ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวที่มีความท้าทายเส้นความคุ้นชินในสังคมไทยหลายเรื่อง ตั้งแต่ข่าวการตัดสินใจกิโยตินตนเองเพื่อถวายแด่ตถาคตโดยพระรูปหนึ่ง ไปจนถึงข่าวของนักแสดงตลกที่ใช้เส้นสายของตนเพื่อช่วยอำนวยการรักษาให้กับตลกที่ตนสนิทด้วยอีกคนหนึ่งซึ่งติดเชื้อโควิดและอาการสาหัสให้ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ (และในขณะที่ตดยังไม่ทันหายเหม็นก็มีนักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังออกมาโพสต์ข้อความว่าดนตรีไม่ใช่อาวุธ เครื่องมือทางการเมืองอีก …. แม้เขาจะออกมาขอโทษแล้วก็ตามที) และแน่นอนว่ารวมไปถึงแถลงการณ์ล้านแปดรอบของรัฐบาลต่อสถานการณ์ของโควิดระลอกใหม่ที่หนักหนาเสียเหลือเกินนี้ เรื่องราวเหล่านี้ที่อาจจะดูกระจัดกระจายกันอยู่นั้นผมเห็นว่ามีรากร่วมกันอยู่ไม่น้อย ทั้งในหลายๆ กรณียังมีมิติที่น่าขบคิดซ้อนทับกันอยู่ไม่น้อย จึงอยากจะนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ครับ
เริ่มจากข่าวกิโยตินกัน ซึ่งผมควรออกตัวไว้แรงๆ ก่อนว่าโดยส่วนตัวแล้วผมไม่มีปัญหาอะไรใดๆ กับทางเลือกในชีวิตของพระรูปดังกล่าวเลย การตัดสินใจต่อชีวิตและร่างกายตนเองนั้นควรเป็นสิทธิโดยสัมบูรณ์ของตน ตราบเท่าที่มันไม่นำมาซึ่งความชิบหายให้กับคนอื่นก็พอ หากจะมีอะไรที่ติดใจบ้างสำหรับคนที่เชื่อว่าการการุณยฆาตนั้นควรจะเป็นสวัสดิการของรัฐ (ไม่ใช่แค่สิทธิ) อย่างผมแล้ว ก็คงจะอยู่แค่ว่า ในยุคสมัยแบบนี้แล้วยังจะต้องมาจากโลกนี้ไปด้วยวิธีแบบนี้อีก มันไม่ศิวิไลซ์เอาเสียเหลือ (ถ้าการุณยฆาตมีระบบที่ดีพอและเป็นสวัสดิการรัฐก็คงจะดีไม่น้อย) ถึงที่สุด ผมเห็นว่าการคิดจะการุณยฆาตนั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่รัฐควรจะจัดหาบริการให้ และคนที่ตัดสินใจเช่นนั้นก็ควรจะอยู่ในเงื่อนไขที่ “อยาก (prefer)” ที่จะตายมากกว่าอยู่ ผมใส่ตัวหนาไว้เพราะเดี๋ยวมีคนเอาไปจิ้มใส่กรณีลุงนวมทอง ผู้พิพากษาคณากร หรือเพนกวินกับรุ้งที่อดข้าวประท้วงและสุ่มเสี่ยงชีวิตตัวเองอยู่ตอนนี้ เพราะคนเหล่านี้เขาไม่ได้อยากจะ “ตาย” เขาใช้ชีวิตตนเองต่อสู้กับอำนาจแย่ๆ ที่ไม่ควรจะมีอยู่แต่แรก เขายินดีสละชีวิตเพื่อการต่อสู้กับความเลวร้ายที่ไม่พึงมีอยู่ มันคนละเรื่องกับการที่พวกเขา “อยากจะตายมากกว่าอยู่” นะครับ
กลับมาสู่ข่าวกิโยตินจริงๆ ละ ข่าวนี้นำมาซึ่งกระแสหลายอย่างในสังคม (ประเด็นในย่อหน้าก่อนก็เป็นจุดหนึ่งทีเกิดเป็นกระแสพูดคุยขึ้นมา) โดยเฉพาะกระแสความเป็น “พุทธแท้-พุทธเทียม” ต่างๆ ซึ่งว่ากันตรงๆ ก็เป็นเรื่องดราม่ากันมาโดยตลอด ทุกครั้งที่เราพบเห็นข่าวพระสงฆ์กระทำการผิดศีลต่างๆ เช่น กระทำอนาจารต่อฆราวาสต่างๆ ก็จะถูกชี้หน้าโดยสังคมในทันทีว่า “พวกนี้ไม่ใช่พระสงฑ์จริงๆ ไม่ใช่พุทธโดยแท้จริง” หรือเวลาที่มีประเด็นเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายขึ้นมา ก็จะถูกตราหน้าในฐานะ “พุทธปลอม” ต่างๆ มากมาย
