“ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว”
คำตอบกึ่งอัตโนมัติที่เราได้ยินกันจนชินหูจากคนที่เชื่อใจและไว้ใจรัฐบาล (ตรงนี้ควรเสริมว่า ‘รัฐบาลปัจจุบัน’ เพราะถ้าวันหนึ่งขั้วอำนาจเปลี่ยน นักการเมืองที่พวกเขาเกลียดกลับมามีอำนาจ เมื่อนั้นหลายคนก็จะพลันไม่ไว้ใจขึ้นมา) เวลาที่มีข่าวว่ารัฐพยายามขยายอำนาจการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชน ด้วยข้ออ้างคลาสสิก ‘เพื่อพิทักษ์ความมั่นคงแห่งชาติ’
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) อดีตที่ปรึกษาด้านไอทีกับข่าวกรองชาวอเมริกัน ผู้ออกมาแฉเรื่องโครงการสอดแนมประชาชนทั่วโลกของรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลให้ทุกวันนี้ยังต้องลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ทำลายความมีเหตุมีผล (อย่างผิวเผิน) ของประโยคนี้ลงอย่างราบคาบ ในปีค.ศ. 2015 เมื่อเขาตอบคำถามของผู้ชมทางบ้านว่า
“การเถียงว่าคุณไม่สนใจสิทธิความเป็นส่วนตัวเพราะคุณไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่ต่างจากการอ้างว่าคุณไม่สนใจสิทธิการแสดงออกเพราะคุณไม่มีอะไรจะพูด”
สโนว์เดนย้ำว่า คนที่ชอบยกประโยค “ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด…” ขึ้นมานั้นมักจะไม่เข้าใจฐานคิดของสิทธิมนุษยชน เพราะอันที่จริงไม่มีใครจำเป็นจะต้องหาเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมเขาหรือเธอจึง ‘ต้อง’ มีสิทธิ เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานติดตัวเราทุกคนมาแต่กำเนิด “ภาระการอธิบายเป็นของคนที่จ้องจะละเมิดสิทธินั้น” ต่างหาก
และแน่นอน การที่ใครสักคนหรือแม้แต่หลายคนไม่สนใจสิทธิความเป็นส่วนตัว ย่อมไม่ได้แปลว่าคนอื่นๆ ควรทำตาม และไม่ใช่ข้ออ้างความชอบธรรมใดๆ ที่จะให้รัฐหรือใครมาละเมิดสิทธิ
ความคิดที่แฝงอยู่ในประโยค “ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว” คือ “ถ้าไม่อยากมีปัญหากับการสอดแนมของรัฐ ก็อย่าทำอะไรผิด”
ฟังดูคล้ายกับคำพูดอื่นๆ อีกมากจากปากคนที่ไม่เข้าใจ ‘สิทธิ’ เช่น “ถ้าไม่อยากถูกข่มขืน ก็อย่าแต่งตัวโป๊” หรือ “ถ้าไม่อยากถูกขโมยขึ้นบ้าน ก็ต้องติดระบบรักษาความปลอดภัยแพงๆ”
คิดแบบนี้อันตรายและไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง เพราะผลักภาระมาให้ประชาชนตาดำๆ ที่สุ่มเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อ แทนที่จะไปกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานดีขึ้น ละเมิดสิทธิประชาชนน้อยลง
การยอมให้รัฐสอดแนมการสื่อสารของประชาชนทุกคนทุกเวลานั้น นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงที่จะถูกรัฐตีความ จับแพะชนแกะ และ ‘มโน’ เอาเองว่า คำพูดหรือพฤติกรรมของใครก็ตามที่ตนสอดแนมอยู่นั้นเป็นภัยคุกคามต่อ ‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ – ซึ่งยิ่งรัฐตีความ ‘ความมั่นคงแห่งชาติ’ กว้างขวางคลุมเครือเพียงใด ความเสี่ยงที่ว่านี้ก็ยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว
Orwell ประกาศจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนด้วยการโฆษณาตัวเองว่า ‘เกมรุกล้ำความเป็นส่วนตัวระทึกขวัญ’ (Privacy Invasion Thriller) จาก ออสโมติก สตูดิโอส์ (Osmotic Studios) ทีมนักออกแบบสายอินดี้จากเยอรมนี เกมนี้ฉายภาพหน้าตาของโลกที่การสอดแนมเหวี่ยงแหโดยรัฐกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ฉุกให้คิดเรื่องผลกระทบจากการป้องกันเหตุร้ายด้วยวิธี ‘คาดการณ์จากโปรไฟล์คน’ (predictive profiling) รวมถึงบทบาทของอคติและความลำเอียงต่างๆ เยี่ยงมนุษย์ปุถุชนในโลกออนไลน์
ประเทศสมมติชื่อ ‘เนชั่น’ (Nation แปลว่า ‘ชาติ’) เพิ่งประเดิมระบบรักษาความมั่นคงลับสุดยอดชื่อ ‘ออร์เวล’ (Orwell ตั้งชื่อตาม จอร์จ ออร์เวล ผู้แต่งนวนิยายอมตะเรื่อง ‘1984’ เกี่ยวกับโลกดิสโทเปียภายใต้ ‘บิ๊ก บราเธอร์’ ผู้ปกครองเผด็จการ) ระบบนี้สามารถสอดแนมและตรวจสอบการสื่อสารทุกรูปแบบของประชาชนทุกคนในเนชั่น ทั้งบทสนทนาทางโทรศัพท์ แชท อีเมล ฯลฯ และเข้าถึงคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือได้ทุกเครื่อง แต่เพื่อป้องกันการถูกครหาว่ารัฐละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน จึงใช้วิธีจ้างนักวิจัยนอกประเทศมาสำรวจข้อมูลต่างๆ ที่ถูกบันทึกผ่านระบบออร์เวล นักวิจัยมีหน้าที่ศึกษาและตัดสินใจว่าจะส่งข้อมูลชิ้นไหนให้กับหน่วยงานความมั่นคง
หน่วยงานความมั่นคงจะใช้เฉพาะข้อมูลที่นักวิจัยส่งให้เท่านั้นในการทำงาน ฉะนั้นการเลือกว่าจะส่งหรือไม่ส่งข้อมูลชิ้นไหน จึงสามารถชี้เป็นชี้ตาย ชี้ชะตาคนที่ถูกทางการเพ่งเล็งว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ หรือ ‘ผู้สมคบคิด’ กับขบวนการก่อการร้าย
เรา (คนเล่น) ผ่านการคัดเลือกจากบรรดาผู้สมัครหลายพันคน ได้เป็นนักวิจัยคนแรกของระบบออร์เวล แทบจะในทันทีที่เราเริ่มงาน เสียงระเบิดลูกแรกในเมืองหลวงของเนชั่นก็ดังขึ้น และชีพจรของผู้บริสุทธิ์หลายรายก็ดับลง
ระบบออร์เวลกับเราถูกคาดหวังว่าจะช่วยทางการจับคนร้ายได้ทันท่วงที ก่อนที่จะเกิดเหตุครั้งต่อไป
งานของเราเริ่มจากการสอดแนมและส่งข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลน่าสงสัยคนแรก – คาสซานดรา วอเตอร์เกท (Cassandra Watergate) ศิลปินผู้ถูกตำรวจจับเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ตอนที่เธอไปประท้วง ณ ฟรีดอม พลาซา (Freedom Plaza) สถานที่เดียวกันกับที่เกิดเหตุระเบิด
พันธกิจแรกของเรา ตามบัญชาของ ‘ไซม์ส์’ (Symes) เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุม คือการหาคำตอบว่าผู้ต้องหาคนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดครั้งนี้หรือไม่ ด้วยการติดตามอ่านข้อความในโซเชียลมีเดียของเธอทั้งปัจจุบันและย้อนหลัง ฟังบทสนทนาทางโทรศัพท์ ค้นไฟล์ต่างๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว – แน่นอนว่าทั้งหมดนี้โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว
เพียงไม่กี่นาที หลังจากที่เราเริ่มค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างคาสซานดรากับคนอื่นๆ ไซม์ส์ก็จะเปิดหน้าโปรไฟล์ของ ‘ผู้ต้องสงสัย’ คนอื่นๆ ให้ ทำให้เราต้องหาข้อมูลอีกมากมายเพื่อมาต่อจิ๊กซอว์ รวมถึงกลับไปศึกษาข้อมูลเดิมๆ ด้วย เพราะมันอาจไม่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องสงสัยคนเก่า แต่เกี่ยวข้องกับคนใหม่
ทุกข้อความหรือรูปภาพที่เราส่งเข้าระบบได้จะถูกไฮไลท์บนหน้าจอ เมื่อเอาเมาส์ไปวาง ระบบออร์เวลจะขึ้นกล่องข้อความสรุปข้อมูลให้ ถ้าเราประเมินว่าข้อมูลนั้นๆ เป็นประโยชน์ เราก็เพียงแต่คลิกแล้วลากข้อความไฮไลท์ไปยังกล่องโปรไฟล์ผู้ต้องสงสัยทางด้านซ้ายของจอ ไซม์ส์จะแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบทันทีต่อข้อมูลที่เราอัพเข้าระบบ บ่อยครั้งจะเป็นแค่ความคิดเห็นสั้นๆ อย่างเช่น “อืม ผมชอบหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน” แต่บางครั้งก็จะบอกเป็นนัยว่า ข้อมูลที่เราส่งไปนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครบางคนไปตลอดกาล
ไม่ช้าไม่นานเราจะเริ่มตั้งคำถามกับข้อมูลไฮไลท์ต่างๆ และถกเถียงกับตัวเองว่า ข้อมูลชิ้นนี้ ‘ส่อ’ ว่าผู้ต้องสงสัยคนนั้นมีส่วนร่วมกับเหตุก่อการร้ายจริงหรือเปล่า? ข้อมูลชิ้นนั้นจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับแพะชนแกะ หาเรื่องผู้บริสุทธิ์หรือไม่? เราจะได้รับรู้เรื่องราวส่วนตัวมากมายผ่านระบบออร์เวล เช่น เธอต้องรับประทานยารักษาอาการซึมเศร้าเป็นประจำ มีแฟนเป็นทนายที่ว่าความให้เธอหลุดคดีทำร้ายร่างกายตำรวจ (เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ) และเคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม ‘Thought’ (ความคิด) ซึ่งมีแนวความคิดที่ต่อต้านการสอดแนมของรัฐอย่างชัดเจน
แต่การมีความคิดเชิงต่อต้านรัฐก็เรื่องหนึ่ง การลงมือก่อการร้ายซึ่งทำให้คนบาดเจ็บล้มตายก็อีกเรื่อง ในฐานะผู้ใช้ระบบออร์เวล เรากำลังช่วยทำให้รัฐจับกุมตัวการได้อย่างทันท่วงที หรือว่ากำลังทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อน?
เรามีความผิดตั้งแต่สมัครมาทำงานนี้แล้วหรือเปล่า?
เกมนี้มีห้าตอนจบ แต่ละตอนในเกมเท่ากับหนึ่งวันในเวลาจริง ยิ่งเวลาผ่านไป งานของเราจะยิ่งยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเจอ ‘จุดขัดแย้ง’ นั่นคือ ข้อมูลสองชิ้นที่ขัดแย้งซึ่งกันและกัน และเราต้องเลือกว่าจะอัพโหลดเวอร์ชั่นไหนเข้าสู่ระบบ ครั้งแรกที่เราเจอจุดขัดแย้งอยู่ในบทสนทนา (แน่นอนว่าส่วนตัว) ระหว่างคาสซานดรา ผู้ต้องสงสัยรายแรก กับ ‘จูเลียต’ เพื่อนสาวของเธอ คาสซานดรากล่าวถึงตอนที่เธอทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ชนวนซึ่งทำให้เธอเคยถูกจับและมีประวัติ) ด้วยน้ำเสียงที่แสดงถึงความรู้สึกผิดอย่างชัดเจน แต่จูเลียตแย้งว่า เธอทำร้ายเขาเพื่อป้องกันตัวเพื่อนต่างหาก เราต้องเป็นคนตัดสินใจว่า จะส่งข้อมูลที่สะท้อนว่าคาสซานดรา ‘จงใจทำร้ายตำรวจ’ หรือส่งข้อมูลที่แสดงว่าเธอ ‘ทำร้ายตำรวจเพื่อปกป้องเพื่อน’
ความท้าทายในแง่ของระดับความอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อคนบางคนในบรรดา ‘ผู้ต้องสงสัย’ ที่เรากำลังสอดแนมทุกวิถีทางอยู่นั้นเริ่มไหวตัว เริ่มเข้าใจว่าพวกเขากำลังถูกรัฐจับตามอง และเราเริ่มมีทางเลือกว่าจะช่วยเหลือพวกเขา อย่างน้อยก็เท่าที่เราพอจะช่วยได้ หรือว่าจะทำตามคำสั่งไซม์ส์ต้อยๆ ต่อไป
ถ้ากลุ่มที่ต่อต้านนโยบายรัฐกลุ่มหนึ่งมีสมาชิกห้าคน สองในห้าไปลงมือทำในสิ่งที่เห็นชัดว่าเป็นการ ‘ก่อการร้าย’ เราจะเรียกกลุ่มนี้ทั้งกลุ่มว่า ‘กลุ่มก่อการร้าย’ ได้หรือไม่? ผู้นำกลุ่มควรรับผิดชอบด้วยหรือไม่ อย่างไร ?
