Transxenoestrogenesis หรือ ‘อุบัติเอสโตรเจนแปลกปลอมข้ามเพศข้ามสายพันธุ์; แนวคิดmujกล่าวถึงปรากฏการณ์เชิงนิเวศและเพศที่ผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลกไปเพราะมลพิษปนเปื้อน จะเข้าใจและรับมือกับมันได้อย่างไรโดยไม่โหยหาสังคมอุดมคติและไม่กดเหยียดความหลากหลายทางเพศ?
จงทำเกษตรอินทรีย์ ถ้าไม่อยากมีลูกหลานเป็นกะเทย
คู่ขนานไปกับผู้ปกครองที่กลัวลูกออกนอกลู่นอกทางจนเกิดการบรรยายเรื่อง ‘เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เบี่ยงเบน’ แล้ว ก็มีผู้ใหญ่หัวใจเกษตรอินทรีย์ผู้ตระหนกว่าสารเคมีกำจัดวัชพืชจะไปทำให้พฤติกรรมทางเพศของเด็กไม่เป็นไปตามครรลอง ไม่เกินเลยความจริง หากมีใครยกไปตั้งเป็นชื่อปาฐกถาว่า ‘ปลูกผักเลี้ยงโลกอย่างไรไม่ให้เด็กเบี่ยงเบนทางเพศ’
แม้ทางโรงเรียนชายล้วนเจ้าภาพงาน ‘เลี้ยงลูกฯ’ ได้ออกมาแถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชนแล้ว แต่ประเด็นเรื่อง ‘ปลูกผักฯ’ ผู้ที่อ้างเรื่องสารเคมีส่งผลให้เพศเปลี่ยนแปลง ยังคงยืนกรานในงานวิจัยทั้งไทยและเทศ ว่าสารเคมีที่ใช้ทำการเกษตรกันอยู่นั้นก่อให้เกิดความผิดแปลกทางเพศในสัตว์หลากสปีชีส์จริงๆ
ดังที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้แถลงไว้ว่า
“วิทยาศาสตร์อธิบายได้ว่า สารเคมีมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป สภาพในสมองที่กำหนดพฤติกรรมด้านเพศก็มีผลเกิดขึ้น… มีงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ…พบว่า กบในท้องนามีอวัยวะสืบพันธุ์เปลี่ยนแปลง…พบว่า มีผลต่อฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีผลให้เกิดมะเร็งเต้านม โดยผลงานวิจัยนี้ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาของต่างประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา…พบว่า สารคลอร์ไพริฟอส มีผลต่อเชาวน์ปัญญา และระบบพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งพบว่า พฤติกรรมทางเพศเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเห็นว่าเนื้อสมองส่วนหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมจากที่ควรหนาก็บางลง หรือจากที่บางก็หนาขึ้น”
กระแสตอบโต้เรื่องนี้ มักมาในรูปการเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการเกษตรทั้งหมด ไม่จำกัดแต่เฉพาะพาราควอต คลอร์ไพริฟอส หรือไกลโฟเสต ที่เป็นปัญหากันอยู่ ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ของชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย 31 สิงหาคม 2561 นำโดยนายสรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางน้ำเปรี้ยว เขียนว่า
“เด็กนักเรียน 12 ล้านคนทั่วประเทศ ต้องกินอาหารไม่มีสารพิษ แม้แต่ไนโตรเจนในปุ๋ยเคมี เนื่องจากมีผลต่อการพัฒนาสมองและไอคิวของเด็กซึ่งสุขภาพของเด็กเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องได้รับการดูแลเนื่องจากเป็นทรัพยากรของประเทศที่ต้องเติบโตเพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป”
“และในขณะนี้สภาพเพศของเด็กเปลี่ยนไปเพราะการเหนี่ยวนำของสารไปสู่สมองไปปิดกั้นการพัฒนาในจุดที่ควรพัฒนาความเป็นชาย หรือความเป็นหญิง จะพบว่าผู้ชายน่ารักบอบบางมากขึ้นทุกวัน รวมทั้งเด็กๆ จะพบว่ามีปัญหาไอคิวต่ำลง คนป่วยล้นโรงพยาบาล (จากการทำวิจัยมา 40 ปี)”
ถึงแม้จะใช้คำที่ฟังดูหน่อมแน้มน่าหยิกอย่าง “ผู้ชายน่ารักบอบบางมากขึ้นทุกวัน” หรือคำที่ฟังดูกลางๆ อย่าง “พฤติกรรมทางเพศเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ” แทนการใช้ภาษาตีตราตรงๆ อย่างที่เคยเห็นกันดาษดื่นเช่น ‘วิปริตทางเพศ’ แต่ก็ยังผูกความหลากหลายทางเพศให้เป็นปมปัญหาของสังคมในระดับเดียวกับภาวะไอคิวต่ำและความเจ็บป่วย เป็นผลพวงอันไม่น่าพึงประสงค์ของการใช้สารเคมี เป็นเครื่องหมายของความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่ผูกกับความล่มสลายของอารยธรรมอย่างไม่อาจปฏิเสธ ราวกับว่า หากท่านเป็นเกษตรกรที่ใช้ยาฆ่าหญ้าหรือปุ๋ยเคมีในไร่นา ท่านก็เป็นผู้มีส่วนทำให้เยาวชนคนรุ่นหลังกลายเป็นกะเทย
ดังที่ วินัย ดะห์ลัน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ได้ส่งสัญญานเตือนตามประสาคนมองการณ์ไกลไว้ว่า “สารเคมีเหล่านี้อาจมีส่วนทำให้เพศสภาพของคนเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะกระทบกับการเพิ่มประชากรประเทศในอนาคต”
ช่างขื่นขัน ปากบอกจะปกป้องเด็กและเยาวชนในฐานะอนาคตของชาติ แต่ปากก็บุ้ยใบ้ไปทางเด็กและเยาวชนที่เพศแตกต่างไปจากที่สังคมคาดหวัง ให้ทุกคนไว้อาลัยและถือเป็นอุทาหรณ์สอนใจ
ก่อนเห็นคนเป็นทรัพยากรแห่งชาติ คงต้องเห็นคนเป็นคนก่อน—ซึ่งคำว่า ‘คน’ ในที่นี้ เวลานี้ เราอาจต้องมาเข้าใจกันให้ลึกซึ้งกว่าเดิม
หากจะให้วิจารณ์ประเด็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็ย่อมทำได้ เราอาจชำแหละโวหารเหยียดหยามคนหลากเพศโดยเฉพาะกะเทยให้เท่ากับสารพิษ เราอาจวิพากษ์การใช้คำว่า ‘เพศสภาพ’ ‘สภาพเพศ’ แบบไม่ละเอียดอ่อนพอที่จะแยกแยะสำนึกทางเพศและเพศวิถีออกจากพัฒนาการทางร่างกาย และเราอาจประณามการใช้ความตื่นตระหนกทางเพศมารองรับวาระทางการเมืองสาธารณสุขที่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน
แต่เราก็สามารถคิดได้อีกแบบ นั่นก็คือ เราสามารถยอมรับข้อค้นพบทางนิเวศและเพศนี้อย่างเต็มตัว แล้วเริ่มทำความเข้าใจ ‘ความเป็นคน’ จากตรงนั้น
อุบัติการณ์เอสโตรเจนแปลกปลอมข้ามเพศข้ามสายพันธุ์
Transxenoestrogenesis เป็นคำศัพท์ยุ่งเหยิงที่ทำหน้าที่สะท้อนความยุ่งเหยิงเกินคาดเดาของโลกใบนี้ไปในตัว
มาจากการเติม prefix สมาส-สนธิกันสี่ห้าคำ อันได้แก่ ทรานส์(เจนเดอร์?)-เซโน(โฟเบีย?)-เอสโตรเจน(ฮอร์โมนแห่งความน่ารักบอบบาง?)-เจเนสิส(อาดัมกับอีฟในสวนอีเดน?) แถมด้วยเงาของคำว่า เซโนเจเนสิส (ชื่อไตรภาคนวนิยายไซไฟของ Octavia Butler ที่มนุษย์กับเอเลี่ยนผสมพันธุ์กัน)
ผู้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมาคือนักวิชาการนาม Eva Hayward ในวารสาร Transgender Studies Quarterly ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อปี 2014 Xenoestrogen หรือเอสโตรเจนแปลกปลอม มีอยู่หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือมลภาวะจากระบบอุตสาหกรรม เฮเวิร์ดยืนยันว่า สัตว์กว่าสองร้อยสปีชีส์ถูกพิสูจน์แล้วว่ากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนอันเนื่องมาจากเอสโตรเจนแปลกปลอมอย่าง บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A) ซึ่งเป็นสารผลิตพลาสติกแข็งรอบตัวเรา
แต่ xenoestrogen ไม่จำเป็นต้องเป็นสารสังเคราะห์ อาจมาจากพืช สัตว์ หรือราก็ได้ เฮเวิร์ดเล่าว่าผู้หญิงข้ามเพศที่รับฮอร์โมนบำบัด หลายคนได้เอสโตรเจนจากม้า เพราะใช้ยาตัวที่ชื่อ Premarin ซึ่งมาจากการตัดต่อพันธุกรรมของคำสามคำ อันได้แก่ PREgnant-MARes-uRINe นั่นก็คือ ปัสสาวะม้าตัวเมียตั้งท้อง
ผู้หญิงข้ามเพศที่รับฮอร์โมนทดแทน อันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางผัสสารมณ์นานัปการ จึงนับได้ว่าเป็นผู้ข้ามสายพันธุ์ด้วย – แต่แทนที่จะเบียดขับสตรีเหล่านี้ไปอยู่หางตา ท่านอาจลองน้อมนำเรื่องของเขามาปรับทัศนคติตัวเองว่า จากอาหารและยาที่กิน จากขี้ดินและเครื่องประทินผิวที่สัมผัส ท่านเองก็มีเอสโตรเจนแปลกปลอมในร่างกายเช่นกัน
มิใช่ลางบอกเหตุวันสิ้นโลก อุบัติเอสโตรเจนแปลกปลอมข้ามเพศข้ามสายพันธุ์เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส เป็นทั้งภยันตรายและแววหวัง
เอสโตรเจนแปลกปลอมแทรกซึมอยู่ทุกหนแห่ง ทำปฏิกิริยาชีวเคมีที่ส่งผลเหนือความคาดหมาย ใช่เพียงก่อมะเร็ง เบาหวาน ภูมิคุ้มกันล้มเหลว และโรคหัวใจ หากยังมีเอสโตรเจนจากพืชและราที่ส่งเสริมสุขภาพหัวใจและป้องกันมะเร็งในมนุษย์ได้
แทนที่จะตื่นตระหนกไปกับความแตกต่างระหว่างชายกับหญิงที่เริ่มเลือนไป เราสามารถโอบรับความแตกต่างใหม่ๆ ที่ผิดไปจากความแตกต่างเดิมๆ ที่ว่าผู้ชายต้องเป็นแบบนี้ ต่างจากผู้หญิงซึ่งต้องเป็นแบบนั้น เผ่าพันธุ์มนุษย์จึงอยู่รอดได้อย่างผาสุก
แทนที่จะชายตามองกะเทยและคนหลากเพศเป็นมิเตอร์วัดสารพิษ เราสามารถยอมรับความจริงที่ว่า โลกของเรามันเป็นเช่นนี้แหละ การปฏิเสธสารเคมีแล้วทะลุมิติสู่โลกพระศรีอาริยอินทรีย์เป็นทางออกได้แต่เฉพาะคนส่วนน้อยที่แต้มบุญถึง แต่สำหรับมหาชนผู้จำเป็นต้องอยู่กับสารพิษ เราจะอยู่ด้วยกันและตายด้วยกันอย่างไรดีล่ะ?
เฮเวิร์ดทิ้งท้ายบทความกึ่งวิชาการขนาดสั้นนี้ไว้ว่า “Transxenoestrogenesis เป็นเพียงชื่อหนึ่งของความบอบบางที่เราต่างมีต่อกันและกัน โดยที่ร่างกายของเราเปิดอ้าสู่ดาวเคราะห์ดวงนี้”
นี่ละมั้งความหมายของ ‘ความเป็นคน’ จากแว่นของนักวิชาการข้ามเพศศึกษาแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด – ความเป็นร่างกายอันแสนบอบบาง ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือสปีชีส์อะไร
ปัจฉิมลิขิต ชวนคิดส่งท้าย
ฉันเคยทำงานดูแลกลุ่มนักเรียนชั้นม.ปลายจากสหรัฐอเมริกา ที่มาเรียนรู้จากชุมชนหมู่บ้านในประเทศไทยเป็นเวลาหนึ่งเทอม ชุมชนหนึ่งที่ไปมีชื่อเสียงด้านการทำเกษตรอินทรีย์ นักเรียนอายุ 15-17 ปี ส่วนใหญ่เป็นลูกชนชั้นแรงงานในเมือง ไม่เคยได้เหยียบทุ่งนา ไม่เคยรู้ว่าพืชผักอินทรีย์เลิศรสกว่าพืชผักทั่วไปอย่างไร
ในวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้านท่านหนึ่ง ฉันทำหน้าที่ล่ามภาษาลาวเป็นภาษาอังกฤษตามปกติ ปราชญ์ชาวบ้านเล่าเรื่องไร่นาสวนผสมและความสุขที่ได้ทำเกษตรอินทรีย์ แล้วอยู่ดีๆ พ่อปราชญ์ก็บ่นทำนองว่า “เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ปนเปื้อนสารเคมีไปหมด นมโรงเรียนก็ไม่เว้น เห็นไหมเดี๋ยวนี้เด็กน้อยเป็นกะเทยเป็นทอมกันไปหมดก็เพราะสารเคมีนี่แหละ”
ถ้าท่านเป็นฉัน ท่านจะแปลเนื้อหาส่วนนี้ให้นักเรียนฟังหรือไม่ (โดยที่รู้อยู่แก่ใจว่าเด็กในความดูแลของท่านบางคนเป็นคนข้ามเพศ)? ถ้าจะแปล ท่านจะแปลโดยละเอียดพร้อมใส่อารมณ์ตามบุคลิกของผู้เล่า หรือท่านจะสรุปความให้ฟังสั้นๆ? ถ้าจะไม่แปล ท่านจะทำเสมือนว่าไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย หรือท่านจะยิ้มแหยๆ พอเป็นนัยให้ผู้รอคำแปลของท่านทราบว่ามีช่องว่างบางอย่าง?