ในตอนที่ผ่านๆ มา เราได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่น่าจะเอามาทำเป็นงานศิลปะ มาทำเป็นงานศิลปะไปได้ ตั้งแต่ของพื้นๆ อย่างอาหารการกิน ไปจนถึงของที่คนส่วนใหญ่ต้องเบือนหน้าหนีอย่าง โถฉี่, ส้วม, ซากศพ หรืออวัยวะซ่อนเร้นที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึงอย่าง โยนี ก็มีคนเอาไปทำเป็นศิลปะมาแล้ว
ในคราวนี้เราขอพูดถึงสิ่งที่คนทั่วไปไม่คิดว่าจะมีใครเอามาทำงานศิลปะ แต่ก็ถูกหยิบเอามาทำงานศิลปะไปได้เหมือนกัน สิ่งนั้นคือสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตหลากชนิด โดยเฉพาะมนุษย์อย่างเราๆ นั่นคือ ‘เลือด’ นั่นเอง
เลือด นอกจากจะทำหน้าที่หล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายสิ่งมีชีวิตแล้ว ในเชิงวัฒนธรรม เลือดมีความหมายในเชิงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอารยธรรมยุคโบราณในหลายประเทศในโลกอย่าง อินคา, มายา และ แอซแทก หรือแม้แต่ในเอเชียเอง ก็มีการบูชายัญเพื่อเซ่นสังเวยเทพเจ้าด้วยเลือดสดๆ ในพิธีศีลมหาสนิทของศาสนาคริสต์ ไวน์ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนพระโลหิตของพระเยซู ในยุคโบราณเลือดมีความหมายเชิงสังคม ในฐานะสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์สูงส่งของเผ่าพันธุ์ การสมรสต่างสายเลือดหรือเผ่าพันธุ์หรือแม้แต่การถ่ายเลือดจึงเป็นความแปดเปื้อนและต้องห้าม
ในโลกศิลปะตะวันตกยุคโบราณ เลือด ถูกแสดงออกในภาพวาดศาสนตำนาน พระทรมาน การสิ้นพระชนม์ของพระเยซู หรือมรณสักขี (การถูกทรมานและฆ่าเพราะความเชื่อ) ของนักบุญและเหล่าคริสต์ศาสนิกชน จิตรกรเอกชาวอิตาเลียนในยุคบาโร้ก อย่าง คาราวัจโจ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่แสดงออกถึงเลือดและความรุนแรงในภาพวาดทางศาสนาของเขาได้อย่างโดดเด่น
แต่ในโลกศิลปะร่วมสมัย เลือด ไม่ได้ถูกนำมาแสดงออกในภาพวาดเพียงเท่านั้น หากแต่มันถูกหยิบเอามาทำเป็นสื่อ (medium) หรือวัตถุดิบในการทำงานศิลปะแบบตรงไปตรงมากันเลย
อาทิเช่น ผลงานของศิลปินสื่อผสมและศิลปะแสดงสด แฮร์มานน์ นิตช์ (Hermann Nitsch) แห่ง กลุ่ม Viennese Actionists กลุ่มศิลปินที่เป็นที่รู้จักจากการทำงานศิลปะการแสดงสดสุดอื้อฉาวโชกเลือด ที่สังเวยชีวิตและเลือดเนื้อของสัตว์ด้วยการฉำแหละมันเป็นชิ้นๆ
ผลงาน Blood Picture (1962) ของ นิตช์ นับเป็นภาพแรกๆ ที่วาดขึ้นด้วยเลือดสดๆ โดยเขานำผ้าใบไว้ในเลือด แล้วเอาขึ้นมาปล่อยทิ้งไว้ให้เลือดแห้งกรังจนดูคล้ายกับผ้าพันแผลเปื้อนเลือด แล้วนำเลือดมาเทลงไปอีกครั้ง ซึ่งการใช้เลือดในผลงานของเขาแสดงออกถึงการเซ่นสังเวยและการไถ่บาปไปพร้อมๆ กัน
