เคยโกรธจนอยากทำลายข้าวของไหม การระบายความโกรธด้วยการเอาไปลงกับสิ่งอื่นเพื่อลบล้างความโกรธ เราเรียกว่า Catharsis
ในปี 2017 รัฐสภาแห่งรัฐ Ottawa ของแคนาดา ได้สร้างห้องลับ Rage Room ราคา 2.4 ล้านดอลลาร์สำหรับสมาชิกรัฐสภา โดยโฆษกยืนยันว่า ในวันที่เครียดสมาชิกรัฐสภาควรจะมีพื้นที่ได้ปลดปล่อย ระบาย ปาข้าวของเพื่อบำบัด คนแซวว่าหรือนี่คือความลับที่ทำให้ประเทศนี้มีแต่คนไนซ์ๆ นิสัยดี หรือประเทศเราควรมีพื้นที่สำหรับชาวบ้านที่โกรธแค้นรัฐบาล
‘ความโกรธ’ คืออารมณ์ที่มีพลังอันรุนแรง เป็นอารมณ์ที่ชัดเจนมาก มีหลายคำไว้เรียกจำแนกความโกรธแบบต่างๆ ในแต่ละบริบท ในสถานการณ์ต่างๆ เคยพูดถึงอารมณ์โกรธไปก่อนในบทความเรื่องความสำคัญของความรู้สึก ในประวัติศาสตร์แต่ละวัฒนธรรมรับรู้ถึงอารมณ์โกรธว่าเป็นอารมณ์ที่ชัดเจน มีพลังรุนแรง มีอิทธิพลต่อชีวิต Seneca นักปราชญ์โรมันกับแนวคิด Stoicism มองว่า ‘ความโกรธคือความวิกลจริตชั่วครู่ คืออารมณ์ที่อัปลักษณ์และบ้าคลั่งที่สุดในทุกอารมณ์’ รวมถึง Icn Butlan นักปราชญ์อิสลามในศตวรรษที่ 11 เชื่อว่า ‘ความโกรธกำกับร่างกายให้ร้อนผ่าวดั่งไฟ แถมเชื่อไปว่าไอร้อนของความโกรธนี้สามารถชุบชีวิตคนที่นอนอ่อนปวกเปียก ป่วยด้วยโรคจนลุกจากเตียงไม่ได้ พลังความโกรธจะรักษาอัมพาตได้’
Japan Times พบว่าคนญี่ปุ่น 27% ยอมรับว่าเคยคิดอยากฆ่าเจ้านายตัวเอง แถมในช่องความเห็นยังมีคนช่วยเสริมว่า เขาไม่อยากฆ่าเจ้านาย อาจจะแค่อยากชกหน้า (รวมถึงลูกค้าด้วย) หรืออาจจะระเบิดออฟฟิศทิ้งซะ แบบไม่มีคนอยู่นะ ไม่ได้อยากเป็นฆาตกร ความคิดแง่ลบนั้นเกิดขึ้นได้ อาจะเพราะพูดแบบสนุกปากในออนไลน์แบบนิรนาม เป็นดาร์กแฟนตาซีที่ไม่ได้ลงมือทำจริง
Catharsis แนวคิดบำบัดความโกรธด้วยการระบายก่อนระเบิด
Catharsis คือการ การระบายเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกอันรุนแรงออกมา มาจากคำในภาษากรีก Katharsis ที่แปลว่าทำความสะอาด มีความเชื่อว่าการระบายความรู้สึกรุนแรงออกไปจะช่วยชำระล้างจิตใจให้สะอาดหมดจด
อริสโตเติ้ลได้พูดถึง catharsis ใน The Poetics เพื่ออธิบายถึงอารมณ์เศร้าโศกหรือสงสารขั้นสุดที่พาให้เกิดการชำระจิตใจบางอย่าง ในเทพนิยายกรีก เหล่าฮีโร่จึงมักไม่แก่ลงหรือเกษียณไป พวกเขามักตายอย่างรุนแรงและทรมาน คำนี้จึงกลายเป็นศัพท์ในการแสดงละครคือความปีติจากการได้ดูละครโศกนาฏกรรม แนวคิดของ catharsis คือ คนเราควรปลดปล่อยหรือระบายเพื่อทำความสะอาดจิตใจ ซึ่งแนวคิดนี้ถูกสนับสนุนจากนักจิตวิทยาคลาสสิกอย่างซิกมันด์ ฟรอยด์
ฟรอยด์เสนอว่า “คนเราเก็บความรู้สึกลบเอาไว้ภายในที่ทำให้เกิดอาการทางจิต หากเก็บไว้ก็เหมือนการสุมไฟจนระเบิด” ดังนั้นการบำบัดผู้ป่วยทางจิตในยุคของฟรอยด์ จึงมีเทคนิคให้ผู้ป่วยช่วยกันพูดจากระตุ้นให้ผู้ป่วยแสดงความโกรธออกมาเพื่อปลดปล่อยความคืบหน้าของการรักษา การระเบิดความโกรธออกมาแสดงถึงความจริงแท้ภายในของคนๆ นั้น ซึ่งนั้นก็เวิร์กสำหรับบางคน
เขาเสนอว่าเสนอ Hydraulic Model คือความโกรธที่เริ่มจากความไม่พอใจผิดหวัง (Frustration) เก็บไว้ภายในเหมือนหม้อความดัน สะสม anger เอาไว้ จนกว่ามันจะถูกปลดปล่อยออกมา หากไม่ได้ระบายออก ความโมโหจะระเบิดออกมากลายเป็นความโกรธที่กระทำการรุนแรง (Aggressive Rage)
Anne: ฉันหวังว่าคุณจะโกรธ จะได้ระบายออกมาบ้าง
Isaac: ผมโกรธไม่เป็น ผมมักเก็บมันไว้ข้างใน ผมไม่สามารถแสดงความโกรธได้ มันเป็นปัญหาของผม ผมเลยสร้างเนื้องอกแทน
บทสนทนาจากหนังเรื่อง Manhattan (1979)
ถัดจากอริสโตเติ้ลและฟรอยด์ หนังสือฮาวทูแนวจิตวิทยาฮิตๆ มากมาย และภาพยนตร์ต่างๆ ใน Popular Culture จึงมักนำเสนอให้เราระบายความโกรธด้วยวิธีต่างๆ เช่น ชกหมอน ชกกำแพง ฉีกหนังสือ ขว้างปาจานราคาถูก ปามือถือ ชกกระสอบทราย กรี๊ดอัดหมอน หรือทำลายปรินเตอร์ที่กระดาษปรินต์ไม่ออกอยู่ได้ รำคาญ !
หนัง Office Spaces (1999) มีซีนทุบทำลายปรินเตอร์โดยพนักงานออฟฟิศที่เก็บกดจนระเบิดออกมา ลงกับเครื่องใช้ไฟฟ้า
การทำลายเพื่อบำบัดมีชื่อเรียกว่า Destrotherapy สื่อมักแสดงและนำเสนอการระบายความแค้นเพื่อความสะใจนั้นช่วยได้ จนเกิดบริการ ห้องแห่งความโกรธ หรือ Rage Room ใช้สำหรับระบายอารมณ์ ที่เมือง Toronto แคนาดา คนยอมจ่ายเงินเพื่อทำลายข้าวของ ระบายความโกรธ และเพื่อความความสนุกสนาน เมนูข้าวของที่ทำลายได้ในห้องนี้ เริ่มต้นที่ชิ้นละ 2$ เก้าอี้ราคา 20$ เครื่องปรินเตอร์ที่พังแล้วราคา 25$ เป็นคอนเซ็ปต์ที่ฟังดูบ้าและสนุกดี คนที่เคยโมโหจนอยากทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าคงเข้าใจความปรารถนานี้
ใครอยากลองในประเทศใกล้ๆเราก็มี ที่สิงคโปร์ก็มีบริการนี้อยู่เหมือนกัน ชื่อว่า “ห้องแห่งซากเศษ” The Fragment Room เหมาะกับวันแย่ๆ ยิ่งนัก
ห้องแห่งซากเศษ บริการห้องเพื่อให้เราทำลายข้างของเพื่อปลดปล่อย ณ สิงคโปร์ www.thefragmentroom.com
เล่ามาถึงตรงนี้ความโกรธแค้นก็ดูสนุกและสร้างความสุขได้ เมื่อคนเราได้ระบายความโกรธ เรามักคิดว่าการปล่อยออกไปทำให้เราหายโกรธ แต่งานวิจัยจิตวิทยาหลายชิ้นกลับให้ผลตรงกันว่าไม่จริง การระบายความโกรธออกไปอาจทำให้รู้สึกดีแค่ชั่วคราวเท่านั้น แถมยังทำให้ความโกรธนั้นอยู่นานกว่า
เมื่อการระบายไม่ได้บรรเทาความโกรธแต่ทำให้โกรธนานขึ้นไปอีก
