ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มี 2 เรื่องที่ผมรู้สึกสนใจ และหากมองผ่านๆ อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกันนัก แต่หากคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังสักหน่อย 2 เรื่องที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้เกี่ยวข้องกันอย่างมากทีเดียว เรื่องแรกคือ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทางทีมงานเพจ The 101 world มีเฟซบุ๊กไลฟ์ฟัง อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี บรรยายเรื่องระบบการเลือกตั้งกับประชาธิปไตย รวมถึงให้มีช่วงถาม-ตอบด้วย[1] และผมได้ชมงานไลฟ์นี้พอดีพบว่าน่าสนใจมาก ทั้ง อ.สิริพรรณยังอธิบายเรื่องระบบการเลือกตั้งได้อย่างครอบคลุม ข้อมูลครบถ้วนน่าลองตามไปชมกันมากครับ
ในช่วงถาม-ตอบ เลยได้ถือโอกาสถาม อ.สิริพรรณไปคำถามหนึ่ง ซึ่งอาจารย์ตอบดีมากๆ ในแง่ชัดเจนว่าอาจารย์คิดอ่านอยู่บนกราวนด์แบบไหนและมีข้อสรุปส่วนตัวอย่างไร คือ ผมชอบมากกับคำตอบนั้น แม้ผมอาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม คำถามที่ว่านี้คือเรื่อง ‘รูปแบบรัฐ กับการเลือกตั้ง’ ของไทยครับ เดี๋ยวผมจะลงรายละเอียดอีกที และอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เพลียใจก็คือเรื่องของคุณเมย ภคพงษ์ ตัญกาลจน์ นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมกับอวัยวะภายในที่หายไป
สิ่งที่ตามมาหลังจากการเสียชีวิตของคุณเมยและอวัยวะภายในของเขานั้นก็คือ ‘คำอ้าง’ เลมๆ ต่ำๆ และเหนือจริง (Surreal) มากๆ ของผู้นำสถาบันทหารไทยที่พาเหรดกันออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา (เดี๋ยวจะลงรายละเอียดอีกที) ในห้วงความคิดแรก ผมคิดในหัวขึ้นมาว่า “ช่างบัญเอิญจริงๆ ที่อาทิตย์ที่แล้วเขียนถึงเรื่องความจริงสมมติที่ถูกทำให้จริงเสียยิ่งกว่าความเป็นจริงจริงๆ ในบริบทของกะลาไทย”[2]
แต่พอมาตั้งสติคิดได้ ผมพบว่านี่ไม่ใช่ความบังเอิญอะไรหรอก แต่ในสังคมไทยมันเกิดเรื่องแย่ๆ แบบนี้ขึ้นซ้ำๆ ตลอดเวลา จนผมจะเขียนบทความเนื้อหาเรื่องความจริงสมมติอีกกี่รอบมันก็กลายเป็นเรื่องที่ “ใหม่และทันกาลราวกับเขียนมาเพื่อเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น” ได้ตลอดอยู่ดี
คนที่ยืนยันสิ่งที่ผมว่าไปถึงการซ้ำรอยเดิมของความเฮงซวยนี้ไม่ใช่ใครอื่นครับ แต่คือ 2 คนที่ว่ามาตะกี้นี้เอง พลเอกประวิตร และพล.ต.อ.จักรทิพย์นั่นแหละ แม้เนื้อหาโดยมากที่ทั้งสองคนพูดโดยเฉพาะในกรณีของคุณเมยนี้ ต้องบอกตรงๆ ว่า Beneath contempt หรือต่ำตมจนเกินกว่าจะหาคำมาประณามได้ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ดูจะจริงครับ นั่นคือ เรื่องการ ‘ซ่อม’ เป็นเรื่องปกติในสถาบันกองทัพ แม้แต่ตัวบิ๊กป้อมเองก็เคยเจอมากับตัว[3] ทั้งการเสียชีวิตยังดูเป็นเรื่องปกติด้วยจากคำบอกเล่าของพล.ต.อ.จักรทิพย์[4]
แต่ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่มายืนยัน ‘ความไม่บังเอิญที่ดูผ่านๆ เหมือนว่าบังเอิญ’ ที่ผมว่าไปนั้น คือ การที่พี่สาวของคุณเมยออกมาเรียกร้องกับสังคมว่า “ให้หยุดต่อว่าโรงเรียนเตรียมทหารเถิด”[5] ที่ดูเหมือนว่าความจริงเสมือนจะทำงานได้อย่างน่ากลัวเหลือเกินในประเทศนี้ จนความจริงจริงๆ ดูจะไร้ที่อยู่ไร้ที่ไปมากทีเดียว แม้ว่าจะมีบางกระแสมองว่าพี่สาวคุณเมยอาจจะต้องออกมาพูดเช่นนั้น เพราะเกรงกลัวว่าตนเองหรือครอบครัวที่เหลือจะกลายเป็นเป้าหมายต่อไปในการ ‘ถูกซ่อม’ ต่อไปด้วย ซึ่งอาจจะจริง (และอาจจะไม่จริง) ในจุดนี้เราไม่มีทางรู้ได้ แต่ที่รู้ชัดก็คือ เธอได้ตัดสินใจพูดอย่างที่ว่าออกมาแล้ว ซึ่งมันสะท้อนอำนาจของความจริงเสมือนอย่างน่าสะเทือนใจ และต่อให้เธอพูดเพราะสถานการณ์บังคับก็ตาม ผมกลับยิ่งคิดว่ามันจะยิ่งสะท้อนในเนื้อหาที่ผมจะอภิปรายต่อไปยิ่งขึ้นอีก
แต่ก่อนจะเข้าส่วนหลักที่อยากจะพูดถึง ผมอยากจะแทรกเล็กๆ อีกเพียงนิดเดียวว่า การที่พี่สาวหรือใครในครอบครัวของคุณเมย หรือ ‘จะใครก็ตาม’ มาบอกให้เราหยุดเรียกร้องกับกองทัพหรือสถาบันต่างๆ ของทหาร อย่างโรงเรียนเตรียมทหารนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปหยุดตามที่เค้าบอกนะครับ เพราะเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องของครอบครัวเธอคนเดียว ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะเหล่าผู้นำกองทัพได้เดินสายออกมายอมรับกันถ้วนหน้าแล้วว่าการซ่อมคือเรื่องปกติ นั่นแปลว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และต่อให้มันเกิดขึ้นกับคนคนเดียว มันก็คือ คดีอาญาที่ถือเป็นเรื่องส่วนรวมอยู่ดี
ฉะนั้นแม้ว่าพี่สาวของคุณเมยจะออกมาพูดแบบนั้น ‘ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม’ หรือมีเหล่ามนุษย์ที่ติดอยู่ในความจริงเสมือนของความดีงามของสังคมทหาร (อย่างรูปข้างล่างนี้ ที่ดูจะ ‘รักโรงเรียนเตรียมทหารเสียยิ่งกว่าชีวิตลูกตัวเอง’) จะมาบอกให้หยุดด่า หยุดประณามโรงเรียนเตรียมทหาร หรือสถาบันทหารอะไรไป ผมกลับเห็นว่า “นี่แหละครับคือเหตุผลที่เรายิ่งต้องด่า ต้องวิจารณ์และประณามให้มากขึ้น” ที่ว่ามากขึ้นก็เพราะนอกจากต้องมานั่งวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาของตัวสถาบันทหารแล้ว ยังต้องด่าคนเหล่านี้ที่พยายามทำให้ “ปัญหาและพฤติกรรมแย่ๆ แบบนี้กลายเป็นเรื่องปกติ หายเข้าไปในกลีบเมฆหนักยิ่งกว่าที่เป็นอยู่” และที่สำคัญมันเท่ากับเป็นการเรียกร้องให้ประชาชนหยุดสนใจต่อสถาบันทางการเมืองซึ่งส่งผลต่อสังคมในภาพกว้างทั้งหมดด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทุเรศต่ออีกชั้นอีกต่างหาก ที่เราไม่ขยันเรียกร้องการ ‘สนใจเรื่องส่วนบุคคล’ ที่เราไม่มีสิทธิแต่แรกในการจะเข้าไปยุ่ง อย่างชีวิตส่วนตัวเซเลบคนดังทั้งหลาย แต่กับสถาบันทางการเมืองที่กระทบกับสังคมโดยรวมตรงๆ และเรามีสิทธิในการจะสนใจ จะยุ่ง จะเสือก จะเรียกร้อง จะประณามนั้น กลับบอกว่า “#หยุดเถอะ” … สังคมป่วยไข้สุดๆ แบบนี้
นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการ ดีเฟนด์สถาบันทหารอย่าง ‘ล้นเกิน’ และแพร่หลายไปทั่วเฟซบุ๊ก (ขณะเขียนบทความมีการแชร์ไปแล้วเกือบ 3,000 ครั้ง) แม้ตัวผู้เขียนจะเปิดโพสต์นี้เป็นพับลิก แต่ผมขออนุญาตคัดมาเฉพาะเนื้อหา แบบไม่ลงรายละเอียดเจ้าของโพสต์ กันไว้ก่อนเดี๋ยวมีคนจะอยากไปเหยียบแก แต่เราจะเห็นได้ว่าวิธีคิดแบบนี้มันฟ้องว่าเราอยู่ในสังคมที่ความจริงเสมือนกินหัวเราหนักขนาดไหนแล้ว (โฆษณาซ้ำหนักขนาดนี้ ใครยังไม่ได้อ่านบทความอาทิตย์ที่แล้ว ก็ลองดูได้นะครับ) คือ สำหรับผมมัน Beyond redemption หรือ กู่ไม่กลับแล้ว กับการที่จะ ‘รักโรงเรียนเตรียมทหารมากกว่าชีวิตลูกตัวเอง’ ได้เนี่ย (เป็นลูกนี่โกรธตายห่า บอกเลย) คือ ไม่ต้องเป็นลูกใครหลานใครหรอกครับ จะชีวิตใครก็ช่าง สิทธิในการมีชีวิตอยู่ของใครๆ ก็ตาม มีค่าเหนือสถาบันอะไรใดๆ ทั้งนั้น…นี่คือเรื่องพื้นฐานมากๆๆๆๆๆๆๆ ที่ย้ำๆๆๆๆๆๆๆๆๆ มาไม่รู้กี่บทความแล้ว เฮ้ออออออออ
เอาเถอะครับ นอกจากภาพของโพสต์ที่ผมสุดจะหาคำมาบรรยายความต่ำได้นี้จะบอกยืนยันเราถึงสภาพการอยู่ในโลกจริงจำลองที่กลายเป็นความจริงยิ่งกว่าความจริงจริงๆ แล้ว มันยังยืนยันกับเราด้วยว่า ‘คำพูดของผู้นำเหล่าทัพ’ ว่าการซ่อมนั้นเกิดขึ้นเรื่อยๆ นั้น ‘จริง’ และอาจจะเลวร้ายกว่าที่ผู้นำเหล่าทัพบอกด้วย….อ้วก สลบ เข่าแตก ข้อมือหัก ฯลฯ ตลอด ’60 กว่ารุ่น’ มาแล้ว ไม่น่าแปลกใจเลยที่ความรุนแรงจะเป็นที่นิยมเสียเหลือเกินในประเทศนี้[6]
ตลกดีนะครับ เรากรีดร้องโหยหัวกับการรังแกสัตว์ เตะหมา ตบแมว หรือกินเนื้อกระต่ายย่าง หลายคนน้ำหูน้ำตาไหล เมื่อเห็นข่าวคนเวียดนามกินเนื้อหมา แต่กลับโอเค กลับไม่ทุกข์ไม่ร้อนกับการทรมาณร่างกายและจิตใจมนุษย์ด้วยกันเองอย่างเป็นระบบและอย่างเป็นกลไกเป็นโครงสร้างมากว่า 60 รุ่นนี่! หลายคนออกมาบอกว่านี่คือการฝึกวินัย เราต้องเข้าใจ…ผมล่ะอดที่จะเพลิดเพลินในความ hypocrite นี้ไม่ไหว ไม่เห็นเวลาคนตบหมา เตะแมวจะมาปกป้องกันบ้างว่าเค้า ‘ฝึกวินัย’ มัน ผมรักสัตว์ ผมรักหมา ผมรักแมวนะครับ อย่าเข้าใจผิด และผมก็คัดค้านการทรมาณสัตว์ด้วย แต่ก่อนหน้านั้นผมคัดค้านการทรมาณ และการละเมิดสิทธิเหนือชีวิตของมนุษย์ด้วยกันเองก่อน!!!
