เกมดังภาคต่ออย่าง Mafia 3 กำลังจะกลับมาให้คอเกมเล่นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นตัวอย่างการเล่นของเกมนี้ ก็พาลนึกถึงเกมดังในยุคก่อนหน้าอย่าง Grand Theft Auto ไม่ว่าจะภาค Vice City หรือ San Andreas ที่ตอนนี้มีฉบับมือถืออกมาให้เล่นระลึกความหลังกันแล้ว หรือถ้ามองไปถึงปลายเดือนตุลาคมก็จะมีเกมดูดเวลาอย่าง Civilization VI วางจำหน่าย ส่วนวงการข้างเคียง ภาพยนตร์ของ Assassin’s Creed ก็ปล่อยภาพหล่อๆ ของ Michael Fassbender ออกมาหมาดๆ ด้วยเช่นกัน
ดูเหมือนว่าเราจะพูดอะไรไม่เกี่ยวกันเลยใช่ไหมล่ะ แต่ทุกเกมที่เราพูดถึงข้างต้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างหนึ่งคือ ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่อยู่ในเกมนั่นเอง อ้าว แล้วทำไมการทำเกมต้องอิงประวัติศาสตร์ด้วยเหรอ? เราบอกได้เลยว่าต้องใช้แน่นอน แต่จะใช้เพื่ออะไรกันนั้น ไปอ่านกัน
อิงประวัติศาสตร์เพื่อความสมจริงของเนื้อเรื่อง
เกมอย่าง Assassin’s Creed นอกจากลอบสังหารกันด้วยใบมีดลับติดตัว โลกที่เปิดกว้าง กับกิจกรรมที่หลากหลายทำให้เกมมีเอกลักษณ์กับความสนุกที่ไม่ซ้ำใคร แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกมนี้ได้รับความนิยมก็คือเนื้อเรื่องที่เข้มข้นจริงจัง และมีประวัติศาสตร์ที่แม่นยำมาเกี่ยวข้อง
ทีมงาน Assassin’s Creed ต้องทำการบ้านเรื่องประวัติศาสตร์โลกอย่างหนัก เพราะเกมส่วนใหญ่เดินเรื่องอยู่ในอดีต รวมถึงตัวละครหลายๆ ตัวในเกม ไม่ว่าจะตัวละครสมทบ หรือเป้าหมายในการสังหารของผู้เล่นหลายคนนั้นเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จริง ดังนั้นความแม่นยำของข้อมูลว่าใครเสียชีวิตตอนไหนและเมื่อไหร่จึงสำคัญมาก และทีมงานพัฒนาเกมก็ทำงานผิดพลาดน้อยมากๆ
นอกจากเกม Assassin’s Creed ที่ขึ้นชื่อเรื่องนี้แล้ว เกมที่ไม่ได้มีตัวละครมาจากบุคคลจริงหลายเกม อย่าง Call Of Duty ก็ค้นคว้าประวัติศาสตร์การรบยุคต่างๆ ก่อนแต่งเรื่องเกมครอบไว้อีกทีหนึ่งเช่นกัน
อิงประวัติศาสตร์เพื่อสร้างฉากหลังให้น่าเชื่อถือ
หลายๆ เกม อาจไม่ได้มีเนื้อเรื่องหรือตัวละครหลักแบบชัดเจน เกมสายวางแผนการรบอย่างซีรีส์ Civilization หรือ Total War รวมไปถึงเกมที่เดินเรื่องอิงจากพงศาวดาร ซีรีส์ Dynasty Warriors, Samurai Warriors ที่อาจจะขยับเรื่องราวได้ไม่มา ไม่ก็มีตัวละครที่หลายคน มีภาพจำในใจอยู่แล้ว การปรับเรื่องราวให้สมจริงขึ้นอีกอาจไม่ได้สร้างความสนุกให้เกมนัก (ลองนึกภาพซีรีส์ Civilization ที่ต้องค่อยๆ สะสมเหล็กทีละก้อนเพื่อสร้างรถถัง หรือ Dynasty Warriors ฟันดาบฟาดง้าวแล้วอาวุธพังกลางสนามรบดูนะครับ)
ใช่ว่าประวัติศาสตร์ไม่สำคัญกับเกมเหล่านี้ แต่ด้วยความที่ต้องปรับเกมให้โม้ขึ้นเล็กน้อยตามวิสัย แต่บรรยากาศ และฉากหลังของเกมก็นำเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาใช้เพื่อให้เรื่องดูเข้มข้น อย่างในเกม Civilization ที่เปิดให้ผู้เล่นสามารถก้าวเข้าสู่ยุคสมัยในลำดับใหม่ตามแต่จะเลือก โดยการเลือกนั้นส่งผลต่อระบบการเมืองของประเทศที่เราเลือกอีกที และในส่วนเชิงอรรถของเกมก็มีระบุรายละเอียดไว้อีกทีว่ายุคที่เราเลือกคือยุคอะไร ข้อดีคืออะไร ข้อด้อยอยู่ตรงไหน ดูๆ ไปก็คล้ายๆ สารานุกรมไปอีก
