สหราชอาณาจักรเพิ่งจะผ่านการเลือกตั้งไปเมื่อไม่นานมานี้ ตอนนี้สภาเป็น ‘สภาแขวน (Hung Parliament)’ เพราะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากในสภาเลย พรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจำต้องรวมตัวกับพรรคใดพรรคหนึ่งเพื่อตั้งรัฐบาลผสม ล่าสุด เธอรีซา เมย์ (เทเรซา เมย์นั่นแหละ ทำมาออกเสียงเก๋) หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งได้คะแนนสูงสุด ได้รวมตัวกับพรรครวมประเทศแบบประชาธิปไตย (Democratic Unionist Party) ซึ่งมาจากไอร์แลนด์เหนือ และประกาศจัดตั้งรัฐบาล
แต่ปีนี้มีกระแสบางอย่างที่มาแรงเอามากๆ นั่นคือ ‘พรรคแรงงาน’ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านนั้นเป็นที่จับตามอง และในที่สุดก็กวาดคะแนนไปได้เกินคาดและมากกว่าปีที่แล้วอย่างมาก จนได้คะแนนเป็นที่สองรองจากพรรคอนุรักษ์นิยม สิ่งที่ทำให้พรรคนี้มาแรงขึ้นมานั้นไม่ใช่เพียงความเกลียดชังพรรคอนุรักษ์นิยมที่มีอยู่แล้วหลังจากการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แต่ยังรวมไปถึงหัวหน้าพรรคอย่าง เจอเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) ที่เป็นคนดู ‘แรง’ ในสายตาสื่อหลายฉบับ เพราะเขาประกาศตัวชัดเจนว่าเขามีแนวคิดออกไปทางสังคมนิยม เขาเป็นมังสวิรัติ เขาต่อต้านสงครามและสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐ ความ ‘หัวรุนแรง’ ที่ถูกสื่อนำเสนอออกมาทำให้เขามีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี แต่ในขณะเดียวกัน เขากลับมีฐานเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความชัดเจนและความจริงใจของเขา รวมถึงนโยบายที่ไม่ได้มุ่งอยู่ที่ชนชั้นแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว
ถึงแม้ว่าพรรคเขาจะได้คะแนนเสียงเป็นอันดับสอง แต่พรรคแรงงานก็ถือว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่นำโดยหัวหน้าพรรคผู้จริงจังกับอุดมการณ์
จอห์น แมคดอนเนล (John McDonnell) เพื่อนร่วมพรรคคนสนิทของคอร์บินกล่าวว่า พรรคของเขายึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยม ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงต้องการสร้างสังคมแบบสังคมนิยม “มันหมายความว่าอะไรน่ะหรือ ผมคิดว่าบางคนคงจะหวาดกลัวเมื่อได้ยินคำว่าสังคมนิยม มันหมายความว่าสังคมที่เราต้องการในตอนนี้คือสังคมที่เที่ยงธรรมในทุกๆ ภาคส่วน เท่าเทียมกันมากขึ้น ผมคิดว่าจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วย ประชาชนจะสามารถควบคุมดูแลชีวิตตัวเองได้มากขึ้น” (The Guardian 2017)
ผู้เขียนเข้าใจดีเวลามีคนกลัวคำว่าสังคมนิยม ผู้เขียนก็เคยเป็น ตอนเรียนปริญญาโท ผู้เขียนนั้นถูกบังคับให้อ่านงานเขียนเกี่ยวกับสังคมนิยมบ้าง ตอนจะอ่านก็กลัวๆ เหมือนกัน แต่พออ่านไปก็ได้เข้าใจว่า มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดไว้ตั้งแต่แรก (แต่ดิฉันก็ไม่ได้อ่านแนวคิดเหล่านี้อย่างจริงจังนะคะ ใครมีคำแนะนำอะไรก็ยินดีค่ะ) แนวคิดสังคมนิยมก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่สามารถพัฒนาสังคมและช่วยเหลือประชาชนได้เช่นกัน เพราะแน่นอนว่ามันพยายามจะสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในสังคมที่ถูกกดขี่และควบคุมด้วยทุน
