เด็กยุคนี้มีทางเลือกหลากหลายมากในการศึกษาหาความรู้ สมัคร MOOC ก็ได้ เปิดดู YouTube ก็มี สงสัยทีก็เสิร์ชหา Google คำถามที่เกิดขึ้นคือห้องเรียนที่มีกระดานดำอยู่หน้าห้อง ยังจำเป็น หรือตอบสนองวิธีการเรียนรู้ของเด็กสมัยนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่?
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘คุณเบียร์ พันธวิศ ลวเรืองโชค’ ผู้ก่อตั้ง Apostrophys Group และร่วมมือกับ Thammasat Design School ออกแบบและสร้างห้องเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้ทำการถอดรหัสจากห้องเรียนในหลายๆ ประเทศทั่วโลก มาลองปรับใช้กับประเทศไทย ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างพร้อมใช้ภายในปีหน้า
The MATTER : Apostrophys Group ทำอะไร
คุณพันธวิศ : จริงๆ เราทำงานคอมเมอร์เชียลครับ อยู่ในแวดวงงานโฆษณา จัดอีเวนท์ ทำโปรโมชั่น เน้นการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ณ จุดขาย ทำมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ทุกโปรเจกต์ เราจะพยายามแทรกพื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์ พื้นที่ของการเรียนรู้ และศิลปะต่างๆ เข้าไปในงานเหล่านั้น ทำให้ข้อความเหล่านี้สื่อสารไปหาคนได้ และคนเข้ามาหาได้ เพราะจัดงานตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ
เราเชื่อว่างานคอมเมอร์เชียลเป็นงานที่เราหลีกหนีไม่ได้ แล้วก็จะมีมากขึ้นในทุกๆ วัน เพราะเราอยู่ในโลกทุนนิยม แต่มันก็จะดีกว่า ถ้าเราได้แทรกแนวคิดดีๆ เข้าไปอยู่ในงานพวกนี้ด้วย
The MATTER : ผลงานอะไรบ้างที่บอกว่าแทรกข้อความบางอย่างที่ต้องการสื่อสารลงไป
คุณพันธวิศ : จริงๆ ก็หลายงานครับ อย่างเช่น โปรเจ็กต์พิเศษร่วมกับ EPSON ทำ CAFE’ TUBE แสดงการใช้งานเลเซอร์โปรเจ็คเตอร์ โดยนำเครื่องโปรเจคเตอร์เข้ามาอยู่ใกล้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ผ่านคาเฟ่ และอีกโปรเจ็กต์ที่มีโอกาสได้ทำห้องมัลติมีเดียให้นิทรรศการในหลวง ที่อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ หรือร่วมกับ COTTO ทำห้องมัลติมีเดียในงาน Milan Design Week
แต่ที่อยากเล่าให้ฟังคือสวนแสงลอยฟ้าราชประสงค์ (Thailand the Kingdom of Lights) งานนั้นเป็นงานที่ลูกค้าไม่ได้จ้าง แต่เราร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นออร์แกไนเซอร์ร่วมทุนกัน แล้วค่อยหาสปอนเซอร์ เรามองว่าตรงนั้นถูกใช้เป็นพื้นที่สัญลักษณ์ทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่ที่รองรับชาวต่างชาติจำนวนมาก เราก็เลยจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อทำให้เขาเห็นว่า ถึงมันจะเป็นพื้นที่ที่เคยไม่สงบ แต่ตอนนี้สถานการณ์ก็ดีขึ้นแล้ว จัดงานได้ มาเที่ยวได้ พองานออกสื่อในต่างประเทศ ก็ช่วยให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตานักท่องเที่ยวดีขึ้น นี่ก็เป็นงานหนึ่งที่เราพยายามสอดแทรกอะไรบางอย่างลงไป
