ในบทความเรื่องคดีของ X[1] เราได้พูดถึงระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าของอังกฤษหรือ NHS (National Health Service) ที่ประสบปัญหางบประมาณและการจัดบริการที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ล่าสุด Stephen Hawking นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษคนสำคัญระดับโลก ที่ชีวประวัติของเขาถูกเอาไปทำเป็นหนังเรื่อง The Theory of Everything
เขาได้เขียนความเห็นลงในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Guardian เกี่ยวกับ NHS โดยมีคำวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลในช่วงหลังที่ส่งผลให้ NHS มีปัญหา ในฐานะผู้ป่วยจากโรคประสาทการสั่งการเสื่อม (motor neuron disease) หรือโรค ALS ตั้งแต่อายุ 21 ปี Hawking ได้รับประโยชน์จากบริการของ NHS อย่างมาก และหากไม่มี NHS ก็คงไม่มีเขาในวันนี้
NHS คือระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลถ้วนหน้าของอังกฤษที่ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการได้ยามเจ็บป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับบริการส่วนใหญ่ (free at the point of use) เพราะเป็นสวัสดิการที่มาจากภาษีประชาชน หลักการของ NHS ก็คือแต่ละคนร่วมจ่ายค่าบริการ NHS ตามกำลังที่ตนมีผ่านการเสียภาษีที่ลดหลั่นกันตามรายได้ ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกันกับระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย (เพียงแต่ของไทยยังมีเก็บ 30 บาท)
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา NHS ประสบปัญหาความไม่เพียงพอของงบประมาณและบุคลากรที่ให้บริการ เช่น แพทย์ GP (แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป) และพยาบาลที่ภาระงานหนักจนหันไปเลือกเปลี่ยนอาชีพ บวกกับผลกระทบจาก Brexit ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จากประเทศอื่นในยุโรปจำนวนมากคิดย้ายไปทำงานประเทศอื่น (ทั้งๆ ที่สาเหตุที่มีเจ้าหน้าที่จากประเทศอื่นเยอะก็เนื่องจากเจ้าหน้าที่ชาวอังกฤษมีไม่พอ) หรือในด้านโรคทางจิตก็มีปัญหาเตียงไม่พออย่างในคดี X ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยทางจิตที่เยอะขึ้น เป็นต้น
เหตุผลที่ Hawking ออกมาพูดเรื่อง NHS นั้นก็มาจากการที่เขาได้รับเชิญให้กล่าวสปีชในงานประชุมเรื่องอนาคตของ NHS ที่จัดโดย Royal Society of Medicine ซึ่งคาดว่าจะเล่าถึงตัวอย่างเหตุการณ์ที่ NHS ได้ช่วยชีวิตของเขา อย่างตอนเป็นปอดบวมที่สวิสเซอร์แลนด์และแพทย์ที่นั่นแนะนำให้ปิดเครื่องช่วยหายใจเพื่อหยุดการช่วยชีวิตของเขา แต่ภรรยาของเขาไม่ยอมจึงนำตัวเขาขึ้นเครื่องบินกลับมารักษากับ NHS ที่โรงพยาบาลใน Cambridge จนหาย[2] และนอกจากสปีชที่เขาจะขึ้นกล่าวในงานแล้ว Hawking ก็ได้เขียนจดหมายลงในเว็บไซต์ของ The Guardian ด้วย
จดหมายของ Hawking แสดงให้เห็นอีกครั้งว่า NHS เป็นสถาบันที่สำคัญของสังคมอังกฤษ และเรื่องราวของเขาก็แสดงให้เห็นว่าสิทธิในการรักษาพยาบาลไม่ควรเป็นเรื่องของความรวยความจน แต่เป็นเรื่องของการลงทุนกับสุขภาพให้คนมีชีวิตต่อไปเพื่อที่เขาจะได้ได้ใช้ชีวิตตามปรารถนา เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ อย่างเช่นที่ Hawking สามารถมีชีวิตต่อจนสร้างผลงานที่เป็นคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์โลกจนทุกวันนี้
คงไม่ใช่ทุกคนที่จะสร้างประโยชน์ได้ในระดับเดียวกับ Stephen Hawking แต่คนหนึ่งคนมีศักยภาพที่จะทำประโยชน์ให้สังคมเสมอ ไม่ว่าจะมากน้อยเพียงใด หรือในรูปแบบใดก็ตาม
