เรามักมองว่าเกมเป็นความบันเทิง ที่ให้คนได้สนุกกับโลกสมมติ สามารถทำกิจกรรมที่ไม่อาจทำได้ในโลกปกติ ซึ่งก็จริงอยู่ไม่น้อย แต่ขณะเดียวกันพื้นที่ในโลกสมมติของ ‘เกม’ ก็อุทิศแด่ความตายของหลายชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง
อย่างช่วงนี้ มีคนตั้งคำร้องในเว็บไซต์ Change.org เพื่อให้ บริษัท Nintendo กับ Pokemon Company แก้ไขตัวละคร Simayan และ Monkezuma (ตัวละคร Fan Made) ให้เข้าไปอยู่ในเกม Pokemon Sun / Moon ในฐานะโปเกมอนตัวใหม่ที่ใช้ชื่อ Hambo และ Harambe เพื่อเป็นการอุทิศให้กับกอริลล่าฮารัมเบที่จบชีวิตลงอย่างไม่มีทางเลือกไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่เราเขียนบทความอยู่นี้ จำนวนผู้ร่วมลงเสียงสนับสนุน ก็มีมากกว่า 63,000 คนแล้ว แล้วนอกจากเหตุการณ์นี้ มีเหตุอะไรอีกบ้างที่ทำให้ผู้พัฒนาเกมรายอื่นๆ สร้างเกมขึ้น เพื่ออุทิศแด่ชีวิตที่จากไป
อุทิศให้กับคนดังที่น่าจดจำ
เมื่อเกมไม่เคยจำกัดว่าใครจะเป็นผู้เล่นได้บ้าง จึงไม่แปลกนักหากเห็นข่าวดาราคนดังหลายคนติดเกมงอมแงม ตัวอย่างเช่น Vin Diesel ที่จริงจังกับเกมอย่างมาก จนทำหนังจากตัวละครเกมที่เขาเล่นอยู่อย่าง The Last Witch Hunter หรือ Henry Cavill ที่ติดเกม World Of Warcraft อย่างหนัก จนเกือบจะไม่ได้รับบทเป็น Superman เพราะตอนที่มีคนโทรมาเรียกตัวเขาไปรับบท Henry กำลัง Raid อยู่ในดันเจี้ยนพอดี
พูดถึง World Of Warcraft ก็มีดารานักเล่นเกมตัวยงคนหนึ่งเล่นเกมนี้อย่างหนักเช่นเดียวกัน เขาคนนั้นก็คือ Robin Williams นักแสดงตลกท่าทางใจดีที่หลายคนคุ้นเคยจากบทบาทในหนังตลกสำหรับครอบครัว รวมถึงการให้เสียงตัวละครการ์ตูนอย่าง Genie ยักษ์ใหญ่ตัวสีฟ้าในการ์ตูน Aladdin ของ Walt Disney ด้วย
Robin Williams ไม่ได้เพิ่งมาเล่นเกมตอนอายุเยอะแล้วแต่อย่างใด เขาเป็นนักเล่นเกมตัวยงมาตั้งแต่ยุค 80s ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดเกมแนวสวมบทบาท หรือ วิดีโอเกมก็ตาม จนตั้งชื่อลูกสาวของเขาว่า Zelda ตามตัวละครนางเอก (ไม่ทุกภาค แถมยังถูกเข้าใจว่าเป็นชื่อพระเอกบ่อยๆ) ของเกม Legend Of Zelda ส่วนลูกชายของเขาก็ว่ากันว่าได้ชื่อ Cody มาจากตัวละครเอกของเกม Final Fight
ด้วยความที่เป็นคอเกมมาตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรมวิดีโอเกมจะเติบโตนี่แหละ ทำให้แฟนๆ ของ Williams เสนอในเว็บไซต์ Change.org ว่าควรจะมีเกมใดสักเกมหนึ่งสร้างตัวละคร NPC ในเกมอุทิศให้กับนักแสดงคนนี้ ซึ่งก็มีทางผู้พัฒนาเกมอย่าง Blizzard Entertainment ที่น้อมรับคำขอของแฟนๆ สร้าง NPC ชื่อ Robin ที่มีลักษณะภายนอกคล้ายกับ Genie ตัวละครที่เขาเคยพากย์จนผู้คนทั่วโลกจดจำได้แม้จะมาแค่เสียงก็ตามที โดยที่ตัวละครนี้อาศัยอยู่ในบ้าน(?)หินที่ลักษณะคล้ายตะเกียงอีกด้วย
ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนเล่นเกมหนักจนสมควรได้รับเกียรติ แต่เป็นเพราะว่าเขามอบความสุขให้คนจำนวนมาก จนผู้คนคิดว่าเขาควร ‘มีชีวิตต่อ’ แม้เป็นเพียงโลกเสมือนก็ตามที
อุทิศให้เกมแฟนเกมตัวจริง ที่จากไปก่อนวัยอันควร
หลายคนที่เล่นเกมย่อมเคยประเมินตัวเองว่าเป็น ‘แฟนเกมตัวจริง’ กันมาบ้าง ถ้ามีรายการแนวแฟนจริงแท้ก็อาจลองไปแข่งขันกันใช่มั้ย แต่จะมีแฟนจำนวนมากเท่าไหร่กันที่รู้จริง รู้ลึก จนบริษัทพัฒนาเกมยอมใจให้เขามาเดินเล่นในส่วนทีมพัฒนาเกม แถมเมื่อเขาจากไป ทีมงานต่างรำลึกถึงจนต้องสร้าง NPC ที่มีบทพูดเฉพาะตัวขึ้นมาในเกม
ทีมพัฒนาเกมที่ว่าคือ Bethesda Softworks ผู้พัฒนาเกมซีรีส์ The Elder Scrolls ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับเกมภาคที่ 5 อย่าง Skyrim (ที่มีมุก ธนูปักเข่า ในเกมนั่นไง) ระหว่างการพัฒนาเกมพวกเขาได้ต้อนรับแฟนเกมคนหนึ่งชื่อว่า Erik West ผู้ใช้นามแฝงในโลกไซเบอร์ว่า Immok The Slayer ทีมงานต่างแปลกใจกับแฟนเกมคนนี้ แม้เป็นคนหนุ่มแต่ก็เข้าใจถึง Lore ของเกม The Elder Scrolls IV : Oblivion เป็นอย่างดี จนยอมให้เขาได้เข้าไปเยี่ยมชมการพัฒนา Skyrim แบบลงลึกกว่าผู้เข้าชมทั่วไป
น่าเสียดายที่ Erik West เสียชีวิตลงในเดือนพฤษภาคมปี 2011 ก่อนที่เกม Skyrim จะวางจำหน่ายเป็นเวลาหกเดือน ด้วยความอาลัยที่แฟนคลับคนนี้ ไม่สามารถได้เล่นเกมใหม่ล่าสุด (ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์ในภายหลัง) ทีมงานของ Bethesda Softworks สร้างตัวละคร Erik The Slayer ตัวละครที่ผู้เล่นสามารถนำเขามาเป็นผู้ติดตามของผู้เล่นได้ โดยการเอาชื่อตัวของ Erik มารวบเข้ากับนามแฝง The Slayer นั่นเอง
ถ้าชอบอะไรแล้วนำเสนอให้ถึงที่สุดก็จะถูกผู้คนจดจำได้อย่างแน่นอน
อุทิศให้กับคอเกม ที่ใช้ชีวิตในโลกจริงอย่างน่าชื่นชม
Overwatch เกมดังในช่วงนี้ ที่ผลิตโดยค่าย Blizzard จนกลายเป็นเกมยิงที่โด่งดังที่สุดของปี 2016 เกมบอกเล่าเรื่องของกลุ่มยอดทหารที่เคยปกป้องโลก ก่อนมีเหตุให้ทีมสุดยอดทหารเหล่านั้นต้องแยกตัวกันออกไป หลายๆ ครั้งเกมอ้างถึงคำว่า ‘Hero’ และตัวละครหลายๆ ตัวก็พยายามหาทางแสดงแนวทางการเป็น Hero ของพวกเขา (ถึงตัวเกมหลักๆ จะเน้นการแบ่งข้างกันต่อสู้ก็เถอะนะ)
กลับมายังโลกแห่งความจริง ตัวเกมนี้ถูกเปิดให้ทดสอบกันหลายระลอก แถมยังเเปิดกว้างให้ผู้เล่นเกมหลายประเทศได้เข้าไปทดสอบเกมกัน เช่นเดียวกับ Wu Hongyu นักศึกษาชาวจีน ทว่าเด็กหนุ่มผู้คลั่งไคล้ในเกม Overwatch คนนี้กลับเสียชีวิตไปหลังจากที่เข้าพยายามไล่ตามโจรขโมยมอเตอร์ไซค์แล้วเกิดเหตุรถชนกัน Wu เสียชีวิตไปในวันที่ 23 พฤษภาคม จากอาการบาดเจ็บที่ได้รับ ก่อนเกม Overwatch จำหน่ายหนึ่งวัน ส่วนคนร้ายถูกตำรวจจับได้และเมืองกวางโจวจะมอบรางวัลประชาชนผู้กล้าหาญให้เป็นเกียรติกับเขา
