ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทาง Disney ได้เปิดตัวอนิเมชั่นทางทีวีสองเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ Amphibia อนิเมชั่นที่ได้ Matt Braly อดีตผู้กำกับ Gravity Falls เป็นผู้สร้างและควบคุมการสร้าง ซึ่งเจ้าตัวได้ออกมาทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ตัวละครเอกที่ผจญภัยในโลกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (ตามชื่อเรื่อง) เป็นคนไทย ที่ใช้ชื่อในเรื่องว่า Anne Boonchuy (แอน บุญช่วย?) ที่น่าจะเป็นตัวละครเอกตัวแรกที่เป็นคนไทย และตัวผู้สร้างเรื่องก็ค่อนข้างจะตื่นเต้นดีใจด้วยความที่เจ้าตัวเป็นลูกครึ่งไทยอเมริกัน
จริงๆ บุคลากรในวงการบันเทิงฝั่งอเมริกาก็มีกลุ่มที่มีเชื้อไทยอยู่บ้าง ที่น่าจะเห็นชื่อกันบ่อยอยู่ก็คง เควิน ตันเจริญ (Kevin Tancharoen) ที่เป็นนักออกแบบท่าเต้น ผู้กำกับ และผู้เขียนบทซีรีส์อย่างเรื่อง Mortal Kombat: Legacy อีกคนก็พี่สาวของท่านแรก มาริสสา ตันเจริญ วีดอน (Maurissa Tancharoen Whedon) ที่ปัจจุบันเป็น Showrunner ของซีรีส์ Agents of S.H.I.E.L.D. และยังมี Jet Tila พ่อครัวอาหารไทยระดับเซเลบที่มีรายการอาหารของตัวเองในอเมริกา หรือถ้าจะกระโดดไปวงการอื่นก็มี Ben Parr ผู้แต่งหนังสือ Captivology: The Science of Capturing People’s Attention นักข่าวสาย IT และผู้ร่วมก่อตั้ง Octane AI แชตบอตสำหรับ Facebook เป็นต้น
พอมองกลับไปที่รีแอ็กชั่นของ คุณ Matt Braly พูดถึงว่าตัวละครไทยในสื่อบันเทิงเป็นเรื่องที่ ‘หายาก’ The MATTER จึงลองจัดหมวดหมู่ว่าต่างชาติต่างภาษาเขา ‘มองคนไทย’ อย่างไรผ่านสื่อบันเทิง ทั้งจากหนัง เกม การ์ตูน ฯลฯ ที่ถึงแม้ในบางแง่มุมอาจจะไม่ตรงหรือผิดเพี้ยนไปจากที่เราเข้าใจไปบ้าง แต่อย่างน้อยนี่ก็เป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าหากคนต่างชาตินึกถึงประเทศไทย พวกเขาจะนึกถึงอะไร
เก่งเรื่องมวย
เรื่องหนึ่งที่เราชาวไทยจะถูกทักจากชาวต่างชาติก็คงไม่พ้นเรื่องที่ว่า ‘พวกยูต่อยมวยได้ทุกคนใช่ไหม?’ ซึ่งช่วงก็ต้องยกเครดิตให้กับ จา พนม ที่สร้างภาพจำจากการวาดลวดลายในหนังหลายๆ เรื่องของเขา
แต่ถ้ามองไปในอีกหลายๆ ประเทศ ชาวต่างชาติไม่ได้จดจำมวยไทยได้จากพี่จาเท่านั้น เพราะพวกเขาจดจำได้จากนักมวยชาวไทยหลายๆ คนได้ตั้งแต่สมัยก่อน อย่างครูมวย ‘ยอดธง เสนานันท์’ น่าจะเป็นครูมวยที่สื่อนอกประเทศไทยคุ้นเคยกันดี ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ครูมวยท่านนี้รับลูกศิษย์ชาวต่างชาติที่ไปเปิดค่ายมวย ‘ศิษย์ยอดธง’ ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงเหตุการณ์ในปี 1971 ที่ครูยอดธงได้นำนักมวยไทยในสังกัดเข้าต่อสู้บนเวทีกับกลุ่มนักกีฬาคิกบ็อกเซอร์จากทางญี่ปุ่น จากเดิมทีที่นักกีฬาจากญี่ปุ่นกลุ่มนี้จัดศึกแข่งกับนักมวยไทยอย่างมีข้อกังขาไปครั้งหนึ่ง ผลคือฝั่งนักมวยไทยที่ครูยอดธงนำทัพมานั้นเอาชนะไปได้ 5 ต่อ 1 ทำให้ข่าวนี้กระจายไปตามนิตยสารข่าวกีฬาสายต่อสู้ทั่วโลก
อาจจะเพราะเหตุการณ์นี้ทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นเริ่มเขียนให้นักมวยไทยในการ์ตูนเก่งกาจเหนือผู้คนอยู่หลายเรื่อง อย่าง ‘Karate Baka Ichidai’ การ์ตูนคาราเต้ ที่เขียนในปี 1971-1977 ก็มีตัวละครนักมวยไทยอยู่หลายตัว และเป็นแชมป์ฝีมือร้ายกาจชื่อ Reeban (ไม่แน่ใจว่าคนเขียนอยากให้อ่าน เรบัน เรวัญ หรือราวัญ เลยขออนุญาตทับศัพท์) เรื่อง ‘ก้าวแรกสู่สังเวียน’ ก็มีนักมวยไทยเด่นๆ อยู่หลายคน อย่าง จิมมี่ ศรีฟ้า ก็ปรากฎตัวเป็นคู่แข่งที่สร้างความลำบากของตัวละครหลัก ในการ์ตูนเรื่อง ‘คุณชายพันธุ์โชะ โคฮินาตะ มิโนรุ’ ซึ่งเขียนขึ้นหลังยุค K-1 เฟื่องฟูแล้วก็มีตัวละครนักมวยไทยหลายตัว หนึ่งในนั้นคือ สามารถ ศรินทุ ที่เป็นนักมวยไทยเก่งกาจระดับแชมป์ หรือแม้แต่การ์ตูนฟุตบอลอย่าง ‘กัปตันซึบาสะ’ ก็ยังให้ตัวเอ้ของทีมอย่าง บุนนาค สิงห์ประเสริฐ ใช้วิชามวยไทยในการเตะบอล (เดี๋ยวนะ!)
ในเกม Street Fighter ก็มี Sagat เป็นบอสของภาคแรกและรับบทเป็นตัวร้ายอยู่พักหนึ่งก่อนที่เรื่องจะพลิก (เพราะความนิยม) ว่า จริงๆ นักมวยร่างยักษ์แค่ยึดติดกับการเอาชนะตัวเอกแบบริว เมื่อเขาปล่อยวางได้ เขาก็กลับมาเป็นจักรพรรดิแห่งมวยไทยที่น่าเกรงขามอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่านักมวยในเกมคนนี้มีต้นแบบมาจาก สกัด พรทวี หรือ สกัด เพชรยินดี ผสมกับ ตัวละคร Reeban ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้
ฝั่งหนังฝรั่ง ถ้าเราตัดหนังของ โทนี่ จา, จีจ้า หรือเดี่ยว ชูพงษ์ ที่ทำให้คนต่างชาติเข้าใจผิดว่าทุกบ้านชาวไทยเข่าลอยเป็นงานอดิเรก เราก็มีหนังที่ตัวละครใช้มวยไทยเป็นวิชาป้องกันตัวอย่างเช่นหนังเรื่อง Salt ที่มี Angelina Jolie มาแสดงนำ หรือ Haywire ที่จับเอา Gina Carano ซึ่งผ่านการฝึกมวยไทยมาแสดงเป็นนางเอก และตัวละครที่ว่าต่างก็ใช้แม่ไม้มวยไทยบู๊ใส่ตัวร้ายในเรื่องให้น่วมกันเป็นว่าเล่น หรือถ้าเอาหนังแนวดราม่าหลายๆ เรื่องก็มักจะเล่าเกี่ยวกับตัวละครต่างชาติที่มาใช้เวทีมวยสมัครเล่นในการพิสูจน์ตัวเอง อย่างเรื่อง A Prayer Before Dawn ที่มีเก่ง ลายพราง ร่วมแสดงด้วย
พูดรวมๆ แล้ว ในตอนนี้ถ้ามีตัวละครใช้มวยไทยปรากฎตัวในหนังหรือการ์ตูนหรือเกมไหน ถ้าไม่ออกมาเอาฮาเพราะใช้มวยไทยมั่วๆ หรือโดนทำร้ายแบบเสียผู้เสียคนอย่างที่คนเขียนเรื่อง ‘บากิ’ ชอบทำ ก็เดาได้เลยว่าตัวละครนั้นต้องเก่งกาจระดับหนึ่งแน่นอน
ผูกพันกับช้าง
‘บ้านยูขี่ช้างอยู่ใช่ไหม?’ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนต่างชาติจากจะเข้าใจผิดไปบ้าง
ด้วยความที่วัฒนธรรมไทยมีช้างอยู่เคียงคู่กันมาอย่างยาวนานจริงๆ อย่างที่เห็นในหนัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือถ้าเอาเก่าหน่อยก็มีหนัง พระเจ้าช้างเผือก ที่เราทำส่งออกให้ชาวต่างชาติได้เห็นว่าบ้านเรานั้นให้ความสำคัญกับสัตว์ใหญ่ประเภทนี้ และก็เป็นพี่โทนี่ จาของเราอีกแล้วที่ทำให้ภาพลักษณ์ “ช้างกูอยู่ไหน” จากหนังเรื่อง ต้มยำกุ้ง เด่นเด้งไปไกลทั่วโลก
ในหนังต่างชาติก็อิงภาพลักษณ์นี้อยู่บ้างแต่มักจะเป็นหนังสเกลเล็ก อย่าง The Elephant King ที่ตัวละครเอกไปซื้อลูกช้างมาขี่ (และมีบอกในเรื่องชัดเจนว่าผิดกฎหมาย) หนังอเมริกา Elephant White ที่ได้ ปรัชญา ปิ่นแก้วไปกำกับ ก็เป็นเรื่องของนักฆ่าชาวอเมริกาไปถล่มกลุ่มอาชญากรค้ามนุษย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ช้าง หรือจะเป็นตัวแทนหนังจากประเทศสิงคโปร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศประจำปี 2017 อย่างเรื่อง Pop Aye ที่เล่าเรื่องชีวิตชายวัยกลางคนที่เดินทางไปกับช้างเพื่อกลับยังบ้านเกิด
ฝั่งเกมที่ชัดเจนก็คงเป็น Civilization ภาค 5 ที่ประเทศไทยมียูนิตพิเศษในเกมชื่อ ช้างของพระนเรศวร (Naresuan’s Elephant) ส่วนการ์ตูนนั้น ในยุคหลังๆ เขียนความสัมพันธ์ของคนไทยกับช้างได้ถูกต้องขึ้น คือไม่ได้ขี่ช้างเข้าเมืองกันทุกคน แต่ก่อนหน้านี้ก็มีอะไรชวนแปลกใจอย่าง ‘Karate Baka Ichidai’ ก็มีตัวละครลูกศิษย์แชมป์มวยไทยขี่ข้างมาขึ้นเวทีชกมวย หรือถ้าเอาแบบหลุดโลกหน่อยในเรื่อง ‘รีบอร์น ครูพิเศษจอมป่วน’ ก็มีร่างหนึ่ง (หรือชุดหนึ่ง) ของเขาเป็น พระอาจารย์แปร๋น แปร๋น อาจารย์สอนมวยไทย ซึ่งจริงๆ แล้วก็แค่ตัวรีบอร์นใส่หมวกรูปช้างสะท้อนความคิดที่ว่าคนไทยต้องคู่กับช้างตลอดเวลา
