ข่าวคราวมุน แจอิน (Moon Jae-In) ผู้นำเกาหลีใต้เอ่ยปากว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเยี่ยงโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) สมควรได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ (Nobel Peace Prize) สืบเนื่องจากเขาอำนวยความปรองดองบนคาบสมุทรเกาหลีภายหลังภาวะขัดแย้งตึงเครียดปกคลุมแผ่ซ่านมายาวนานเกือบเจ็ดทศวรรษ ชาวโลกทั้งหลายแทบจะสุขใจจังจนต้องร้องว้าว เมื่อเห็นภาพมุน แจอินจับมือคิม จ็องอึน (Kim Jong-un) ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2018 มิหนำซ้ำ ทั้งสองคนยังเดินข้ามพรมแดนกั้นระหว่างสองประเทศ พอติดตามเรื่องราวดังกล่าวจึงจุดประกายให้ผมมิอาจละเลยการหวนนึกถึงรางวัลโนเบลอันเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยได้ลงคอ
จริงอยู่ที่ไม่เคยมีคนไทยได้รับรางวัลโนเบล ทว่าก็หาใช่จะไร้ซึ่งบุคคลผู้เกิดแรงปรารถนาไขว่คว้ามาครอง เฉพาะก่อนปี พ.ศ. 2500 พบหลักฐานยืนยันความพยายามของใครหลายคนหมายมั่นส่งผลงานให้คณะกรรมการรางวัลนี้ในสาขาสันติภาพพิจารณา
ถอยหลังกาลเวลาไปต้นทศวรรษ 2480 ขณะสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อตัวทางทวีปยุโรปและเริ่มขยายขอบเขตแพร่ลามสู่ฝั่งเอเชีย แต่ในเมืองไทยสงครามยังไม่เยี่ยมกรายมาถึง ซึ่งตอนนั้นกระแสชาตินิยมและการสร้างชาติกำลังพรั่งพรูพร้อมๆ กลิ่นอายแนวคิดสันติภาพค่อยๆ อวลกรุ่น หากเรามองนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามรวมถึงหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้อาศัยศิลปวัฒนธรรมส่งเสริมเชิดชูลัทธิชาตินิยม ดังเห็นได้จากสื่อบันเทิงผลิตออกมาในรูปแบบบทละครและภาพยนตร์หลายเรื่องนับแต่ปีพ.ศ. 2482 แล้ว ปรีดี พนมยงค์ผู้ถูกมองว่ามีแนวคิดเป็นไปคนละแบบก็ได้ถ่ายทอดประเด็นสันติภาพผ่านภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’ เฉกเช่นกัน ปรีดีลงมือเขียนบทภาษาอังกฤษขึ้นเอง ปรารถนาให้เป็นเครื่องมือนำเสนอภาพลักษณ์สังคมไทยต่อสายตานานาชาติ ข้อสำคัญยิ่งคือเขาคาดหวังจะให้ผลงานของตนไปไกลถึงขั้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วย ตามที่สก็อต บาร์เม่ (Scot Barmé) วิเคราะห์ไว้ ปรีดีคงจินตนาการเอาเองในเชิงว่าภาพยนตร์ข้างต้นอาจส่งผลให้เขาคว้ารางวัลเกียรติยศระดับโลก และจะช่วยส่งเสริมสถานะทางการเมืองของเขาได้ นั่นล่ะมูลเหตุของความอยากส่งภาพยนตร์นี้เข้าร่วมแข่งขัน
แม้เจตนาของผู้สร้าง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ เน้นหนักสื่อสารไปยังผู้ชมต่างชาติ โดยถ่ายทอดเรื่องราวพระเจ้าจักราแห่งกรุงอโยธยาผู้ประสงค์มีมเหสีเพียงแค่คนเดียวและการทำศึกสงครามกับกรุงหงสาวดี หากในความรู้สึกผู้คนแวดวงภาพยนตร์โลกแล้วกลายเป็นของแปลกน่าขัน
บอสลี ครอว์เธอร์ (Bosley Crowther) นักวิจารณ์ชาวอเมริกันเขียนลง The New York Times ประจำวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) ให้ความเห็นว่า ‘พระเจ้าช้างเผือก’ มิพ้นหนังคุณภาพต่ำ มีความล้าหลังเพราะผู้สร้างไร้ประสบการณ์ จุดที่พอจะเป็นเสน่ห์อยู่บ้างคือความน่าหัวเราะต่อสิ่งไม่ได้ตั้งใจ การบันทึกเสียง ภาพเครื่องแต่งกายและภาพช้างดูสวยแปลกตา ฉะนั้น จึงอยู่ในระดับเดียวกับหนังสมัครเล่นของพวกเด็กแก่แดด (“this film is really in a class with a home-made movie turned out by a bunch of precocious kids.”) ในเดือนเดียวกัน นักวิจารณ์แห่ง Variety Film Review เอ่ยทำนองว่าเป็นหนังชวนสนใจต่อความโบราณ อาจทำรายได้จากความสงสัยใคร่รู้ของผู้ชมบ้าง ส่วนการแสดงเกินจริงและบทสนทนาเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งๆ ที่ส่งผลเพียงเล็กน้อย แม้น่าชื่นชมแต่กลับไม่น่าเห็นใจเลย ผู้สร้างเลือกจะสะท้อนความรักชาติในสไตล์คาวบอยที่ใช้ช้างแทนม้า ตลอดเวลา 66 นาทีของภาพยนตร์ช่างยาวนาน
