แต่ไหนแต่ไรมา พอว่าถึงยอดนักแหล่เพลง สองหูของผมมิแคล้วแว่วยินน้ำเสียงของไวพจน์ เพชรสุพรรณ, พร ภิรมย์, ชาย เมืองสิงห์, ทศพล หิมพานต์ กระทั่งบุญโทน คนหนุ่มก็หาใช่ข้อยกเว้น หากทุกวันนี้ ย่อมจะมียอดนักแหล่อีกคนที่ประทับแนบแน่นหัวใจผม นั่นคือ เคลือบ เกษร ผู้เคยไปอวดลูกคอท่ามกลางบรรยากาศสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1
เคลือบ เกษร เป็นบุคคลน่าลุ่มหลงความพิสดารแห่งชีวประวัติ ปลายเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2561 ผมสบโอกาสไปนำเสนอบทความทางด้านประวัติศาสตร์ ณ สถานศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ซึ่งผมได้ถ่ายทอดเรื่องราวของยอดนักแหล่ผู้นี้สู่สายตาชาวฝรั่งเศสเช่นกัน เสียดายที่ด้วยเวลาจำกัด เลยกล่าวพาดพิงเพียงแค่บางส่วน ฉะนั้น ผมจึงคิดว่าควรเขียนอะไรสักอย่างเพื่อผายมือแนะนำให้คุณผู้อ่านทุกท่านลองทำความรู้จักกับชายชาวไทยชื่อ ‘เคลือบ’ และมีนามสกุลที่รับพระราชทานใหม่จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า ‘เกษร’
เคลือบ ลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อวันอาทิตย์ แรม 1 ค่ำ เดือน 7 ปีชวด พุทธศักราช 2425 ที่บ้านดอนสุรา อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี หมื่นฤทธิรุทธระวังภัย (ดอกไม้) และนางอ่ำคือบิดามารดา เดิมทีเขาใช้นามสกุล ‘สังฆรัตน์’ เคลือบร่ำเรียนตอนต้นเยี่ยงไรไม่ปรากฏข้อมูล แต่เชื่อแม่นมั่นทีเดียวว่าเขาเคยห่มจีวรอยู่หลายพรรษาจนเทศน์และร้องแหล่ได้
ตอนสงครามโลกครั้งแรกอุบัติขึ้นในทวีปยุโรป เคลือบกำลังรับราชการเป็นสัตวแพทย์ ครั้นเขาฟังข่าวคราวว่าประเทศสยามประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและตั้งตนเป็นศัตรูต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางในปีพุทธศักราช 2460 รวมถึงจะจัดส่งกองทหารอาสาไปปฏิบัติหน้าที่ยังสมรภูมิช่วงพุทธศักราช 2461-2462 โดยสังกัดกองทัพประเทศฝรั่งเศส สัตวแพทย์ชาวเมืองเพชรบังเกิดแรงปรารถนาสมัครเป็นทหารอาสาไปในงานพระราชสงครามยิ่งนัก แม้อายุเขาจะเกินกำหนดก็พยายามแจ้งต่อทางการโดยลดอายุตนเองลง ตรงจุดนี้ ควรเล่าเสริมสักนิดครับ ชายชาวสยามยุคนั้นอยากไปเป็นทหารอาสาอย่างแรงกล้ากันมิน้อยทีเดียว บางคนสายตาไม่ดีและไม่น่าจะผ่านการตรวจโดยแพทย์ได้เลย ทว่าพวกเขาไม่ลดละความพยายามสารพัดวิธีเพื่อแก้ไขสายตาให้ดีชั่วคราวจนผ่านการตรวจ วกมากรณีของสัตวแพทย์เคลือบ ท้ายสุด เขาผ่านการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใทหารอาสา สังกัดกรมทหารบกที่ 14 อันเป็นกองทหารบกรถยนต์