หรือกลุ่มศิลปินหน้าใหม่รุ่นเยาว์ของอังกฤษในช่วงปลายยุค 1980s ที่มีชื่อเรียกว่า Young British Artists หรือ YBAs ที่หยิบเอาสิ่งของต้องห้ามที่คนส่วนใหญ่ชิงชังจนต้องเบือนหน้าหนีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปฏิกูล เลือด ซากศพ ความตาย ไปจนถึงเรื่องราวส่วนตัวที่คนทั่วไปปกปิดซ่อนเร้น อย่างประเด็นทางเพศอันโจ่งแจ้งล่อแหลม ความลามกอนาจารและความผิดเพี้ยนพิลึกพิลั่น มาทำเป็นงานศิลปะสุดอื้อฉาว ด้วยการปฏิเสธสื่อและวัสดุทางศิลปะตามแบบแผนเดิม แต่มุ่งนำเสนอความน่าตื่นเต้น ความช็อก ความแปลกแหวกแนว ความบ้าคคั่ง ท้าทาย ความจะแจ้ง รุนแรง ไปจนถึงความลามกอนาจาร เพื่อผลักดันศิลปะให้ทะลุกรอบกฎเกณฑ์และขีดจำกัด
ดังเช่นในนิทรรศการที่แสดงในสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติอย่าง รอยัล อะคาเดมี ออฟ อาตส์ (Royal Academy of Art) ในลอนดอน ที่มีชื่อว่า Sensation (น่าตื่นเต้น) (1997) (ชื่อก็บอกกันโต้งๆ อยู่แล้วว่าต้องการนำเสนอเรื่องอะไร) ที่ประกอบด้วยผลงานศิลปะที่ชวนช็อก รบกวนจิตใจ แต่ก็ดึงดูดความสนใจอย่างคาดไม่ถึง ผลงานเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการท้าทายนิยามเดิมๆ ของศิลปะอย่างรุนแรง และหลายผลงานในนิทรรศการนี้ มีวัตถุดิบสุดแสนจะอื้อฉาวอย่าง เลือด เป็นองค์ประกอบสำคัญ
ไม่ต้องพูดถึงผลงานของศิลปินคนสำคัญในกลุ่มอย่าง เดเมียน เฮิร์สต์ เพราะงานของเขานั้นเต็มไปด้วยเลือดและความตายอยู่แล้ว ซึ่งผลงานของสมาชิกสำคัญอีกคนของกลุ่มอย่าง เทรซี เอมิน อย่าง My Bed (1998) ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เธอยกเอาเตียงนอน ที่ใช้เวลาหลายอาทิตย์ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหาร นอนหลับและหลับนอนมีเพศสัมพันธ์ ในระหว่างที่เธอกำลังมีประจำเดือน อยู่บนเตียงนั้น (คงไม่ต้องบอกว่าผ้าปูที่นอนจะเละเทะขนาดไหน!) มาวางไว้ในหอศิลป์ นอกจากจะเกลื่อนไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างขวดเหล้า ซองบุหรี่ และรองเท้าแตะแล้ว ยังมีหลอดเจลหล่อลื่น ถุงยางใช้แล้ว บนเตียงก็ยังมีชุดชั้นในและผ้าอนามัย (แบบสอด) ชุ่มโชกเลือดประจำเดือน วางทิ้งเอาไว้ให้เห็นกันจะจะอีกด้วย
หรือผลงานสุดอื้อฉาว มาร์ก ควินน์ (Marc Quinn,1964) อย่าง Self (1991) ประติมากรรมรูปศีรษะมนุษย์สีแดงสดที่หล่อขึ้นจากเลือดของเขาเอง โดยควินน์ ค่อยๆ สะสมเลือดของเขาทีละนิดทุกวัน เป็นเวลา 5 เดือน เอามารวมกันจนได้ปริมาณ 4.5 ลิตร จากนั้นนำมาหล่อในแบบพิมพ์ที่ถอดแบบจากศีรษะของเขาเอง และนำไปแช่แข็งรักษาอุณหภูมิในตู้เย็นที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษเพื้อป้องกันไม่ให้มันละลาย ควินน์จะทำงานศิลปะชิ้นนี้ของขึ้นใหม่ในทุกๆ 5 ปี (ทำบ่อยๆ เลือดก็หมดตัวตายกันพอดี!)