ไม่นานนักหลังจากเกมที่วางจำหน่าย ก็มีการอัพเดทรายละเอียดเล็กน้อยในแผนที่ Lijiang Tower ฉากหนึ่งในเกม Overwatch เดิมทีจะมีชุดนักบินอวกาศเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก ณ ตอนนี้ ชุดอวกาศตรงกลางนั้นถูกสลักตัวอักษรจีนอันเป็นชื่อของ Hongyu ส่วนด้านหลังของตัวละครก็มีตัวอักษรจีนอีกชุดที่แปลได้ความว่า ‘ฮีโร่ไม่มีวันตาย’ หรือ Hero Never Die คำพูดในเกมของตัวละคร Mercy ซึ่ง Blizzard บอกว่า ‘เราเพิ่มสิ่งนี้เข้าไปเพื่อระลึกถึงสมาชิกที่กล้าหาญในสังคมของพวกเรา’ ซึ่งทาง Blizzard ก็มักจะทำกิจกรรมเพื่อให้เกียรติผู้จากไปแต่ทำเรื่องที่น่าจดจำอยู่เป็นประจำ
ถึงพวกเขาจากไป แต่ความกล้าหาญในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ จะไม่มีวันตาย
อุทิศให้กับครอบครัว
อย่างไรเสียการพัฒนาเกม ก็เป็นการทำงานสายหนึ่ง แถมยังเป็นงานที่ทุ่มเทอย่างหนักเสียด้วย หลายครั้งเครดิตต้อนท้ายเกม จึงมีการลงชื่อครอบครัวเอาไว้เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกครอบครัวที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือที่จากไปแล้วก็ตามที
อย่างเกม That Dragon, Cancer เกมที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้พัฒนาเกมเล็กๆ ทีมหนึ่ง คือ ครอบครัว ของ Ryan กับ Amy Green ได้นำเอาชีวประวัติของพวกเขา เรื่องการเลี้ยงดูลูกชายชื่อ Joel ผู้ถูกหมอตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในสมองที่หายาก ถึงขั้นคุณหมอที่ตรวจอาการของเด็กยังบอกว่าเด็กชายคนนี้ไม่น่าจะมีชีวิตเกิน 4 เดือน แต่โชคดี และอาจเป็นบททดสอบของพระเป็นเจ้าที่ทำให้เด็กชายมีอายุถึงขวบปีที่ 5 ก่อนอาการป่วยจะลุกลามจนพรากชีวิตเขาไปในที่สุด
Ryan ผู้เป็นพ่อและนักพัฒนาเกม กับ Amy ผู้เป็นแม่และนักเขียนสมัครเล่น จึงตัดสินใจทำเกมขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเลี้ยงดูลูกชาย พร้อมทั้งบอกเล่าความรู้สึกในตอนที่พาลูกน้อยไปรักษาตัวด้วยวิธีการต่างๆ แต่ภายหลัง ครอบครัว Green ตั้งใจจะทำเกมนี้ออกมาให้ชัดเจนมากขึ้น จึงระดมทุนเพิ่มขึ้น พร้อมกับปรับเปลี่ยนให้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์กับ Joel มากขึ้นจนกลายเป็นเกมเวอร์ชั่นสุดท้ายไปในที่สุด
ถึงเกมจะเล่าเรื่องราวด้วยสไตล์เหนือจริง แต่เกมก็สามารถสื่ออารมณ์ความรัก ความเข้มแช็ง อันเป็นความรู้สึกของพ่อแม่ ออกมาได้อย่างที่เกมทั่วไปไม่สามารถทำได้ แม้แต่ Pewdiepie นักแคสท์เกมชื่อดังระดับโลกยังร้องไห้ให้กับเกมนี้
หากจะบอกว่าคนเล่นเกมสนใจเพียงแค่การไล่จับอะไรเพื่อทำแต้มเอาชนะเพียงอย่างเดียว ไม่มีหัวจิตหัวใจคิดถึงคนอื่น หรือไม่คิดที่จะสนใจมองโลกภายนอกเลย เราคงไม่ได้เห็นการอุทิศในเชิงศิลป์แบบนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก