Binance เอาภาษาไทยออกจากแพลตฟอร์มกระทบใครบ้าง? แล้วอนาคตคริปโตเคอร์เรนซีที่ว่ากันว่าเป็นการเงินที่ต้องการตัดตัวกลางและเป็นอิสระจากการถูกควบคุมโดยตัวกลาง จะอยู่ร่วมกับผู้กำกับกฎหมายไทยอย่างไร?
คำถามเหล่านี้ถูกไฮไลต์ขึ้นมาในไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่ Binance เว็บเทรดคริปโตฯ อันดับหนึ่งของโลก (ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย) ตัดสินใจเอาเมนูภาษาไทยออกจากระบบ ซึ่งเบื้องลึกเบื้องหลังก็ไม่มีใครรู้ว่าทำไม Binance ตัดสินใจแบบนั้น
ขณะเดียวกัน ตลาดคริปโตฯ ในประเทศไทยที่เริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นเรื่อยๆ (แม้ว่าการชำระเงินและธุรกรรมด้วยคริปโตฯ จะยังไม่ถูกรับรองด้วยกฎหมายประเทศไทย) ธุรกิจหลายส่วน เช่น เว็บไซต์เทรดไทย ก็เข้าไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย เรียบร้อยแล้ว หลายเสียงจึงเริ่มถกเถียงกันถึง ‘จุดยืน’ ของคริปโตฯ กับการถูก ‘กำกับ’ ว่าเป็นไปในทางไหน
แม้ว่าเราอาจจะหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไม Binance ตัดสินใจขยับครั้งล่าสุดเช่นนั้น นอกจากรอให้เจ้าของแพลตฟอร์มออกมาพูดเอง แต่ก็มีหลายประเด็นน่าสนใจ ในซีรีส์ Futureverse ครั้งนี้ The MATTER จึงไปชวน ‘ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์’ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้ก่อตั้ง Bitcast ช่องยูทูบให้ความรู้เกี่ยวกับแวดวงคริปโตฯ มาพูดคุยถึงประเด็นการกำกับควบคุมที่เราอาจจะพอหาคำตอบและคาดการณ์ได้บ้าง
Binance เอาฟังก์ชั่นภาษาไทยออก หลายคนก็กังวลไปว่า Binance ถูกกดดันอะไรมาหรือเปล่า เราควรมองเรื่องนี้ยังไง
เราจะเริ่มจากตรงไหนล่ะ จริงๆ มันมีประเด็นจากคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าส่วนนี้ไม่ได้กระทบอะไรเยอะหรอก
มันจะมีแบ่งออกเป็น 2 ส่วน มองอย่างนี้แล้วกันว่า เรื่องของ Binance มันถูกเกี่ยวโยงกับเรื่องการเข้าซื้อ Bitkub ซึ่งในภาพนี้หลายๆ คนก็มองเรื่องของการเข้ามาของธนาคาร คนที่เขารู้สึกว่าตัวระบบที่มาทดแทนธนาคาร กลายเป็นว่า ถูกธนาคารซื้อ เขาก็รู้สึกไม่พอใจ ส่วนกลุ่มที่เขามองถึงเรื่องธุรกิจเป็นหลัก อย่างพี่เองก็มีมุมมองในเชิงธุรกิจมองว่า ดีลนี้เป็นดีลที่เขาต้องขยับ
เวลาเราเอาเรื่องของธุรกิจกับเรื่องส่วนบุคคลมาคุยกัน มันจะคนละเรื่อง คนละราว คนละภาพเลย ซึ่งในภาพของเรื่องส่วนบุคคล มองว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้รับผลกระทบ เพราะโดยสาระของ Bitkub เขาก็ไม่ได้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของ decentralized (การเงินแบบกระจายศูนย์) อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในภาพของสิ่งที่เขาพยายามจะนำเสนอมาตลอดระยะเวลา คือ เขาจะมาล้มยักษ์ จะมาล้มธนาคาร ซึ่งกลายเป็นว่าถูกธนาคารล้มเสียก่อน ก่อนที่จะไปล้มยักษ์ ซึ่งจริงๆ พี่ก็มองว่าเขาก็ประสบความสำเร็จไปแล้วนะ เพราะว่าการที่เขาทำให้ธนาคารรู้สึกแบบนั้นได้เนี่ย มันก็เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งที่ถ้าเขาไม่ยอมรับ Bitkub เขาก็คงไม่มาซื้อ
ทีนี้ กลับมาถึงเรื่อง Binance มันเลยกลายเป็นว่าการเชื่อมโยง ใช้คำว่าการเชื่อมโยงแล้วกันนะว่า ดีลนี้มันมีผลอะไรหรือเปล่าที่การเคลื่อนไหวของ Binance ซึ่งอาจจะมาจากการถูกกดดัน ซึ่งเราไม่รู้หรอกเบื้องลึกเบื้องหลัง มันเป็นยังไง เพียงแต่ว่ามันมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ก็ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่า มันน่าจะมีเบื้องหลังนะ แล้วความคิดแบบนี้มันสนุก มันขายได้ คอนเทนต์นี้มันขายได้ ในความคิดพี่นะ มันขายได้ ซึ่งพี่เองก็ไม่ได้บอกว่ามันไม่มีมูลนะ แต่พี่แค่มองว่าเราควรจะต้องมีสติในการที่จะรับฟังข่าวสาร เพราะไม่อย่างนั้นเราจะถูกลากจูงโดยข้อมูลข่าวสาร
แล้วในประเทศอื่นๆ Binance มีการเคลื่อนไหวแบบนี้ไหม
อยากให้มองภาพใหญ่ว่า มันเป็นการเคลื่อนไหวที่เหมือนกันแทบทุกประเทศ สิงคโปร์ก็แบนเลยด้วยซ้ำ คือเข้าถึงไม่ได้เลย เราจะเห็นว่ามันมีความเคลื่อนไหวนี้ทั่วโลกเลย เกาหลี ฟินแลนด์ เขาก็มีการรับมือกับ Binance
ส่วนนี้เป็นกระบวนการหนึ่ง มันเป็นขอบเขตและอำนาจของ ก.ล.ต. ซึ่งเวลาที่พี่พูดแล้วหลายๆ คนก็เข้าใจว่าพี่เข้าข้างภาครัฐ แต่พี่แค่กำลังจะบอกว่า ความจริงมันคืออะไร เราเอาความจริงก่อน ถูกใจไม่ถูกใจมันจะอีกเรื่องหนึ่ง
ความจริงคือ ก.ล.ต. มีขอบเขตอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ซึ่งเขาก็ให้ใบอนุญาต (license) ไป ทีนี้โดยเนื้อหาคือว่า Binance เขาไม่ได้มาขอใบอนุญาต แต่เขามาดึงนักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ คนที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการ <ก.ล.ต.> ก็รู้สึกว่า คนอื่นเขาเล่นกันในสนาม แล้วอยู่ดีๆ คุณชุบมือเปิบ มันไม่ถูก เขาก็ต้องเคลื่อนไหว แล้วจริงๆ การเคลื่อนไหวนี้เคยเกิดมาแล้ว คือ ก.ล.ต. มีการฟ้องร้องเอาผิดจาก Binance ซึ่งก่อนดีล Bitkub แต่ว่า โอเค มันก็มีความสอดคล้องกันว่า แล้วทำไมเพิ่งจะมาทำเพิ่มเติมในช่วงนี้ ซึ่งพี่ก็ไม่รู้ แต่แค่เล่าให้ฟังว่าถ้าถามในบริบทนี้ ก.ล.ต. เขามีสิทธิที่เขาจะดำเนินการ หรือเร่งให้มันเกิดผลอย่างเร็วขึ้น ซึ่งมันอาจจะถูกกระตุ้นหรือไม่ถูกกระตุ้นก็ต้องว่าไป เราไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง
แล้วการเอาเมนูภาษาไทยลงจาก Binance กระทบใครบ้าง ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
ถ้ามองในมุมมองผู้ประกอบการ มันเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการภายในประเทศ ส่วนกระทบกับใคร ก็กระทบกับนักลงทุนรายย่อย แต่ก็มองว่าจริงๆ แล้วนักลงทุนรายย่อยมีทางเลือกเยอะ เพราะว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสร้างมาให้เราเป็นคนเลือกได้อยู่แล้ว
ส่วนตัวพี่มองว่ามันไม่ได้มีอะไรเยอะขนาดนั้ ที่มันจะเป็นปัญหาก็คือเรายังมีทางเลือกอีกมากมายอย่างเช่น หนึ่ง คือตัว exchange <เว็บไซต์/พื้นที่แลกเปลี่ยน> อื่นๆ ยังมีภาษาไทย สอง คือ เราก็เรียนรู้ภาษาอังกฤษและคุ้นชินกับเมนู เรียนรู้ว่ามันคืออะไร ซึ่งบางคนอาจจะมองว่า มันน่าหงุดหงิด
แต่ก็มีหลายคนกังวลไปถึงว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ Binance ถูกแบนในไทยเหมือนที่สิงคโปร์?
อีกประเด็นซึ่งมันเป็นผลกระทบ คือ เขากลัวว่าจะถูกแบนเหมือนสิงคโปร์ ซึ่งในมุมของพี่ พี่มองว่าโอกาสที่จะแบนมันยาก เพราะว่าขอบเขตนี้ไม่ใช่ขอบเขตของ ก.ล.ต. ไม่ใช่ขอบเขตอำนาจของ ก.ล.ต. ที่จะมาแบน แล้วตรงนี้ไม่มีประโยชน์กับนักลงทุน จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น
ถ้ามันเกิดการแบนขึ้นจริง เรามีทางเลือกอะไรบ้าง ทางเลือกหนึ่งที่อาจจะมีคนเลือกก็คือใช้ VPN ในการที่จะไปเทรด ซึ่งอาจจะยุ่งยาก และก็อีกวิธีที่แนะนำก็โอนออกมาก่อน โอนออกมาเก็บเอง โอนไปพื้นที่แลกเปลี่ยนอื่นที่ไม่ใช่ Binanace
แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น พี่กำลังมองว่าจริงๆ แล้ว เราอาจจะตื่นตระหนกมากเกินไป แต่เข้าใจได้นะว่า สมมติบางคนแบบมีเงินสัก 10 ล้านอยู่ใน Binance เจอแบบนี้ขึ้นมาก็หนาวๆ ร้อนๆ
แต่มันยังมีอีกเรื่องที่ไม่เข้าใจ แล้วยังงงๆ อยู่ว่า อะไรมันคือเหตุและปัจจัยที่ Binance ต้องทำ เพราะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ สมมติฝั่งไทยร้องเอาผิด Binance ก็คือ ‘Binance Thailand’ แต่คนที่เปิดบริการจริงๆ คือ Binance ที่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจของประเทศไทย ถ้าเขาจะเอาผิดจริงๆ มันก็เหนื่อยที่จะไปตามเอาผิด ยังไม่รู้เหมือนกันว่าการที่ Binance ยอมประนีประนอมนั้นมีบางอย่างหรือเปล่าที่เขาอยากจะทำ อย่างเช่น เปิด exchange ในไทยหรือว่าเปิดบริการในไทย ซึ่งเรายังต้องรอดูกันต่อไป
แล้วมีประเทศไหนไหมที่ Binance ยอมจดทะเบียนทำธุรกิจใต้กฎหมาย
อย่าง Binance US เขาก็จดนะ เขาก็มีมุมที่ถ้าเกิดว่ามันมีประโยชน์จริง เขาก็คิดที่จะทำเหมือนกัน ถ้าตลาดใหญ่พอ แต่อย่างของไทย ต่อให้เขาไม่ไปเปิด คนก็มีบัญชีใน Binance อยู่แล้ว
ใจความของคริปโตฯ คือการไม่มีตัวกลางหรือไม่ถูกควบคุมโดยตัวกลาง ทว่าในหลายประเทศ ก็มีการใช้กฎหมายกำกับผู้ประกอบการอยู่ คุณมองยังไงกับประเด็นนี้
ในมุมของพี่คือว่า เราอยู่ร่วมกัน มนุษย์อยู่ร่วมกัน มันต้องมีกฎอยู่แล้ว กฎระเบียบมันต้องมี ถามว่า decentralized มีกฎไหม มันมีกฎนะ แต่มันเป็นกฎของ decentralized
สิ่งที่เป็นประเด็นคือว่า กฎปัจจุบันที่เราใช้งานกันอยู่เป็นกฎที่เราไม่ได้คิดอยากที่จะให้มันเกิดขึ้น มันถูกบังคับใช้ลงมา แต่อย่าง decentralized เป็นกฎที่เรา <ผู้เทรด> ยอมรับ เราถึงเข้าไปใช้ คือ เรารู้กฎระเบียบอยู่แล้วเราถึงเข้าไปใช้ ซึ่งมันจะแตกต่างกันกับกฎที่เป็นการกำกับดูแลและควบคุมพฤติกรรม
ถามว่าเรื่องพวกนี้ อนาคตจะเป็นยังไง สังเกตนะการบังคับใช้แบบเดิมเริ่มคืบคลานเข้ามาแล้ว ถ้าเราดูจากผู้พัฒนาที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ถึงแม้จะทำแพลตฟอร์มที่เป็น decentralized ก็เริ่มถูกกำกับดูแลแล้ว ซึ่งถ้าเขาไม่อยากถูกกำกับดูแล ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นทางเลือกอื่น คือ ต้องย้ายฐานการพัฒนาไปที่ประเทศอื่น แล้วก็เป็น decentralize จริงๆ
อนาคตก็อาจจะมีประเทศที่รับกลุ่มคนพวกนี้อยู่ในประเทศ ให้วีซ่าหรืออะไร อันนั้นก็ต้องว่ากันไป แต่ว่าโดยเทคนิกนะ การเขียนโปรแกรม ตัวโปรแกรมคุมไม่ได้ก็จริง แต่เขาใช้วิธีการคุมคนที่มาพัฒนา มันคือเหตุผลว่าทำไมบิตคอยน์มันเป็นโปรโตคอลที่น่ากลัวที่สุด เพราะว่า มันคุมไม่ได้ มันไม่มีคน ไม่มีเจ้าของ
ซึ่งพี่ว่าอนาคตมันจะเริ่มชัดเจนขึ้น ในโลกของ decentralized ว่า มันจะมีประเภทที่โดนกำกับดูแล กับประเภทที่แบบไม่โดนกำกับดูแล แล้วประชาชนเลือกได้ว่า คุณจะเอาแบบไหน ถ้าคุณไปอยู่ที่ที่ไม่ได้ถูกกำกับดูแล คุณอาจจะได้ผลตอบแทนสูงแต่คุณเสี่ยงนะ แต่ถ้าอยู่ในที่มีกำกับดูแล คุณจะเสี่ยงต่ำ แต่ว่าผลตอบแทนก็ต่ำนะ high risk, high return และ low risk, low return
แล้วเร็วๆ นี้มีประเด็นอะไรอีกในโลกคริปโตฯ และ DeFi ที่น่าจับตาอีกไหม
ล่าสุดทาง ครม. ผ่านร่างกฎหมายฟอกเงิน แล้วเพิ่มความผิดครอบคลุมเรื่องหนีภาษี และการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล พี่ว่าอันนี้ของจริง คือ บังคับใช้กับนักลงทุนรายย่อยโดยตรง แล้วเป็นเรื่องที่เราต้องรู้ว่า อะไรคือเรื่องของการฟอกเงิน แล้วผลกระทบจากการที่คุณเลี่ยงภาษี หรือหนีภาษี คุณจะโดนอะไรบ้าง ซึ่งในการแก้ไขนี้มันมีเพิ่มบทนิยามคำว่า ‘ความผิดมูลฐาน’ ในความผิดมูลฐานเนี่ย เพิ่มเรื่องของการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามา ซึ่งพี่ยังไม่แน่ใจว่า โดยเนื้อหาจริงๆ หมายถึงอะไรนะ แต่เข้าใจว่า ความผิดมูลฐาน แต่ก่อนไม่เคยมีเรื่องของการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล ตอนนี้มันเพิ่มเข้ามาแล้ว
แต่เดี๋ยวต้องไปไล่ดูอีกทีว่ากระทบแค่ไหน เพิ่งเห็นเหมือนกัน อันนี้คิดว่าเราอาจจะต้องแกะข้อมูลนิดหนึ่งก่อนว่า กฎฉบับนี้มีผลยังไงกับเราบ้าง เพราะว่าเขาเพิ่มคำว่าเพิ่มความผิดมูลฐาน ซึ่งพี่อาจจะไม่ได้เข้าใจในเชิงของกฎหมายมากนัก
สุดท้ายอยากให้ลองคาดการณ์ตลาดคริปโตฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ว่าจะกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันผู้คนไหม
