ประโยค ‘ทุกความรักมีราคาที่ต้องจ่าย’ อาจฟังดูเชยๆ และดูเป็นการพูดย้ำในสิ่งที่ใครๆ ต่างก็รู้กันอยู่แล้วนะครับ แต่คำถามคือ เราสามารถจะโอบรับประโยคนี้อย่างแท้จริง และมองมันเป็นสัจธรรมหนึ่งของชีวิตได้หรือเปล่า พูดอีกอย่างได้ว่า ในทุกคราวที่มีความรัก เราพร้อมยอมรับแต่เนิ่นๆ หรือเปล่าว่าจะต้องเผชิญกับบาดแผล และความเจ็บปวดในสักวัน
ในทางหนึ่งมันก็คือการเตรียมใจไว้ล่วงหน้านั่นแหละครับ แต่ก็อย่างที่เนื้อเพลง กันและกัน ได้เขียนไว้ว่า ‘ตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง’ ราวกับว่าความหวังกับความรักเป็นสองสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดกันได้ แน่นอน ผมไม่ได้จะบอกว่า เราไม่ควรตั้งความหวังกับความรัก แต่เป็นคำถามที่ว่า เราจะลดทอนความหวังต่อความรักใดๆ ได้มากสักแค่ไหน
Alain de Botton (นักเขียนซึ่งผมเคยเขียนถึงหนังสือของเขา ‘Essay in Love’ ไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน) เคยได้กล่าวไว้บนเวทีหนึ่งซึ่งเขาไปเป็นสปีกเกอร์ว่า มันเป็นเรื่องยากที่จะลดทอนความหวังในความรัก นั่นเพราะโลกธุรกิจรอบๆ ตัวเราจงใจเพิ่มพูนความคาดหวังให้กับความรักมากเกินไป ถึงขนาดที่ Theodor W. Adorno นักปรัชญาชาวเยอรมันได้กล่าวไว้ว่า Walt Disney คือมนุษย์ที่อันตรายที่สุดของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว ที่ Adorno เห็นเช่นนี้เพราะเขามองว่าดิสนีย์คือตัวแทนสำคัญที่กระจายภาพของความหวังให้กับสังคมนั่น และซึ่งเจ้าของธุรกิจอื่นๆ เองต่างก็เล็งเห็นโอกาสในการขายสินค้าและบริการจากความรักและความหวังด้วยเช่นกัน กลายเป็นสองสิ่งที่คอยเกื้อหนุนกันไปโดยปริยาย
วกกลับมายังหนังสือประจำสัปดาห์นี้ The Course of Love คืองานเขียนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นภาคต่อกลายๆ ของ Essay in Love ก็คงได้ แม้จะดำเนินผ่านตัวละครคนละชุด แต่ด้วยหัวใจของหนังสือเล่มนี้ก็คล้ายว่าจะเป็นภาคขยายของประเด็นบางส่วน ซึ่ง Essay in Love เหลือเว้นช่องว้างไว้อย่างจงใจ หรืออาจเป็นส่วนที่ de Botton ในวัย 25 ยังไม่สนใจหรือเข้าใจอย่างลึกซึ้งเท่ากับเขาในวัยสี่สิบปลาย
เล่าย่อๆ อย่างนี้ครับ ว่า Essay in Love ถูกเขียนขึ้นในขณะที่ de Button อยู่ในช่วงยี่สิบ แต่ The Course of Love นั้นเขียนในขณะที่เขาอายุสี่สิบกว่า ระยะเวลาเกือบยี่สิบปีระหว่างหนังสือทั้งสองเล่ม ที่แม้จะสำรวจประเด็นความรักเหมือนกัน แต่แน่นอนว่าด้วยวัยที่มากขึ้นและประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่มพูน ทัศนะของตัว de Button เองย่อมเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา
หาก Essay in Love คือเขาที่สนใจความรักในลักษณะของภาพแลนด์สเคปกว้างๆ The Course of Love ก็เป็น de Button ที่หันมาเพ่งจ้องภาพพอร์เทรตอย่างตั้งใจ โดยหนังสือเล่มนี้ (ส่วนมาก) บอกเล่าชีวิตหลังสมรสของสามี-ภรรยา คู่หนึ่งว่าดำเนินไปอย่างไร ทั้งความสุข ความทุกข์ ความเศร้า ความทรมาน และความเบื่อหน่าย ปนเปกันไป โดยที่ de Button เองก็จงใจจะให้รายละเอียดที่แจ่มชัดขึ้น สำรวจความคิดของตัวละครอย่างละเอียดลออและใจเย็นขึ้น ว่าอะไรที่เป็นปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลงของคู่รักก่อนและหลังแต่งงาน