ว่าอีกแบบก็คือ ดราม่าความ “พุทธแท้จริง” ของพุทโธเลี่ยนไทยนั้นไม่ใช่เรื่องอะไรที่ใหม่เลย[1] ครั้งกิโยตินนี้ก็เช่นกันวาระแบบเดิมๆ หวนกลับมาอีกครั้ง หากสรุปรวบยอดกับประเด็นความแท้ความเทียมนี้เลยก็คือ เราควรจะต้องหยุดการ “ไม่นับส่วนซึ่งผิดวิถีผิดรีตปฏิบัติกับเรื่องเล่าหลักว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรื่องเล่านั้น” ไปได้แล้ว เพราะสุดท้ายมันจะทำให้ตัวเรื่องเล่าหลักนั้นๆ แช่นิ่งอยู่กับที่ ไม่ต้องปรับตัวไม่ต้องพัฒนา และหนักข้อขึ้นไปอีก มันจะกลายเป็นสิ่งซึ่ง “ตายลงในตัวมันเอง” เพราะมันไม่สามารถพัฒนาได้ ว่าง่ายๆ ก็คือ เลิกทำให้พุทธเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์เกินจริงไร้สิ่งปนเปื้อนได้แล้ว ยอทรับได้สักทีว่าพุทธนั้นมันคือชุมชนหนึ่งซึ่งรวมตัวกันผ่านเรื่องเล่าหลักชุดหนึ่งซึ่งตั้งต้นโดยตถาคต และนำมาต่อยอดกันโดยหลายสำนัก และชุมชนเหล่านี้ “ไม่ว่าจะชุมชนใด” ย่อมมีทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลว สิ่งที่สอดคล้องและสิ่งที่ขัดแย้ง ผสมรวมกันอยู่ทั้งสิ้น
การแบ่งขาดความเป็นพุทธแท้ๆ ออกจากอะไรก็ตาม
ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว “เป็นส่วนหนึ่ง” ของมันแต่เรามองว่ามัน
สกปรกปนเปื้อนเกินกว่าจะอยากนับร่วมด้วยหรือมันไม่สอดคล้องกับเรื่องเล่าหลัก
แล้วจัดการด้วยการ “ไม่นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่า” เลยเอาเสียดื้อๆ ถึงที่สุดแล้ว มันทำให้เรื่องเล่าหลัก (ในที่นี้คือ “พุทธ”) ลอยเท้งเต้งเหนือปัญหาต่อไปได้ ไม่ต้องปรับ ต้องจูน ต้องแก้ไขพัฒนาตัวใดๆ ได้ เพราะมายุติที่การบอกว่า “โอ้ยยยย พวกนั้นมันไม่ใช่พุทธแท้ ถ้าพุทธแท้ไม่ทำอะไรแบบนั้นหรอก” แล้วก็จบ โบ้ยทุกสิ่งให้เป็นเรื่องของ “ปัจเจก” ไปเสีย ไม่แตะต้องกับตัวระบบโครงสร้างของเรื่องเล่านั้นเองว่ามันมีปัญหาในตัวเองไหม อะไรที่มันทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา ฯลฯ
สำหรับผมแล้ว มันเหมือนกับการที่รัฐบาลพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งขึ้นมา (ไม่ว่าจะด้วยกลโกงทั้งในและนอกระบบอย่างไรก็ตามที) แล้วไปบอกว่า พวกนี้ไม่ใช่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ผู้ชนะในการเลือกตั้งนั่นแหละครับ การให้อรรถาธิบายแบบนี้ อาจจะง่ายกับจิตใจเราเองที่ไม่ต้องไปสังฆกรรมอะไรกับพวกที่เราคิดว่าน่ารังเกียจหรือไม่สอดคล้องกับคุณค่าหลักที่เราเชื่อถือแล้ว แต่พร้อมๆ กันไป มันก็ตัดทอนทำให้ปัญหาที่ควรจะได้คิดขบหาทางแก้มันไม่ต้องถูกทำอะไรด้วย เพราะถ้าจบอยู่แค่ว่าพรรคเวรนี้เป็นประชาธิปไตยปลอม คนที่เค้าเป็นประชาธิปไตยจริงๆ แท้ๆ ต้องไม่ทำแบบนี้ ก็คงต้องรออัศวินขี่ม้าขาวกันไปเรื่อยๆ แต่หากเรามองว่าเค้าชนะจริงๆ และมันมีปัญหาในระบบกลไกประชาธิปไตยบ้านเราจริงๆ เค้าคือส่วนหนึ่งของโครงสร้างนี้จริงๆ เราก็จะไปต่อได้ว่า ส่วนไหนของระบบเล่าที่มันนำพาเอาคนแบบนี้ขึ้นมาได้ กลไกส่วนใดบ้าง ทางการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เครือข่ายบอุปถัมภ์ ฯลฯ แบบไหน ส่วนไหนที่ต้องเข้าไปปรับปรุง เพื่อให้ระบอบ+อุดมการณ์+คุณค่าประชาธิปไตยในบ้านเรามันดีขึ้นได้ มันไม่ต้องมาเจอกับอะไรแบบนี้อีก ทำนองเดียวกันกับเรื่องพุทธนั่นแหละครับ ถ้าเอาแต่ชี้หน้าว่านั่นจริงนี่ปลอม แล้วจบอยู่แค่นั้น บางทีหุบปากอยู่เฉยๆ ยังจะดีกว่า เพราะการพูดแต่เพียงเท่านั้นสร้างปัญหามากกว่ามาก ด้วยเหตุผลดังว่ามาแล้ว
แต่ทั้งมวลนี้เคยเขียนละเอียดๆ ไปหลายทีแล้ว วันนี้เลยอยากพูดถึงเรื่องใหม่บ้างว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว
ความพุทธแท้นี้มันมาอย่างไร ทำไมสังคมไทยจึงเสพติดมันนัก
และถึงที่สุดแล้วมันนำมาซึ่งรากร่วมกับปัญหาอื่นๆ ที่เปรยไว้แต่ต้นอย่างไร?
อธิบายแบบรวบรัดย่นย่อเลยก็คือ ความเป็น “พุทธแท้” ที่เราคลั่งไคล้กันหนักหนานี้ จริงๆ แล้วมันเป็น “เรื่องเล่าที่เพิ่งสร้าง” มากทีเดียว หากนับจุดเริ่มต้นที่ยอมรับโดยทั่วกันในหมู่นักวิชาการไทยศึกษาก็คือ ย้อนไปเพียงแค่สมัยเจ้าฟ้ามงกุฏ (ต่อมาคือ ร.4) ได้ตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นมา และพยายามปัดเอาอิทธิพลของโครงสร้างเรื่องเล่าแบบพราหทณ์-ฮินดูออกไป รวมไปถึงอิทธิพลความเชื่อผีสางเทวดาท้องถิ่นด้วย ว่าง่ายๆ ก็คือ การทำให้พุทธมันบริสุทธิ์ขึ้นในสายตาของเจ้าฟ้ามงกุฏ (the purification of Buddhism) และที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ การ “เปลี่ยนโครงสร้างวิธีการเล่าเรื่องของพุทธศาสนา” ให้อยู่บนรูปแบบที่มีความเป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ตัดเรื่องปาฏิหารย์พิศดารต่างๆ ออกไปให้มากที่สุดเท่าที่ฐานการรับรู้ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับจักรวาลวิทยา (Cognitive base of the Cosmology) ของชนชั้นนำไทยในยุคนั้นจะทำได้ ซึ่งแน่นอนว่าหากจับมาวางกับจักรวาลวิทยาในปัจจุบันที่อยู่บนฐานการรับรู้คนละชุดแล้วนั้น หลายจุดที่สมัยนั้นมองว่าเป็นเหตุเป็นผลก็อาจจะเป็นเรื่องเหลวไหลในยุคนี้ได้ อย่างไรก็ดีพุทธศาสนาก่อนหน้าการปฏิรูปวิธีการเล่าเรื่องของพุทธศาสนาที่ว่านี้เป็นอย่างไร?
