เมื่อได้ข่าวสายพันธุ์เดลต้าพลัสของไวรัส COVID-19 หลายคนรู้สึกเหมือนถูกทำร้ายซ้ำๆ ทำไมมันไม่จบไม่สิ้นเสียที ทุกอย่างดูผิดปกติมาก คล้ายไวรัสชนิดนี้พยายามจองล้างจองผลาญมนุษย์กระนั้น
ที่จริงแล้ว การ ‘กลายพันธุ์’ ของไวรัส ไม่ใช่เรื่องผิดปกตินะครับ ไวรัสไหนๆ ย่อมมีโอกาสจะเกิดการกลายพันธุ์อยู่แล้วในทุกๆ ครั้งที่มันแบ่งตัว แต่ที่ ‘ผิดปกติ’ อย่างมาก ก็คือการที่โรคระบาดนี้ได้เปิดเผยให้เห็นแง่มุมอัปลักษณ์มากมายของ ‘โครงสร้าง’ สังคมที่ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างซับซ้อนและมีวิถีปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติในวงกว้างอย่างสังคมไทยของเรา
ก่อนหน้านี้ เราเคย ‘อดทน’ อยู่กับสภาพการณ์แห่งอำนาจที่ไม่สมดุลมาได้โดยตลอด เพราะถูกปลูกฝังความ ‘หัวอ่อน’ ให้ต้องยอมลงกับผู้มีอำนาจมาตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน เมื่อเข้าเรียนในระบบโรงเรียน เมื่อออกมาทำงาน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระบบราชการขนาดใหญ่อันซับซ้อนจนเกินจะเข้าใจและลุกขึ้นต่อสู้ต่อรอง
ทั้งหมดนี้ทำให้เรามองไม่เห็นความผิดปกติ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคุ้นชินกับความผิดปกติในเชิงโครงสร้างเหล่านี้ จนนึกว่ามันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เมื่อผสมเข้ากับความเชื่อเรื่องบุญกรรม แม้ถูกอำนาจเลือกปฏิบัติ หลายคนจึงทำได้เพียงปลง ยอมรับ และโทษตัวเองว่าเกิดมามีบุญญาธิการไม่เท่าคนนั้นคนนี้
มันคือภาวะ ‘จำยอม’ ที่ถูกฝังชิปเอาไว้ในหัวตั้งแต่เกิดจนแก่
แต่โรคระบาดใหญ่คราวนี้เป็นเหมือน ‘มือยักษ์’ ที่ยื่นเข้ามาบีบคอคนทุกคนอย่าง ‘เสมอหน้า’ กัน ไวรัสนั้นไม่เลือกปฏิบัติ มันไม่ discriminate ไม่สนใจด้วยว่าใครจะสูงต่ำดำขาว มียศฐาบรรดาศักดิ์อะไรอย่างไร ถ้าจะติดก็ต้องติด
สภาวะแบบนี้จึงเหมือนคลื่นยักษ์ที่ซัดโถมเข้ามากะทันหัน เป็นคลื่นแห่งความ ‘เสมอหน้า’ หรือเสมอภาคเท่าเทียมกันของธรรมชาติ ที่สาดเข้ามายังโครงสร้างผิดปกติของสังคมไทย โครงสร้างที่พยายามรักษาความเหลื่อมล้ำเอาไว้ในจิตใต้สำนึกด้วยการเลือกปฏิบัติในแทบทุกมิติ
มันเหมือนคนเมาที่อยู่ๆ ก็ ‘ถูกตบ’ อย่างรุนแรง จนต่อให้เมาแค่ไหนก็ต้องสร่างเมาแล้วหันมาตระหนักให้ได้ว่า – นี่ฉันอยู่ในสังคมที่ ‘อัปลักษณ์’ และ ‘ผิดปกติ’ อะไรอยู่หรือเปล่า
ทำไมสภาพการณ์ทั้งหมดถึงเป็นไปได้ขนาดนี้?
ทำไมเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงขนาดนี้แล้ว ระบบบริหารจัดการถึง ‘อมมือ’ กันได้ถึงเพียงนี้?
