“ผู้เข้าชมงานกว่า 40 % คือวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของงานหนังสือในทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความรักการอ่านในกลุ่มเยาวชนอย่างชัดเจน”
คำพูดข้างบนนี้เป็นคำพูดของคุณสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) คนปัจจุบัน ที่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2560
ย้อนเวลากลับไปสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 22 ตุลาคม ทางสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ก็ได้อาศัยงานมหกรรมหนังสือฯ เปิดงานเสวนาหลายหัวข้อ และมีอยู่หัวข้อหนึ่งที่สอดคล้องกับประโยคแรกเริ่มประเด็นหนึ่งซึ่ง The MATTER เห็นว่าน่าสนใจและได้แวะเวียนไปร่วมนั่งฟังก็คือ เสวนาหัวข้อ “วัยรุ่นไทยวันนี้อ่านอะไร” ซึ่งเป็นคำพูดเชิงค่อนขอดวัยรุ่นสมัยนี้ว่าพวกเขาไม่ได้อ่านหนังสือกันอีกแล้ว
และวิทยากรหลายท่านที่เข้ามาแบ่งปันความรู้กันก็ใช้เวลาไม่นานในการเกลี้ยกล่อมผู้ฟังอย่างเราให้เชื่อว่า ‘วัยรุ่นไทยอ่านหนังสือมากกว่าที่คนคิด’ สอดคล้องกับคำพูดขอนายกฯ PUBAT ที่เรายกมาไว้ตอนต้นของบทความ มิหนำซ้ำแล้วพวกเขายังบอกกล่าวอีกว่า ไม่ต้องกลัวว่าวันนี้วัยรุ่นอ่านอะไร ก่อนจะโยนประโยคชวนผู้เข้าร่วมเสวนาทุกคนคิดกันว่า “คนแก่วันนี้อ่านอะไร?”
อ้าว ไหงเรื่องราวกลับตาลปัตรเช่นนี้กันล่ะนั่น?
ก่อนที่จะเข้าเรื่องกันเราขอพูดถึงตัวงานอีกครั้ง งานเสวนาดังกล่าวนอกจากมีสมาชิกคนสำคัญของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพและเป็นผู้ดำเนินรายการแล้ว วิทยาการที่มาร่วมงานก็คือ บุคลากรฝั่งสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งคุณศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์ จากสำนักพิมพ์แจ่มใส, คุณอรรถ บุนนาค จากสำนักพิมพ์ JLIT, คุณธัชชัย ธัญญาวัลย จากสำนักพิมพ์ Artyhouse และ คุณรวิวร มะหะสิทธิ์ จาก MEB ผู้จัดจำหน่าย E-Book รายใหญ่รายหนึ่งของบ้านเรา ซึ่งทุกคนต่างมาเสนอข้อมูลว่าทำไมเราควรมองมุมกลับแล้วพินิจคิดว่า คนมีอายุอาจจะอ่านหนังสือน้อยกว่าที่เคยเชื่อกัน
วัยรุ่นสมัยนี้ไม่เคยคิดจะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านจริงเหรอ?
เริ่มต้นเสวนากันด้วยตัวแทนจากสำนักพิมพ์แจ่มใส ที่หลายๆ คน (รวมถึงเราเอง) คิดว่าน่าเขาน่าจะเข้าใจนักอ่านกลุ่มวัยรุ่นมากที่สุด เพราะผลงานของพวกเขาที่เราคุ้นตาก็คือ นิยายรักใสๆ สำหรับนักอ่านวัยเยาว์ ซึ่งในช่วงเสวนาแจ่มใสพาเราออกจากมุมเดิมที่ใครหลายคนคุ้นตา มายังอีกด้านหนึ่งที่พวกเขามีส่วนช่วยสร้างสังคมนักอ่านในอินเทอร์เน็ต ทั้งยังดึงเอาวัยรุ่นที่ลองเขียนนิยายในโลกไซเบอร์มาตีพิมพ์ออกขาย ไปจนถึงจุดที่เคยมีนักเขียนในสังกัดวัย 13 ปีมาแล้ว และนั่นก็เป็นเรื่องที่ผ่านมาหลายปีดีดัก