โอ้โห! ทำไมพวกนักวิจารณ์ฝรั่งปากจัดอย่างนี้ล่ะเนี่ย
เอาเป็นว่า ใครอยากฟังสำเนียงชื่นชมความดีงามของภาพยนตร์เรื่องนี้ ลองแวะมาดื่มด่ำบรรยากาศในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บ่อยๆ ครับ ถ้อยคำแบบบอสลี ครอว์เธอร์และนักวิจารณ์แห่ง Variety Film Review ไม่ค่อยแว่วยินเท่าไหร่นักหรอก อาจมีบ้างที่ต่อให้มองเป็นหนังเฉิ่มเชยแต่ลงท้ายก็มักจะปรบมือเยินยออยู่ดี ในฐานะผมเองเคยเป็นนักศึกษาย่อมต้องดู ‘พระเจ้าช้างเผือก’ มาแล้วไม่รู้กี่หน อีกทั้งอ่านหนังสือที่ปรีดีเขียนเองด้วย กล่าวโดยหัวใจเที่ยงธรรมจริงๆ แบบไม่ลุ่มหลงและไม่อคติเกินไป ผมรู้สึกว่าภาพยนตร์ของปรีดียังไม่หลุดพ้นไปจากท่วงทำนองชาตินิยมเยี่ยงเดียวกับบทละครของหลวงวิจิตรวาทการ อย่างไรก็ดี จุอเด่นกลับอยู่ตรงที่เสนอการครองรักครองเรือนระบบผัวเดียวเมียเดียว อันนี้ดูจะล้ำๆ ก้าวหน้ามิใช่น้อยในสมัยนั้น ถ้าเชื่อเรื่องการมีคู่ครองหลายคนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทะเลาะกันภายในบ้านแล้ว นี่แหละอาจจะเรียก ‘สันติภาพ’ ได้เหมือนกัน
ตกอยู่ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างลบ คงไม่แปลกที่หากส่ง ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ไปชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 1941 อาจจะอกหัก แต่บังเอิญปีนั้นเรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1942 ไม่มีการมอบรางวัลโนเบลให้ใครเลย เพราะอยู่ระหว่างช่วงคับขันของสงครามโลกครั้งที่ 2 สำหรับประเทศไทย พอเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) กองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้ามายึดครองแล้ว กว่าจะถอยทัพไปหมดสิ้นก็ปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ.1945)
ล่วงปี พ.ศ. 2486 สงครามโลกทวีความรุนแรงดุเดือดเข้มข้น ห้วงยามนี้แหละ วรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทยจัดให้มีการประกวดแต่งหนังสือชื่อ ‘วิถีแห่งสันติภาพถาวร’ เพื่อชิงรางวัลขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์แรงกล้าที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประพันธ์แสดงความคิดเห็นถึงวิถีทางนำไปสู่สันติภาพอันถาวร ปรากฏผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวด 2-3 ราย
อ้อ ขอกระซิบสักหน่อย แหล่งทำการวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทยนั้นตั้งอยู่ ณ ทำเนียบสามัคคีชัย หมายความว่าผู้อุปถัมภ์จะเป็นใครไปมิได้เลยนอกจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเริ่มหันมาสนใจแนวคิดเชิงสันติภาพ ทางสมาคมนี้ยังออกหนังสือ วรรณคดีสาร เผยแพร่ผลงานวรรณกรรมสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล กระนั้นก็เถอะ วรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทยชะงักการดำเนินงานลงในปลาย พ.ศ. 2487 มิทันได้ตัดสินการประกวดแต่งหนังสือก็มีอันยกเลิกไป และนำเอาต้นฉบับเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ
ในบรรดาผู้ส่งงานเขียนเข้าประกวดทั้งหมด ผมสามารถตามแกะรอยจนทราบนามแค่ 2 ราย คนแรกได้แก่ เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยองและต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนอีกคนคือนักคิดนักเขียนสำคัญช่วงทศวรรษ 2480-2490 เขาชื่อ ส.ธรรมยศ แฟนๆ วรรณกรรมไทยยุคเก่าหลายคนอาจร้อง อ๋อ!
อ.ไชยวรศิลป์ นักเขียนหญิงคนสนิทกล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ภายหลังว่า “เรื่อง วิถีแห่งสันติภาพถาวร เป็นงานที่ ส.ธรรมยศ ตั้งใจจะเขียนไว้ฝีมือ พูดถึงอะไรทั่วๆไป พูดถึงตัวเอง พูดถึงสภาพแวดล้อม พี่ยังไม่ได้อ่านเหมือนกัน” หาใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนไม่ได้อ่านงานที่นักเขียนหนุ่มเคยส่งประกวดชิงรางวัลวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย เพราะต้นฉบับไม่ได้พิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ส.ธรรมยศฝากไว้กับพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่งตราบกระทั่งเขาตายไป
ส่วนต้นฉบับงานเขียนของเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ได้นำมาจัดพิมพ์ออกจำหน่ายในปีเดียวกันกับที่ส.ธรรมยศหมดสิ้นลมปราณนั่นคือ พ.ศ. 2495 (จัดเตรียมเนื้อหาเสร็จสิ้นราวๆ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2494) เสวตรยังส่งหนังสือเล่มนี้ไปชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี ค.ศ. 1952 (พ.ศ. 2495) ด้วย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเขียนคำนิยมให้ ภาพหน้าปกวาดโดยเหม เวชกรตามแนววรรณคดีเกิดจากความคิดของขุนวิจิตรมาตรา ส่วนพันตรีสุจิต ศิกษมัตช่วยจัดทำสารบาญ
วิถีแห่งสันติภาพถาวร จัดเป็นหนังสือค่อนข้างหาอ่านได้ยากแล้วในปัจจุบัน ผมจึงใคร่ยกคำนิยมมาให้ดูทั้งหมด
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สมาคมวรรณคดีแห่งประเทสไทยได้เล็งเห็นว่า เมื่อสงครามสุดสิ้นลงแล้ว โลกควรจะได้มีสันติภาพถาวร จึงได้จัดให้มีการประกวดแต่งหนังสือเรื่อง “วิถีแห่งสันติภาพถาวร” ขึ้น ด้วยประสงค์ที่จะให้ผู้ประกวดได้เสนอวิถีทางที่จะนำโลกไปสู่สันติภาพชั่วนิรันดร แต่เป็นที่น่าเสียดายที่โอกาสไม่อำนวยให้วรรณคดีสมาคมแห่งประเทสไทยได้พิจารณาตัดสินการประกวดดังกล่าวนั้น
บัดนี้เป็นที่น่ายินดีที่ผู้เขียนซึ่งเป็นสมาชิกของวรรณคดีสมาคมแห่งประเทสไทยผู้หนึ่งและได้เขียนหนังสือเรื่อง “วิถีแห่งสันติภาพถาวร” ขึ้น ได้ส่งหนังสือที่เขียนนั้นเข้าประกวดชิงรางวัลสันติภาพโนเบล อันเป็นการประกวดระหว่างนักคิดและนักเขียนนานาชาติ ซึ่งข้าพเจ้าขอสนับสนุนเพราะอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า คนไทยก็ใฝ่รักสันติภาพ และต้องการให้โลกนี้มีสันติภาพอันถาวร อันเป็นนิสสัยประจำชาติไทย
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าในการเขียนได้ใช้ความพากเพียรอุตสาหะในการคิดเขียนและค้นคว้าอย่างรอบคอบที่สุด และสรุปให้เห็นเด่นชัดถึงผลร้ายของสงครามเป็นประการเริ่มต้น แล้วชี้วิถีทางที่จะทำให้โลกมีสันติภาพอันถาวรเป็นประการสุดท้าย อันเป็นจุดหมายปลายทางความคิดเห็นทางสันติภาพบางประการก็นับว่าเป็น ความคิดที่ก้าวหน้าและคล้ายคลึงกับอุดมคติขององค์การสหประชาชาติ จึงเห็นว่าหนังสือเรื่อง “วิถีแห่งสันติภาพถาวร” นี้ จะเป็นหนังสือที่มีประโยชน์แก่ประชากรของโลกที่รักสันติภาพเล่มหนึ่ง.
ป.พิบูลย์สงคราม.
ทีนี้ มาฟังความในใจของผู้เขียนหนังสือ เสวตรเปิดเผยผ่าน ‘คำนำ’ ว่า
“ข้าพเจ้าเห็นว่าในขณะที่โลกกำลังระอุด้วยสงครามแทบทั่วทุกหนทุกแห่งเช่นปัจจุบันนี้ หนังสือ ‘วิถีแห่งสันติภาพถาวร’ คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อย จึงได้จัดให้มีการพิมพ์เป็นเล่มขึ้น แต่โดยที่หนังสือนี้ได้เขียนเมื่อ ๗ ปีล่วงมาแล้ว เหตุการณ์ต่างๆได้ผันแปรเปลี่ยนไปไม่น้อย จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำและข้อความบางตอนให้สอดคล้องกับเหตุการณ์เหล่านั้น แต่ในส่วนหลักการใหญ่มิได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่เขียนไว้เดิมแต่ประการใด เป็นแต่ได้เพิ่มบทที่เกี่ยวกับองค์การสหประชาชาติซึ่งเกิดขึ้นใหม่หลังจากที่เขียนหนังสือนี้แล้วขึ้นอีกบทหนึ่ง”
เหตุผลสำคัญจูงใจให้ส่งหนังสือชิงรางวัลโนเบลก็เพราะ “โดยข้อใหญ่ใจความของหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงสันติภาพ เข้าอยู่ในแนวเดียวกับการประกวดหนังสือชิงรางวัลสันติภาพโนเบล (Nobel Peace Prize) มีอยู่เป็นประจำปีในต่างประเทศ ผู้เขียนจึงได้ส่งเข้าประกวดชิงรางวัลดังกล่าวสำหรับปี ๒๔๙๕ ผู้เขียนมิได้มุ่งมาตรปรารถนาไปถึงว่าจะได้รับรางวัลในการประกวด ที่ส่งเข้าประกวดก็เพียงแต่ต้องการให้เห็นว่าคนไทยก็ควรปรารถนาสันติภาพถาวร และมีความคิดเห็นหรืออุดมคติที่จะสร้างโลกให้มีสันติภาพถาวรเหมือนกัน”
ในส่วนเนื้อหาน่าสนใจอยู่มิใช่น้อยเลย เสวตรเสนอให้มีการจัดตั้งสันนิบาตแห่งโลก สภาโลก ธนาคารโลก สถานศึกษาโลก และกองทัพโลกขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) และหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ที่จัดตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้ว (องค์การสหประชาชาติก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 ตรงกับ พ.ศ. 2488) ดังเขากล่าวถึงสิ่งที่ตนเสนอนั้นว่า “…บางอย่างก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับสถาบรรณที่ตั้งขึ้นใหม่อันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นต้นว่าองค์การสหประชาชาติ และธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและฟื้นฟู แต่หลักนั้นจะเห็นได้ว่าแตกต่างกันอยู่…”
อย่าลืมนะครับ เสวตรเขียนหนังสือเล่มนี้ช่วง พ.ศ. 2486-2487 ก่อนสงครามเลิก
ความเป็นกลางคือข้อยึดมั่นในการเขียน เพราะ “เรื่อง ‘วิถีแห่งสันติภาพถาวร’ นี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนได้เสียของประชาโลกหรือจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบสุขของประชาโลกทั้งผอง ถ้าในการเขียน ผู้เขียนไม่วางตนเป็นกลาง แต่หากวางตนเป็นปฎิปักษ์หรือเข้ากับชาติใดชาติหนึ่งหรือลัทธิหนึ่งแล้ว เรื่อง ‘วิถีแห่งสันติภาพถาวร’ นี้ ก็จะไม่เป็นไปเพื่อความสงบสุขของประชาโลกโดยแท้จริง”
แนวคิดทางพุทธศาสนาเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เสวตรนำมาใช้ประหนึ่งแก่นเรื่องเพื่ออธิบายประเด็นสันติภาพ เริ่มด้วยบทแรกเลยที่ชื่อ ‘สันติภาพและสงคราม’ ซึ่งผมตั้งข้อสังเกตว่า อวลกลิ่นอายล้อชื่อนวนิยายรัสเซียเรื่อง สงครามและสันติภาพ (War and Peace) ของเลียฟ ตอลสตอย (Lev Tolstoy) ในบทนี้ เสวตรหยิบยก ‘นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี’ มาใช้เนื่องจาก “…นี่เป็นพุทธโอวาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงประทานแสงสว่างให้แก่มนุษย์ชาติโดยมิรู้จักดับ วาทะของพระองค์ประโยคนี้เป็นอุดมสัจจะคือความจริงอย่างสูงสุด ใช้ได้ในทุกสมัยและในทุกสถาน ถ้าโลกเรานี้มีสันติภาพ มนุษย์เราจะมีความสุขอย่างสูง มนุษย์เราจะไม่ต้องมารบราฆ่าฟันกันอย่างทารุณเหมือนอย่างที่เป็นมาแล้วในอดีต และกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งจะเป็นในอนาคต ถ้าหากว่าเราค้นวิถีแห่งสันติภาพไม่พบ” ครั้นพอบทถัดๆ ไปก็พบเห็นธรรมะทำนองเดียวกันผสมผสานแนวทางของนักคิดนักเขียนชาวตะวันตก
มิพักสงสัยเลยเมื่อลองไล่สายตาแลทำเนียบผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาสันติภาพแล้วไม่พบชื่อเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ นั่นเพราะคนที่ครอบครองรางวัลโนเบลปีที่รัฐมนตรีชาวไทยส่งประกวดคือ ค.ศ. 1952 ได้แก่ อัลเบิร์ต ชไวเซอร์ (Albert Schweitzer) นายแพทย์ชาวเยอรมันที่อุทิศตนเพื่อการรักษาผู้ป่วยไข้ ณ เมืองลามบาเรเน (Lambaréné) ประเทศกาบอง ทวีปแอฟริกา บทบาทของเขาเป็นที่ประทับใจมาถึงชาวไทยหลายคน กระทั่งนักคิดนักเขียนอย่าง ‘ศรีบูรพา’ ยังเคยเกิดแรงดาลใจจนเขียนงานชิ้นหนึ่งชื่อ เขาเลือกลามบาเรนในสยาม
คุณผู้อ่านคงสังเกตเห็นจากกรณีคนไทยทั้งปรีดี พนมยงค์และเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ตั้งใจจะส่งผลงานของตนเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งคล้ายๆ เป็นการเข้าใจผิดไปในเชิงทางคณะกรรมการได้พิจารณามอบรางวัลนี้ให้กับผู้สามารถกล่าวถึงหรือพยายามอธิบายความหมายของ ‘สันติภาพ’ นั่นยิ่งชวนให้ฉุกคิด บางทีก่อนหน้า พ.ศ. 2500 คนไทยอาจจะยังไม่กระจ่างนักว่า แท้แล้วผู้ได้รางวัลโนเบลต้องอุทิศแรงกายแรงใจและปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดสันติภาพต่อคนอื่นๆ เสียมากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก
- กองบรรณาธิการ (สัมภาษณ์). “ส.ธรรมยศในสายตาของคนรู้จัก” ใน โลกหนังสือ 1, ฉ. 7 (เมษายน 2521), น. 52-62
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริและวาณี สำราญเวทย์, “ภาพยนตร์ไทยกับการ “สร้างชาติ”: เลือดทหารไทย, พระเจ้าช้างเผือก, บ้านไร่นาเรา,” วารสารธรรมศาสตร์ 19, ฉ. 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2536), 96-100
- ปรีดี พนมยงค์. พระเจ้าช้างเผือก. กรุงเทพฯ : สมาคมธรรมศาสตร์ นครลอสแองเจอลิส สหรัฐอเมริกา, 2533
- แม่ขวัญข้าว. “26 ปี ของ ส.ธรรมยศ” ใน โลกหนังสือ 1, ฉ. 7 (เมษายน 2521), น. 44-52
- ศรีบูรพา. “เขาเลือกลามบาเรนในสยาม” ใน ขอแรงหน่อยเถอะ. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2545, 2548
- เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์. ชีวิตการเมือง เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์. กรุงเทพฯ : เยียร์บุ๊ค พับลิชชิ่ง, 2546
- เสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์. วิถีแห่งสันติภาพถาวร. พระนคร: หอวิทยาการ, 2495
- Barmé, Scot. Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular culture in Thailand. Chiang Mai: Silkworm, 2002.
- Bosley Crowther, “THE SCREEN; Made in Siam,” The New York Times (April 5, 1941), p. 906