คือ พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น เนี่ย เพื่อนๆ ผมสายลิเบอรัลหลายคน (จะว่าแทบทั้งหมดเลยก็ได้) ออกมาพูดในประเด็นเรื่องประชาธิปไตย รัฐบาลจากการเลือกตั้ง (รัฐบาลพลเรือน) และสิทธิมนุษยชน ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นปัญหาอย่างไร และเราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไรหากประเทศเรามีสิ่งที่ว่ามานี้ ใครสนใจ ลองดูที่พี่หนุ่มโตมรเพิ่งเขียนถึงสัปดาห์นี้ได้เลยนะครับ ดีมากๆ ข้อมูลแน่นมากๆ (ดีกว่าที่ผมเขียนนี้นัก)[7] ซึ่งผมเห็นด้วยกับแทบทุกอย่างที่มีการเสนอมา แต่ผมอยากจะเสนออีกประเด็นขึ้นมา เพราะยังไม่ได้พูดถึงกันนัก และในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว หากสิ่งนี้ยังไม่เกิด จะมีอีกกี่ประชาธิปไตยหรืออีกแปดหมื่นการเลือกตั้ง ปัญหานี้ก็คงไม่จบ และเรื่องที่ว่านี้ก็นำเรากลับไปสู่ประเด็นที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่แรกเริ่มครับ คือ การบรรยายของอาจารย์สิริพรรณ เรื่องการเลือกตั้งกับประชาธิปไตย
ผมคงไม่สามารถสรุปเนื้อหาทั้งหมดที่ อ.สิริพรรณพูดมาลงในนี้ได้ และต่อให้ทำก็คงตกหล่น ฉะนั้นแนะนำให้ลองไปดูเองตามลิงก์ที่ใส่ไว้ในอ้างอิงดีกว่านะครับ แต่สิ่งที่อยากจะพูดถึงคือประเด็นที่ผมเกริ่นไปว่าแม้ผมจะชอบคำตอบของ อ.สิริพรรณมาก ในแง่ความชัดเจน ตรงประเด็นและเหตุผลที่อาจารย์เชื่อก็ระบุไว้อย่างชัดเจน ว่าสำหรับอาจารย์แล้ว ความสัมพันธ์ของ “ระบบการเลือกตั้ง กับรูปของรัฐนั้นมันไม่ใช่ไก่กับไข่ หรือไม่มีอะไรเกิดก่อนและหลังอย่างแน่ชัด เราสามารถค่อยๆ ให้การเลือกตั้งเป็นตัวนำทางไปสู่ข้อเรียกร้อง หรือทำให้สังคมได้ค่อยๆ เรียนรู้ไปจนถึงการกำหนดรูปแบบรัฐได้” อันนี้คือคำตอบโดยประมาณนะครับ กับคำถามที่ผมถามอาจารย์ท่านไปว่า “คิดว่าการเลือกตั้งที่จะถึงจะมีผลอะไรกับประเทศไทยจริงๆ หรือ ในเมื่อไทยยังไม่เคยมีการพูดคุยเรื่องรูปแบบของรัฐอย่างจริงจังเลย?”
เอาจริงๆ ผมไม่เห็นด้วยกับคำตอบของอาจารย์สิริพรรณนัก (แม้จะชอบตัวคำตอบและการตอบนี้) คือผมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะช่วยผลักดันให้คุณค่าแบบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนมันขยับไปข้างหน้าอย่างที่อาจารย์ท่านว่ามาแน่นอน (ไม่งั้นคงไม่เขียนเรื่องพวกนี้ซ้ำไปซ้ำมา) อย่างไรก็ดี ในแง่กลไกหรือพัฒนาการเชิงโครงสร้างของระบอบการเมืองของรัฐแล้ว ผมคิดว่ามันมีลำดับขั้นที่มีก่อนมีหลังอยู่บ้าง แม้จะไม่ได้เป๊ะๆ ชัดๆ ก็ตาม และสำหรับผมสิ่งที่เราต้องพิจารณากันจริงจัง เราต้องคิดกันจริงจัง ก่อนที่จะไปถึงเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งนั้นก็คือเรื่อง ‘รูปแบบของรัฐ’ ครับ ว่าเราต้องการจะเป็นรัฐแบบไหนกันแน่?
จุดนี้แหละที่สัมพันธ์โดยตรงกับเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณเมย และกระบวนการ ‘ซ่อม’ อย่างเป็นปกติวิสัยในสถาบันทหารด้วย ทั้งยังครอบคลุมไปไกลกว่านั้นอีก คือ เอาตรงๆ ครับ ผมไม่คิดว่ากับเรื่องของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในประเทศไทยนั้น เพียงแค่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งมันจะแก้ปัญหาอะไรได้ขนาดที่เราคาดหวังกับมัน ที่ผมพูดแบบนี้เพราะประชาธิปไตยและการเลือกตั้งนั้น โดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่ของวิเศษที่ได้มาโดยไม่ต้องแลกหรือเสียสละอะไรเลย ผมไม่ได้พูดถึงการสละชีวิตเข้าสู้ที่แสนโรแมนติกอะไรแบบนั้นนะครับ แต่มันต้องแลกมาด้วยการ ‘ไม่เป็น’ และ ‘ยอมเป็น’ อะไรหลายๆ อย่างครับ
จะเป็นประชาธิปไตย จะมีการเลือกตั้งและระบบการเลือกตั้งที่ดี คุณต้องไม่เป็นเผด็จการ ไม่เอาอำนาจนิยม คุณต้องไม่เอาคอมมิวนิสต์ ไม่ยอมรับการล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง คุณต้องยอมรับผลการเลือกตั้งที่อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคิด กลไกในระบอบประชาธิปไตยอาจจะล่าช้าหรือห่วยแตก โดยเฉพาะในช่วงการพัฒนา คุณต้องยอมให้มีการเดินขบวนปิดถนนทนรถติด คุณต้องอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง คุณต้องยอมรับวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย คุณต้องมองการตรวจสอบอำนาจรัฐเป็นกลไกปกติซึ่งอาจจะทำให้เกิดข้อขัดแย้งและความล่าช้าในเชิงการปกครองได้ คุณต้องยอมรับกฎหมายเป็นสำคัญไม่ใช่ความต้องการตามที่ตนเองคิดเห็น และสิทธิมนุษยชนต้องมีคุณค่าเป็นสำคัญรากฐานของทุกคนอย่างไร้เงื่อนไขและปฏิเสธไม่ได้
เห็นมั้ยครับ การจะเป็นประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่ของที่ได้มาฟรีๆ และไม่ใช่ว่ามันจะสะดวกสบายไปเสียทุกอย่าง มันมีความ ‘ไม่สะดวก’ ของมันอยู่ เพราะถึงที่สุดแล้วประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ประกันว่าจะได้รับสิ่งที่ดีสิ่งที่ไม่ห่วยไม่เห่ย แต่มันคือระบอบการปกครองที่เน้นการสะท้อนเสียงของคนในฐานะกลไกให้สิทธิมนุษยชนทำงานได้ นั่นแปลว่า การจะเป็นรัฐประชาธิปไตยที่มีการเอกตั้งและอะไรต่างๆ อย่างที่ อ.สิริพรรณ และเพื่อนๆ ผมหลายคนว่ามานั้น มันมีราคาที่ต้องจ่ายเช่นเดียวกัน เมื่อมันมีราคาที่ต้องจ่ายของมัน ก็ชัดเจนว่ามันต้องมีทั้งคนที่อยากจะจ่าย และคนที่ไม่พร้อมจะจ่ายสิ่งนี้ ฉะนั้นในแง่นี้ผมถึงมองว่าการพูดคุยอย่างชัดเจนเรื่องรูปแบบรัฐนั้นมันสำคัญ และมันเป็นขั้นตอนที่พึงต้องเกิดขึ้น ก่อนจะประกาศตัวเองเป็นประเทศประชาธิปไตยจริงๆ กันได้
