คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาเกือบทั้งหมดของเกม Her Story และน่าจะทำให้หมดสนุกถ้าอ่านก่อนเล่น!
เกมที่ ‘เจ๋งที่สุด’ ในความเห็นของคุณคือเกมแบบไหน?
เกมที่เนื้อเรื่องทำให้อินที่สุด / มันส์ที่สุด / ข้อนิ้วเคล็ดที่สุด / ฉากอลังการที่สุด / ลืมนอนที่สุด / ลืมไม่ลงสุดๆ ฯลฯ
คำตอบคงแตกต่างหลากหลายพอๆ กับความหลากหลายของเกมและเกมเมอร์ทั่วโลก
สำหรับผู้เขียน เกมที่เจ๋งที่สุดนั้นไม่เพียงแต่สนุกจนลืมเวลา แต่ยังขยับขยายพรมแดนและขอบฟ้าของ ‘เกม’ ออกไป คิดค้นกลวิธีเล่าเรื่องใหม่ๆ ซึ่งไม่มีใครคาดคิด ด้วยวิธีที่มีแต่ ‘เกม’ เท่านั้นที่ทำได้
เกมอินดี้ชื่อบ้านๆ Her Story (‘เรื่องราวของเธอ’) โดย แซม บาร์โลว (Sam Barlow) เข้าข่าย ‘เกมเจ๋งที่สุด’ ในความหมายนี้ทุกประการ ทั้งที่ถ้ามองผ่านๆ มันไม่มีอะไร ตลอดทั้งเกมเราทำแค่พิมพ์คำค้นหา (search term) ลงในกล่องข้อความ ฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์สถานีตำรวจในเกมจะแสดงผลคลิปวิดีโอการสัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งในคดีฆาตกรรม อัดโดยตำรวจเจ้าของคดี แสดงผลมากที่สุดทีละห้าคลิป ให้เราไล่ดูไปเรื่อยๆ ปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเองว่าเกิดอะไรขึ้น
ความท้าทายอยู่ที่ต้องคอยสังเกตอากัปกิริยา มองหาพิรุธและตั้งใจฟังคำให้สัมภาษณ์ เพื่อนำคำสำคัญๆ มาใส่เป็นคำค้นรอบใหม่ เช่น ชื่อที่ทำงานของสามี ชื่อเมืองที่ขับรถเล่น เพื่อค้นคลิปวิดีโอใหม่ๆ มาดู
คดีนี้เกิดยี่สิบกว่าปีแล้ว ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และคอมพิวเตอร์ในเกมก็ดูเก่าสมยุค เราจะไม่เข้าใจว่า ‘เรา’ ในเกมที่กำลังค้นฐานข้อมูลอยู่นี้คือใคร ค้นของเก่าไปเพื่ออะไร รู้แต่ว่าทุกครั้งหลังจากที่เราค้นคำที่ ‘ถูกต้อง’ ในแง่ที่ได้ดูคลิปเบาะแสสำคัญ จอคอมพิวเตอร์ในเกมก็จะหรี่แสงลงเล็กน้อยราวกับว่าไฟฟ้ามีปัญหา สะท้อน ‘เงา’ ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในเกมลางๆ ให้พอมองเห็นว่า ‘เรา’ คือผู้หญิงร่างผอมบางคนหนึ่ง วัยไม่น่าเกินสามสิบ
มาถึงบางอ้อราวค่อนเกม หลังจากที่เราพบคลิปช่วงสำคัญๆ มากพอ กล่องแชทในเกมจะเด้งขึ้นมา พร้อมคำถามจาก ‘SB’ (น่าจะหมายถึง Sam Barlow ดีไซเนอร์เกมนี้) ว่า “เธอเข้าใจหรือยังว่าทำไมแม่ของเธอถึงได้ทำสิ่งที่เธอทำ”
ถ้าเราพิมพ์ตอบว่า “yes” เกมก็จะจบ ขึ้นฉากเครดิต ปิดฉากเกม โดยที่อาจทิ้งคำถามคาใจเรามากมาย
ความเจ๋งและนวัตกรรมของ Her Story คือ เราพิมพ์คำถามถาม Hannah (แฮนนาห์) ผู้หญิงในคลิปไม่ได้ตรงๆ (เช่น “ตกลงเธอฆ่าสามีตัวเองจริงหรือเปล่า?”) เพราะคดีนี้สำหรับตำรวจได้ปิดฉากไปนานแล้ว เป็นอดีตไปแล้วกว่าสองทศวรรษ เราไม่ได้เป็นตำรวจเอง เป็นแต่เพียงลูกสาวของผู้หญิงในคลิป มาค้นหาความจริงเกี่ยวกับแม่จากฐานข้อมูลของตำรวจเท่านั้น
ประสบการณ์และการตีความเรื่องราวของผู้เล่นเกมนี้แต่ละคนจึงแตกต่างกันได้มากมาย ขึ้นอยู่กับรายการและลำดับของคำค้นที่ใช้ ซึ่งก็จะกำหนดลำดับของคลิปวิดีโอที่ได้ดู บางคลิปสั้นเพียงไม่กี่วินาที บางคลิปก็ยาว 5-6 นาที
ไม่นานเราก็จะเข้าใจว่า คลิปทั้งหมดนั้นถูกตัดมาจากการสัมภาษณ์รวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง เริ่มตั้งแต่แฮนนาห์ไปแจ้งความว่าสามีของเธอหายตัวไป จนถึงคลิปสุดท้ายที่เธอรับสารภาพเรื่องราวทั้งหมด แต่เราอาจได้ดูการสัมภาษณ์ครั้งหลังๆ ก่อนครั้งแรกๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับคำค้นที่ใช้
กว่าจอแชทจะเด้งถามคำถามจาก SB เราก็น่าจะได้ดูคลิปไปแล้วเกินครึ่งจากฐานข้อมูล ถึงแม้อาจไม่ได้ดูคลิปทั้งหมด 270 คลิป ทุกคนที่เล่นเกมนี้ก็น่าจะพอเข้าใจเบื้องลึกและเบื้องหลังของแฮนนาห์กับไซมอน (Simon) สามีผู้ที่เธอโกหกว่าหายตัวไป แรงจูงใจในการฆ่าสามี และข้อมูลอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งนิทานเรื่อง ‘ราพันเซล’ (Rapunzel) ซึ่งเป็นธีมที่ช่วยร้อยเรียงและอธิบายแก่นเรื่องทั้งหมด
เราจะรู้สึกตื่นเต้นดีใจเมื่อพบพิรุธมากพอที่จะถึงบางอ้อว่า ผู้หญิงในคลิปไม่ได้มีแต่แฮนนาห์เท่านั้น แต่ยังมี อีฟ (Eve) ฝาแฝดของเธอ ผู้ที่หน้าเหมือนกันอย่างกับแกะ แต่นิสัยแตกต่างจากแฮนนาห์ลิบลับ
อีฟไม่เพียงแต่เป็นฝาแฝดของแฮนนาห์เท่านั้น แต่การลักลอบคบชู้กับไซมอน สามีของแฮนนาห์ จนทำให้เธอตั้งท้อง ยังเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การฆาตกรรม!
ก่อนจะถึงฉากจบ เราน่าจะตื่นเต้นกับการได้พบว่า ผู้หญิงในคลิปเหล่านั้นกว่าครึ่งไม่ใช่แฮนนาห์ เป็นเพียงอีฟที่ ‘ปลอมตัว’ เป็นแฮนนาห์ เพื่อพยายามช่วยปกปิดเรื่องที่แฝดพี่ของเธอฆ่าสามีตาย
อีฟเป็นอีฟ เป็นตัวของตัวเองจริงๆ เฉพาะในคลิปสัมภาษณ์วันสุดท้ายเท่านั้น หลังจากที่แฮนนาห์หนีไปแล้ว
เราจะเริ่มสันนิษฐานว่าผู้หญิงในคลิปอาจมีสองคน ไม่ใช่คนเดียว จากความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างที่สังเกตเห็น เช่น บางคลิปเธอปล่อยผม บางคลิปเธอรวบผม บางครั้งเธอขอกาแฟดำ ไม่ใส่น้ำตาล แต่บางครั้งเธอก็ขอชาใส่น้ำตาล
ถ้าใช้ทฤษฎี ‘คู่แฝด’ เราอาจลำดับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้
สัมภาษณ์นัดที่ 1 : พี่น้องสองแฝดตัดสินใจส่งอีฟไปคุยกับตำรวจ แฮนนาห์มีรอยฟกช้ำที่แก้ม จะเป็นพิรุธให้ตำรวจสงสัยและส่งคนไปตรวจค้นบ้านเร็วเกินไป แถมเธอยังช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเปราะบางหลังจากที่ฆาตกรรมไซมอน ให้อีฟปลอมตัวเป็นแฮนนาห์ไปปลอดภัยกว่า
