(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของอนิเมะ Attack on Titan)
เด็กรุ่นเดียวกัน เผชิญกับสิ่งเดียวกัน ได้รับการปลูกฝังแบบเดียวกัน จำเป็นที่จะต้องโตมามีมุมมองทางการเมืองแบบเดียวกันหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจไม่น้อย และ Attack on Titan ก็ได้ตอบมันด้วยเนื้อหาสุดเข้มข้นในซีซั่นสุดท้าย
หลังจากที่ the final season ออนแอร์มาได้เกินครึ่งทางแล้ว เห็นได้ชัดว่าเรื่องราวซีซั่นนี้ต้องการจะเน้นไปที่ความเป็นจริงในอีกด้าน และแสดงถึงการถูกหล่อหลอม บ่มเพาะความเกลียดชังมาจากรุ่นสู่รุ่นในบรรดาผู้คนในประเทศมาเลย์ โดยเฉพาะการเผยให้เห็นถึงอดีตที่ต้องแบกรับของตัวละครไรเนอร์และสาเหตุที่เขาต้องทำแบบนั้น กับเล่าเรื่องปัจจุบัน ผ่านตัวละครทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ในอีกแง่มุม เพื่อให้เห็นถึงอีกมุมมองของผู้อยู่ฝั่งตรงข้ามของกลุ่มตัวละครหลักที่เราติดตามมาตลอดตั้งแต่แรกเริ่ม
ตลอดเวลาที่ผ่านมา จะได้อย่างชัดเจนว่า Attack on Titan เล่าผ่านกลุ่มตัวละครเด็กวัยรุ่นอายุราว 15-19 สิ่งนี้บ่งบอกได้อย่างดีว่า โลกนี้กำลังจะกลายเป็นโลกของคนรุ่นใหม่ โดยพวกเขาเท่านั้นที่จะเป็นคนกำหนดโชคชะตา ชีวิตในภายภาคหน้า และโลกที่จะกลายเป็นยุคของคนรุ่นพวกเขาในระยะเวลาไม่ช้าก็เร็ว ตามสโลแกนที่ว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ”
และบทความนี้จะมาพูดถึง ‘กาบิ บราวน์’ กับ ‘ฟัลโก้ ไกรซ์’ สองเด็กนักรบมาเลย์รุ่นใหม่ที่กำลังเป็นที่พูดถึงมากที่สุดในขณะนี้ ในเชิงวิเคราะห์ ว่าอะไรทำให้ทั้งสองคนที่เติบโตมาในสถานที่เดียวกัน ถึงแตกต่างกันได้ขนาดนี้?
ก่อนอื่นต้องพูดทวนถึงคาแรคเตอร์ของทั้งสองกันก่อน
กาบิ บราวน์ ลูกพี่ลูกน้องของ ไรเนอร์ บราวน์ เด็กหญิงที่มีบุคลิกแข็งกร้าว มั่นใจในตัวเองสูง ไร้ความกลัว กล้าลุย ปราศจากความลังเล กาบิเป็นตัวละครที่โอบรับบาปของบรรพบุรุษและความเกลียดชังเอาไว้ แล้วตั้งใจ (ในฐานะของนักรบชาวมาเลย์) พิสูจน์ตัวเองว่าตนเหมาะสมกับพลังไททันเกราะ เพื่อทำที่เธอคิดว่าดีที่สุด นั่นก็คือ การไปชิงพลังไททันบรรพบุรุษมา ให้ชาวเอลเดียได้ถูกล้างมลทินและได้รับการยอมรับในประเทศนี้
ฟัลโก้ ไกรซ์ เป็นเด็กนักรบมาเลย์ฝึกหัดรุ่นเดียวกับกาบิ ที่เป็นคนจิตใจดี ขี้สงสาร เอาใจเค้ามาใส่ใจเรา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และคำนึงถึงคนอื่นมากกว่าตัวเองเสมอ เท่าที่เห็นฟัลโก้อาจไม่ใช่หัวกะทิของนักรบรุ่นนี้เท่าไหร่นัก ไม่ต่างไปจากไรเนอร์เมื่อตอนนั้น แต่เป้าหมายของเขาคือการปกป้องกาบิ เพื่อนที่เขาแอบชอบมาตลอด นั่นทำให้ฟัลโก้ทำทุกอย่างเพื่อให้กาบิมีชีวิตอยู่ต่อ แม้ว่านั่นจะหมายถึงการนำเขาไปสู่อันตราย (ชะตาชีวิตที่ไม่แน่นอนในแผ่นดินของศัตรู) ก็ตามที
ในบทความที่ผ่านมาของคอลัมน์ Beyond the Wall ผู้เขียนเคยพูดถึงไปแล้วว่า propaganda หรือการปลูกฝังล้างสมอง (brainwashed) ด้วยโฆษณาชวนเชื่อนั้น น่ากลัวขนาดไหน และได้ผลลัพธ์ยังไงบ้าง
เมื่อมองในแง่ของผลลัพธ์ กาบิ จึงเป็นผลผลิตอันสมบูรณ์แบบที่รัฐแห่งมาเลย์ต้องการอย่างยิ่ง เด็กที่ว่านอนสอนง่าย ยอมทำทุกอย่างเพื่อสิ่งที่ถูกปลูกฝัง ไม่ตั้งคำถาม ไม่พยายามหาคำตอบ หรือไม่เคยลองมองความเป็นจริงในอีกด้านแล้วพยายามทำความเข้าใจความเป็นไปของโลก เชื่ออะไรก็จะเชื่ออย่างนั้น แม้กระทั่งมีข้อมูลใหม่หรือคนมาพูดกระตุ้นให้เกิดการคิดต่าง ก็ยังคงเชื่ออย่างนั้นอย่างสุดใจไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างที่เคยได้เขียนไปในบทความเกี่ยวกับเอเรนและกาบิ กาบิเป็นตัวละครที่สร้างมาจากความคิดที่ว่า จะเป็นอย่างไรหากเอเรนเป็นเด็กผู้หญิง นั่นทำให้เธอเป็นเหมือนภาพสะท้อนของเอเรนวัยเด็ก ที่โกรธเกรี้ยวที่บ้านเกิดถูกบุกรุก และต้องการนำความโกรธเกรี้ยวนั้นกลับคืนไปยังคนผู้นั้น ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป จะเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว กาบิและไรเนอร์ที่นามสกุลเดียวกันก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่นัก
ไรเนอร์เมื่อตอนที่ไปบุกเกาะสวรรค์ เขามีความคิดเดียวกับกาบิคือมีเป้าหมายในการทำให้ครอบครัวและชาวเอลเดียได้รับการยอมรับ และเกลียดชังชาวเกาะสวรรค์ มองว่าพวกเขาเป็นปีศาจ ซึ่งความเกลียดชังนั้นดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเขาได้สัมผัสด้วยตนเองจนรู้ว่า ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่ตนเองเข้าใจเลย และเมื่อกลับไปยังเกาะในฐานะผู้รอดชีวิตหนึ่งเดียว ไรเนอร์หนักใจเป็นอย่างมากต่อสิ่งที่เขาทำลงไป รวมถึงการที่เขารู้ความจริงแต่ไม่สามารถพูดออกมาได้หรือทำอะไรกับมันได้
เมื่อพูดเรื่องนี้ คงต้องถามต่อว่า ‘การเป็นเด็ก’ ทำให้เด็กเหล่านี้ได้รับความชอบธรรมในการเชื่ออย่างผิดๆ รึเปล่า? แล้วเด็กทุกคนเมื่อได้รับข้อมูลด้านลบๆ อย่างต่อเนื่องแบบนี้จะถูกล้างสมองอย่างได้ผลเหมือนเด็กนักรบมาเลย์หรือไม่?
คำตอบก็คือ ‘ไม่ใช่เลย’ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และตัวอย่างที่ดีที่สุดของคำตอบนั้น คือตัวละคร ‘ฟัลโก้’ ที่จะเรียกว่าเป็นขั้วตรงข้ามของกาบิก็ว่าได้
“ตรงนี้อันตรายนะ บินไป.. บินไปให้ไกลจากที่นี่…”
ตั้งแต่การปรากฏตัวครั้งแรกของตัวละครฟัลโก้ใน ‘อีกฟากของท้องทะเล’ ตอนแรกของซีซั่นสุดท้าย หรือจุดเริ่มต้นของภาคจบของ Attack on Titan เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ฟัลโก้เป็นเด็กที่มีจิตใจบริสุทธิ์ รักผู้อื่นมากกว่าตัวเองขนาดไหน จากการที่เขากำลังนอนใกล้หมดสติอยู่กลางสนามรบ ฟัลโก้กลับเป็นห่วงนกที่เข้ามาในอาณาเขตสงครามมากกว่าจะเอาตัวรอด รวมถึงเมื่อเขาเห็นเอเรน (ที่ปลอมตัวเป็นคนพิการ) ล้มลง เข้าเป็นคนเดียวที่เข้าไปช่วยเหลือ
นี่อาจจะยังไม่สามารถบอกได้ว่า ฟัลโก้นั้นต่างจากกาบิ เพราะหากกาบิเห็นเอเรนล้ม เป็นไปได้เช่นกันว่าเธอจะเข้าไปช่วย แต่สิ่งที่ทำให้ฟัลโก้แตกต่างจากกาบิโดยสิ้นเชิง คือรีแอ็กชั่นของเขาต่อสถานการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ที่มาเลย์
ฟัลโก้ได้เข้าไปพัวพันและมีส่วนในการทำให้เอเรนได้พบกับไรเนอร์อีกครั้งหลังผ่านไป 4 ปี และช่วยส่งเอเรนจดหมายไปตามพรรคพวกที่เกาะสวรรค์มาบุกโจมตีบ้านเกิดของเขา แน่นอนว่าเขารู้สึกเจ็บใจและเสียใจที่ถูกหลอก แต่การที่เขาได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดอย่างใกล้ชิดกว่าใครๆ มันแสดงให้เห็นว่า ฟัลโก้มีลักษณะของการ ‘มองโลกความเป็นจริง’ ‘เข้าใจผู้อื่น’ และลอง ‘ตั้งคำถาม’ ในหลายๆ แง่มุม ไม่ว่าจะเป็น
- ตอนที่ฟัลโก้เห็นว่าไรเนอร์ไม่ฟื้นตัวหลังจากแปลงร่างเป็นฝ่ามือ เขาเข้าใจทันทีว่านั่นเป็นเพราะไรเนอร์ไม่มีกระจิตกระใจจะมีชีวิตอยู่ต่ออีกแล้ว
- ตอนที่กาบิบอกให้ไปตามไรเนอร์มาสู้ เขาได้แต่ทำหน้าเศร้าแล้วตอบกลับไปว่า “ปล่อยให้ไรเนอร์ได้พักซักทีไม่ได้หรอไง!!?” นั่นเพราะเขาเข้าใจดีว่า ไรเนอร์รู้สึกผิดและรู้สึกแย่กับสิ่งที่เขาทำแค่ไหน
- ตอนที่ห้ามกาบิให้หยุดตามล่าชาวเกาะสวรรค์ ฟัลโก้เข้าใจดีว่า ชาวเกาะสวรรค์เจอแบบนี้เหมือนกัน และคงรู้สึกแบบเดียวกันเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
- ตอนล่าสุดที่เขาปลอมตัวเป็น เบน พี่ชายของกาบิ (ที่ตอนนี้ชื่อมีอา) ฟัลโก้ดูจะเข้าใจดีว่า คนเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนอะไรเลยต่อการกระทำของบรรพบุรุษเมื่อราวๆ สองพันปีที่แล้ว
อันที่จริงแล้ว จริงอยู่ที่ฟัลโก้ได้มีส่วนรู้เห็นอะไรมากกว่ากาบิ เขาถึงได้ดูเข้าใจภาพรวมมากกว่า แต่มันก็น่าตั้งคำถามไม่น้อยว่า หากทั้งหมดสลับกัน เป็นกาบิที่ช่วยส่งจดหมายและนำเอเรนมาเจอกับไรเนอร์แทนที่จะเป็นฟัลโก้ กาบิจะมีมุมมองต่อเรื่องนี้ที่แตกต่างกันหรือไม่?
