ผมเริ่มเข้าใจความลำบากของผู้หญิงเมื่อต้องจูงมือภรรยาไปงานแต่งงานเพื่อนสนิท
ขณะที่ผมใช้เวลาเตรียมตัวแทบไม่ต่างจากวันไปทำงานตามปกติโดยสวมเพียงเบลเซอร์ราคาหลักพันทับชุดทำงาน ภรรยากลับต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษ แต่งหน้า ทำผม ใส่คอนแทคเลนส์ ยังไม่นับช่วงเวลาที่ต้องเตรียมชุด สรรหารองเท้าเข้าคู่กับกระเป๋าให้เข้ากับธีมซึ่งบางครั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวกำหนดแบบไม่เกรงใจแขกเหรื่อ
แน่นอนครับ เราอาจมองว่างานแต่งงานคือ ‘ช่วงเวลาพิเศษ’ แต่หากลองมองย้อนกลับมาในชีวิตประจำวัน ต้นทุนที่ต้องจ่ายในแต่ละวันของผู้หญิงไม่ได้หมดไปกับแค่เรื่องการกินอยู่และเดินทาง แต่ยังต้องใส่ใจเสื้อผ้าหน้าผม ยังไม่นับสารพัดครีมที่ต้องคอยบำรุงให้ผิวเนียนนุ่มน่าสัมผัสซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงาน แต่เป็นความคาดหวังต่อผู้หญิงที่พบได้ในแทบทุกสังคม
บางคนอาจจะเถียงว่าผู้ชายสมัยนี้ก็ต้องดูแลตัวเองไม่ต่างกัน ข้อโต้แย้งลักษณะนี้ดูจะนำไปสู่การต่อสู้ที่ไร้ข้อสรุปว่าต้นทุนในการดำรงชีพของเพศไหนแพงกว่ากัน
โชคดีที่เศรษฐศาสตร์มีคำตอบครับ! การศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์ของผู้หญิงนั้นนอกจากจะมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปอย่างไม่มีเหตุผลอันควรแล้ว ผู้หญิงยังเผชิญกับปัญหาช่องว่างทางรายได้โดยจะมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชาย นอกจากต้นทุนสูง รายได้ต่ำ ตัวชี้วัดสำคัญอย่างจีดีพียัง ‘ด้อยค่า’ การทำงานบ้านซึ่งผู้หญิงจำนวนมากต้องรับผิดชอบเป็นหน้าที่หลักแต่กลับถูกมองว่าไม่มีค่าใดๆ ในทางเศรษฐกิจ
คงไม่ผิดนักหากเราจะกล่าวว่า เกิดเป็นหญิงชีวิตจริงนั้นแสน ‘แพง’
ภาษีสีชมพู
นอกจากผู้หญิงจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายไปกับการกระทำตามความคาดหวังของสังคมแล้ว พวกเธอยังต้องเผชิญกับ ‘ภาษีสีชมพู (Pink Tax)’ ที่ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคมากกว่าผู้ชายโดยเปรียบเทียบ
ภาษีสีชมพูที่ว่านี้ไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนกับการเก็บภาษีผ้าอนามัยโดยรัฐ แต่เป็นการเลือกปฏิบัติด้านราคา (price discrimination) ของเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่และนักการตลาดที่ตั้งราคาสินค้าหรือบริการ ‘เฉพาะผู้หญิง’ สูงกว่าสินค้าหรือบริการแบบเดียวกันเป๊ะที่วางจำหน่ายทั่วไปหรือตั้งกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้ชาย
ตัวอย่างคลาสสิคคือใบมีดโกนยี่ห้อและรุ่นใกล้เคียงกัน ด้วยความสงสัย ผมก็เลยลองสืบค้นบนเว็บไซต์ร้านค้าปลีกในไทยแล้วนำมาหารเพื่อหาราคาต่อชิ้น พบว่าใบมีดโกนยี่ห้อดังสำหรับผู้ชายจะอยู่ที่ด้ามละ 27.5 บาท ส่วนใบมีดโกนสำหรับผู้หญิงในแพคเกจสีชมพูหวานแหววจะอยู่ที่ด้ามละ 29.8 บาท แพงกว่ากัน 2.3 บาท แม้จำนวนดังกล่าวอาจจะดูไม่ได้มากมายอะไร แต่หากคิดกลับเป็นเปอร์เซ็นต์แพงกว่ากันถึง 8.4 เปอร์เซ็นต์
