ช่วงหลังๆ มานี้ ปรากฏผู้นิยมใฝ่ศึกษาเรื่องงานฉลองรัฐธรรมนูญในเดือนธันวาคมอันริเริ่มปีพุทธศักราช 2475 เรื่อยมาจวบจนต้นทศวรรษ 2500 จำนวนมากราย หากเนื้อหาที่ผมกำลังจะสาธยายหลายบรรทัด ประหนึ่งการมุ่งเชื้อเชิญคุณผู้อ่านย้อนเวลาไปสัมผัสบรรยากาศรื่นเริงอย่างรื่นรมย์ในงานฉลองสันติภาพที่จัดขึ้นเดือนมกราคม ปีพุทธศักราช 2489
ครับ ดังเกริ่นไว้แล้วว่ามหกรรมแห่งชาติที่มักถูกเอ่ยอ้างเนืองๆ คงมิพ้นงานฉลองรัฐธรรมนูญ เฉกเช่นในปีพุทธศักราช 2562 ทางสำนักพิมพ์มติชนตีพิมพ์หนังสือสองเล่ม ได้แก่ สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ ผลงานของปรีดี หงษ์สต้น และ ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร ผลงานของศรัญญู เทพสงเคราะห์ ซึ่งผู้เขียนทั้งสองล้วนนำเสนอถึงงานวันฉลองรัฐธรรมนูญ ปรีดีมองความโลดแล่นของงานนี้ในฐานะมหกรรมของประชาชนพลเมืองภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 ต่อมากลับกลายเป็นงานที่ค่อยๆ เหินห่างจากประชาชนพลเมืองและมีจุดจบสิ้นสูญไปราวๆ พุทธศักราช 2502-2503 ส่วนศรัญญูมองงานวันฉลองรัฐธรรมนูญเป็นมหกรรมใหญ่โต มิหนำซ้ำ การจัดงานนี้ในต่างจังหวัดก็ตื่นตัวคึกคักไม่แพ้ในกรุงเทพฯ
จริงอยู่ งานฉลองรัฐธรรมนูญครองความโดดเด่นในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทย กระนั้น อีกมหกรรมหนึ่งในอดีตที่ยิ่งใหญ่และน่าสนใจไม่แพ้กันย่อมมิแคล้วงานฉลองสันติภาพ เพียงแต่งานฉลองรัฐธรรมนูญจัดขึ้นในเดือนธันวาคมทุกๆ ปีต่อเนื่องกันเกินกว่าสองทศวรรษเกือบๆ สามทศวรรษ ขณะที่งานฉลองสันติภาพจัดขึ้นมโหฬารในวาระพิเศษภายหลังมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กล่าวคือ เมื่อได้มีการประกาศยุติสงครามโลกสิ้นเชิงในกลางเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2488 เมืองไทยก็หวนคืนสู่สันติภาพอีกหน หลังจากเคยตกเป็นสมรภูมิ แว่วยินเสียงตอบเท้าของทหารญี่ปุ่น สะดุ้งฟังเสียงหวอและต้องคอยหลบหนีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในพื้นที่ต่างๆ หัวซุกหัวซุน ทางราชการจึงประชุมตกลงจะจัดงานฉลองสันติภาพทั่วราชอาณาจักร เดิมทีกำหนดให้จัดในระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม พุทธศักราช 2489 แต่ท้ายที่สุดเลื่อนไปจัดในระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม ปีเดียวกัน
กำหนดการของงานฉลองสันติภาพนั้น นอกเหนือจากรัฐพิธีและพิธีทางศาสนา เช่น งานสมโภชพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม การเดินสวนสนามของหน่วยทหารเครือจักรภพอังกฤษ และการทำบุญใส่บาตรย่ำฆ้องทั่วทุกวัดวาอาราม ทางราชการยังชักชวนให้หน่วยงานรัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนตกแต่งประดับธงตามสถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือน สมาคม ถ้าตามสถานที่ราชการจะประดับธงของ 6 ชาติ เรียงจากซ้ายไปขวาประกอบด้วยฝรั่งเศส จีน สหรัฐอเมริกา ไทย อังกฤษ และรัสเซีย พร้อมทั้งยังให้จัดกิจกรรมความบันเทิง การแสดงมหรสพนานา การแข่งขันกีฬาตลอดทั้ง 3 วัน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพพระมหานคร เรียกว่าสนุกสนานครึกครื้นยิ่งยวด
เอาเป็นว่า ณ บัดนี้ ผมใคร่พาคุณผู้อ่านทั้งหลายทะลุมิติไปเที่ยวชมดื่มด่ำความบันเทิงในงานฉลองสันติภาพที่จัดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม พุทธศักราช 2489
สำหรับท่านผู้ชื่นชอบชมการแสดงของกรมศิลปากร ขอผายมือเชิญให้แวะไปที่หอประชุมศิลปากร ในวันศุกร์ที่ 18 มกราคม ตอน 10.00-11.00 น. จะมีการแสดงถึงสามคณะคือ จำอวดคณะเสมาทองที่นำโดยหัวหน้าคณะนามทิ้ง มาฬมงคล และดาราตัวลืออย่างนายอบ บุญติด, คณะละครเทพศิลป์ของคุณหญิงน้อมจิตร อรรถไกวัลวที และคณะละครเสมาไทยของจอก ดอกจัน ตกบ่าย เวลา 15.00- 17.00 น. จะมีการแสดงละครโอเปร่าแบบฝรั่งของคณะจันทโรภาสที่นำโดยจวงจันทน์ จันทร์คณา ผู้ใช้นามแฝงในการประพันธ์เพลงว่า ‘พรานบูรพ์’
บริเวณสนามหลวงยังแลเห็นมหรสพสารพัดให้เลือกทัศนาเสียจุใจ ทั้งลิเกคณะหอมหวล, รําวงคณะนายใช้ แม้นมาศ, จําอวดคณะเอกสิงห์ของนายชุบ เอกสิงห์ และนักแสดงเจ้าบทบาทนามสมพงษ์ พงษ์มิตร, คณะหนังตะลุงนายพูน เรืองนนท์, ลําตัดคณะนายสว่างฯ, เพลงทรงเครื่องคณะ ส.เสียงทอง, คณะเสมาทองที่แสดงละครในหอประชุมกรมศิลปากรก็จัดลิเกมาร่วมสมทบ การฉายภาพยนตร์ของสํานักสื่อข่าวอเมริกัน 1 จอ และการฉายภาพยนตร์ของกระทรวงสาธารณสุขอีก 1 จอ
พอในวันเสาร์ที่ 19 มกราคม กรมศิลปากรได้นำศิลปะการแสดงต่างๆ มาให้รับชมบริเวณท้องสนามหลวง เวลา 11.00-13.00 น. นำแสดงโดยนายภัควร คงเดช ตกบ่ายเวลา 15.30-17.30 น. มีหลายคณะแสดง ได้แก่ คณะเจตสิงห์ คณะปัญญาพล คณะสุปรีดี คณะละครวิจิตรเกษมของนายบัณฑูร องค์วิศิษฐ์ เจ้าของกิจการโรงหนังเอ็มไพร์ ซึ่งบุคคลในคณะล้วนยอดฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นครูแก้ว อัจฉริยะกุล หม่อมหลวงรุจิรา อิศรางกูร และครูนารถ ถาวรบุตร
ล่วงเข้าวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม พื้นที่สนามหลวงมิว่างเว้นละครกรมศิลปากร เวลา 10.00-12.30 น. พบการแสดงจากคณะแหลมทอง คณะลูกไทย และคณะศิวารมย์ของนาวาอากาศเอก ขุนสวัสดิ์ฑิฆัมพร ผู้อำนวยการบริษัทสหซีนิมา เจ้าของโรงหนังเฉลิมกรุง ตกบ่ายก็มีคณะจิตรวัฒนา
