แทบทุกคนคงเคยมีประสบการณ์เลวร้ายเมื่อต้องไปเที่ยวในวันหยุดยาว
ผมคนหนึ่งล่ะครับที่มีความทรงจำทริปสมัยเด็กแบบลืมไม่ลงเพราะต้องไปติดอยู่บนแถวรถยนต์ยาวเหยียดบนทางขึ้น อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรีอยู่ร่วมแปดชั่วโมง ห้องน้ำก็หายาก กว่าจะถึงที่พักก็มืดค่ำ แถมยังต้องแย่งกันกินแย่งกันเที่ยว เป็นอีกหนึ่งวันหยุดยาวในความทรงจำที่หาความสนุกไม่เจอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพคนมหาศาลที่ทะลักล้นไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยต่างชุบชูจิตใจพ่อค้าแม่ขายที่ห่อเหี่ยวมายาวนานจากการระบาดของ COVID-19 เศรษฐกิจที่คึกคักขึ้นทันตาหลังจากวันหยุดยาวกลับกลายเป็นหนึ่งในนโยบายส่งเสริมการรท่องเที่ยวของภาครัฐไปโดยปริยาย
หากพิจารณาวันหยุดราชการในปี พ.ศ.2565 เราสามารถจำแนกออกเป็นวันหยุดที่เกี่ยวข้องกับประเพณีรวมทั้งสิ้น 5 วัน วันหยุดที่เป็นวันสำคัญทางศาสนา 5 วัน วันหยุดที่เป็นวันสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ 8 วัน และวันรัฐธรรมนูญอีก 1 วัน รวมทั้งสิ้น 19 วัน แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้ประกาศวันหยุดพิเศษเพิ่มในปีนี้อีก 4 วันเพื่อ ‘ถมช่องว่าง’ ให้เป็นวันหยุดยาว สิริรวมแล้วปีนี้เราจะมีวันหยุดราชการทั้งสิ้น 23 วัน นับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับราว 5 ปีก่อนที่วันหยุดราชการอยู่ที่ราวๆ 15 วันต่อปีเท่านั้น
ตัวเลขดังกล่าวนับว่าสูงลิ่ว อีกทั้งยังแซงหน้าเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาที่เคยติดอันดับหนึ่งในประเทศที่วันหยุดเยอะที่สุดของโลกซึ่งล่าสุดได้หั่นวันหยุดราชการลงจาก 28 วันเหลือ 22 วัน เทียบไม่ได้กับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่วันหยุดที่กำหนดโดยทางการเพียง 10 ถึง 14 วันต่อปี แต่สิ่งที่โลกตะวันตกมอบให้กับแรงงานคือวันหยุดพักผ่อนตามกฎหมายที่มากมายมหาศาล เช่น สหราชอาณาจักรที่สามารถลางานได้ถึง 20 วันต่อปี
ส่วนในประเทศไทยนับว่าตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าวันหยุดราชการในไทยจะยาวเหยียดเป็นหางว่าว แต่กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพักผ่อนโดยได้รับเงินเดือนอย่างน้อยปีละ 6 วันเท่านั้น ผมจึงขอชวนมาร่วมคิดว่าจะดีกว่าไหมหากรัฐลดจำนวนวันหยุดราชการลง แล้วเพิ่มวันหยุดพักผ่อนตามกฎหมายให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนได้ออกแบบชีวิตตัวเอง ไม่ใช่บังคับให้ต้องหยุดโดยพร้อมเพรียงกันอย่างที่เราคุ้นชิน
วันหยุดราชการส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ
ความคิดที่ว่าการเพิ่มวันหยุดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยนะครับ แต่เป็นนโยบายที่รัฐบาลหลายประเทศให้ความสนใจไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรืออิตาลี บางรัฐบาลถึงขั้นมีการศึกษาเชิงปริมาณเพื่อพิจารณาประโยชน์และต้นทุนของการมีวันหยุดเพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ เช่น การศึกษาในประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2561 พบว่าวันหยุดราชการหนึ่งวันจะช่วยให้ร้านรวงมีกำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 250 ปอนด์หรือราว 11,000 บาท
หากถอยออกมามองในภาพกว้าง ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research) สถาบันคลังสมองชื่อดังของสหราชอาณาจักรคาดว่าวันหยุดหนึ่งวันจะช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในเศรษฐกิจอังกฤษได้ราว 500 ล้านปอนด์หรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท เป็นเงินที่สะพัดในภาคการค้าปลีก บริการ และร้านอาหารซึ่งจะหักกลบลบกันกับความสูญเสียในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ต้องหยุดงาน
แม้จะมีหลายสำนักเสนอว่าวันหยุดนั้นเป็นคุณต่อเศรษฐกิจในภาพรวม แต่งานวิจัยอีกจำนวนไม่น้อยสวนทางกับแนวคิดดังกล่าว เช่น การศึกษาการเพิ่มวันหยุดราชการในประเทศออสเตรเลียที่พบว่าต้นทุนนั้นสูงกว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือการศึกษาโดยธนาคารกลางของมาเลเซียที่ระบุว่าวันหยุดราชการที่ประกาศแบบฉับพลัน “สร้างปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจ ทำลายผลิตภาพ และเพิ่มต้นทุนในการดำเนินงาน” โดยคิดเป็นต้นทุนราว 3.5 พันล้านริงกิตหรือร่วมสามหมื่นล้านบาทต่อวัน
เรื่องวันหยุดก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ยังไร้ข้อสรุปแวดวงวิชาการ แต่มีข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจคือความสัมพันธ์ระหว่างวันหยุดราชการกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นเป็นรูปตัว U กลับหัว นั่นหมายความว่ามีน้อยหรือมากเกินไปย่อมไม่ดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม การตามหา ‘จำนวนวันหยุดที่เหมาะสม’ จึงเป็นโจทย์ที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ยังตีไม่แตก
หยุดยาวแล้วได้พักจริงหรือ?
ข้อดีของวันหยุดแบบบังคับซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องหยุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการที่ผู้คนได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์สานสายสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงครอบครัว ออกเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งยังไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะบอกเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าว่าต้องการใช้วันลาหยุดพักผ่อน เราจึงกล่าวได้ว่าวันหยุดราชการนั้นช่วยเสริมสร้าง ‘ทุนทางสังคม’
นอกจากนี้ วันหยุดยังมีส่วนช่วยชุบชูจิตใจของพนักงาน โดยมีการศึกษาในประเทศอิตาลีพบว่าการได้ลาหยุดจะช่วยเสริมกำลังใจให้กับลูกจ้าง ลดความเครียดสะสมจากการงาน ทำให้สามารถเข้าออฟฟิศอย่างสดชื่นแจ่มใสและพร้อมลุยงานอย่างเต็มที่
แต่วันหยุดยาวอย่างเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ดูจากปริมาณรถยนต์และผู้คนที่แน่นขนัด การใช้บริการขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น และสถานที่ยอดนิยมที่คนหลั่งไหลไปแย่งกันกินแย่งกันเที่ยว ยังไม่นับสถิติอุบัติเหตุที่สูงลิ่ว ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าวันหยุดยาวเราได้พักผ่อนอย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆ หรือเปล่า
คนที่เหนื่อยอ่อนไม่ใช่เฉพาะคนที่ได้หยุดพักผ่อนนะครับ ฝั่งร้านค้า ร้านอาหาร และโรงแรมก็เหนื่อยไม่แพ้กันเพราะต้องให้บริการลูกค้าในระดับที่เกินศักยภาพปกติ หากเตรียมความพร้อมไม่ดีก็อาจสร้างประสบการณ์ยอดแย่ให้กับผู้มาใช้บริการ ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาก็ต้องหักกลบลบกับเงินเพิ่มพิเศษให้กับพนักงานที่ต้องทำงานในวันหยุดยาว ยังไม่นับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และการจัดซื้อวัตถุดิบที่ยุ่งยากเชื่องช้าเพราะคู่ค้าหยุดทำการ
วันหยุดที่รัฐเป็นผู้กำหนดกับวันหยุดพักผ่อนที่เราเลือกได้เองจึงเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างราวฟ้ากับเหว น่าเสียดายที่เรายังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบว่าวันหยุดแบบไทยๆ นั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างไร แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้ดูจะเชื่อมั่นศรัทธาว่าการประกาศเพิ่มวันหยุดแบบ ‘คอมโบ’ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม
วันหยุดของไทย เอาอย่างไรดี?
องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ (International Labour Organization) มองว่าวันหยุดถือเป็นหนึ่งในมาตรฐานด้านแรงงานที่ลูกจ้างพึงมีพึงได้ โดยมีระบุว่าแรงงานจะต้องได้รับวันหยุดพักผ่อนโดยได้รับค่าตอบแทนอย่างน้อย 3 สัปดาห์ต่อปีในอนุสัญญาว่าด้วยวันหยุดประจำปีที่ได้รับเงินค่าจ้าง (ฉบับแก้ไข) ซึ่งเริ่มให้ลงนามตั้งแต่ ค.ศ.1970
สำหรับประเทศไทย ถ้าคุณเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ วันหยุดราชการในแต่ละปีก็เกินเกณฑ์ของไอแอลโอไปแบบสบายๆ โดยยังไม่ต้องนับวันหยุดพักผ่อน ส่วนฟากเอกชนนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องหยุดตามวันหยุดราชการอย่างน้อย 13 วันต่อปี บวกกับวันหยุกพักผ่อนอีก 6 วันต่อปี รวมทั้งสิ้น 19 วันต่อปีซึ่งใกล้เคียงกับมาตรฐานข้างต้น
ถึงวันหยุดที่มีจะเกือบผ่านเกณฑ์ในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงคุณภาพอาจต้องคิดหนัก เพราะวันหยุดตามกฎหมายในแต่ละปีเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นวันหยุดที่กำหนดโดยรัฐ นั่นหมายความว่าเหล่าลูกจ้างที่หวังจะได้หยุดงานไปพักผ่อนอาจต้องเผชิญกับคลื่นมนุษย์แบบทั่วหัวระแหง แต่หากจะให้นั่งๆ นอนๆ อยู่บ้านก็รู้สึกเสียดายโอกาส ท้ายที่สุด เราอาจจะเหนื่อยกับวันหยุดมากกว่าวันทำงานเสียด้วยซ้ำ
ในเมื่อวันหยุดราชการอาจไม่ตอบโจทย์ จะเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐไทยจะลดวันหยุด ‘ภาคบังคับ’แล้วปรับเพิ่มวันหยุด ‘ภาคสมัครใจ’ ให้เหล่าลูกจ้างได้จัดสรรวันและเวลาที่ตนเองต้องการจะหยุดงาน อีกทั้งยังไม่สร้างต้นทุนให้กับระบบเศรษฐกิจเพราะองค์กรยังคงเดินหน้าต่อได้ไม่มีสะดุดในวันที่พนักงานบางส่วนลาพักผ่อน
แต่ดูท่าอาจจะเป็นไปได้ยากสักหน่อยในรัฐบาลนี้ที่ถนัดออกคำสั่ง มากกว่าให้สิทธิประชาชนเป็นคนเลือกด้วยตัวเอง
เอกสารประกอบการเขียน
Could adding a new public holiday boost the economy?