ขออนุญาตทึกทักว่าเรื่องที่ผมจะสาธยายอีกหลายบรรทัดคงเป็นไปตามเสียงเรียกร้องอยากรู้จากคุณผู้อ่านจำนวนมาก ทำไมจึงคิดเช่นนั้นนะรึ? ก็เพราะช่วงนี้หันไปทางไหนมีแต่คนเอ่ยถึงละคร เมีย 2018 มิตรสหายก็มีทั้งทีมเมียหลวงและทีมเมียน้อย ทีแรกผมเองเฉยๆ พอฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้างเข้าซ้ำบ่อยอดไม่ได้ที่จะไปลองติดตามบ้าง และเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางความรู้เชิงประวัติศาสตร์ จึงรื้อลิ้นชักขยุ้มข้อมูลสุดพิเศษเกี่ยวกับผัวๆ เมียๆ เมื่อราวๆ 100ปีก่อน ทั้งเรื่องเมียหลวง เมียน้อย เมียลับ มาหว่านโปรยเป็นตัวอักษรถ่ายทอดสู่สายตาคุณผู้อ่าน ซึ่งของผมนี่น่าจะเรียกคร่าวๆ ได้ว่า เมีย 1918
ผู้ชายมี ‘เมียน้อย’ มิใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใดในสังคมไทยสมัยเก่าซึ่งระบบผัวเดียวหลายเมียเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นมายาวนาน เดิมทีลักษณะอย่างว่าเกี่ยวพันกับชายผู้ครองยศถาบรรดาศักดิ์สูงๆ ถ้าคุณผู้อ่านเคยดูละครพีเรียดจำพวกนางทาสที่มีตัวละคร ท่านเจ้าคุณ คุณหญิงแย้ม แม่สาลี แม่บุญมี และอีเย็น ก็คงจะร้อง อ๋อ! และนึกเห็นภาพตามได้ไม่ยาก นอกเหนือไปจาก ‘เมียน้อย’ ธรรมดาๆ แล้ว บางที ก็มี ‘เมียเชลย’ และเมียอะไรต่างๆ นานาสารพัดด้วย
ครั้นต่อมา ชนชั้นกลางเริ่มมีแนวโน้มจะยึดมั่นแนวคิดผัวเดียวเมียเดียวช่วงทศวรรษ 2440 โดยรับเอามโนทัศน์จากโลกตะวันตก ปัญญาชนคนสำคัญเฉกเช่น เทียนวรรณ ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์สภาพผัวเดียวหลายเมีย พอกลางทศวรรษ 2450 ก็ค่อยๆ เป็นที่ตระหนักว่าควรแทรก ‘โมโนกามี’ ไว้ในกฎหมายครอบครัวสอดคล้องกับความ ‘ศิวิไลซ์’ ต่อเนื่องจนทศวรรษ 2460 สื่อสิ่งพิมพ์ที่เติบโตขยายตัวขึ้นได้กลายเป็นช่องทางเสนอข้อคิดเห็นของกลุ่มนักคิดนักเขียนชนชั้นกลางที่สนับสนุน ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ อย่างจริงจัง
ในทศวรรษ 2470 กฎหมายมีบทบาทต่อหลักการผู้ชายควรมีภรรยาเพียงคนเดียว รัฐบาลสยามออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พุทธศักราช 2473 และนำไปสู่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพที่ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัว พุทธศักราช 2478 ในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรที่เน้นย้ำการจดทะเบียนเมียเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ล่วงเข้าทศวรรษ 2480 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เชิดชูแนวคิดผัวเดียวเมียเดียวเป็นวัฒนธรรมระดับชาติ ค่านิยมดังกล่าวเคียงคู่สังคมไทยและเสมือนแบบแผนชนชั้นกลางเรื่อยมามิเว้นกระทั่งปัจจุบัน ผมเล่าคร่าวๆ เพื่อให้คุณผู้อ่านเข้าใจบริบทตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ไทย แต่หากคุณผู้อ่านท่านใดอยากศึกษาแนวคิด ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ ลงลึกไปกว่านี้ ลองหาอ่านจากหนังสือ ผัวเดียว เมีย…เดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม ของสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจได้ครับ
ย้อนถอยหลังไปช่วงทศวรรษ 2450 และทศวรรษ 2460 แม้ผู้ชายชนชั้นกลางชาวสยามส่วนใหญ่จะแสดงตนต่อสายตาสาธารณะในภาพลักษณ์ที่พวกเขามี ‘เมียหลวง’ ควงคู่ออกงานเพียงคนเดียวโดยเอาอย่างชาวตะวันตก
หาได้มี ‘เมียน้อย’ เลี้ยงไว้ในบ้านเป็นโขยงเฉกเช่นชายชาวสยามที่เป็นขุนนางในสังคมดั้งเดิม หากนั่นมิได้หมายความว่าพวกเขาจะร่วมเพศกับผู้หญิงเพียงคนเดียว แต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้ชายเลี่ยงการมี ‘เมียน้อย’ แล้วไปมี ‘เมียลับ’ แทน ตรงจุดนี้ อัศวพาหุ (พระนามแฝงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) แสดงความเห็นไว้ในเรื่อง ‘การค้าหญิงสาว’ อันเป็นโคลนก้อนที่ 10 จากพระราชนิพนธ์ โคลนติดล้อดังปรากฏใจความตอนหนึ่ง “ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ผิดที่จะกล่าวว่า การมีเมียน้อยเป็นประเพณีโบราณซึ่งคนไทยหนุ่มๆ สมัยไม่ชอบเลย เพราะว่าเป็นประเพณีมีเมียหลายคนซึ่งหนุ่มๆ ผู้ได้รับความศึกษามาแล้วอย่างฝรั่งร้องให้เลิก พวกหนุ่มเหล่านี้ได้ริแบบใหม่ คือ มีเมียลับ ซึ่งเขาเห็นว่าสมควรแก่คน ‘ศิวิไลซ์’ สมัยใหม่ซึ่งมีเมียออกหน้าแต่คนเดียวอย่างฝรั่ง”
แท้แล้ว อัศวพาหุ หาได้สนับสนุนให้ชายชาวสยามยึดถือการมี ‘เมียน้อย’ ตามขนบเก่าหรอก แต่กลับมองในเชิงเปรียบเทียบว่าการมีเมียหลายคนอย่างเปิดเผยแบบเก่ายังดีเสียกว่าการมี ‘เมียลับ’ ซึ่งส่งผลร้ายกาจนำไปสู่ความทุกข์ยากของผู้หญิง เนื่องจาก