ผลงานชิ้นนี้ของเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปินชั้นครูในอดีตอย่าง เรมบรันด์ ที่วาดภาพเหมือนของตัวเองในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิต ทำให้เราสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงของศิลปินผ่านกาลเวลา รวมถึงเป็นการเฝ้าติดตามสำรวจหาความหมายและการแสดงออกในมุมมองต่างๆ ของชีวิตมนุษย์ผ่านศิลปะ วิทยาศาสตร์ และร่องรอยส่วนตัวของศิลปินเอง
ควินน์วางแผนจะทำผลงานประติมากรรมทำจากเลือดของเขาออกมาอย่างต่อเนื่องไปจนวันที่เขาตาย โดยเขาวางแผนเอาไว้ว่าผลงานชิ้นสุดท้ายในชุดนี้จะถูกหล่อขึ้นจากเลือดจำนวนสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในร่างกายหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว
หรือผลงานของ ศิลปินช่างภาพชาวอเมริกัน แอนเดรส เซอร์ราโน (Andres Serrano) ผู้มีชื่อเสียงจากผลงานภาพถ่ายสุดอื้อฉาว โดยภาพถ่ายหลายชิ้นของเซอร์ราโน มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับของเหลวในร่างกายมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น เลือด (ทั้งเลือดธรรมดาและเลือดประจำเดือน) อสุจิ, ฉี่ หรือน้ำนมแม่ ผลงานบางชุดของเขามักจะเป็นภาพถ่ายสิ่งที่ถูกแช่อยู่ในของเหลวเหล่านั้น เช่นในผลงาน Piss Christ (1987) ที่โด่งดังที่สุดของเขา ซึ่งเป็นภาพถ่ายของพระเยซูพลาสติกบนไม้กางเขนที่แช่อยู่ในฉี่ของเขาเอง
นอกจากนั้นเขายังนำของเหลวจากร่างกายมาผสมผสานทำปฏิกิริยาต่อกันแล้วถ่ายภาพ (ซึ่งดูๆ ไปก็คล้ายกับเป็นภาพวาดแบบนามธรรมอยู่ไม่หยอกเหมือนกัน) ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายเลือดผสมกับอสุจิ ในผลงาน Blood and Semen หรือภาพถ่ายเลือดผสมกับฉี่ ในผลงาน Piss and Blood หรือภาพถ่ายเลือดกับน้ำนมในผลงาน Milk and Blood ผลงานภาพถ่ายการผสมของเหลวต่างๆ ในร่างกายเข้าด้วยกัน (ซึ่งโดยปกติมักจะเป็นเรื่องต้องห้ามในหลายวัฒนธรรม) งานของเซอร์ราโนชุดนี้ เป็นการแสดงถึงสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตและความตายนั่นเอง และผลงานชุดนี้นี่เอง ที่ไปเตะตาโดนใจวงดนตรีแทรชเมทัลชื่อดังชาวอเมริกันอย่าง Metallica จนหยิบเอาผลงาน Blood and Semen II (1990) ไปใช้เป็นปกอัลบั้มของในปี 1996 อย่าง Load และยังหยิบเอาผลงาน Piss and Blood XXVI (1987) ของเซอร์ราโน ไปใช้เป็นปกอัลบั้มในปีถัดมาอย่าง Reload อีกด้วย
หรือผลงานของศิลปินอเมริกัน จูดี้ ชิคาโก้ (Judy Chicago) อย่าง Menstruation Bathroom (1972) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการศิลปะจัดวาง Womenshouse ของกลุ่มศิลปินเฟมินิสต์ ในลอสแอนเจลิส ที่ประกอบด้วยห้องน้ำที่มีผ้าอนามัยทั้งแบบแผ่นและแบบสอดชุ่มโชกเลือดประจำเดือนอัดแน่นอยู่ในถังขยะ และตกแผละอยู่ตามพื้นห้องน้ำ ซึ่งผ้าอนามัยโชกเลือดนี้เปรียบเสมือนเครื่องหมายของความเป็นสัตว์ ที่สตรีเพศมิอาจลบล้างออกจากตัวเองได้
ศิลปินอเมริกันอย่าง แคโรลี คนีแมนน์ ใน Blood Work Diary (1972) ที่ประกอบด้วยทิชชู่ซับเลือดประจำเดือนในหนึ่งรอบเดือน โดยเธอทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อเป็นการโต้ตอบความรู้สึกรังเกียจของบรรดาเพศชายที่มีต่อประจำเดือนของผู้หญิง
หรือผลงานของศิลปินอเมริกัน พอร์เชีย มันสัน (Portia Munson) อย่าง Menstrual Print (1990s) ที่ทำภาพพิมพ์จากเลือดประจำเดือนในแต่ละเดือนเป็นเวลา 8 ปี ด้วยการประทับกระดาษลงบนหว่างขาในระหว่างที่เลือดประจำเดือนกำลังไหลออกมา กระดาษบางแผ่นมีชุดข้อความที่บรรยายเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับประจำเดือน พิธีกรรม รวมถึงความคิดที่เชื่อมโยงกับการมีประจำเดือน โดยเธอแสดงภาพพิมพ์เลือดประจำเดือนนี้เรียงกันในรูปตารางคล้ายราวกับเป็นปฏิทินของรอบเดือน
หรือผลงานของศิลปินอเมริกัน คริสเทน คลิฟฟอร์ด (Christen Clifford) อย่าง I WANT YOUR BLOOD (2013) ที่ศิลปินใช้เวลาหนึ่งปี สะสมเลือดประจำเดือนจากผู้หญิงหลายคน และรวบรวมมาใช้ในการทำศิลปะการแสดงสด โดยมีอาสาสมัครเพศชายนอนเปลือยกายให้เธอเอาเลือดประจำเดือนเทต่างสี และใช้ร่างกายของพวกเขาต่างพู่กันละเลงเลือดลงบนผืนผ้าใบ ผลงานชิ้นนี้ นอกจากจะทำเพื่อโต้ตอบผลงานของศิลปินชาวฝรั่งเศส อีฟว์ คไลน์ (Yves Klein) ที่ใช้สีน้ำเงินละเลงร่างกายของหญิงสาวและใช้ร่างกายของพวกเธอละเลงสีลงบนผ้าใบต่างพู่กันแล้ว ยังเป็นการลบล้างอคติที่มองเลือดประจำเดือนเป็นของต่ำและเป็นสิ่งสกปรก ทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองเลือดแห่งความเป็นวัยเจริญพันธุ์ของสตรีเพศอีกด้วย
หรือผลงานของ ซาราห์ เลวี (Sarah Levy) ศิลปินอเมริกันที่ทำงานศิลปะเพื่อตอบโต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้มีทัศนคติรังเกียจและดูถูกเพศหญิง โดยเขาแสดงความเห็นในเชิงดูหมิ่นนักข่าวหญิง เมแกน เคลลี (Megyn Kelly) เกี่ยวกับ ‘เลือด’ ในการอภิปรายทางการเมืองครั้งหนึ่ง เลวีแสดงการโต้ตอบทรัมป์ด้วยการใช้เลือดประจำเดือนของเธอเป็นสีวาดภาพเหมือนของเขาออกมา
ไม่เพียงแค่ในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของโลกตะวันตก วงการศิลปะร่วมสมัยของไทยเองก็มีการใช้เลือดเป็นวัตถุดิบในการทำงานศิลปะเช่นเดียวกัน
อาทิ ผลงานของศิลปินไทย โฆษิต จันทรทิพย์ ในปี 1994 ที่ทำศิลปะการแสดงสดด้วยการให้พยาบาลสูบเลือดของเขาออกมาไหลเวียนในหลอดแก้วที่ดัดเป็นรูปทรงของคำว่า ‘LOVE’ โดยมีภาพวาดของเขาและคนรักที่วาดด้วยเลือดของเขาเองแสดงอยู่ด้านหลัง
หรือในนิทรรศการในปี 2016 อย่าง ALLERGIC REALITIES ที่โฆษิตใช้เลือดของตัวเองวาดภาพเหตุการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์หลายยุคสมัยทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภาพเด็กหญิงชาวเวียดนามร่างกายเปลือยเปล่าที่กำลังวิ่งหนีเปลวไฟจากระเบิดนาปาล์ม, ภาพนายพลเวียดนามจ่อยิงเวียดกงกลางแจ้ง, ภาพพระเวียดนามเผาตัวเองประท้วงรัฐบาล. ภาพขบวนการเหยียดผิวหัวรุนแรงอย่าง คู คลักซ์ แคลน หรือแม้แต่ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ด้วยการใช้ลวดลายจุดของการพิมพ์ระบบออฟเซ็ต ที่เรียกกันว่า Benday Dots (ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ให้ลองเอาแว่นขยายไปส่องภาพบนหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารดู) ที่แสดงถึงต้นตอของภาพซึ่งเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ให้เราได้พบเห็นเป็นธรรมดาในสื่อต่างๆ ทั้งจากหนังสือพิมพ์, นิตยสาร หรืออินเทอร์เน็ต ผนวกกับการใช้เลือดสดๆ ของศิลปินระบายทับลงไปบนภาพข่าวเหล่านั้น ราวกับจะเป็นการบอกเรากลายๆ ว่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินั้นไม่เคยว่างเว้นจากการนองเลือดเลยแม้แต่น้อย
หรือผลงานของศิลปินไทยรุ่นใหม่ ดริสา การพจน์ หรือที่รู้จักกันในฉายา Riety ในนิทรรศการครั้งล่าสุดของเธออย่าง Vein/Vain (ยังจัดแสดงอยู่ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน ที่ร้าน Daydream Believer อารีย์ (พหลโยธิน 12)) ที่นำเอาเลือดสดๆ จากร่างกายของนางแบบ 15 คน มาใช้แทนสีวาดภาพของนางแบบเหล่านั้นออกมา ที่เธอทำเช่นนี้ก็เพราะเธอพบว่า เลือดสามารถใช้เป็นสีในการวาดภาพได้
นอกจากนั้นเธอยังต้องการเก็บเอาความงามในวัยสาวสะพรั่งของนางแบบเหล่านั้นให้เป็นอมตะ ราวกับหยุดเวลาเอาไว้ในภาพที่วาดด้วยเลือดเหล่านี้
อนึ่ง บทความนี้เป็นส่วนเพิ่มเติมจากการเสวนา ‘BLOOD IN ART การใช้เลือดในงานศิลปะ’ โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ และ พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ แห่งเพจ ศิลปะเข้าใจยากจริงหรือ? ในวันเปิดนิทรรศการ Vein/Vain วันที่ 16 มิถุนายน 2018
อ้างอิงข้อมูลจาก