ฟังดูห่างไกล ลองคิดภาพเราไม่อยากตื่นไปทำงานวันจันทร์สิคะ นั่นแหละค่ะ ความน่ากลัวของทุน
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ พอล เมสัน (Paul Mason) ซึ่งเป็นนักเขียนและนักข่าวด้านการเมืองในอังกฤษ กล่าวว่าคอร์บินและบรรดาเพื่อนของเขานั้นมีลักษณะเหมือนนักสังคมนิยมแบบฉบับในศตวรรษที่ 20 ที่จู่ๆก็มาอยู่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มพอมีทางออกให้แก่แนวคิดของเขาบ้างแล้ว
คำถามคือ ไอ้สังคมนิยมแบบฉบับนี่มันเป็นยังไง น่ากลัวไหม มีประโยชน์จริงหรือเปล่า แล้วมันทำได้จริงแค่ไหนกัน
เอาจริงๆ ผู้เขียนก็อาจตอบคำถามนี้ได้ไม่ดีนัก (อ้าว แล้วยังอยากจะตอบ) แต่ผู้เขียนจะขอเล่าบ่อเกิดพรรคแรงงานซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสังคมนิยมแบบฉบับซึ่งมีที่มาสำคัญอยู่ที่ประเทศอังกฤษนี่เอง เขียนมาแค่นี้ คุณอาจจะรู้สึกว่า โอ้โห ไกลตัวจัง แต่ขอบอกตรงนี้ว่า นักเขียนดังๆ คลาสสิกๆ ที่คุณอาจจะได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัยบ้าง คุณอาจจะเคยซื้องานเขามาอ่านบ้าง หรือแม้แต่เคยดูหนังที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมของเขา มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวคิดสังคมนิยมในยุคเริ่มแรกและเป็นมันสมองให้กับพรรคแรงงานแทบจะทั้งนั้น วันนี้ผู้เขียนจะขอพาไปทำความรู้จักกับบ่อเกิดของพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคมาแรงในอังกฤษในปีนี้ถึงแม้จะแพ้เลือกตั้ง และทำความรู้จักทัศนคติอีกด้านหนึ่งของนักเขียนดังๆ ที่หลายคนอาจจะไม่เคยคิดฝันมาก่อน
สังคมนิยมอาจจะฟังดูห่างไกลจากเรา พรรคแรงงานอาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับเรา แต่อย่าลืมว่า การเกิดขึ้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่มาสำคัญของทุนนิยมและบริโภคนิยม ทำให้เกิดชีวิตการทำงานแบบที่เราๆ ท่านๆ ทำกันอยู่นี่แหละค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปทำงานที่อื่นที่ไม่ใช่บ้าน ทำให้การทำงานแปลกแยกจากเรา (ลองคิดถึงสมัยที่งานของเราคือการเก็บผลไม้ หรือทอผ้าในยุคกลางดูสิคะ เราทำงานที่บ้าน บ้านกับงานไม่แยกกัน แต่ไม่ได้จะบอกว่ายุคกลางดีนะคะ) ทำให้เกิดวันทำงานและวันพักผ่อน ทำให้เรารู้สึกว่างานกดทับเรา ทำให้เราโหยหาชาบู ไก่ทอด เกาะพะงันขณะทำงาน ทำให้เราอิจฉาเพื่อนที่ไปถ่ายรูปสวยๆ ที่ญี่ปุ่นในขณะที่เรานั่งตอบอีเมลลูกค้าตอนสามทุ่มสี่สิบห้า
มันไม่ใช่ว่าเราเป็นคนชั่วด้วยตัวเอง (อย่างเดียว) แต่เป็นเพราะระบบด้วย