หากเราไม่มีความชัดเจนเรื่องรูปแบบของรัฐแล้ว เราก็ไม่ได้มีหรอกสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย แต่เป็น “ปาหี่ของประชาธิปไตย” จะถูกต้องกว่า
รูปแบบรัฐนี้คืออะไร? มันคือ การกำหนดรูปแบบโครงสร้างการปกครองของรัฐนั้นๆ ครับ เช่นว่า คุณจะเป็นรัฐเผด็จการ รัฐคอมมิวนิสต์ รัฐสังคมนิยม รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐประชาธิปไตย สาธารณรัฐ หรือรัฐอนาธิปไตยแม่งเลย การพูดคุยที่ว่านี้แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถพูดคุยถามทุกคนได้หรอก แต่ขั้นต่ำที่สุดคือ เราต้องเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยเรื่องนี้ได้โดยเสรีและไม่ต้องเคอะเขิน และไม่ถูกจับ ทั้งยังต้องพูดได้ถึงรูปแบบต่างๆ ที่ซับซ้อนลงไปอีก เช่น ถ้าจะเป็นประชาธิปไตย จะเป็นแบบไหน? จะเป็นประชาธิปไตยแบบมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ, เป็นสาธารณรัฐ แบบมีประธานาธิบดีมั้ย? ระบบศาลแบบไหน ฯลฯ ฯลฯ
นี่คือสิ่งที่ผมพูดถึงครับ มันคือเรื่องของรูปแบบรัฐ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ อย่างอดีตประเทศเครือจักรภพของอังกฤษหลายประเทศเอง ก็มีการพูดคุย ถกเถียงเรื่องพวกนี้ตลอดเวลา และมีการทำประชามติเป็นระยะๆ ว่าจะยังมีควีนเป็นประมุขของชาติต่อไปหรือไม่ เป็นต้น นี่คือ การพูดคุยเรื่อง ‘รูปแบบของรัฐ’ ที่ผมว่ามาครับ
แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องโรงเรียนเตรียมทหาร กับสถาบันกองทัพที่พูดๆ กันมาตอนต้น? มันคือทุกสิ่งทุกอย่างของที่พูดมาเลยครับ ผมชักแม่น้ำทั้งห้าทั้งหมดมานี้เพื่อจะให้เห็นภาพว่า สภาพปัจจุบันของสังคมนี้นั้นมันเกินเยียวยา มันกู่ไม่กลับเพียงใดแล้ว เพื่อจะบอกว่าการเรียกร้องแต่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งนั้น มันไม่เพียงพอแล้วสำหรับสภาพที่เป็นอยู่นี้ สิ่งที่จำเป็นมากๆ ในการจัดการกับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นคือ ‘การปฏิรูปกองทัพและโครงสร้างสถาบันทหารไทยทั้งหมด’ ครับ การปฏิรูปทหารนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย พูดกันมาหลายทศวรรษแล้ว[8] แต่ที่ผมอยากจะพูดตรงนี้ก็คือ การปฏิรูปกองทัพสารพัดรูปแบบที่เสนอๆ กันมาหลายทศวรรษนั้น จะไม่มีทางเป็นจริงได้สักอย่างหรอกครับ หาก ‘ไม่มีการพูดคุยเรื่องรูปแบบของรัฐอย่างชัดเจนก่อน’ และนั่นคือเหตุผลที่ผมต้องพูดสารพัดเรื่องที่ดูจะไม่เกี่ยวกันนี้พร้อมๆ กัน เพราะเอาจริงๆ แล้วมันเกี่ยวพันกันอย่างแรงนั่นเองครับ
ทำไมผมถึงว่า หากไม่มีการสรุปเรื่องรูปแบบรัฐที่ชัดเจนก่อน เราไม่มีทางปฏิรูปกองทัพและสถาบันทหารได้? เพราะรูปแบบของรัฐที่มันบอกว่าเราต้องการจะอยู่ในสังคมหรือชุมชนการเมืองแบบไหนนั้น มันจะกำหนดรูปแบบและจัดวางโครงสร้างรวมไปถึงกลไกของสถาบันการเมืองทั้งหมดของรัฐนั้นๆ ด้วย พูดอีกอย่างก็คือ การให้มีการพูดคุยเรื่อง ‘รูป(แบบ)ของรัฐ’ ที่ชัดเจนได้นั้น จำเป็นกับการปฏิรูปสถาบันการเมืองทุกสถาบัน เพราะรูปของรัฐมันคือการกำหนดกรอบภาพใหญ่ของสถาบันทางการเมืองทั้งหมด รวมถึงบทบาทและกลไกด้วย
รูปของรัฐแต่ละแบบล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายของมันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบไหน และมันก็รับใช้คุณค่าทางการเมืองคนละแบบคนละชนิดกัน เพราะฉะนั้นการจัดวางสถาบันการเมืองต่างๆ รวมทั้งสถาบันทหารให้ ‘ลงร่อง’ กับคุณค่าทางการเมืองและระบอบการปกครองนั้นๆ นั่นเอง
ถ้ารัฐไทยยืนยันว่าตัวเองจะเป็นรัฐประชาธิปไตย (ชนิดไหนก็ตามแต่) ซึ่งรับใช้คุณค่าทางการเมืองที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชนนั้น เราต้องยอมรับร่วมกันก่อนในขั้นต้นที่สุด ‘คนทุกคนคือคน และทุกคนคือพลเรือน’ (We, first and foremost, are citizens.) ฉะนั้นในแง่นี้ คำตอบง่ายๆ ก็คือ “คนในกองทัพก็คือคนครับ และต้องได้รับการปฏิบัติบนฐานของมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน” ไม่เพียงเท่านั้น ที่ผมว่าเราต้องปฏิรูปกองทัพนั้น นอกจากอำนาจในการสั่งการและควบคุมสถาบันทหารต้องตกอยู่กับพลเรือนแล้ว เพราะระบอบประชาธิปไตยถือว่าอธิปไตยสูงสุดอยู่ที่พลเมือง ความเป็นคนของกองทัพจึงไม่ได้สิทธิพิเศษใดๆ ที่จะอยู่นอกเหนือความเป็นคนนี้ ไม่ว่าการอยู่นอกเหนือความเป็นคนนั้น จะเป็นการอยู่เหนือกว่าคนอื่นๆ หรือถูกกระทำอย่างต่ำกว่าที่คนพึงได้รับก็ตาม ‘ล้วนไม่ได้!’
ความไม่ได้รับสิทธิพิเศษในฐานะคนนี้ ยังนำมาสู่เงื่อนไขของการปฏิรูปกองทัพอีกมากมาย เช่น การมีอยู่ของศาลทหารและคุกทหารนั้น ควรหมดไปหรือไม่ อำนาจในการถือ ใช้ และครอบครองควรอยู่ในมือพลเรือนเต็มๆ ไหม เช่น อาวุธทำลายล้างจริง (เช่น กระสุนจริง หรือระเบิดต่างๆ) ต้องได้รับการเปิดและการอนุญาตจากนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเท่านั้น (ตอนซ้อมก็ใช้กระสุนซ้อมไป ระเบิดจำลองไป) เป็นต้น เมื่อเป็นแบบนี้ มันจะกำหนดโครงสร้างที่ชัดเจนของกองทัพว่าอำนาจ แม้แต่อำนาจทางกายภาพก็อยู่ในมือของพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และกองทัพไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ แต่พร้อมๆ กันไป ก็ต้องได้รับการประกันว่าจะไม่อยู่ในสถานะที่ถูกทำให้ต่ำกว่าคนเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากเกิดการละเมิดสิทธิอย่างที่เกิดขึ้น คุณจะมาอ้างแบบเซอร์เรียลๆ แย่ๆ แบบที่ทำอยู่ไม่ได้ว่า “นี่คือวินัยทหาร” “คุณเป็นพลเรือนไม่เข้าใจทหารหรอก” “โหยยย โดนกันมาหมดแล้ว มันเรื่องปกติ” ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ปกติอย่างชัดเจนในรูปแบบรัฐเป็นประชาธิปไตย แต่ด้วยรูปแบบรัฐอำนาจนิยมทหารแบบที่ไทยเป็นอยู่นั้น ก็อาจจะจริงว่า “นี่คือเรื่องปกติ และถูกต้องแล้ว”
สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างเพียงเสี้ยวหนึ่งของการปฏิรูปสถาบันกองทัพ รวมถึงสถาบันทางการเมืองต่างๆ ทั้งหมด ที่ต้องเริ่มจากการสรุปว่า เราจะเอายังไงกันแน่กับประเทศนี้ เราจะเป็นรัฐแบบไหนกันแน่ ไม่ใช่ปาหี่ป่าวร้องเอาเองว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งที่มือถือปืนขณะที่ปากพะงาบๆ อยู่แบบนี้
โดยส่วนตัว ผมยืนยันชัดเจนมาโดยตลอดว่าประเทศไทยต้องมีรูปของรัฐเป็นรัฐประชาธิปไตย และทุกคน ทุกสถาบันต้องได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างถ้วนหน้าไม่มียกเว้น แน่นอนผมเองก็มีราคาของผมที่ต้องจ่าย อย่างการที่ผมต้องอดกลั้นอย่างแรงกล้ามากๆ ในการยืนยันความเป็นมนุษย์และสิทธิที่เท่าเทียมของคนซึ่งต้านสิทธิมนุษยชนนี้อย่างสุดทางตลอดเวลา และผมก็ยังขอยืนยันตามนั้นอยู่
แต่ว่ากันตามตรงนะครับ ท่านๆ ทั้งหลาย คือ ผมนี่เชื่อว่าการยืนยันเรื่องสิทธิมนุษยชนของผมและอีกหลายคนนั้น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราเอง แต่มันเป็นประโยชน์กับทุกคนที่พึงได้สิทธิในฐานะมนุษย์อย่างเท่าเทียมด้วย (อาจจะไม่เป็นประโยชน์กับพวกคนที่ถูกปฏิบัติเยี่ยงเทพเทวดาบ้าง) ฉะนั้นผมจึงไม่เข้าใจท่านๆ ที่คัดค้านการเรียกร้องเพื่อให้ท่านได้สิทธิและได้รับการปฏิบัติด้วยในฐานะมนุษย์เสียเหลือเกิน โดยเฉพาะกับหลายๆ ท่านที่ชัดเจนว่าโดนกระทำอย่างป่าเถื่อน แต่กลับยังออกมาด่า ‘สิทธิในฐานะมนุษย์’ นั้น ผมก็ไม่เข้าใจจริงๆ
ดูเหมือนท่าจะไม่อยากเป็นมนุษย์กันเสียเหลือเกิน ในขณะที่พวกผมต้องอดกลั้นอย่างมาก จ่ายต้นทุนราคาแพงไม่น้อยในการยืนยันซ้ำๆ ว่าพวกท่านคือคนเช่นกันกับผม (แต่พวกท่านก็ปฏิเสธซ้ำๆ เหลือเกิน) “ฉะนั้นพวกท่านโปรดบอกผมทีเถอะครับว่า ในเมื่อท่านไม่อยากเป็นมนุษย์กัน ท่านอยากให้ผมเรียกพวกท่านในสถานะใด หรือเรียกในฐานะสิ่งมีชีวิตใดดี?” ผมจะพยายามตอบสนองครับ
เราเน้นความเซอร์เรียลกันอยู่แล้ว ความจริงเราไม่เน้น
[1] ดูได้ที่ www.facebook.com/pg/the101.world
[2] โปรดดู thematter.co/thinkers/simulacra
[3] โปรดดู www.nationtv.tv
[4] โปรดดู www.komchadluek.net
[5] โปรดดู news.sanook.com
[6] ตัวอย่างอื่นๆ ลองดูได้จาก www.khaosod.co.th
[7] โปรดอ่าน thematter.co/thinkers
[8] ดูตัวอย่างข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปกองทัพได้ที่ www.prachatai.com