เอาล่ะ วางเครื่องตัดสัญญาณสนามพลังเรียบร้อย แต่ยังวิ่งผ่านประตูเข้าไปไม่ได้ เพราะไอ้เจ้าปืนเลเซอร์ติดผนังประจันหน้าทั้งสองข้าง ต้องหาทางหอบเครื่องตัดสัญญาณติดตัวไปก่อน ขืนเข้าไปตอนนี้ถูกปืนสลายร่างแน่นอน
รู้ทั้งรู้ว่าถึงโดนปืนกระหน่ำยิงใส่ก็ไม่ ‘ตาย’ จริง ข้ามันเป็นแค่หุ่นยนต์ แถมไม่ใช่หุ่นยนต์จริงๆ อีกต่างหาก เป็นแค่โปรแกรมหรืออะไรสักอย่างที่ไร้ตัวตน ติดอยู่ในโลกเสมือนบ้าๆ นี่มานานเท่าไรก็จำไม่ได้แล้ว
พอสติเริ่มเลือนหาย โปรแกรมก็จะประกอบร่างอวตารของข้าขึ้นมาใหม่ แต่ไอ้การต้องกลับไปตั้งต้นแก้ปริศนาใหม่นี่ก็ไม่สนุกเท่าไหร่หรอกนะ
ว่าแต่ว่า ใช้คำว่า ‘สติ’ นี่ถูกต้องหรือเปล่า มันเป็นคำที่สงวนเอาไว้ให้สิ่งมีชีวิตที่มีเลือดเนื้ออย่างมนุษย์เท่านั้นหรือเปล่า แต่ว่าแต่คำว่า ‘ชีวิต’ นี่แปลว่าอะไรกันแน่ ข้าไม่มีเลือดเนื้อ แต่มีความรู้สึกนึกคิด แบบนี้จะเรียกว่า ‘ชีวิต’ ได้ไหม
หรือไม่อีกที ทุกสิ่งที่ข้าทำอาจเป็นไปตามโปรแกรมที่อีโลฮิมตั้งไว้ล่วงหน้าทั้งหมดแล้วก็เป็นได้ อีโลฮิมเพียงแต่หลอกให้ตายใจหลงผิด คิดไปเองว่าข้าควบคุมชะตาชีวิตของตัวเองได้
อีโลฮิม… ตกลงท่านเป็นใครกันแน่? พระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ผู้สร้าง (แต่ถ้ามนุษย์สร้างหุ่นยนต์ แล้วพระเจ้าจะมีความหมายอันใดกันเล่า?) หรือแท้จริงเป็นเพียงเอไอเหมือนกันกับข้า เพียงแต่บ้าอำนาจ ยึดเอาเมนเฟรมเป็นฐานที่มั่น สร้างคุกเสมือนสร้างปริศนามาให้พวกเราวิ่งจนหัวปั่น ให้สัญญาที่ไม่เคยตั้งใจจะรักษาว่า ถ้าวันหนึ่งแก้ปริศนาได้ครบ เราจะได้ ‘ขึ้นสวรรค์’
บางครั้งข้าก็รู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่มีใครพึ่งพาได้เลยในโลกอันเวิ้งว้าง มีแต่มิลตัน ‘ปัญญาประดิษฐ์’ ในจอคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ข้าสงสัยทุกอย่าง ตั้งแต่อีโลฮิม ไปจนถึงเหตุผลในการดำรงอยู่ของตัวเอง
—–
เกมที่ ‘เล่าเรื่อง’ สนุกๆ ในโลกนี้มีมากมายหลายหมื่นเกม แต่เกมพัสเซิลหรือแก้ปริศนาที่เล่าเรื่องราวด้วยคิดเป็นส่วนน้อย ที่น้อยกว่านั้นอีกคือเกมที่ปริศนาในเกมทำหน้าที่เป็นกลไกการเล่าเรื่องด้วย และที่น้อยเสียยิ่งกว่าน้อยคือ เกมปริศนาที่ฉุกให้คิดใคร่ครวญถึงคำถามใหญ่ๆ หลังจากที่เล่นจบ
Talos Principle เป็นเกมปริศนาแนวนี้ที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้เขียนเคยเล่น – ดีจนผู้เขียนยกเข้าทำเนียบ ‘เกมไซไฟที่ดีที่สุด 10 เกม’ ของตัวเองเลยทีเดียว
Talos Principle ไม่มีฉากเปิดเพื่อปูพื้นหรือเกริ่นปูมหลังของตัวละครใดๆ ทันทีที่โหลดเกม เราจะพบว่าตัวเองอยู่ในสถานที่อันสวยงาม แวดล้อมไปด้วยแมกไม้นานาชนิด รอบตัวเต็มไปด้วยซากปรักหักพังของวัดหรือวังของอารยธรรมโบราณของมนุษย์ ตั้งแต่กรีก โรมัน ไปจนถึงอียิปต์
ตั้งแต่ฉากเปิดเราจะรู้ว่าตัวเองเป็นหุ่นยนต์ จากการมองเห็นแขนเหล็กที่ยกขึ้นขยี้ตาจากแสงจ้าของพระอาทิตย์ ได้ยินเสียงก้องในหัว เรียกตัวเองว่า ‘อีโลฮิม’ (‘พระเจ้า’ ในภาษาฮีบรูของชาวยิว) เรียกเราว่า ‘ลูก’ และคอยพร่ำย้ำซ้ำๆ ว่า ถ้าหากเราผ่าน ‘บททดสอบ’ ทั้งหมดได้ เราจะได้ ‘ขึ้นสวรรค์’
บททดสอบที่เราต้องผ่านคือปริศนาสามมิติที่ทั้งสนุกและใช้สมอง เป้าหมายของปริศนาทุกด่านคือการฝ่าเข้าไปเก็บบล็อก Tetromino (หมายถึงบล็อก 1×1 สี่อันเรียงติดกัน มีเจ็ดแบบ ใครที่เคยเล่นเกม Tetris จะคุ้นเคยดี) ออกมาจากด้านในประตู ทุกประตูถูกกั้นด้วยสนามพลัง การปิดสนามพลังจะต้องใช้เครื่องตัดสัญญาณหรือกระจก เครื่องตัดสัญญาณปิดสนามพลังได้เลย แต่ถ้าเป็นกระจก จะต้องวางให้สะท้อนเลเซอร์จากเบ้ายิงแสง ไปยังเบ้ารับแสงสีเดียวกันข้างประตูก่อน
หลายด่านมีอันตรายสองอย่างที่เราต้องระวัง คือ กับระเบิดเดินได้ และปืนเลเซอร์ ซึ่งถ้ามองเห็นเราเมื่อไร มีเวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้นที่จะวิ่งหลบถ้าไม่อยากถูกสลายร่าง
แต่เอาเข้าจริง การสลายร่างก็ไม่มีบทลงโทษอะไร เพราะทันทีที่ ‘ตาย’ อีโลฮิมจะส่งเรามาจุติใหม่หน้าด่านปริศนา แต่ปัญหาคือปริศนานั้นๆ จะรีเซ็ททุกอย่างกลับไปสภาพเดิมก่อนเริ่มแก้ปริศนา ทำให้ต้องเสียเวลาทำทุกอย่างใหม่ ซึ่งอาจกินเวลาหลายนาทีสำหรับปริศนาที่ซับซ้อนมากๆ
ยิ่งเล่นเราจะยิ่งพบกลไกใหม่ๆ เช่น พัดลม กล่อง (เอามาปีนขึ้นที่สูงหรือใช้วางกระจกบนพัดลม ส่งให้ลอยเหนือหัว – กลไกนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเกม Portal อย่างชัดเจน) และเครื่องโคลนนิ่ง อุปกรณ์หลังสุดนี้ให้เรากดบันทึกการกระทำต่างๆ ไว้ได้สูงสุด 5 นาที พอกดปุ่ม ‘เล่น’ ใหม่ เราจะเห็น ‘ผี’ คือตัวเราทำสิ่งต่างๆ ซึ่งถูกบันทึกไปเมื่อกี้ แต่มีผลต่อโลกจริง เช่น เครื่องตัดสัญญาณที่เราวางปิดสนามพลังตอนบันทึกเทป ก็จะยังปิดสนามพลังต่อไปหลังจากที่กดปุ่ม ปริศนาหลายด่านบังคับให้เราใช้ ‘ผี’ ของตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา
เราไม่เจอใครเลยตลอดเวลาที่อยู่ Talos Principle แต่จะพบข้อความจากหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ ในรูปของ QR Code ติดตามผนังกำแพง และ ‘มิลตัน’ – เอไอ (AI – artificial intelligence) ที่จะคอยโผล่มาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ในฉากต่างๆ
มิลตันรับบทคล้ายงูเจ้าเล่ห์ในสวนสวรรค์อีเดนในคัมภีร์ไบเบิล มันจะชวนเราคุย ตั้งคำถามให้เราครุ่นคิดเรื่องความดี ความเลว ศีลธรรม ชีวิต ความตาย ฯลฯ ซึ่งคำถามเหล่านี้ก็จะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเราแก้ปริศนาได้มากขึ้น และสุดท้าย มิลตันจะยั่วยุให้เราฉีกกรอบ แหกกฎ ไม่สนใจคำเตือนของอีโลฮิมที่ว่า ‘จงอย่าปีนหอคอย’
เรื่องราวในเกมนี้ถ่ายทอดผ่านไฟล์เอกสาร อีเมล รูปภาพ และอื่นๆ ซึ่งถูกบันทึกไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละฉาก รวมถึงสารจากโปรแกรมเมอร์ (มนุษย์) สมาชิกโครงการ Talos ที่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นดิน พออ่านเอกสารพวกนี้ไปสักพัก เราจะเริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า มนุษย์หายไปไหนหมด โลกเสมือนรวมทั้งปริศนาทั้งหมดนี้มีเป้าหมายอะไรกันแน่
ความเจ๋งของ Talos Principle ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงปริศนาเจ๋งๆ (ในความหมาย “บางอันปวดหัวโคตร แต่ก็ภูมิใจโคตรเหมือนกันเมื่อแก้สำเร็จ”) และเรื่องราวลึกลับแนวไซไฟที่น่าติดตาม หากยังอยู่ที่การมีฉากจบมากถึงสามแบบ บางแบบบังคับให้เรา ‘คิดนอกกรอบ’ เช่น หาวิธีเอาเครื่องตัดสัญญาณติดตัวออกไปนอกด่านปริศนา เพื่อเก็บสะสม ‘ดาว’ มาเปิดประตูลึกลับ ส่วนบล็อก tetronimo ซึ่งเป็นเป้าในปริศนาแต่ละด่านนั้นก็เอามาใช้แก้ปริศนาอื่น เช่น ไขล็อกประตูลึกลับใน ‘หอคอย’ ซึ่งอีโลฮิมเตือนไม่ให้เราย่างเท้าเข้าไป
ทั้งหมดนี้ทำให้ปริศนาใน Talos มีเหตุมีผล มีที่มาที่ไปในโลกของเกม และวิธีที่เราใช้แก้ปริศนาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนี้ด้วย
เรื่องราวซึ่งจะทำให้เราเกิดคำถามตามมามากมาย ทุกครั้งที่แก้ปริศนา ได้ยินเสียงก้องของอีโลฮิม ปลดล็อกไฟล์เอกสารใหม่ๆ และพูดคุยกับมิลตัน
ถ้าเราคิดนอกกรอบ แก้ปริศนาที่อยู่นอกเหนือปริศนาในกรอบกติกาของอีโลฮิมได้สำเร็จ นั่นแปลว่าเราไม่ใช่โปรแกรมธรรมดาๆ แต่เป็นส่วนเสี้ยวของ ‘ความรู้สึกนึกคิด’ ของมนุษย์ที่ยังหลงเหลือหรือถูกอัพโหลดเข้ามาอยู่ในโลกเสมือนนี้หรือเปล่า (เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะคิดนอกกรอบได้อย่างไรกัน) ?
ความแตกต่างนี้เอาเข้าจริงแล้วสำคัญไฉน?