นอกจากจะมีหนังที่เล่าเรื่องของไทยกับช้าง แล้วยังมีหนังที่เล่าเรื่องช้างที่ถ่ายทำในไทยแต่สมมติว่าเรื่องเกิดในเวียดนามอย่าง Operation Dumbo Drop ที่ใช้ทั้งช้างไทยและครูฝึกไทยด้วย
ติดโซเชียล
หลายๆ คนน่าจะทราบอยู่ว่าชาวไทยเล่นโซเชียลกันดุเดือดไม่น้อย ดูจากทิศทางสื่อของปีที่ผ่านมา ที่ทุกคนมุ่งหน้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลสถิติช่วงกลางปี 2017 ไทยมีผู้ใช้งาน Instagram สูงถึง 11 ล้านคน และถ้าเป็น Facebook ก็มีสูงถึง 47 ล้านคน
ด้วยความที่เราเคยไปไกลในระดับ Top 10 ผู้ใช้งาน Facebook แล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยมีสื่อบันเทิงอันไหนบอกว่าคนไทยติดเน็ตหนักมาก …จนกระทั่่งมีตัวละครชื่อ พิชิต จุลานนท์ ในอนิเมชั่น ‘Yuri on Ice’
พิชิตเป็นตัวละครที่ถูกระบุในประวัติตัวเองเลยว่า ‘ติดโซเชียล’ ระดับที่ว่ามีอะไรก็ชอบไปโพสต์ใน Instagram (ในเรื่องมีระบุว่าไอดีเขาชื่อ phichit+chu ด้วย) แล้วยังชอบถือไม้เซลฟีถ่ายรูปตัวเองกับสถานที่ต่างๆ ไม่ก็ไปแอบถ่ายภาพพร้อมกับชาวบ้านในจังหวะชวนเขินหน่อย และเนื่องจากอีเวนต์สำคัญในเรื่องถูกเผยแพร่ให้คนจำนวนมากรู้จากการโพนทะนาของเจ้าตัว ทำให้แฟนชาวไทยตั้งแฮชแท็ก #พิชิตรู้โลกรู้ ในช่วงที่อนิเมชั่นเรื่องนี้ออกฉายอยูู่พักนึง
จริงๆ ยังมีซีนที่พิชิตเกี่ยวกับเมืองไทยอย่างการออกรายการ เรื่องเล่า หรือ พบกับนายก…ที่ไม่ได้บอกว่าชื่ออะไรแต่หน้าคุ้นๆ เหมือนเคยเจอกันทุกวันศุกร์ตอนเย็น
การค้าประเวณี
รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวของประเทศแกมเบียแซะออกสื่อนานาชาติว่า ถ้าอยากหา sex tour ไม่ต้องไปบ้านเขา แต่ให้มาประเทศไทย …ฟังดูแรง กระนั้นในบางมุมและบางห้วงเวลาของประเทศไทยก็ถูกมองว่าหาซื้อความสุขทางเพศได้ง่าย และกลายเป็นฉากหลังที่สื่อบันเทิงหลายๆ เรื่องนำไปใช้ ไม่ว่าจะในหนัง การ์ตูน ในซีรีส์ หรือแม้แต่ในเกม ตัวอย่างเด่นๆ ที่หลายคนน่าจะคุ้นและสะดุ้งหูเพราะเธอพูดไทยชัดเจนมากคือตัวประกอบในฉากเปิดของเกม Grand Theft Auto IV ซึ่งมีตัวละครหญิงที่ขึ้นเครดิตในเกมว่าเป็น โสเภนีไทย (Thai prostitute) ที่ออกมาเฆี่ยนตัวประกอบในเรื่องอย่างเมามันในอารมณ์