เรือที่ทหารอาสาชาวสยามทั้งหลายโดยสารแล่นลำบ่ายหน้าไปยังยุโรปวันที่ 19 มิถุนายน พุทธศักราช 2461 จิตวิญญาณนักแหล่เทศน์อันคับคั่งลมหายใจของอดีตสัตวแพทย์พรั่งพรูตลอดการเดินทาง เรียกว่า เรือหะเบสสมอพลันออกสันดอนไป ถ้อยคำกลอนของเขาก็หลั่งไหลออกมาโลดแล่น เคลือบแต่งบทแหล่เทศน์บันทึกความเป็นไปนับตั้งแต่บนเรือขาไปจากสยามถึงฝรั่งเศส เหตุการณ์ในสมรภูมิที่กองทหารบกรถยนตร์ได้สัมผัสพบเห็น และบนเรือขากลับย้อนคืนสู่กรุงเทพฯ ในปีพุทธศักราช 2462 ดังเขาเขียนเปิดเรื่องเป็นคำกลอนว่า
“ผมขอริเริ่มเติมข้อความ ถึงทหารสยามตอนลงเรือไฟ ผมจึงจักกล่าวเป็นข่าวสังเกต พ.ศ. ๖๑ จะขึ้นใหม่ๆ ข้าพเจ้าจึงได้คัดคิดจัดสรร เป็นพงศาวดารของทหารไทย…”
ไกลออกไปในสมรภูมิแห่งดินแดนฝรั่งเศส ลูกคอที่ขยับขับกลอนแหล่เทศน์ให้เพื่อนๆ ทหารอาสารับฟังประหนึ่งนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามแห่งความครื้นเครง’ พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ (ยุทธ ยุทธสารประสิทธิ์) หรือสมัยเป็นทหารอาสาสงครามโลกคือร้อยโทเมี้ยน โรหิตเศรนี ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสหายสงคราม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพสิบเอก เคลือบ เกษร ความว่า
“ ส.อ. เคลือบผู้นี้ เมื่อหนุ่มๆ เทศน์เพราะเป็นที่ต้องหูต้องใจผู้ฟัง ยามว่างราชการในสนามรบเมื่อใดก็มักเทศน์แหล่เทศน์ที่เขาได้แต่งขึ้นนี้ให้ผู้บังคับบัญชาและเพื่อนทหารอาสาฟัง เป็นการครึกครื้นรื่นเริงตามประสายากในยามเหนื่อย แลหนาวชา เพราะอากาศในสนามรบเป็นเหตุ ที่ตัวข้าพเจ้าเองก็เคยได้ฟังแหล่เทศน์ของ ส.อ. เคลือบหลายครั้ง…”
ยอดนักแหล่ชาวเพชรบุรีคงจะสนุกสนานกับลีลาเอื้อนเอ่ยน้ำเสียงร่ำไป หากคราวหนึ่งไม่เกิดเหตุการณ์ชวนให้เขาวิตกกังวลอย่างหวาดหวั่น ทหารอาสาเคลือบเกิดทะเลาะเบาะแว้งกับทหารฝรั่งเศส และเผลอลืมหยุดยั้งมือใช้ของมีคมแทงเจ้าถิ่นบาดเจ็บสาหัส ใช่สิ! เขาเกรงกลัวความผิดและกระบวนการต้องขึ้นศาลทหารของฝรั่งเศส
เคลือบรีบกลับที่พักของตน ดื่มเหล้าให้เมามายเต็มประดา แก้ผ้าล่อนจ้อนแล้ววิ่งไปเกลือกกลิ้งกองหิมะเย็นยะเยียบหนาวสะท้าน ทุกสายตาที่แลเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล้วนลงความเห็นพ้องพานว่าอดีตสัตวแพทย์ได้กลายเป็นคนบ้าเสียสติไปแล้ว แหละนั่นทำให้เขารอดพ้นเงื้อมเงาศาลทหาร
บนเรือ ‘มิเตา’ ที่บรรทุกลำเลียงเหล่าทหารอาสาชาวสยามกลับจากราชการสงครามในทวีปยุโรป เคลือบสร่างหายจากอาการบ้าๆ บอๆ มาเป็นคนปกติ ชวนให้ทหารอาสาชาวไทยรู้สึกสงสัยเคลือบแคลง ยอดนักแหล่สารภาพความจริงว่าที่ผ่านมา เขาแกล้งทำเป็นคนบ้า