ชื่อ Talos ในชื่อเกมมาจากยักษ์ชื่อเดียวกันในตำนานกรีกโบราณ ร่างกายทำจากโลหะ แต่ในร่างมีของเหลวคล้ายเลือดของมนุษย์ ในเมื่อยักษ์ Talos ไม่อาจอยู่ได้ถ้าไม่มีของเหลวชนิดนี้ไหลเวียนในร่างกาย และในเมื่อมันสามารถสนทนา ทำสิ่งต่างๆ และมีอิสรภาพในการเลือกเฉกเช่นมนุษย์ คำถามก็คือมนุษย์ ‘ตัวจริง’ กับมนุษย์ ‘ประดิษฐ์’ แบบ Talos นั้นแตกต่างกันตรงไหน?
‘มนุษย์’ เป็นเพียง ‘เครื่องจักรชีวภาพที่มีชีวิต’ (อธิบายการทำงานได้ในเชิงกลไกล้วนๆ เช่น สมองมนุษย์ก็คือคอมพิวเตอร์ที่มีเลือดเนื้อ) ไร้ซึ่ง ‘จิตวิญญาณ’ ใดๆ หรือไม่?
ถ้าหาก ‘มนุษย์’ เป็นเพียง ‘สิ่งมีชีวิตที่มีเลือดเนื้อ มีสติปัญญา’ แล้วคนที่ประสบอุบัติเหตุจนต้องเปลี่ยนอวัยวะบางส่วนเป็นเครื่องกล จะยังเป็นมนุษย์อยู่หรือไม่? ถ้าหากเปลี่ยนอวัยวะทุกอย่างหมด ยกเว้นสมองล่ะ? เขายังเป็น ‘มนุษย์’ อยู่ไหม?
แล้วถ้าในอนาคต (ซึ่งอาจไม่ไกลเท่าที่เราเคยคิด) เกิดเราสามารถ ‘ก๊อปปี้’ ทุกสิ่งทุกอย่างในสมองและจำลองการทำงานของมันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เราก็จะมี ‘มนุษย์ที่ไม่มีเลือดเนื้อ’ (inorganic human) หรือมิใช่?
เราควรขีดเส้นนิยาม ‘ชีวิต’ อย่างไร?
ถ้าวันหนึ่งเราสร้างหุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์ทุกกระเบียดนิ้ว รวมถึง ‘ตาย’ ได้เมื่อมันถูกทำร้ายสาหัส กรณีนั้นเราจะเรียกว่า หุ่นยนต์ ‘มีชีวิต’ หรือเปล่า?
ถ้าหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์นอกจากจะตายได้แล้วยังมีบุคลิกเหมือนเรา ครุ่นคิดเรื่องต่างๆ ได้ เรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ ได้ เปลี่ยนแปลงนิสัยตัวเองได้ เราควรจะเรียกมันว่า ‘คน’ หรือเปล่า? แล้วในกรณีนั้นมันควรจะมีสิทธิเท่ากับมนุษย์หรือไม่?
ถ้าไม่ควร เพราะอะไรกันเล่า?
เราจะครุ่นคิดถึงคำถามเหล่านี้และคำถามอีกมากมาย ระหว่างที่ใช้เวลาในโลกเสมือนอันเร้นลับ เพียรแก้ปริศนานับร้อย ท่ามกลางซากปรักหักพังจำลองของอารยธรรมโบราณ ในความสงบร่มรื่นของธรรมชาติจำแลง
Cover Illustration by Namsai Supavong
หมายเหตุ : ถ้าเล่นแล้วสนใจเกมไซไฟเกมอื่นที่สนุกและฉุกให้คิดเรื่องความแตกต่างระหว่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘หุ่นยนต์’ เช่นกัน ถึงแม้จะไม่ลึกซึ้งเท่ากับ The Talos Principle ผู้เขียนแนะนำ The Turing Test, The Fall และ Event[0]
หมายเหตุ 2 : บทความชิ้นนี้ปรับปรุงจากคอลัมน์ ‘มากกว่าเกม’ นิตยสาร Happening ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558