หรือถ้าพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘วัยรุ่น’ อ่านหนังสือกันมานานแล้ว และทางแจ่มใสก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะยังข้ามมาทำหนังสือประเภทอื่นอย่าง นิยายรักหลากหลายทางเพศ นิยายแปลหลายภาษาทั้งฝั่งชาติตะวันตกและชาติตะวันออก และลูกค้า ‘วัยรุ่น’ หลายคนก็เริ่มขยับไปอ่านหนังสือกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น (แถมส่วนหนึ่งก็โตจนกลายเป็น ‘วัยทำงานไปแล้ว’) ไม่ได้หยุดแค่รักใสๆ แบบที่คนเข้าใจ
ผู้ที่เข้ามาเสริมแนวคิดนี้ก็คือตัวแทนจากทาง JLIT เพราะจากตัวหนังสือที่สำนักพิมพ์เลือกจัดทำนั้นเป็นแนววรรณกรรมคลาสสิกของทางญี่ปุ่น (อย่างเรื่อง สูญสิ้นความเป็นคน ของ ดะไซ โอซามุ) ที่กลุ่มผู้อ่านนั้นควรจะเป็นคนมีอายุเสียหน่อย แต่ผลก็คือ กลุ่ม ‘คนแก่’ นั้นกลับไม่ได้มาอุดหนุนมากเท่าที่คิด แต่เป็นกลุ่ม ‘วัยรุ่น’ ที่ติดตามสื่อมากหลายในปัจจุบัน อย่างเช่น ติดตามแฮชแท็ก #จินยองอ่าน ในทวิตเตอร์ หรือเคยดูสื่อบันเทิงหลายแบบที่ดัดแปลงนิยายเล่มที่ว่า ทำให้ ‘วัยรุ่น’ อยากติดตามต้นฉบับขึ้นมา
ระหว่างที่อธิบายอยู่นี้เอง บ.ก. ของ JLIT ก็ออกความเห็นหนึ่งว่า ผู้ใหญ่ที่พูดว่าวัยรุ่นไม่อ่านหนังสือ มักจะเป็นคนที่ไม่ได้อ่านหนังสือเสียเอง พอไม่ทราบว่าฝ่ายตรงข้ามอ่านอะไรก็เกิดเรื่องขึ้น และปัญหานี้่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ด้วยเหตุที่ว่าเหตุการณ์ทำนองนี้ก็คล้ายคลึงกับเมื่อครั้งอดีตที่นักเขียนดังในไทยอย่าง ทมยันตี ก็ต้องคลุมโปงเปิดไฟฉายแล้วอ่านหนังสือใต้ผ้าห่มเพราะผู้ใหญ่ในยุคนั้นติติงและห้ามปรามไม่ให้อ่านมาก่อน
ที่ว่ามายาวๆ ตรงนี้ก็น่าจะเห็นภาพแล้วว่า ในความจริงแล้ววัยรุ่นอ่านหนังสือกันเยอะกว่าที่ใครสักคนเคยครหาไว้
งั้นที่เขาว่า ‘คนยุคนี้ไม่อ่านหนังสือ’ นี่ยังจริงอยู่ไหม?
ถัดจากประเด็นที่ ‘วัยรุ่นยุคนี้อ่านอะไร’ ความคิดของเห็นของวิทยากรท่านต่อไปก็รู้สึกตรงกับที่ใจเราตั้งคำถามพอดี เพราะวัยรุ่นตอนปลายสุดแบบเราก็จะโดนแซวปนแซะว่า ‘คนยุคนี้ไม่อ่านหนังสือ’ ตัวแทนจากทาง MEB ร้านหนังสือออนไลน์ พยายามอธิบายว่า คำพูดที่ว่านั้นแท้จริงมันน่าจะแปลว่า ‘คนยุคนี้ไม่ยอมอ่านหนังสือที่(คนพูดคำนี้)เลือกให้อ่าน’ ต่างหาก สิ่งที่ทาง MEB มองว่าคนยุคนี้อาจจะอ่านหนังสือเป็นเล่มน้อยลงไปก็จริง แต่ยุคนี้มีโลกอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เกิดกิจกรรมการอ่านมากขึ้น เพราะมีคนพร้อมสร้างเนื้อหาให้อ่านกันเยอะขึ้น
ผลพวงจากการหาอะไรเสพได้ง่ายขึ้นก็ทำให้คนอ่านมีการเติบโตขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม ‘วัยรุ่น’ ที่มีเวลาว่างมากกว่าวัยอื่น ทำให้พวกเขารู้จักตัวเองและตามหาแนวเรื่องที่สนใจอ่านเร็วขึ้นเช่นกัน แต่แน่นอนว่าวัยรุ่นมีเงินในมือจำกัด การที่จะเห็นวัยรุ่นมีเงินซื้อหนังสือตลอดเวลาก็คงเป็นอะไรที่แปลกสักหน่อย จึงทำให้หลายคนเหมารวมไปว่าพวกเขามัวแต่ง่วนกับหน้าจอโดยไม่สนใจสาระอื่นๆ อย่าง ‘หนังสือ’