เรื่องนี้เราอาจไม่มีทางรู้ได้ แต่หากลองจินตนาการดูจากความเป็นกาบิและฟัลโก้จากทุกตอนของซีซั่นนี้แล้ว ทุกคนก็น่าจะเห็นตรงกันว่าฟัลโก้ยังคงเป็นเด็กที่ไม่มีความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ได้คิดจะทำร้ายใคร และเขายังคงเป็นคนเข้าใจผู้อื่นอยู่วันยังค่ำ ในขณะที่กาบิ ต่อให้ได้รับรู้ มันก็อาจจะทำให้เธอเกลียดชังเอเรนมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
กลับมามองในโลกแห่งความเป็นจริง จะเห็นได้ว่าโลกเรามีทั้งคนที่เป็นเหมือนเด็กทั้งสอง และทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน อยู่ที่ว่าคนคนนั้นหรือเด็กคนนั้นจะมีความสามารถในการแยกแยะและทำความเข้าใจในอะไรๆ ได้มากน้อยแค่ไหน และเร็วหรือช้ากว่ากัน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ เด็กแบบกาบิและฟัลโก้เป็นตัวตนที่อยู่เหนือกาลเวลา (timeless)
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนยังไงและทำให้การปลูกฝังผิดๆ เป็นไปได้ยากขนาดไหนก็ตาม เด็กอย่างกาบิก็ยังคงเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ แม้ว่ามันจะเป็นการมองความจริงด้านเดียวและเป็นการปฏิเสธความเป็นจริงอีกด้านอย่างไม่มีเหตุผลก็ตาม ในขณะที่เด็กอย่างฟัลโก้ แม้ว่าเขาจะถูกปลูกฝังมาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นอย่างไม่ต่างกันแค่ไหน เขายังมีคุณสมบัติในการเป็นผู้เคลือบแคลง ที่พร้อมจะหาความจริง ตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น มองอะไรหลายด้าน และทำความเข้าใจกับมันได้เสมอ
ซึ่งเด็กแบบกาบิ ต่อให้เกิดในยุคใหม่ มีเทคโนโลยี หรือมีสิ่งให้ข้อมูลมากขึ้น ก็สามารถกลายเป็นเด็กในโลกเก่า ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ เก่าๆ อยู่ตลอด ในขณะที่เด็กแบบฟัลโก้ แม้ว่าเขาจะเกิดในยุคสมัยไหน หรือข้อมูลข่าวสารถูกควบคุมอย่างไรก็ตาม เขายังคงเป็นผู้ที่มองเห็นภาพรวม และเดินหน้าไปพร้อมๆ กับโลกที่หมุนไปตามเข็มนาฬิกา เข้าได้กับทุกยุคทุกสมัยได้อยู่เสมอ
พัฒนาการของตัวละครทั้งสองตัวนี้จึงเป็นข้อสรุปที่ดีว่า การปลูกฝังก็ส่วนหนึ่ง การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนภายในครอบครัวก็ส่วนหนึ่ง แต่การที่เด็กคนหนึ่งจะโตมาเป็นอย่างไรนั้น ก็อยู่ที่ตัวเด็กกับความเป็นปัจเจกของเด็กแต่ละคนเองด้วยเช่นกัน