“เราอาจจะรอดจากไวรัสโคโรน่า แต่ตายด้วยความหิวโหย” คือ คำพูดของ Imran Khan นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ต่อมาตรการปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 คำพูดนี้สะท้อนถึงความจำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจปัญหาและมาตรการเพื่อรับมือกับ COVID-19 ในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ นักเศรษฐศาสตร์แนวหน้า จำนวน 20 คน (อาทิ Joseph Stiglitz Kaushik Basu และ Anne Krueger) รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณะสุข ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำ G20 เรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเข้าช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอย่างเร่งด่วน แม้ว่าผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ในขณะนี้ คือ ประชากรในประเทศร่ำรวย อย่างสหรัฐอเมริกา อิตาลี และสเปน แต่ประสบการณ์จากการระบาดของ Ebola (2014-2016) และ Swine flu (2009-2010) สอนเราว่า ความเสียหายทั้งทางชีวิตและทรัพย์สินมีแนวโน้มรุนแรงกว่า หากเกิดการระบาดของโรคในประเทศยากจน บทความนี้จะพาไปสำรวจว่าทำไมการจัดการกับไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาถึงได้แตกต่างและยากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
เมื่อดูภาพรวมของจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ในขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2563 จาก WHO) ประเทศกำลังพัฒนายังคงมีผู้ติดเชื้อน้อยกว่าประเทศที่ร่ำรวยอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น ซูดาน (5 คน) ลาว (8 คน) อียิปต์ (576 คน) และอินเดีย (979 คน) แต่อย่าลืมว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 100 คน เป็น 100,000 คน ภายใน 22 วัน การเตรียมความพร้อมและวางแผนเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในช่วงเวลานี้
การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา 3 ทางด้วยกัน อย่างแรก คือ 1. การลดลงของความต้องการของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน เหล็ก และทองแดง ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปแอฟริกา 2. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย มีการปลดพนักงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร (แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีมากกว่า 1 ล้านคนใน เคนย่า แทนซาเนีย เอธิโอเปีย และแอฟริกา) 3. เงินส่งกลับของแรงงานย้ายถิ่น (remittance) ลดลง เพราะเศรษฐกิจในประเทศที่แรงงานกลุ่มนี้ไปทำงานก็ย่ำแย่เช่นเดียวกัน อัตราแลกกเปลี่ยนของเงิน (remittance) มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ค่าเฉลี่ยของอัตราแลกกเปลี่ยนของเงิน ของ 13 ประเทศในทวีปแอฟริกา มีสัดส่วนประมาณ 5% ของจีดีพีของแต่ละประเทศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้กระทบรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนมากก็คือ ‘คนจน’
เมื่อมาดูมาตรการที่ใช้ในรับมือ COVID-19 อย่างแพร่หลายในประเทศ
ก็พบว่า หลายมาตรการอาจใช้ไม่ได้ผล หรืออาจทำให้สถานการณ์
ในประเทศกำลังพัฒนาแย่ลงกว่าเดิม
หนึ่งในมาตรการที่ใช้ในการต่อสู้กับ COVID-19 คือ ‘Social Distancing’ หรือ การเว้นระยะห่างทางกายภาพกับบุคคลอื่น (เช่น การอยู่ห่างกัน 1.5-2 เมตร การงดรวมตัวกันในสถานศึกษาหรือสถานบันเทิง การทำงานหรือเรียนออนไลน์ เป็นต้น) แม้ว่าการเว้นระยะห่างจากสังคมจะช่วย ‘Flatten the curve’ (การลดความชันของจำนวนผู้ติดเชื้อในระยะเวลาหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงจุดที่มีผู้ป่วยเข้ามารักษาพยาบาลพร้อมกันจำนวนมากจนระบบสาธารณะสุขรับไม่ไหว) แต่ไม่ใช่ทุกคน ทุกอาชีพ ที่จะสามารถเว้นระยะห่างจากสังคมได้ ดังนั้น social distancing จึงมีราคาที่ต้องจ่าย
เบื้องหลังตึกสูงในมหานคร คือ ชุมชนแออัด ไม่เพียงสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดมาจากการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียม แต่ยังหมายถึงความยากในการจัดการปัญหาการระบาดของไวรัส ลองนึกถึง ‘คนจน’ ที่อาศัยอยู่ในสลัม ที่มีคนอยู่อย่างหนาแน่น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ คนจนเหล่านี้จะทำ social distancing ได้อย่างไร หรือถ้าจะยกตัวอย่างให้ครอบคลุมจำนวนคนเมืองมากขึ้น เรารู้ดีว่า social distancing คือการอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร แต่เมื่อขึ้นรถเมล์สาย 26 มีนบุรี-อนุสาวรีย์ จาก 1.5 เมตร ก็คงเหลือเพียง 1.5 เซนติเมตร
เพื่อต่อสู้กับ COVID-19 มีคำแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ เพราะเราใช้มือในการจับ สัมผัส สิ่งของต่างๆ มากที่สุด แต่คนจนจะล้างมือบ่อยๆ ได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาไม่มีแม้กระทั่งน้ำสะอาดไว้ให้กินดื่ม จากการประมาณโดยองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization) มีประชากรกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดได้ (safely managed drinking water) ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีคนกว่า 1 ล้านคนที่ต้องเสียชีวิตเพียงเพราะดื่มน้ำที่ไม่สะอาด ไม่ต้องพูดถึงเจลล้างมือ (hand sanitiser) ที่ขวดหนึ่งก็ราคาเกือบ 100 บาท (เทียบเท่า 1 ใน 3 ของค่าแรงขั้นต่ำของคนไทย) คนจนจะเอาเงินจากที่ไหนไปซื้อ
การกักตัวอยู่ที่บ้าน (#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ) อาจเป็นเรื่องแปลกใหม่ของคนรวย ได้ลองร้านอาหารแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ขนโปรโมชั่นออกมาเป็นว่าเล่น อยากได้อะไรก็เปิดแอพส่งตรงถึงหน้าบ้าน แต่สำหรับคนจน การออกจากบ้าน คือ ‘หนทางเดียว’ ที่จะทำงานหาเลี้ยงปากท้องของคนทั้งครอบครัว ท้ายที่สุด แม้ว่ารัฐบาลจะห้าม (หรือขอร้องวิงวอน) คนกลุ่มนี้ก็ยังต้องออกไปทำงานข้างนอกอยู่ดี เพราะงานของพวกเขาใช้แรงกายเป็นหลัก (physical presence) ลองนึกถึง วินเมอเตอร์ไซค์ พนักงานกวาดถนน ภารโรง งานเหล่านี้ work from home ไม่ได้
การค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน (petty trading) ถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศในทวีปแอฟริกา การปิดพรมแดน (border closure) ย่อมส่งผลต่อรายได้ของคนกลุ่มนี้ด้วย หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจนกระทั่งเกิดการปิดเมืองหรือปิดประเทศ (lockdown) หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือมากพอที่จะชดเชยรายได้ ไม่มีการจัดหาอาหารให้ คนอาจจะ “ไม่ได้ตายเพราะโควิด แต่ตายเพราะความหิวโหย” อย่างที่นายกรัฐมนตรีปากีสถานพูด
เมื่อเกิดการระบาดหนัก ประเทศกำลังพัฒนาอาจไม่สามารถ
รับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีระบบสาธารณสุขที่แย่กว่า
ยกตัวอย่างเช่น ทวีปแอฟริกามีอัตราส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 3,000 คน ขณะที่ทวีปยุโรป แพทย์ 1 คน รับผิดชอบคนไข้แค่ 300 คน รวมไปถึงจำนวนเตียง (intensive-care beds) และเครื่องช่วยหายใจ (ventilator) ที่มีจำนวนน้อยกว่า นอกจากนั้น จำนวนคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจาก COVID-19 อาจไปกระทบแผนการรักษาโรคระบาดอื่นๆ ที่เกิดมาก่อน COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นอีโบล่า มาลาเรีย หรือ HIV สำหรับประเทศไทยเอง แพทย์มีความจำเป็นที่จะต้องยืดระยะเวลาการนัดให้นานมากขึ้น หรือเลื่อนการผ่าตัดที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนออกไปก่อน ซึ่งคนไข้บางคน…ก็อาจจะรอไม่ได้
มาดูกันที่มาตรการช่วยเหลือเยียวยา แม้ว่าการแจกเงิน (cash transfer) จะเป็นวิธีการที่เร็วที่สุด และ (อาจจะ) มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ปัญหาสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา คือ ไม่รู้จะเอาเงินจากไหนมาแจกให้กับประชาชน งบประมาณเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่า GDP ของประเทศไทยทั้งประเทศเสียอีก ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่เล็กกว่า ทำให้งบประมาณที่มาจากภาษีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศร่ำรวย ปัญหาการลดลงของงบประมาณรายปีเพราะต้องจัดสรรให้กับค่าใช้จ่ายในช่วงการระบาดของ COVID-19 อาจทำให้หลายประเทศต้องไปลดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สุขภาพ หรือเลื่อนโครงการที่เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานออกไปก่อน ความร่วมมือระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว องค์กรระหว่างประเทศ รวมไปถึงเศรษฐี จึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
ผลกระทบและมาตรการในการรับมือกับโควิด-19 ในประเทศกำลังพัฒนา ต้องการ ‘ชุดความคิด’ ที่ต่างออกไป การนำมาตรการของต่างประเทศมาใช้ ต้องมีความรอบคอบและคิดให้มากกว่า ‘ต่างประเทศก็ทำกัน’