‘ทมยันตี’ คือชื่อของนักเขียนที่ทรงอิทธิพลอย่างสูงกับคนรุ่นวัยสี่สิบปีปลายๆ จนถึงห้าสิบปีขึ้นไป ซึ่งก็คือคนเจนเอ็กซ์ (แน่นอนว่าเลยไปถึงบูมเมอร์ด้วย แต่ในที่นี้เราจะไม่พูดถึงบูมเมอร์)
คนในยุคนั้น ไม่มีใครจดจำคืนวันที่ถนนโล่งว่าง เนื่องจากโทรทัศน์ฉายตอนจบของละคร ‘คู่กรรม’ ฉบับที่พี่เบิร์ดเล่นคู่กับน้องกวางไม่ได้ ถ้าในฐานะคนทั่วไปที่เสพความบันเทิง ‘ทมยันตี’ ได้สร้างเรื่องให้คน ‘หนี’ ออกไปจากความจริงหลายต่อหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องความรักของหญิงไทยกับทหารญี่ปุ่น ไปจนถึงการสร้างเจ้าหญิงเจ้าชายในแว่นแคว้นที่ไม่มีจริง เรื่องการเดินทางไปในต่างประเทศ การแก้แค้นของผู้หญิงต่อผู้ชาย และอื่นๆ อีกมากมาย
ส่วนสำหรับคนที่ชอบเรื่องภาษา มีอยู่ไม่น้อยที่ชื่นชมภาษาของทมยันตี และเห็นเธอเป็น ‘ครู’ ที่สร้างงานโดดเด่นเอาไว้ตั้งแต่อายุยังน้อย ถือเป็นบุคลากรน่าทึ่งในทางการเขียนอย่างยิ่ง
แต่แล้วเมื่อ ‘ทมยันตี’ จากโลกนี้ไป คนเจนเอ็กซ์จำนวนมากก็เกิดอาการ ‘เลิ่กลั่ก’ ขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อพบว่าแฮชแท็ก #ทมยันตี ในทวิตเตอร์นั้น มีแต่ข้อความที่คนเจนเอ็กซ์ผู้เป็นแฟนของทมยันตีคาดไม่ถึง
คำถามก็คือ อาการ ‘เลิ่กลั่ก’ ที่ว่านี้เกิดขึ้นจาก ‘ความไม่ลงรอยทางประวัติศาสตร์’ อะไร?
ย้อนกลับไปในยุค 2520s ยุคนั้นถือได้ว่าเป็นยุคที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ครองอำนาจนานยาว ที่จริงแล้ว พล.อ.เปรม อยู่ในอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีเพียง 8 ปี คือจากปี พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2531 ซึ่งสำหรับคนสมัยนี้อาจบอกว่าไม่เห็นนานเลย โดยเฉพาะถ้านำมาเทียบกับยุคของคุณตู่ ผู้อยู่ในตำแหน่งมานานจนเกือบจะทำลายสถิติแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะจากไปไหน
แต่สำหรับคนเจนเอ็กซ์ ยุค ‘เปรมาธิปไตย’ นั้น เป็นยุคที่ยาวนานมากจนรู้สึกได้เลยว่าเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าถามว่า มันเป็นยุคที่เลวร้ายไม่น่าอยู่มากไหม คำตอบของคนเจนเอ็กซ์หลายคนอาจแตกต่างไปจากคำตอบของคนในปัจจุบัน เพราะคนเจนเอ็กซ์ในตอนนั้น ไม่ค่อยจะ ‘เดือดเนื้อร้อนใจ’ กับการเมืองของยุคสมัยมากเท่าไหร่
พูดอีกแบบก็คือ คนเจนเอ็กซ์ส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นที่ ‘ถูกปลูกฝัง’ ให้มองเห็นการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว นักการเมืองเป็นคนเลว น่าชิงชังรังเกียจ การเมืองไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เป็นเรื่องของ ‘สมบัติผลัดกันชม’ ในหมู่นักการเมืองและคนชั้นสูงที่จะใช้สอยนักการเมืองเหล่านี้ไปตามใจชอบ
แล้วใครปลูกฝังคนเจนเอ็กซ์?
ถ้านึกย้อนกลับไปในทศวรรษ 2520s ภาพที่อยู่ในหัวของหลายคนอาจคือภาพแห่งความ ‘หลาบ’ หรือความขยาดกลัวและจำยอมของขบวนการทางสังคม ภาพนี้เกิดขึ้นเพราะความพ่ายแพ้ของขบวนการนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 จนบางส่วนต้องแตกพ่ายหนีไปอยู่ในป่า แต่อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าป่า (หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ก็ทำให้ผิดหวัง สุดท้ายหลายคนต้องกลับมาซบอกนโยบาย 66/23 ซึ่งก็คือนโยบายของ พล.อ.เปรม ที่เกิดข้ึนเมื่อแรกเข้ารับตำแหน่งในปี พ.ศ.2523 เป็นนโยบายที่พยายามจะดึงคนเหล่านี้กลับออกจากป่าด้วยความนุ่มนวลอ่อนโยนประดุจพ่ออ้าแขนต้อนรับลูกๆ กลับบ้าน และเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง
ทว่า – ก็ต้องบอกด้วยว่า, ความสำเร็จของนโยบาย 66/23 ไม่ใช่แค่การดึงคนเหล่านี้กลับมาในเมืองเท่านั้น มันยังเป็นการดึงคนเหล่านี้กลับมาสู่ ‘ระบบอำนาจ’ แบบหนึ่งอีกด้วย
ระบบอำนาจแบบนี้ คือระบบอำนาจที่ใช้การได้ในยุคนั้น เพราะเหตุปัจจัยทั้งหลายเสริมส่ง ในตอนนั้น ระบบอำนาจที่ว่าไม่ใช่ระบบอำนาจเก่าๆ เป็นไดโนเสาร์ล้าสมัย มันเป็นระบบอำนาจที่ทันกับยุคสมัยพอตัว แต่กระนั้นก็เป็นระบบอำนาจที่สืบเนื่องและถ่ายทอดมาจากระบบอำนาจเดิมๆ อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนโฉมหน้าให้ดูน่ารักสมสมัยมากขึ้นเท่านั้นเอง ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตด้วยสายตาของปัจจุบัน ก็อาจพูดได้ว่าช่วงเวลานั้นนั่นแหละ คือช่วงเวลาแห่ง ‘กำเนิด’ ของ ‘ระบบอำนาจเก่า’ ใน ‘ยุคใหม่’ ที่ส่งผ่านพลวัตของมันมาจนถึงปัจจุบัน
คนเจนเอ็กซ์มาเติบโตสะพรั่งบานจริงๆ ก็ยุค 2530s คือเริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาว เริ่มเรียนจบ เริ่มทำงาน แต่เราจะพบว่าพวกเขา ‘ถูกบ่ม’ จนสำนึกทางการเมืองของคนรุ่นนี้ส่วนใหญ่ออกไปทาง ‘เชื่อง’ และ ‘ไว้ใจได้’ ว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อระบบอำนาจเก่าแล้ว
พูดได้เลยว่า คนหนุ่มสาวรุ่นเอ็กซ์ไม่ใช่คนที่ลุกขึ้นมาขบถอะไร ถ้ายังจำกันได้ คนรุ่นนั้นจำนวนมากเห็นว่าเป้าหมายในชีวิตคือการมีชีวิตแบบ ‘ยัปปี้’ ที่บังเอิญเป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องพอดีกับการ ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ของ พล.อ.ชาติชาย ซึ่งไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า แท้จริงแล้ว คำว่า ‘สนามรบ’ ที่ว่า มันคือการรบระหว่างอะไรกับอะไร
หลัง 6 ตุลาคม 2519 หลังผ่านกระบวนการกล่อมเกลามาหนึ่งทศวรรษเต็มๆ สุดท้ายทุกคนก็วางอาวุธลงอย่างเต็มตัว ปี พ.ศ.2531 อันเป็นปีเริ่มต้นของทศวรรษ 2530s คือปีสุดท้ายในวาระแห่งการเป็นนายกรัฐมนตรีอันยาวนานถึง 8 ปีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แล้วตำแหน่งนี้ก็จับพลัดจับผลูไปเป็นของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
มันคือยุคแห่งการเริ่มต้นของยัปปี้ด้วย
ยัปปี้ต้องมี 5 C คือ Cash, Credit Card, Car, Condo และ Condom ประกอบกับเศรษฐกิจโลกผลักดันด้วย คำประกาศ ‘โชติช่วงชัชวาลย์’ ที่หมายถึงการขยายตัวทางอุตสาหกรรมที่ตกทอดมาจาก พล.อ.เปรม จึงมาเฟื่องฟูเป็นพลุแตกในยุค พล.อ.ชาติชาย หากยังจำกันได้ ยุคสมัยนั้นเต็มไปด้วยแหล่งเริงรมย์ คลับบาร์ ชีวิตกลางคืน ราคาที่ดินที่พุ่งทะยาน เงินที่หมุนเวียนแคล่วคล่อง
ที่จริง ปี 2531 เป็นปีที่มีสงคราม ‘ร่มเกล้า’ ซึ่งพูดแบบถนอมน้ำใจได้ว่าทหารไทยไม่ได้รบชนะ มันคือการรบส่งท้าย เพื่อเริ่มต้นนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้เราเริ่มได้ยินคำว่า ‘สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ’ และคำอื่นๆ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก พร้อมกับการผลักประเทศให้เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมอีก
ปี พ.ศ.2531 จึงเป็นปีสำคัญมากปีหนึ่งของไทย เพราะมันคือปีแห่งการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ถ้าในแง่ผู้นำ ก็เปลี่ยนจากผู้นำที่อยู่ในรุ่น War Babies หรือคนที่เกิดในช่วงสงคราม – มาเป็นบูมเมอร์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมมากมายมหาศาล
ถ้าพินิจเฉพาะนิยายเรื่อง ‘คู่กรรม’ เราจะพบว่าทศวรรษ 2530s มีการนำนิยายเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครมากครั้งที่สุด นั่นคือสร้างเป็นหนังในปี พ.ศ.2531 (วรุฒ วรธรรม กับจินตหรา สุขพัฒน์) สร้างเป็นละครในปี พ.ศ.2533 (ธงไชย แม็คอินไตย์ กับ กมลชนก โกมลฐิติ) ซึ่งประสบความสำเร็จมโหฬารจนต้องนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งในปี พ.ศ.2538 โดยเปลี่ยนกมลชนกเป็นอาภาสิริ นิติพน
ในยุคนั้น เวลาพูดถึง ‘คู่กรรม’ ไม่มีใครพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่มีใครจับคู่ผู้ประพันธ์เข้ากับเหตุการณ์วิปโยคนั้น และแม้ต่อมา ผู้เขียนจะสร้าง ‘คู่กรรม 2’ ขึ้นมาต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์ใน ‘คู่กรรม 2’ ก็จบลงตรงเหตุการณ์ 14 ตุลาคมเท่านั้น ไม่ได้กินความเลยมาจนถึง 6 ตุลาฯ ด้วย
แม้รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย จะถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘บุฟเฟต์คาบิเน็ต’ จนถูกคณะ รสช. ยึดอำนาจในปี พ.ศ.2534 ตามมาด้วยเหตุพฤษภาทมิฬในปี พ.ศ.2535 แต่เศรษฐกิจก็ยังเดินหน้าต่อไปไม่หยุด เพราะพฤษภาทมิฬน้ันพูดได้ว่าเป็น ‘ชัยชนะของม็อบมือถือ’ ที่ก็คือชัยชนะของเหล่ายัปปี้ – จึงผลักดันประเทศให้ฟองสบู่โตขึ้นไม่หยุด จนกระทั่งแตกในปี พ.ศ.2540 ซึ่งพูดได้ว่าเป็นจุดจบของความฝันแบบยัปปี้
คนหนุ่มสาวยุค 2530s นั้น อาจถือได้เป็นกลุ่มคนรุ่น ‘เปลี่ยนผ่าน’ รุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะเปลี่ยนผ่านไปสู่ ‘โลกาภิวัตน์’ หรือ Globalization แต่ก็เปลี่ยนผ่านโดยมีความ ‘หลาบ’ ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกลึกๆ จึงมีลักษณะเป็น conformist ที่สมาทานตัวเองเข้ากับทุนนิยมเต็มตัว ประกอบกับพูดได้ว่า ‘บ้านเมืองดี’ ในทางเศรษฐกิจ แถมหลังพฤษภาทมิฬ ทหารก็ประกาศจะเป็นทหารอาชีพกัน ดังนั้น การพยายามเปลี่ยน ‘โครงสร้าง’ สังคมให้มี ‘ความยุติธรรม’ หรือ ‘ความเสมอภาค’ จึงไม่ค่อยมี เพราะทุกคนล้วนกำลังอยากไต่บันไดสังคมไปสู่ความร่ำรวยและชีวิตที่ดีขึ้นในแบบปัจเจกกันทั้งนั้น
ที่จริงแล้ว คนเจนเอ็กซ์ที่ ‘อยากขบถ’ นั้นมีอยู่
แต่โดยมากมักเป็นความขบถแบบเท่ๆ
ประเภท Rebel without a Cause
เหมือนเจมส์ ดีน หรือเป็นการขบถแบบปัจเจก คืออยากให้ตัวเอง ’หลุด’ ออกไปจากสภาพรอบตัว แต่ก็ไม่ได้เป็นกระแสที่เข้มแข็งอะไร และแทบไม่มีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างใดๆ ด้วย
อย่างมากที่สุด คนเจนเอ็กซ์ทำเพียงพยายามสลัดตัวเองออกจากวิธีคิดแบบ Collectivism ที่ครอบงำสังคมมาในยุคก่อนหน้า (เช่น ยุค พล.อ.เปรม ที่เน้นสร้างความสามัคคีในชาติ จำเป็นต้องอาศัยอุดมการณ์ Collectivism สูงมาก) เพื่อมาสู่วิธีมองโลกที่เป็นปัจเจกมากขึ้น เหมือนเด็กที่อยากทำตามใจตัวเอง ไม่ยอมทำตามใจพ่อแม่ งานวรรณกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปเพื่อการ ‘แหวกม่านประเพณี’ แต่ไม่ได้พยายาม ‘รื้อทำลายประเพณี’ แต่อย่างใด เพราะคนเหล่านี้อยู่ในยุคที่อยู่ดีกินดีพอสมควร เนื่องจากปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจดี โลกยุคนั้นจึงเป็นการ ‘เตรียมความพร้อม’ ให้กับสังคม เพื่อก้าวไปสู่ยุค 1990s อันเป็นโลกที่ก้าวหน้าทางความคิดมากๆ เมื่อกำแพงเบอร์ลินพัง สหภาพโซเวียตล่ม เกิดสหภาพยุโรป เกิดแนวคิดประเภทโพสต์โมเดิร์นนิสม์ โพสต์โคโลเนียลิสม์ หรือ intersectionality ฯลฯ ที่ไปไกลกว่าแค่ปัจเจกนิยม
แต่ถ้าถามว่า แล้วคนเจนเอ็กซ์เดินหน้าเข้าสู่ความก้าวหน้ายุค 1990s เต็มตัวหรือเปล่า คำตอบคืออาจจะมีบางส่วน แต่จำนวนมากอาจจะไม่ได้ผลัดเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองเพื่อเดินหน้าเข้าสู่ยุค 90s ไปด้วย สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำคือเพียง ‘ปลดแอก’ ตัวเองออกมาจาก Collectivism มาสู่ความเป็นปัจเจก ทำให้เกิดเสียงแบบปัจเจก แต่ทั้งหมดนี้ยังคงตั้งวางอยู่บน ‘โครงสร้าง’ แบบเดิมทั้งหมด ทั้งโครงสร้างทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และชนชั้นต่างๆ ซึ่งสืบทอดมาจากระบบอำนาจเก่า
แต่โลกไม่ได้หยุดนิ่งอยู่แค่ยุค 90s มันไปไกลกว่านั้น โลกดำเนินไปเรื่อยๆ พร้อมกับพอกพูน ‘ความอยุติธรรม’ หรือความเหลื่อมล้ำระหว่าง generations มากขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายมันก็มาระเบิดออกในยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน มันทำให้พวกเขาไม่ได้อยากแค่ ‘แหวกม่านประเพณี’ อย่างน่ารักๆ และเชื่องๆ เท่านั้น ทว่าอยากจะ ‘รื้อ’ โครงสร้างนี้เพื่อสร้างใหม่เสียทั้งหมด
นี่คือโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ 2520s แล้ว เมื่อมาถึงคนเจนเอ็กซ์ แม้จะทะเลาะกับคนรุ่นพ่อแม่ ก็มักเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นแค่ ‘รสนิยม’ ในการใช้ชีวิต เช่น อยากเป็นนักดนตรีมากกว่ารับราชการ หรือประเด็นเรื่องเพศทางเลือก การเลือกคู่ของตัวเอง ฯลฯ และส่วนใหญ่ก็ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากคนรุ่นพ่อแม่อยู่ดี ดังนั้น คนเจนเอ็กซ์ทั้งรุ่น จึงเป็นเหมือนช่วง ‘สงบ’ (dormant) ของภูเขาไฟ ที่เคยปะทุครั้งใหม่ขึ้นมาเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้วถูกกดเก็บจนกลับมาปะทุใหม่ในปัจจุบัน แต่โดยเนื้อแท้แล้วมันคือเหตุการณ์เดียวกันที่เชื่อมโยงต่อกันมา โดยมีวิธีกำกับควบคุมต่างๆ ทั้งจากผู้มีอำนาจและสถานการณ์โลกมาคอยขนาบเอาไว้
การจากไปของ ‘ทมยันตี’ พร้อมแฮชแท็ก #ทมยันตี จึงส่งผลให้คนเจนเอ็กซ์ต้องหันมามองหน้ากันอย่างเลิ่กลั่กไม่เข้าใจโลก
มันคือความเลิ่กลั่กทางประวัติศาสตร์โดยแท้