อย่างน้อยๆ ก็ในประเทศไทย (แต่จริงๆ คงหลายประเทศแหละ) สัญญาทางการเมืองแบบเดียวที่เราพอจะคาดหวังได้ ก็คือ ‘การสัญญาว่าจะไม่รักษาสัญญา’ ที่แม้จะไม่ได้ถูกพูดออกมาตรงๆ แต่ก็ทำกันเป็นวิถีจนเราแทบจะคาดหวังกับมันได้ว่า “เออ ถ้าบอกว่าสัญญา เดี๋ยวก็จะต้องมีการผิดสัญญาเกิดขึ้นตามมา” การผิดสัญญานี้มีขึ้นในทุกระบอบการเมืองแหละครับ ในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งก็มีให้เห็นตลอดเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่การเมืองเริ่มวางฐานบน ‘การขายนโยบายทางการเมือง’ (Policy base politics) มากกว่าการวางฐานที่ ‘การขายตัวผู้แทน’ (Candidate base politics) แนวโน้มของการต้องพยายามรักษาสัญญาทางการเมืองก็พอจะสูงขึ้นบ้าง … ตรงกันข้ามกับในระบอบเผด็จการที่ไม่ต้องเชื่อมโยงกับประชาชนใดๆ เรียกได้ว่าเคยฉิบหายมาอย่างไร ก็ยังคงฉิบหายต่อไปดังเดิม
เรื่องที่ยังคงคุกรุ่นในใจหลายๆ คนคงจะหนีไม่พ้น ‘การเลื่อนการเลือกตั้ง’ (อีกแล้ว) เรียกได้ว่าผิดสัญญามานับรอบไม่ถ้วน แล้วยังมาถามอีกว่า “เลื่อนแค่ 90 วัน จะอะไรกันนักหนา” แหมะ ตกเลขแน่ๆ ครับ เพราะนี่ก็เลื่อนมาตั้ง 3 ปีกว่าแล้ว แต่เมื่อคำสัญญาถูกฉีกอีกครั้ง หลายคนที่ตั้งความหวังไว้ก็ได้แต่เซ็งกันไป และนี่ไม่ใช่เรื่องเดียวที่คำสัญญาโดนแหก ตอนครบ 3 ปีรัฐบาล คสช. นี้ ผมได้เคยเขียนถึงยาวๆ ไปแล้ว (ลองกลับไปอ่านดูได้ที่ thematter.co) แและมีอีกหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ผมไม่อยากจะให้ลืมเลยคือการตระบัดสัตย์ ผิดคำพูด ผิดสัญญาของฝ่ายรัฐกับกรณีของไผ่ ดาวดิน ที่ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในคุกอยู่[1]
วันนี้เลยอยากมาชวนคุยเรื่อง ‘การเมืองของคำสัญญา’ ว่าเรื่องราวของการให้คำสัญญาในโลกหรือวิธีคิดทางการเมืองนั้นมันเป็นอย่างไรกันแน่
เอากันจริงๆ อย่างที่คงพอจะเดากันได้ การให้คำสัญญาเป็นอะไรที่อยู่คู่กับมนุษย์มานานนมแล้ว ทั้งในแง่การเมืองโดยตรงเลย หรือในทางศาสนา ที่เราจะได้ยินเรื่อยๆ จาก ‘ดินแดนในพันธะสัญญา’ (Promised land) ของพระผู้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยนมและน้ำผึ้ง ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าบอกกับอับราฮัมไว้ตามความเชื่อของคริสต์ศาสนาและตามฮิบรูไบเบิลด้วย หรือนอกเหนือไปจากการ ‘ให้คำสัญญา’ เอง การมีข้อห้ามในการไม่ให้ผิดคำสัญญาก็ปรากฏให้เห็นได้โดยทั่วไปเช่นกัน[2] อย่างในบัญญัติของคัมภีร์อัลกุรอาน (An-Nahl) อัลเลาะห์เองก็ห้ามการละเมิดหรือผิดสัญญาเมื่อรับคำมั่นหรือรับคำอย่างชัดเจนแล้ว