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่า ตัวละครไทยที่ถูกต่างชาติมองในลักษณะนี้จะเป็นตัวละครเด่นไม่ได้นะครับ อย่างในหนัง Only God Forgives หญิง รฐา หรือ ญาญ่าญิ๋ง ก็รับบทเป็น ใหม่ นักร้องในคาราโอเกะและเป็นคู่นอนของพระเอก ทั้งยังนำตัวพระเอกไปเจอกับตัวละครสำคัญในเรื่องต่อไป หรืออีกเรื่องก็คือ Bangkok Nites จากญี่ปุ่น โดยจับเอานางเอกเป็นสาวค้าบริการในเขตธนิยะที่ตัดสินใจเดินทางกลับไปบ้านเกิดพร้อมกับหนุ่มญี่ปุ่น เรื่องเล่าทั้งเส้นทางการมาทำงานนี้ของเธอและยังบอกเล่ามุมมองของคนญี่ปุ่นต่อธุรกิจทางเพศในไทย ยังมีหนังญี่ปุ่นอีกเรื่องอย่าง Yami No Kodomotachi ที่เล่าเรื่องการค้าโสเภณีเด็กกับการค้ามนุษย์แต่ออกจะเล่าเรื่องเกินจริงไปเล็กน้อย จนถูกแบนจากการฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในบ้านเราและเป็นข่าวคราวขึ้นมาในช่วงนั้น
นอกจากสายบันเทิงที่เราบอกไปก่อนแล้ว หนังสารคดีหลายเรื่องก็ยังเคยใช้พื้นที่ประเทศไทยบอกเล่าการค้าประเวณีและค้ามนุษย์ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกได้ว่านำเสนอด้านนี้กันจริงทั้งแบบโลกจินตนาการและแบบจริงจังเจาะลึกเลยทีเดียว
สาวข้ามเพศสวยและการแปลงเพศ
เป็นของขึ้นชื่อสำหรับชาวต่างชาติเช่นกันกับกะเทยสวยและการแปลงเพศ ที่ต้องยอมรับว่าบ้านเราเป็นดินแดนที่ชำนาญการด้านนี้อยู่ไม่น้อย ในขณะเดียวกันเราก็มีเวทีประกวดอย่าง Miss Tiffany ที่หลังๆ กลายเป็นเป้าหมายของชายสวยหรือสาวข้ามเพศ ให้ได้มาประชันโฉมแสดงความสามารถกัน จึงไม่แปลกที่คนหลายชาติจะจดจำเรื่องนี้ได้ดี ในเรื่องนี้ก็มีสื่อบันเทิงนำเสนอกันในหลายมุมหลายด้าน แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นมุกตลกเสียดสีทั้งในหนัง การ์ตูน เกม หลายๆ เรื่อง
ถ้าเอาการ์ตูนเด่นๆ ก็เรื่อง ‘Back Street Girls ไอดอลสุดซ่าป๊ะป๋าสั่งลุย’ ซึ่งตัวเอกในเรื่องเป็นยากูซ่าสามคนที่ทำงานพลาดจนต้องมาแปลงเพศที่เมืองไทยจนสวยเซี้ยะแล้วกลับไปเป็นไอดอลอินดี้ที่ญี่ปุ่น ซึ่งในเรื่องก็ระบุถึงการแปลงเพศในไทยทุกช็อตเลย
แต่ก็ใช้ว่าส่วนดราม่านุ่มนวลจะไม่มีพูดถึง ถ้าเอาจากหนังของบ้านเราแต่ออกจะเป็นที่นิยมในสายตาต่างชาติก็มีเรื่อง Beautiful Boxer ที่เอาชีวิตนักมวยไทย ตุ้ม ปริญญา มาบอกเล่าให้เห็นว่าความสตรองของมือเท้าศอกกับความงามจากการแต่งหน้าก็อยู่ด้วยกันได้ในตัวคนคนเดียว
ถ้าทีวีซีรีส์ของชาติอื่น ก็มีเรื่อง 30 Degrees in February ของประเทศสวีเดน โดยเล่าเรื่องชาวสวีเดนที่มาเมืองไทยและพบรักสาวข้ามเพศชื่อ โอ้ ซึ่งในเรื่องก็ยังใช้นักแสดงหญิงชาวไทยด้วย
ถ้าเป็นฝั่งการ์ตูนก็จะมี Umareru Seibetsu wo Machigaeta! การ์ตูนอัตชีวประวัติของ Koinishi Mafuyu นักเขียนการ์ตูนข้ามเพศที่แต่งงานมีภรรยาแล้ว และภรรยาก็ยินยอมให้สามีไปแปลงเพศ เพราะทั้งสองคนตกลงปลงใจกันในฐานะมนุษย์ที่รักกันเท่านั้น ตัวการ์ตูนเล่าเรื่องขั้นตอนการแปลงเพศได้อย่างดี ระบุตั้งแต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติจะมาแปลงที่ไทยแบบเหมาะสมควรทำอย่างไร ทั้งยังคงความตลกแบบการ์ตูนไว้ ทำให้อ่านแล้วไม่รู้สึกตึงเครียดมาก และเป็นการเปิดให้ผู้เสพสื่อปลายทางได้เข้าใจว่าเรื่องเพศวิถีที่แต่ละคนก็มีสิทธิ์วิถีทางของตนเองครับ
ยาเสพติดและกฎหมายลงโทษ
จริงๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องกึ่งดีกึ่งร้าย อันเป็นผลพวงมาจากการที่ประเทศไทยเรามีพื้นที่ส่วน ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ ที่สื่อหลายเจ้าระบุว่าเป็นแหล่งค้าและผลิตยาเสพติดระดับโลก ผลพวงก็คือ ทั้งหนังทั้งการ์ตูนทั้งเกมจะอ้างอิงสถานการณ์พื้นที่ส่วนนี้และตีความไปโดยปริยายว่า ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติที่หายาเสพติดมาใช้ได้ง่าย อย่างเช่นในเรื่อง The Hang Over Part II ที่มีฉากตัวละครมาเมาโคเคนกันในเรื่อง หรือเรื่อง The Beach ที่ Leonardo DiCaprio แสดงนำเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเกาะสวรรค์ในภาคใต้ของไทยอันเป็นดินแดนอิสระเสรีที่อุดมไปด้วยยาเสพติด
แต่ในขณะเดียวกันหนังกับการ์ตูนหลายเรื่องก็บอกเล่าว่า กฎหมายยาเสพย์ติดบ้านเรารุนแรงจริงอะไรจริง อย่างในหนัง A Prayer Before Dawn ตัวพระเอกเป็นฝรั่งที่ถูกจับกุมในคดียาเสพติด
การ์ตูนหลายเรื่องก็พูดถึงความรุนแรงของกฎหมายยาเสพย์ติดในพื้นที่แถบนี้ อย่างในเรื่อง ‘CMB พิพิธภัณฑ์พิศวง’ กับ ‘Japonica วิถีอาทิตย์อุทัย’ ก็บอกเล่าเรื่องที่ว่าชาวญี่ปุ่นมักจะมาเมามันกับยาเสพติดในบ้านเราจนสุ่มเสี่ยงถูกจับติดคดีง่ายๆ ระดับที่บุคลากรสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยออกปากว่าเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นประจำ เพราะนักท่องเที่ยวคิดว่าจะไม่โดนจับ (คดียาเสพย์ติดบ้านเราดุเดือดจริงจังนะ ลองอ่านได้ที่นี่ https://thematter.co/pulse/drugs-act-2560/18954)