ในยุค 90s หนังสือนั้นเต็มไปด้วยการจัดการความโกรธด้วยตัวเอง ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเครียดและความโกรธ มีคำแนะนำยอดฮิตจากกูรูให้กรีดร้องใส่หมอน และชกวัตถุไม่มีชีวิตเพื่อปลดปล่อย ดีกว่าไปทำร้ายใคร
งานวิจัยจากปี 1999 โดย Brad Bushman จาก Ohio State University พบว่าการระบายความรุนแรงนั้นเพิ่มโอกาสของโรคหัวใจ และเพิ่มโอกาสที่เราจะรุนแรงกับคนรอบตัว (โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ๆ ทั้งที่เขาไม่ได้ผิดอะไรเลย)
ในการทดลอง แบ่งนักเรียน 180 คนออกเป็น 3 กลุ่ม อ่านบทความเฟก 3 โทน คือ 1. ระบายความโกรธนั้นมีประโยชน์ 2. การระบายความโกรธไม่มีประโยชน์ 3. การระบายความโกรธไม่ดีและไม่แย่ จากนั้นให้นักเรียนทั้งหมดเขียนเรียงความต่อต้านหรือเห็นด้วยกับการกระทำนั้น ซึ่งนักเรียนย่อมมีความรู้สึกบรรจุอยู่ จากนั้นก็ให้นักเรียนคนอื่นให้เกรด
เมื่อได้งานเขียนคืนจากการตรวจ กลุ่มตัวอย่างครึ่งหนึ่งได้รับคำชมว่าเรียงความนี้ยอดเยี่ยมมาก อีกครึ่งหนึ่งได้รับคอมเมนต์ว่า “นี่เป็นเรียงความที่แย่ที่สุดที่ฉันเคยได้อ่าน” … เจอแบบนี้ ย่อมโมโหหัวร้อนใช่ไหม
จากนั้นให้พวกเขาเลือกกิจกรรมต่อว่าจะเล่นเกม ดูหนังตลก อ่านข้อความ 1 เรื่อง หรือชกกระสอบทราย กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับคำชมมีแนวโน้มจะเลือกกิจกรรมอื่นที่รุนแรงน้อยอย่างเห็นได้ชัด ก็พวกเขาไม่จำเป็นต้องระบายความโกรธเคือง ส่วนคนอ่านบทความที่บอกว่า Catharsis ได้ผลมีแนวโน้มจะเลือกกิจกรรมการชกกระสอบ เมื่อได้รับข้อมูลว่าการระบายมันได้ผลทำให้พวกเขาเลือกทำมากกว่า
เมื่อติดตามผลต่อว่าการระบายนั้นส่งผลอย่างไร พวกเขาได้รับคำสั่งต่อไปว่า พวกเขาจะได้เล่นเกมแข่งขันกับคนที่ให้เกรดพวกเขา โดยกลุ่มหนึ่งต้องชกถุงกระสอบก่อน อีกกลุ่มนั่งรอเฉยๆ โดยเกมที่เล่นไม่ยากมาก แข่งกันกดปุ่มให้ไวที่สุด ถ้าแพ้จะมีเสียงดัง โดยผู้เล่นเลือกระดับเสียงได้ กลุ่มที่เลือกชกถุงกระสอบเลือกเสียงดังสุดที่ระดับ 8.5/10 และเมื่อทดสอบให้เล่นเกมปริศนาทายคำ พวกเขามักเลือกคำที่รุนแรงกว่า
ผลที่ได้คือ คนที่โกรธไม่ได้พาความโกรธให้สลายหายไปกับกระสอบทรายเลย แม้พวกเขาจะเชื่อเช่นนั้น แต่ตัวเลขของเขาแสดงให้เห็นว่ายังโกรธอยู่ ไม่ได้ลดลงตามทฤษฎี Catharsis จากฟรอยด์และอริสโตเติ้ล ส่วนคนที่ไม่ได้ระบายลงกับกระสอบทราย พวกเขามีแนวโน้มจะไม่โกรธเคืองแล้ว ใจเย็นลงและไม่ได้ปรารถนาอยากแก้แค้นเอาคืนแล้ว
เมื่อคุณระบายออกไป จริงๆ แล้วคุณก็ยังโกรธอยู่ และรู้สึกรุนแรงต่อไป การชกกระสอบทรายทำให้รู้สึกดีขึ้นขณะที่กำลังชก แต่พวกเขาไม่ได้รุนแรงผ่อนลงหลังจากกิจกรรม การระบายทำให้แรงกระตุ้นมีพลังงานระดับสูงต่อไป ทำให้ความโกรธยังมีชีวิตอยู่
Bushman ยกตัวอย่าง คดีสะเทือนขวัญในปี 1998 Kip Kinkel วัยรุ่นชายผิวขาวเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ เขาเป็นเด็กหนุ่มเกรี้ยวกราดผู้คิดเรื่องความรุนแรงทุกวัน และอยากจะระเบิดโรงเรียนทิ้ง หากวันไหนอารมณ์ไม่ดี เขาขี่จักรยาน วิ่ง และฉีกหนังสือเก่าเพื่อระบาย แต่วันหนึ่ง เขาฆ่าพ่อแม่ จากนั้นไปโรงเรียนและยิงไรเฟิลไป 50 นัด ฆ่านักเรียน 2 คน บาดเจ็บ 25 คน แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่โมโหร้าย โกรธโลก จะกลายเป็นฆาตกรยิงกราดในโรงเรียนไปเสียหมด (และวีดีโอเกมก็ไม่ใช่สาเหตุด้วย) แต่การพยายามลดความโกรธด้วยการทำลายล้างอาจไม่ช่วยมากนัก
หลายครั้งที่โมโหอะไรมา แล้วชอบพูดหรือตั้งสเตตัสแรงๆ ให้สะใจ ซึ่งคนที่สะดุ้งสะเทือนอาจไม่ใช่คนที่เราโกรธเลย แต่คือชาวบ้านและเพื่อนที่ผ่านไปผ่านมาเป็นห่วง แอบสงสัยว่าเราด่าเขาหรือเปล่า พาลให้เขาโกรธและไม่ชอบหน้าเราอีกเป็นวงจรของความโกรธและพลังงานลบไม่รู้จบ พื้นที่เสรีกลายเป็นหลุมบ่อของอารมณ์ลบที่เราปาใส่กันโดยไม่ตั้งใจ
โกรธแล้วไม่ระบายออกไปจะให้ทำไงล่ะ?
สิ่งที่ควรทำตอนที่โกรธคือ ‘อย่าเพิ่งทำอะไร’ รอให้หายโกรธค่อยคิดอีกทีก็ยังทัน ระลึกไว้เสมอว่า ความโกรธนั้นมีแนวโน้มที่จะแผ่วเบาลดลงตามธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป การยังไม่ทำอะไรหรือการไม่โกรธไม่ใช่การหนีปัญหา แต่เป็นการทำให้ใจเย็นลงและหาวิธีที่แยบยลแก้ปัญหาอย่างมีสติ
Bushman แนะนำว่าทางที่ดีคือตอบโต้ช้าลงไม่ต้องทันทีทันใด ผ่อนคลาย เช่นไปนอน หรือ หาอย่างอื่นทำหรือคิดด้วยกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวเลยกับความรุนแรง
แม้ความคิดที่ว่า หากไม่ระบายออกมา เราจะเป็นบ้าและระเบิดในวันใดวันหนึ่ง ฟังดูเป็นคอมมอนเซนส์มากๆ แต่การปล่อยให้ความโกรธอันร้อนระอุ ได้อุ่นลง และเย็นลงตามลำดับน่าจะดีกว่าระบายออกไป เพราะยิ่งระบายก็ยิ่งโกรธเป็นวงจรไม่จบสิ้น แม้จะรู้สึกดีตอนทำก็ตาม
คนเรามักตกหลุมพรางว่าอะไรที่ทำให้รู้สึกดีมันย่อมดีกับชีวิตและสุขภาพ แม้เราจะรู้สึกดีหลังระบายออกไป แต่ความรู้สึกดีนั้นทวีความรุนแรงและความโกรธได้ การได้ระบายความรุนแรงมา อาจไปเผลอใจร้ายกับคนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องได้ การระบายเพื่อลดโกรธนั้นแม้จะฟังดูดี แต่ไม่ได้มีทฤษฎีมารองรับเหมือนเอานํ้ามันไปดับไฟมากกว่า
หลายๆ คน แนะนำให้โกรธแล้วออกกำลังกาย การออกกำลังกายอาจช่วยกวนใจเราให้หันความสนใจจากเรื่องที่โกรธได้ ไม่ได้ลดความโกรธและความรุนแรง แต่การออกกำลังกายนั้นดีต่อหัวใจ (ในที่นี้คืออวัยวะหัวใจ)