เมียลับเช่นนี้ ในระหว่างที่สามียังรักอยู่ก็มีความสุขพอประมาณ เงินทองเพชรพลอยเครื่องแต่งตัวก็พอหา รถยนต์หรือรถม้าก็มีขี่เที่ยวเล่น สุดเแล้วแต่กำลังของผัว แต่ครั้นความรักของผัวแปรปรวนไปอยู่กับหญิงอื่น การอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๓ อย่างนี้ ก็จะเกิดมีแก่หญิงผู้เป็นเมียลับ คือถ้าชายเป็นคนมั่งมีเขาก็ให้หญิงอยู่อาศัยในห้องที่เช่าอยู่ต่อไปโดยลำพังและให้เงินกินบ้าง แต่ถ้าหญิงนั้นพอใจจะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ก็ไปได้และก็ให้เงินกินบ้างพอสมควร หรือถ้าชายไม่สู้จะมั่งมีเขาก็จัดส่งหญิงนั้นกลับไปอยู่กับพ่อแม่ และถ้ามีเงินพอและจำได้ เขาก็ส่งเงินไปให้บ้างเป็นครั้งคราว แต่ถ้าชายเป็นคนใจทมิฬหินชาติ เขาก็หาข้อแก้ตัวสำหรับเลิกกับหญิงแล้วไล่ให้ไปเสียจากที่อยู่
ใช่แค่สร้างปัญหาจำกัดเฉพาะชายหญิงคู่ผัวตัวเมีย แต่กระทบกระเทือนต่อสังคมไทยในแง่ปัญหาโสเภณีด้วย เพราะ “หญิงที่ถูกกระทำร้ายเพราะชายเช่นนี้ บางทีก็ต้องหันไปสู่อาชีวะอันเสื่อมศักดิ์ ซึ่งทำลายทั้งร่างกายและจิตใจของเขา หญิงประเภทนี้เมื่อออกจากชายคนหนึ่งแล้ว ก็ตกไปถึงมือชายคนอื่นซึ่งชั่วร้ายใจทมิฬไม่ผิดกันตกต่ำลงไปทุกที ผลที่สุดก็กลายเป็นหญิงโคมเขียว!” ซึ่งการค้าหญิงสาวนับเป็น ‘โคลนติดล้อ’ ก้อนใหญ่ที่ถ่วงความเจริญของชาติ
วิธีหนึ่งที่น่าจะเป็นทางออกได้คือต้องให้จดทะเบียนเมียอย่างชัดเจนป้องกันการมี ‘เมียลับ’ รัฐบาลสยามจึงพยายามจัดรูปแบบการเป็น ‘ผัว’ และ ‘เมีย’ มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2450 กระนั้น ในสังคมสยามทั่วไปก็มีผู้หญิงที่เป็น ‘เมียลับ’ อยู่
มากมาย ครั้นล่วงเข้าสู่ทศวรรษ 2470 กฎหมายผัวเมียที่เน้นผู้ชายจดทะเบียนรับผู้หญิงเป็นเมียได้คนเดียวถูกประกาศใช้ทั่วทั้งประเทศ และนับจากทศวรรษ 2480 เป็นต้นไปอุดมการณ์ผัวเดียวเมียเดียวได้แพร่หลายขยายวงกว้างกวาง มองผาดเผินน่าจะแก้ปัญหาการแอบมีเมียหลายคนสำเร็จ ตรงกันข้ามกลับยิ่งทำให้ผู้ชายเสาะหากลวิธีซุกซ่อน ‘เมียลับ’ แนบเนียนกว่าเคย มิหนำซ้ำ ในช่วงทศวรรษ 2480 ผู้เผยแพร่อุดมการณ์ให้ประชาชนมีผัวคนเดียวมีเมียคนเดียว กลับถูกครหาว่ามีเมียลับๆ เสียเอง
ผมใคร่ชี้ชวนให้ฉุกคิดว่า หากในสังคมสยามยุคเก่า พวกขุนนางมีเมียน้อยในครอบครองอันเป็นสิ่งที่ชายชนชั้นกลางยุคใหม่ไม่พึงประสงค์พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์แล้ว ในสมัยประชาธิปไตยที่ระบบผัวเดียวเมียเดียวคือบรรทัดฐานสังคม ชายชนชั้นกลางเองก็แอบมี ‘เมียลับ’ แบบปกปิดอยู่มิใช่น้อย
