“เวลามีมูลค่า” เป็นคำกล่าวที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยกล่าวไว้
“เวลาอยู่ข้างเรา” ก็เป็นคำพูดที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวให้ได้ยินบ่อยๆ
ที่ทั้งสองแกนนำ ‘ของคนรุ่นใหม่’ ในสนามการเมืองว่ามานั้นก็คงจะจริงครับ แต่พร้อมๆ กันไป ณ เวลานี้ที่การเลือกตั้งถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก กระทั่งที่กำหนดวันอย่างชัดเจนแน่นหนาไว้แล้วว่า “24 กุมภาพันธ์” นะ ก็ยังจะต้องเลื่อนอีก ก็ต้องยอมรับความจริงกันไปน่ะนะครับว่า แม้จะอยากสนับสนุนคำพูดของสองคนข้างต้น แต่ความเป็นจริงมันไม่ลงรอยกับคำกล่าวข้างต้นนัก เพราะความจริงในตอนนี้กำลังบอกเราว่า
“เวลาไม่ใช่ของ(พวก)คุณ” คนตัดสินและเป็นเจ้าของเวลาไม่ใช่เราครับ มันอาจจะไม่ได้อยู่ข้างเราอย่างที่ธนาธรบอกไว้ กระแสของความรุ่นใหม่และหนุ่มสาวอาจจะไม่ได้ครอบครองเอากาลเวลามาไว้กับตนเองได้อย่างที่ใคร่หวังก็เป็นได้ ไม่เพียงแค่ ‘เวลาไม่ใช่ของเรา’ แล้ว เหล่าเจ้าของเวลาของประเทศนี้ก็ดูจะตอกย้ำเสียเหลือเกินว่า
“เวลาไม่ได้มีมูลค่าสำหรับฉัน” จะใช้ทิ้งใช้ขว้างอย่างไรก็ได้ ซึ่งน่าแปลก เพราะเหล่าคนแก่กะโหลกกะลาที่เป็นเจ้าของเวลาของประเทศนี้ ผู้ซึ่งเวลาของตัวพวกเขาเองดูจะเหลือน้อยเต็มทีแล้วและควรจะเห็นค่าของเวลามากๆ กลับทิ้งขว้างราวกับมันไม่ได้มีค่าอะไรนักเลย
ก็นั่นแหละครับ เวลาที่มีค่าสำหรับเรา อาจจะไร้ค่าสำหรับพวกเขา และเวลาที่ยังอยู่ในกำมือพวกเขาก็คงจะยังมายืนเคียงข้างพวกเราไม่ได้ง่ายๆ และใช่ครับ ‘เขา’ ที่ว่าเป็นเจ้าของเวลาในที่นี้ผมก็พูดถึงรัฐบาล คสช. นี่แหละ ไม่ใช่ใครอื่นหรอก และหากมันเป็นการเลื่อนการเลือกตั้งแบบเดิมๆ ผมก็คงจะไม่มาเขียนอะไรซ้ำอีก เพราะเคยเขียนไปเต็มๆ ทีหนึ่งแล้วว่าด้วย ‘การเมืองของคำสัญญา’ (Politics of Promise)[1] แต่ครั้งนี้เป็นการเลื่อนแบบที่ตัวผมเองคิดว่ามีปัจจัยที่ต่างไปบ้าง ก็เลยอยากจะเขียนถึงในจุดที่ต่างออกไปดูบ้าง
จุดสำคัญที่สุดที่ทำให้การเลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ ก็อย่างที่รู้ๆ กันครับ คือ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562[2] และหลายฝ่ายทั้ง คสช. อย่างนายวิษณุ เครืองาม รวมไปถึง กกต. ต่างก็ออกมาเสนอถึงทางเลือกต่างๆ มากมาย ซึ่งทางเลือกทั้งหมดนั้นอยู่บนฐานของการเลื่อนวันเลือกตั้งทั้งสิ้น
การเลื่อนครั้งนี้เอง โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่คิดว่าจะเป็นการ ‘ผลัดวัน’ เหมือนการเลื่อนครั้งก่อนๆ ของ คสช. อีก เพราะหากว่ากันในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว การเลื่อนการเลือกตั้งนั้นไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับทาง คสช. มากนัก ไม่เพียงเท่านั้น ‘อิทธิพลทางความรู้สึก’ หลายๆ อย่างที่พยายามสร้างขึ้นจากเงินนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสารพัดนโยบายประชารัฐที่กระหน่ำลดแลกแจกแถมในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงการแจกเงินบัตรคนจนคนละ 500 บาทนั้น ก็อาจจะ ‘หมดพลังยิ่งๆ ขึ้นไป’ หากยิ่งประวิงเวลานานขึ้น ไม่ต้องพูดถึงว่าจะขยับเวลาเพิ่มขึ้นไปสัก 1 เดือน ก็ไม่ได้ทำให้ คสช. สามารถสร้างกติกาอะไรที่จะมาเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่มากนัก ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ มีโอกาสในการหาเสียงมากขึ้น
ด้วยเหตุผลดังว่ามาแล้ว อาจจะเป็นครั้งแรกที่ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่พยายามจะบอกในการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ คสช. แต่ต้องเลื่อนเพราะจะมีการจัดพระราชพิธีฯ งานพระราชพิธีฯ ไม่สำคัญหรือ?” (มีการถามกลับใส่นักข่าวอีกแหนะ) แต่หากเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ คสช. จริงดังที่พลเอกประวิตรอ้างไว้ ก็ยิ่งแปลได้เด่นชัดว่า ผู้เป็นเจ้าของสูงสุดของเวลาและทิศทางทางการเมืองของประเทศนี้ไม่ได้สุดอยู่แต่เพียง คสช. แล้ว แต่จะเป็นใครเล่านั้นก็คงมิอาจระบุแน่ชัดได้
แต่ในขณะที่ทุกฝ่ายต่างพยายามเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง ‘เงื่อนเวลา’ ที่จู่ๆ เกิดขึ้นนี้ ทุกคนดูจะแก้ปัญหาบนฐานคิดเดียวกันกับพลเอกประวิตรหมด ไม่ว่าจะ กกต. หรือวิษณุ นั่นก็คือ “งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำคัญ” แต่คำถามที่ทำให้ผมฉุนกึกที่สุดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ
“แล้วประชาชนมีที่ทางตรงไหนในประเทศนี้?” เพราะในกระบวนการคิดทั้งหมดนั้น ผลประโยชน์ของประชาชนไม่เคยมีที่ทางในสมการความคิดและข้อเสนอใดๆ ด้วยเลย
หนึ่งในคำอธิบายเรื่องความสำคัญของงานพระราชพิธีต่างๆ ของไทยมักจะยึดโยงอยู่กับคุณงามความดีที่สืบทอดต่อมาและคนในชาติพึงเคารพตอบแทน กับเรื่องการเป็นประเพณีวัฒนธรรมอันยาวนานสืบเนื่องมาของไทย ที่ไม่เหมือนพวกฝรั่งมังค่าประวัติศาสตร์สั้นกระจุ๊ดแบบสหรัฐอเมริกา ที่คงจะไม่มีทางจะมาเข้าใจความแตกต่าง (uniqueness) ของชนเราหรอกครับ ผมเลยอยากจะเล่าอะไรเป็นเกร็ดให้ฟังแต่พอเล็กน้อย เพราะเราควรจะเปิดปีกันด้วยเรื่องเบาๆ เนอะ ไม่ควรมาทฤษฎีวิชาการอะไรหนักมากนัก
เรื่องที่จะเล่านั้นไม่ใช่อะไรลับหรือใหม่หรอกครับ จริงๆ แล้วเป็นข่าวใหญ่ที่แทบทุกท่านน่าจะเคยได้ยินมาแล้ว คือ ในวันที่ 30 เมษายนนี้ พระจักรพรรดิอากิฮิโตะของประเทศญี่ปุ่นนั้น จะสละราชบัลลังก์ แต่ผมคิดว่าหากรู้เรื่องข่าวนี้และติดตามข่าวนี้มาบ้าง จะทราบกันดีว่าวันที่ ‘30 เมษายน’[3] ที่ว่านี้ไม่ได้เพิ่งมากำหนดนะครับ พระจักรพรรดิทรงแสดงความปรารถนาจะสละราชบัลลังก์มานานหลายปีแล้ว และก็ต้องมีการเจรจาต่อรองระหว่างตัวพระองค์เอง สำนักพระราชวัง และรัฐบาลหลายครั้ง จนกว่ารัฐบาลจะยินยอมให้สละราชบัลลังก์ได้ และกำหนดวันสละราชบัลลังก์ขึ้น โดยให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ให้มีเวลาได้จัดเตรียมการต่างๆ ให้พร้อมนั่นเองครับ
และก็อย่างที่แทบทุกคนคงจะทราบอยู่แล้วว่าญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนานมากๆ นานกว่าประเทศไทยเราเกิน 2 เท่าเสียอีก ทั้งยังมีความสัมพันธ์และได้รับการเคารพบูชาจากประชาชนมาโดยตลอด ทั้งในฐานะสมติเทพ ผู้นำทางการเมือง และ/หรือผู้นำกองทัพตามแต่ยุคสมัยไป ว่ากันอีกแบบก็คือ ข้ออ้างหรือคำอธิบายหลักที่ประเทศไทยมักใช้อธิบายความสำคัญของงานพระราชพิธีนั้น ทางญี่ปุ่นเองก็มีเช่นเดียวกัน และเข้มข้นไม่ด้อยกว่ากันด้วย
แต่เรื่องราวของพระจักรพรรดิอากิฮิโตะนั้นบอกอะไร?
ประการที่หนึ่ง ในรัฐที่คิดจะเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประมุขของรัฐที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ไม่มีสิทธิหรืออำนาจใดๆ ที่จะใช้อำนาจในทางสาธารณะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับตำแหน่งประมุขในรัฐของตน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ของสถาบันการปกครองที่สืบเนื่องยาวนานมาปานใดก็ตาม อย่างญี่ปุ่นที่พูดถึง หรือกรณีของประเทศสหราชอาณาจักรเองก็ตาม เพราะฉะนั้นการกำหนดวันที่ที่จะสละราชบัลลังก์ของพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเองนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่พระองค์จะมีดำริสั่งลงมาได้เลย หรือกำหนดตามพระทัยได้ แต่ต้องทำการยื่นเรื่องและขออนุญาตจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นตัวแทนของประชาชนก่อน
ทั้งนี้เพราะว่า ในวิธีคิดแบบประชาธิปไตยนั้น ประชาชนต้องมีพื้นที่ ต้องเป็นตัวแปรอยู่ในทุกสมการทางการเมืองและการดำเนินการที่กระทบต่อสาธารณะเสมอ
ประการที่สอง เมื่อประชาชนสำคัญ กำหนดการอะไรก็ตามทีโดยหลักการแล้วต้องยึดถือที่กระทบประชาชนน้อยที่สุดเป็นหลัก งานพระราชพิธีสละราชบัลลังก์ของพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจึงใช้เวลานานมากครับกว่าจะกำหนดและหาสล็อตได้ ว่าง่ายๆ ก็คือ ต่อให้พระจักรพรรดิอากิฮิโตะมีความต้องการส่วนพระองค์ที่จะสละราชบัลลังก์เร็วกว่าวันที่ 30 เมษายน (ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะพระองค์ทรงดำริเรื่องนี้มานานปีแล้ว) ก็ไม่สามารถ ‘แทรกตารางกำหนดการอื่นๆ ที่มีขึ้นเพื่อประชาชนได้’ กำหนดการ หรือพิธีกรรมเพื่อตัวพระจักรพรรดิจึงต้องมาทีหลังกำหนดการของประชาชนนั่นเอง
เพราะฉะนั้นเพื่อจะตอบคำถามต่อวิธีคิดอันเป็นฐานของทั้งรัฐบาล คสช. และ กกต. ตอนนี้ ตามที่พลเอกประวิตรได้ ‘เปรย’ ไว้ว่า “งานพระราชพิธีฯ ไม่สำคัญหรือ?” ก็ตอบได้นะครับว่า ตามฐานคิดของระบอบประชาธิปไตยแล้ว “งานพระราชพิธีฯ ก็สำคัญ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปกระทบกับกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้ง” เพราะฉะนั้นในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ โดยปกติแล้วทางแก้ไขที่สากลโลกเขาจะใช้กันนั้นจึงไม่ใช่การเลื่อนหรือย้ายวันเลือกตั้งซึ่ง ‘เป็นของประชาชน’ หรอกครับ
แต่ก็นั่นแหละครับ ประเทศเราไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ความสำคัญของประชาชนในสมการทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยนั้นก็ไม่ได้มีความหมายอยู่แล้ว เวลาที่มีมูลค่าเหลือเกินสำหรับเรา เวลาที่เราทนอยู่กับรัฐบาล คสช. มาเกือบจะ 5 ปี และไม่อยากจะอยู่เพิ่มอีกแม้แต่วันเดียวนั้น ก็ถูกตีความว่าไร้ค่าไปเสีย เวลาที่เราคาดหวังว่าจะมาอยู่ข้างเรา ก็ถูกผลักให้ขยับหนีไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าตายไปแล้วจะได้เดินเคียงข้างกันไหม แต่อย่างน้อยมันก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็น (ซ้ำแล้วซ้ำอีก) ว่า ‘เจ้าของเวลา’ ของประเทศนี้ในปัจจุบันไม่เคยปราถนาในประชาธิปไตยอะไรเลยอย่างที่ตัวพวกเขาชอบอ้างอยู่เสมอ
หากผมพอจะแนะนำอะไร กกต. ที่ไม่มีเครดิตอะไรแต่แรกจะให้หวังด้วยอยู่แล้วนั้นอีกสักอย่างก็คือ การให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เป็นผู้ดำเนินการจัดงานพระบรมราชาภิเษกแทนที่รัฐบาลเผด็จการ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี และสมศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับกับนานาชาติได้มากกว่านะครับ การทำแบบนี้เองน่าจะเป็นประโยชน์กับสถาบันอันเป็นประมุขของรัฐมากกว่าด้วย เพราะอย่างน้อยก็แสดงให้โลกได้เห็นถึงความพยายามที่จะยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่ฝากทุกสิ่งอย่างไว้ในมือทหารเผด็จการ
ขอให้คิดและมองกันดีๆ นะครับว่า ภายใต้เหตุการณ์รอยเลื่อนของการเลือกตั้งในครั้งนี้ “ประชาชนมีที่ทางตรงไหนในประเทศนี้” สวัสดีปีใหม่ 2562 ที่ดูเหมือน 2462 ครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู thematter.co
[2] โปรดดู www.bbc.com
[3]โปรดดู www.bbc.com