เสียงของโลหะที่เลื่อนไหลไปบนพื้นน้ำแข็งแผ่นบาง ตัดสลับกับการเคลื่อนไหวร่างกายให้อ่อนช้อยตามท่วงทำนอง และความพยายามในการท้าทายแรงดึงดูดโลกในระหว่างที่ร่ายรำ เสน่ห์ต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่พบเจอได้ในกีฬาฟิกเกอร์สเก็ต หรือ สเก็ตลีลา สำหรับประเทศไทยแล้วสเก็ตลีลาอาจจะไม่ได้เป็นกีฬาที่อยู่ในสื่อหลักมากนัก แม้จะมีสนามกีฬาให้แข่งขันและที่นักกีฬาที่ชำนาญการในกีฬาประเภทนี้อยู่ไม่น้อย
แต่ถ้าเรามองไปยังประเทศญี่ปุ่น ก็จะพบว่ากีฬาประเภทนี้มีความนิยมที่ไม่น้อยเลย ที่ชวนแปลกตาแปลกใจก็คงเป็นในช่วงต้นปี ค.ศ.2020 ได้มีการประกาศข่าวเปิดตัวการแสดง Prism On Ice หรือ เซเลอร์มูน ฉบับลานน้ำแข็ง โดยมี เอฟเจเนีย เมเวดาวา (Evgenia Medvedeva) รับบทนำเป็น สึกิโนะ อุซางิ หรือ เซเลอร์มูน ซึ่งก่อนหน้านี้ นักกีฬาสาวรุ่นเคยแสดงในงาน Exhibition World Team Trophy 2017 ด้วยการใช้ธีมเซเลอร์มูนประกอบโปรแกรมการแสดง นอกจากนั้น นักแสดงคนอื่นๆ ในการแสดงชุดนี้ต่างก็เป็นนักกีฬาฟิกเกอร์สเกตระดับทีมชาติหรือเคยได้เหรียญโอลิมปิกมาแล้ว
ไม่น่าแปลกใจนักหากกีฬาได้รับความนิยมเพราะมีนักกีฬามือดีเข้าแข่งอยู่บ่อยครั้ง แต่การที่สามารถจัดแสดงโชว์ที่พ่วงรวมความเป็นวัฒนธรรมป๊อปลงไปได้นั้น มันทำให้เราคิดว่ากีฬาฟิกเกอร์สเก็ตในญี่ปุ่นมีความนิยมมากจนน่าสนใจว่าเหตุผลกลใด กีฬาที่น่าจะอินกันเฉพาะในช่วงฤดูหนาว กลับสามารถทำความนิยมได้อย่างสูงและอะไรที่นำพามาให้มีการเปิดการแสดง Prism On Ice
ประวัติของกีฬาสเก็ตลีลา และความสัมพันธ์ของกีฬาชนิดนี้กับชาวญี่ปุ่น
การลื่นไถลบนน้ำแข็งนั้นมีมาอย่างยาวนาน อาจจะตั้งแต่สมัยที่มนุษย์รู้จักแผ่นน้ำแข็งก็เป็นได้ แต่การที่ฟิกเกอร์สเกตได้กลายเป็นกีฬาอย่างจริงจัง เชื่อเกินขึ้นในช่วงยุค 1600s และมีการพัฒนารูปแบบไปอย่างมากในช่วงปลายยุค 1800 ที่เริ่มมีการนำเอาท่าบัลเลต์มาใช้ในการเล่นสเก็ตน้ำแข็ง ก่อนที่จะมีการพัฒนารูปแบบรวมถึงเทคโนโลยีมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย
สำหรับประเทศญี่ปุ่นเริ่มรู้จักกีฬาฟิกเกอร์ในช่วงต้นยุค 1900 และเริ่มกลายเป็นที่คุ้นเคยในช่วงปี ค.ศ.1920-1930 ที่เริ่มมีการแข่งขันขันระดับชาติของญี่ปุ่นขึ้น จากนั้นฟิกเกอร์สเกตก็คล้ายกับกีฬาส่วนมากที่มีความนิยมแบบเฉพาะกลุ่ม แม้ญี่ปุ่นจะร่วมการแข่งขันระดับชาติ และระดับนานาชาติ รวมถึงว่านักกีฬาจากโลกตะวันตกก็เริ่มมาเป็นโค้ชหรือเข้าแข่งขันในญี่ปุ่นมากขึ้น