โกรธคือคน โมโหบ้างก็ได้ไม่เป็นไร
แม้ความโกรธจะเริ่มจากส่วนสมอง แต่เราโกรธสมบูรณ์ด้วยปฏิกิริยาทั้งร่างกาย เมื่อเราโกรธ เราจะรู้สึกร้อนผ่าวไปทั้งตัว ทำให้เรามีพละกำลังเพื่อให้เราต่อสู้กับศัตรูหรือภัย และเอาตัวรอดในธรรมชาติ
ความโมโหอาจทำให้อาชีพการงานพังทลายในพริบตา ทำให้เสียเพื่อนหรือคนรักไป ทำร้ายร่างกาย สินทรัพย์ หรืออาจทำให้คนตาย แต่ความโกรธเคืองก็พาให้เกิดการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงในสังคมจากความยุติธรรม ความโกรธทำให้เราเกิดความเปลี่ยนแปลง แก้ไขสิ่งที่ไม่โอเค
ความโกรธนั้นอันตราย รุนแรง ควบคุมไม่ได้ ไร้สติ แล้วโลกควรกำจัดความโกรธออกไปไหม โลกจะกลายเป็นสถานที่สดใสสวยงามจริงหากไร้ความโกรธ?
Hannah Arendt นักทฤษฏีการเมือง เชื่อว่าความโกรธคือการตอบสนองตามธรรมชาติต่อความอยุติธรรม หากทุกคนไม่โกรธ ความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมก็อาจหมดไปด้วย ความโกรธทำให้คนเรายอมไม่ได้เมื่อถูกปฏิบัติแย่ๆ และตอบโต้เมื่อมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ความโกรธเป็นแรงผลักดันให้เกิดการประท้วงเมื่อมีความไม่เป็นธรรมในสังคม การลุกฮือในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดการปฏิวัติ การเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง ล้วนเกิดจากโกรธเดือดดาลคั่งแค้นทั้งสิ้น ความโกรธไม่ได้มีแต่โทษและเลวร้ายเสมอไป
หากร้อน รอให้เย็นลงก่อน จำไว้ว่าความโกรธที่มีอยู่นี้จะจางหายไปเองได้ แต่ใครจะห้ามอารมณ์ร้อนของคนที่รอไม่ได้ วันใดที่เราโกรธเคืองแค้นใคร อย่าไปลงโทษผิดคนและโมโหลงผิดที่
อ้างอิงข้อมูลจาก
Ottawa defends spending millions on secret ‘rage room’ for MPs
Manhattan (1979) Script
The Fragment Room
CBC News: Rage Room
One in four surveyed Japanese workers admits to wanting to kill boss; Osaka quake helps show why
Four Questions on the Catharsis Myth with Dr. Brad Bushman
Does Venting Anger Feed or Extinguish the Flame?: Brad J. Bushman
Catharsis, Aggression, and Persuasive Influence: Self-Fulfilling or Self-Defeating Prophecies?
50 Great Myths of Popular Psychology: Shattering Widespread Misconceptions about Human Behavior: Scott O. Lilienfeld
amazon.com/Great-Myths-Popular-Psychology-Misconceptions
The Book of Human Emotions: From Ambiguphobia to UmptyBooks of Human Emotion: Tiffany Watt Smith
amazon.com/Book-Human-Emotions-Ambiguphobia-Around