The MATTER : ช่วยเล่าเรื่องโปรเจกต์ Aposs Creative Platform ที่ทำกับ Thammasat Design School ให้ฟังหน่อย
คุณพันธวิศ : มันเริ่มจากงานวิจัยเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคที่เราทำไว้ให้ลูกค้าตั้งแต่สองปีที่แล้ว เราศึกษาผลของเทคโนโลยีที่มีต่อพฤติกรรมของคน ซึ่งเราเรียกว่า ‘สังคม 10 วิ’ เพราะเทคโนโลยีและโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้คนจดจ่อกับการรับรู้สิ่งต่างๆ ได้เพียง 10 วินาที หมายถึงตอนนั้นนะ แต่ตอนนี้ก็ลดเหลือแค่ 3-4 วินาทีแล้ว
อีกประเด็นหนึ่งที่เราศึกษาคือฮาร์ดแวร์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนเช่นกัน เช่น การเปลี่ยนจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเป็นแล็ปทอป ก็ทำให้คนก็ไม่ต้องนั่งทำงานติดโต๊ะที่ออฟฟิศแล้ว แล้วทั้งฮาร์ดแวร์และพฤติกรรมคนก็เปลี่ยนเร็วขึ้นตามเวลา จาก 5 ปี 1 ปี ตอนนี้เป็นหลักเดือนแล้ว ล่าสุด ลองดูแค่โทรศัพท์มือถือ ช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2560 มีการเปิดตัวของมือถือมีทั้งหมด 72 เครื่อง เฉลี่ยคือ 30 ชั่วโมง / 1 เครื่อง คือเรานอนตื่นมา อีกวันหนึ่งก็มีอะไรออกมาใหม่แล้ว ทีนี้พอคิดต่อว่าคนเราใช้ฮาร์ดแวร์เหล่านี้ในการหาข้อมูลความรู้ได้ตลอด เพราะงั้นก็เกิดคำถามว่าโรงเรียนและห้องเรียนยังมีความสำคัญไหม? ถ้ายังมี พอคิดคู่กับเรื่องสังคม 3 วิแล้ว มันควรจะต้องมีหน้าตาแบบไหน?
พอเราเกิดประเด็น เราก็เลยลองไปดูๆ ห้องเรียนในต่างประเทศ รวมถึงพวก MOOC หรือ e-Learning ซึ่งเขาก็มีการปรับตัวแล้วหลายที่เหมือนกัน อย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ประกาศว่ากำลังจะเปิดคลาส MOOC ให้เรียนอยู่ที่ไหนก็ได้บนโลก แล้วได้ปริญญาตรีจากที่นี่ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ก็สะเทือนมหาวิทยาลัยหลายแห่งในไทยเหมือนกัน เพราะนอกจากต้องหารายได้เพื่อรองรับการออกนอกระบบแล้ว ด้วยความที่ตอนนี้คนหาความรู้ได้ทุกอย่างจากอินเทอร์เน็ต ความรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน หลายคณะ หลายมหาวิทยาลัย ก็เลยเริ่มปรับตัวด้วยการเปิดคอร์สสั้นๆ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน
ซึ่ง Thammasat Design School ที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะสถาปัตย์ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ก็ถูกออกแบบมารองรับคอร์สพวกนี้ ที่นี่ไม่ได้เน้นการสอนวิชาสถาปัตย์ แต่เน้นสอนความคิดสร้างสรรค์ ทีนี้คำถามต่อมาคือจะออกแบบพื้นที่แบบไหนให้รองรับการเรียนการสอนแบบนี้ ในยุคสมัยนี้ ผมในฐานะศิษย์เก่า ก็เลยอาสาช่วยคิดช่วยสร้างห้องเรียนที่ตอบโจทย์นี้
The MATTER : แล้วพื้นที่ที่เป็นห้องเรียนที่ตอบโจทย์มีลักษณะยังไง
คุณพันธวิศ : จริงๆ เราก็หาไอเดียจากห้องเรียนในต่างประเทศหลายประเทศ แล้วเราก็ถอดรหัสได้มา 5 แนวคิด คือ
1) ‘ให้พูด’ ตัวอย่างคือห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ร่วมกับ Audi จัดโต๊ะให้เป็นวงหันหน้าเข้าหากัน แล้วเอาเทคโนโลยีอย่างจอมัลติสกรีนใส่เข้าไปเพื่อกระตุ้นให้คนสนทนาและอภิปรายกันมากขึ้น เน้นการสื่อสารแบบ many-to-many นอกจากเรื่องการจัดห้องเรียนเพื่อการเรียนรู้
2) ‘ให้ทำ’ อันนี้ถอดรหัสมาจาก Bartlett School of Architecture ที่ UK คือห้องเรียนจะมีความเป็นเวิร์กชอป วิชาความคิดสร้างสรรค์มันไม่ต้องมีหน้าห้องหลังห้อง แต่เปิดพื้นที่ให้ทำงานร่วมกัน อาจารย์ก็ลงมาร่วมด้วย
3) ‘ให้เป็น’ ตัวอย่างมาจากฟินแลนด์ เราเห็นวิธีการสอนของเขาว่าเขาไม่มีวิชานะ แต่เขาสร้างเรื่องราวขึ้นมาเลย สมมติเด็กอยากเป็นหมอ ก็ให้เด็กเรียนรู้ที่จะเป็นหมอเลย เรียนทุกอย่างที่หมอต้องรู้ เลข ชีววิทยา สังคมวิทยา ต่างๆ เด็กฟินแลนด์เลยมักจะไม่ค่อยมีคำถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เพราะเขาลองเขารู้มาตั้งแต่เด็กแล้ว เราก็เลยถอดมาว่าห้องเรียนก็ควรให้เด็กลองเป็นแบบฟินแลนด์
4) ‘ให้เห็น’ เราได้ตัวอย่างมากจากห้องเรียน MIT Media Lab ที่สหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรมต่างๆ มากมาย จริงๆ เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มมากกว่าห้องเรียน คือไม่มีพื้นที่ตายตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการใช้งานอยู่ตลอดเวลา ทำให้สามารถเปลี่ยนพื้นที่นี้เพื่อใช้งานในแบบต่างๆ ได้หลากหลาย
5) ‘ให้แชร์’ เราถอดรหัสจากห้องเรียนในมหาวิทยาลัย North Calorina ที่สหรัฐอเมริกา เป็นการใช้ New Media ทำให้ห้องกลายเป็นห้องเรียนเปิด เด็กสามารถแชร์สิ่งต่างๆ ได้ ทั้งระหว่างภายนอก-ภายใน และภายในด้วยกันเอง
นอกจาก 5 รหัสที่ถอดได้ การไปดูห้องเรียนในต่างประเทศทำให้เราหันกลับมามองประเทศตัวเอง เรารอโครงสร้างใหญ่เปลี่ยน เราใช้คำว่าปฏิรูปการศึกษา รอการเปลี่ยนแปลงจากข้างบนลงมา ซึ่งผมไม่ได้คิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้นนะ แต่ผมคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องรอ สิ่งที่เราได้จากการมองที่อื่นคือ เฮ้ย เราลองดูดีกว่าว่าเราทำอะไรได้ แล้วถึงเราจะเป็นบริษัทเล็กๆ เราก็อยากจะช่วยสร้างห้องเรียนแบบนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง ด้วยงบของมหาวิทยาลัยที่ไม่พอ เราก็ตัดสินใจบริจาคเพื่อช่วยสมทบทุนเลย จะได้ซื้อหาของมาให้ได้ห้องเรียนตามที่เราถอดรหัสมาได้
The MATTER : 5 รหัสที่ถอดมา เอามาปรับใช้ยังไง
คุณพันธวิศ : เราก็เอามาใช้เป็นโจทย์ในการออกแบบห้องเรียน เราทำเป็นห้องโล่งๆ เพื่อให้ยืดหยุ่นกับการใช้งานหลายรูปแบบ มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะ Wi-fi, Motion Sensor, VR, AR หรือ MR รวมถึงทำให้เป็นห้องที่ทำได้ 5 อย่างคือ
1) ให้ ‘ลอง’ ด้วยการสร้างห้องเรียนไร้มิติ คือไม่มีหน้าห้องหลังห้อง กิจกรรมจึงเกิดขึ้นจุดไหนก็ได้ในห้อง แล้วก็ใช้ VR เข้ามาช่วย ให้ได้สัมผัสจริงๆ อย่างถ้าเรียนออกแบบอาคารก็ลองเดินเข้าไปทดสอบสเกลได้เลย เดินเปิดประตูได้เลย ว่าที่เขียนแบบมานี่ใช้ได้ไหม
2) ให้ ‘ทำ’ ก็คือทำเป็นห้องเวิร์กชอปให้ลงมือทำเลย จะได้ฝึกพวก Soft Skills ต่างๆ เพราะทุกวันนี้เอาจริงๆ ถามเด็กว่าเรียนอะไรแล้วเอาไปใช้ทำงานได้มากที่สุด เด็กส่วนใหญ่ก็บอกว่าเรียนรู้จากตอนฝึกงาน จากการลงมือทำนั่นแหละ
3) ให้ ‘โชว์’ นี่ก็คือต่อเนื่องจากการลงมือทำ เราสร้างห้องให้เปลี่ยนเป็นห้องจัดนิทรรศการได้ แล้วก็มีการใช้ New Media เพื่อเปิดให้เป็นนิทรรศการออนไลน์ คนไม่ต้องเดินทางมาดูก็ได้
4) ให้ ‘แชร์’ เราพยายามทำให้เกิดปฏิกิริยาทางความคิด ให้คนเรียนในห้องแลกเปลี่ยนกับคนนอกห้องได้ ทำให้คนได้เห็นหลากหลายความคิด และเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น ตัวอย่างเช่น ทำเป็นห้องสัมมนา แต่เป็นการสัมมนาผ่านเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียต่างๆ คนพูดก็ไม่ใช่คนๆ เดียวและความคิดก็ไม่ใช่ความคิดเดียวอีกต่อไป
5) ให้ ‘ชม’ เป็นการใช้ AR, VR และ MR มาสร้างเหตุการณ์จำลอง (Simulation) คือให้เรียนรู้จากการเผชิญหน้าสถานที่หรือเหตุการณ์เสมือนจริง
The MATTER : มีคนบอกว่าการศึกษาต้องพัฒนาที่คน การพัฒนาห้องเรียนจะช่วยอะไรได้
คุณพันธวิศ : ก็ใช่ครับ ครูก็ต้องพัฒนา แต่ทุกวันนี้เป็นการทิ้งภาระไปที่ครูค่อนข้างมาก เราต้องยอมรับว่าครูไม่ไม่ได้มีพลังมากพอจะปล่อยทุกวัน และมันก็มีวันที่เขาหมดแรง เหมือนกับว่าเราคาดหวังให้เขาเป็นนักรบ แต่เราให้เขาเอาอาวุธเก่าๆ ไปสู้กับคนที่ใช้ปืนกันอยู่ในตอนนี้ ก็ไม่ไหว เราก็ลองดูว่าเราจะสร้างอาวุธให้ครูหน่อยได้ไหม
The MATTER : แล้วห้องเรียนแบบนี้จะเหมาะกับผู้เรียน-ผู้สอนของประเทศไทยไหม
คุณพันธวิศ : ประเทศเราสอนให้เด็กเป็น Passive Learner แล้วก็เรียกให้ออกไปพูดหน้าห้องเพื่อกระตุ้นให้เป็น Active Learner ซึ่งมันขัดแย้ง แต่ Aposs Creative Platform เป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ตรงกลาง ให้ทุกคนลงสนามมาเล่นด้วยกัน เรียนรู้ไปพร้อมกัน ไม่มีผู้สอน-ผู้เรียน ไม่มีผู้โชว์-ผู้ชม ไม่มี Active-Passive เพราะงั้นมันก็น่าจะเหมาะกับคนไทยประมาณนึง แต่ก็คงต้องใช้เวลา ตอนนี้ยังเป็นสินค้าทดลองตลาดอยู่ แต่เราก็อยากสร้างมันขึ้นมาก่อน อย่างน้อยก็น่าจะเกิดแรงกระเพื่อมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้
The MATTER : ทุกวันนี้ สถานการณ์ของแพลตฟอร์มหรือศูนย์การเรียนรู้ในประเทศเราเป็นยังไงบ้าง
คุณพันธวิศ : ผมว่าศูนย์การเรียนรู้ในประเทศเรายังมีไม่พอ และเราก็เอาแต่รอภาครัฐไม่ได้ ผมคิดว่าเอกชนควรจะให้ความสนใจมากขึ้น สอดแทรกพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในงานที่ทำ มันก็จะกระจายไปได้กว้างกว่า ส่วนคนที่ทำพื้นที่สร้างสรรค์ในหน่วยงานรัฐก็ทำไป ถ้ามีเอกชนลุกขึ้นมาทำ ก็อย่าไปอะไรกับเขาเลย ทุกคนช่วยกันทำมันก็ดีกว่า