ถ้าใครไม่อยากดูละคร ราวบ่ายสามโมงที่ท้องสนามหลวงมีการแข่งขันกีฬาให้ช่วยลุ้นส่งเสียงเชียร์ได้ ซึ่งมีจัดแข่งจักรยาน 3 ล้อ จักรยาน 2 ล้อ และวิ่งทนรอบสนามหลวง แบ่งเป็น 3 รอบ รอบแรกแข่งวันศุกร์ รอบสุดท้ายแข่งวันอาทิตย์ วันเสาร์ตอน 15.00 น. ยังมีการแข่งขันชักกะเย่อระหว่างอำเภอและการแสดงกระบี่กระบอง
ถ้าท่านไม่อยากเวียนวนแค่แถวๆ สนามหลวง จะไปเที่ยวดูมหรสพที่อื่นก็ได้เช่นกันทั้งสามวันสามคืน
ตรงบริเวณพระบรมรูปทรงม้ามีละครรําคณะนายพูน เรืองนนท์, คณะรําวงอําเภอดุสิต, หนังสต คณะเอกสิงห์, ลิเกคณะนางเจียม เอี่ยมทํานบ, ลําตัดคณะนายเหม และการฉายภาพยนตร์ของสํานักสื่อข่าวอเมริกัน 1 จอ ส่วนตรงบริเวณสวนลุมพินีมีละครรําคณะอ.แสงศิลป์, คณะรําวงของอําเภอปทุมวัน, คณะหนังตะลุงของนายพูน เรื่องนนท์, คณะจําอวดของอําเภอยานนาวา และการฉายภาพยนตร์ของสํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
นายพูน เรืองนนท์เจ้าของคณะหนังตะลุงและละครรำ (ละครชาตรีแบบทางปักษ์ใต้ซึ่งนายพูนเป็นคนแรกที่นำเข้ามาแสดงที่กรุงเทพฯ) ในงานฉลองสันติภาพนับเป็นบุคคลพึงศึกษาไม่เบา คณะของเขาตั้งอยู่ละแวกย่านนางเลิ้งแต่เลื่องลือชื่อเสียงขจรขจายไปทั่ว กระทั่งบุตรสาวคนโตคือแพน เรืองนนท์ นางละครในคณะก็ได้เป็นถึงเจ้าจอมของพระบาทสมเด็จพระสีสวัสดิ์ มณีวงศ์แห่งแผ่นดินกัมพูชา
ทางด้านสมาคมและสโมสรหลายแห่งจัดให้มีมหรสพการละเล่นต่างๆ ทุกวัน เฉกเช่น สโมสรราษฎรสราญรมย์จัดแสดงจําอวด การแข่งขันลีลาศ และแสดงลิเก แพทย์สมาคมจัดเลี้ยงอาหารสมาชิกและมีดนตรีบรรเลง สมาคมสงเคราะห์ผู้มีบุตรมากจัดรําวงและฉายภาพยนตร์ที่สนามเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า สโมสรสีลมมีฟลอร์ลีลาศ แสดงจำอวด วงดนตรีเครื่องสาย และเลี้ยงอาหารสมาชิก ราชตฤณมัยสมาคมจัดแข่งรถจักรยาน 3 ล้อ จักรยาน 2 ล้อ แข่งรถบรรทุกหญ้า ในวันเสาร์มีลีลาศ เลี้ยงอาหารสมาชิกและเลี้ยงอาหารคนขี่ม้า สมาคมพ่อค้าไทยจัดฉายภาพยนตร์ เล่นลําตัด ประกวดรําวงชิงรางวัล และเต้นลีลาศ สมาคมสหมิตรจัดฉายภาพยนตร์ เล่นลำตัด วันเสาร์มีร้องเพลงเรือตั้งแต่ 19.00-24.00 น. ขณะบรรดาสมาคมชาวจีนร่วมกันจัดให้มีงิ้วมาแสดงเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรี ในวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม เวลา 14.00 น. ประชาชนไทย-จีนก็ได้เดินขบวนฉลองสันติภาพจากถนนเจริญกรุงไปสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นต้น
สังเกตดีๆ ดูเหมือนสมาคมหลายแห่งทีเดียวเน้นจัดฉายภาพยนตร์ อ้อ! สมาคมที่ละเลยการเอ่ยถึงมิได้คือ สมาคมสันติภาพได้จัดฉายภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก ผลงานสร้างของนายปรีดี พนมยงค์ ณ โรงหนังเทียนกัวเทียนในวันศุกร์ที่ 18 มกราคม โดยเชิญทหารต่างประเทศเข้าชมด้วย ทั้งยังจัดฉายภาพยนตร์ข่าวสงครามตรงสนามหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร และจัดการประกวดคําขวัญสันติภาพ
สมาคมของชาวมุสลิมถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ให้ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจจัดกิจกรรมในงานฉลองสันติภาพ เช่น สมาคมยะมีอตุลอิสลาม จัดแสดงดนตรีและฉายภาพยนตร์บริเวณสมาคมทั้ง 3 คืน มีฟรีบาร์น้ำชาและน้ำหวานบริการแก่ผู้เดินชมงาน สมาคมนักเรียนเก่าบํารุงอิสลามจัดแสดงกีฬา ละครรีวิว และสตริงแบนด์ ส่วนสมาคมสนธิอิสลามจัดแข่งขันกีฬาในร่ม 7 ประเภท แข่งกีฬาประเภทขบขัน 5 ประเภท จัดให้มีการร้องเพลงอาหรับ จําอวด มีวงเครื่องสายอาหรับบรรเลงเพลงโรงหนึ่งตรงหน้าประตูสมาคม อีกโรงหนึ่งบริเวณท่าน้ำ ดนตรีสตริงแบนต์ 1 วง การฉายภาพยนตร์ 1 จอ รวมถึงออกร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม และของเบ็ดเตล็ด
ความรู้สึกของคนไทยที่มีต่องานมหกรรมฉลองสันติภาพระหว่างวันศุกร์ที่ 18 มกราคมถึงวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม ยังถูกสะท้อนไว้ผ่านวรรณกรรมหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ผลงานของป.อินทรปาลิต นั่นคือตอนที่ชื่อ ฉลองสันติภาพ ดังผู้ประพันธ์ถ่ายทอดไว้ว่า
“…ทางราชการได้เตรียมจัดงานฉลองสันติภาพในวันที่ 18-20 มกราคมนี้อย่างมโหฬาร ประชาชนต่างปรีดิ์เปรมเกษมสันต์กันไปตามกัน สันติภาพย่อมหมายถึงสันติสุข สันติภาพคือการสิ้นสุดแห่งหวอ…ไม่ต้องนอนสะดุ้ง คอยคว้ากระเป๋าเสื้อผ้าเมื่อได้ยินเสียงครวญครางของไซเรน หรือบางทีลูกระเบิดตูมตามมาก่อนแล้วหวอถึงจะดังขึ้น ชีวิตของพวกเราในเวลานั้นเอาแน่ไม่ได้ ญาติมิตรของเราบางคน ตอนเย็นยังพบปะพูดคุยกันดี แต่พอรุ่งเช้าตัวขาดเป็นท่อนๆ นอนอมยิ้มหรือม่ายก็แยกเขี้ยวยิงฟันทับถมอยู่กับสิ่งสลักหักพัง”
จึงทำให้ “…งานฉลองสันติภาพคราวนี้ประชาชนต่างก็ยินดีร่วมมือร่วมใจกับรัฐบาล เพื่อรับมิ่งขวัญของประเทศ และมิ่งขวัญของตนกลับคืนมา สมาคม สโมสร และองค์การต่างๆ เตรียมจัดงานรื่นเริงกันใหญ่โต บริเวณงานฉลองสันติภาพนั้นมีปริมณฑลกว้างขวางมาก คือทั่วพระนครและธนบุรี…คุณหนุ่มๆ และคุณสาวๆ เตรียมตัวเที่ยวกันให้สนุก…ตั้งหลายปีแล้ว เราเพิ่งมีงานมโหฬารอย่างนี้ คุณพ่อ คุณพี่ คุณผัวบ่นกันพึมพำเมื่อต้องควักกระเป่าให้คุณเธอซื้อผ้า ตัดเสื้อกระโปรง”
ดังนั้น ในความเห็นของ ป.อินทรปาลิต “มันจะต้องเป็นงานที่สนุกสนานที่สุดในยุคนี้” และ “ไม่มีงานมหกรรมใดๆ ในระยะ 4 ปีนี้ จะใหญ่ยิ่งสนุกสนานยิ่งกว่างานฉลองสันติภาพ” เพราะ “พระนครซึ่งเคยเงียบเหงามาช้านาน ได้แปรสภาพเป็นเมืองสวรรค์อีกครั้งหนึ่ง”
