เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวโด่งดังเรื่องหนึ่งในวงการเทนนิส เป็นเรื่องของนักเทนนิสหญิงผู้ถือว่าเป็น GOAT ซึ่งไม่ใช่แพะ แต่คือหนึ่งใน (The) Greatest Of All Times
เธอคือ เซเรนา วิลเลียมส์
ในเฟรนช์โอเพ่นที่ผ่านมา เธอก้าวลงสนามโดยใส่ชุดที่ทำให้คนทั้งสนามต้องฮือฮาร้องอู้หู ด้วยชุดรัดรูปแบบบอดี้สูทแนบเนื้อลง ชุดนี้เป็นบอดี้สูทสีดำเต็มตัวโดยมีสายคาดสีแดงสะดุดตา เรียกว่าชุด ‘นางแมว’ หรือ Catsuit ซึ่งเป็นชุดที่พัฒนาขึ้นโดยไนกี้
ที่จริงแล้ว ชุดของเซเรนาไม่ใช่แค่เสื้อผ้า แต่เป็น Statement หรือเป็นคำประกาศที่มีนัยหลายอย่าง
อย่างแรกสุดก็คือ นี่เป็นการแสดงภาพแบบ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ของเธอออกมาในแมตช์ท่ีสำคัญมาก เพราะมันคือแมตช์แรกหลังเธอคลอดลูกสาว จึงเป็นไปได้ว่า แมตช์นี้เซเรนาจึงต้องการให้กำลังใจตัวเอง การ ‘ฉายภาพ’ ของเธอออกมาในรูปลักษณ์แบบใหม่ที่แลดูทรงพลัง เรื่องนี้จำเป็นทั้งต่อตัวเธอเองและต่อแฟนๆ ของเธอด้วย แฟนๆ หลายคนทวิตว่านี่แหละ คือภาพของซูเปอร์ฮีโร่ในสายตาของพวกเขา โดยเซเรนาเองก็ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า พอใส่ชุดนี้แล้ว เธอรู้สึกเหมือนเป็นนักรบ เป็น Warrior Princess และเป็นราชินีแห่งวากันดา (Queen of Wakanda) ซึ่งเป็นดินแดนในแอฟริกาในการ์ตูนของมาร์เวล
อย่างที่สอง นัยของชุดนี้คือการแสดงออกถึงความเป็นเฟมินิสต์ในตัว ด้วยการใส่ชุดในแบบที่แทบไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ผู้หญิง’ กล้าใส่ลงคอร์ทมาก่อน นั่นคือการไม่ได้ใส่ ‘กระโปรง’ ครอบเอาไว้ด้านนอกตามธรรมเนียม
เราก็คงรู้กันอยู่ว่า ไม่มีนักเทนนิสหญิงคนไหนใส่กระโปรงจริงๆ ลงแข่งในฐานะที่มันเป็นอาภรณ์ชิ้นหนึ่งที่มีหน้าที่หรอกนะครับ ทุกคนใส่กางเกงขาสั้นแบบ Sportswear เอาไว้ข้างในทั้งนั้น กระโปรงจึงมีหน้าที่เป็นเพียง ‘เครื่องตกแต่ง’ ให้รู้ว่าฉันเป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่กับชุด Catsuit ของเซเรนานั้น เธอเลือกตัดกระโปรงทิ้งไป เหลือไว้เพียงกางเกงแนบเนื้อ หลายคนจึงมองว่า นี่ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจาก Statement ที่แสดงอาการ ‘ขบถ’ ต่อขนบธรรมเนียมและกฎเกณฑ์โบราณในโลกเทนนิส – ที่อาจไม่สอดคล้องกับยุคสมัยอีกต่อไปแล้ว
อย่างที่สามที่สำคัญกว่าก็คือ นี่เป็นแมตช์แรกหลังคลอดลูกสาว และก็อย่างที่หลายคนคงรู้กันอยู่ว่า การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อร่างกายของผู้เป็นแม่มากขนาดไหน แม่บางคนมีอาการความดันโลหิตสูงถาวร บางคนเสียเลือดมากขณะคลอดทำให้ร่างกายอ่อนแอไปชั่วชีวิต ยิ่งสำหรับนักกีฬาอย่างเซเรนาแล้ว ‘ร่างกาย’ เป็นเสมือนวิหาร เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตและการงาน ดังนั้น ชุด Catsuit ที่เธอใส่ จึงไม่ได้เป็นแค่ชุดให้กำลังใจเฉยๆ แต่มันคือชุดได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยป้องกันอาการเจ็บป่วยของเธอด้วย