แน่นอนครับว่าเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้จบแค่ใบมีดโกน เพราะสินค้าหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า สเปรย์ดับกลิ่นกาย ครีมบำรุงผิว เสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งปากกาก็ต่างออกผลิตภัณฑ์ ‘เฉพาะผู้หญิง’ ที่มีราคาแพงกว่าสินค้าทั่วไปมากบ้างน้อยบ้าง
การสำรวจผลิตภัณฑ์กว่า 800 ชนิดที่มีแบ่งประเภทระหว่างชายกับหญิงอย่างชัดเจนโดยรัฐนิวยอร์กเมื่อ พ.ศ. 2558 พบว่าผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงจะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชายราว 7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เสื้อผ้าของผู้หญิงจะมีราคาแพงกว่าเสื้อผ้าผู้ชายราว 8 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าอยู่ในหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวหน้าและผิวกาย ส่วนต่างดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 13 เปอร์เซ็นต์ส่งผลให้ต้นทุนที่ต้องจ่ายในการดำรงชีวิตของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายเพียงเพราะเธอเกิดมาเป็นผู้หญิง
ความน่ากลัวของภาษีสีชมพูคือการซ่อนตัวอย่างมิดชิด
โดยคิดเป็นสัดส่วนเล็กน้อยที่หากไม่ทันสังเกตอย่างถี่ถ้วน
ก็อาจจ่ายแพงกว่าโดยไม่รู้ตัว
ความน่ากลัวนี้เองที่นำไปสู่การผลักดันกฎหมายขจัดภาษีสีชมพูในรัฐนิวยอร์กที่สั่งห้ามไม่ให้ร้านค้าปลีก ค้าส่ง ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายตั้งราคาสินค้าหรือบริการที่มีลักษณะ “คล้ายกันอย่างยิ่ง” แตกต่างกันตามเพศของกลุ่มเป้าหมายของสินค้าหรือบริการนั้นๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากเหล่านักการตลาดหัวใสและแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติด้านราคา
โทษทัณฑ์จากความเป็นแม่
นอกจากผู้หญิงจะต้องจ่ายแพงกว่าเพราะภาษีสีชมพูแล้ว ผู้หญิงยังมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายแม้ว่าจะมีประสบการณ์ทำงานและพื้นฐานทางการศึกษาใกล้เคียงกัน หรือเรียกว่าช่องว่างรายได้ระหว่างชาย-หญิง (Gender Pay Gap) ซึ่งทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา
สถิติหนึ่งที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในการประเมินช่องว่างระหว่างรายได้ คือการเปรียบเทียบค่ามัธยฐานของรายได้ระหว่างชายและหญิงในแต่ละประเทศ หากประเทศใดที่มีความเท่าเทียมระหว่างเพศสูงตัวเลขดังกล่าวก็ควรมีค่าใกล้เคียงกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับน่าตกใจเพราะช่องว่างดังกล่าวในประเทศพัฒนาแล้วอย่างประเทศเกาหลีใต้ถ่างกว้างถึง 32.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียอย่างนอร์เวย์มีรายได้เฉลี่ยของชายและหญิงต่างกันเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศโออีซีดีอยู่ที่ 12.8 เปอร์เซ็นต์
สงสัยไหมครับว่าความแตกต่างนั้นเกิดจากอะไร?