ต้องยอมรับเนอะว่า แค่ประมาณปีเดียวที่ผ่านมา ปริมาณของผู้ใช้งานที่เข้ามาในระบบเยอะขึ้นมากๆ เพราะว่ามีจุดที่เชื่อมโยงกับคนได้ง่าย สิ่งนั้นก็จะมีเรื่องของ ‘ผลตอบแทน’ ซึ่งสาเหตุที่บิตคอยน์ไม่ได้รับความนิยมมาก เพราะว่ามันไม่ได้มีผลตอบแทนแบบนั้น แต่พอตอนนี้ระบบมีคนที่อยู่ในโลกการเงินเดิมเขาเห็น แล้วเขาแค่ย้ายระบบโลกการเงินเดิมขึ้นมาอยู่บนโลกการเงินแบบใหม่ <ระบบการฝาก การปล่อยกู้ ให้ดอกเบี้ย> โดยใช้บล็อกเชนเป็นตัวดำเนินการ ปรากฏว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนการสื่อสารที่ดีมากๆ คือ เรื่องของผลตอบแทน มันทำให้คนเข้ามาในระบบเยอะมาก
ทีนี้ พอเริ่มเข้ามาในระบบ คือ คนเริ่มเรียนรู้ เขาได้สัมผัสสิ่งที่มันง่าย มันเหมือนกับเราเคยส่งอีเมลแล้ว เราไม่คิดจะกลับไปส่งจดหมายอีกแล้ว แล้วการเชื่อมโยงมันเข้ามาใกล้เรามากขึ้นก็คือเอาเกม เอา NFT เอาอะไรมาเป็นตัวสื่อสาร พี่มองว่ามันคือเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้คนเข้าใจว่าเทคโนโลยีนี้มันคืออะไร เพราะแต่ก่อนเราพูดถึงบล็อกเชนแล้วยังไง แต่พอมันเชื่อม เขาเข้าใจเลยว่า เฮ้ย บล็อกเชนมันคืออะไร อ๋อ มันมีประโยชน์ตรงนี้นี่เอง
แล้วสิ่งที่เป็นตัวที่ทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักคือว่า คนที่เป็นคนยุคใหม่เขาเรียนรู้ได้เร็ว มันทำให้เขาเข้าไปทดลองเรื่องพวกนี้ได้ง่ายขึ้น แล้วด้วยความที่ค่านิยมของคนเริ่มเปลี่ยนด้วยแหละ ซึ่งก่อนหน้านี้ COVID-19 ก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้คนได้เข้ามาศึกษามากขึ้นด้วยนะ เพราะว่าอยู่บ้าน มันไม่มีโอกาสที่จะไปสร้าง ไปทำกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือจากนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์กับโทรศัพท์ มันเลยทำให้คนเริ่มเข้ามาศึกษากันมากยิ่งขึ้น
เราอาจจะได้เห็นวิถีชีวิตอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนในอนาคต ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แล้วก็ยิ่ง metaverse มา มันจะเป็นจุดที่ทำให้สนับสนุนกันกับตัว digital asset (สินทรัพย์ดิจิทัล) เพราะว่าพออยู่ในโลกของ metaverse การส่งมูลค่าหากัน ลองยกตัวอย่างว่า ถ้าสมมติเราใส่รองเท้า Nike ของแท้ในโลกของ metaverse ซึ่งมันจะทำได้ก็ต้องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน แล้วพวกนี้พอมันมีค่า มันส่งมูลค่า หรือส่งคุณค่าหากัน ในอนาคตเราจะได้เห็นรูปแบบของบริการใหม่ๆ รูปแบบของสินค้าใหม่ๆ ในรูปแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน