด้วยซ้ำ
สเปกเตอร์ได้อธิบายภาพวาด Landscape with Snow ของ แวนโกะห์ไว้ว่า “ไม่ควรถูกขนย้ายไปไหน เว้นเสียแต่ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ซึ่งในขณะนั้นมันก็กำลังถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ เมืองบิลเบา ประเทศสเปน ก่อนจะถูกนำกลับคืนมายังพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ที่นิวยอร์ก ในอนาคตอันใกล้
เธอยังเพิ่มเติมอีกว่า “บังเอิญเหลือเกินที่ ผลงาน America ของ คัตเตลาน นั้นยังให้ยืมได้อยู่ หลังจากที่มันถูกถอดออกจากการติดตั้งในห้องน้ำสาธารณะของพิพิธภัณฑ์ให้ทุกคนได้ใช้งานอย่างเยี่ยมยอดโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ซึ่งศิลปินเจ้าของงานเองก็อยากให้ทางทำเนียบขาวหยิบยืมผลงานชิ้นนี้ไปติดตั้งแบบระยะยาว ถึงแม้ว่าผลงานชิ้นนี้จะมีคุณค่ามหาศาล และค่อนข้างบอบบาง แต่ทางเราก็จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการติดตั้งและการดูแลรักษาให้ทั้งหมด เราขอแสดงความเสียใจที่ไม่อาจตอบรับข้อเสนอแรกของคุณได้ แต่ก็หวังว่าคุณจะสนใจข้อเสนอพิเศษนี้” ซึ่งทางทำเนียบขาวก็ยังไม่มีการตอบสนองต่อข้อเสนอนี้แต่อย่างใด
ส่วนศิลปินเจ้าของงานอย่างคัตเตลาน กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากๆ” เขากล่าวถึงเหตุผลที่เขายื่นข้อเสนอให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ยืมผลงานส้วมทองคำของเขาว่า
“อะไรคือความหมายของการมีชีวิตอยู่? ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะไร้เหตุผล จนเมื่อเราตายนั่นแหละ มันถึงจะมีเหตุมีผลขึ้นมา”
คัตเตลานไม่เปิดเผยมูลค่าของทองคำที่ใช้สร้างผลงานชินนี้ แต่คาดว่าน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ
อันที่จริง มันเป็นเรื่องปกติ ที่ประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง จะหยิบยืมผลงานศิลปะชิ้นสำคัญจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มาประดับที่พักหรือห้องทำงานในทำเนียบขาว ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี เองก็เคยยืมภาพวาด The Smoker (1923) ของศิลปินชาวฝรั่งเศส เออแฌน เดอลาครัว (Eugène Delacroix) มาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันสมิธโซเนียน (Smithsonian American Art Museum) ส่วนประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้ชมชอบศิลปะนามธรรม ก็เลือกหยิบยืมผลงานของ มาร์ก รอธโก (Mark Rothko) และ แจสเปอร์ จอห์น (Jasper John) มาแทน
แต่ถ้าถามว่าประธานาธิบดีคนล่าสุดอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ จะชื่นชมผลงานศิลปะร่วมสมัยอย่าง ส้วมทองคำ ของคัตเตลาน ไหม นั่นก็อาจจะเป็นเรื่องอิมพอสซิเบิ้ล เพราะถึงแม้ทรัมป์จะมีประวัติในการชอบตกแต่งบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ หรือแม้แต่เครื่องบินส่วนตัวของเขาด้วยทองคำ แต่เขาเองก็มีประวัติในความกลัวเชื้อโรคและสิ่งสกปรกขึ้นสมอง (Germaphobe) ถึงขนาดเคยไม่ยอมเชคแฮนด์กับนางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระหว่างการพบปะเจรจาต่อหน้าสื่อมวลชน คนอย่างเขาคงจะยอมใช้ส้วมที่มีคนหลายหมื่นคนใช้มาแล้วหรอกนะ… ถึงแม้มันจะทำจากทองคำก็เถอะ!
ผลงาน America หรือ ส้วมทองคำ ของ คัตเตลาน นั้นเป็นที่อื้อฉาวตั้งแต่ครั้งแรกที่มันเปิดตัวในปี 2016 หนังสือพิมพ์หลายหัวตีข่าวหน้าหนึ่ง ส่วนผู้สื่อข่าวก็ถอดกางเกงนั่งส้วมโพสท่าถ่ายรูปกันอย่างครื้นเครง
ส่วนผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์กว่าแสนคนต่างเข้าคิวรอใช้ห้องน้ำที่ติดตั้งส้วมทองคำกันอย่างอดทน เพื่อจะได้มีโอกาสสนิทชิดเชื้อกับศิลปะที่แสดงถึงธรรมชาติเบื้องต้นของมนุษย์อย่างแน่นแฟ้นที่สุด โดยทางพิพิธภัณฑ์จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยไว้หน้าห้องน้ำ และจะมีพนักงานเข้าไปทำความสะอาดขัดถูเจ้าส้วมทองคำในทุกๆ 15 นาที เพื่อให้มันคงความเปล่งปลั่งเมลืองมลังอยู่เสมอ
ถึงแม้คัตเตลานจะไม่ใช่ศิลปินคนแรกที่สร้างคุณค่าและความเป็นอมตะแก่สิ่งของต่ำต้อยด้อยค่าและสกปรกโสโครกในความรู้สึกของคนทั่วไป ด้วยการเอาสุขภัณฑ์ที่ใช้รองรับสิ่งปฏิกูลมาทำเป็นงานศิลปะ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 1917 มาร์แซล ดูชองป์ สั่นสะเทือนวงการด้วยการหยิบเอาโถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวหน้าตาธรรมดามาตั้งบนแท่นแสดงเป็นงานศิลปะ แต่คัตเตลานก็ไปไกลยิ่งกว่า ด้วยการใช้วัสดุสูงค่าอย่างทองคำมาทำเป็นของต่ำอย่างส้วม และที่สำคัญคือเขาอนุญาตให้คนทั่วไปมาใช้ผลงานชิ้นนี้ของเขาด้วย!
นอกจากผลงานชิ้นนี้จะเป็นการเสียดสีความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมแล้ว เขายังเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เห็นและสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สุดหรู ที่ปกติจะสงวนไว้สำหรับคนจำนวนน้อยนิดเพียง 1 เปอร์เซนต์ จากคน 99 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือในสังคม เขาเชิญชวนให้คนทั้งหลายเหล่านั้นสัมผัสกับประสบการณ์ที่พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อนด้วยงานศิลปะชิ้นนี้ เขากระตุ้นให้ผู้ชมหวนรำลึกถึงความฝันแบบอเมริกันที่เปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้น รวมถึงย้ำเตือนให้เราระลึกถึงความเป็นจริงทางกายภาพที่มนุษยชาติมีร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เพราะไม่ว่าคุณกินอะไรเข้าไป จะเป็นอาหารเที่ยงราคา 200 เหรียญ หรือฮอตดอกอันละ 2 เหรียญ ตอนขี้ออกมาลงส้วมมันก็เหมือนกันหมดนั่นแหละนะ” คัตเตลานกล่าว
อนึ่ง ผลงานชิ้นนี้ยังได้แรงบันดาลใจจากผลงานของศิลปินอิตาลี ปิแอโร แมนโซนี อย่าง Merda d’artista (ขี้ของศิลปิน, 1961) ที่แมนโซนีเอาขี้ตัวเองบรรจุกระป๋องและขายมันในราคาที่เท่ากับน้ำหนักของทองคำ อีกด้วย
เมาริสซิโอ คัตเตลาน เป็นที่รู้จักในฐานะนักเสียดสี กระตุ้นเร้าผู้ชม ศิลปินขี้เล่นผู้เปี่ยมอารมณ์ขันแบบตลกร้าย ยียวนป่วนอารมณ์ และท้าทายสังคมจนอื้อฉาว จนได้ฉายาว่าเป็น ‘ตลกหลวงจอมป่วนแห่งโลกศิลปะ’
เกิดในปี 1960 ที่เมืองปาดัว ประเทศอิตาลี แรกเริ่มเดิมที เขาไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านศิลปะ หากแต่เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ ก่อนที่จะหันเหมาทำงานศิลปะ โดยในช่วงแรกเขาทำงานศิลปะที่ล้อเลียนคนในโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Errotin, le vrai Lapin (Errotin, the real Rabbit, 1995) ที่เขาหว่านล้อมเจ้าของแกลเลอรีเพลย์บอยจอมฉาว เอมมานูเอล ลาแปง (Emmanuel Lapin) ให้สวมชุดกระต่ายยักษ์สีชมพูที่มีรูปร่างคล้ายกับองคชาติขนาดยักษ์ในวันเปิดแกลเลอรีของเขา หรือสวมหัวมาสคอตรูป ปาโปล ปิกัสโซ่ เดินหน้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในนิวยอร์ก (MoMA) ในผลงาน Untitled (Picasso, 1998)
เขายังทำประติมากรรมที่ทำจากซากศพสัตว์สตัฟฟ์ อย่างเช่นผลงาน Untitled (1997) ที่เป็นนกกระจอกเทศสตัฟฟ์มุดหัวลงไปในพื้นดิน
หรือผลงาน Novecento (20th Century) (1997) ประติมากรรมจัดวางที่ทำจากร่างสตัฟฟ์ของม้าแข่ง แขวนด้วยอานและบังเหียนห้อยต่องแต่งลงมาจากเพดาน
หรือผลงาน Bidibidobidiboo (1996) ประติมากรรมจัดวางขนาดเล็ก ที่เป็นกระรอกสตัฟฟ์นั่งทรุดกายลงบนชุดโต๊ะเก้าอี้ขนาดจิ๋ว โดยมีปืนตกอยู่บนพื้น จนดูเหมือนกับว่ามันเพิ่งฆ่าตัวตายมาหมาดๆ
ในช่วงปี 1999 เขาเริ่มทำประติมากรรมหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงแบบไฮเปอร์เรียลลิสม์ ขนาดเท่าคนจริง ของบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนรอบตัวในวงการศิลปะ บุคคลผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และไม่มีชีวิต รวมถึงตัวของเขาเอง
หนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเขาคือ La Nona Ora (The Ninth Hour, 1999) ประติมากรรมจัดวางหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ที่ถูกอุกาบาตตกทะลุหลังคาลงมาทับใส่ร่าง ผลงานสุดช็อกชิ้นนี้ท้าทายสถาบันสูงสุดของคริสตศาสนาจนเป็นที่เลื่องลืออื้อฉาวเป็นอย่างมาก
หรือผลงานที่อื้อฉาวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันอย่าง Him (2001) ประติมากรรมหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงรูป อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการนาซีที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่าล้านชีวิต กำลังคุกเข่า สองมือประสานกัน สายตามองไปยังเบื้องสูง ราวกับกำลังสวดภาวนาอ้อนวอนขอไถ่บาป (ต่อพระผู้เป็นเจ้า?) ด้วยผลงานชิ้นนี้ คัตเตลานตั้งคำถามกับผู้ชมว่า ท้ายที่สุดแล้ว เราจะสามารถให้อภัยสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายอย่างถึงขีดสุดเช่นนี้ได้หรือไม่ ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ชวนช็อกและสั่นสะเทือนจิตใจผู้ชมที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเลยก็ว่าได้
ถึงแม้ คัตเตลาน จะได้รับอิทธิพลทางความคิดอย่างมากมาจากดูชองป์ แต่เขาก็ไม่ได้ลอกเลียนความคิดของดูชองป์มาอย่างโต้งๆ หากแต่พัฒนาแนวคิดแบบเรดี้เมด (readymades) ที่หยิบฉวยเอาข้าวของเก็บตกเหลือใช้ธรรมดาที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาเปลี่ยนให้เป็นศิลปะ แต่คัตเตลานหยิบฉวยเอาประสบการณ์, ข่าวสาร, ข้อเท็จจริง ไปจนถึงเรื่องราวความขัดแย้งอันเหลวไหลไร้สาระในสื่อต่างๆ รอบตัวมาแปรเปลี่ยนให้เป็นงานศิลปะ ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “เราสามารถหาแนวคิดเชิงปรัชญาได้จากโทรทัศน์ที่เราดูอยู่ทุกวี่วันนั่นแหละ”
ผลงานของเขาเล่นกับเรื่องราวและตัวละครใกล้ตัวทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันอันซ้ำซากจำเจไปจนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับความศรัทธาและสถาบันทางศาสนา หรือแม้แต่ประเด็นทางสังคม, การเมือง
เขามักใช้ผลงานศิลปะเหมือนจริงจนล้นเกินของเขา แสดงออกถึงเรื่องราวต่างๆ ด้วยท่าทีอันขบขันและเหลวไหลไร้สาระ เพื่อตั้งคำถาม กระตุ้นเร้า และเล่นตลกกับระบบระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเปิดโปงความจอมปลอมของสังคมรอบตัวด้วยความท้าทายอย่างยิ่ง
และถึงแม้ในปี 2011 เมาริสซิโอ คัตเตลาน จะประกาศเกษียณตัวเองจากวงการศิลปะ (แบบเดียวกับที่ดูชองป์เคยทำในปี 1923) แต่อีกห้าปีหลังจากนั้น เขาก็หวนคืนสู่วงการอีกครั้งกับผลงาน America หรือ ส้วมทองคำ ในพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ในนิวยอร์ก ที่เรากล่าวถึงไปตอนต้นเรื่องนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
en.wikipedia.org/wiki/Maurizio_Cattelan
guggenheim.org/artwork/artist/maurizio-cattelan