จะเป็นเรื่องความสามารถในการทำงานก็ไม่น่าจะใช่เพราะผู้หญิงที่เก่งกว่าผู้ชายก็มีอยู่เยอะแยะ แถมเนื้องานในปัจจุบันก็ไม่ได้อิงรายได้กับ ‘แรงกาย’ เฉกเช่นในสมัยเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมยุคแรกๆ ส่วนเรื่องการศึกษานี่แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะช่องว่างทางการศึกษาที่ผู้หญิงเคยถูกกีดกันได้หดหายไปเนิ่นนานแล้วโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศร่ำรวยที่ผู้หญิงแซงหน้าโดยมีระดับการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชายเสียด้วยซ้ำ
การศึกษาชิ้นล่าสุดในประเทศเดนมาร์กโดยสามนักเศรษฐศาสตร์เผยเบื้องหลังช่องว่างระหว่างรายได้ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง เพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถ การศึกษา หรือประสบการณ์ แต่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนสถานะจากผู้หญิงสู่การเป็นแม่โดยการให้กำเนิดลูกคนแรก
แม้ว่าประเทศเดนมาร์กจะมีสวัสดิการพ่อแม่และครอบครัวที่โดดเด่น แต่การศึกษาพบว่าการคลอดลูกคนแรกจะส่งผลกระทบอย่างยาวนานและรุนแรงต่อเส้นทางอาชีพของคุณแม่มือใหม่โดยส่งผลให้รายได้ลดลงราว 20 เปอร์เซ็นต์ในระยะยาว อีกทั้งยังกระทบต่อการตัดสินใจหางาน จำนวนชั่วโมงที่ทำงาน รวมถึงประเภทของงานที่ทำซึ่งจะต้องยืดหยุ่นและสอดคล้องกับการมีเวลาดูแลลูกๆ ในทางกลับกัน
การมีลูกคนแรกนั้นแทบไม่กระทบใดๆ ต่อรายได้ของคุณพ่อ
นอกจากนี้ การเป็นคุณแม่ยังต้องเผชิญกับอคติในที่ทำงาน เพราะเพื่อนร่วมงานและหัวหน้ามองว่าเธอไม่อาจทุ่มเทกับงานได้อีกต่อไป ส่งผลให้มีโอกาสเลื่อนขั้นขึ้นเงินเดือนน้อยกว่าทั้งที่มีความสามารถสูงกว่าเพื่อนร่วมงานก็ตามโดยการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่าคุณแม่จะมีรายได้น้อยกว่าคุณพ่อถึง 70 เปอร์เซ็นต์
ภาวะดังกล่าวเรียกว่า ‘โทษทัณฑ์จากความเป็นแม่ (Motherhood Penalty)’ ที่มีสาเหตุจากบรรทัดฐานทางสังคมที่มองว่าแม่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลลูก หรือตัวคุณแม่เองก็ยินยอมพร้อมใจเสียสละความก้าวหน้าในอาชีพการงานเพื่อให้เวลากับเด็กๆ ในบ้าน แต่การตัดสินใจดังกล่าวก็อาจเกิดจากบรรทัดฐานของสังคมที่เติบโตมาอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เป็นการยากที่จะตัดสินว่าการเลือกเปลี่ยนเส้นทางอาชีพเพื่อให้สามารถเลี้ยงดูลูกได้นั้นเป็นเรื่องถูกหรือผิด แต่อย่างน้อยเราก็ควรตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับ สนับสนุน หรือชดเชยการเสียสละเพื่อเลี้ยงดูเด็กๆ ในครอบครัว
จีดีพีที่ไม่ให้ค่า ‘งานบ้าน’
นอกจากผู้หญิงจะมีราคาที่ต้องจ่ายในชีวิตประจำวันสูงกว่า รายได้ต่ำกว่า พวกเธอยังจะถูกนักเศรษฐศาสตร์ ‘ด้อยค่า’ งานบ้านเพราะการดูแลทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ซักผ้ารีดผ้า รวมถึงการเลี้ยงดูเด็กๆ กลับไม่ถูกนับรวมในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจยอดฮิตอย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product) หรือจีดีพี เรียกว่าทุ่มเทเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครเห็นเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ผมเคยอ่านมุกตลกไม่น่ารักที่ชวนให้ขำทั้งน้ำตาในแวดวงเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งชายเป็นใหญ่) ว่านักเศรษฐศาสตร์ที่มีเหตุมีผลจะไม่แต่งงานกับสาวใช้ เนื่องจากจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเพราะทำให้จีดีพีลดลงแถมยังกระทบต่อการจ้างงาน!