แน่ละ ตัวละครพล นิกร กิมหงวนของป.อินทรปาลิตได้เข้าร่วมเที่ยวชมมหรสพความบันเทิงทั้งที่สวนลุมพินีและสนามหลวง โดยเฉพาะที่สนามหลวงในคืนสุดท้าย (คืนวันอาทิตย์ที่ 20 มกราคม) นั้น “…ผู้คนล้นหล้าฟ้ามืด มีการแสดงต่างๆ เหมือนทุกคืน ลำตัด 1 โรง ยี่เก 1 โรง ภาพยนตร์สาธารณสุขและของสหประชาชาติ 2 โรง ภาพยนตร์ตะลุง (หนังตะลุง) 1 โรง และรำวงอีก 1 โรง ถึงแม้ว่าการประดับประดาโคมไฟตามต้นมะขามและไฟราวจะไม่มี เนื่องจากบริษัทไฟฟ้ามีความจำเป็นต้องสงวนกำลังไฟ ให้พอกับกำลังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ประชาชนก็ยังเที่ยวเตร่เบียดเสียดเยียดยัดกันอยู่อย่างสนุกสนาน”
ปีพุทธศักราช 2489 อาจินต์ ปัญจพรรค์ในวัยหนุ่ม (ก่อนจะไปอยู่เหมืองแร่ที่พังงา) ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดคำขวัญสันติภาพจากองค์การสหประชาชาติด้วยถ้อยความว่า “สงครามคือบาป สันติภาพคือบุญ” ผมไม่แน่ใจการจัดประกวดครั้งนั้นเกี่ยวเนื่องกับมหกรรมงานฉลองสันติภาพเดือนมกราคมหรือเปล่า แต่ก็เชื่อหนักแน่นว่า ‘สันติภาพ’ ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ย่อมสร้างความปีติปลื้มเปรมให้กับคนไทยอยางมากล้น
งานฉลองสันติภาพที่จัดขึ้นต้นปีพุทธศักราช 2489 จึงเป็นอีกมหกรรมที่เรามิควรปล่อยให้เลือนหายไปกับกาลเวลาปลิดปลิว คาดหวังลึกๆ ว่าการพาคุณผู้อ่านทุกท่านย้อนยุคไปสัมผัสบรรยากาศความบันเทิงในวันวาน คงช่วยทำให้ข้อมูลว่าด้วยงานนี้ที่ยังเร้นซ่อนในประวัติศาสตร์พอจะเปล่งประกายระยิบสายตาขึ้นมาบ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ปรีชา อินทรปาลิต. หัสนิยายสามเกลอ ชุดสามเกลอมาแล้ว ตอนฉลองสันติภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2547
- ปรีดี หงษ์สต้น. สยามมหกรรม การเมืองวัฒนธรรมกับการช่วงชิงความเป็นสาธารณะ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562
- พีระพงศ์ ดามาพงศ์. (พล.ต.ต.). ท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม ๕. กรุงเทพฯ : บริษัท สามเจริญพาณิชย์จำกัด, 2550
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์. ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจและทรงจำของ (คณะ) ราษฎร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2562
- สุภัตรา ภูมิประภาส. “กษัตริย์กัมพูชา นางละครสยาม และข่าวที่ถูกห้ามเขียน.” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 30 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2552). น. 98-109
- อาจินต์ ปัญจพรรค์. โอ้ละหนอน้ำหมึก. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2544.