เพื่อช่วยให้ประเด็นที่กล่าวอ้างสามารถเข้าใจง่ายขึ้น ผมจะยกตัวอย่างลักษณะการมีเมียของผู้ชายคนหนึ่งที่เคยโลดแล่นชีวิตสวาทกับผู้หญิงหลายรายตลอดช่วงทศวรรษ 2460 เรื่อยมาจนทศวรรษ 2480 เขาคือนายโชติ ซึ่งเจ้าตัวยินดีเปิดเผยพฤติกรรมของตนเองผ่านหนังสือบันทึกความทรงจำของข้าพเจ้า บรรยายประวัติและเหตุการณ์ที่ประสบพบเห็นเป็นไปในชีวิตจริง
โชติออกจากโรงเรียนกฎหมายตอนอายุ 16 (ปีพุทธศักราช 2459) เขายังมิทันประกอบอาชีพ ก็ไปต้องตาต้องใจโสเภณีรูปสวยนางหนึ่งชื่อภักตร์ เธอเพิ่งเข้าประจำสำนัก ‘บ้านโคมเขียว’ราคาค่าตัว 5 บาท ชายหนุ่มเพียรติดต่อผ่านพ่อเล้าแม่เล้าจนได้เธอมาเสพสมสังวาส นับเป็นหญิงคนแรกในชีวิต ภูมิหลังของนางภักตร์และความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มโชติกับเธอถือเป็นจุดน่าพินิจ ดังโชติเขียนไว้ว่า
และนางภักตร์ได้รำพันถึงเบื้องหลังชีวิตของนางว่า การที่มาเป็นโสเภณีนี้ก็โดยถูกชายหนุ่มคนหนึ่งหลอกลวงว่ารักใคร่จะเลี้ยงดูฉันท์สามีภรรยา แต่เมื่อเสียตัวกับชายหนุ่มคนนั้นแล้วกลับถูกบังคับขู่เข็ญทุบตีพาเอามาขายตัวไว้ที่ซ่องโสเภณีนี้ จึงใคร่จะกลับตัวขอให้ข้าพเจ้าเลี้ยงดูฉันท์สามีภรรยา ความจริงข้าพเจ้าเหยียดหยามพวกโสเภณีอย่างที่สุด ข้าพเจ้าต้องการนางภักตร์ด้วยความใคร่ไม่ใช่ด้วยความรัก ข้าพเจ้าจึงแสร้งรับคำ นางภักตร์จึงขอร้องให้ข้าพเจ้าไปสาบานต่อหน้าโบสถ์วัดเทพธิดารามซึ่งอยู่ตรงข้ามหมู่บ้านสายว่า ถ้าข้าพเจ้าได้รับราชการมีเงินเดือนเมื่อใดจะเลี้ยงดูนางตามที่ให้สัญญาไว้ และนางจะเลิกประพฤติตัวเป็นหญิงโสเภณีกลับเป็นภรรยาที่ดีของข้าพเจ้าตลอดไป แต่ในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังไม่ได้ประกอบอาชีพมีรายได้ นางจะคงรับบำเรอชายไปก่อนโดยจ่ายเงินให้ข้าพเจ้าวันละ ๒ บาทซึ่งในสมัยนั้นนับว่าพอใช้จ่ายได้อย่างสบาย ข้าพเจ้าก็ยอมปฏบัติตามที่นางขอร้องทุกประการ ซึ่งก็หมายความว่าข้าพเจ้ากระทำตัวคล้ายจะเป็น “แมงดา” นั่นเอง
นางภักตร์ย่อมอยู่ในข่าย ‘เมียลับ’ เนื่องจากเธอเป็น ‘หญิงซึ่งชายสมจรด้วยเปนครั้งคราว’ เพราะหลักการจดทะเบียนภรรยาในยุคสมัยรัชกาลที่6 ระบุว่า “…ภรรยา คือ หญิงที่ได้กระทำการแต่งงานสมรสตามประเพณีเมือง หรือที่ชายเลี้ยงดูโดยให้อยู่ร่วมเคหะสถานแลยกย่องเชิดชูหน้าโดยเปิดเผย เพราะฉะนั้น ห้ามมิให้รับจดทะเบียนหญิงนครโสเภณีหรือหญิงแพศยา หรือหญิงซึ่งชายสมจรด้วยเปนครั้งคราวนั้นเปนอันขาด…”
พฤติกรรมของโชติช่างคล้องจองเหมาะเจาะกับผู้ชายที่ถูกวิจารณ์ในโคลนติดล้อ และเขาเล่าเพลินเรื่องการมีเมียของตนอีก “…เมื่อเลิกคบกับนางภักตร์แล้ว ก็คบกับหญิงโสเภณีคนอื่นๆ ต่อไป ในที่สุดเมื่อเข้ารับราชการได้ไม่กี่เดือนก็ได้รับเชื้อโรคจากหญิงพวกนี้มีอาการป่วยเป็นกามโรค ทั้งๆ ที่กำลังป่วยข้าพเจ้าก็ยังคงเที่ยวคบและสมสู่กับหญิงพวกนี้…” รวมถึงขณะกำลังจะแต่งงานมีเมียหลวงเป็นตัวเป็นตนก็ยัง“ในระหว่างที่ข้าพเจ้าทำการหมั้นเธอแล้ว ก็ยังคบหญิงโสเภณีอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดก็กลับเป็นกามโรคอีก..” มิหนำซ้ำ กระทั่งมีครอบครัวแล้วแต่มิวายงดเว้นการมีเมียไปเรื่อยๆ “อนึ่งข้าพเจ้าได้เริ่มคบหญิงโสเภณีตั้งแต่เป็นหนุ่มโสดดังกล่าวแล้วและเที่ยวสมสู่กับหญิงพวกนี้อยู่เสมอ เลยทำให้มีนิสัยเป็นคนเจ้าชู้จนทำการสมรสแล้วก็ยังเที่ยวกับเพื่อนไปมีภรรยาใหม่อีกหลายคน เลิกกับคนหนึ่งไปมีใหม่อีกคนหนึ่งคนแล้วคนเล่า ส่วนมากคบกันเพียงเดือนสองเดือนแทบทุกคน โดยมากมีฐานะเป็นลูกจ้างติดต่อกันไม่กี่วันก็ได้เสียกันแล้ว สวยไม่สวย ลูกเต้าเหล่าใครไม่สนใจ บางทีอาจจะกลายเป็นชู้ภรรยาของคนอื่นเข้าบ้างก็ได้…”
กลุ่มผู้หญิงที่ตกเป็น ‘เมียลับ’ ของโชติใช่เพียงโสเภณี ผู้หญิงปกติเขาก็มิเว้น “…แต่พอภรรยาของข้าพเจ้ามีธิดาอีกคนหนึ่งนับเป็นลูกคนที่ ๓ ข้าพเจ้าก็เริ่มไปเที่ยวกับเพื่อน มีภรรยาน้อยชื่อ ‘ลมุน’ ข้าพเจ้าพาภรรยาน้อยไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน แล้วก็บอกให้ภรรยาคู่ชีวิตทราบ ๕-๖ วันไปหาภรรยาน้อยครั้งหนึ่ง ภรรยาคู่ชีวิตก็ดีแสนดี ถ้าเกิน ๕-๖ วันยังไม่ไปหาภรรยาน้อย เธอจะบังคับให้ข้าพเจ้าไปหา และถ้าให้เงินภรรยาน้อยใช้จ่ายน้อยเกินไป เธอจะบังคับให้ข้าพเจ้าเพิ่มเงินให้ภรรยาน้อย…” เขาอยู่กินกับลมุนที่บ้านเช่าเดือนเดียวก็ไม่ไปหาเธออีก เมียหลวงสงสารจึงพาไปขอให้มารดาของเขารับเลี้ยงไว้ แต่ลมุนเลือกจะตัดสัมพันธ์ ส่วนเมียหลวงแม้วางสีหน้าแช่มชื่นเอ่ยปากบอกว่าให้อภัยสามีแต่อกตรมจนซมพิษป่วยไข้
ในปีพุทธศักราช 2477 โชติยังคงเที่ยวเสเพลกับเพื่อน และเมียของเพื่อนข้าพเจ้าก็ชักนำนางสาวเชื่อมมาให้เป็นเมียน้อยของเขาอีกคนซึ่งโชติยอมรับว่า “…ข้าพเจ้าค่อนข้างจะหลงใหลภรรยาน้อยคนนี้ เพราะขณะนั้นข้าพเจ้ามีอายุ ๓๔ ปี ส่วนเธอมีอายุเพียง ๒๐ ข้าพเจ้าได้ไปเช่าบ้านอยู่กับเธอตั้งอยู่ริมทางรถไฟสายช่องนนทรีย์ ตำบลคลองเตย กรุงเทพมหานคร ในตอนแรก ข้าพเจ้าไปนอนค้างที่บ้านเธอคราวละ ๓-๔ วัน เมื่อข้าพเจ้ากลับมาบ้านภรรยาคู่ชีวิตก็ต้องปฏิบัติเช่นเคย คือต้องบรรยายให้ทราบว่า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติต่อภรรยาน้อยอย่างไร และภรรยาน้อยได้ปฏิบัติข้าพเจ้าอย่างใด มิฉะนั้นข้าพเจ้าจะอกแตกตาย ถือว่าเป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อภรรยาคู่ชีวิต นับว่าเป็นคติบ้าๆ ของข้าพเจ้าซึ่งหานึกไม่ว่าภรรยาคู่ชีวิตจะช้ำใจเพียงไร แต่เธอก็ทนหน้าชื่นอกตรมอยู่ได้ตลอดเวลา…” โชติร่วมชีวิตกับนางสาวเชื่อมได้ 5-6 เดือนเกิดเบื่อหน่ายหมายจะละทิ้ง แต่บังเอิญเธอตั้งครรภ์ เขาจึงจำเป็นต้องเลี้ยงดู โดยหนึ่งสัปดาห์จะแวะไปหาเธอหนึ่งวัน และให้เงินเธอใช้เดือนละ 20 บาท
ล่วงปีพุทธศักราช 2486 ภายหลังจากผ่านการมีเมียน้อยหลายคน โชติตัดสินใจตัดขาดเมียอื่นๆ แล้วมีเมียหลวงคนเดียวเท่านั้น กรณีของโชติพึงสังเกตว่าเขามิได้เก็บงำเรื่อง ‘เมียน้อย’ ต่อเมียหลวง แต่จะอย่างไร ทั้งลมุนและเชื่อมถือเป็น ‘เมียลับ’ ต่อสายตาทางสังคมอยู่ดี
มนัส จรรยงค์ นักประพันธ์เอกเป็นอีกบุรุษผู้มี ‘เมียลับ’ อยู่ไม่น้อย ทว่ามนัสต่างจากโชติตรงที่เขาพยายามเก็บงำไม่ให้เมียหลวงล่วงรู้ อ้อม บุตรีพระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค) ซึ่งอุตส่าห์พากันหนีตามมาต้องเจ็บช้ำน้ำใจบ่อยหน อย่างคราวหนึ่งเธอสะกดรอยไปเจอมนัสกำลังไกวเปลลูกของเขากับเมียอีกคนที่ไม่เปิดเผยตัว อ้อมเคยโกรธจนหนีไปจากมนัสแต่นักประพันธ์หนุ่มเพียรง้องอนจนเธอย้อนกลับมาอยู่ด้วยกัน ขณะมนัสก็ไม่ยอมเลิกรากับ ‘เมียลับ’ ทั้งหลายสักที
ข้อควรครุ่นคิดอีกประการได้แก่ การที่ผู้ชายซึ่งมีครอบครัวไปได้เสียกับผู้หญิงอื่นจนตกเป็นเมียอีกคนแล้วพาไปหาบ้านเช่าอีกแห่งหนึ่ง ไม่ยอมพาไปอยู่บ้านหลังเดียวกันกับตนและเมียหลวง ลักษณะเช่นนี้ ผมวิเคราะห์ว่าในสังคมสยามยุคสมัยเก่าพอชายผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ร่วมเพศกับหญิงอื่นนอกการสมรสแล้ว ส่วนใหญ่มักจะต้องรับเลี้ยงดูในฐานะเมียน้อยและพามาอยู่ร่วมชายคาเดียวกับเมียหลวง สืบเนื่องจากค่านิยมการร่วมเพศตามกรอบคิดแบบเดิมเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์แบบผัวเมีย ทว่าสำหรับชนชั้นกลางยุคสมัยใหม่และยิ่งภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 เมื่อผู้ชายไปร่วมเพศกับหญิงอื่นที่มิใช่คู่ครองตามกฎหมายก็อาจปฏิเสธความรับผิดชอบเลี้ยงดูได้ เพราะเกิดแนวคิดการร่วมเพศได้ถูกแยกออกจากความสัมพันธ์แบบผัวเมียราวกับชายหญิงมีอิสระเสรีโดยไม่จำเป็นต้องผูกมัดกามกิจด้วยสถานะการแต่งงาน การมี ‘เมียน้อย’ แบบใหม่จึงไม่จำเป็นต้องเปิดเผย แต่สามารถหลบๆ ซ่อนๆ เอาไว้ในฐานะ ‘เมียลับ’ กรณีกลุ่มหญิงโสเภณีก็แค่แวะเวียนไปเสพสมตามซ่องและจ่ายเงินค่าตัว ส่วนกรณีกลุ่มผู้หญิงอื่นๆ ทั่วไปอาจเช่าบ้านให้อีกหลังไว้เป็นพื้นที่แวะเวียนไปอยู่กินด้วยกัน
ความแตกต่างระหว่าง ‘เมียน้อย’ กับ ‘เมียลับ’ เลยอยู่ตรงที่พวกเธอถูกยอมรับตัวตนอย่างเปิดเผยจากฝ่ายชายหรือไม่!
จะยุคสมัยใดก็ตามเถอะ เรื่องว่าด้วยผัวๆ เมียๆ ย่อมเป็นเรื่องที่ชาวบ้านชาวช่องสนอกสนใจจนก่อกระแสพรั่งพรู ล่าสุดละคร เมีย 2018 พิสูจน์ให้เห็นแจ่มแจ้งแล้วอย่างมิอาจปฏิเสธ สิ่งที่ผมบอกเล่ามาทั้งหมด หากจะมีความดีงามก็ขอยกให้ ‘กันยา’ ในละครเรื่องดังกล่าวนั่นแหละครับ เพราะเธอคือแรงดาลใจเร่งเร้าการขยับปากกาเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมาทันทีทันใด เพียงชมคลิปแว่บเดียว ผมฉับพลันรู้สึกลุ่มหลงจริตจะก้านจนทนไม่ไหวที่จะรอให้ถึงเดือนหน้า (กันยายน) จึงตัดสินใจเขียนเรื่องการมี ‘เมียน้อย’ และ ‘เมียลับ’ ในประวัติศาสตร์ไทยเสียเลยตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม
อ้างอิงข้อมูลจาก
- โชติ รามโกมุท. บันทึกความทรงจำของข้าพเจ้า บรรยายประวัติและเหตุการณ์ที่ประสบพบเห็นเป็นไปในชีวิตจริง.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สีหะพันธ์การพิมพ์, 2521
- ธาวิต สุขพานิช. 108 เรื่องที่หญิงไทยควรรู้ แต่ไม่เคยรู้ เพราะหลงนึกว่ารู้ๆ ดีกันอยู่แล้ว. นนทบุรี : พ๊อพบุ๊คส์ พับบลิค, 2544
- มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ.“โคลนติดล้อ บท 10 การค้าหญิงสาว.”ใน ลัทธิเอาอย่าง. กรุงเทพฯ: ธรรมบรรณาคาร, 2516
- สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. ผัวเดียว เมีย…เดียว อาณานิคมครอบครัวในสยาม.กรุงเทพฯ: มติชน,2561
- อ้อม จรรยงค์. บันทึกของอ้อม จรรยงค์ (บุนนาค).กรุงเทพฯ : สำนักงานเริงรมย์,2531
- อิรภัทร สุริยพันธุ์. มโนทัศน์เรื่อง “เมีย” ในสังคมไทย พ.ศ. 2394-2478. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2552