หากใครอ่านแล้วยังไม่เก็ท ผมขออธิบายอย่างนี้ครับ
ก่อนแต่งงาน ความสัมพันธ์ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์กับสาวใช้คือนายจ้างและลูกจ้าง ดังนั้นสาวใช้จะเป็นผู้มีงานทำ และมีรายได้จากการให้บริการทำความสะอาดซึ่งจะถูกนับรวมอยู่ในจีดีพี
หลังแต่งงาน ความสัมพันธ์ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์กับสาวใช้จะกลายเป็นสามีและภรรยา หากเขาตัดสินใจให้ผู้หญิงทำงานบ้านเช่นเดิม สาวใช้คนนั้นจะถูกเปลี่ยนสถานะเป็นบุคคลที่อยู่นอกกำลังงานเพราะไม่ได้หางานทำ แถมเงินที่สามีให้ยังไม่ถูกนับรวมในจีดีพีเพราะเป็นการ ‘ให้โดยเสน่ห์หา’ ซึ่งถือเป็นเงินโอนที่ไม่นับรวมในจีดีพี
แม้เราจะถูกปลูกฝังอย่างหนักแน่นว่าบ้านและครอบครัว
คือพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาพลเมือง แต่ตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุด
ในระบอบทุนนิยมกลับมองข้ามมูลค่าของงานบ้านอย่างสิ้นเชิง
การทำงานบ้านจึงไม่ต่างจากการปิดทองหลังพระ ที่นอกจากจะเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานทางอ้อมให้ทุกคนในบ้านกินอิ่ม นอนอุ่น เสื้อผ้าสะอาด ยังเป็นการสร้างทุนมนุษย์ผ่านการบ่มเพาะอนาคตของชาติโดยที่ไม่มีใครมองเห็น
การที่งานบ้านเหล่านี้ไม่ถูกตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงบางคนถูกดูแคลนหรือรู้สึกด้อยค่า เพราะมันนำไปสู่ทัศนคติที่บิดเบี้ยวว่าผู้หญิงและลูกๆ มีกินมีใช้เพราะพ่อขยันทำมาหาเงินเพียงลำพัง โดยมองข้ามว่าการที่ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เพราะมีฝ่ายสนับสนุนคนสำคัญที่ทำงานหนักไม่ต่างกันเพียงแต่ที่ทำงานของเธออยู่ที่บ้าน
นักเศรษฐศาสตร์มีความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะตีมูลค่างานบ้านให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็มีข่าวน่าประหลาดใจจากประเทศจีน เมื่อศาลมีคำสั่งให้ชายคนหนึ่งชดใช้เงินแก่อดีตภรรยาค่าทำงานบ้านตลอด 5 ปีที่แต่งงานร่วมกันคิดเป็นเงิน 7,700 ดอลลาร์สหรัฐหรือราวสองแสนบาท นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่ยืนยันแก่คุณแม่บ้านทุกคนว่างานบ้านที่ทำทุกวันนั้นไม่ได้ไร้มูลค่าทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับความดันทุรังที่จะต้องเปลี่ยนมูลค่าทุกอย่างเป็นเงินแล้วบวกรวมเข้าไปในจีดีพี โดยมองว่าเรายังมีทางเลือกอื่นในการวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ข้อเสนอให้ใช้ตัวชี้วัดเป็น ‘เวลา’ แทนที่จะเป็นรายได้ หรือการคิดค้นดัชนีชี้วัดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ ซึ่งจีดีพีไม่ตอบโจทย์
จากทั้งสามประเด็นที่สะท้อนว่าเกิดเป็นหญิงชีวิตจริงนั้นแสนแพง บางปัญหาแก้ไขได้ด้วยออกกฎหมายควบคุม ข้อเสียเปรียบบางอย่างสามารถบรรเทาได้ด้วยสวัสดิการของรัฐ ส่วนภาระหนักหนาที่บ้านอาจแก้ไขยุ่งยากในระดับนโยบายแต่สามารถแบ่งเบาได้ง่ายๆ เพียงผู้ชายเข้าไปร่วมรับผิดชอบ
ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศที่มีมาเนิ่นนานคงไม่อาจแก้ไขได้ในชั่วพริบตา แต่ทุกอย่างต้องเริ่มจากการปรับความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อหาทางออกที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างสองเพศให้เท่าเทียม
อ่านเพิ่มเติม
An Economic Analysis of The Pink Tax
The Pink Tax: Economic Gender Discrimination
Children and Gender Inequality: Evidence from Denmark
How much is doing the household chores worth?
Women’s unpaid work must be included in GDP calculations: lessons from history