คนเรามันก็เศร้ากันได้ทุกเรื่อง มีเรื่องให้ดราม่าไม่เว้นแต่ละวัน ตั้งแต่เรื่องสเกลเล็กๆ อย่างอกหัก โดนเท รถติด หัวหน้าแบ่งเวลาไม่เป็น ชอบสั่งงานผ่านไลน์ตอน 5 ทุ่มแต่จะเอาพรุ่งนี้เช้า ไปจนถึงเรื่องสเกลใหญ่ๆ อย่างสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน จองบัตร Black Pink (ไม่ทัน) แจกเงินคนจน (แจกแล้วแจกอีก) และการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน แต่ะจะมีเรื่องไหนที่เศร้าไปกว่าเรื่องตังค์ในกระเป๋า และมันก็คงจะเศร้าไปกันใหญ่ ถ้าไปเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่น
ก่อนจะไปเรื่องเปรียบเทียบ ว่าเทียบอะไร เทียบกับใคร ขอเริ่มที่เรื่องคุณภาพชีวิตกันก่อน ในบรรดาวิชาสายสังคมศาสตร์ ‘เศรษฐศาสตร์’ ก็คงเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องมากที่สุด (แต่ไม่ได้หมายความว่าศาสตร์อื่นไม่เกี่ยวข้อง) คำถามสำคัญก็คือว่า “จะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น” แต่ถึงอย่างนั้น คำว่า ‘คุณภาพชีวิต’ นี่มันมีความหมายกว้างกว่า “กินอิ่ม นอนอุ่น หุ่นไม่เกี่ยว” เพราะมันรวมไปถึงเรื่องสุขภาพ (กว้างกว่าการไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ) การศึกษา (ไม่ใช่แค่เรียนจบ แต่พร้อมแข่งกับหุ่นยนต์ไหม) ความภาคภูมิใจในตนเอง (ยิ่งใหญ่กว่ารูปหล่อ-พ่อรวย) การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี รวมไปถึงความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถ้าเราขาดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มันก็คงจะเศร้าพอสมควร แต่มันคงหดหู่ไม่น้อย ถ้าคนรอบข้าง (หรือประชากรโลก) กลับดีกว่าเราไปเสียทุกอย่าง
นักเศรษฐศาสตร์ Albert Hirschman และ Michael Rothschild ได้ร่วมกันเขียนแบบจำลองอันหนึ่งขึ้นมา ภายใต้หลักการง่ายๆ ที่ว่า ‘มนุษย์ชอบเปรียบเทียบ’ โดยบอกว่า ความพึงพอใจของคน (ศัพท์เทคนิค คือ ‘อรรถประโยชน์’ หรือ Utility) ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย
อย่างแรกเลย คือ รายได้ของคนคนนั้น
อย่างที่สอง คือ รายได้ของคนอื่น
และอย่างสุดท้าย คือ รายได้ที่ตัวเองที่จะได้ในอนาคต
มาดูกันทีละปัจจัย สำหรับอย่างแรก ค่อนข้างตรงไปตรงมา ถ้าเจ้านายขึ้นเงินเดือนให้ 5% เราก็มีความสุขมากขึ้น อาจจะเอาไปกินบุฟเฟต์แซลมอนสักมื้อ หรือโปะหนี้บ้านก็ยังดี สำหรับปัจจัยที่สอง มันคือความรู้สึกที่เรามีต่อเงินในกระเป๋าของคนอื่น ตรงนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติและระดับการพัฒนาของสังคมด้วย ในอเมริกา คนชั้นกลางอาจเอา Bill Gates เป็นตัวอย่าง เป็นแรงขับเคลื่อนให้ได้ใช้ชีวิต ขณะที่ในบางประเทศ แทนที่จะมองเป็นแรงขับเคลื่อน เรากลับมองคนที่ดีกว่าว่าเอารัดเอาเปรียบ เป็นนายทุนผูกขาด หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินใต้โต๊ะ ความรู้สึกเช่นนี้หาได้ไม่ยากเลย ลองไปอ่านคอมเมนต์แนวประชดประชันได้จากโพสต์อันดับเศรษฐีที่ประกาศมาทุกปี แต่อย่างไรเสีย ถ้าเราคิดบวกได้ การที่รายได้ของคนอื่นเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ความพึงพอใจเราเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่หากเป็นความอิจฉาริษยา มันก็จะลดทอนความสุขของเรา
