ตกเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เมื่อ โจชัว หว่อง (Joshua Wong) นักการเมืองหนุ่มน้อยและผู้นำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยวัย 19 ปี จากฮ่องกง ถูกทางการไทยกักตัวระทึก 12 ชั่วโมงที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนจะส่งตัวเขากลับมาตุภูมิ วันรุ่งขึ้นโจชัวเข้าร่วมเสวนางานรำลึก 40 ปี 6 ตุลา 2519 ด้วยการสไกป์ออนไลน์แทน
งานนี้รัฐบาลไทยอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็อ้างว่าเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของสนามบินเอง ส่วนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบอกผู้สื่อข่าว เดอะ เนชั่น ว่า ชื่อของโจชัวอยู่ใน ‘แบล็กลิสต์’ ของรัฐบาล ตามคำขอของรัฐบาลจีน
ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร ไทยกลายเป็น ‘ลูกไล่’ ของรัฐบาลจีนจริงหรือไม่ (ยังไม่นับว่ามีมุมมองที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ ข่าว “โจชัว หว่อง กับสองมาตรฐานของเผด็จการทหารไทย” ใน South China Morning Post หนังสือพิมพ์ฮ่องกง) กรณีนี้ก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึก ‘เห็นใจ’ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (หมายถึงเจ้าหน้าที่ทั่วๆ ไป ไม่ใช่คนที่ตะคอกและข่มขู่โจชัวว่า “ที่นี่คือประเทศไทย ไทยเหมือนจีน ไม่เหมือนฮ่องกง!”)
ที่เห็นใจก็เพราะข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ไม่มีปากมีเสียง มักจะตกเป็น ‘แพะ’ หรือ ‘จำเลยสังคม’ หรือ ‘ที่ระบายอารมณ์’ ของผู้มีอำนาจเสมอมา
ชีวิตของข้าราชการชั้นผู้น้อยแขวนอยู่บนเส้นด้ายขนาดไหน วันๆ ต้องเจอกับอะไรบ้าง โดยเฉพาะในระบอบเผด็จการที่โดน ‘อำนาจพิเศษ’ อย่างมาตรา 44 สั่งเด้งได้ทุกเมื่อ ?
สัมผัสส่วนเสี้ยวของคำตอบได้ในเกมขนาดไม่ถึง 50 เมกะไบต์ ชื่อ Papers, Please ซึ่ง ลูคัส โป๊ป (Lucas Pope) ดีไซเนอร์เบื้องหลัง ประกาศว่ามันคือ ‘เกมเอกสารระทึกขวัญ’ (documentary thriller) เกมแรกและเกมเดียวของโลก!
เกมนี้เราเล่นเป็นเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ณ ชายแดนประเทศคอมมิวนิสต์สมมุติชื่อ ‘อาร์ทซ์ต็อทซ์ก้า’ ในปี ค.ศ. 1982 หรือสมัยที่กำแพงเบอร์ลินยังไม่พังทลาย โลกจริงยังตกอยู่ในสงครามเย็นระหว่างสองขั้วอำนาจ หน้าที่ของเราคือตรวจสอบหนังสือเดินทางและเอกสารประกอบของผู้มาเยือนแต่ละคนอย่างเคร่งครัด ตามระเบียบของ ‘กระทรวงหนังสือเดินทาง’ เพื่อตัดสินว่าจะประทับตราให้ ‘ผ่าน’ หรือ ‘ไม่ผ่าน’ ข้ามแดนเข้าประเทศ
ระเบียบเหล่านั้นก็มีตั้งแต่กล้วยๆ เช่น ดูว่าหน้าคนเหมือนรูปในหนังสือเดินทางหรือเปล่า เตรียมเอกสารมาครบหรือไม่ หนังสือเดินทางและวีซ่าหมดอายุแล้วหรือยัง ไปจนถึงเรื่องที่ยากกว่า เช่น ตรวจสอบชื่อเมืองที่ออกหนังสือเดินทาง และตราประจำประเทศต่างๆ กับเนื้อหาในคู่มือ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ใช่หนังสือเดินทางปลอม ตรวจสอบน้ำหนักจริงของผู้มาเยือนกับตัวเลขที่ระบุในเอกสาร เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้ลักลอบขนของผิดกฎหมายเข้ามา (ด้วยการพันเทปแปะของติดตัว) ตลอดจนต้องตรวจสอบคำให้การของผู้มาเยือนว่าตรงกับที่ระบุในเอกสารหรือไม่ ทั้งวัตถุประสงค์ของการมาเยือน และระยะเวลาที่จะพำนักในอาร์ทซ์ต็อทซ์ก้า