ความเห็นของ Hawking ส่วนหนึ่งโจมตีการเลือกใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แบบเข้าข้างตัวเองของรัฐบาล แถมงานวิจัยบางส่วนยังเป็นงานวิจัยที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากนักวิชาการในสาขาเดียวกันหรือที่เรียกว่า peer review โดยระบุถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนปัจจุบัน Jeremy Hunt ที่ประกาศนโยบายว่า NHS ควรให้บริการตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ (ปัจจุบันเวลาทำการปกติคือวันจันทร์ถึงศุกร์) โดยอ้างงานวิจัยว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่าในช่วงสุดสัปดาห์ Hawking โยงถึงกระแส post-truth และกระแสต่อต้านผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันว่าการอ้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แบบเข้าข้างตัวเองเช่นนี้ยิ่งทำให้คนลดความเชื่อมั่นในตัวผู้เชี่ยวชาญ ในส่วนของนาย Hunt เองก็ออกมาโต้ตอบ Hawking ทางทวิตเตอร์ว่า[3] “Stephen Hawking เป็นนักฟิสิกส์ที่ปราดเปรื่อง แต่เขาพูดผิด (wrong) ว่ามีหลักฐานไม่เพียงพอเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบของสุดสัปดาห์ …”
ในขณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยเองก็เพิ่งมีคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 และก็เป็นไปได้ว่าทิศทางระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของเราอาจจะเปลี่ยนไป ความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำอย่าง Stephen Hawking ในเรื่องสวัสดิการการรักษาพยาบาลจากรัฐก็เป็นความเห็นที่น่าสนใจและน่าลองอ่านกัน
“NHS ช่วยชีวิตผมไว้ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผมก็ต้องช่วยชีวิต NHS ด้วย[4]
ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวกับ NHS เช่นเดียวกับใครหลายๆ คน ในกรณีของผม การรักษาพยาบาล ชีวิตส่วนตัว และชีวิตในฐานะนักวิทยาศาสตร์ล้วนเกี่ยวพันกัน ผมได้รับการรักษาพยาบาลคุณภาพสูงจาก NHS จำนวนมากและคงจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ได้หากไม่ใช่เพราะ NHS
การรักษาพยาบาลที่ผมได้รับนับแต่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคประสาทการสั่งการเสื่อม (motor neuron disease) เมื่อสมัยเป็นนักศึกษาในปี 1962 ทำให้ผมสามารถใช้ชีวิตได้ตามปรารถนา และสามารถมีส่วนร่วมในความก้าวหน้าที่สำคัญในการทำความเข้าใจจักรวาล เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมฉลองวันเกิดครบรอบอายุ 75 ปีในงานประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติที่ Cambridge ผมยังทำงานประจำเป็นผู้อำนวยการด้านงานวิจัยที่ Centre for Theoretical Cosmology และกำลังจะมีบทความวิทยาศาสตร์เรื่องหลุมดำเชิงควอนตัม (quantum black holes) ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน
ปีที่แล้ว ประสบการณ์ส่วนตัวกับ NHS ของผมและชีวิตในฐานะวิทยาศาสตร์มาประจบกันเมื่อผมร่วมลงนามในจดหมายเรียกร้องให้การจัดทำนโยบายด้านการรักษาพยาบาลต้องตั้งอยู่บนฐานของงานวิจัยซึ่งผ่านการตรวจสอบจากนักวิชาการในสาขาเดียวกันและหลักฐานที่ถูกต้อง ประเด็นปัญหาที่จดหมายพูดถึงคือเรื่อง ‘ผลกระทบของสุดสัปดาห์ (weekend effect)’ นาย Jeremy Hunt รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้อ้างว่า คนไข้นับพันต้องเสียชีวิตโดยไม่จำเป็นเนื่องจากการรักษาพยาบาลที่ด้อยคุณภาพในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และใช้ข้อมูลนี้เพื่ออ้างอิงว่า NHS จำเป็นต้องให้บริการ 7 วันต่อสัปดาห์ ผมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับประเด็นปัญหานี้ ด้วยความที่เคยผ่านการใช้เวลาจำนวนมากในโรงพยาบาลมา ผมก็อยากให้มีบริการเพิ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ อีกทั้งก็เป็นไปได้ว่าคนไข้บางรายต้องเสียเวลาที่โรงพยาบาลมากเกินจำเป็นด้วยเหตุที่การตรวจวินิจฉัยโรคบางอย่างทำได้เพียงเฉพาะในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์
อย่างไรก็ดี ตามที่เราได้อธิบายในจดหมายข้างต้น นาย Hunt เลือกเฉพาะงานวิจัยที่เป็นประโยชน์เพื่อสนับสนุนข้อโต้แย้งของตัวเอง สำหรับนักวิทยาศาสตร์ การเลือกเฉพาะหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้
เมื่อบุคคลสาธารณะใช้หลักฐานวิทยาศาสตร์ในทางที่ผิด เลือกอ้างเฉพาะผลการศึกษาบางงานแต่ปกปิดงานอื่นเพื่อสนับสนุนนโยบายที่ตนต้องการนำมาปฏิบัติด้วยเหตุผลอื่น การกระทำเช่นนี้ลดทอนวัฒนธรรมทางวิทยาศาสตร์ พฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลให้คนทั่วไปเสียความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ในยุคที่การวิจัยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญยิ่งกว่ายุคใดๆ
ปัญหาที่ว่านี้ใหญ่กว่าแค่เรื่องผลกระทบของสุดสัปดาห์ NHS กำลังประสบวิกฤติที่เกิดจากการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง ตัวอย่างของการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองเหล่านี้มี เช่น การให้งบประมาณที่ไม่เพียงพอ การตัดเงินงบประมาณ การให้เอกชนเข้ามาให้บริการ การกำหนดเพดานเงินเดือนของเจ้าหน้าที่รัฐ สัญญาการทำงานของแพทย์จบใหม่ (junior doctors) การยกเลิกทุนการศึกษาของนักศึกษาพยาบาล การตัดสินการของฝ่ายการเมืองเช่นนี้ทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลลดลง คิวคนไข้รอรับการรักษายาวขึ้น เกิดความวิตกกังวลในหมู่คนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ และการขาดแคลนบุคลากรที่อันตราย ความผิดพลาดในระบบการดูแลด้านสังคมสงเคราะห์ของคนพิการและผู้สูงอายุที่ให้เอกชนเข้ามาให้บริการยิ่งเพิ่มภาระให้กับ NHS เข้าไปอีก
เช่นนั้นแล้ว เราจะสามารถทำอะไรได้? นักฟิสิกส์อย่างผมวิเคราะห์ระบบใดระบบหนึ่งด้วยการประมาณการณ์ในระดับต่าง ๆ (levels of approximation) หากจะพูดประมาณการณ์ในระดับแรกแล้ว เราสามารถมองเห็นได้ว่าสถานการณ์ของระบบการรักษาพยาบาลในประเทศนี้เป็นเรื่องของการต้านกันของพลังที่มีผลประโยชน์แตกต่างกัน
ในด้านหนึ่งมีพลังของบริษัทเอกชนข้ามชาติซึ่งถูกผลักดันด้วยแรงจูงใจของกำไร ในสหรัฐอเมริกาที่บริษัทเหล่านี้เป็นกลุ่มนำในระบบการรักษาพยาบาล บริษัทเอกชนทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ การรักษาพยาบาลไม่ใช่สวัสดิการถ้วนหน้าและเมื่อพิจารณาถึงผลลัพธ์ต่อคนไข้ก็มีราคาแพงกว่ามากเมื่อเทียบกับอังกฤษ ในอังกฤษเราเห็นถึงดุลอำนาจที่อยู่กับบริษัทบริการรักษาพยาบาลเอกชนและทิศทางของความเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไปทางระบบประกันสุขภาพแบบอเมริกัน
ในอีกด้านหนึ่งก็มีพลังของประชาชนและประชาธิปไตย โพลความเห็นแสดงผลว่าเสียงส่วนใหญ่สนับสนุน NHS ที่ให้บริการโดยรัฐ ต่อต้านการแปลงกิจการให้เป็นของเอกชนและระบบที่แบ่งคนออกเป็นสองชนชั้น ดังนั้น แนวทางการสนับสนุน NHS ที่ดีที่สุดคือการให้พลังกับประชาชนซึ่งมีสิ่งสำคัญ 2 ประการด้วยกัน ประการแรก เราต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการให้บริการโดยรัฐไม่เพียงแต่เป็นการรักษาพยาบาลที่เป็นธรรมที่สุดเท่านั้น แต่ยังคุ้มค่าที่สุดอีกด้วย และประการที่สอง เราต้องส่งเสียงให้ดังและต้องมีพลังทางการเมืองเพื่อทำให้นักการเมืองลงมือปฏิบัติเพื่อเรา
หากทั้งหมดนั่นฟังดูเป็นเรื่องการเมือง นั่นก็เป็นเพราะว่า NHS เป็นเรื่องการเมืองมาโดยตลอด NHS ก่อตั้งขึ้นมาท่ามกลางเสียงต่อต้านทางการเมือง มันเป็นบริการสาธารณะที่ดีเลิศที่สุดของเกาะบริเตนและเป็นหมุดหมายสำคัญของสังคมเรา เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวพวกเราไว้ด้วยกัน ผู้คนเห็นคุณค่าของ NHS และภาคภูมิใจที่เราปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในยามเจ็บป่วย NHS แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเรา เราไม่อาจสูญเสีย NHS ไปได้”
ดูเหมือนว่า ไม่ว่าประเทศไหน จะ NHS ของอังกฤษ Obamacare ของอเมริกา หรือ 30 บาทของไทย เรื่องสวัสดิการรักษาพยาบาลก็เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาและต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อให้มันคงอยู่ไปได้ตลอด
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] https://thematter.co/thinkers/england-national-health-services-x-case/32152
[2] http://www.bbc.com/news/health-40967309
[3] https://twitter.com/Jeremy_Hunt/status/898666809456566274
[4] https://www.theguardian.com/commentisfree/2017/aug/18/nhs-scientist-stephen-hawking