ข้อสังเกตหนึ่งจากคำพูดเมื่อครู่ก็คือ แม้ว่าเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตหรือคอนเทนต์จะมีมากขึ้น แต่เราจะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้อ่านที่มีอายุและไม่ถนัดด้านเทคโนโลยีก็จะเลือกเนื้อหาที่เป็นออกไปทางแนว click bait ซึ่งตามปกติมักจะมีเนื้อหาโดนใจมากกว่าให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย เมื่อนักอ่านอายุน้อยกว่าพยายามแก้ก็ยิ่งเหมือนว่าความเชื่อของเขาไม่ถูกต้อง
แล้วก็คงเป็นจุดนี้นี่เองที่ทำให้ ‘คนแก่’ คิดว่า ‘คนยุคนี้ไม่อ่านหนังสือ’ รุนแรงมากยิ่งขึ้น
หรือปัญหาที่แท้จริงอาจจะอยู่ที่ว่า ‘คนแก่วันนี้อ่านอะไร’ ?
ในช่วงท้ายของการเสวนาครั้งนี้ ทางผู้ดำเนินรายการก็สอบถามว่า เมื่อเราทราบว่าวัยรุ่นยังอ่านหนังสืออยู่ นักเขียนควรทำตัวอย่างไร วิทยากรแต่ละท่านนั้นมีความเห็นต่างๆ นานา กันไป บ้างก็ถกว่า นักเขียนกับกองบรรณาธิการอาจจะต้องหาช่องทางเข้าหาลูกค้าวัยรุุ่นมากขึ้่น อาจจะเป็นการเข้าร่วมกลุ่มสังคมออนไลน์ให้มากกว่าการโพสต์โฆษณาแล้วจบไปบ้าง พยายามหาร้านค้าที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ลูกค้า ฯลฯ ก่อนที่ทาง JLIT จะจุดประเด็นขึ้นว่า ‘วัยรุ่นไม่มีปัญหาในการหาอะไรอ่านหรอก’ แต่เป็น ‘คนแก่วันนี้อ่านอะไร’ และประเด็นที่ว่าก็ถูกแจกแจงได้หลายประการดังนี้
1. เนื้อหาของหนังสือ
เห็นได้ชัดเจนว่าเนื้อหาของหนังสื่อ รวมถึงสื่ออื่นๆ ในยุคนี้ มีเพียงจำนวนไม่มากที่คิดเผื่อผู้สูงอายุไว้ ส่วนใหญ่ที่ปรับตัวตามคนสูงวัยก็มีเฉพาะสื่อด้านสุขภาพ (ที่เราต้องลุ้นว่าเป็น click bait อีกไหม) แถมผู้ผลิตเจ้าเดิมที่เคยตอบสนองความคาดหวังผู้สูงวัยมาตลาด (อย่าง สตรีสาร หรือ สกุลไทย) ก็ปิดตัวลงไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เมื่อยังไม่มีเนื้อหายุคใหม่ที่ถูกใจก็ทำให้คนสูงวัยไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้อ่านโดยปริยาย หรือที่วิทยากรในงานเทียบง่ายๆ ว่า ดูทุกคนอยากสร้างเนื้อหาที่เป็น ‘ณเดชน์ x ญาญ่า’ แต่ไม่ค่อยมีใครอยากสร้างเนื้อหา ‘สมบัติ x พิศมัย’ เท่าไหร่
2. รูปเล่มของหนังสือ
หนังสือสมัยใหม่ที่่ทำรูปเล่มเล็กลงเพื่อให้สะดวกกับการเก็บแต่ก็มีผลข้างเคียงตามมาคือตัวอักษรนั้นก็เล็กลง และนั่นก็กระทบกับผู้สูงอายุที่สายตาแย่ลง การจะเพ่งไปยังข้อความเล็กๆ คงไม่ใช่ความสุขของพวกเขาสักเท่าไหร่ แล้วเมื่อร่างกายแก่ตัวการจับหนังสือขนาดเล็กเอาไว้ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นี่ยังไม่นับถึงประเภทกระดาษซึ่งอาจจะไม่ถนอมสายตาหรือจับแค่นิดเดียวก็ขาดได้อีก ในส่วนนี้่ถ้าเป็นฝั่งอุปกรณ์สำหรับ E-Book อาจจะมีการพัฒนาเผื่อผู้สูงอายุไว้บ้าง แต่ฝั่งเล่มพิมพ์นั้นน่าจะมีคนที่มาสนใจเรื่องนี้มากกว่านี้