‘ราคา’ ของความมั่นคงแห่งชาติแพงเกินไปแล้วหรือเปล่า? เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันแพงเพียงใดแล้ว?
Orwell ทั้ง ‘สมจริง’ และ ‘ทันสมัย’ – ทันสมัยเพราะสามารถสื่อสารประเด็นร้อนฉ่าอย่างการสอดแนมแบบเหวี่ยงแหของรัฐ สมจริงเพราะสามารถจำลองความมั่ว อิเหละเขละขละ ความหละหลวมไม่รัดกุมอันเป็นธรรมชาติของการสื่อสารส่วนตัว รวมถึงการใช้ศัพท์แสลงและคอมเม้นท์ ‘เกรียน’ ต่างๆ นานาที่เราคุ้นตาในโลกออนไลน์
หน้าตาของ interface ในเกมได้รับแรงบันดาลใจจากระบบ Total Information Awareness ซึ่งหน่วยงานข่าวกรองของรัฐบาลอเมริกาเคยใช้งานจริงๆ ในทศวรรษ 2000 แต่สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเกมนี้ทำได้ดีไม่แพ้กัน คือ การทำให้เราตระหนักถึงอันตรายของอคติและความลำเอียงต่างๆ ซึ่งอาจครอบงำความคิดและความรู้สึกของเราโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่เรามักจะ ‘ตัดสิน’ คนแบบง่ายๆ และมักง่าย คิดเอาเองว่าเขาหรือเธอเป็นคนแบบไหน จากข้อความหรือรูปภาพที่โพสเพียงไม่กี่ครั้ง
ทั้งที่ไม่เคยรู้จัก และคงไม่มีวันมาพยายามทำความรู้จักกันเลยในชีวิตจริง
การถ่ายทอดผลกระทบจากการอัพข้อมูลที่เป็นเพียงความจริงครึ่งเดียว หรือเป็นข้อมูลขำๆ ที่ไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ถูกนำไปจับแพะชนแกะจนผู้บริสุทธิ์ถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งคุกคาม และบางทีเราจะพบด้วยความตกใจว่า เราเคย ‘คิดผิด’ เกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยบางคน (เพราะถูกอคติ แบบฉบับ (stereotype) ความคิดเห็นของคนอื่น หรือคำพูดของไซม์ส์ อย่างใดอย่างหนึ่งครอบงำ) คือสิ่งที่ Orwell ทำได้ ‘เจ๋ง’ และทรงพลังที่สุดในเกม
ตัวละครและพล็อตเรื่องในเกมดู ‘แบน’ ไปนิด และฉากจบก็ธรรมดาไปหน่อย (ฉากจบมีหลายแบบ แต่ล้วนแต่เดาได้ตั้งแต่เล่นไปหนึ่งในห้า) แต่ผู้เขียนคิดว่าทีมออกแบบอาจตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น เพื่อความชัดเจนแจ่มแจ้งของประเด็นที่ต้องการจะสื่อสาร
อย่างน้อย เหตุก่อการร้ายในเกมนี้ก็เกิดขึ้นจริง มีคนตายจริง เจ็บจริง ฉะนั้นเราในฐานะคนเล่นก็อยากช่วยทางการควานหาตัวการ และป้องกันเหตุร้ายในอนาคตไม่ให้เกิดขึ้นอีก – คำถามเป็นเพียงเรื่องของ ‘วิธีการ’ เท่านั้น