การปรากฏตัวของ ‘คำสัญญา’ ในทางการเมืองแต่โบราณนี้อาจจะไม่ได้ปรากฏในลักษณะที่อภิปรายถึง ‘ตัวคำสัญญา’ โดยตรงเท่านั้น อย่างกรณีดินแดนในพันธะสัญญา หรือการห้ามผิดคำสัญญา แต่ในบางครั้งก็ปรากฏในแง่ของ ‘คำสัญญาอันจะเกิดตามเงื่อนไขของการกระทำ’ ก็ได้ ลักษณะของสัญญาแบบนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นไปตามปรากฏการณ์ หรือ หากพูดแบบภาษาวิชาการให้ดูหอคอยงาช้างหน่อย ก็อาจจะพอเรียกได้ว่าเป็น Hypothetical Imperative คือ หากเกิดการ X ขึ้น ก็จะทำให้เกิด Y ตามมานะ อะไรแบบนี้ จริงๆ รูปแบบนี้ในสมัยใหม่เราเรียกมันว่า Conditional Commitment ที่มักจะปรากฏให้เห็นในสัญญาการเช่ายืม หรือสัญญาเงินกู้ต่างๆ (Promissory note / Loan) ด้วย แต่ในทางศาสนาแต่โบราณก็เห็นได้ทั่วไปเช่นเดียวกัน อย่าง กฎแห่งกรรมที่บอกว่า ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ ของพุทธศาสนา หรือ การสละตนเพื่อพระเจ้าจะได้ไปสู่อาณาจักรแห่งพระเจ้าในชีวิตหลังความตาย เป็นต้น
ในแง่นี้ คำสัญญากับประชากรหมู่มากจึงมีอยู่ในสังคมมาแล้วเป็นพันๆ ปีนั่นเองครับ แต่ไม่ใช่แค่เฉพาะในรูปแบบศาสนาเท่านั้น แต่ในเชิงการเมืองการปกครองโดยตรงเลยก็เช่นกัน ผมคิดว่ารูปแบบที่น่าสนใจที่สุดนั้นอาจจะต้องย้อนกลับไปที่อารยธรรมจีนโบราณกันเลยทีเดียว
ในอารยธรรมยุคโบราณ จนแทบจะถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเข้ายุคสมัยใหม่ แทบทุกอารยธรรมปกครองโดยกษัตริย์ หรือเจ้าผู้ปกครองที่ทรงอำนาจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ฮ่องเต้ (Huang Di) หรือก็คือจักรพรรดิของจีนนั้นดูจะมีสถานะที่พิเศษเฉพาะขึ้นไปอีก นั่นคือการที่ตัวตำแหน่งไม่ได้วางฐานอยู่บนวิธีคิดเรื่อง ‘การสืบทอดอำนาจทางสายโลหิต’ แต่เพียงอย่างเดียว คือ การสืบบัลลังก์ตามสายโลหิตนั้นก็มีแหละครับ แต่มันไม่ใช่กลไกหลัก เป็นเพียงกลไกที่ ‘ผันตาม’ กลไกหลักในการได้มาซึ่งอำนาจและความชอบธรรมในการปกครองอีกที กลไกหลักที่ว่านี้ก็คือ ‘คำสัญญา’ ทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Mandate of Heaven (Tian Ming) หรือที่แปลไทยว่า ‘อาณัติแห่งสวรรค์’ นั่นเอง
คือ สถานะจักรพรรดิ หรือเจ้าผู้ปกครองของจีนนั้น ดูจะมีความแตกต่างจากการเป็นกษัตริย์ในพื้นที่อื่นๆ ในยุคโบราณอยู่บ้าง ที่หากไม่ได้ถูกมองในฐานะเทวราชา (Divine king) ผู้สืบเชื้อสายโดยตรงมาจากพระเจ้าอย่างในกรณีของญี่ปุ่น อียิปต์ ฯลฯ ก็มีแนวโน้มจะเป็นกษัตริย์ผู้พิชิต (Conqueror king) ที่ได้มาด้วยความสามารถในการสู้รบตบตี แต่แนวคิดเรื่องอาณัติแห่งสวรรค์ของจีนนั้น คือการเชื่อว่าสวรรค์ได้ ‘ประทาน’ ผู้ปกครองที่เที่ยงธรรม (Just ruler) มาให้ เป็นเสมือนเทพที่ลงมาจุติ (โอรสแห่งสวรรค์)
ว่าง่ายๆ ความศักดิ์สิทธิ์หรือชอบธรรมในทางอำนาจนั้นไม่ได้มาจากตัวฮ่องเต้หรือสายเลือดของฮ่องเต้เอง แต่มาจากการอนุญาติให้เป็นผู้ปกครองได้ ตามที่สวรรค์คัดเลือก ภายใต้เงื่อนไขของการเป็น ‘ผู้ปกครองที่เที่ยงธรรม’