เกมจะค่อยๆ เพิ่มดีกรีความยาก เพิ่มระเบียบยิบย่อยหยุมหยิมมาทีละข้อสองข้อ เพื่อให้เรามีเวลาฝึกฝน แต่ระเบียบพวกนี้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์ทางการเมือง จู่ๆ อาจมีคำสั่งให้เราประทับตรา ‘ไม่ผ่าน’ ให้กับผู้มาเยือนทุกคนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศของเรากำลังมีเรื่องกับประเทศนั้นอยู่ก็เป็นได้
วิธีเล่นเกมนี้ง่ายมาก เพียงใช้เม้าส์ลากเอกสารต่างๆ จากหน้าต่างมากางที่โต๊ะ หาข้อผิดพลาดและเปรียบเทียบกับคู่มือ กดปุ่ม (หรือคีย์บอร์ด ถ้าจ่ายเงินในเกมซื้อทางลัด) เข้าโหมด ‘Inspect’ (ตรวจ) แล้วคลิกสองจุดที่สงสัยว่าขัดแย้งกัน เช่น คลิกหน้าคนตรงหน้า กับรูปในหนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนที่ดูเหมือนเป็นคนละคน เกมจะบอกเราเองว่าข้อมูลถูกต้องหรือว่ามีปัญหา
ปัญหาบางอย่างถ้าตรวจพบจะเปิดทางเลือกเพิ่ม เช่น ถ้าน้ำหนักตัวบนจอหนักกว่าที่แจ้งในเอกสาร หรือเพศที่ระบุในหนังสือเดินทางดูผิดจากตัวจริง ปุ่ม ‘ค้นตัว’ (search) จะโผล่ขึ้นมาให้เราเอ็กซ์เรย์ผู้มาเยือน เพื่อดูว่าซ่อนของผิดกฎหมายมาหรือไม่ หรือเป็นเพศชายหรือเพศหญิง ถ้าหน้าคนไม่ตรงกับในรูป หรือชื่อในวีซ่าไม่ตรงกับชื่อในหนังสือเดินทาง ปุ่ม ‘พิมพ์ลายนิ้วมือ’ จะโผล่ขึ้นมาให้เรายื่นแบบฟอร์มให้ประทับลายนิ้วมือ 5 นิ้ว ตรวจสอบกับฐานข้อมูลในระบบว่าเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม
กลไกเกมมีเพียงเท่านี้เอง ซึ่งเท่านี้ก็สนุกสนานอย่างไม่น่าเชื่อว่าการจำลองงานจำเจน่าเบื่อแบบนี้จะ ‘สนุก’ ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ Papers, Please เข้าขั้นคลาสสิก คือ การสอดแทรกเนื้อเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นและการตัดสินใจทางศีลธรรมเข้าไปในกลไกเกมอย่างแนบเนียน
ยกตัวอย่างเช่น เริ่มงานไปไม่นานเราจะได้รับการติดต่อจากกลุ่มกบฏ EZIC ซึ่งอยากให้เราช่วยโค่นรัฐบาลเผด็จการ ไม่ใช่ด้วยการทิ้งงานไปร่วมขบวนการติดอาวุธ แต่ด้วยการทรยศต่อหน้าที่ เช่น ขอให้เราอนุญาตให้สายลับของ EZIC ผ่านเข้าเมืองมาได้ทั้งที่เอกสารไม่ครบ หรือขอให้ยึดหนังสือเดินทางของนักการทูตต่างแดนไว้ ส่งต่อให้สายลับปลอมตัวเข้าเมืองมาแทน
ยิ่งเล่นไปเรื่อยๆ ยิ่งเจอสถานการณ์ที่จะบีบคั้นให้เราตัดสินใจ ตั้งแต่เรื่องการเมืองระดับชาติ จนถึงเรื่องเล็กน้อยที่รบกวนจิตใจยิ่งกว่า เพราะเป็นคนธรรมดาเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เราจะกักตัวผู้มาเยือนที่ทำผิดระเบียบเพียงเล็กๆ น้อยๆ และส่งตัวเขาเข้าคุก แลกกับการรับสินบนจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือไม่ (สินบนนั้นอาจทำให้ส่งลูกที่กำลังป่วยไปหาหมอได้)? เราจะแกล้งยึดหนังสือเดินทางต่างแดนจากคนแปลกหน้าที่ทำถูกระเบียบทุกอย่าง เพื่อเอาไปซื้อบริการปลอมหนังสือเดินทาง สร้างโอกาสให้เราและครอบครัวหนีออกนอกประเทศไปสร้างชีวิตใหม่หรือเปล่า? เราจะยอมประทับตรา ‘ผ่าน’ ให้กับชายชราที่มาอ้อนวอนขอความเห็นใจให้เข้าเมืองไปผ่าตัด แต่ไม่มีเงินจ่ายค่าทำวีซ่าหรือไม่?
แล้วผู้หญิงคนนั้นล่ะ คนที่ใช้เงินเก็บทุกบาททุกสตางค์หนีตามสามีมา เราจะใจอ่อนให้เธอ ‘ผ่าน’ ถึงแม้เอกสารจะไม่ครบหรือเปล่า?
การตัดสินใจทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อตัวเราและครอบครัวในเกม เพราะถ้าทำผิดระเบียบเกินสองครั้งในหนึ่งวัน เราจะถูกหักค่าจ้าง ซึ่งอาจทำให้คนในครอบครัวต้องอดข้าว หรือไม่มีไออุ่นจากเครื่องทำความร้อนจนล้มหมอนนอนเสื่อ (แต่ละ ‘วัน’ ในเกมจะจบลงด้วยการแสดงรายได้และค่าใช้จ่ายของครอบครัวให้ดู) และแน่นอนว่าถ้าเราตัดสินใจร่วมมือกับกลุ่มกบฏ ไม่ช้าไม่นานเราก็จะถูกทางการเพ่งเล็ง
Papers, Please มีทางเลือกมากมาย เราจะเล่นโดยไม่สนใจการเมืองในเกม หรือไม่แยแสต่อเสียงโอดครวญของผู้มาเยือนที่อ้อนวอนให้เราทำผิดระเบียบเลยก็ได้ พอครบหนึ่งเดือนหรือ 31 วันในเวลาเกม (หนึ่ง ‘วัน’ ใช้เวลาจริงประมาณ 6-7 นาที) เราก็จะเจอฉากจบที่เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการผู้จงรักภักดี แต่ถ้าเราตัดสินใจทำผิดระเบียบด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราก็อาจจะได้ฉากจบแบบอื่น บางแบบอาจทำให้เกมจบกะทันหันก่อนครบหนึ่งเดือนก็ได้
เกมนี้มีฉากจบทั้งหมด 20 แบบ จะได้ฉากไหนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในเกม ฉากจบที่มากขนาดนี้และการที่เกม “สุ่ม” ปัจจัยทั้งหมด ยกเว้นที่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องหลัก (เช่น สายลับของ EZIC จะมีชื่อเดียวกันทุกเกม) ทำให้ Papers, Please เชื้อเชิญให้เราเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อพยายามตามหาฉากจบให้ครบทั้ง 20 ฉาก
สิ่งที่น่าทึ่งที่สุด และทำให้เราพอจะเข้าใจ ‘หัวอก’ ของข้าราชการชั้นผู้น้อย คือ การตัดสินใจใน Papers, Please ทั้งหมดล้วนแต่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราในฐานะข้าราชการต๊อกต๋อย ระหว่างที่นั่งจมจ่อมอยู่ในห้องอุดอู้ ท่ามกลางคู่มือ ประกาศราชการ และเอกสารกองพะเนิน
เพียงประทับตรา ‘ผ่าน’ หรือ ‘ไม่ผ่าน’ เราอาจไม่รู้ตัวว่าได้ ‘เลือก’ ทำอะไรลงไป ไม่รู้ว่ามันส่งผลกระทบอย่างไรในวันหน้า เพราะไม่มีจุดไหนที่เกมดึงเราออกมาจากห้องอุดอู้ห้องนั้น มาบอกว่าเราตัดสินใจ ‘ถูก’ หรือ ‘ผิด’ ที่ประทับตรา ‘ผ่าน’ ให้กับผู้มาเยือนคนนั้น
ไม่มี ‘เสียงสวรรค์’ ใดๆ ลอยลงมาตั้งคำถามต่อมโนธรรมของเรา มีเพียงปฏิกิริยาจากผู้มาเยือนหลังจากที่เราคืนหนังสือเดินทางให้ กับความรู้สึกของตัวเราหน้าจอ ในฐานะคนเล่นเกมนี้เท่านั้นเอง
เรารู้สึกผิด ภูมิใจ ดีใจ สบายใจ โล่งอก โกรธแค้น เบื่อหน่าย หรือสิ้นหวัง?
อะไรสำคัญกว่ากัน สวัสดิภาพของครอบครัว หรือการโค่นล้มเผด็จการ? จำเป็นหรือเปล่าที่เราต้องเลือก? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจุดนั้นจะมาถึงตอนไหน?
ระบอบการปกครองแบบไหนกันที่บีบบังคับให้คนต้องเลือกระหว่างการไม่ทุจริต กับการดูแลครอบครัวให้อยู่ดีกินดี หรือระหว่างการปกป้องสิทธิมนุษยชน กับการเป็นข้าราชการที่ดี?
คำตอบของคำถามเหล่านี้อาจล่องลอยอยู่ในสายลม แต่การเริ่มต้นตั้งคำถาม ย่อมดีกว่าไม่เคยคิดจะถาม และเกมที่กระตุกให้เราเกิดคำถามเหล่านี้ได้ ย่อมเจ๋งกว่าบรรดา ‘เจ้านาย’ เจ้ายศ-เจ้าอย่าง-เจ้าระเบียบในระบบราชการเป็นร้อยเท่าพันทวี