เซเรนาบอกว่า ในระยะหลัง เธอมีปัญหากับการที่เลือดจับตัวเป็นลิ่ม (Blood Clots) ที่จริงเธอมีปัญหานี้อยู่แล้ว แต่การตั้งครรภ์และคลอดลูกสาว (คืออเล็กซิส) ด้วยการผ่าคลอดกระตุ้นให้ปัญหานี้เกิดขึ้นซ้ำอีก เซเรนาจึงเลือกใส่ชุดนี้ เพราะมันเป็นชุดที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันอาการเลือดจับตัวเป็นลิ่ม เพราะเป็นชุดแบบที่เรียกว่า Compressed Suit ที่คอยบีบรัดกล้ามเนื้อ จึงช่วยป้องกันอาการที่ว่าได้
นอกจากนี้ เซเรนายังบอกด้วยว่า เธออุทิศชุด Catsuit (หรือที่หลายคนเรียกว่า Black Panther) นี้ให้กับ All the moms out there that had a tough pregnancy หรือเป็นการอุทิศชุดนี้ให้กับแม่ทุกคนที่มีการตั้งครรภ์อันยากลำบาก เพราะสำหรับเซเรนา การตั้งครรภ์นั้นยากลำบากจริงๆ มันเป็นพันธกิจของผู้หญิงที่อาจทำลายงานอาชีพทั้งปวงของเธอได้เลย แต่กระนั้นเธอก็เลือกแล้วที่จะเป็นแม่ และเลือกแล้วที่จะกลับมาหยัดยืนในฐานะนักเทนนิสที่เป็น GOAT อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเอาชนะ Kristyna Pliskova ในการแข่งขันแมตช์แรกหลังคลอดลูกสาวไปได้ด้วยคะแนน 7-6, 6-4
แต่แล้วเธอก็ถูกแบน
ประธานสมาพันธ์เทนนิสฝรั่งเศส อย่าง เบอร์นาร์ด กุยดิเชลลี (Bernard Guidicelli) ให้สัมภาษณ์หลังการแข่งขันว่า ชุด Catsuit จะไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว เขาบอกว่านี่คือการ ‘ไปไกลเกินไป’ และจะไม่ยอมรับเรื่องนี้อีก เหตุผลสำคัญก็คือ เซเรนาต้อง ‘เคารพ’ ทั้งการแข่งขันและสถานที่
เรื่องนี้ทำให้หลายคนเลิกคิ้วประหลาดใจกับ ‘เฟรนช์โอเพ่น’ อย่างมาก เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า ในบรรดาสนามแข่งแกรนด์สแลมของวงการเทนนิสสี่แห่ง คือที่เมลเบิร์น, ลอนดอน, ปารีส และนิวยอร์ค นั้น แห่งที่เคร่งครัดในเรื่อง Dress Code ที่สุด ก็คือลอนดอน (หรือวิมเบิลดัน) ไม่ใช่เฟรนช์โอเพ่น และพูดให้ถึงที่สุด เฟรนช์โอเพ่นนั้นมีลักษณะ ‘ต่อต้าน’ คัดง้างกับวิมเบิลดันในหลายเรื่องด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตัวของนักเทนนิส
ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การแต่งตัวของวิมเบิลดัน เราจะพบว่า ‘ที่มา’ ของการแต่งตัวในวิมเบิลดันเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1877
นั่นคือยุคที่เรียกว่า – วิคตอเรีย, ซึ่งหมายถึงรัชสมัยของควีนวิคตอเรีย ที่เริ่มตั้งแต่ปี 1837 จนกระทั่งถึงป 1901
อังกฤษยุควิคตอเรีย (Victorian England) นั้น ได้ชื่อว่ามี ‘สำนึกทางชนชั้น’ (Class Consciousness) สูงมาก ดังนั้น การแข่งขันเทนนิสเก่าแก่อย่างวิมเบิลดันจึงมีการกำหนดเรื่องต่างๆ เอาไว้อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การเรียกขานคน (ต้องเรียกว่า Gentlemen’s กับ Ladies ไม่ใช่ Men’s หรือ Women’s) รวมไปถึงเสื้อผ้าและสีสันของเสื้อผ้าด้วย โดยนักแข่งทุกคนจะต้องใส่เฉพาะสีขาวล้วนทั้งชุดเท่านั้น จะใส่สีอื่นไม่ได้เลยเด็ดขาด ถือว่าผิดธรรมเนียมของวิมเบิลดันอย่างร้ายแรง ซึ่งก็ต้องยอมรับอยู่นะครับว่าสีขาวกับสีเขียวของคอร์ทหญ้านั้นสวยดี แต่กระนั้นก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่าเรื่องนี้เคร่งครัดเกินไปหรือเปล่า
นักเขียนของ Vox อย่าง Nadra Nittle ให้ความเห็นไว้ว่า การที่วิมเบิลดันบังคับให้ใส่สีขาวนั้น มีเหตุผลสำคัญก็คือ ต้องการ ‘กีดกัน’ คนใช้แรงงานที่อยู่ในชนชั้นล่าง (พูดด้วยศัพท์ฮิตในเมืองไทยก็คงต้องบอกว่าเป็น ‘นักเทนนิสตลาดล่าง’ นั่นแหละครับ) ออกไปจากการแข่งขัน การใส่ชุดสีขาวนั้นเกี่ยวข้องกับความร่ำรวยและความสะอาด เคยมีบทความของ Jennifer Wright เขียนไว้ที่นี่ เป็นบทความที่อธิบายว่าทำไมคนรวยๆ ถึงชอบใส่ชุดสีขาว หรือจัดปาร์ตี้ชุดขาวกันในฤดูร้อน ซึ่งอันนี้เป็นวัฒนธรรมตะวันตกนะครับ เราจะเห็นได้ตามภาพเขียนมากมาย ว่าผู้คนใส่ชุดขาวล้วนไปปิกนิกในสวนสาธารณะหรือแม้กระทั่งใส่ชุดขาวล้วนเข้าป่า
วิธีคิดของวิมเบิลดันก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน เพราะสีขาวเป็นสีที่ดูแลยาก ถ้าไม่รวยจริง หาซื้อชุดขาวมาใส่ตลอดทุกแมตช์ไม่ได้ ก็อาจไม่สามารถลงแข่งได้ คนชั้นล่างที่ต้องทำงานโดยใช้มือและแรงกายนั้น ถ้าใส่สีขาวก็มักจะสกปรกเลอะเทอะง่าย พวกเขาจึงไม่ค่อยนิยมใส่ชุดสีขาวกัน
ในทศวรรษ 1880s-1890s ผู้หญิงที่เล่นเทนนิสจะใส่เสื้อผ้าเหมือนชุดปกติ (เพียงแต่เป็นสีขาว) โดยใส่เครื่องทรงทุกอย่างประดามีครบครัน ตั้งแต่คอร์เซ็ตหรือรัดทรง รวมไปถึงกระโปรงชั้นในหรือ Petticoats และกระโปรงอีกไม่รู้กี่ชั้น ซึ่งก็จะไป ‘กวาดพื้น’ ตลอดเวลา
พอขึ้นศตวรรษที่ยี่สิบแล้ว ช่วงต้นๆ นักเทนนิสหญิงก็ยังใส่กระโปรงยาวอยู่ดี แต่เริ่มถอดเครื่องทรงอื่นๆ ออกไป เหลือแต่ถุงน่องและกางเกงขายาว (ที่อยู่ใต้กระโปรง) แล้วที่สุดก็ค่อยๆ ลดรูปลงมาเรื่อยๆ กระโปรงเริ่มหดสั้นลง คนที่เรียกเสียงฮือฮา (และเสียงด่า) มากที่สุดในยุคแรกๆ น่าจะเป็นเกอร์ทรูด โมราน (Gertrude Moran) ซึ่งใส่กระโปรงสั้นจนเผยให้เห็นกางเกงข้างในที่มีลายลูกไม้ตกแต่ง (ไม่ใช่กางเกงชั้นในนะครับ) แต่กระนั้นก็เป็นการ ‘ปลุก’ ให้นักเทนนิสหญิงคนอื่นๆ กล้าเผชิญหน้ากับความรัดรึงและข้อจำกัดเหล่านี้ ด้วยการ ‘ขบถ’ ในเรื่องเครื่องแต่งกายมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่จริง ต้องบอกว่า Catsuit ของเซเรนา (รวมถึงการ ‘ถอดกระโปรง’ ของเธอด้วย) ไม่ใช่เหตุการณ์แรกในประวัติศาสตร์เทนนิสนะครับ เพราะในปี 1985 เคยมีนักเทนนิสชื่อแอนน์ ไวท์ (Anne White) ใส่ชุดคล้ายๆ Catsuit (แต่ไม่รัดรูปหรือเป็น Compressed Suit มากเท่า) ลงสนามในวิมเบิลดันมาแล้ว แต่ชุดของเธอเป็นบอดี้สูทสีขาวล้วน ซึ่งก็แน่นอนว่าถูกวิมเบิลดันสั่งห้ามใส่ทันควัน