นี่เราฝากบ้านฝากเมืองเอาไว้ในมือของใครกัน คนเหล่านี้คือใคร ทำไมถึงมีอำนาจชี้เป็นชี้ตายให้กับคนส่วนใหญ่ในประเทศ ผ่านกลไกการบริหารจัดการที่เห็นได้ชัดเลยว่าเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ซ้ำซ้อน ไม่ประสานงานกัน ยักหน้ายักหลัง ไม่เปิดโอกาสให้ผู้คนมีทางเลือกและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ส่อแสดงท่าทีเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่แค่กับผู้คน แต่กระทั่งวัคซีนต่างยี่ห้อกันก็ยังถูกเลือกปฏิบัติ จนบางคนเริ่มสงสัยแล้วว่า มีอะไรเป็นแรงจูงใจในการเลือกปฏิบัติและบริหารอันอัปลักษณ์นี้หรือ
ที่จริงนั้น เราพูดได้ว่า ไวรัส ‘เกือบ’ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต เพราะมันเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในรูปแบบ ‘เรียบง่าย’ ที่สุด การที่ไวรัส ‘เกือบ’ ไม่มีชีวิต ทำให้การใช้ยาปฏิชีวนะกับไวรัสไม่ได้ผล เพราะยาปฏิชีวนะหรือ antibiotics ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเอาไว้ ‘ต้าน’ สิ่งที่มีชีวิต โดยมากคือใช้กับแบคทีเรีย แต่ไวรัสถูกกำจัดได้ยากเย็น เพราะมันแทบไม่มีชีวิตให้กำจัด สิ่งที่มนุษย์ใช้คือ ‘ยาต้านไวรัส’ (จะเห็นว่าไม่มีใครใช้คำว่า ‘ยาฆ่าไวรัส’) ซึ่งไม่ได้เข้าไป ‘ฆ่า’ มัน แต่เข้าไปขัดขวางวงจรการจำลองตัวเอง เหมือนการไปหยุดสายพานการผลิตหุ่นยนต์นั่นเอง
และเป็นวงจรการจำลองตัวเองนี่แหละ
ที่เปิดโอกาสให้ไวรัสสามารถ ‘กลายพันธุ์’
เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด!
ไวรัสนั้นไม่มีกระบวนการเมตาโบลิซึมในตัวเอง ดังนั้น มันจึงต้องไปใช้กระบวนการเมตาโบลิซึมของเซลล์ที่มันไปอาศัย (เช่นเซลล์มนุษย์) แต่ไม่ได้แปลว่ามันไปเกาะแล้วดูดกินแบบปรสิต เพราะไวรัสไม่ต้องกินอะไร มันแค่ใช้พลังงานและ ‘อุปกรณ์’ ในเซลล์เพื่อการจำลองสารพันธุกรรมของมันเท่านั้น
อย่างที่บอก ไวรัสไม่มีเมตาโบลิซึม มันเลยต้องเข้ามา ‘ขโมย’ ใช้เมตาโบลิซึมของเซลล์ ไวรัสอยากได้พลังงานแค่กระจิ๋วเดียวเพื่อเอาไว้ใช้ในกระบวนการ ‘จำลอง’ ตัวเอง ซึ่งกระบวนการนี้มีขั้นตอนใหญ่ๆ แค่สองขั้นตอน ขั้นแรกก็คือ เมื่อไวรัสเข้าไปสู่ร่างกายแล้ว มันจะพยายามหา ‘ที่เกาะ’ กับผิวของเซลล์ ซึ่งที่ยึดเกาะนี้ ส่วนใหญ่ต้องมีลักษณะจำเพาะเจาะจง มันถึงจะเกาะได้ เราเรียกที่เกาะนี้ว่า ‘ตัวรับ’ หรือ Receptors
จากนั้นก็ถึงขั้นตอนที่สอง คือเมื่อเกาะได้แล้วก็จะปล่อยหรือส่งสารพันธุกรรมเข้ามาในเซลล์ แล้วก็จะจำลองตัวเองขึ้นมา ทำให้เซลล์นั้นๆ เป็นเสมือน ‘โรงงานผลิตไวรัส’ คือจะเกิดการสร้างสารพันธุกรรมของไวรัสขึ้นมามากมาย จากนั้นแต่ละสารก็จะสร้างเปลือกหรือแคปสิดขึ้นมาห่อหุ้มตัวเองโดยใช้ทรัพยากรต่างๆ ของเซลล์ ทำให้ไวรัสทวีจำนวนขึ้นมา แล้วเกิดวงจรนี้หมุนวนซ้ำๆ เพื่อจำลองตัวเองให้มากขึ้นเรื่อยๆ