นั่นแปลว่าอะไรครับ แปลว่า การเมืองการปกครองของจีนโบราณนั้นวางฐานอยู่บนคำสัญญาดีๆ นี่เอง แต่เป็นคำสัญญาในเชิงกลไกโครงสร้าง (บวกพลังเหนือธรรมชาติเข้าไปอีกหน่อย) ฉะนั้น เมื่อความชอบธรรมในการปกครองไม่ได้อยู่ในตัวสายเลือดของผู้ปกครอง ประชาชนจึงสามารถลุกฮือขึ้นและโค่นล้มการปกครองของราชวงศ์ที่สร้างความฉิบหายให้กับประเทศชาติและคนหมู่มากได้อย่างถูกต้องตามครรลอง หากประชาชนโค่นล้มราชวงศ์ที่เลวร้ายได้สำเร็จ เค้าก็ถือกันว่า ‘อาณัติแห่งสวรรค์’ ได้ถูกเปลี่ยนไปให้กับผู้ปกครองคนใหม่แล้ว และจะมีฮ่องเต้ใหม่ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงเดียวกันนี้ต่อไป ฉะนั้นระบบอาณัติสวรรค์ของจีนโบราณนี้จึงนับว่าก้าวหน้ามากทีเดียว ในแง่ที่ให้สิทธิประชาชนโค่นล้มกษัตริย์ที่ไม่ควรค่าได้[3] อย่างกรณีของฮั่นเกาจู หลิวปัง ผู้โค่นล้มราชวงศ์ฉินและตั้งราชวงศ์ฮั่น ที่มีฐานะเป็นเพียงประชาชนธรรมดาๆ มาก่อน ก็มาจากแนวคิดนี้แหละครับ
เราจะเห็นได้ว่าการเมืองของ ‘คำสัญญา’ แม้แต่ในแง่การเมืองการปกครองโดยตรง ก็ปรากฏในสังคมมนุษย์มาหลายพันปีแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงเข้าใจด้วยก็คือ อำนาจหรือความศักดิ์สิทธิ์ของคำสัญญานั้นมักมาคู่กับกำลัง (power) อย่างในกรณีแนวคิดเรื่องอาณัติแห่งสวรรค์ของจีนนั้น มันเป็นคำสัญญาทางการเมืองที่มีพลังอำนาจได้จริง ก็เพราะมันอยู่ในเงื่อนไขเชิงกำลังด้วยว่า หากฝ่ายหนึ่ง (ในที่นี้คือผู้ปกครอง) ผิดต่อคำสัญญาหรือข้อตกลงแล้ว คู่สัญญาหรือประชาชนมีอำนาจมากพอที่จะล้มล้างหรือจัดการลงโทษตามเงื่อนไขของสัญญาได้ (ซึ่งก็คือการโค่นล้มราชวงศ์) ในแง่นี้มันจึงเป็นได้ในสังคมจีนโบราณที่ ‘กำลังเชิงปริมาณ’ อยู่กับประชาชนผู้ถือครอง ซึ่งมากพอที่จะล้มกำลังอำนาจของผู้ปกครองได้ อีกทั้งต้องเข้าใจเงื่อนไขในการประเมินราคาชีวิตที่ซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วยว่า การให้มูลค่ากับชีวิตในยุคโบราณกับสมัยใหม่นั้นต่างกัน ความกลัวที่มีต่อความตายของยุคโบราณกับยุคสมัยใหม่ที่ชีวิตกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด มูลค่าสูงสุด ไม่ใช่สมบัติของใครนั้น ย่อมต่างกัน ไม่ต้องนับไปถึงว่าในประวัติศาสตร์ 4–5 พันปีของจีนหรอกครับ หากนับจำนวนครั้งที่เกิดการโค่นล้มราชวงศ์อะไรก็ไม่ได้มากนัก เพราะหากไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของการปกครองที่ต่ำสุดขั้วขนาดว่า ‘ไม่รบก็ตายอยู่ดี แล้ว ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เช่นกัน
วิธีคิดทางการเมืองในลักษณะการล้มการปกครองที่อิงกับการเมืองการปกครองโดยตรงนั้น ในโลกตะวันตกเองก็มีการพูดถึงมานานแล้ว ตั้งแต่กรีกโบราณที่มีกลุ่มสโตอิก (Stoic) ถกเถียงกันไว้โน่นแหละครับ แต่ผมคิดว่าคงจะไม่ผิดหากเราจะบอกว่ามันมาถึงจุดแห่งความเฟื่องฟูในยุคแห่งการรู้แจ้ง หรือ The Age of Enlightenment อันเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดที่เรียกว่า ‘ทฤษฎีสัญญาประชาคม’ หรือ Social Contract Theory ขึ้น และนักคิดนักปรัชญามากมายเกินกว่าผมจะพูดถึงได้หมดก็พาเหรดกันออกมาเสนอและถกเถียง ที่คุ้นหูกันหน่อยก็มีตั้งแต่ Thomas Hobbes, John Locke, Jean-Jacques Rousseau และ John Rawls ครับ (จริงๆ คือ มีอีกเยอะมาก)
ผมคงไม่สามารถลงรายละเอียดของนักคิดทุกคนได้ (ในกรณีของ Hobbes และ Locke นั้นผมเคยเขียนถึงแบบยาวๆ ไปแล้วครั้งหนึ่ง (ลองอ่านดูได้ที่ thematter.co) ฉะนั้นในที่นี้ผมเลยจะขอเขียนแบบสรุปมากๆ คือ Hobbes นั้นมองว่าสันดานมนุษย์นั้นเลวและหากปล่อยเอาไว้ก็จะตีกันจนย่อยยับไปทุกฝ่าย ฉะนั้นเราจึงต้องการรัฐที่แข็งแกร่งขึ้นมา เพื่อ ‘ประกันความมั่นคงปลอดภัย ความสงบเรียบร้อยในสังคม’ หรือก็คือรัฐในฐานะอำนาจในการประกัน ‘กลไกความมั่นคงตามพันธะสัญญา’ (Promised security) นั่นเองครับ ส่วน Locke นั้นเอาจริงๆ ในแง่ ‘เป้าหมาย’ แล้วใกล้เคียงกับ Hobbes คือประกันความมั่นคง สิทธิ เสรีภาพ แม้จะมองธรรมชาติมนุษย์ดีกว่า Hobbes บ้าง แต่ส่วนต่างสำคัญก็คือการมองว่าความชอบธรรมของรัฐบาลนั้นมาจากประชาชน หากคุณไม่ทำหน้าที่ให้ดีตามที่มีข้อตกลงกันไว้ ประชาชนก็มีสิทธิริบอำนาจคืนได้ (คล้ายวิธีคิดเรื่อง ‘อาณัติสวรรค์’ ของจีนนั่นแหละครับ)
Rousseau นั้นต่างจากทั้ง Locke และ Hobbes อยู่มากโข คือ เน้นไปที่อำนาจอธิปไตยอย่างเต็มขั้นของประชาชน และการสร้างสิ่งที่เรียกว่า General Will หรือเจตจำนงค์ร่วมของสังคมมวลรวมทั้งหมด ที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดและสร้างมันขึ้นมา และมีค่าในเชิงข้อตกลงร่วมสูงสุดของสังคม บ้างก็มองว่ากลายเป็นรากฐานสำคัญในการเขียนรัฐธรรมนูญ บ้างก็มองว่ามันใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญแต่เป็นหลักการพื้นฐานในการเขียนรัฐธรรมนูญอีกที หรือที่เรียกว่า Supraconstitutional Ideology นั่นเอง
สุดท้ายคือ John Rawls ที่ค่อนข้างลำบากในการอธิบายแบบสั้นๆ นะครับ คือ Rawls นั้นได้อิทธิพลมาจากแนวคิดเรื่อง ‘คำสัญญา’ จาก Immanuel Kant อีกที (ซึ่งผมสุดปัญญาจะอธิบายโดยย่นย่อได้) และแนวคิดของเข้านั้น เรียกง่ายๆ ว่าเริ่มมาจากการสร้างสภาวะสมมติของมนุษย์ที่เรียกว่า Original Position หรือ OP (ตำแหน่ง ณ จุดกำเนิด) ขึ้นมาก่อน โดย OP นี้ทำหน้าที่คล้ายๆ กับสภาวะธรรมชาติของนักคิดคนอื่นนั่นแหละ คือ เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแนวคิด โดย OP นี้คือสภาวะที่ให้เราสมมติตัวเองว่าภายใต้สภาวะพื้นฐานสุดๆ ที่เราไม่รู้เลยว่าเราเป็นคนเชื้อชาติไหน เพศใด เผ่าพันธุ์อะไร ชนชั้นใด ฯลฯ (Rawls เรียกมันว่า Veil of Ignorance) นั้น เราคิดจะสร้างกติกาที่เราจะอยู่กับมันอย่างไร? และกติกาที่สร้างขึ้นจากฐานคิดนี้แหละเมื่อนำมารวมกันแล้วจะเป็นข้อตกลงหลักของสังคมที่จะละเมิดไม่ได้นั่นเองครับ