3. กำลังทรัพย์ที่มากกว่า
จุดนี้ไม่ใช่ปัญหาเสียทีเดียวแต่อาจจะเป็นจุดที่หลายคนมองข้ามโดยปริยาย อย่างที่เรากล่าวไปว่า ‘วัยรุ่น’ ยุคใหม่เสพหรืออ่านข้อมูลกันเยอะขึ้นจริงๆ แต่พวกเขานั้นมีเงินพอซื้อแค่ในจำนวนที่ไม่มากเท่านั้นเอง ในทางกลับกัน ผู้สูงอายุหลายท่าน มีกำลังทรัพย์ที่มากกว่า (ผู้เขียนเคยเจอ นักอ่านรุ่นใหญ่ที่ใช้วิธีเดินไปบอกที่บูธในงานหนังสือว่า “น้องพี่มีเงินสองหมื่น ชอบหนังสือแนวบู๊ๆ จัดมาให้พี่ชุดใหญ่เลย” มาแล้ว) แต่เมื่อเนื้อหาไม่ถูกใจ รูปเล่มไม่อำนวย พวกเขาก็เลือกที่จะเก็บเงินไว้ใช้สำหรับการอื่นแทน
4. ไม่มีคนสนใจจะตามหาข้อมูลของผู้สูงอายุ
ด้วยเหตุที่ว่าข้อมูลของ วัยรุ่น วัยทำงาน นั้นสามารถออกเดินทางตามหาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ผู้สูงอายุนั้นอาจจะไม่ได้ออกมาเจอผู้คนเยอะเท่าไหร่นัก หรือผู้สูงอายุที่ออกมานั้นก็อาจจะเป็นแค่กลุ่มเฉพาะ เช่น คนสูงอายุที่ไปงานเสวนาแนวสุขภาพก็จะเน้นตอบแค่ข้อมูลด้านสุขภาพ ยังไม่รวมถึงแนวคิดเหมารวมที่เชื่อว่าคนสูงอายุสนใจแค่หนังสือธรรมะ พอข้อมูลไม่ชัดแจ้งมากนัก หรืออาจจะเหมารวมไปก็ทำให้หนังสือที่ออกมาในตลาดรองรับคนสูงอายุแค่ส่วนเดียว แล้วก็กลายเป็นปมอีกปมที่ทำให้คนสูงอายุรู้สึกว่า ไม่มีหนังสืออะไรให้พวกเขาเลย
5. ประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ
การอ่านมีประโยชน์หลายอย่าง ที่แน่ๆ เลยก็คือ ได้ความรู้ ได้เปิดโลกให้กว้างขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเข้าสังคมใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น แล้วก็ยังสามารถช่วยป้องกันอาการสมองเสื่อมได้ เป็นอาทิ การที่ผู้สูงอายุมีอะไรให้อ่านน้อยลง ก็เหมือนกับการที่เราพยายามผลักประโยชน์เหล่านี้ออกไปจากมือของพวกเขา
น่าเสียดายเล็กน้อยที่ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดจริงจังอยู่แค่ช่วงท้ายเวลาทั้งหมดสองชั่วโมงในการจัดงานส่วนนี้ รวมไปถึงว่าผู้คนที่นั่งอยู่ในห้องนั้นก็ยังไม่ใช่ผู้สูงอายุทั้งหมด ทำให้ประเด็นนี้ต้องจบลงและงานเสวนาก็จำเป็นต้องขมวดกลับไปที่หัวข้อหลัก แต่มันก็มากพอที่จะฉุกให้เราได้มองไปข้างหน้าว่า เมื่อประเทศไทยมุ่งหน้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว เรื่องที่เราจะต้องเป็นห่วงคงไม่ใช่แค่เรื่องว่าผู้สูงอายุจะอยู่บ้านอย่างสงบสุขอย่างไร แต่เราคงต้องมองว่าเราจะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมในประเทศที่มีผู้สูงอายุเป็นประชาชนหมู่มากเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก