ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของมวลมนุษย์—เชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา ความเชื่อ—มีสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนเหมือนกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ เราทุกคนต้องตาย
ความตายจึงเป็นประสบการณ์ร่วมที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน เราเข้าใจว่ามันคืออะไร เราเข้าใจว่ามันกระตุ้นให้เกิดอารมณ์อะไร—เศร้าโศก เปลี่ยวดาย อ้างว้าง หรือกระทั่งเคืองแค้น แต่ในขณะเดียวกัน ความตายก็เป็นประสบการณ์สุดแสนส่วนตัว มุมมองของเราต่างกัน ปฏิกิริยาโต้ตอบของเราก็ต่างกัน หรือต่อให้คล้ายคลึงกัน ก็ไม่มีทางเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์
เช่นเดียวกับศิลปินเหล่านี้ที่สำรวจตรวจตรา ‘ความตาย’ เหมือนๆ กัน แต่ผลงานของพวกเขากลับสื่อสารเรื่องราว แง่มุม และอารมณ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
และต่อไปนี้คือ 13 ผลงานศิลปะแห่งการสูญเสียและตรอมตรมที่เราคัดสรรมาให้คุณลิ้มลอง
By the Deathbed (1896) / Edvard Munch
“ความเจ็บป่วย ความบ้าคลั่ง และความตายเป็นดั่งยมทูตที่เฝ้ามองผมในเปลนอน แล้วนับแต่นั้นก็ตามติดผมมาทั้งชีวิต” สุดยอดศิลปิน Edvard Munch เขียนไว้ในสมุดบันทึก
ประโยคดังกล่าวอธิบายสาเหตุที่เขามักบอกเล่าด้านหม่นมืดของชีวิตผ่านภาพวาดของตน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่มันช์หรอก เพราะศิลปินในยุคเดียวกันต่างก็สนใจและใคร่ครวญประเด็นดาร์กๆ เหมือนกัน ด้วยผู้คนยุคนั้นต้องรับมือกับโรคร้ายแรงอย่างวัณโรค ความตายจึงเป็นประเด็นที่อยู่ในมโนสำนึกของผู้คนแทบจะตลอดเวลา อย่างมันช์เองก็ได้เป็นพยานต่อการจากไปของแม่และพี่สาวตั้งแต่ยังเด็ก แถมตัวเองก็เคยล้มป่วยอย่างหนักด้วยเช่นกัน
อย่างที่ชื่อบอกใบ้อยู่แล้ว ภาพ By the Deathbed ไม่ได้โฟกัสที่ผู้จากไป แต่พาผู้ชมสำรวจกิริยาท่าทางและอารมณ์ของผู้ที่กำลังไว้อาลัยอยู่ข้างเตียง ขณะที่คนอื่นกำลังก้มหน้าร้องไห้ หญิงสาวที่มีใบหน้าซูบตอบราวกับโครงกระดูกกลับมองตรงมาที่ผู้ชม ราวกับจะบอกพวกเราว่า วันหนึ่งความตายจะมาเยือนเราเช่นกัน
Head of a Skeleton with Burning Cigarette (1886) / Vincent Van Gogh
หากมองภาพนี้เผินๆ เราอาจไม่รู้ว่านี่คือฝีมือเดียวกับเจ้าของ Starry Night
ศิลปินชื่อดังได้วาดภาพนี้ไว้ตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ที่สถาบันศิลปะในเมือง Antwerp โดยโครงกระดูกในภาพเป็นเป็นตัวแบบในชั้นเรียนกายวิภาคศาสตร์ แต่ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจากการวาดเล่นๆ เท่านั้น ไม่ใช่การทำงานที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์แต่อย่างใด
ฟาน ก็อกฮ์วาดภาพนี้ตอนที่มีปัญหาสุขภาพอย่างหนัก ทั้งท้องไส้ที่ไม่ค่อยดี ทั้งอาการผุพังของฟัน นักวิจารณ์ศิลปะจึงมองว่าภาพนี้เป็น memento mori (การระลึกว่าทุกคนต้องตาย) ของศิลปินชาวดัตช์ แต่ด้วยเซนส์ของความประชดประชันที่อยู่ในภาพ (การที่คนตายยังสูบบุหรี่) นักวิจารณ์บางคนจึงตีความว่าภาพดังกล่าวเป็นการท้าทายและขัดขืนความตายต่างหาก
แต่ใครจะรู้ดีเท่ากับฟาน ก็อกฮ์อีกล่ะ
Death of Casagemas (1901) / Pablo Picasso
เมื่อเพื่อนศิลปินคนสนิทอย่าง Carles Casagemas ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยไม่อาจทนความขมขื่นจากรักที่ขื่นขม ศิลปินชื่อก้อง Pablo Picasso จึงวาดรูปสีน้ำมันเพื่อแสดงความระลึกถึงผู้จากไป รวมทั้งปลดปล่อยความโศกเศร้าของตนลงบนผืนผ้าใบ
แม้รูป Death of Casagemas จะไม่ใช่ผลงานที่โด่งดังหรือเลอเลิศที่สุดของปิกัสโซ่ แต่มันเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ก่อให้เกิด Blue Period หรือช่วงเวลาที่ศิลปินเอกวาดแต่รูปโทนสีน้ำเงิน ซึ่งที่บอกเล่าด้านหม่นเศร้าของชีวิต เช่น ความยากไร้ ความเจ็บป่วย และความตาย โดยหนึ่งในผลงานจากช่วงนี้ที่เราทุกคนรู้จักกันดีคือ The Old Guitarist (1903-1904)
Death and Life (1908-1915) / Gustav Klimt
งานชิ้นนี้เกิดจากที่ศิลปินชาวออสเตรียน Gustav Klimt หยิบยก Dance of the Death (ระบำมรณะ) ศิลปะแนว memento mori ซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุคกลาง มานำเสนอใหม่ในรูปแบบอาร์ตนูโว พร้อมใส่ดีเทลละเอียดอ่อนอันเป็นเอกลักษณ์ของตน
โดยธรรมเนียมแล้ว ‘ความตาย’ ซึ่งถูกอุปมาแบบบุคคลวัตให้เป็นโครงกระดูก มักจะถือเคียวหรือนาฬิกาทราย แต่คลิมท์เลือกให้ ‘ความตาย’ ของตนถือตะบอง และเลือกวาด ‘ชีวิต’ เป็นกลุ่มก้อนของผู้คนหลากหลายช่วงวัย
ซึ่งข้อนี้น่าจะตีความได้ว่า ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครหนีความตายได้ แต่ในขณะเดียวกันช่วงวัยที่ต่อเนื่องกันตั้งแต่เด็กน้อยจนถึงแก่เฒ่ายังสื่อให้เห็นวงจรชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าความตายจะพรากไปกี่ชีวิต ชีวิตอื่นๆ ก็ยังเกิดขึ้นใหม่ วงล้อแห่งชีวิตจึงหมุนเวียนต่อไปได้ไม่รู้จบ
Girl with Death Mask (1938) / Frida Kahlo
ความเจ็บป่วยและความตายเป็นธีมที่เราพบเจอบ่อยๆ ในผลงานของ Frida Kahlo เนื่องด้วยตัวเธอเองผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาครั้งหนึ่ง และต้องทุกข์ทรมานกับบาดแผลและความผิดปกติจากเหตุการณ์นั้นจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
แม้คาห์โลจะมีหลากหลายผลงานที่เกี่ยวข้องกับความตาย แต่เราขอหยิบยก Girl with Death Mask มาเป็นตัวอย่าง เพราะหน้ากากรูปหัวกระโหลกที่เด็กน้อยสวมอยู่นั้นเหมือนหน้ากากที่ผู้คนนิยมใส่ในเทศกาล Day of the Death ประเพณีสำคัญซึ่งชาวเม็กซิกันเฉลิมฉลองให้กับความตายและรำลึกถึงบรรพบุรุษที่จากไป
นี่จึงเป็นอีกครั้งที่รากเหง้าของเธอเองถูกส่งผ่านออกมาผ่านภาพวาด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตวิญญาณของคาห์โล อย่างที่เรารับรู้ได้เสมอมา
Triptych, May-June 1973 (1973) / Francis Bacon
เมื่อคนรักตัดสินใจจบชีวิตตัวเองโดยไร้คำบอกลา จิตรกรชาวไอริช Francis Bacon จึงจินตนาการถึงโมเมนต์สุดท้ายของเขา แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาด 3 ช่อง ซึ่งเป็นการเลียนแบบลักษณะของ triptych (บานพับภาพ) ที่ใช้ประดับเหนือแท่นบูชาในโบสถ์ โดยรูปดังกล่าวแสดงให้เห็นภาพของชายคนหนึ่งสิ้นใจในห้องน้ำในสภาพเปล่าเปลือยและโดดเดี่ยว
หลังจากภาพนี้ เบคอนยังวาดภาพที่เกี่ยวกับความตายของคนรักอีกหลายต่อหลายรูปในช่วงชีวิตที่เหลือ ชีวิต—ซึ่งศิลปินผู้แตกสลายบอกกับเพื่อนๆ ว่า ไม่เคยกลับมาเป็นปกติอีกเลยนับตั้งแต่คนรักจากไป
Untitled (1991) / Felix Gonzalez-Torres
หลังจากคนรักที่ครองคู่กันมานาน 8 ปีสิ้นใจด้วยโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ HIV ศิลปินเชื้อสายคิวบัน Felix Gonzalez-Torres เช่าบิลบอร์ดจำนวน 24 แห่งเพื่อจัดแสดงผลงานภาพถ่ายสีขาวดำอุทิศให้กับคนรัก
โดยเขาเลือกถ่ายทอดอารมณ์หม่นหมองและความรู้สึกอ้างว้างผ่านภาพถ่ายที่มีสเปซกว้างๆ อันเป็นสัญลักษณ์แทนช่องว่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเมื่อคนรักจากไป เช่น ภาพนกหนึ่งตัวโผบินอย่างเดียวดายท่ามกลางท้องฟ้าขมุกขมัว ภาพมือขวาที่ยื่นกางออกไปในที่ว่าง แต่ภาพที่ติดตาและติดใจผู้ชมมากที่สุดคงเป็นภาพเตียงนอนสีขาวที่ว่างเปล่า ซึ่งรอยยับยู่บนผ้าปูที่นอนและรอยบุ๋มของหมอนชวนให้จินตนาการถึงใครสักคนที่เพิ่งลุกออกไป โดยไม่มีวันกลับมา
The Physical Impossibility of Death in the Mind of Someone Living (1991) / Damien Hirst
“ผมคลั่งไคล้เรื่องความตาย แต่ผมคิดว่ามันเป็นการสรรเสริญชีวิตมากกว่าเป็นอะไรที่น่าเกลียดน่ากลัว” ศิลปินชาวอังกฤษ Damien Hirst เคยกล่าวไว้เช่นนั้น
เฮิสท์แจ้งเกิดในวงการศิลปะจาก installation art ซึ่งใช้ซากสัตว์ของจริงเป็นส่วนประกอบ อย่างเช่นชิ้นนี้ที่นำฉลามเสือทั้งตัวมาแช่ในฟอร์มาลดีไฮด์ในตู้โชว์ที่ทำจากกระจกใส ผู้ชมจึงสามารถยืนประจันหน้ากับ ‘ความตาย’ ทั้งในเซนส์ตรงตัวที่ว่าฉลามตัวดังกล่าวตายแล้ว และในอีกเซนส์ที่ว่า เมื่อสมัยยังมีชีวิต (ซึ่งในตู้แช่มันก็ยังดูราวกับมีชีวิต) ฉลามตัวนี้เป็นนักล่าแห่งท้องทะเลผู้นำความตายมาสู่สัตว์น้อยใหญ่—รวมถึงมนุษย์เองด้วยหากมีโอกาส
อันที่จริง งานของเฮิสท์เองก็นำความตายก่อนวันวัยอันควรมาสู่สัตว์หลายๆ ตัวเช่นกัน เพราะเขาผู้นี้เสาะหาซากสัตว์มาจากหลายแหล่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการสั่งฆ่าเพื่อนำมาทำงานศิลปะโดยตรง ในบทความ How Many Animals Have Died For Damien Hirst’s Art To Live? We Counted. โดย Caroline Goldstein เธอประมาณจำนวนสัตว์ทั้งหมดในงานของศิลปินเจ้าของรางวัล Turner Prize ไว้ที่ 913,450 ตัว
Before I Die (2011) / Candy Chang
ปกติเวลาได้ยินคำว่า ‘สร้างกำแพง’ เรามักนึกถึงการแบ่งแยก แต่เมื่อศิลปินลูกครึ่งไต้หวัน-อเมริกา Candy Chang ‘สร้างกำแพง’ เธอกลับหลอมรวมทุกคนเข้าด้วยกัน
หลังจากสูญเสียเพื่อนสนิทไป ชางถ่ายทอดความหดหู่และตรอมตรมออกมาเป็นผลงานที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง โดยเธอเพนต์กำแพงของตึกร้างแห่งหนึ่งในนิวออร์ลีนส์ด้วยสีกระดานดำ (chalkboard paint) แล้วพ่นสีสเปรย์เป็นคำว่า ‘Before I die I want to ___’ ด้วยเทคนิคสเตนซิล จากนั้นวางชอล์กทิ้งไว้
เมื่อกลับมาดูอีกครั้งหลังผ่านไปหนึ่งวัน หญิงสาวพบว่ากำแพงนั้นเต็มไปด้วยความใฝ่ฝันและความหวังของมวลมนุษย์ เป็นต้นว่าอยากเห็นลูกสาวเรียนจบ, อยากเห็นใบไม้เปลี่ยนสีหลายๆ ครั้ง และอยากเป็นตัวเองอย่างจริงแท้ที่สุด
นอกจากเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันแล้ว กำแพงนี้ยังช่วยส่งต่อพลังบวกให้ทุกผู้ทุกคนที่พบเจอ โปรเจกต์ Before I die จึงถูกนำไปสร้างซ้ำมากกว่า 3,000 ครั้งใน 76 ประเทศทั่วโลก โดยผู้ที่สนใจสร้างกำแพงนี้ (โดยไม่แสวงหาผลกำไร) สามารถขออนุญาตได้ที่ beforeidie.city
At Rest (2011) / Emma Kisiel
ช่างภาพร่วมสมัย Emma Kisiel เก็บภาพสัตว์น้อยใหญ่ที่โดนรถชนตายอยู่บนถนนไฮเวย์ในสหรัฐอเมริกา โดยเธอจัดวางดอกไม้สีสดใสไว้รอบตัวสัตว์เหล่านั้น ราวกับจัดงานศพให้พวกมันซึ่งถูกทอดทิ้งให้นอนตายอย่างเดียวดาย ผิดกับการตายของมนุษย์ที่จะมีผู้ร่วมรับรู้ ไว้อาลัย และจัดงานศพให้
โดยเธออธิบายความตั้งใจไว้ว่า “รูปภาพของฉันทำให้ผู้คนตระหนักถึงความจริงที่ว่า ในขณะที่มนุษย์เราสร้างผลกระทบร้ายแรงให้กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เรากลับใช้ชีวิตแยกจากพวกมันโดยสิ้นเชิง และจิตวิญญาณของสัตว์ต่างๆ ก็แทบไม่มีคุณค่าอะไรเลยสำหรับเรา”
No Seconds (2012) / Henry Hargreaves
วันหนึ่งช่างภาพร่วมสมัย Henry Hargreaves อ่านเจอข่าวเรื่อง รัฐเท็กซัสกำลังพิจารณายกเลิกธรรมเนียม ‘มื้อสุดท้าย’ สำหรับนักโทษประหารชีวิต (สุดท้ายก็ยกเลิกจริงๆ) ซึ่งสร้างแรงบันดาลให้เขาเป็นอย่างมาก
“ณ ที่อื่นๆ บนโลกที่พัฒนาแล้วใบนี้ โทษประหารไม่ได้อยู่ในบทสนทนาด้วยซ้ำไป มันเป็นร่องรอยของยุคเก่าที่หลงเหลืออยู่” เขาอธิบาย “เศษเสี้ยวความสุภาพที่ว่า ‘เฮ้ เรากำลงจะฆ่าคุณนะ แต่คุณอยากจะกินอะไรก่อนไหม?’ กระโดดเด้งออกมาจากข่าวอื่นๆ ผมเลยคิดว่ามันคงน่าสนใจหากจะลองถ่ายทอดเรื่องราวนี้ออกมาเป็นรูปภาพ”
ชายหนุ่มติดต่อขอเข้าไปถ่ายรูปมื้ออาหารในเรือนจำ แต่กลับถูกปฏิเสธ เขาจึงตั้นโจทย์ใหม่ โดยค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เพื่อหาว่าอาชญากรเลื่องชื่อในอเมริการ้องขออะไรเป็นอาหารมื้อสุดท้าย จากนั้นจึงชวนเพื่อนเชฟมาปรุงอาหารและช่วยจัดวางองค์ประกอบให้ จนได้ออกมาเป็นผลงานภาพถ่ายที่มาพร้อมกับชื่อนักโทษ อายุ ข้อหา และวิธีประหารชีวิต
โดยเมนูที่หยิบยกมานั้นค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่กริลล์ชีสแซนวิช, ไก่ทอด KFC, ไอศครีมรสมินท์ ไปจนถึงมะกอกเพียงลูกเดียวที่ดูราวกับเป็นจุดฟูลสต็อปของชีวิต
“สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งที่สุดคือการที่อาหารมื้อสุดท้ายเหล่านี้มักเป็นอาหารทอดจานใหญ่ แบบที่เราเรียกกันว่า comfort food นี่่คือผู้คนในช่วงโมเมนต์สุดท้ายของชีวิต และสิ่งเดียวที่พวกเขาต้องการจริงๆ คือการปลอมประโลม (comfort)” ช่างภาพหนุ่มกล่าว
Departures (2013) / Polly Morgan
ศิลปินสาวจากเกาะอังกฤษ Polly Morgan ตีความการสตัฟฟ์สัตว์ในรูปแบบใหม่ และสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานประติมากรรมแปลกตา อย่างเช่นชิ้นนี้ที่มีลักษณะคล้ายกรงทองเหลือง และมีนกพันธุ์ต่างๆ ที่ผ่านการสตัฟฟ์แล้วประดับประดาไว้ด้านบน
“ฉันไม่ได้ชื่นชอบความสยดสยองหรอกนะ อันที่จริงฉันเป็นคนมองโลกในแง่ดีมากๆ ฉันไม่ชอบที่เราทุกคนต้องตายด้วยซ้ำไป” มอร์แกนแก้ต่างให้กับตัวเอง “สำหรับฉัน ซากสัตว์เป็นเหมือนวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ เมื่อไม่มีวิญญาณอยู่ในนั้นแล้ว ร่างกายก็กลายเป็นเครื่องประดับอันสวยงามเท่านั้น”
ทั้งนี้ แม้จะทำงานกับซากสัตว์เหมือนกับศิลปินรุ่นพี่ เดเมียน เฮิส์ท แต่มอร์แกนเลือกใช้เฉพาะสัตว์ที่ตายโดยธรรมชาติ หรือตายจากอาการป่วยที่รักษาไม่ได้เท่านั้น ซึ่งเธอติดต่อขอรับมาจากสวนสัตว์และคลินิกสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้แม่ของมอร์แกนยังช่วยเดินตามหาสัตว์ที่ตายจากการถูกรถชนมาให้ลูกสาวใช้ทำงานศิลปะอีกด้วย
Left Behind, 2014 / Jennifer Loeber
ช่างภาพสาวจากบรูกลิน Jennifer Loeber อธิบายถึงที่มาที่ไปของผลงานภาพถ่ายชุดนี้ไว้ว่า “หลังจากที่แม่จากไปอย่างกระทันหันในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉันเกิดความรู้สึกว่า อยากจะเก็บแม้กระทั่งสิ่งของที่ธรรมดาที่สุดของแม่เอาไว้ แต่แทนที่มันจะปลอบประโลมใจฉัน สิ่งของเหล่านี้กลับกลายเป็นบ่อเกิดของความโศกเศร้าและความกังวล วิธีเดียวที่ฉันคิดว่าจะทำให้ตัวเองเดินต่อไปได้คือการเรียนรู้ที่จะใช้สิ่งของเหล่านี้ระบายความรู้สึกออกไป”
ผลลัพธ์จากการระบายความรู้สึกของเลอเบอร์คือภาพถ่ายที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องยืนยันการมีอยู่ของสิ่งของในชีวิตประจำวันของแม่ ซึ่งในขณะเดียวกัน ตัวมันเองก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องยืนยันการ (เคย) มีอยู่ของแม่อีกทีหนึ่ง ภาพถ่ายชุดนี้จึงเป็นการรำลึกและเชิดชูตัวตนและความทรงจำของผู้เป็นแม่ในแบบที่ช่างภาพสาวถนัดที่สุดนั่นเอง
อ้างอิง