บทบาททหารอาสาในมหาสงครามโลกสร้างเกียรติยศให้แก่เคลือบ เขาได้รับยศเป็นนายสิบโทและเข้ารับราชการทหารที่เมืองไทยต่อ และค่อยๆ เลื่อนยศเป็นนายสิบเอก พร้อมรับพระราชทานเหรียญเงินชั้นที่ 7
ถ้อยคำกลอนแหล่เทศน์ที่เคลือบแต่งไว้นั้น เขานำขึ้นทูลเกล้าถวายในหลวงรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงโปรดและพอพระทัยยิ่งนัก พระองค์ถึงกับเสด็จจากที่ประทับมาทรงยื่นพระหัตถ์สัมผัสมือ พร้อมพระราชทานเงินรางวัลอีกหนึ่งชั่งหรือ 80 บาท นับว่าจำนวนเยอะมากสำหรับค่าเงินในยุคนั้น นามสกุลพระราชทานต่อท้ายชื่อก็มีที่มาจากการนี้
ณ เมืองไทย เคลือบ เกษร กลายเป็นยอดนักแหล่เทศน์ตามกรมกองทหารต่างๆ ซึ่งผู้ฟังทั้งหลายพออกพอใจนักหนา ชื่อเสียงทหารอาสาชาวเพชรบุรีหอมฟุ้งขจรขจาย มิหนำซ้ำ ยังมีผู้ศรัทธามอบเงินให้คล้ายๆ กับการถวายกัณฑ์เทศน์จำนวนไม่น้อยราย
มากไปกว่าเที่ยวตระเวนอวดลูกคอร้องแหล่เทศน์แล้ว สิบโทเคลือบได้นำคำกลอนของตนมาจัดพิมพ์หนังสือออกจำหน่ายในปีพุทธศักราช 2462 ทางโรงพิมพ์อักษรนิติ์แบ่งหนังสือออกเป็น 2 ภาค โดยภาคหนึ่ง ราคาเล่มละ 25 สตางค์ ส่วนภาคสอง ราคาเล่มละ 50 สตางค์ จัดเข้าข่ายหนังสือราคาแพงแห่งยุคเมื่อเทียบกับขนาดรูปเล่มเล็กๆ บางๆ แต่จำนวนพิมพ์กลับสูงมากถึง 5,000 เล่ม เพราะเป็นที่นิยมชมชอบจนขายดีเทน้ำเทท่า ยอดนักแหล่เลื่องชื่อลือนามและมีเงินทองจับจ่ายใช้สอยสบายๆ เคลือบเปิดเผยปณิธานการแต่งบทแหล่เทศน์เรื่องนี้ผ่านคำนำในการพิมพ์ครั้งแรกว่า
“ข้าพเจ้าจึงได้นึกถึงการที่จะเขียนข่าวย่อถึงกิจการซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิบัติไปโดยตนเอง และกิจการซึ่งข้าพเจ้าได้รู้เห็นตลอดจนความเห็นของข้าพเจ้า สำหรับนำไปสู่เพื่อนร่วมชาติฟัง เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านผู้ที่ติดหน้าที่ราชการก็ดี หรือต้องประกอบการเลี้ยงชีพอยู่ทางบ้านก็ดี ซึ่งไม่มีโอกาสได้ไปฉลองพระเดชพระคุณในงานพระราชสงครามครั้งนี้ คงพอใจอยากใคร่ฟังเรื่องราวของทหารอาสา”
ขณะเดียวกัน เขายังส่งน้ำเสียงเชิงนอบน้อมในส่วนของฝีมือประพันธ์ของตน
“ข้าพเจ้าผู้เป็นนายสิบประจำการ เคยแต่ถือปืนและศึกษาวิชาทหาร ก็ย่อมไม่สันทัดในการแต่งบทกลอน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดอ่านฟังบทกลอนซึ่งมีขัดเขินอยู่บ้าง ขอได้ให้อภัยแก่ข้าพเจ้าผู้มีสติปัญญาน้อย”
ผลงานหนังสือของเคลือบ เกษร ที่สำแดงถ้อยคำเรียงร้อยเข้าระบบสัมผัสแบบกลอนแหล่ หาใช่เพียงงานเขียนอ่านเพลิดเพลินฝ่ายเดียวหรอก กลับทรงคุณค่าในฐานะเอกสารทางประวัติศาสตร์สลักสำคัญ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และกองทหารอาสาชาวไทย ในหนังสือเล่มนี้ เราจะมองเห็นระยะทางการเดินเรือในท้องทะเล บ้านเมืองต่างๆ ที่เรือผ่านและพักจอดเทียบท่า รวมถึงชีวิตชีวาของผู้คนนานาชาติ พรึงเพริดไปกับวีรกรรมของทหารอาสากองทหารรถยนตร์ สถานการณ์คับขัน เศร้าสร้อยโศกนาฏกรรมต่างๆ จวบจนการได้กลับมาประดับเกียรติยศอย่างภาคภูมิหลังมหาสงครามโลกสิ้นสุด เคลือบเล่ากระทั่งว่าหลังจากกลับถึงบ้านเกิดเมืองนอน เขายังถูกขโมยล้วงกระเป๋าจนหมดตัว
อาจเพราะเคลือบ เกษร ถือกำเนิด ณ บ้านดอนสุรา ถ้ามิได้ดื่มน้ำสุราชโลมตับเมาเช้าเมาเย็น ชะรอยเขาจะกลัวเสียชื่อกระมัง กระนั้น การไม่ปฏิเสธรสชาติเมรัยกลับส่งผลให้สารพัดปัญหาแวะเวียนมาทักทาย เคลือบถูกรัชกาลที่ ๖ ทรงกริ้วในความเมามายของเขา สิบเอกชาวเพชรบุรีขอลาออกจากราชการทหารกลับไปเป็นสัตวแพทย์ตามเดิม อย่างไรก็ดี ห้วงยามนั้น เขาพบรักกับแม่สาวนาม ‘ทองพูน’ เพียรเกี้ยวพาราสีจวบจนได้สมรสครองคู่กัน
ร่วมเรียงเคียงหมอนกับเมียรักและปฏิบัติหน้าที่การงานในกรุงเทพพระมหานครล่วงผ่านหลายปี ราวๆ พุทธศักราช 2480 คำสั่งทางการได้ย้ายเคลือบ เกษร ให้ไปประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ เขาต้องหอบหิ้วครอบครัวทั้งแม่ทองพูนและลูกสาวสามคนเดินทางสู่ดินแดนที่ไข้ป่าชุกชุมและไร้ซึ่งความสะดวกด้านคมนาคม
กลิ่นอายความเศร้าครอบคลุมครอบครัวเกษรขณะขวบปีที่ 3 ของการอยู่เพชรบูรณ์ มัจจุราชจำแลงร่างมาในรูปโฉมไข้มาลาเรียแล้วปลิดลมปราณแม่ทองพูนจนสูญสิ้น ยอดนักแหล่เคลือบกำลังจะเริ่มต้นชีวิตเป็นหลักเป็นฐานในฐานะหัวหน้าครอบครัวแท้ๆ เมียรักกลับมาพลัดพรากไปปรโลก ความโศกสลดสุดขีดเกาะกุมหัวอกเนื่องจากทุกขเวทนาทางความรักความผูกพัน ยอดนักแหล่จากดอนสุราเอาแต่ปรับทุกข์กับน้ำเหล้า เมาเช้าเมาเย็นทบทวียิ่งยวดกว่าเดิม
เคลือบ เกษร ส่งตัวลูกสาวทั้งสามคนให้กลับมาอยู่กับแม่ยายของเขาที่กรุงเทพพระมหานคร ส่วนชะตากรรมของเขาเองที่เพชรบูรณ์นั้น ไม่นานนัก โรคภัยก็เล่นงานเสียงอมแงม ไข้มาลาเรียขึ้นสมอง ยอดนักแหล่กลายเป็นคนวิกลจริต เตลิดเปิดเปิงเร่ร่อนตามยถากรรม ซัดเซพเนจรไปไหนต่อไหนอย่างไม่มีจุดหมายปลายทางโดยมิได้ลาราชการ
ลูกสาวทั้งสามคอยเงี่ยหูฟังข่าวคราวของเคลือบเสมอๆ รู้จักใครที่ไปเพชรบูรณ์ก็ฝากฝังให้ช่วยตามหา ญาติคนหนึ่งถูกเกณฑ์ไปราชการที่นั่นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงลองสืบๆ ดู แต่หาได้ค้นพบวี่แววใดๆ ไม่ บุตรียอดนักแหล่มีหรือจะทิ้งขว้างอุตสาหะ พวกเธอสอบถามไปยังสังกัดเดิมของบิดาคือกรมเกษตรและการประมง ซึ่งในทะเบียนระบุว่าเขาตายเสียแล้ว ขณะที่ทางสมาคมสหายสงครามที่เขาเป็นสมาชิกอยู่ ก็มีผู้มารับเงินทําศพของสิบเอกชาวเมืองเพชรจํานวน 500 บาทไปเรียบร้อยโรงเรียนรับเงินแทน
เคลือบ เกษรตายแล้ว !
ตามหลักฐานดังปรากฏ เขาคงตายแล้วจริงๆ
ลูกสาวทั้งสามของยอดนักแหล่หมั่นอุทิศส่วนกุศลและเขียนชื่อบังสุกุลให้เขาเสมอๆ ในการทำบุญทุกครั้ง ตราบสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากในเมืองไทยเรื่อยมาจนน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่เมื่อปีพุทธศักราช 2485 แม่ยายและลูกสาวทั้งสามจึงครุ่นคิดจะอพยพไปอยู่หัวเมืองเพื่อหลบภัยสงคราม โดยเฉพาะภัยทางอากาศจากเครื่องบินทิ้งระเบิด
ก็พุทธศักราชเดียวกันนั่นล่ะ ภายหลังวิกลจริตไป 2 ปีเศษ จู่ๆ เคลือบ เกษรหายบ้ากลับมาเป็นคนปกติอีกหน เขาค่อยๆ ทบทวนความทรงจําหนหลังแล้วหวนนึกถึงลูกๆ ขึ้นได้ จึงรีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ เร็วไว อนิจจา! กระดาษที่เคยจดบ้านเลขที่ของแม่ยายหายไปไหนไม่รู้ ซ้ำร้าย พอไปโรงพักบุบผาราม ฝั่งธนบุรีหมายสอบถาม เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าบ้านของแม่ยายโดนเครื่องบินทิ้งระเบิดพังทลายและคนในบ้านถึงแก่ความตายไม่มีเหลือ
‘อยู่กับความผิดหวัง’ ประหนึ่งท่วงทำนองที่ยอดนักแหล่ต้องเผชิญ เคลือบขอพักค้างแรมโรงพักบุปผารามสักหนึ่งคืน ทบทวนตนเองว่าจะทำเยี่ยงไรต่อไปดี พอวันรุ่งขึ้น เขาตัดสินใจออกเดินทางไปจังหวัดชัยนาท ใช้ชีวิตที่นั่นประมาณ 2 ปี พลันรู้สึกเบื่อหน่าย เพชรบุรีบ้านเกิดเมืองนอนจึงเป็นปลายทาง ณ บ้านดอนสุรา ลมหายใจของยอดนักแหล่ระเหยกลิ่นสุราออกมาตามเคย เคลือบพำนักอยู่กับหลานชายของเขาซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน
พุทธศักราชสุดท้ายก่อนกึ่งพุทธกาลหรือปี 2499 สาย อุทัยศรี อดีตทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้แจ้งข่าวคราวกับลูกสาวของยอดนักแหล่ว่าพ่อของพวกเธอยังไม่ตาย เพราะมีผู้มารับเงินบำนาญ ครั้นตรวจสอบการลงนามก็ถูกต้อง ครั้นซักไซ้เจ้าหน้าที่ พวกเขาเล่าว่าตอนแรกที่เคลือบ เกษร โผล่มายังสมาคมสหายสงคราม ทุกคนต่างกันพากันตระหนกตกใจ นึกว่าเป็นภูตผีปีศาจ ดวงหน้าและสารรูปจำแทบไม่ได้เลย ตอนนั้น เคลือบมาพร้อมกับเด็กคนหนึ่งด้วย ผู้เป็นลูกสาวจึงตามไปที่สมาคม ขอดูที่อยู่ของเคลือบ
ประพิม เกษร ลูกสาวคนสุดท้องเดินทางพร้อมกับลุงสายของเธอไปตามหายอดนักแหล่ที่เมืองเพชรบุรี พอได้พบหน้าค่าตากันแล้ว เคลือบกลับไม่รู้จักลูกสาวตนเอง นั่นเพราะต้องพลัดพรากจากกันตั้งแต่ประพิมยังจําความไม่ได้ สาย อุทัยศรี เกลอเก่าผู้เคยร่วมกินร่วมนอนในสมรภูมิสงครามโลกต้องช่วยรื้อฟื้นความทรงจำให้ทั้งสองคน เคลือบล่วงรู้ความจริงสักทีว่าเขายังมีครอบครัวหลงเหลืออยู่ ส่วนบ้านที่เจ้าหน้าที่โรงพักบุปผารามบอกว่าโดนทิ้งระเบิดจนคนตายหมดสิ้น แท้แล้วคือบ้านหลังใกล้ๆ กันต่างหาก ขณะแม่ยายและลูกสาวของเขาอพยพไปหัวเมืองทันท่วงที