นั่นคือวิสัยแบบวิมเบิลดัน นั่นคือวิสัยแบบอังกฤษ ซึ่งไม่ค่อยมีใครประหลาดใจเท่าไหร่นักกับอาการ ‘อนุรักษ์นิยม’ อันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุควิคตอเรีย แต่กับฝรั่งเศสนั้นเป็นอีกเรื่อง
เฟรนช์โอเพ่นเกิดทีหลังวิมเบิลดัน (คือเริ่มแข่งในปี 1897 หลังวิมเบิลดันตั้ง 20 ปี) จะเห็นว่า วิมเบิลดันเป็นสนามแบบคอร์ทหญ้าสีเขียวสะอาดสะอ้าน แต่สนามของเฟรนช์โอเพ่นเป็นคอร์ทดินสีน้ำตาลแดงที่คลุ้งฝุ่น ใครเผลอล้มลงไป เสื้อผ้าเป็นต้องเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ดังนั้น เฟรนช์โอเพ่นจึงไม่ได้กำหนดกะเกณฑ์เรื่องเสื้อผ้า ว่าจะต้องขาวสะอ้านเหมือนอังกฤษ เป็นที่รู้กันว่า เฟรนช์โอเพ่นนั้นเป็นที่ ‘ปล่อยของ’ ทางแฟชั่นของนักเทนนิสมากมาย สมกับที่แข่งในกรุงปารีสอันเป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่นโลก จึงพูดได้ว่า ในเรื่องทำนองนี้ เฟรนช์โอเพ่นเป็น ‘ลิเบอรัล’ มากกว่าวิมเบิลดันมาก ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีแบบนี้กับเซเรนา วิลเลียมส์ จึงเป็นเหตุผลให้หลายคนประหลาดใจมาก
หลายคนไปไกลถึงขั้นบอกว่านี่น่าจะเป็นอาการ ‘เหยียดผิว’ เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ‘การเมือง’ ในสนามเทนนิสไม่ได้เกิดแค่กับ เซเรนา วิลเลียมส์ เท่านั้น แต่ในการแข่งขันยูเอสโอเพ่นที่นิวยอร์กที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง
เราคงรู้กันอยู่ว่า ช่วงนี้ ‘โลกร้อน’ เป็นพิเศษ โดยเฉพาะซีกโลกเหนือ อุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปกติมาก แน่นอน – สิ่งนี้กระทบการแข่งขันเทนนิสที่มักแข่งในฤดูร้อน รวมไปถึงสนามแกรนด์สแลมอย่างที่ฟลัชชิ่งเมโดว์ส ในนิวยอร์กด้วย
ปีนี้ อุณหภูมิที่นิวยอร์กสูงเกือบ 100 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งก็คือมากกว่า 37 องศาเซลเซียส อุณหภูมิระดับนี้ กระทั่งคนเมืองร้อนอย่างเราๆ ยังแทบทนไม่ไหว นักเทนนิสฝรั่งทั้งหลายก็ทนไม่ไหวเช่นกันครับ ก็เลยมีกฎบอกว่า ถ้าอากาศร้อนจัดๆ สามารถหยุดพัก 10 นาที ระหว่างเซ็ต เพื่อดื่มน้ำให้ร่างกายเย็นลงได้
เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะนักเทนนิสสาวสวยอีกคนหนึ่ง คืออลิซ คอร์เนต์ (Alice Cornet) ออกไปพักเบรก 10 นาทีที่แล้ว แต่เมื่อกลับเข้ามา เธอพบว่าตัวเองใส่เสื้อกลับด้าน สิ่งที่คอร์เนต์ทำในทันที (เพราะไม่มีเวลาอีกแล้ว จะต้องเริ่มแข่งแล้ว) ก็คือการถอดเสื้อออกมา แล้วใส่เข้าไปใหม่ให้ถูกต้อง การถอดเสื้อจึงเผยให้เห็นเสื้อด้านในที่เป็นสปอร์ตบราสีแดงดำ