เราจะพบได้ว่านับจากช่วงเวลาของอาณัติแห่งสวรรค์ของจีนโบราณ ไล่มาจนถึง John Rawls นั้น โดยหลักๆ แล้วมันก็คือการหากลไกมาประกันความศักดิ์สิทธิ์หรืออำนาจของคำสัญญานั่นเอง โดยหลักๆ ก็คือผ่านการสร้าง ‘กฎหมายสูงสุด = ข้อตกลงสูงสุด’ หรือ ‘อุดมการณ์เหนือกฎหมายสูงสุด’ อีกที เพื่อเป็นกลไกในการเขียนกฎหมายขึ้น (ในแง่ที่ว่าต่อให้กฎหมายเปลี่ยนไป หรือโดนฉีกไป อุดมการณ์ในการให้กำเนิดกฎหมายเหล่านี้ก็ยังคงอยู่)
โดยอำนาจของกฎหมายในฐานะข้อตกลงสูงสุดนี้มีอำนาจเหนือตัวผู้ปกครองอีกทีหนึ่ง และมีอำนาจเหนือใครคนใดคนหนึ่งด้วย การเกิดขึ้นของกฎหมายจึงทำหน้าที่ของ ‘พลัง (power) ในการจัดการกับข้อตกลงหรือคำสัญญาใดๆ แทนคู่กรณี’ เพื่อให้ตัวคำสัญญานั้นมีความศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ต้องหวังพึ่งกำลังส่วนบุคคล ฉะนั้นต่อให้คุณเป็นคนร่างเล็กลีบไร้เรี่ยวแรง ไม่มีพรรคพวก ไปทำสัญญากับนักเพาะกายร่างยักษ์ที่คุณไม่มีทางจะไปมีกำลังหวังชนะอะไรได้แน่ๆ แต่ข้อตกลงหรือคำสัญญาของทั้งสองฝั่งก็ยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ได้ เพราะกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่ ‘แทน’ กำลังส่วนบุคคลที่ต้องไปหาทางคัดง้างเอาเอง ซึ่งก็เป็นพัฒนาการที่ยุครู้แจ้งสร้างขึ้น และพัฒนากลไกทางการเมืองของคำสัญญาให้ดีขึ้นกับมนุษย์โดยทั่วไป (ไม่ต้องสู้จนตัวตายเองอีกแบบสมัยจีนโบราณ)
ฉะนั้นในแง่นี้การปล่อยเงินกู้นอกระบบที่อยู่นอกกติกาของกฎหมายจึงต้องมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับมาเฟีย หรือนักเลงต่างๆ เพราะไม่มีอำนาจในเชิงกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่แทนในเชิงกำลัง ก็ต้องกลับไปสู่กำลังในเชิงกายภาพ หรือ Physical Force แบบดั้งเดิมกันอีกนั่นเองครับ
อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามานี้มันเวิร์กในกรณีที่ ‘มีกฎหมายอยู่’ (กฎหมายในความหมายที่เป็นตัวแทนเจตจำนงค์ของสังคมโดยรวม) แต่ในกรณีแบบไทยเล่า รัฐธรรมนูญก็โดนฉีกไป และรัฐบาลทหารในปัจจุบันที่แม้จะอ้างรัฐธรรมนูญในฐานะเจตจำนงของประชาชน (เพราะชนะการลงคะแนนเสียงประชามติมาได้) แต่ก็ยอมรับความจริงเถอะครับว่า มันก็ยังมีความบ้าพลังด้วยอำนาจแบบมาตรา 44 อยู่ ก็เท่ากับว่ากฎหมายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนนั้น (สมมติว่าทำเป็นยอมรับความชอบธรรมของการประชามตินั้นไป) สามารถถูกล้มได้ด้วยเจตจำนงของคนเพียงคนเดียวอยู่ดี คือ ตัวผู้ปกครอง ไม่ต้องไปพูดถึงอำนาจในเชิงกำลังจริงๆ ที่รัฐบาลทหารเองก็มีเหนือประชาชนอยู่มาก
ปัญหามันจึงอยู่ตรงนี้ครับว่า ในสภาวะแบบที่ว่ามา ‘คำสัญญาใดๆ ในทางการเมือง โดยเฉพาะจากรัฐบาลนั้น ไม่มีทางมีความศักดิ์สิทธิ์หรือน่าเชื่อถืออะไรใดๆ ได้เลย’ เพราะกำลังที่เป็นตัวกำหนดความศักดิ์สิทธิ์สมบูรณ์ของข้อตกลงหรือสัญญานั้น ไม่ได้มีอยู่กับคู่สัญญาทั้งสองฝั่งอีกต่อไป แต่อยู่กับตัวรัฐบาล คสช. ฝั่งเดียวล้วนๆ ฉะนั้นคำสัญญาเรื่องการเลือกตั้ง หรือคำสัญญาอีกล้านแปดประการใดๆ มันจึงมีค่าเท่ากับไม่มีอยู่แล้ว เพราะต่อให้ไม่ทำตามสัญญา ก็ไม่มีอำนาจบังคับอะไรได้อีก ต่างกับในระบอบประชาธิปไตย ที่แม้คำสัญญามันจะโดนเบี้ยวไปบ้าง แต่ก็ดีกว่าในระบอบทหารอำนาจนิยมนี้มาก เพราะ ‘การเกลี่ยพลังและอำนาจต่อรองที่ไม่ได้ดุลย์กันของคู่สัญญาในทางการเมืองนั้น มันห่างกันมากเกินไป’
ผมคิดว่าเอาจริงๆ ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าคำสัญญาทางการเมือง ของรัฐบาลเผด็จการนั้นเชื่ออะไรไม่ได้ แต่ความตลกปนขื่นขมมันอยู่ที่ว่า ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอก ไยเราจึงต้องไปตั้งความหวังหรือรู้สึกเซ็งเมื่อมันไม่เป็นไปตามที่สัญญาไว้เล่า?
เอากันตรงๆ ผมคิดว่า ‘นั่นเป็นปัญหาของฝั่งเราประชาชนเองด้วย’ ที่ต่อให้สมองส่วนเหตุผลจะรับรู้ว่ามันเชื่อไม่ได้ๆๆๆๆ แต่ก็ยังคงเผื่อใจเหลือใจไปกับคำสัญญาที่เราไม่มีอำนาจใดๆ ไปต่อรองให้เป็นจริงได้เลยนั้นอยู่ ผมคิดว่าหากไม่หลอกตัวเองกันอย่างหนักหนาจนเกินไป คงต้องยอมรับได้แล้วว่าในภาพรวมความเชื่อถือที่มีต่อรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะหลังจากกรณีนาฬิกาของประวิตรเกิดขึ้น ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อรัฐบาลนี้’ ได้ลดต่ำลงมากๆ แล้วในภาพรวม แต่ก็ยังไม่มีปัญญาจะไปทำอะไรแบบจริงๆ จังๆ หรือนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ ในเชิงระบอบกับรัฐบาล คสช. นี้ได้ ความหวังต่อคำสัญญาอย่างการเลือกตั้งนี้ มันจึงเป็นความหวังที่ไม่มีเหตุผลอะไรใดๆ เลยรองรับ
สำหรับฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตย ความหวังที่เกิดขึ้นกับคำสัญญานี้คงคงเรียกได้ว่า ‘เป็นภาพสะท้อนของความโศกเศร้าที่มีต่อความกระจอกของตนเอง’ (Reflection of the melancholy of powerlessness) ที่แม้ไม่อยากจะยอมรับก็ต้องยอมรับ
ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านการเลือกตั้ง (หรือเคย) ฝ่ายที่เรียกทหารออกมาล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (ที่ไม่ว่าคุณจะเกลียดโดยส่วนตัวปานใดก็ตาม) รวมไปถึงฉีกกฎหมายสูงสุดที่เป็นเครื่องประกันและรักษา ‘สัญญาทางการเมือง’ เพียงหนึ่งเดียวที่เรามีนั้น ผมคาดหวังว่าวันนี้ท่านจะเริ่มเห็นแล้วว่าทางเลือกที่ท่านเคยเลือกนั้นอาจจะ ‘ผิด’ และเมื่อ ‘ผลงานอันเลวร้าย’ ได้ทำลายระเบียบอันเป็นข้อตกลงร่วมสูงสุดของสังคมนี้ลงไปแล้ว …ก็คงไม่มีอาณัติสวรรค์ไหน หรือโอรสสวรรค์อะไร ที่จะถูกเสกขึ้นมาแล้วทำให้สังคมนี้ดีขึ้นได้