สภาพเคลือบ เกษร ที่เมืองเพชรบุรีนั้น ประพิมได้พบเห็นและบันทึกว่า
“เห็นสภาพของพ่อแล้วข้าพเจ้าพูดไม่ออก บอกไม่ได้ว่ามีความรู้สึกอย่างไร ข้าพเจ้าซบอยู่กับตักพ่อ พ่อกอดรัดข้าพเจ้าไว้ แม้ว่าฝ่ามือและเรือนร่างของพ่อจะเปรอะเปื้อนตามประสาคนหมดความหวัง แต่อ้อมอกของพ่อยังอุ่นอย่างยิ่งสําหรับลูก แล้วความหลังที่น่าเวทนาอย่างอนาถก็ถูกนําขึ้นมาบรรยาย ข้าพเจ้ากราบอ้อนวอนขอให้พ่อไปอยู่ด้วยที่กรุงเทพ ฯ พ่อขอเวลาก่อน คงจะยังห่วง……เพื่อนเกลอ…..น้ำเมา…..อยู่ก็ได้”
ยอดนักแหล่ย้อนคืนสู่กรุงเทพฯ อีกคราในวัยชราอายุ 74 ปี ลูกสาวทั้งสามของเขาปลื้มปีติและช่วยกันดูแลเอาใจใส่เขาอย่างดี เคลือบแวะไปพบปะเพื่อนๆ ที่สมาคมสหายสงคราม คราวนี้ ใครๆ ก็ทักหยอกเอินเกรียวกราวว่าเขาแต่งกายเรียบร้อยผิดกว่าก่อนแทบเข้าใจเป็นท่านนายพลหรือท่านนายพัน ชาวบ้านดอนสุรายังปฏิเสธสุราได้สำเร็จ เขาไม่แตะต้องน้ำเมาเลยแม้แต่จิบเดียว ชีวิตแต่ละวันหมดไปกับลูกคอขับขานกลอนแหล่เทศน์และบอกเล่าความหลังให้ลูกๆ หลานๆ ฟัง เคลือบอ่านหนังสือพิมพ์เช้าจรดเย็น อ่านละเอียดทุกหน้าทุกตัวอักษร มิเว้นประกาศโฆษณา ความที่อดีตทหารอาสาจากเมืองเพชรเคยไปสูดลมหายใจท่ามกลางบรรยากาศทวีปยุโรป เขาจึงจดจําภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมันแม่นยำ จนสามารถพูดกับใครๆ ที่มาเยี่ยมเยือนได้คล่องแคล่ว
ความเจ้าชู้เป็นสิ่งหนึ่งที่เคลือบ เกษร สารภาพโดยดี เขาเคยไล่นับชื่อภรรยาของตนเองให้ลูกๆ ฟังได้ถึง 20 คน และที่จำไม่ได้ก็ยังมีอีกมากโข ลูกที่เกิดกับเมียคนอื่นๆ ก็ไม่แน่ใจว่าไปอยู่ที่ไหนกันบ้างแล้ว
ที่ผมสาธยายมาแล้ว คุณผู้อ่านคงคาดเดาว่าเรื่องราวของเคลือบ เกษรน่าจะมาถึงจุดแห่งความสุขอันเปี่ยมล้นแล้วสินะ โอ้! ชะตาชีวิตคนเรามักเล่นตลกอยู่มิวายครับ ราวห้าโมงเย็นเศษๆ วันที่ 16 มิถุนายน พุทธศักราช 2501 ยอดนักแหล่ชาวเพชรบุรีมีอันต้องยุติการขับขานเพลงแหล่อย่างไม่มีวันที่ใครๆ จะได้ฟังน้ำเสียงเขาอีกแล้วในวัย 76 ขณะเขาเดินทางกลับจากเยี่ยมญาติที่เมืองเพชรบุรี อดีตทหารอาสากองทหารบกรถยนตร์ในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกมัจจุราชปลิดลมหายใจด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์บนถนนเพชรเกษม ตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี
ในชีวิตของผมเคยบ่อยครั้งที่ได้ฟังเพลงแหล่ รวมถึงได้อ่านชีวประวัติของยอดนักแหล่แล้วไม่รู้จักลืมเลือน ต่อให้ห้วงเวลาจะผ่านไปช้านานปานใด เคลือบ เกษร คือยอดนักแหล่คนหนึ่งที่ผมอาจมิได้ค้นพบชีวิตชีวาของเขาผ่านวิทยุ โทรทัศน์เฉกเช่นผู้ขยับลูกคอ “โอ้นิ่มน้องแม่ทองพันชั่ง พี่นาคขอสั่งก่อนบวชใจ…” หรือ “สุริยาเลื่อนลาลับ สุดคณานับ เนิ่นนานปี ณ ริมฝั่ง มหานที พระรถเมรี ร่ำรี้ ร่ำไร…” แต่กลับไปสะดุดตาเข้ากับชื่อของเขาท่ามกลางกองหนังสือเก่าๆ ที่ปรากฎร่องรอยฟันปลวกแทะเมื่อราว 3-4 ปีก่อน
ไม่เปลืองเวลาเลยที่ผมได้อ่านกลอนแหล่เทศน์ พร้อมทั้งชีวประวัติอันน่าสนใจของอดีตทหารอาสามหาสงครามโลกยอดนักแหล่ผู้นี้ และผมไม่รู้สึกเหนื่อยล้าสักนิดที่ต้องทุ่มเทเรี่ยวแรงเพื่อนั่งเขียนแนะนำเคลือบ เกษร ให้คุณผู้อ่านได้สัมผัส
อ้างอิงข้อมูลจาก
- กรมเสนาธิการทหารบก. ประวัติกองทหารอาสา ซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเล พระพุทธศักราช 2460-61-62 (ทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : กรมยุทธการทหารบก โดยกองประวัติศาสตร์ทหาร, 2553
- เคลือบ เกษร. แหล่เทศน์ประวัติ กองทหารยกรถยนต์ ซึ่งไปในงานพระราชสงคราม ทวีปยุโรปภาค 1 พ.ศ. 2461. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ์, 2562
- เคลือบ เกษร. แหล่เทศน์ประวัติ กองทหารยกรถยนต์ ซึ่งไปในงานพระราชสงคราม ทวีปยุโรปภาค 2 พ.ศ. 2462. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรนิติ์, 2562
- เคลือบ เกษร, สิบเอก. แหล่เทศน์ประวัติกองทหารบกรถยนต์ซึ่งไปในงานพระราชสงคราม ทวีปยุโรป ภาค 1-2 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ สิบเอก เคลือบ เกษร ณ เมรุวัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) พระนคร วันที่ 9-10 สิงหาคม พ.ศ. 2501, พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2501
- สมาคมสหายสงคราม. ทหารอาสาสงครามโลกอนุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 11 พฤศจิกายน 2496. พระนคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2496
- อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ราชองครักษ์พิเศษ นายกสมาคมสหายสงครามในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2526. กรุงเทพฯ :กรุงสยามการพิมพ์, 2526