de Botton มองว่า แม้ความรักจะเป็นประเด็นที่คล้ายจะถูกสำรวจอย่างทะลุปรุโปร่ง ทว่าสิ่งที่ถูกเพ่งมองอย่างสนใจคือเวลาเพียงช่วงหนึ่งของความรักเท่านั้น
กล่าวคือ เรามักจะสนใจแค่ว่า คู่รักหนึ่งๆ พบกันได้ยังไง ใครชอบใครก่อน บอกรักกันแบบไหน ทั้งลุ้นให้พวกเขาได้แต่งงานและครองรักกันเรื่อยไป แต่หลังจากที่ชีวิตรักของพวกเขาดำเนินผ่านพิธีสมรส ความรักก็ถูกลดความสนใจลงราวกับถึงจุดสิ้นสุด ทั้งที่ในความเป็นจริงกลับยังดำเนินไปเรื่อยๆ กระทั่งพวกเขามีลูก ผิดใจ เหน็ดหน่าย นอกใจ และอะไรอีกมากมาย หากเรื่องราวเหล่านี้มักถูกมองข้ามไป คล้ายกับประโยคในการ์ตูนที่ว่า แล้วพวกเขาก็อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขตราบชั่วกาลนาน ซึ่งตอกย้ำถึงการที่ชีวิตหลังสมรสมักถูกละเลยที่จะสำรวจความซับซ้อนของมันไปนั่นเอง
ในบทความ Why You Will Marry the Wrong Person ที่ de Botton เขียนให้กับ New York Times ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ The Course of Love วางจำหน่าย (ที่แค่หัวข้อบทความก็เรียกแขกได้มากโข) เขาได้เสนอถึงสาเหตุที่เรารู้สึกว่าเราเลือกคู่แต่งงานผิดคน (ซึ่งแนวคิดในบทความก็สอดพ้องกับเรื่องราวในนวนิยายทีเดียว) ไว้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการแต่งงานคือความคาดหวังฝังหัวว่า คู่รักที่ต้องตรงเหมาะสมราวกับทั้งเราทั้งสองเกิดมาเพื่อกันและกันนั้นมีอยู่จริง และเรามักด่วนสรุปว่าคนรักที่เราตกลงใจจะแต่งงานด้วยคือคู่ชีวิตอันสมบูรณ์พร้อมนี้ หากความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนี้หรอกครับ และคนที่เราเลือกก็ไม่ใช่คนที่บริบูรณ์พร้อมที่สุด (ลองคิดถึงความเป็นไปได้ที่เราไม่สามารถเปรียบเทียบคู่ชีวิตเรากับอีกพันล้านคนทั่วโลกก็พอจะสรุปประเด็นนี้ได้แล้ว) แต่เราเลือกคนที่ ‘ดีพอ’ สำหรับเราต่างหาก
ดีพอในที่นี้หมายถึงอะไร de Button หมายถึงใครสักคนที่เรามั่นใจว่าเขาจะยอมรับและอยู่กับสิ่งแย่ๆ ในตัวเราได้ คือความสับสน หุนหัน น่ารำคาญ ที่ฝังอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน และในทางกลับกันเราเองก็ต้องมั่นใจเสียก่อนว่าจะทนอยู่กับส่วนแย่ๆ ในตัวตนอีกฝ่ายให้ได้ด้วย แน่นอนครับว่าเราไม่อาจเติมเต็มความว่างเปล่าในชีวิตอีกฝ่ายได้อย่างครบถ้วนหรอก แค่เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ de Button สรุปทิ้งไว้ก็คือ การแต่งงานก็คือการเลือกว่าเรายินยอมจะให้ชีวิตตัวเองได้ทุกข์ทนในรูปแบบใดนั่นเองครับ
The Course of Love คือนวนิยายที่ชี้ชวนให้เราเพ่งพินิจความรักด้วยสายตาที่ระมัดระวังและตระหนักถึงราคาของมันมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า ภายใต้ใบหน้าอันเปี่ยมสุขและหวังของความรักนั้นยังมีความลับดำมืดอีกมากมายหลบซ่อนไว้ เฝ้ารอที่จะได้ปะทุออกมาในสักวัน