มนุษย์สร้าง ‘วัคซีน’ ขึ้นมา ด้วยการดูว่าไอ้เจ้า ‘ตัวเกาะ’ ของไวรัสที่มันใช้จับกับ Receptors คืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วก็สร้างสิ่งนี้ขึ้นในนามของวัคซีนด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่การใช้เชื้อตาย (ที่มีตัวเกาะแบบเดียวกันแต่ไวรัสไม่มีฤทธิ์อำนาจอะไรแล้ว) จนถึงวิธีใช้สารพันธุกรรมหรือ mRNA เพื่อกระตุ้น ‘ทหาร’ ในร่างกาย (หรือระบบภูมิคุ้มกัน) ให้รับรู้ว่า ตอนนี้มีศัตรูบุกเข้ามาแล้วนะ ต้องเตรียมพร้อมก่อนที่มันจะจู่โจม
แต่ปัญหาอยู่ตรงนี้ เพราะในทุกๆ กระบวนการจำลองตัวเองของไวรัส มีโอกาสอย่างมากที่จะเกิดความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในระดับสารพันธุกรรมขึ้นมา ซึ่งเจ้าความผิดพลาดนี้ ถ้าหากว่ามันไปเกิดขึ้นกับส่วนที่จะแปลงออกมาเป็น ‘ตัวเกาะ’ ทำให้ตัวเกาะมันมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไป ก็อาจเกิดเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้
หลายคนอาจสงสัยว่า ก็ถ้าเป็นแค่ความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ มันจะส่งผลใหญ่หลวงได้รวดเร็วขนาดนี้ได้อย่างไร ก็ต้องตอบว่า ที่เป็นอย่างนั้นได้ก็เพราะไวรัสมีปริมาณมหาศาล อาจจะมากกว่าทรายบนชายหาดและดวงดาวบนท้องฟ้าด้วยซ้ำ ลองนึกดูว่าหากทรายแต่ละเม็ดจำลองตัวเองขึ้นมา และทุกครั้งที่จำลองอาจเกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้น เมื่อนับรวมทั้งหมดแล้ว ความผิดพลาดจึงอาจใหญ่หลวงมหาศาลได้มากเพียงใด
เราอาจคิดว่า ไวรัสมีสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7) เบต้า (B1.351) หรือเดลต้า (B1.617.2) เท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว สายพันธุ์ของไวรัส (ที่ต้องเรียกว่า SARS-CoV-2) มีมากกว่านั้นมาก ยังมีแกมมา (พบที่บราซิล) เอพซิลอน (พบที่สหรัฐอเมริกา) แคพป้า (พบที่อินเดีย) เอต้า (พบที่ไนจีเรีย) เธตา (พบที่ฟิลิปปินส์) ไอโอต้า (พบที่นิวยอร์ค) แลมบ์ดา (พบที่เปรู) และอื่นๆ อีก นั่นเพราะมันจำลองตัวเองอยู่ตลอดเวลา ความผิดพลาดที่เกิดจากการจำลองตัวเองจึงอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นกัน หากปล่อยให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคมากขึ้น แนวโน้มที่จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ก็จะมากขึ้นแบบทวีคูณ
แน่นอน การเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้แปลว่าต้องอันตรายเสมอไป เพราะบางสายพันธุ์ใหม่ต่อให้มีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนเดิม แต่ก็ไม่ได้ทำให้คุณสมบัติของมันเปลี่ยนไปในทางร้ายมากขึ้น เช่น อาจจะไม่ได้ติดต่อได้ง่ายขึ้นหรือมีอาการหนักขึ้น บางการกลายพันธุ์อาจเป็นคุณกับมนุษย์ด้วยซ้ำ องค์การอนามัยโลกหรือ WHO จึงไม่ได้เตือนให้เราต้องระวังสายพันธุ์เหล่านี้ แต่กระนั้นก็จับตามองอยู่เสมอ เพราะสายพันธุ์ที่แตกกิ่งออกไปนี้ก็อาจกลายพันธุ์ต่อไปอีกจนอันตรายได้ทุกเมื่อ
วิธีเดียวที่จะยับยั้งไวรัสไม่ให้มันกลายพันธุ์จนเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่อาจร้ายแรงมากขึ้นมีอยู่วิธีเดียว นั่นคือต้อง ‘หยุด’ มัน
และตัวหยุดที่สำคัญที่สุด – ก็คือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจริงๆ
ถามว่า – คำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ คืออะไร?