โดยสรุปเลย ผมคิดว่าปัญหาของสังคมไทยเราที่แม้จะรู้ว่าคำสัญญาของรัฐบาล คสช. มันเชื่อไม่ได้ แต่ก็ยังเหลือใจเผื่อเชื่อไว้อยู่ดี เพราะเราเคยชินกับการอยู่กับคำสัญญาในรูปแบบศาสนา ที่มีมาตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน เราเคยชินกับคำสัญญาในโลกมโนของเรา ที่เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันจะมาถึงไหม หรือแม้แต่มีจริงไหม อย่างอาณาจักรของพระเจ้าหรือการได้กลับมาเกิดใหม่ในชาติหน้าด้วยชีวิตที่ดีกว่าเดิม เราคุ้นเคยกับคำสัญญาที่ไม่ต้องการการรักษาเหล่านี้มากจนเกินไป เราดูจะอยู่ในโลกของความหวังลมๆ แล้งๆ ที่มาจากภาพสะท้อนของความไร้อำนาจของเราจนเกินไป เรากำลังรวมเอา ‘คำสัญญาของโลกยุคก่อนมาผสมปนเปกับคำสัญญาของโลกการเมืองสมัยใหม่’ อย่างไม่รู้ตัวจนเกินไป
‘คำสัญญาทางการเมือง’ ในแบบศาสนาที่มีมาแต่โบราณนั้นน่าจะหยุดลงได้แล้ว โดยเฉพาะกับการปกครองทางการเมืองสมัยใหม่ เราต้องการกฎหมายสูงสุดที่มาประกันอำนาจของคู่สัญญาอย่างเท่าเทียมให้เราอีกครั้ง และนั่นคือทางออกเดียวครับ ไม่มีศาสดาคนไหน พระเจ้าองค์ใดมาให้เราได้ มันคือ ‘กลไกที่มนุษย์ธรรมดาๆ ตกลงร่วมกันและสร้างขึ้นมาด้วยกัน’ นี่แหละครับ เพราะอย่างที่ฮอบบส์, ล็อค, รุซโซ หรือรอลส์ว่าไว้ พวกเราอ่อนแอ พวกเราเปราะบาง พวกเราไม่ได้แข็งแกร่ง เราจึงต้องสร้างอำนาจที่อยู่ในการควบคุมได้ด้วยตัวมนุษย์เองนี่แหละ มาเป็นเครื่องประกัน ‘คำสัญญา’ ที่จะผลักดันให้กลไกและการทำงานทางการเมืองขยับไปได้ อย่าหวังกับกลไกที่พระเจ้าหรือศาสดาประทานมาเลย เพราะ ‘มันอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์กระจอกๆ อย่างเรา’ วันไหนพระเจ้าเกิดงอนขึ้นมา เราก็คงเดือดร้อนกันหมด
ที่แย่ไปกว่านั้น คิดๆ ดู ประเทศเราตอนนี้ดูจะแย่ยิ่งกว่าประเทศจีนเมื่อสามพันปีก่อนเสียอีก เพราะจีนสามพันปีก่อนเขายังล้ม ‘คนผิดสัญญา’ ได้ด้วยกำลังตัวเอง แต่เราตอนนี้ดูจะไม่มีปัญญาทำอะไรเลย นอกจาก ‘ปลงและอยู่ไปวันๆ รอให้คนแก่ที่ควบคุมประเทศตอนนี้หมดลมหายใจไปก่อนพวกเรา’
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ดูเพิ่มเติมที่ผมเขียนถึงกรณีนี้ได้จาก prachatai.com
[2] หากสนใจเรื่องการเมืองของคำสัญญาในพระคัมภีร์เก่า สามารถดูเพิ่มเติมได้จาก Lipton, Diana. (1999). Revisions of the Night: Politics and Promises in the Patriarchal Dreams of Genesis. Sheffield, UK: Sheffield Academic Press.
[3] โปรดดู Szczepanski, Kallie. “What Is the Mandate of Heaven in China?”. About Education.