การรวมธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด . . . และอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง รวมทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม
ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งของผลการพิจารณาของอนุญาตรวมธุรกิจโดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (ซึ่งมีตัวย่อน่าเอ็นดูว่า กขค.) ระหว่างกลุ่ม ซี.พี. เจ้าของแบรนด์ร้านสะดวกซื้อ 7-11 จำนวน 11,712 สาขาและร้านค้าส่งรายใหญ่อย่างแม็คโคร 129 สาขาทั่วประเทศไทย กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัดซึ่งถือครองธุรกิจค้าปลีกหลากหลายขนาดภายใต้แบรนด์ Tesco Lotus ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา Tesco Express 1,574 สาขา นอกจากนี้ยังเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าอีก 191 สาขา
สาเหตุที่ดีลดังกล่าวถูกจับตามองเพราะทั้งสองเจ้าต่างถูกจัดอยู่ในแนวหน้าของธุรกิจค้าปลีกซึ่งหลายคนกังวลว่าหากมีการควบรวมกันจริง ธุรกิจค้าปลีกของเครือ ซี.พี. อาจใหญ่เกินไปจนมีอำนาจต่อรองล้นฟ้าและครอบงำตลาดโดยไร้คู่แข่ง
หากใครได้อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มก็คงจะรู้สึกว่าคำอธิบายในส่วนแรกนั้นสมเหตุสมผลกันดี ทั้งอำนาจตลาดเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เป็นการผูกขาดเพราะมีธุรกิจค้าปลีกคู่แข่งบางรายที่ยังพอฟัดพอเหวี่ยง การแข่งขันที่ลดลงเพราะตลาดสูญเสียผู้เล่นรายใหญ่ไปหนึ่งเจ้า แต่ประโยคที่ผมอ่านแล้วต้องขยี้ตาแล้วอ่านซ้ำอีกรอบคือการระบุว่าอำนาจตลาดที่เพิ่มและการแข่งขันที่ลดลงจะไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงและไม่กระทบต่อผู้บริโภค ข้อสรุปดังกล่าวดูจะสวนทางกับตำราเศรษฐศาสตร์กระแสหลักซึ่ง ‘มือที่มองไม่เห็น’ จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อมีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
ก่อนอนุญาตควบรวมต้องพิจารณาอะไรบ้าง
น่าเสียดายที่เราคงไม่มีโอกาสได้เห็นรายละเอียดเกี่ยวกับการพิจารณาของ กขค. ว่าวิเคราะห์อย่างไรถึงสรุปผลว่าดีลแห่งปีจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภค เพราะเอกสารดังกล่าวย่อมเต็มไปด้วย ‘ความลับทางการค้า’ และเอกสารภายในของทั้งสองบริษัท อีกทั้งตัวผมเองก็ไม่พบเอกสารคู่มือประกอบการพิจารณาผลกระทบจากการควบรวมกิจการค้าปลีกของไทยแต่ไม่เป็นไรครับ ผมจะขอชวนทุกท่านสวมหมวกเป็นคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแล้วลองพิจารณาว่าควรอนุญาตให้สองบริษัทนี้ควบรวมกันหรือไม่ โดยใช้หลักเกณฑ์สำหรับการควบรวมกิจการค้าปลีกของ Competition and Markets Authority หน่วยงานที่ตรวจสอบและกำกับดูแลด้านการแข่งขันของอังกฤษ
หัวใจสำคัญสำหรับการพิจารณาเรื่องนี้คือการตอบคำถามว่า ‘การควบรวมจะส่งผลต่อการแข่งขันอย่างไร’ ซึ่งสมมติฐานสำคัญในการวิเคราะห์คือร้านค้าปลีกแบบออฟไลน์จะแข่งขันกับร้านค้าปลีกอื่นๆ ในท้องที่เดียวกันเพื่อดึงดูดลูกค้าในบริเวณดังกล่าวให้เดินทางมาจับจ่ายใช้สอย
ประเด็นแรกที่ต้องตอบคือสองบริษัทที่จะควบรวมกันถือเป็นคู่แข่งกันหรือไม่
เพราะหากทั้งสองบริษัทเป็นคู่แข่งที่นำเสนอสินค้าและบริการคล้ายคลึงกัน ระดับของการแข่งขันที่ลดลงหลังจากการควบรวมย่อมส่งผลต่อราคา คุณภาพ การบริการ และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ
ตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีก A และร้านค้าปลีก B แข่งขันกันเสนอโปรโมชันลดแลกแจกแถมอาหารแช่แข็งเพื่อแย่งฐานลูกค้าวัยทำงานที่มีเงินแต่ไม่มีเวลาทำอาหารรับประทานเอง แต่หลังจากร้าน A ซื้อกิจการของร้าน B ก็ไม่มีการจัดโปรโมชันลดราคาอีกเลย แถมยังเปลี่ยนมาขายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยบริษัทในเครือของร้าน A ส่วนผู้บริโภคก็ต้องจำใจซื้อด้วยความเคยชินและไม่มีตัวเลือกอื่น ในกรณีนี้ การควบรวมย่อมส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ
ประเด็นที่สองคือพลวัตของการแข่งขัน ซึ่งพิจารณาจากแผนการขยายสาขาของกิจการค้าปลีกที่กำลังจะควบรวมกัน เช่น ร้านค้าปลีก A มีแผนจะเปิดสาขาใหม่ที่รัฐสภาเช่นเดียวกับร้านค้าปลีก B หากทั้งสองร้านควบรวมกัน นายทุนใหญ่ก็อาจตัดสินใจยกเลิกการเปิดสาขาของร้านค้าปลีก B เพราะไม่เห็นประโยชน์จากการแข่งขันกันเองระหว่างร้านค้าปลีกในเครือ สำหรับกรณีนี้ ยิ่งทั้งสองบริษัทมีพื้นที่ซ้อนทับในแผนการขยายสาขาเพิ่มมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการทำลายพลวัตของการแข่งขันมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมเพราะการลงทุนและการจ้างงานอาจลดลง
ประเด็นที่สามคือการแข่งขันในระดับท้องถิ่นที่จะพิจารณาจาก ‘พื้นที่รับลูกค้า (catchment area)’ ซึ่งหมายถึงบริเวณที่ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของสาขาค้าปลีกที่ให้บริการอยู่อาศัยหรือเดินทางมาเป็นประจำซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละสาขา เช่น พื้นที่ของฐานลูกค้าของสาขาค้าปลีกใต้ตึกสำนักงานกลางกรุงเทพฯ อาจครอบคลุมแค่พนักงานในตึกเท่านั้น ขณะที่ลูกค้าต่างจังหวัดอาจยินดีที่จะใช้เวลาเดินทางมากกว่า 30 นาทีเพื่อมาใช้บริการร้านค้าปลีกเพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
หากในพื้นที่รับลูกค้าดังกล่าวมีอยู่แค่สองตัวเลือกคือ
ร้านค้าปลีก A และร้านค้าปลีก B ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด
หากวันดีคืนดีร้านค้าปลีก A ซื้อกิจการของร้านค้าปลีก B
ก็จะทำให้พื้นที่ถูก ‘ผูกขาด’ ในระดับท้องถิ่นโดยปริยาย
นอกจากประเด็นด้านการแข่งขันแล้ว การควบรวมกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ยังต้องพิจารณาถึงอำนาจต่อรองที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทภายหลังการควบรวมต่อคู่ค้าซึ่งอาจไม่มีทางเลือกในการจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทค้าปลีกรายอื่น จนทำให้คู่ค้าซึ่งเป็นรายเล็กอาจถูกเอารัดเอาเปรียบจนการกดราคาหรือจ่ายเงินช้า อำนาจตลาดของบริษัทที่มากเกินไปยังเป็นการกีดกันไม่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดนวัตกรรมทางธุรกิจอีกด้วย
ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงสามารถฟันธงฉับว่าการควบรวมระหว่างเครือ ซี.พี. และโลตัสย่อมส่งผลต่อการแข่งขันแน่ๆ แต่ประเด็นเรื่อง ‘ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ’ นับเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน โดยต้องใช้ข้อมูลภายในของทั้งสององค์กรว่าเครือ ซี.พี. และโลตัสมองกันและกันว่าเป็นคู่แข่งทางตรงหรือไม่ และมีการปรับกลยุทธ์เพื่อพัฒนาสินค้า บริการ รวมถึงลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้าอย่างไร ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างมองอีกบริษัทเป็นคู่แข่งรายสำคัญ การควบรวมก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสวัสดิการของผู้บริโภคอย่างรุนแรงเนื่องจากทำลายการแข่งขันในตลาดค้าปลีกอย่างมีนัยสำคัญ
แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนกังวลมากขึ้นไปอีกจากการควบรวมของทั้งสองบริษัท เนื่องจากเครือ ซี.พี. ไม่ได้มีเฉพาะธุรกิจค้าปลีก แต่ถือครองทั้งธุรกิจต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้ดีล ซี.พี + โลตัส มองได้ทั้งเป็นการควบรวมแนวตั้ง (vertical merger) ซึ่งเป็นการควบรวมระหว่างธุรกิจค้าปลีกกับผู้ผลิตสินค้าต้นทาง และการควบรวมแนวนอน (horizontal merger) ซึ่งเป็นการควบรวมระหว่างธุรกิจค้าปลีกกับธุรกิจค้าปลีก ผู้บริโภคจึงต้องร่วมกันจับตา ราคา คุณภาพ การบริการ และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ หลังจากที่ทั้งสองบริษัทเริ่มเดินหน้ากระบวนการควบรวมกิจการ
ทำไมการแข่งขันจึงสำคัญ
ถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจเริ่มสงสัยว่าการแข่งขันในระบอบทุนนิยมจะสำคัญอะไรกันนักกันหนา บางคนถึงขั้นมองว่าการมีธุรกิจรายเดียวในตลาดอาจเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำเพราะมีโอกาสเติบโตและสร้างกำไรได้มากกว่าเพราะผูกขาดตลาด นำไปสู่การจ้างงาน ขยายการเข้าถึงสินค้าและบริการได้แบบถ้วนหน้า นำพาชาติไทยก้าวเข้าสู่เวทีโลก ฯลฯ
อ่านแล้วชวนให้ไปสะกิดปลุกให้ตื่นจากฝันหวานว่าด้วย ‘นายทุนใจบุญ’ เพราะในความเป็นจริง นายทุนไม่ได้สนใจประโยชน์ส่วนรวมเท่ากับประโยชน์ส่วนตน ตราบใดที่รู้ว่าตนเองถือไพ่เหนือกว่าก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องประนีประนอมกับคู่ค้า ผู้บริโภค หรือกระทั่งพนักงาน เพราะนายทุนรู้ดีกว่าพวกเขาและเธอไม่มีทางเลือกอื่น
เดี๋ยวจะหาว่ามองนายทุนในแง่ร้ายเกินไป ผมขอหยิบงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบจากการควบรวมธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส โดยทั้งสามชิ้นมีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันคือ
ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น และความหลากหลาย
ของสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านค้าปลีกจะลดลงหลังการควบรวม
ผลลัพธ์ดังกล่าวยิ่งชวนให้ผมสงสัยว่า กขค. วิเคราะห์อย่างไรถึงได้ข้อสรุปว่าดีลเครือ ซี.พี. + โลตัส จะไม่กระทบต่อผู้บริโภค
บางคนอาจเถียงว่าเงินมันก็เงินเจ้าสัวเขา เขาทำธุรกิจประสบความสำเร็จ อยากจะใช้เงินซื้ออะไรมันก็เรื่องของเขา เราจะไปยุ่งทำไม ถ้าเขาจะมีอำนาจตลาดเพราะมีฝีมือก็ปล่อยให้เขาบริหารไปไม่ดีกว่าหรือ?
แน่นอนครับว่าเราอยู่ในระบอบทุนนิยมเสรี แต่ที่เราเลือกใช้ระบอบเศรษฐกิจดังกล่าวก็เพื่อบรรลุประสิทธิภาพสูงสุดทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจะเดินไปถึงจุดนั้นได้จำเป็นต้องมีการแข่งขันที่เข้มข้น นี่คือเหตุผลที่ประเทศทุนนิยมทุกแห่งทั่วโลกจะต้องมีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้า เพราะอำนาจเหนือตลาดที่มากเกินไป ไม่ว่าจะได้มาด้วยความเก่งฉกาจหรือจากกฎหมายเอื้อนายทุน ย่อมเป็นการถ่วงพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เป็นการทำลายล้างมากกว่าสร้างสรรค์
ประเด็นหนึ่งที่หลายคนมองข้าม และยังถูกมองข้ามในแถลงการณ์ของ กขค. คือความสูญเสียด้านนวัตกรรมที่จะสูญหายไปพร้อมกับระดับการแข่งขันที่ลดน้อยถอยลง กระบวนการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (creative destruction) หรือการสรรหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วงชิงเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคแทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยในอุตสาหกรรมที่มีความกระจุกตัวสูง เนื่องจากเจ้าตลาดเดิมขาดแรงจูงใจที่จะเสริมสร้างศักยภาพของตนเอง เพราะต่อให้ทำหรือไม่ทำก็ยังมีเงินไหลเข้ากระเป๋าทุกวันอยู่ดี อีกทั้งบริษัทเกิดใหม่ที่จะเข้ามา ‘ท้าทายอำนาจ’ แชมป์เก่าเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันยังมีโอกาสอยู่รอดต่ำเพราะไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทผู้ครองตลาดเดิมได้
กรณีศึกษาที่คนไทยเผชิญกับตนเองคือการกระจุกตัวในอุตสาหกรรมเบียร์ที่รายเล็กแทบไม่มีโอกาสเกิดใหม่เนื่องจากกฎหมายโบร่ำโบราณที่กีดกันไม่ให้เกิดโรงบ่มขนาดจิ๋ว ตลอดหลายสิบปีเท่าที่ผมจำความได้ เราเลยต้องทนดื่มลาเกอร์รสชาติจืดชืดของเจ้าตลาดโดยมีเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือการออกแบรนด์ใหม่ การออกแบบโลโก้ใหม่ การปรับปรุงสูตรในรอบสิบปี หรือการออกแบรนด์โซดาเพื่อจะได้หลบเลี่ยงกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แม้ว่าเทรนด์คราฟต์เบียร์ต่างชาติจะเริ่มตีตลาดเข้ามาในไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่เจ้าตลาดยังคงกระหยิ่มยิ้มย่องเพราะคราฟท์เบียร์ดังกล่าวยังราคาสูงลิบลิ่ว กระทั่งเหล่าโรงบ่มเบียร์ขนาดเล็กใช้วิธีการผลิตเบียร์จากต่างประเทศแล้วนำเข้ามาจำหน่ายในไทยในราคาที่แข่งขันได้ แถมยังนำมาขายชนกันในร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่ บริษัทเจ้าตลาดจึงเริ่มหวั่นไหวออก ‘นวัตกรรม’ ใหม่ออกมารัวๆ พร้อมกับอัดโฆษณาแบบเต็มพิกัด
เมื่อปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ศึกษาผลของการกระจุกตัวและอำนาจตลาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยได้ข้อสรุปว่า ยิ่งบริษัทมีอำนาจเหนือตลาดสูง จะมีการเติบโตของผลิตภาพต่ำ มีการส่งออกและอยู่รอดในต่างประเทศต่ำ จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกน้อย มีแนวโน้มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่ำ และมีอัตราการลงทุนต่ำ
สรุปง่ายๆ เป็นหนึ่งประโยคว่า ‘เก่งแต่ในกะลา’
น่าเสียดายที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจของไทยดูจะไม่เข้าใจความสำคัญของการแข่งขันเท่าที่ควร ปล่อยปะละเลยให้กลุ่มทุนเรืองอำนาจจนหลายอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในมือของนายทุนไม่กี่ครอบครัว ทั้งที่นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนเองก็ส่งเสียงเตือนอยู่เนืองๆ ถึงความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน แม้แต่นักร้องซุปตาร์ดาวค้างฟ้าอย่าง เบิร์ด ธงไชย ยังเตือนด้วยความหวังดีว่า ‘ไม่แข่งยิ่งแพ้’
. . . . (แป้กสินะ)
เอาเป็นว่าถ้าผู้มีอำนาจเมืองไทยจะไม่ฟังนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ประชาชน พี่เบิร์ด และตัวผม ก็ไม่เป็นไรครับ อย่างน้อยๆ ก็ช่วยอธิบายให้เข้าใจหน่อยว่าวิเคราะห์อย่างไรถึงสรุปผลว่าดีลเครือซี.พี. + โลตัส ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและผู้บริโภค เรื่องใหญ่ขนาดนี้ ข้อมูลสองหน้ากระดาษ A4 คงไม่เพียงพอที่จะคลายข้อสงสัยของสาธารณชน
อ่านเพิ่มเติม
The Economics of Retailer Mergers