ฟิกเกอร์สเก็ตเริ่มเข้าถึงคำว่า ‘แมสจ๋า’ สำหรับชาวญี่ปุ่นก็เป็นในช่วงยุค ค.ศ.1980-1990 ที่ อิโต้ มิโดริ (Ito Midori) สามารถคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันฟิกเกอร์สเก็ตชิงแชมป์โลก World Skating Championships ในปี ค.ศ.1989 ก่อนจะไปคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จัดขึ้นในปี ค.ศ.1992 และเธอยังเป็นนักกีฬาระดับตำนานของกีฬาประเภทนี้ด้วย เพราะเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกจากทวีปเอเซียที่คว้าเหรียญโอลิมปิกจากกีฬาฟิกเกอร์สเก็ต และเธอยังสามารถทำการแสดงท่ากระโดดหมุนตัวสามรอบสามกลางอากาศ หรือ ทริปเปิล แอ็กเซิล (Triple Axel) ในการแข่งขันโอลิมปิกสำเร็จเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่ง ณ ขณะเวลาที่เขียนบทความนี้ มีนักกีฬาหญิงเพียงสามคนที่ทำท่านี้ในการแข่งขัน
ความสามารถที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นกลายเป็นตำนานบนใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์การกีฬา ทำให้คนดูสนใจกีฬาประเภทนี้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้มีพัฒนาการด้านการฝึกซ้อมและแข่งขัน รวมไปถึงกาารที่ลานสเก็ตน้ำแข็งก็มีการบูมมากขึ้น มีนักกีฬาหลายคนมาสานต่อความยิ่งใหญ่ในวงการ จึงทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในสนามแข่งขันที่นักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตอยากจะเดินทางไป และในขณะเดียวกันด้วยความงดงาม แต่มีพลัง และความเร่าร้อนของนักกีฬาที่มักมีอายุไม่มากนัก สามารถเข้าถึงคนดูในถิ่นบูชิโดได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คือความนิยมของ ฮะนิว ยุซุรุ (Hanyu Yuzuru) นักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตชาย ที่คว้าเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี ค.ศ.2014 และ ค.ศ.2018 ติดต่อกัน ซึ่งเขาได้รับความนิยมจากผู้ชมอย่างมาก และทำให้เมื่อใดที่เขาทำการแข่งขันหรือทำการแสดงของเขาจบลง จะมีการปาตุ๊กตาหมีพูห์ ซึ่งเป็นตัวละครที่นักกีฬาคนดังชื่นชอบลงมาจนเต็มสนามอยู่เป็นประจำ และนักกีฬารุ่นน้องที่เริ่มเข้าแข่งขันในกีฬาประเภทเดียวกันก็ได้รับความนิยมที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นเราพอจะคาดเดาได้ว่ากีฬาบนลานน้ำแข็งนี้น่าจะติดใจชาวญี่ปุ่นกันอีกสักระยะหนึ่งอย่างเป็นแน่แท้
ไฉนเลยถึงไม่ค่อยมี การ์ตูน, ละคร, ภาพยนตร์ เหมือนกีฬาอื่นๆ เขา?
ถ้าสังเกตได้จะเห็นว่า หลายกีฬาที่บูมในยุคเดียวกัน มักจะมีสื่อบันเทิงอื่นๆ เป็นตัวส่งเสริม แต่สำหรับกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตนี้อาจจะไม่มีสื่อบันเทิงมาช่วยส่งเสริมมากนัก ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะตัวกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตมีความบันเทิงและความงดงามอยู่ในตัวแล้ว กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครบอกเล่าเรื่องราวของกีฬาประเภทนี้ผ่านสื่อบันเทิงเสียเลย
อย่างในฝั่งมังงะสายโชโจ ก็จะมีเรื่องแนวดังกล่าวให้ติดตามกันเยอะเสียหน่อย ซึ่งก็พอจะมีเรื่องที่โดดเด่นอยู่บ้าง อย่าง ผลงานของงานของอาจารย์มาคิมุระ ซาโตรุ (Makimura Satoru) นักเขียนมังงะสายโชโจ ที่เคยเขียนมังงะเกี่ยวกับฟิกเกอร์สเกตหลายเรื่อง อย่างเช่นเรื่อง Bolero ผลงานเรื่องสั้นเล่มเดียวจบที่เคยถูกแปลเป็นภาษาไทย เล่าเรื่องของ ทามากิ อดีตนักกีฬาฟิกเกอร์สเกตที่กลับคืนสู่วงการเพื่อเงินกับชื่อเสียง แต่การพบกับนักกีฬาอีกคนทำให้ชีวิตเธอเปลี่ยนไป หรือ ผลงานเรื่อง Ai No Aranjuez ที่เล่าเรื่องของนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตหญิงที่เป็นทายาทของยอดนักสเก็ตของญี่ปุ่น และได้ต้องเสน่ห์นักสเก็ตชายอีกคนหนึ่ง ในที่สุดทั้งสองได้มีโอกาสแข่งขันแบบคู่ แต่ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ นานา ทำให้ทั้งคู่แยกย้ายไปตามเส้นทางตัวเอง ก่อนจะกลับมามีโอกาสแข่งคู่กันอีกครั้ง เป็นอาทิ
ผลงานสื่อบันเทิงอีกเรื่องที่เข้าข่ายแมสสักหน่อยก็คือ ไลท์โนเวลเรื่อง Ginban Kaleidoscope ที่เริ่มตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2003 ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นสื่อผสมหลายรูปแบบทั้ง มังงะ กับ อนิเมะ กับเรื่องราวที่ใส่ความแฟนตาซีมากเล็กน้อย เป็นการพบพานกันของ Sakurano Tazuka นักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตสายปากไวและมักจะผิดใจกับสื่อมวลชน จนกระทั่งวันหนึ่งเธอถูกวิญญาณของ Pete Pumps นักบินผาดโผนที่เสียชีวิตไปเข้าสิง ทั้งสองคนต้องใช้ชีวิตร่วมกันอยู่ 100 วัน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งสองคนก็ค่อยๆ เข้าใจกันและกันมากขึ้น และร่วมกันพัฒนาโปรแกรมการแสดงชุดใหม่ขึ้นมา
สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว Ginban Kaleidoscope น่าจะเป็นการดึงดูดให้เด็กยุค 2000 ได้รู้จักสเก็ตลีลาด้วยสื่อที่ย่อยง่ายขึ้นก่อนจะไปรับชมการแข่งจริง ทั้งยังเป็นการเบิกทางให้สื่อผสมชนิดอื่นอย่าง Pretty Rhythm ที่แรกเริ่มนั้นเป็นเกมตู้เจาะตลาดผู้หญิงให้สวมบทบาทเป็นเหล่า ไอดอล Prism Stars ที่ทำการแสดงบนลานน้ำแข็ง ก่อนที่จะมีมังงะกับอนิเมะตามาในภายหลัง และงานเหล่านี้ เริ่มทำให้ชาวต่างชาติที่เสพการ์ตูนญี่ปุ่น เริ่มสนใจกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตกับวงการกีฬาประเภทนี้
แล้วก็เป็นในช่วงยุค 2000 เช่นกันที่มีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘Coach 40-Sai No Figure Skate’ ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ตั้งใจใช้ฟิกเกอร์สเก็ตเป็นแกนหลักของเรื่อง ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่ตัว มุระ คิทาโร่ (Mura Kitaro) ออกมาบอกเล่าว่า เหตุที่กีฬาฟิกเกอร์สเก็ตซึ่งได้รับความนิยมแต่กลับไม่ค่อยมีคนกล้าสร้าง ละคร หรือ ภาพยนตร์ มากนัก นอกจากการคิดเรื่องไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นผลจากการที่หาสถานที่ถ่ายทำยาก ผสมกับการที่ต้องหานักแสดงที่สามารถเล่นฟิกเกอร์สเก็ตเป็นด้วยตัวเอง ซึ่งตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ทางแก้ด้วยการแคสต์นักกีฬาตัวจริงมารับบทกันในเรื่อง แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนักไม่ว่าจะในบ้านเกิดหรือในตลาดต่างประเทศ
สื่อบันเทิงจากญี่ปุ่นที่สร้างความรับรู้ให้กีฬาฟิกเกอร์สเกตกลายเป็นที่สนใจในระดับนานาชาติ ก็คืออนิะเมะเรื่อง Yuri On Ice ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 2016
ว่าด้วย Yuri On Ice
อนิเมะเรื่อง Yuri On Ice เป็นเรื่องราวของ คัตสึกิ ยูริ นักกีฬาสเกตน้ำแข็ง วัย 23 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงท้ายของชีวิตนักกีฬามืออาชีพ เขาไม่ประสบความสำเร็จ ขาดความมั่นใจ และเดินทางกลับไปบ้านเกิด พร้อมด้วยความสับสนในใจ จนเขาลองมองย้อนตัวตนแล้วทำการแสดงเลียนแบบ วิคเตอร์ นิกิโฟรอฟ (Victor Nikiforov) นักกีฬาระดับตำนานที่ยูริมองเป็นไอดอล และมีคนถ่ายคลิปดังกล่าวไปปล่อยอินเตอร์เน็ต คลิปดังกล่าวทำให้วิคเตอร์เปลี่ยนแผนงานหลังเกษียนของตัวเอง แล้วเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อนเป็นโค้ชให้ยูริ ซึ่งเรื่องนี้สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก โดยเฉพาะกับ ยูรี่ พลีเซตสกี้ (Yuri Plisetsky) นักกีฬาจากรัสเซีย ที่วิคเตอร์เคยสัญญาว่าจะมาเป็นโค้ชให้ และรีบเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อทวงสัญญา จนเกิดการแข็งขันแบบย่อยๆ ขึ้น เหตุการณ์ที่เหมือนจะเล็กน้อยนี้กลับกลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ทำให้นักกีฬาสเกตลีลาจากหลายชาติเกิดความเร่าร้อนขึ้นอีกครั้ง
อนิเมะเรื่องนี้มี ยามาโมโตะ ซาโยะ (Yamamoto Sayo) ผู้กำกับอนิเมะ กับ คุโบะ มิทสึโระ (Kubo Mitsurou) นักเขียนมังงะที่ชอบเล่าชีวิตบุคคลการในอาชีพไม่แมส อยากจะเล่าเรื่องราว ‘ความรัก’ ในกีฬาฟิกเกอร์สเก็ต และทำการเก็บข้อมูลด้วยการเดินทางไปรับชมการลีกการแข่งฟิกเกอร์สเกตน้ำแข็งของสมาพันธ์กีฬาสเกตนานาชาติ หรือ ISU Grand Prix of Figure Skating อยู่หลายปี จนนำแผนงานไปเสนอสร้างอนิเมะจนผ่าน
จากนั้น ยามาโมโตะ ก็ไปติดต่อ ฮิรามัตสึ ทาดาชิ (Hiramatsu Tadashi) อนิเมเตอร์ที่เคยร่วมงานกันให้มาทำงานและเขาก็ได้ออกแบบตัวละครร่วมกับ คุโบะ และรับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้กำกับอนิเมชั่นของ Yuri On Ice
ระหว่างการทำงาน ทีมสร้างอนิเมะเรื่องนี้ได้นำเอานักกีฬาฟิกเกอร์สเกตที่มีอยู่จริงมาเป็นข้อมูลอ้างอิงมากมาย ทำให้พวกเขาไม่ได้ถ่ายทอดแค่มุมมองการวาดลีลาแบบสวยงามบนลานน้ำแข็งเท่านั้น แต่ยังข้ามไปบอกเล่ามุมที่นักกีฬาเหล่านี้มีร่องรอยบาดแผลและรอยฟกช้ำซ่อนอยู่ใต้เครื่องแต่งกายสวยงาม กับความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีกีฬาฟิกเกอร์สเกตเป็นตัวเชื่อม ทั้งยังมีเรื่องราวความรักหลายแบบของนักกีฬาเหล่านี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีคู่ของ ยูริ กับ วิคเตอร์ ที่เป็นตัวละครหลักด้วย
อาจจะเพราะการเล่าเรื่องที่ไม่ได้มีแค่มุมเดียว หรือเป็นความตั้งใจที่จะนำเสนอกีฬาที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นเคยอย่างละเมียด Yuri On Ice จึงได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งในกลุ่มผู้ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่น และรวมไปถึงกลุ่มนักกีฬาฟิกเกอร์สเกตตัวจริง อย่างเช่น จอห์นนีย์ เวียร์ (Johnny Weir) นักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตที่มักจะแต่งตัวฉูดฉาดในการแข่งขัน ก็ออกมาคอมเมนท์ชื่นชมอนิเมะเรื่องนี้ พร้อมทั้งแซวว่าหลายๆ ชุดการแสดงของตัวละครวิคเตอร์นั้นเป็นการคอสเพลย์เป็นตัวของเขา, เอฟเจเนีย เมเวดาวา ที่เรากล่าวถึงในช่วงต้นบทความก็กรี๊ดกร๊าดอนิเมะเรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์ของเธออยู่บ่อยครั้ง และเธอก็ทำให้เพื่อนร่วมวงการเข้ามาอินอนิเมะเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น, สเตฟาน ลามเบียล (Stéphane Lambiel) อดีตนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตซึ่งทีมผู้สร้าง Yuri On Ice ระบุว่าเป็นต้นแบบหลักของตัวละคร วิคเตอร์ ก็ชอบอนิเมะเรื่องนี้ และได้รับเชิญให้ไปพากย์เสียงเป็นตัวละครในอนิเมะ
นักกีฬาฟิกเกอร์ญี่ปุ่นเองก็ชื่นชอบอนิเมะเรื่องนี้มากเช่นกัน มากพอจนทำให้ สุซากิ มิอุ กับ คิฮาระ ริวอิจิ นักกีฬาฟิกเกอร์สเกตแบบคู่ ก็ได้นำเอาเพลงธีม Yuri On Ice ไปใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี ค.ศ.2018 แม้ว่าจะไม่ได้รางวัลอะไรกลับไป แต่ก็ทำให้เห็นชัดถึงพลังความนิยมของอนิเมะเรื่องนี้
สำหรับชาวไทย ก็ชื่นชอบอนิเมะเรื่องนี้เช่นกัน และได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ จากการที่ตัวละคร พิชิต จุฬานนท์ ซึ่งเป็นตัวละครเด่นในเรื่องนั้น โดนนำเสนอสะท้อนความไทยแบบสุดๆ ไหนจะต้องไปซ้อมที่อิมพีเรียลสำโรง (ซึ่งเป็นสนามแข่งขันทางการของสมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย), ไหนจะติดอินสตาแกรมสุดๆ และในเรื่องมักจะปล่อยภาพหลุดของเพื่อนๆ นักกีฬาเป็นพล็อตหลัก จนมีแฟนคลับตั้งแฮชแท็ก #พิชิตรู้โลกรู้, ในฉากเพลงปิดก็มาพร้อมกับของกิน ซึ่งสอดคล้องกับความนิยมกินของคนไทย หรือการไปออกรายการทีวีและเข้าพบคนสำคัญของรัฐบาล เป็นอาทิ
เหมือนกับอนิเมะหลายๆ เรื่อง ที่ใช้สถานที่จริงเป็นพื้นเพของการสร้างฉากหลังของเรื่อง จึงทำให้โลเคชั่นหลายแห่งที่เกี่ยวพันกับ Yuri On Ice กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะกิจขึ้นมา แต่ที่พูดได้อย่างเต็มปากก็คือ อนิเมะเรื่องนี้กลายเป็นประตูสู่การรับชมกีฬาฟิกเกอร์สเกตของคนทั่วโลกไปแล้วนั่นเอง
และถึงอนิเมะซีซั่นแรกจะจบลงในปี ค.ศ.2016 ผู้สันทัดกรณีหลายท่านก็ฟันธงว่าภาพยนตร์ Yuri On Ice: Ice Adolescence ที่มีกำหนดออกฉายในช่วง ค.ศ.2020 จะทำให้ความสนใจต่ออนิเมะและวงการฟิกเกอร์สเก็ตกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ในที่สุดลานน้ำแข็งก็มาบรรจบกับวัฒนธรรมป๊อปแบบญี่ปุ่น
หากว่ากันตามจริง นักกีฬาสเกตลีลานั้นมักจะเกษียนตัวในช่วงอายุราว 20 ปี ส่วนหนึ่งอาจจะยังเข้าแข่งฟิกเกอร์สเกตระดับอาชีพสำหรับนักกีฬาผู้ใหญ่ บางส่วนก็จะผันตัวไปเป็นโค้ชให้กับนักกีฬาคนอื่น บางส่วนก็จะกลายเป็นบุคลากรด้านข่าวกีฬา บางคนอาจจะกลับไปเรียนต่อ บ้างก็โชคดีได้กลายเป็นเซเลปจากบุคลิกที่โดดเด่น
และก็มีส่วนหนึ่งที่ผันตัวไปเป็นนักแสดงบนลานน้ำแข็งแทน แต่โดยส่วนใหญ่การแสดงก็จะนำเอาเรื่องเล่าคลาสสิคมาจัดแสดง ไม่ก็เป็นการแสดงประกอบเพลง แต่สำหรับการเอาวัฒนธรรมป๊อปมาจัดแสดงนั้น ก็จะมีงาน Disney On Ice ที่ค่อนข้างโดดเด่นซึ่งก็อาจะไม่ดึงดูดใจผู้ชมทุกกลุ่มเท่าไหร่นัก
เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็มีนักกีฬาที่เติบโตขึ้นมากับการรับชมอนิเมะ นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการผสมผสานวัฒนธรรมป๊อปที่โดดเด่นที่สุดของญี่ปุ่นลงไป แต่ครั้นจะหยิบเอาผลงานที่เป็นกระแสแมสๆ อยู่ในญี่ปุ่นปัจจุบัน ก็อาจจะมีคนไม่อินอยู่เยอะ เซเลอร์มูน ที่เคยถูกดัดแปลงเป็นละครเวทีแบบมิวสิคัลมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง จึงเป็นอะไรที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการดัดแปลงมาเป็นการแสดงบนลานน้ำแข็ง
และการแสดงนี้ก็ไม่ได้ยกหน้าที่ให้นักกีฬาฟิกเกอร์สเกตเฉิดฉายเพียงผู้เดียว เพราะมีการประกาศว่าจะมีการให้ทีมนักพากย์จากอนิเมะ Sailor Moon Crystal มาให้เสียงประกอบการแสดงชุด Prism On Ice ดังนั้นโชว์นี้จึงมีทั้งสิ่งที่แฟนการ์ตูน กับแฟนฟิกเกอร์สเก็ต คุ้นเคย กับอะไรแปลกใหม่ที่มาจากการแสดงซึ่งอาจจะไม่เคยมีมาก่อน
ถ้าหากการแสดงชุดนี้จบลงด้วยความสำเร็จอย่างดี โชว์ชุดนี้อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้การดัดแปลงมังงะหรืออนิเมะดังๆ มาแสดงบนลานน้ำแข็งบ่อยขึ้น เพราะในญี่ปุ่นเองก็มีนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตไม่น้อย ซึ่งถ้าคิดไปไกลๆ หากการแสดงชุดนี้ประสบความสำเร็จมาก ย่อมหมายความว่ากลุ่มนักกีฬาที่ไม่ประสงค์จะแข่งขันในลีกสำหรับผู้ใหญ่ ก็จะมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น และคงจะได้ลุ้นต่อไปว่าในอนาคต เราอาจจะได้เห็น Dragon Ball On Ice หรือ ‘Yuri On Ice’ On Ice เปิดแสดงก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
YouTube Channel: VOX