คุณอาจจะต้องนึกภาพก่อนว่าสังคมอังกฤษมีการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิแรงงานมานานแล้ว เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษและต้องการแรงงานจำนวนมากมาผลิตสิ่งต่างๆ นั้น คนงานจำนวนมากที่ต้องเดินทางไปทำงานตามโรงงานต่างๆ และได้พักอาศัยในพื้นที่สกปรก ต้องอยู่อาศัยอย่างอดๆ อยากๆ ในมลภาวะนั้นกลายเป็นปัญหาสังคมใหม่ที่อังกฤษเผชิญและตั้งคำถามกับระบบการจัดการดูแลแรงงานมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักเขียนหลายท่านจึงเริ่มเขียนงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม บางส่วนสนับสนุนการเข้าไปพัฒนาจิตใจของชนชั้นแรงงานและเข้าไปบริจาคช่วยเหลือที่สลัม (ซึ่งถูกมองว่าไม่นับถือพระเจ้า มีแนวโน้มจะเป็นขโมยขโจร หยาบกร้าน) โดยเน้นย้ำว่าชนชั้นแรงงานนั้นเป็นคนไม่ดีด้วยตัวเอง และต้องปรับตัวให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ในขณะที่นักเขียนและนักคิดบางกลุ่มมองว่าระบบต่างหากที่มีปัญหา ที่ทำให้คนเหล่านี้มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและทำให้มีค่านิยมที่แตกต่างจากชนชั้นกลาง (ชนชั้นกลางคืออะไร ถ้าเอาความหมายในสมัยนั้นที่ยังพอจะใช้กับสมัยนี้ได้อยู่ คือคนหลักๆ 2 กลุ่ม กลุ่มที่ใช้ความรู้แบบกระแสหลักทำมาหากิน เช่น หมอ ครูบาอาจารย์ กับกลุ่มที่ทำการค้าขายและมีรายได้พอสมควร หรือเป็นนักธุรกิจ) ในขณะเดียวกันชนชั้นแรงงานเริ่มออกเดินขบวนขอให้ชนชั้นแรงงานมีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมๆ กับที่ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ผู้โด่งดังเริ่มเขียน ‘แถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto)’ เมื่อลี้ภัยมายังอังกฤษ
เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 19 ชนชั้นแรงงานชายได้รับสิทธิเลือกตั้งแล้ว (ผู้หญิงทุกชนชั้นได้รับสิทธิเลือกตั้งช่วงต้นศตวรรษที่ 20) ณ ช่วงเวลานั้น เริ่มมีสมาคมสังคมนิยมต่างๆ เกิดขึ้น เพื่อเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยม และมุ่งหมายจะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่กดขี่แทบทุกชนชั้น อย่างไรก็ตาม สมาคมเหล่านี้อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น ‘สหพันธ์ประชาธิปไตยเพื่อสังคม (Social Democratic Federation)’ นั้น เมื่อ เฮนรี ไฮนด์แมน (Henry Hyndman) เป็นประธาน ได้ทำให้สมาพันธ์สนับสนุนจักรวรรดินิยม ชาตินิยม และต่อต้านชาวยิว ในขณะที่ ‘สันนิบาตสังคมนิยม (Socialist League)’ สนับสนุนความร่วมมือกับนานาชาติ ส่วน ‘สมาคมเฟเบียน (Fabian Society)’ สนับสนุนการพัฒนาสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่เน้นการเดินขบวนทางการเมือง
สมาคมเฟเบียนนี่เองที่เป็นมันสมองของ ‘คณะกรรมการผู้แทนแรงงาน (Labour Representation Committee)’ ซึ่งกลายเป็นพรรคแรงงานปัจจุบัน
อ้าว แล้วยุคต้นกำเนิดพรรคแรงงานนี่เกี่ยวกับนักเขียนดังๆ คนไหนบ้างล่ะคะ เริ่มที่ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) ที่ทุกคนรู้จักในฐานะนักเขียนเกย์ชื่อดังผู้เขียน The Picture of Dorian Gray และมีวาทะคมคายจนเป็นที่มาของคำคมสารพัด แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าไวลด์สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมด้วย บทความชื่อดังของไวลด์ที่ว่าด้วยสังคมนิยมคือ The Soul of Man under Socialism โดยไวลด์เน้นย้ำว่าแนวคิดสังคมนิยมจะนำไปสู่ ‘ความเป็นปัจเจก (Individual)’ เพราะแนวคิดสังคมนิยมจะทำให้คนไม่แปลกแยกกับงาน ทำให้เราไม่ถูกงานกดทับ และในที่สุดจะทำให้มนุษย์ได้พัฒนาความคิดจิตใจและเติบโตเหมือนต้นไม้
นักคิดที่มีแนวคิดคล้ายกันกับไวลด์คือวิลเลียม มอร์ริส (William Morris) เจ้าของผลงานแฟนตาซีหลายชิ้นที่เป็นแรงบันดาลใจให้เจ อาร์ อาร์ โทลคีน (J.R.R. Tolkein) ผู้เขียนลอร์ดออฟเดอะริง มอร์ริสไม่ได้เป็นเพียงนักเขียน แต่เป็นช่างศิลป์ที่ให้ความสำคัญกับวิจิตรศิลป์และเป็นสมาชิกของสันนิบาตสังคมนิยม มอร์ริสกล่าวว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตเป็นจำนวนมากๆ เพื่อขายในห้างสรรพสินค้าในสมัยนั้น (และอาจจะยังเป็นอยู่ในสมัยนี้) หน้าตาเหมือนกันไปหมด ลดทอนตัวตนของเรา ดังนั้นการได้ผลิตข้าวของต่างๆ ใช้เองจะทำให้ของใช้ผูกพันกับตัวเรา ไม่ใช่สินค้าที่ยึดโยงอยู่ราคาหรือเงินตรา และทำให้ของใช้ของเราเป็นเอกลักษณ์ ได้สอดแทรกลวดลายหรือลักษณะที่เราชอบลงไปบนชิ้นงาน (ลองหาชื่อเขากับคำว่า art ดู จะเห็นงานศิลป์สวยๆ เยอะมากเลยค่ะ) เขาได้เขียนนวนิยายยูโทเปียแนวสังคมนิยมชื่อ News from Nowhere ไว้ด้วย ส่วนอีกคนคือ เอช จี เวลส์ (H.G. Wells) ผู้เป็นที่รู้จักกันในฐานะต้นตำรับนวนิยายวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ (เขาเขียนเรื่อง War of the Worlds ที่เป็นที่มาของหนังชื่อเดียวกัน ที่พี่ Tom Cruise เล่นน่ะค่ะ) เขาเป็นสมาชิกสมาคมเฟเบียนและเขียนถึงสังคมอุดมคติที่ปกครองด้วยรัฐบาลกลางในรูปแบบสังคมนิยมเช่นกันในงานเขียนเชิงสารคดีชื่อ A Modern Utopia
ตอนนี้หลายๆ คนคงได้เห็นอีกด้านหนึ่งของนักเขียนคนดังอย่างน้อยสามคนที่หลายๆคนน่าจะรู้จักแล้ว
แต่งานเขียนอีกชิ้นที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงมากๆ แต่หลายคนไม่ทราบว่าผู้เขียนเกี่ยวข้องกับพรรคแรงงานและแนวคิดสังคมนิยมด้วยคือ บุษบาริมทาง หรือ My Fair Lady อันโด่งดัง หลายๆ คนชื่นชอบภาพยนตร์เรื่องนี้เพราะนักแสดงนำดาวค้างฟ้าอย่าง ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) หรือบางคนอาจจะรู้จักโครงเรื่องแบบเดียวกับบุษบาริมทางจากงานแปลและแปลงจากบุษบาริมทางอย่างมาดามยี่หุบ แต่อาจจะมีคนรู้เป็นเพียงบางคนว่าผู้เขียนงานต้นฉบับนั้นเป็นสมาชิกของสมาคมเฟเบียนซึ่งเป็นมันสมองของพรรคแรงงานด้วย
My Fair Lady และ มาดามยี่หุบ ซึ่งมีโครงเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนสาวบ้านนอก สำเนียงไม่มาตรฐานมาเป็นคุณหญิงคุณนายสำเนียงมาตรฐาน พูดจาไพเราะ ความแตกต่างอาจจะอยู่ตรงที่ เอไลซา ใน My Fair Lady นั้นถูกฝึกโดยนักภาษาศาสตร์ให้พูดได้ดีขึ้น และสุดท้ายได้แต่งงานกับเขา ส่วนมาดามยี่หุบถูกฝึกโดยทูตที่ต้องการภรรยาตามตำแหน่งทูตและได้แต่งงานกัน ทั้งสองเรื่องมีที่มาจากบทละครชื่อพิกเมเลียน (Pygmalion) ของจอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) ที่เขียนขึ้นในค.ศ.1914 เอาจริงๆ บทละครเรื่องพิกเมเลียนก็ดัดแปลงมาจากตำนานกรีกโรมันเรื่องพระราชาชื่อพิกเมเลียนด้วยเช่นกัน พระราชาชื่อพิกเมเลียนเป็นช่างศิลป์ที่ไม่รักหญิงใดเลย แต่แล้วก็ตกหลุมรักรูปปั้นที่ตัวเองสร้างขึ้น จนต้องขอร้องให้เทพีวีนัสดลบันดาลให้เขาสมความปรารถนา เทพีวีนัสจึงมาประทานชีวิตให้กับรูปปั้นนั้น และให้นามหญิงคนนั้นว่ากาลาเทอา (Galatea)
บทละครเรื่องพิกเมเลียนของชอว์นั้นไม่ได้มีตัวละครชื่อพิกเมเลียนเลย แต่เล่าเรื่องของเอไลซา ดูลิทเทิล (Eliza Doolittle) สาวขายดอกไม้สำเนียง ‘คอคนีย์ (Cockney)’ ที่เดินทางจากต่างจังหวัดมาขายดอกไม้ในลอนดอน และได้พบเจอกับนักภาษาศาสตร์อย่างศาสตราจารย์เฮนรี ฮิกกินส์ (Professor Henry Higgins) และนายพลพิคเคอริง (Colonel Pickering) ผู้สนใจด้านภาษาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท้าพนันกันว่าจะสามารถทำให้เอไลซาพูดสำเนียงมาตรฐานและเรียนรู้จริตกิริยามารยาทจนกลายเป็นคุณหญิงคุณนายขึ้นมาให้ได้ ส่วนเอไลซาก็ยินดีเพราะเธออยากเป็นลูกจ้างร้านดอกไม้ แต่ที่ร้านไม่รับเพราะไม่พูดสำเนียงมาตรฐาน ในขณะเดียวกันพ่อของเอไลซาก็ไปเรียกร้องจะเอาเงินจากฮิกกินส์เมื่อรู้ว่าฮิกกินส์เอาตัวลูกสาวไป จนฮิกกินส์ต้องยอมให้เงิน เอไลซาได้เดินทางไปพบมิสซิสฮิกกินส์ แม่ของศาสตราจารย์ฮิกกินส์ และแขกของเธอ นั่นคือครอบครัวเอนสฟอร์ด-ฮิลล์ (Eynsford-Hill) ซึ่งเป็นผู้ดีตกอับ ถึงแม้ว่าเอไลซาจะทำสำเนียงได้เหมือนผู้ดีในลอนดอน แต่เธอกลับใช้คำศัพท์ที่ไม่เหมาะสมและพูดเรื่องที่ไม่ควรพูด (ความป่วยไข้ ความตาย) อย่างไรเสีย เฟรดดี ลูกชายคนเล็กของบ้านเอนสฟอร์ด-ฮิลล์กลับหลงรักเธอ
ส่วนมิสซิสฮิกกินส์กลับไม่เห็นด้วยกับการทดลองของลูกชายและเพื่อน เพราะเธอเห็นว่าทั้งสองมองเอไลซาไม่ต่างจากสัตว์ทดลอง
เมื่อถึงงานเลี้ยงใหญ่ที่พิคเคอริงจะเอาเอไลซาไปเปิดตัวในฐานะลูกบุญธรรม เอไลซาตบตาหลอกทุกคนในงานได้ แต่ฮิกกินส์กลับเบื่อหน่ายและไม่เห็นคุณค่าในความพยายามของเธอ จนเธอหนีออกจากบ้านฮิกกินส์และตัดสินใจแต่งงานกับเฟรดดี ฮิกกินส์พยายามตามตัวเธอจนมาถึงบ้านแม่ตัวเอง ฮิกกินส์กลับเจอกับพ่อของเอไลซา และความจริงก็เปิดเผยว่า ด้วยความที่ฮิกกินส์รำคาญพ่อของเอไลซาที่มาตามตื๊อเรื่องลูก ฮิกกินส์เลยแอบเขียนจดหมายถึงเศรษฐีอเมริกันคนหนึ่ง หลอกว่าพ่อของเอไลซาเป็นนักเทศน์เรื่องศีลธรรมมือหนึ่ง เศรษฐีอเมริกันคนนั้นจึงอยากให้เงินสนับสนุน ทำให้พ่อของเอไลซาร่ำรวยขึ้น แต่ต้องยึดถือคติศีลธรรมแบบชนชั้นกลางวิกตอเรียน (ต้องแต่งงาน ห้ามดื่มเหล้าเมายา และอื่นๆ) พ่อของเอไลซาเดินทางมาด่าทอฮิกกินส์ที่ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยน แต่ก็จำใจรับเพราะทำให้ฐานะทางการเงินดีขึ้น ส่วนเอไลซาก็ปรากฏตัวขึ้น โจมตีฮิกกินส์ที่ไม่เห็นคุณค่าของเธอ และเล่นล้อกับภาษาที่เธอสอนเขา ในขณะที่เขาเริ่มเป็นบ้าและทำตัวป่าเถื่อนเสียเอง
บทละครจบลงที่ฮิกกินส์พยายามขอร้องให้เอไลซากลับมาอยู่ที่บ้าน เพราะฮิกกินส์ใช้งานเอไลซาไม่ต่างจากคนใช้ เอไลซาไม่ได้สนใจอะไร บอกฮิกกินส์ด้วยซ้ำว่าจะเก็บเงินสอนสำเนียงคนเพื่อเลื่อนชั้นฐานะแบบที่ฮิกกินส์สอน และรู้ดีว่าฮิกกินส์ไม่มีทางจะอยู่ได้ถ้าเธอไม่อยู่ช่วยเหลือ ส่วนฮิกกินส์ก็หัวเราะเยาะเธอ เพราะไม่คิดว่าเธอจะทำได้ และการแต่งงานกับเฟรดดีจะทำให้ชีวิตของเธอล้มเหลว
ค่ะ เรื่องจบแค่นี้จริงๆ ไม่ได้มีการแต่งงาน ถึงเอไลซาจะแต่งกับเฟรดดี ไม่เหมือน My Fair Lady หรือมาดามยี่หุบ (หลังงานเลี้ยงเลิก เอไลซาโมโหที่ฮิกกินส์ไม่สนใจจนปารองเท้าใส่ด้วยซ้ำ) แต่ฉากจบก็ไม่ใช่ฉากแต่งงาน อันที่จริงชอว์ได้เขียนตอนจบอธิบายเพิ่มเติมว่า ชีวิตแต่งงานของเอไลซากับเฟรดดีก็ไม่ได้ราบรื่นอะไรเพราะค้าขายไม่ค่อยเป็น พิคเคอริงก็สนับสนุนให้ทั้งสองคนไปเรียนที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics หรือ LSE อันโด่งดัง ก่อตั้งมาจากเงินของคนในสมาคมเฟเบียนด้วย) แต่วิทยาลัยก็ไม่ได้ช่วยอะไรทั้งคู่มาก จนต้องล้มลุกคุกคลานและกลายเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายผักสดที่เริ่มมีฐานะดีขึ้น แต่ก็จบแค่นั้น ไม่ได้มีความรักหรือโรมานซ์อะไรมากมาย ต่างจากฉบับดัดแปลงและต้นฉบับมาก ฮิกกินส์ไม่ได้รักกับเอไลซา ไม่ได้ตามไปง้อกัน แต่ฮิกกินส์กับเอไลซาในต้นฉบับก็ไม่ได้เกลียดกัน แต่ก็ไม่ได้รักกันอยู่ดี ฮิกกินส์ไม่ได้อ่อนข้ออะไรด้วยซ้ำ
ชอว์อธิบายว่าคนอย่างฮิกกินส์มีแม่ที่เพียบพร้อม เลยรักได้แค่วิชาความรู้ รักคนอื่นไม่เป็น
ถ้าอ่านเรื่องย่อแล้ว หลายๆ คนคงจะเห็นว่าตัวเรื่องไม่ได้เน้นโรมานซ์ แต่เน้นการกดขี่ผู้หญิงและชนชั้นแรงงานและตั้งคำถามกับค่านิยมชนชั้นกลางโดยเฉพาะเรื่องการใช้ภาษามาตรฐานเพื่อเข้าสังคม ในขณะที่ตัวเรื่องชี้ให้เห็นว่าความสง่างามของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงนั้นไม่ได้เป็นสิ่งติดตัวมาแต่กำเนิด และการเลื่อนชนชั้นนั้นเกิดขึ้นได้ แต่วรรณกรรมเรื่องนี้ก็ชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องจริงที่จะปฏิเสธไม่ได้ การเลื่อนชนชั้นฐานะทางเศรษฐกิจจึงเป็นทางเลือกเดียวที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการฝืนดัดร่างกายให้อยู่ใต้อาณัติของค่านิยมของชนชั้นอื่น ลองคิดถึงเรื่องการดัดสำเนียงก่อนก็ได้ เราจะเห็นว่าเอไลซาตั้งแต่ต้นเรื่องนั้นลำบากลำบนมากที่จะต้องฝึกออกเสียงให้เป็นผู้ดีตามแบบที่ฮิกกินส์สอน และจะเห็นการร้องคร่ำครวญไม่เป็นภาษามนุษย์ของเธอ ซึ่งผู้เขียนไม่ได้บอกว่านั่นคือเสียงร้องไห้หรือเสียงอุทานแต่อย่างใด แต่นั่นคือการแสดงให้เห็นว่าร่างกายของเราออกเสียงได้มากกว่าสำเนียงมาตรฐานและทำได้มากกว่าภาษากำหนด ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจกลับเป็นสาเหตุให้เกิดการฝืนใจและกดทับตัวตนเดิมของเธอ ทำให้เอไลซาบ่นในตอนท้ายว่าเธออยากกลับไปเป็นสาวขายดอกไม้เหมือนเดิมที่มีอิสระเสรีมากกว่า แต่ถามว่าเอไลซาฝืนเหรอ หรือถูกบังคับใจเหรอ เปล่าเลย มันเป็นการเล่นเกมที่สังคมทุนนิยมเชื้อเชิญเธอแลกกับรางวัล (นั่นคือการได้เป็นพนักงานร้านดอกไม้) เอไลซาเข้ามาเล่นเกมตามสังคมทุนนิยมเพื่อเลื่อนชนชั้นฐานะ แต่การเลื่อนชนชั้นท้ายที่สุดก็ทำให้เธอพบเจอกับความน่าเหนื่อยหน่ายและกลวงเปล่าของชนชั้นสูง ในงานเลี้ยง เมื่องานเลิก เธอกลับเหนื่อยหน่ายและขอให้พิคเคอริงพาเธอกลับบ้านเพราะเธอรู้สึกว่ามีแต่คนงี่เง่า การบ่นในองก์สุดท้ายว่าอยากกลับไปเป็นสาวขายดอกไม้อย่างเดิมนั้นตามด้วยการบอกว่าเธอกลับไปเป็นอย่างเดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ค่านิยมของชนชั้นกลางกลายเป็นทั้งอาวุธและเครื่องทรมานเธอไปพร้อมๆ กัน และเธอจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และคัดง้างกับมันไป กรณีนี้เกิดขึ้นกับพ่อของเอไลซาด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ตัวละครชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางระดับสูงก็ไม่ได้ออกเสียงชัดหรือยึดถือตามค่านิยมมาตรฐานทุกคนแต่อาศัยฐานะทางบ้านเป็นใบเบิกทางให้ทำอะไรก็ได้ ตัวละครเฟรดดีนั้น ถึงแม้จะเป็นลูกผู้ดีเก่า สำเนียงของเขาก็ไม่ใช่สำเนียงมาตรฐาน บทละครเรื่องนี้เวลาตัวละครมีสำเนียงมาตรฐานจะสะกดคำปกติ แต่ถ้าสำเนียงผิดจากมาตรฐานจะสะกดตามที่ออกเสียงทันที เฟรดดีนั้นเมื่อมาถึงบ้านมิสซิสฮิกกินส์ก็ทักแขกทุกคนว่า Ahdedo? ซึ่งคือการออกเสียงคำว่า How do you do? นั่นเอง
ส่วนฮิกกินส์นั้นเป็นคนไม่มีมารยาทอยู่แล้ว ถ้าวันไหนที่มิสซิสฮิกกินส์มีแขกมาที่บ้าน มิสซิสฮิกกินส์จะไม่อยากให้ลูกชายมาบ้านเลย เพราะเป็นคนไม่มีมารยาทและชอบพูดจาตามใจตัวเองจนไล่แขกของแม่ แถมยังไม่รู้วิธีปฏิบัติตัวดีๆ ต่อคนอื่น ฮิกกินส์หลงไปว่าถ้าตัวเองมีบุญคุณกับเอไลซาแล้วจะทำตัวอย่างไรกับเธอก็ได้ (ฮิกกินส์เคยบอกว่า ถ้าฉันไม่สอนสำเนียงให้เธอ เธอก็จมอยู่กับกองผักในตลาดนั่นแหละ) เมื่อถึงองก์ห้าฮิกกินส์กลับโดนเอไลซาย้อนเกมถามว่า “How do you do, Professor Higgins? Are you quite well?” (สวัสดีค่ะ ศาสตราจารย์ฮิกกินส์ สบายดีไหมคะ) และเมื่อฮิกกินส์พูดไม่ออก เธอจึงพูดต่อว่า “But of course you are: you are never ill. So glad to see you again, Colonel Pickering.” (แต่แน่ล่ะ คุณต้องสบายดีอยู่แล้ว คุณไม่เคยป่วยเลย ดีใจที่ได้พบกันอีกครั้งนะคะ) เมื่อเธอหันไปคุยกับพิคเคอริงนั้น เธอบอกว่า “Quite chilly this morning, isn’t it?” (เช้านี้อากาศออกจะเย็นๆ ว่าไหมคะ) ประโยคทั้งหมดทำให้ฮิกกินส์โกรธมาก จนบอกว่า “Dont you dare try this game on me.” (เธออย่ามาเล่นเกมนี้กับฉันนะ) ทำไมถึงเป็นเกมล่ะ ก็เพราะประโยคที่เอไลซาพูดทั้งหมดเป็นคำพูดแบบฉบับเวลาทักทายแบบชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงทักทายกัน ไม่ได้มีความหมายแบบนั้นจริงๆ ทักเป็นมารยาทเฉยๆ
การทักทายของเอไลซาในแง่หนึ่งจึงเหมือนจะเปิดโปงความไม่จริงใจที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของมารยาทแบบชนชั้นกลาง และสะท้อนกลับไปยังผู้สอนอย่างฮิกกินส์ ทำให้ฮิกกินส์โกรธมาก
ถึงแม้พิกเมเลียนจะไม่ใช่บทละครที่พูดถึงแนวคิดสังคมนิยมโดยตรง แต่พิกเมเลียนกลับชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม จริงๆ บทละครเรื่องนี้ยังมีเรื่องผู้หญิงหรือชนชั้นให้พูดถึงอีกมาก แต่ขอชี้ให้เห็นเพียงว่า พิกเมเลียน ซึ่งกลายเป็นบุษบาริมทางและมาดามยี่หุบนั้น มาจากปลายปากกาของนักเขียนที่ไม่ได้ต้องการจะเน้นเรื่องโรมานซ์ หรือรักๆ ใคร่ๆ แต่เขาต้องการชี้ให้เห็นความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ถึงแม้ชอว์จะไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคแรงงานนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งพิกเมเลียน วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอน และพรรคแรงงานเป็นผลงานของสมาคมเฟเบียน ซึ่งชอว์เป็นสมาชิกอยู่
พรรคแรงงานของอังกฤษปีนี้มีคำขวัญประจำการหาเสียงว่า For the many, not the few ซึ่งอาจตีความได้หลายทาง ทางหนึ่งก็อาจมองได้ว่าแรงงานของอังกฤษนั้นมีจำนวนมากกว่าเศรษฐีหรือผู้ดีซึ่งมีเพียงหยิบมือ พรรคก็ต้องการสนับสนุนคนหมู่มาก ไม่ใช่คนกลุ่มเล็กๆ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจแปลได้ว่า พรรคแรงงานไม่ได้เป็นพรรคเฉพาะทางที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนชนชั้นแรงงานกลุ่มเดียว แต่สนับสนุนคนจำนวนมากกว่านั้น
แนวคิดสังคมนิยมที่พรรคแรงงานสนับสนุนก็ไม่ได้ห่างไกลจากเราผู้ทำงานสนองระบบทุน ชีวิตลำบากลำบนของเอไลซาก็ไม่ต่างจากเราเวลาต้องประพฤติปฏิบัติอะไรขัดใจตัวเองเพื่อได้เลื่อนฐานะแม้ต้องขาดอิสรภาพบางด้าน ความเท่าเทียมในสังคมอาจเป็นเรื่องสูงส่งและยากจะเป็นไปได้สำหรับหลายๆ คน
แต่เราก็อาจพอตั้งคำถามและลดทอนความไม่เท่าเทียมและความแปลกแยกกับงานและสินค้าที่เราใช้ได้มิใช่หรือ ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจก็ไม่ใช่อะไรห่างไกลตัวมิใช่หรือ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Ledger, Sally, ed. The Fin De Siècle: A Reader in Cultural History, C. 1880-1900. First Edition edition. Oxford England ; New York: Oxford University Press, U.S.A., 2000. Print.
Shaw, George Bernard, and Nicholas Grene. Pygmalion. Rev Ed edition. London: Penguin Classics, 2003. Print.
The Guardian. The Corbyn Factor: On the Campaign Trail with Labour’s Leader | General Election 2017. N.p. Film.