ส่วน Dynasty Warriors ถึงความสมจริงในเกมจะน้อยเพราะเน้นฟันแหลก แต่ในหลายฉากก็สอดคล้องกับเรื่องเล่าจริงๆ ที่หลายคนคุ้นเคย หรือบางฉากที่เป็นเนื้อเรื่องการมโนจากทีมงานผู้สร้างเกม ก็ยังอ้างอิงความน่าจะเป็นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เข้าไปด้วย
แม้แต่ในเกม Grand Theft Auto หรือ Mafia ที่ฉากหลังยุคเก่า ก็มีเพลงของยุคนั้นจริงๆ มาประกอบฉากเพื่อให้เกมมีบรรยากาศเข้ากับเนื้อหามากที่สุด
อิงประวัติศาสตร์เพื่อเสริมพลังให้ตัวละครหลัก
ถ้าในยุคก่อนหน้านี้สัก 15 ปี ที่ตัวเอกหลายๆ ตัวออกมาในลักษณะ ‘ตัวเอกใบ้’ (silent protagonist) การสร้างปูมหลังให้ตัวละครคงไม่จำเป็นเท่าใดนัก แค่ทำประวัติศาสตร์หลักกับพื้นหลังให้แน่นหนาก็เพียงพอแล้ว พอมาสมัยนี้การทำตัวเอกใบ้อาจใช้ไม่ได้กับทุกเกม ยิ่งถ้าเป็นเกมดำเนินเรื่องด้วยความเข้มข้นของกลุ่มคน การมีตัวเองที่มี ‘ปูมหลัง’ ย่อมส่งผลดีกว่าแน่นอน ยกตัวอย่างเช่นเกม Mafia ภาค 3 ที่กำลังจะออกวางจำหน่าย มีตัวเอกที่เป็นคนเชื้อชาติผสม (Biracial) ที่ถูกทิ้งไว้ในเมือง New Bordeux แล้วเข้าสู่วงการมาเฟียในภายหลัง
ตัวละครนี้จะไม่น่าสนใจเลย หากปูมหลังของเนื้อเรื่องไม่อยู่ในช่วงปี 1968 ช่วงเวลาที่กลุ่มคนผิวดำพยายามแสดงพลังว่าพวกเขาต้องการความเท่าเทียมทางสังคมด้วยการแสดงออกหลายๆ แบบ และเนื้อเรื่องชวนให้ดราม่าขึ้นไปอีกเมื่อมีการวางงปูมหลังของตัวเอกว่าเป็นทหารที่เคยผ่านสงครามเวียดนามมา
ส่วนตัวเมืองอย่าง New Bordeux ถูกระบุไว้ว่าจำลองมาจากเมือง New Orleans ในเมืองนี้มีหนองบึงหลายแห่งที่มีจระเข้อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เทรลเลอร์ของเกมก็ทำให้ดูเลยว่าตัวละครของเราสามารถซ่อนศพที่ถูกฆ่าด้วยการเอาให้น้องเข้หม่ำซะ เรื่องราวเหล่านี้ทำให้เราจับสภาพได้คร่าวๆ ว่า นอกจากพูดถึงการกระที่เย้ยกฎหมายแล้ว คงต้องมีการพูดถึง ‘ที่ยืน’ ของตัวละครที่มีชาติพันธุ์ไม่ตรงกับพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่เป็นแน่
นี่ขนาดเกมยังไม่ได้ออกมาแบบชัดเจน แต่ยังรู้สึกถึงความตึงเครียดได้ขนาดนี้ ก็เพราะเรื่องราวในประวัติศาสตร์จริงๆ มาช่วยเสริมพลังให้กับตัวละคร แถมยังทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เราต้องเผชิญในเกมจะมีอะไรบ้าง หรืออย่างเกม Assassin’s Creed ภาค 2 ที่เดินเรื่องอยู่ในประเทศอิตาลี ก็บอกเล่าปูมหลังของตัวเอกว่าเขาไม่ได้ผันตัวมาเป็นนักฆ่าเพราะเป็นหน้าที่ของตระกูลเท่านั้น แต่เพราะตระกูลของเขาโดนสังหารแบบไม่ยุติธรรมอีกด้วย
ไม่ใช่แค่เกมแนวสมจริงที่ต้องแคร์ประวัติศาสตร์เท่านั้น หลายเกมที่แต่งเรื่องให้เกินจริงหนักๆ แบบ Metal Gear Soild ก็ยังต้องดัดแปลงเอาประวัติศาสตร์จริงมาแต่งเรื่อง หรือแม้แต่เกมอิงแนวโลกแฟนตาซีไปเลย อย่าง Final Fantasy XV หรือ Skrim ก็ต้องมาสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้โลกของเกมโดยอิงจากประวัติศาสตร์ในโลกจริง
เพราะการสร้างโลกของเกม (รวมไปถึงสื่อบันเทิงอื่นๆ) ถ้าพื้นฐานไม่แน่น ก็ยากนักที่เราจะเชื่อว่าตัวละครในเรื่องทำกิจกรรมใดๆ แบบที่เนื้อเรื่องพยายามบอกผู้เล่นอยู่ และนี่ก็เป็นสิ่งที่บอกได้ชัดเจนว่า สื่อบันเทิงไม่ได้เป็นเรื่องของวัยใดวัยหนึ่งเท่านั้น เพราะมันเกิดขึ้นจากการกลั่นกรองข้อมูลของโลกจริงเพื่อบันทึกมุมมองของยุคหนึ่งที่มีต่ออีกยุคหนึ่งนั่นเอง