สัมภาษณ์นัดที่ 2 : หลังจากที่อีฟปลอมเป็นแฮนนาห์ไปแจ้งความว่าไซมอน “หายตัวไป” หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ ตำรวจน่าจะอยากสอบปากคำแฮนนาห์อย่างจริงจัง คราวนี้ควรส่งแฮนนาห์ไปดีกว่า เธอรู้รายละเอียดชีวิตคู่ของเธอกับไซมอนดีกว่าอีฟแน่ๆ
สัมภาษณ์นัดที่ 3 : สองวันหลังจากสัมภาษณ์นัดที่สอง (เก้าวันหลังการฆาตกรรม) ตำรวจก็พบศพของไซมอนในห้องใต้ถุนบ้าน แฮนนาห์คงรับแรงกดดันไม่ได้ในฐานะมือสังหาร อีฟแข็งแกร่งกว่าเยอะ แถมไม่ได้เป็นคนฆ่า ส่งอีฟปลอมเป็นแฮนนาห์ไปอีกที
สัมภาษณ์นัดที่ 4 : แฮนนาห์รู้สึกโอเคแล้ว ส่งเธอไปคุยกับตำรวจได้ จริงๆ ถ้าเธอควรเป็นตัวหลัก เพราะอีฟตอบคำถามซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องในบ้านและในมุ้งแทนแฮนนาห์ไม่ได้แน่ๆ
สัมภาษณ์นัดที่ 5 : เวรกรรม ตำรวจดันถามถึงกีตาร์ก่อนจบสัมภาษณ์นัดที่แล้ว ต้องขอให้แฮนนาห์เล่นให้ฟังแน่ๆ แต่แฮนนาห์เล่นไม่เป็น อีฟคือนักร้องนักดนตรี ต้องส่งอีฟปลอมตัวเป็นแฮนนาห์ไปอีกรอบ
สัมภาษณ์นัดที่ 6 : ตำรวจอาจจะรู้แล้วว่าแฮนนาห์มีสองคน แต่เพื่อความมั่นใจ ส่งแฮนนาห์ไปอีกทีดีกว่า
สัมภาษณ์นัดที่ 7 : ตำรวจรู้ความจริงแล้ว แฮนนาห์ต้องหนี! คราวนี้ก็เหลือแต่อีฟ การสัมภาษณ์ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวที่อีฟไม่ได้เสแสร้งเป็นแฮนนาห์ แต่เป็นตัวเธอเองอย่างแท้จริง
ทันทีที่เราค้นพบทฤษฎี ‘คู่แฝด’ ในเกมนี้ เราก็มีแนวโน้มจะเชื่อมั่นทันทีว่า เราแก้ปริศนา ‘เรื่องราวของเธอ’ ได้แล้ว! เพราะดีใจและภูมิใจกับความเฉลียวฉลาด (แกมบังเอิญ) ของเรา
ส่งผลให้เกิด ‘อคติยืนยันตัวเอง’ (confirmation bias) ยึดมั่นถือมั่นว่าเราต้องคิดถูกแน่ๆ จนทำให้ลืมนึกไปว่า ถ้ามานั่งคิดใคร่ครวญดูดีๆ แล้ว ทฤษฎี ‘คู่แฝด’ มีรูโหว่ทางตรรกะมากมายจนไม่น่าจะเป็นไปได้เลย
ยกตัวอย่างเช่น แฮนนาห์กับอีฟไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน ทำไมกีตาร์ของอีฟ (ซึ่งเธอต้องใช้ในการทำมาหากินในฐานะนักร้องในบาร์) ถึงได้มาอยู่ที่บ้านของแฮนนาห์ให้ตำรวจหาเจอ? แถมพิรุธที่ทำให้เรามองเห็น ‘คู่แฝด’ (กาแฟ/ชา ปล่อยผม/รวบผม ใส่สร้อย/ไม่ใส่สร้อย) ยังมองเห็นได้อย่างชัดเจนเกินไป ขัดแย้งกับคำบอกเล่าของอีฟที่ว่า เธอกับแฮนนาห์อุทิศเวลาและความพยายามอย่างมากตั้งแต่เด็กในการเลียนแบบอากัปกิริยาให้เหมือนกันเปี๊ยบทุกกระเบียดนิ้ว จะได้ทำอะไรๆ แทนกันได้ทุกเรื่อง ถึงขั้นเขียนกฎกติกาขึ้นมา และแฮนนาห์ติดนิสัยเขียนไดอารี่ประจำวัน
แฝดทั้งสองทำตัวเป็น ‘กระจก’ ของกันและกันตลอดเวลาหลายปี รู้รายละเอียดในชีวิตของกันและกันอย่างถี่ถ้วน แต่อีฟกลับไม่รู้ว่าแฮนนาห์ชอบดื่มชาใส่น้ำตาล และชอบรวบผม?