คำตอบในอุดมคติก็คือ วัคซีนที่ดีที่สุด
จะต้องมีประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อและการแพร่เชื้อต่อได้
นั่นแปลว่าเมื่อไวรัสแพร่มาเรื่อยๆ จนถึงคนที่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มันก็จะ ‘หยุด’ ไม่สามารถแพร่ต่อไปได้อีก ถือเป็นการสิ้นสุด (Terminate) การจำลองตัวของมัน ซึ่งยิ่งมีคนได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยหยุดการจำลองตัวของไวรัสได้มากเท่านั้น นั่นแปลว่าจะไปลดโอกาสที่จะเกิดการกลายพันธุ์ได้ด้วย
แต่ปัญหามันอยู่ตรงนี้เอง
ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า – เพราะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ในตอนแรกเริ่ม เราจึงยังไม่รู้แน่ชัดว่าวัคซีนตัวไหนกันแน่ที่เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพมากกว่ากัน นั่นทำให้เกิดการ ‘เลือก’ วัคซีนในแบบจำเพาะเจาะจงหรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งหากต่อมามี ‘ความรู้’ มากขึ้นแล้วขยายไปโอบรับวัคซีนอื่นๆ อย่างรวดเร็วทัดเทียมกันด้วย ก็จะเรียกได้ว่าไม่เลือกปฏิบัติ – แต่ภาพที่เห็นไม่ใช่อย่างนั้นเลย
ปัญหายังอยู่ตรงที่ว่า – เพราะเราไม่ได้อยู่ในโลกแห่งอุดมคติที่ทุกคนเสมอหน้าเท่าเทียมกัน การกระจายวัคซีนจึงเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น สนใจ ‘หน้า’ ของผู้มีอำนาจมากกว่าการได้รับวัคซีนจริงของผู้คน จากสองวันแรกที่มีการฉีดวัคซีนถึงวันละเกินสี่แสนคน เราได้เห็นความพยายาม ‘สอน’ ให้รู้จัก ‘ดึง’ จำนวนวัคซีนเอาไว้เพื่อเกลี่ยกระจายให้เหมาะสมกับจำนวนวัคซีนที่เข้ามาโดยไม่มีใครออกมายอมรับว่าวัคซีนมีไม่เพียงพอจะฉีดในปริมาณมากเท่าสองวันแรก ทั้งที่นั่นแสดงให้เห็นว่าบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนมีความพร้อมจะฉีดวัคซีนกันมากแค่ไหน
ปัญหายังอยู่ตรงที่ว่า – เราอยู่ในสังคมที่ถูกปลูกฝังให้ ‘หัวอ่อน’ ต่อ ‘อำนาจนิยม’ ที่มีลักษณะรวมศูนย์ที่แข็งแกร่งในกลยุทธ์และความเจ้าเล่ห์ทางการเมืองแต่อ่อนแอในความรู้ทางการแพทย์และสังคม เราจึงต้องพบการบริหารจัดการแบบเดิมที่คุ้นชินกับการ ‘เลือกปฏิบัติ’ ที่ถูกนำมาต่อกรกับการแพร่ระบาดแบบ ‘ไม่เลือกปฏิบัติ’ ในมิติต่างๆ
และมันไปด้วยกันไม่ได้
มันจึงไม่มีประสิทธิภาพ!