แม้คอร์เนต์จะใช้เวลาไม่กี่วินาทีถอดและใส่มันกลับเข้าไปใหม่ให้ถูกต้อง แต่กรรมการในสนามที่ดูแลการแข่งขันก็เตือนเธอทันทีว่าละเมิดข้อบังคับ (Code Violation) ที่บอกว่า การขอเบรคเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าจะต้องทำในห้องน้ำที่จัดไว้เท่านั้น ซึ่งผลของการละเมิดนี้มีโทษ เนื่องจากความประพฤติไม่มีความเป็นนักกีฬา (Unsportsmanlike Conduct)
เรื่องนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย แม่ของนักเทนนิสดังระดับโลกอย่าง แอนดี้ เมอร์รีย์ (คือ จูดี้ เมอร์รีย์) ก็ออกมาทวิตทำนองว่า แล้วทำไมผู้ชายถึงสามารถเปลี่ยนเสื้อเชิ้ตในคอร์ทได้ – ทำไมผู้หญิงถึงทำไม่ได้
หลายคนออกมาแสดงความเห็นด้วยกับจูดี้ จนกลายเป็นแรงต้านกระหึ่มโซเชียลมีเดีย บางคนถึงขั้นบอกว่านี่เป็นการตัดสินที่ Sexist หรือเหยียดเพศ สุดท้ายทางยูเอสโอเพ่นก็ต้องออกมาขอโทษ และแก้คำตัดสินโดยบอกว่าการเปลี่ยนเสื้อของคอร์เนต์ไม่ใช่การละเมิดกฎที่ต้องได้รับโทษ
เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นบนคอร์ทเทนนิสทั่วโลกกับคนทุกระดับ แม้กระทั่งกับนักเทนนิสที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ที่สุดตลอดกาล’ คนหนึ่งของโลก ก็ยังไม่ใช่ข้อยกเว้น
การเมืองในสนามเทนนิสที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทั้งทางเพศและทางชนชั้นจึงบอกเราว่าอำนาจ, การจัดการเชิงอำนาจ และการขัดขืนต่ออำนาจนั้นเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่ง และตัวอำนาจเองก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแข็งๆ เสมอไป ทว่ามันอาจอ่อนนุ่มโอบล้อมเราอยู่ – เหมือนอากาศที่เราหายใจกลืนกินมันเข้าไปก็ได้
คำถามก็คือ เราจะเลือกจัดการกับ ‘อำนาจ’ พวกนั้นแบบไหนดี?
สำหรับนักเทนนิส อลิซ คอร์เนต์ ต้องยอมจำนนต่ออำนาจ และปล่อยให้อำนาจที่ใหญ่กว่า – คือเสียงกระหึ่มโซเชียลมีเดีย, เข้ามาจัดการ
สำหรับ เซเรนา วิลเลียมส์ ดูเผินๆ คล้ายเธอก็ยอมจำนนต่ออำนาจเช่นกัน เธอไม่ได้ใส่ชุด Catsuit ลงเล่นอีก และไม่โต้แย้งใดๆ ทว่าในที่สุด เธอก็ ‘ส่งสัญญาณ’ ตอบกลับในการแข่งขันแกรนด์สแลมยูเอสโอเพ่นในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นแกรนด์สแลมถัดมา คราวนี้ เธอเปิดตัวด้วยชุดที่ทำให้หลายคนตื่นตะลึงอีกครั้ง เป็นชุดคล้ายๆ ชุดนักบัลเลต์ที่ออกแบบโดยหลุยส์ วิตตอง ร่วมกับไนกี้ สร้างสรรค์ออกมาเป็นคอลเล็คชั่น Queen
ชื่อของคอลเล็คชั่นนี้แสดงให้โลกเห็นกลายๆ ว่าเซรานาคิดว่า ‘อำนาจ’ ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน
แม้เซเรนาจะไม่ได้พูดอะไรสักคำ แต่เสื้อผ้าของเธอกลับบอกกล่าวประกาศก้องถึงอุดมการณ์ที่ฝังอยู่ภายใน
มันคือเสื้อผ้าที่ ‘พูดแทน’ ผู้คนมากมาย เพียงแต่เป็นการพูดที่ไม่ได้เปล่งออกมาเป็นเสียงเท่านั้นเอง