นอกจากนี้ยังมีอีกเมืองที่น่าพูดถึงก็คือ รอนาปลา เมืองสมมติจากการ์ตูนเรื่อง ‘Black Lagoon’ ที่อุดมไปด้วยสิ่งผิดกฎหมาย ขนาดตำรวจยังเถื่อน อาวุธก็หาง่าย ตัวละครติดยาและหายามาเสพเลยปรากฏอยู่ไม่น้อยในเรื่องนี้ โชคยังดีหน่อยที่เมืองนี้เป็นเมืองสมมติ
ยิ้มเก่ง
จุดเด่นนี้่ก็ยังคงมีอยู่เสมอในทุกสื่อบันเทิง ต่อให้เรื่องนั้นจะนำเสนอมุมเครียดจัดๆ ของบ้านเรา แต่ในหลายๆ ฉาก หลายๆ ตอน ก็ยังเป็นภาพที่ชาวไทยยิ้มง่ายตามวิสัยยิ้มสยาม
แม้ว่าจะมีคนค้านอยู่บ้างว่า หลายทีก็เป็นการยิ้มแห้งกลบเกลื่อนเพราะไม่รู้ว่าจะรีแอ็กชั่นอะไรก็ตามที แต่เมื่อภาพที่คนในยิ้มให้คนต่างแดนได้กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ใครหลายคนต้องเดินกลับมาเมืองไทย หรือในอีกทางหนึ่งก็คงมีคนไทยในต่างประเทศไปโปรยยิ้มให้ชาวต่างชาติด้วย
อย่างภาพที่เรายกมาเป็นภาพจากอนิเมชั่นเรื่อง ‘Tadaima’ อนิเมชั่นโปรโมตจังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่น ที่หยิบเอาตัวละครให้เป็นลูกครึ่งไทยญี่ปุ่นและเข้าไปเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดูมีความใกล้เคียงกันระหว่างไทยกับ ซากะ ก็คือรอยยิ้มที่สดใสนั่นเอง
นอกจากเรื่องตัวอย่างที่เรายกไปแล้ว ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไทยถูกนำเสนอผ่านสื่อบันเทิง แต่อาจจะไม่ใช่ไฮไลต์เด่นมาก อย่างตัวละคร ประกับ คำดี ของการ์ตูนเรื่อง ‘Spriggan’ ซึ่งถูกนำเสนอว่าเป็นนักสู้ที่เก่งที่สุดในเรื่อง แต่ดันไม่ได้ใช้มวยไทยและยังเป็นหมอที่ผ่าตัดคนด้วยมือเปล่า (อิงมาจากเรื่องที่มีคนหยิบของออกจากไส้จากพุงด้วยมือนั่นล่ะ) หรือสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของไทยก็ถูกเอาไปนำเสนอหลายแบบ ทั้งในความสวยงาม ในแง่ความมันเต็มพิกัด หรือแม้แต่นำเสนอให้น่ากลัวอย่างในหนังผีของฝรั่งเศสเรื่อง Winyan และนับตั้งแต่โฆษณาของบัตรเครดิตยี่ห้อหนึ่งที่อิงตัวละคร เจมส์ บอนด์ มาโลดแล่นในไทย หลังจากนั้นเราก็เห็นตุ๊กตุ๊กซิ่งสตันท์มากขึ้น
ตัวอย่างที่ยกมานี้อาจจะไม่ใช่มุมมองเป็นจริงหรือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ไปเสียทั้งหมด เป็นเพียงภาพที่ชาวต่างชาติมองเห็นเท่านั้น ซึ่งภาพลักษณ์ของไทยที่ชาวต่างชาติมองก็เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ แต่มันจะเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับตัวเจ้าบ้านอย่างพวกเราที่อาศัยในประเทศไทยทุกคนนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก
ทวิตเตอร์ส่วนตัวของ Matt Braly