เมื่อปัญหาเหล่านี้มาชุมนุมกัน จึงก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกซ้อนทับเข้าไปอีก เพราะโรคระบาดทำให้เราเห็นความด้อยประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ แต่การบริหารจัดการที่คุ้นชินกับอำนาจก็ยิ่งกระชับมือแน่นในอำนาจ พยายามออกมาตรการต่างๆ ด้วยคิดว่าจะแก้ไขปัญหาได้ แต่กลับยิ่งซ้ำเติมปัญหาในมิติต่างๆ มากมายไม่รู้จบโดยไม่เคยตระหนักเลยว่า – บางทีตัวเองนั่นแหละอาจเป็นตัวปัญหา
เราถูก ‘บีบ’ ให้มีวัคซีนที่เข้าถึงได้อยู่เพียงสองสามชนิด
โดยไม่รู้ ‘เหตุผล’ ที่แท้จริงว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
ทั้งที่ควรเปิดกว้างให้มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพต่อคนกลุ่มต่างๆ เข้ามาให้มากที่สุด เพื่อหยุดการ ‘ไม่เลือกปฏิบัติ’ ของไวรัสให้เร็วที่สุด
การเลือกปฏิบัติเกิดตั้งแต่เลือก ‘ทรีต’ วัคซีนเฉพาะบางตัวให้มีเหลือเฟือฟาย และอีกบางตัวให้เข้าถึงได้ยากด้วยกระบวนการและระบบราชการอันซับซ้อน ซึ่งหากไม่อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรง ก็อาจไม่มีใครตั้งคำถามมากนัก แต่ในสภาวการณ์ที่ทุกอย่างเลวร้ายลงจนแทบใช้คำว่า ‘ใกล้จะฉิบหายอยู่แล้ว’ ได้ไม่ยาก การยังดึงดันปฏิบัติแบบเดิมอยู่ ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า – ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
เมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยของศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ (Center on International Cooperation โดย New York University) ชื่อ ‘Inequality, Lockdown, and COVID-19: Unequal Societies Struggle to Contain the Virus’ ซึ่งสำรวจสถานการณ์การระบาดระลอกแรกเมื่อปีที่แล้วในประเทศต่างๆ 70 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย พบว่าแม้เป็นการระบาดระลอกแรก แต่ภาพที่ปรากฏก็คือ – ความเหลื่อมล้ำนั้นส่งผลต่อการระบาดอย่างมาก เช่น การระบาดมักเกิดในกลุ่มคนรายได้น้อยที่ต้องอยู่อย่างแออัด และมี ‘มาตรฐานความเป็นอยู่’ ที่ ‘ต่ำ’ กว่าคนรายได้สูง ทำให้พบกับการแพร่ระบาดสูงกว่า แต่เพราะไวรัสไม่ได้เลือกปฏิบัติ ดังนั้นการระบาดในคนที่อยู่ข้างล่าง สุดท้ายก็จะแพร่ไปหาคนที่อยู่ข้างบนได้อยู่ดี การปะทะกันระหว่างการเลือกปฏิบัติกับไม่เลือกปฏิบัติ ระหว่างวิถีที่มนุษย์สร้างขึ้นกับความเป็นจริงโดยธรรมชาติ และระหว่างร่างกายมนุษย์ที่มีชีวิตกับไวรัสที่เกือบไม่มีชีวิต – จึงเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นรุนแรง และส่งผลย้อนกลับไปหาความเหลื่อมล้ำให้ยิ่งหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อมองในภาพใหญ่ อาจพูดได้เลยว่าหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป สุดท้ายแรงดึงของสองสิ่งที่ก่อให้เกิดความเค้นเครียดในสังคมอย่างรุนแรง อาจฉุดกระชากทำลายกันจนสังคมทั้งหมดต้องเสื่อมสลายลงจนอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลวที่ไม่อาจฟื้นฟูขึ้นมาอีกก็เป็นได้
เพราะเมื่อไวรัสไม่เลือกปฏิบัติ แต่สำนึกของคนชั้นนำยังฝังแน่นอยู่กับการเลือกปฏิบัติ,
ความฉิบหายย่อมคือปลายทาง