สยามหรือไทยนั้น มีลักษณะการนับถือศาสนาที่ค่อนข้างจะกระจัดกระจายมากครับ ว่าง่ายๆ ก็คือ ศาสนาไม่ได้เป็นสถาบัน (institutionalized) มากนัก และที่สำคัญไม่ได้ถูกรวมศูนย์ (centralized) ด้วย มีลักษณะที่เป็นสำนักๆ กระจายตัวกันไปในแต่ละท้องที่ โดยแต่ละสำนักนักก็วางอยู่บนโครงสร้างของตัวแสดงที่เป็นมนุษย์ (Human agent) มากๆ ด้วย ว่าง่ายๆ ก็คือ มีลักษณะเป็นการเรียนคำสอนและการตีความพุทธแบบศิษย์ก้นกุฏิมากกว่ามีคำอธิบายค่ากลางเป็นแก่นอยู่ก่อนนั่นเอง ฉะนั้นอย่างมากที่สุดโครงสร้างของความเชื่อทางศาสนาก็จะมีลักษณะเป็นเครือข่ายของตัวแสดงที่เป็นมนุษย์ (human agency network) นั่นเอง[2] ว่าอีกแบบก็คือ มันไม่มีความเป็นของแท้ของเทียมอะไรให้เคลมได้แต่ต้น เพิ่งจะมาเกิดความพยายามจะรวมศูนย์และสร้างค่ากลาง ทำให้เป็นสถาบันขึ้นนี่ก็ช่วงเจ้าฟ้ามงกุฏเป็นต้นมานี้เอง และก็ล้มลุกคลุกคลาน ค่อยๆ พัฒนาตัวมาเรื่อยๆ
ไม่เพียงแค่นั้น ผมควรจะหมายเหตุไว้ด้วยว่าเงื่อนไขสำคัญหลายประการที่ทำให้พุทธแท้ที่เพิ่งสร้างนี้มันสำเร็จหรือเกิดขึ้นได้นั้นก็ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างอยู่ ไม่ได้ลอยเท้งเต้งอย่างไร้บริบทหรือเป็นผลงานของเจ้าฟ้ามงกุฏทั้งหมดไป หลักๆ เลยก็คือ เงื่อนไขการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ (Modernity) ของไทยนั้นต่างจากในโลกตะวันตกค่อนข้างมาก ในฝั่งตะวันตก (ที่ต่อมากลายเป็นค่ากลางสามัญของโลก หลังยุคอาณานิคม, สงครามโลกสองครั้ง และสงครามเย็น) นั้น เส้นทางของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่มาจากการ “ค้นพบและก่อรูปขององค์ความรู้ชุดใหม่” ที่เข้ามาปะทะกับคำสอนและอำนาจชุดเดิม จะเรียกว่าเป็นสงครามของเรื่องเล่า 2 ชุดก็ว่าได้ และฝั่งความรู้ชุดใหม่ค่อยๆ มีชัยและได้รับความนิยมด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และวัตถุอีกมากมาย (อันนี้เล่าแบบลดทอนรายละเอียดมากๆ นะครับ)
ตรงกันข้าม กรณีของไทยนั้นไม่ได้เป็นการค้นพบและก่อรูปใดๆ
แต่เป็นการนำเข้าและคัดเลือกที่จะนำเข้าด้วย ทั้งผู้นำเข้านั้นหลักๆ
แล้วก็คือกลุ่มอำนาจดั้งเดิม (อย่างเจ้าฟ้ามงกุฏเองและราชสำนัก)
ที่เมื่อนำเข้ามาก็ไม่ได้นำมาแบบก่อให้เกิดการปะทะกับอำนาจของตน แต่เลือกจะหลอมรวม กลายร่างใหม่ให้เป็นหนึ่งเดียวกันแทน เพราะเช่นนั้นผมถึงกล่าวไว้ก่อนหน้าว่าส่วนที่สำคัญที่สุดเลยของการปฏิรูปศาสนาของเจ้าฟ้ามงกุฏนั้นอยู่ที่ “การเปลี่ยนโครงสร้างวิธีการเล่าเรื่องพุทธใหม่” อาจจะมากเสียยิ่งกว่าการทำให้พุทธบริสุทธิ์ขึ้นด้วย (ซึ่งมักจะเป็นประเด็นใหญ่ที่คนพูดถึงกัน) และหนักข้อขึ้นไปอีกก็คือ ในโลกตะวันตกนั้นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้เรื่องเล่าใหม่มีชัยขึ้นมาได้คือ การพัฒนาการของตัว “ฉากของการเล่าเรื่อง” (setting) ที่เป็นเงื่อนไขทางวัตถุที่สำคัญ กล่าวคือ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์นำมาซึ่ง Scientific turn (จุดเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์) และ Scientistic Material (ความสนใจต่อการค้นหาสสารหรือวัตถุจากองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น) ขึ้น (ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลในยุครู้แจ้งและปฏิวัติอุตสาหกรรมต่อไป) หรือก็คือโลกอันเป็นฉากของการเล่าเรื่องนั้นมันพัฒนาตัวเองขึ้นมาพร้อมๆ กับเรื่องเล่าชุดใหม่ มันเกิดจุดเปลี่ยนทางวัตถุในสังคมที่เอื้อไปกับพัฒนาการของเรื่องเล่าชุดใหม่นั่นเองครับ
ในทางตรงกันข้าม กรณีของไทยนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เป็นผู้นำเข้า เป็นผู้คัดเลือก เป็นผู้หลอมรวม (แทนที่จะ ค้นพบ ปะทะ และต่อสู้กับเรื่องเล่าชุดเดิม) แล้ว ห้วงเวลาที่เจ้าฟ้ามงกุฏสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ยังเป็นช่วงที่กล่าวได้ชัดเจนว่าสังคมสยามนั้นยังไม่ได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนทางวัตถุเลย ว่าง่ายๆ ก็คือ เจ้าฟ้ามงกุฏประสบความสำเร็จในการ “ยึดหัวหาดของการก่อโครงสร้างเรื่องเล่าแบบใหม่ให้กับเรื่องเล่าชุดเดิมก่อนที่จะมีการก่อรูปทางวัตถุในสังคมที่สัมพันธ์กับเรื่องเล่าขึ้น” เงื่อนไขทางวัตถุที่ตามมาในสังคมสยาม-ไทย จึงกลายเป็นเงื่อนไขทางวัตถุที่เกิดขึ้นหลังจากเรื่องเล่าใหม่นี้กลายเป็นศูนย์กลางและกลายเป็นสถาบันในไทยแล้วพอสมควร
ว่าง่ายๆ ก็คือ เงื่อนไขทางวัตถุของสังคมไทยนั้น มันเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” นี้ไปเสีย ซึ่งสภาพดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการและเป็นระบบมากขึ้นในช่วงสงครามเย็น สงฆ์ส่วนกลางได้รับการสนับสนุนจากรัฐ (และสหรัฐอเมริกา) ในการกระจายตัวออกไป และแพร่คำสอนมากขึ้นเรื่อยๆ[3] และการปฏิรูปคำสอนของพุทธให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ตัดเรื่องปาฏิหารย์ออกไปมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเรื่องเล่าแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มากยิ่งขึ้นไปอีก ก็มาในยุคของพุทธทาสและ ป.ปยุตโต ซึ่งก็ได้กลายไปเป็นกระแสความฮิตติดลมบนของพุทธศาสนาในฐานะศาสนาอันเป็นวิทยาศาสตร์ไปเสีย พุทธแท้ที่เพิ่งสร้าง v.2 โดยพุทธทาสและ ป.ปยุตโตนี้เอง ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นนำใหม่ของไทย (ที่ถือว่าหัวก้าวหน้าในหมู่คนหัวโบราณ) ยุคนั้นมาก
หนึ่งในหัวหอกสำคัญที่มีส่วนในการเผยแพร่และแทรกซึมคติวิธีคิดของพุทธแท้ v.2 นี้มาสู่สังคมไทยนั้นก็คือ นพ.ประเวศ วะสี ที่นอกจากจะศรัทธาชื่นชม และสนิทสนมกับพุทธทาสเป็นอย่างมากแล้ว ในปัจจุบันก็ยังนั่งเป็นประธานกรรมการกิตติมาศักดิ์ของมูลนิธิพุทธทาสอีกด้วย (ร่วมไปกับองค์กร มูลนิธิที่ทรงอำนาจในไทยมากมาย โดยเฉพาะเครือข่ายตระกูล ส. ของเขา ตั้งแต่ เครือข่ายสามพราน, สสส., สปสช., ฯลฯ) เขามีส่วนอย่างมากในการยึดหัวหาดการเล่าเรื่องพุทธแท้ v.2 นี้ในสังคมไทย ผ่านองค์กรในมือที่ให้ความสนับสนุนเขา และกระทั่งเรียกได้ว่ามีอิทธิพลกับภาคประชาสังคมไทยเป็นอย่างมากนั่นเองครับ เหล่านี้คือการเล่าอย่างย่นย่อ รวบรัด และลดทอนมากพอสมควร แต่จำเป็นด้วยเนื้อที่ของบทความที่ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว
เอาเป็นว่า เราพูดได้โดยชัดเจนครับว่า พุทธแท้ที่เคลมๆ อยู่นี้
มันเพิ่งสร้างมาไม่นานนี้เอง และมันเป็น
โครงการทางการเมือง (Political Project) ของชนชั้นนำไทยด้วย
และผมคิดว่าอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผลงาน เป็นเรื่องเล่าที่ชนชั้นนำไทยประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะมันได้สร้าง “รัฐสลิ่ม” ขึ้นมา คำสอนของพุทธแท้ v.2 นี้แม้จะมีมากมายหลากหลายแล้ว แต่หากเรานั่งเจาะหาแก่นแกนของมันจริงๆ แล้ว (อย่างน้อยหากอิงตามประเวศ วะสีในฐานะหัวหอกหลักคนหนึ่งที่กระจายมันลงมาสู่สังคมไทย) ก็คือ เรื่อง “Selflessness หรือความไม่เห็นแก่ตัว” (อันนี้สรุปแบบลดทอนมากๆ นะครับ จริงๆ แล้วมันมีระบบแนวคิดและคำอธิบายเบื้องหลังซ้อนอยู่ไม่น้อย แต่พื้นที่ผมมีจำกัด)
เช่นนี้เอง เราจึงเห็นปฏิกิริยาอันรุนแรงของสังคมไทยต่อการคอร์รัปชั่น การโกงกิน ถึงขนาดละทิ้งระบอบประชาธิปไตยไปก็ได้ เรียกทหารออกมายึดอำนาจก็ได้ ตราบเท่าที่จัดการ “คนเห็นแก่ตัวในอำนาจ” เหล่านี้ไปได้ ผู้ปกครองไม่เก่งไม่เป็นไร ขอแค่เป็นคนดี (ซึ่งคนดีวัดอย่างไร คือ ไม่เห็นแก่ตัว ทำเพื่อชาติ อย่างน้อยในทางเจตนา) แต่หากว่าผู้นำไม่ต้องเก่งก็ได้ บ้านเมืองไม่พัฒนา เราไม่เจริญทันโลก เราจะทำอย่างไรดีเล่า? ไม่เป็นไร เราก็อยู่แบบพอเพียงของเราสิ อย่าไปคิดตามรอยฝรั่ง ความคิดในการพัฒนาทางวัตถุนั้นเป็นการชี้นำไปสู่ทางชิบหายพวกฝรั่งมันที่ทำให้เราหลงผิด พวกนั้นคิดแต่จะพัฒนาทางวัตถุโดยหลงลืมการพัฒนาทางจัตวิญญาณ จริงๆ แล้วบ้านเราสามารถพัฒนาทางจิตวิญญาณจนเต็มที่ได้ หากเรามีความพอเพียงในทางวัตถุ เพราะแต่เดิมๆ มาเราก็อยู่กับทรัพยากรที่เหลือล้นอยู่แล้ว ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ที่ตอนนี้มันรู้สึกไม่พอก็แค่เพราะวิธีคิดแบบบริโภคนิยมของฝรั่งชักจูงเราไปผิดทาง (และสภาพนี้เองก็ทำให้พวกฝรั่งเองย่ำแย่อยู่ด้วย) ทั้งมวลนี้ล้วนมีประเวศ วะสีเป็นหัวหอกสำคัญในการฝังรากของเรื่องเล่าในสังคมไทยทั้งสิ้น
ความไม่เห็นแก่ตัว จึงยืนอยู่ได้บนการพอเพียงและช่วยเหลือตนเองของปัจเจกแต่ละคน เป็นขาสองข้างที่ต้องมีคู่กันไปจึงจะสำเร็จลงได้ แต่เพราะการที่ปัจเจกต้องวางตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนี้เองนี่แหละครับที่ทำให้รัฐสลิ่มที่กลายเป็นผลลัพธ์จากพุทธแท้ที่เพิ่งสร้างนี้ ตัดขาดตนเองจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกคนต้องโทษตัวเองเมื่อความซวยมาเยือน เราทำไม่ดีพอ พรุ่งนี้มาพยายามใหม่ หรือเห็นนายทุนใหญ่ใจบุญหน่อยมีเงินแสนล้าน บริจาคการกุศลเอาหน้าสักสิบยี่สิบล้านเราก็หันไปเชิดชูบูชากัน เป็นต้น เพราะเราอยู่ในระบบตรรกะความคิดที่ว่า “พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำอะไรแบบนี้ก็ได้ แต่ก็ยังอุตส่าห์ทำให้ ช่างน่านับถือเหลือเกิน”
ลักษณะวิธีคิดนี้เองจะเห็นได้ว่าตรรกะวิธีคิดแบบ
พุทธแท้ที่เพิ่งสร้างนี้มันเข้ากันได้ดีเหลือเกินกับตรรกะของทุนนิยมเสรี
ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ในยุคสงครามเย็นมันจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับแนวคิดคอมมิวนิสม์ด้วย
การตัดขาดความรับผิดชอบของรัฐบาลและโครงสร้าง ออกจากปัญหาที่สังคมต้องเผชิญ และปล่อยให้เป็นเรื่องของตนเป็นที่พึ่งแห่งตน และกฎแห่งกรรมแต่ชาติปางก่อนต่างๆ นี้เองที่ท้ายที่สุดแล้ว ระบบอุปถัมภ์ ระบบเส้นสายนั้นกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา กระทั่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ไป เพราะมันทั้งจำเป็นต่อความอยู่รอดของตนเอง และระบบก็ชื่นชอบด้วยเพราะมันเอื้อให้ระบบโครงสร้างแบบนี้คงอยู่ต่อไปได้ แน่นอนว่าเมื่อใช้ระบบอุปถัมภ์แบบนี้แล้วมนตราของความ “ไม่เห็นแก่ตัว” ก็จะคลายๆ ไป ถึงเวลานั้นก็ค่อยไปหาทาง “แทนคุณแผ่นดิน” ด้วยวิธีการอื่นแทนเพื่อได้ค่าความไม่เห็นแก่ตัวคืนมา วนๆ เป็นลูปไป
ฉะนั้นแล้วสำหรับผม ผมจึงไม่แปลกใจหรือกระทั่งโกรธด้วยซ้ำ (กล่าวตามตรง) ที่ดาราตลกจะพยายามหาทางทุกอย่าง ใช้เส้นสายทุกเส้นที่เขาพอจะมีเพื่อจะทำให้คนที่เขารักมีโอกาสรอดมากที่สุด ผมไม่ได้บอกว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ในทางหลักการผมร่วมยืนยันนอนยันตะแคงยันด้วยว่ามันผิด แต่อันนี้ถามกันเองจากใจ ภายใต้ระบบโครงสร้างแบบนี้และเราอยู่ในสถานะที่พอจะมีหนทางในการทำให้คนที่เรารักมีโอกาสรอดมากขึ้นแม้เพียงสักนิดนั้น “ในทางปฏิบัติ” เราจะไม่ทำหรือ? หรืออย่างน้อยที่สุดไม่แม้แต่จะคิดหรือ? อันนี้ผมพูดในแง่ de facto (ในทางความเป็นจริง) ไม่ใช่ de jure (ในทางกฎหมาย) หรือในทางหลักการ (de principe) นะครับ พูดอย่างถึงที่สุด แม้โดยส่วนตัวผมจะไม่เห็นด้วยใดๆ กับการกระทำของนักแสดงตลกคนที่ว่าในการใช้เส้นสายอะไรนั้น แต่ในระดับพื้นฐานที่สุดเลยคือ “มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้” (comprehensible) เพราะเขาเอง และพวกเราทั้งหมดนั้นล้วนแต่เป็นเหยื่อในโครงสร้างของรัฐสลิ่มนี้
รัฐสลิ่ม อันเป็นผลมาจากเรื่องเล่าของพุทธแท้ที่เพิ่งสร้างนี้
มันทำให้รัฐเองเคยชินกับการลอยตัวอยู่เหนือปัญหา
ไม่ต้องทำอะไร เพราะประชาชนมีหน้าที่ดูแลตนเอง
และในระดับหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าภายใต้วัฒนธรรมการดูแลตัวเองเพื่อความอยู่รอดนี้ของประชาชน ในช่วงที่เกิดวิกฤตขึ้นแต่ไม่ได้รุนแรงนักส่วนหนึ่งและประชาชนยังพอมีต้นทุนส่วนตัวในการต้านรับภัยได้บ้าง “ก็พอจะถูไถดูแลตัวเองให้รอดพ้นไปได้บ้าง” (แต่แน่นอนว่ามีคนที่เสียหายมากมายอยู่ด้วยในขั้นตอนที่ว่า) อย่างในช่วงการแพร่กระจายของโควิดในสองรอบแรก รัฐบาลที่ลอยเท้งเต้งนั้นก็พาลหลงผิดคิดว่านี่คือความสำเร็จของตน เข้าใจไปเสียว่าการกล้ำกลืนดูแลตนเองของประชาชนจนผ่านพ้นมาได้ คือความครบถ้วนสมบูรณ์แล้วของระบบโครงสร้างที่ตัวเองวางไว้ ไม่เคยคิดจะหาทางทำอะไรไปต่อ เพราะที่มีอยู่มันเจ๋งอยู่แล้ว แต่การระบาดระลอกนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไอ้ “อัตตา หิ อัตตโนนาโถ” หรือตนนั้นแลคือที่พึ่งแห่งตนนั้น มันมีขีดจำกัดของมันอยู่ ถึงที่สุดแล้วมันต้องการการจัดการเชิงระบบ เชิงโครงสร้าง
รัฐสลิ่มที่เที่ยวไล่คนเห็นต่างออกไปจากประเทศ เหมือนพุทโธเลี่ยนคลั่งยุติการนับพุทธไม่แท้จากสารบบนั้น มันควรจะเลิกได้แล้ว เพราะความวินาศสันตะโรในตอนนี้ เป็นโลงศพที่ชัดเจนยิ่งกว่าอะไรว่า โครงสร้างแบบรัฐสลิ่มนั้น มันไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้วในโลกยุคนี้ โลกยุคที่วิกฤตการณ์ทางโครงสร้างที่เกินกว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจะเยียวยาได้นั้นจะคอยมาเยือนอยู่เนืองๆ
[1] ผมเองเคยเขียนถึงประเด็นนี้ไปในหลายวาระแล้ว จึงจะพยายามไม่พูดซ้ำมาก หากสนใจลองดูเพิ่มเติมได้ครับ (จริงๆ ยังมีพูดถึงประปรายในชิ้นอื่นๆ อีก แต่ 2 ชิ้นนี้คือหลักๆ) [1] ความสูงส่งกว่าทางจริยธรรม: จากวีแกนกร่างยันพุทโธเลี่ยนบ้าอำนาจ https://thematter.co/thinkers/moral-high-ground/57768 , และ [2] นอเทรอดาม เพลิงไหม้ และตรรกะบาปบุญ-กรรมสนองของพุทโธเลี่ยน https://thematter.co/thinkers/notre-dame-and-buddhism/
[2] โปรดดู Tiyavanich Kamala (1997). Forest Recollections: Wandering Monks in Twentieth-Century Thailand. University of Hawaii Press.
[3] โปรดดู Eugene Ford (2017). Cold War Monks: Buddhism and American’s Secret Strategy in Southeast Asia. Yale University Press.