ในขณะเดียวกัน อีฟกลับใส่ใจพอที่จะสวมแหวนแต่งงานของแฮนนาห์ทุกครั้ง เวลาปลอมตัวเป็นแฮนนาห์ไปพบตำรวจ ยกเว้นการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้าย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เธอเป็นตัวของเธอเอง อีฟไม่ได้ใส่แหวนแต่งงาน แต่กลับคลำรอยสวมแหวนอย่างใจลอย ราวกับว่าเธอเป็นแฮนนาห์ตัวจริง ที่คลำเพราะติดนิสัย
หมายความว่าอะไร?
ยังไม่นับความแปลกประหลาดอื่นๆ ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่น อีฟในวัยเด็กต้องใช้ชีวิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ อยู่แต่ในห้องใต้หลังคาของแฮนนาห์ โดยที่พ่อแม่ไม่ระแคะระคายนานหลายปี …อะไรจะขนาดนั้น
ประโยคติดปากของ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ นักสืบหัวเห็ดในนิยายของ เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ คือ “เมื่อใดที่คุณขจัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ออกไปแล้ว สิ่งใดที่หลงเหลืออยู่ย่อมเป็นความจริง ไม่ว่ามันจะไม่น่าเป็นไปได้สักเพียงใด”
ถ้าทฤษฎี ‘คู่แฝด’ ไม่เป็นจริง สิ่งเดียวที่เหลืออยู่ คือ แฮนนาห์ไม่มีคู่แฝด แต่ป่วยเป็นโรคหลายบุคลิก (Multiple Personality Disorder: MPD) – ‘อีฟ’ เป็นชื่อของบุคลิกอีกตัวตนของเธอ ซึ่งแฮนนาห์มองว่าเป็น ‘เพื่อน’ แต่ไม่ใช่พี่หรือน้อง อาจเป็นไปได้ด้วยที่ลึกๆ แล้ว แฮนนาห์เองรู้ดีว่าอีฟไม่มีตัวตนอยู่จริงๆ (เราไม่มีเบาะแสว่าเธอสามารถ ‘เรียก’ ตัวตน ‘อีฟ’ ออกมาได้ทุกเมื่อที่ต้องการหรือไม่ หรือว่าอีฟโผล่มาเอง)
ทฤษฎี ‘หลายบุคลิก’ แปลว่าใน Her Story เรากำลังเผชิญกับคนที่เล่าเรื่องสามคนด้วยกัน
คนแรก แฮนนาห์ ผู้หญิงที่ฆ่าสามีตัวเอง (แม้อาจไม่จงใจ) และพยายามรอดคุกด้วยการอ้างเรื่องที่อีฟ บุคลิกทางเลือกของเธอ ขับรถไปเมืองกลาสโกว นี่คือคนที่เราเห็นในคลิปการสัมภาษณ์นัดที่สอง สี่ และหก
คนที่สอง อีฟ บุคลิกที่สองของแฮนนาห์ ตัวตนนี้เชื่อว่าเธอคือ ‘แฝดลับ’ ของแฮนนาห์ ปลอมตัวเป็นแฮนนาห์เพื่อปกป้องเธอจากเงื้อมมือตำรวจ นี่คือคนที่เราเห็นในคลิปการสัมภาษณ์นัดที่หนึ่ง สาม และห้า
คนที่สาม อีฟ บุคลิกที่สองของแฮนนาห์ คราวนี้เป็นตัวของตัวเอง นี่คือคนที่เราเห็นในคลิปการสัมภาษณ์นัดที่เจ็ด เธอบอกตำรวจว่า “แฮนนาห์หนีไปแล้ว” แต่ในความเป็นจริงเธออาจ ‘ฆ่า’ บุคลิกแฮนนาห์ไปแล้วต่างหาก
บุคลิก ‘อีฟ’ มีแรงจูงใจที่จะฆ่าหรืออัปเปหิบุคลิก ‘แฮนนาห์’ ออกไป เพราะลูกในท้องที่ท้องกับไซมอนคือลูกของเธอ ไม่ใช่ลูกของแฮนนาห์ (“ลูกคือทุกสิ่งทุกอย่าง” เธอกล่าว)
ถ้ามองจากมุมนี้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นแผนของอีฟ เธอขุดกับดักล่อตำรวจ จงใจทำตัวอย่างมีพิรุธ (กาแฟ/ผม/สร้อย) เพื่อให้ตำรวจ ‘ซื้อ’ ทฤษฎี ‘คู่แฝด’ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับซาราห์ ลูกในท้องซึ่งเติบโตมาค้นหาเรื่องราวของแม่
มีความสุขชั่วนิจนิรันดร ไม่ต่างจากราพันเซล สาวน้อยผมยาวในนิทานที่เธอชื่นชอบตั้งแต่เด็ก
กับดักที่อีฟขุดนั้นเราในฐานะคนเล่นก็ตกลงไปอย่างง่ายดายพอๆ กับตำรวจผู้ทำคดี อารามตื่นเต้นว่าได้ค้นพบ ‘คู่แฝด’ จากพิรุธที่อีฟจงใจสร้าง รู้สึกฉลาดจนลำพองใจ จนตกหลุมอคติยืนยันตนเอง ลึกจนยากจะปีนป่ายขึ้นมา
การตีความ Her Story อาจมีมากกว่าทฤษฎีคู่แฝดกับทฤษฎีหลายบุคลิกก็ได้ ดีไซเนอร์เองก็ไม่เคยปริปากว่าเขาคิดอย่างไร แต่การเล่นเกมนี้ก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงละครเวทีที่ได้ดูในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ กับ ‘Blissfully Blind’
ละครทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้ให้คนดู ‘ดู’ เฉยๆ แต่สลาย ‘เวที’ ที่ปกติกั้นกลางระหว่างนักแสดงกับคนดู ให้เข้าไปนั่งหรือยืนดูจากมุมไหนก็ได้ที่ต้องการ ซึ่งละครก็ไม่ได้เล่นในห้องห้องเดียว แต่เล่นสองห้องพร้อมกัน แถมนักแสดงบางคนยังแสดงในพื้นที่ ‘ตรงกลาง’ ด้วย (พื้นที่ส่วนนี้ในเรื่อง ‘Blissfully Blind’ คือโครงสร้างประติมากรรมแสง หรือ Light Installation แบ่งครึ่งพื้นที่ห้องใหญ่ออกเป็นห้องย่อยสองห้อง คนดูเข้าไปอยู่ในโครงสร้างนี้ร่วมกับนักแสดงได้)
ในเมื่อคนดูเลือกตำแหน่งที่จะดูได้ และสามารถเดินไปมา เปลี่ยนจุดยืนหรือนั่งได้ทุกเมื่อ ประสบการณ์การดูและการตีความของคนดูแต่ละคนจึงย่อมจะออกมาไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าได้ดูห้องไหน ตอนไหน กระทบใจหรือไม่
ไม่มีทางที่จะได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดอย่างครบถ้วนจากทุกมุมมอง ไม่ว่าจะจ้องอย่างตั้งใจสักเพียงใด
ละครที่ทลายเวทีกั้นกลางระหว่างคนดูกับนักแสดง จึงสามารถส่องไฟให้เรามองเห็นอคติหรืออวิชชาของตัวเอง อย่างน้อยก็วูบหนึ่ง
เกมที่ทลายขนบการเล่าเรื่องตามเส้นเวลาก็เช่นกัน.