ปัจจัยสุดท้ายอาจจะซับซ้อนเสียหน่อย เพราะมันมี 2 สิ่งเข้ามาประกอบด้วย อันแรกเลยคือ ความคาดหวังต่อเงินของตัวเองในอนาคต เช่น โบนัสตอนปลายปี และการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง อันที่สองคือ ความคาดหวังต่อเงินของคนอื่น ในอดีต ขณะที่เรามองดูคนอื่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เรากัดฟันรอ หวังว่าสักวันหนึ่งชีวิตมันก็ต้องดีขึ้นบ้างแหละ แต่จนแล้วจนรอด ชีวิตเราก็ยังเหมือนเดิม (หรือ คนที่รวยอยู่แล้วก็ยิ่งรวยเข้าไปใหญ่) ความหวังของเราก็เริ่มริบหรี่ลง นำไปสู่ความเศร้าในที่สุด
ซึ่งตรงนี้ มันมีเรื่องของ ‘ความอดทน’ ซ่อนอยู่
เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ความอดทนต่อความเหลื่อมล้ำ”
แม้แบบจำลองดังกล่าวจะทำให้เราเห็นถึง ‘ความเศร้า’ ที่เกิดจากการมีเงินไม่พอใช้ และยิ่งเศร้าเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น (ที่รวยกว่า) แต่แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ก็ไปได้ไม่ไกลเกินกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ (material resources/goods) ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่ Francis Fukuyama นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Standford (เจ้าของหนังสือชื่อดังหลายเล่ม เช่น The End of History and the Last Man และ The Origins of Political Order) ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจในหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่มีชื่อว่า Identity: The Demand for Dignity and the Politics of Resentment ว่า
นักเศรษฐศาสตร์มักสมมติว่าแรงจูงใจของมนุษย์ คือ ความพึงพอใจ (preference/utility) หรือความต้องการต่อสิ่งต่างๆ ที่จับต้องได้ (ซึ่งก็เป็นจริง หากเราย้อนกลับไปดูแบบจำลองของ Hirschman และ Rothschild) แต่นักเศรษฐศาสตร์ได้ลืมนึกถึงสิ่งสำคัญ 3 สิ่ง อันเป็นรากฐานสำคัญของจิตวิญญาณ นั่นก็คือ ‘Thymos’ ซึ่งเป็นศัพท์ภาษากรีก หมายถึง ความต้องการของมนุษย์ที่จะได้รับการยกย่องว่ามีค่าและมีความสำคัญ (ต้องการ recognition) ‘Isothymia’ ซึ่งก็คือ ความปรารถนาที่จะได้รับการยกย่องว่าดี/มีศักดิ์ศรี เทียบเท่าคนอื่น และ ‘Megolothymia’ ซึ่งหมายถึงความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับว่าดีกว่า/เก่งกว่าคนอื่น ซึ่ง 2 คำหลัง เป็นคำที่ Fukuyama คิดค้นขึ้นมา โดยประยุกต์จากงานของเพลโต (ผู้สนใจเพิ่มเติม สามารถอ่านงานฉบับภาษาไทยได้จากข้อเขียนของโกวิท วงศ์สุรวัฒน์)
คำถามสำคัญที่ต้องหากันต่อไปก็คือ
ความเศร้าที่เกิดมาจากการไม่ได้รับการยอมรับ
การถูกตีตราว่ามีค่าไม่เท่าคนอื่นหรือด้อยกว่าคนอื่น
ก่อให้เกิดปัญหาอะไรและจะแก้ไขกันอย่างไร
นับตั้งแต่ปีค.ศ. 2006 องค์การสหประชาชาติได้ทำการเผยแพร่รายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ส่วนสำคัญของรายงาน คือ การสำรวจความพึงพอใจในชีวิต โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องกรอกคะแนนความพึงพอใจในชีวิต ระหว่าง 0 (แย่สุดๆ) ถึง 10 (แฮปปี้สุดๆ) จากผลสำรวจ พบว่า ไทยอยู่ในลำดับที่ 52 จากทั้งหมด 156 ประเทศ ซึ่งต่ำกว่าหลายๆ ประเทศที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าไทย เช่น เอกวาดอร์ กัวเตมาลา และอุซเบกิซสถาน ซึ่งหากเราดูสถิติย้อนหลัง 5 ปี จะพบว่า ดัชนีความสุขของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลำดับคะแนนด้านความมั่นใจในรัฐบาล และทัศนคติต่อปัญหาคอรัปชั่น
เราอาจจะเชื่อเสมอว่า ถ้ารวยขึ้น ก็มีความสุขมากขึ้น (แจกเงินคนจนเพิ่ม พวกเขาก็น่าจะมีความสุข!) อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยในช่วงปีค.ศ. 1970 โดย Richard Easterlin พบว่า แม้ประเทศที่รวยกว่าจะมีระดับของความสุขมากกว่า (self-reported happiness) แต่ในบางประเทศที่มีการสำรวจซ้ำหลายๆ ปี ความสุขไม่ได้เพิ่มตามรายได้ของคนในประเทศ ซึ่งข้อค้นพบนี้รู้จักกันในชื่อ ‘Easterlin Paradox’
ผ่านมาหลายสิบปี นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังไม่เลิกเถียงกันว่า
จริงๆ แล้ว รายได้สัมพันธ์กับความสุข จริงๆ หรือเปล่า
จนกระทั่งในปีค.ศ. 2008 ดูเหมือนว่าข้อกังขานี้จะเริ่มเห็นทางออก เมื่อ Andrew Clark, Paul Frijters และ Michael Shields ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในชื่อ Relative Income, Happiness, and Utility: An Explanation for the Easterlin Paradox and Other Puzzles โดยแทนที่จะกำหนดว่าความพึงพอใจของคนขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าเพียงอย่างเดียว (absolute income) พวกเขาเริ่มต้นจากการกำหนดว่า จริงๆ แล้ว ความพึงพอใจของคนมันยังขึ้นอยู่กับเงินในเชิงเปรียบเทียบ (relative income) อีกด้วย โดยเทียบกับเงินของคนอื่น (social comparison) และเงินของตัวเองในอดีต (habituation)
ซึ่งข้อสรุปสำคัญจากงานชิ้นนี้มีอยู่ 2 ข้อด้วยกัน คือ เงินในกระเป๋าของเรามันเพิ่มความสุขให้เราได้ก็จริงแต่ทุกบาทที่เพิ่มขึ้น กลับให้ความสุขน้อยลงเรื่อย ๆ (เช่น เก็บเงินได้ 1 พันแรก โคตรจะแฮปปี้ เก็บเงินได้อีก 1 พัน ความสุขก็ลดน้อยลงมา) และความสุขของคนขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในกระเป๋าเราและการเปรียบเทียบกับเงินของคนอื่นและเงินของตัวเองในอดีต (ซึ่งประเด็นการเปรียบเทียบนี้ ก็เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับงานของ Hirschman และ Rothschild)
เราจะเห็นว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีความสุขลดน้อยลง แม้ว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้นทุกปี เราดราม่ากันง่ายขึ้น โกรธกันง่ายขึ้น แข่งขันกันมากขึ้น นั่นไม่ใช่เป็นเพราะเรามีรายได้ที่ลดลง (อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ) แต่เพราะคุณภาพชีวิตที่เราได้ มันแย่กว่าเมื่อเทียบคนชาติอื่นหรืออาจเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ก็ยังน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
หรือหากมองตามความจริงแล้ว เราก็อาจจะอยากจะแซงหน้าคนที่อยู่รอบข้าง ยิ่งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งปลอดภัยเท่านั้น และยิ่งความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเปรียบเทียบกันมากขึ้นเท่านั้น ยังไม่นับประเด็นอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องปากท้อง อย่างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การแสดงออกทางความคิด และการได้รับการยอมรับ ซึ่งเราก็คงจะมีคำตอบในใจว่ามันดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไรในช่วงเวลาที่ผ่านมา