“ให้ไปหาจิตแพทย์เหรอ? ฉันไม่ได้บ้าซะหน่อย!”
ไม่ต้องรอให้บ้า คุณก็ควรไปพบจิตแพทย์หรือศูนย์ให้คำปรึกษาสุขภาพจิต (อย่ารอให้ถึงขั้นนั้นเลย) เพราะชีวิตของพวกเราล้วนวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ ทุกคนมีช่วงเวลาที่หัวใจถูกบีบคั้นอย่างสาหัส แต่การไปหาจิตแพทย์สักครั้ง คุณต้องไปเมื่อไหร่กัน?
หลายคนสะดุดกับอคติทางความคิดก้อนเบ้อเริ่มต่อการไปหาจิตแพทย์ หวาดกลัวที่จะยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา หรือคิดไปต่างๆ นาๆ ว่าตัวเองมีอาการทางจิตแล้วคนรอบข้างจะมองด้วยสายตาแปลกๆ เมื่อต้องไปทำงานในวันรุ่งขึ้น หลายคนก็เลยยังเก้ๆ กังๆ ว่าเอาไงดี ไอ้ปัญหาที่ฉันประสบอยู่ควรจะไปพบจิตแพทย์หรือเข้ารับการบำบัดดีไหม หรือแก้ไขได้เอง?
ความสับสนมักเกิดขึ้นเสมอก่อนที่คุณจะเริ่มหาความช่วยเหลือ นอกเหนือจากความกังวลในการพบจิตแพทย์ คำถามที่เป็นอุปสรรครองลงมาคือ ฉันควรไปพบจิตแพทย์เมื่อไหร่ การเข้าพบจิตแพทย์ล่าช้าเกินไปอาจปล่อยให้ปัญหารุมเร้า จนคุณหน้ามืดหาทางรักษาแบบผิดๆ ที่บั่นทอนกว่า
การบำบัดภาวะทางจิตไม่ใช่เรื่องแปลก ควรมองให้มันเป็นเรื่องสามัญของมนุษย์ หากคุณเผชิญ 9 ช่วงเวลาของชีวิตนี้แล้วรู้สึกหมดหวังกับตัวเอง การขอความช่วยเหลือจากคนที่มีความรู้ความเข้าใจ ฝึกฝนมาอย่างดีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเข้าใจมนุษย์ อาจทำให้คุณบอกกับตัวเองว่า “มันโอเคนี่หว่า ที่ได้คุยกับจิตแพทย์”
1. สูญเสียคนรัก
ทุกคนมีคนรัก และเมื่อถึงเวลาที่ไม่คาดฝัน จะมีสิ่งต่างๆ อันไม่สามารถหยุดยั้งได้มาพรากความรักจากคุณไป โดยเฉพาะ ‘ความตาย’ ไม่ว่าเขาจะเป็นแฟน ครอบครัว พ่อแม่ ญาติสนิท เพื่อน หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงที่ผูกพันต่างสายพันธุ์ การสูญเสียพวกเขาล้วนสร้างผลกระทบรุนแรงต่อจิตใจ ยิ่งหากทุกอย่างเกิดขึ้นโดยกะทันหัน ความตายที่ไม่ได้ตั้งตัวล้วนมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของแต่ละคนหลากหลายรูปแบบ บางคนมีวิธีอยู่กับความสูญเสียได้ แต่บางคนกลับไม่ เพราะส่วนหนึ่งของชีวิตได้จากไปพร้อมผู้วายชนม์แล้ว
การสูญเสียคนรักเป็นช่วงเวลาที่คุณสามารถปรึกษาจิตแพทย์ได้ ให้พวกเขาช่วยหากลไกรับมือทางใจ (coping mechanism) ที่เหมาะสมสำหรับตัวคุณเท่านั้น เหมือนการสั่งตัดชุดสูทที่ออกแบบมาพอดีตัว ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป ทำให้คุณต่อรองกับความสูญเสียได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น แล้วสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ในเวลาที่เหมาะสม
2. ตื่นตระหนกแบบ ‘แพนิก’
ความเครียดและวิตกกังวลเป็นของสามัญประจำบ้าน แต่จังหวะการเยื้องย่างของความเครียดขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อาจจะมาแบบจังหวะชะชะช่าพอให้รู้ตัว หรือโยกโครมครามเป็นเต้นปานามาบนหลังกระบะ เพียงแค่การไปสัมภาษณ์งานใหม่ก็อาจยากเกินไปสำหรับคุณ เพราะคำถามที่ยิงมาเป็นชุดมันชวนกดดันเหลือเกิน
ความตื่นตระหนกระดับที่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลงเช่นนี้ จะทำให้คุณไม่กล้าสานสัมพันธ์ครั้งใหม่กับคนอื่นๆ สร้างกำแพงปิดกั้นตัวเอง เป็นอุปสรรคต่อการสัมภาษณ์งานหรือรับมอบหมายภารกิจที่ท้าทาย แต่บางคนก็สามารถตื่นตระหนกได้โดยไม่ต้องมีเหตุผลอะไรเลย
กลไกความเครียดนั้นเป็นกลไกแห่งธรรมชาติที่คนทั่วไปสามารถจัดการกับความเครียดที่ฉับพลันได้ (Acute Stress) แต่ความเครียดที่เกิดจากตื่นตระหนกแบบแพนิก (Panic attack) มักไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อแตก ตัวสั่น รู้สึกหายใจไม่ออก จะเป็นลมเอาเสียให้ได้ โดยอาการมักเกิดขึ้นประมาณ 15 – 20 นาทีแล้วค่อยๆ หายไป
การตื่นตระหนกแบบแพนิกนั้นเป็นสัญญาณอันตรายไม่น้อย เพราะระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ทำงานผิดปกติร่วมด้วย ทำให้สูญเสียกลไกการตระหนักรู้อย่างรวดเร็ว และอาจเป็นภัยต่อตัวคุณได้หากเกิดขึ้นโดยปราศจากการช่วยเหลือที่ถูกต้อง
เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คุณจะไปพบจิตแพทย์เพื่อบอกเล่าอาการแพนิกให้ได้รับวินิจฉัยชัดเจน หาต้นตอของความเครียดและวิตกกังวล ซึ่งอาการนี้อาจเกิดจากโรคอื่นๆ แอบแฝงด้วย เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ โรคไมเกรน โรคลมชัก หรือเกิดขึ้นได้เมื่อมีการใช้สารกระตุ้นรวมไปถึง ‘คาเฟอีน’
เอาให้ชัดเจนว่าอะไรเป็นเหตุหลักของความตื่นตระหนกของคุณ อิทธิพลจากโรคหรือความเครียด?
3. ความสัมพันธ์สั่นคลอน
เรื่องที่เกิดขึ้นในบ้าน ไม่จำเป็นต้องจบอยู่แค่ในบ้าน เพราะปัญหาความสัมพันธ์ที่กำลังสั่นคลอนเหมือนแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทร ทั้งความสัมพันธ์ภายในครอบครัว คู่ครอง เพื่อนสนิท หรือเพื่อนที่ทำงานด้วย มันก็มีจังหวะที่เหม็นขี้หน้ากันบ้าง จิตแพทย์หรือศูนย์ปรึกษาปัญหาครอบครัวอาจช่วยเชื่อมใจให้คุณกลับมามองหน้ากันได้อีกครั้ง แต่ปกติเราไม่ค่อยเอาเรื่องความสัมพันธ์ไปปรึกษาใครกันหรอก
ความสัมพันธ์ที่เข้าอกเข้าใจเป็นแหล่งเหมืองแห่งความสุข กลับมาขุดเมื่อไหร่ก็เจอแต่สิ่งดีๆ ในขณะเดียวกันก็กลับกลายเป็นปากปล่องภูเขาไฟที่เพียงสูดกลิ่นกำมะถันเข้าไปปอดก็ไหม้เป็นจุล สายใยที่เคยฟูมฝักอาจนำพาปัญหา 108 ความเครียด วิตก กังวล ซึมเศร้า จิตแพทย์จะช่วยให้คุณเห็นเส้นทางของความสัมพันธ์เด่นชัดขึ้น ความสัมพันธ์แบบไหนควรเสริมแรงเชิงบวกหรือหลีกเลี่ยง เพราะไม่ได้นำพาอะไรเลยให้กับทั้งคู่ มีแต่จะฉุดให้จมไปกว่าเดิม
อย่าลืมว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคุณ 2 คน อาจล้มเหลวก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตองค์รวมของคุณจะล้มเหลวตามไปด้วย แต่ถ้ามันยังมีหนทางแก้ได้ มันก็ดีที่จะรักษาไว้
4. หมกมุ่นเสพติด
ชีวิตคุณถูกควบคุมจากอิทธิพลของพฤติกรรมที่ทรงพลังกว่านำมาสู่การเสพติด (Addictions) แบบถอนตัวไม่ขึ้น มีการเสพติดเป็นพันๆ รูปแบบที่สาธยายได้ไม่หมด ทุกๆ วันจะมีการเสพติดใหม่ๆ มาอัพเดต เสพติดความผอม เสพติดการพนัน เสพติดโลกโซเชียล เสพติดเซ็กซ์ เสพติดเกม เสพติดโลกออนไลน์ ฯลฯ
ย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อน วงการแพทย์เชื่อว่า การเสพติดหมายถึงการต้องพึ่งพา ‘สารอย่างหนึ่ง’ จนต้องใช้ปริมาณมากขึ้น หากเลิกใช้จะทรมานจากอาการขาดยา (withdrawal) ส่วนใหญ่ใช้อธิบายพวกเสพติดเหล้า บุหรี่ ยา แต่ไม่สามารถอธิบายการเสพติดที่เกิดจากพฤติกรรมได้
จนมีการปรับปรุงคู่มือวินิจฉัยครั้งหลังสุด ที่ให้การยอมรับการเสพติดพฤติกรรม (behavioral addiction) นับเป็นการเสพติดประเภทหนึ่งด้วย ที่พวกเราสามารถติดกับสิ่งเย้ายวนใจในชีวิตสมัยใหม่ได้ เช่น Junk Food การช็อปปิ้ง และการใช้สมาร์ตโฟน สามารถส่งผลอันทรงพลังต่อระบบการให้รางวัลของสมองเป็นวงจรผลักดันให้เกิดความ ‘อยากเสพเพิ่ม’
การหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจดจ่อเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะมนุษย์เป็นนักล่ารางวัลชั้นเยี่ยม แต่ในระดับอะไรก็ตามที่ให้รางวัลมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะเคลิ้มสุขหรือสบายใจที่เสพติดได้ทั้งนั้น
เมื่อความรับผิดชอบส่วนอื่นๆ ในชีวิตของคุณเลวลง หาคำปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อให้ความสุขของคุณได้รับการเสริมแรงทางอื่นนอกเหนือจากพฤติกรรมหมกมุ่นเหล่านี้
5. หลังประสบอุบัติเหตุ
ภาพที่คุณอยู่หลังพวงมาลัย รถเก๋งพลิกคว่ำกลางมอเตอร์เวย์ห้าตลบยังหลอกหลอนคุณอยู่ทุกครั้งเมื่อต้องรับหน้าที่ขับรถ ความรู้สึกกำลังขาดอากาศจากการจมน้ำที่ทำให้ตื่นกลางดึก หรืออยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด แต่ได้ยินเสียงปิดประตูก็พลันคิดว่าเสียงปืน เหตุการณ์อุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง แม้ไม่ได้สร้างบาดแผลทางกาย แต่กลายเป็นแผลฝังลึกทางใจ
เรามักคิดว่า เมื่อเวลาผ่านไปภาพเหล่านี้จะค่อยๆ เลือนลาง แต่บางคนแม้จะผ่านมาหลายปีก็ยังแจ่มแจ้ง กระทบต่อบุคลิกภาพ อาชีพการงาน และความสัมพันธ์ ซึ่งเรียกว่า Post-traumatic stress disorder (PTSD) ความชุกของอาการ PTSD พบได้มากเป็นอันดับ 4 ของโรคทางจิตเวชทั้งหมด แต่ไม่ค่อยมีใครไปปรึกษาจิตแพทย์ เพราะมักคิดว่าเมื่อผ่านเหตุการณ์ร้ายมาแล้วก็น่าจะถือว่า ‘ปลอดภัยแล้ว’ แต่ความคิดยังกับติดอยู่กับภาพเหตุการณ์เดิมๆ จนหวาดกลัว (re-experiencing) ไม่กล้าทำกิจกรรมที่หวนไปนึกถึง (avoidance) หรือไม่ก็เฉยชาไร้ความรู้สึกไปเลย (emotional numbing)
โชคดีที่อาการ PTSD มีแนวโน้มทำให้หายได้ภายใน 6 เดือนเมื่อได้รับการบำบัดที่ถูกต้อง ผู้เชี่ยวชาญมักรักษาด้วยการให้ยา การทำจิตบำบัด หรือการทำทั้งสองอย่างควบคู่กัน
อย่าให้อดีตหลอกหลอนคุณจนไม่กล้าสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ นับว่าเป็นการเสียโอกาสชีวิต
6. วิตกกังวลขณะตั้งครรภ์
“ลูกฉันจะออกมาแบบไหนกัน เราจะเป็นแม่ที่ดีไหม ค่าใช้จ่ายที่รออยู่ เขาจะรอดในโลกที่โหดร้ายหรือไม่นะ”
คุณแม่มักแบกรับหน้าที่ทางอารมณ์ที่แปรปรวน ทั้งความตื่นเต้นที่จะได้เป็นคุณแม่และความวิตกกังวลเรื่องพัฒนาการของลูกน้อย
การหลีกเลี่ยงภาวะความเครียดขณะตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะความเครียดจะทำให้ร่างกายแม่หลั่งฮอร์โมน Cortisol ออกมามากขึ้น ทำให้เส้นเลือดที่ไปยังมดลูกและรกเกิดการหดตัว ปริมาณออกซิเจนที่ไปยังทารกในครรภ์ลดน้อยลง ก่อให้เกิดการแท้งลูกและคลอดก่อนกำหนด ผลการวิจัยพบว่าความเครียดขณะตั้งครรภ์ของแม่ก่อให้เกิดผลระยะยาวกับลูก รวมไปถึงความเครียดจากแม่เพิ่มความเสี่ยงให้เด็กเป็นโรคอ้วนและเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งเด็กเกิดมาจากแม่ที่เครียด มีแนวโน้มเก็บตัวและมีความเครียดสูงกว่าเด็กทั่วไป
โดยเบื้องต้นพ่อสามารถเป็นผู้ช่วยเหลือที่ใกล้ตัวที่สุด สามารถหากิจกรรมลดความวิตกกังวลทำควบคู่กันไปกับคุณแม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าพ่อทุกคนจะมีความพร้อมเสมอ และครอบครัวยุคปัจจุบันเองก็ไม่ได้ถูกนิยามเพียง ‘พ่อแม่’ เท่านั้น แต่ยังมีผู้หญิงที่ต้องการเป็น Single Mom อยากเลี้ยงดูด้วยตัวเอง ซึ่งการปรึกษาจิตแพทย์ในช่วงเวลาที่วิตกกังวลต่ออนาคตลูก ช่วยให้คุณหมอหาปัจจัยอื่นๆคลายกังวลและแนะนำกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาวะอื่นๆร่วมด้วย
7. ทำวิทยานิพนธ์
ไม่ได้หมายความว่า เมื่อคุณรู้ตัวว่าจะทำวิทยานิพนธ์ปุ๊บ จะต้องรีบหาจิตแพทย์เลยทันที (จิตแพทย์ไม่ใช่ อ.ที่ปรึกษาหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเธอนะ)
แต่ความเครียดจากการคาดหวังต่อการเรียนดูเหมือนจะเป็นประสบการณ์ร่วมที่ที่ยากจะหลีกเลี่ยงของนักศึกษาหลายคน เริ่มต้นตั้งแต่คิดหัวข้อเพื่อนำไปอาจารย์ฟันกระจุย เจออาจารย์คอยให้คำแนะนำก็โชคดีไป แต่บางคนต้องกลายเป็นหมากในเกมการเมืองที่คานอำนาจกันในภาควิชา ตลอดจนกระบวนการวิจัยต่างๆ เรื่อยมาจนถึงวันสรุปผล ที่ลุ้นจนหัวใจแทบจะทะลุทรวงอกมาสั่นหงึกๆ
งานศึกษาพบว่า นักศึกษา ป.โท-เอก มีอัตราเผชิญภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลมากกว่าคนทั่วไป 6 เท่าตัว! จากงานวิจัยเผยแพร่ในเว็บไซต์ Nature โดยการศึกษาที่หนักหนาจนทำให้เกิดความอ่อนเพลียรุนแรง ขาดการกินอาหารที่มีคุณภาพ ขาดออกกำลังกาย และขาดการพักผ่อนที่ดีจนเหนี่ยวนำไปสู่โรคอื่นๆได้อีกมาก
กระบวนการเปลี่ยนแปลงสถานะ จากนักศึกษาไปสู่การเป็นปัญญาชนแถวหน้าในสังคม สร้างความเจ็บปวดกับเหล่านักศึกษาด้วยเช่นกัน หากคิดว่าตัวเองเริ่มมีปัญหากับวิทยานิพนธ์จนรู้สึกบั่นทอนจิตใจ จิตแพทย์ยินดีที่จะพบนักศึกษาที่รู้ว่าตัวเองมีปัญหา
8. สงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายซึมเศร้า
ใครๆ ก็บอกว่าโรคซึมเศร้าเป็นเทรนด์ใหม่ ผู้คนเริ่มสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าหรือไม่ เหมือนเครียดนิดเครียดหน่อยก็อยากหาหมอ นั้นดูเป็นเรื่องหยุมหยิมสำหรับจิตแพทย์หรือไม่
แต่จากปากจิตแพทย์กล่าวว่า “ไม่เลย จิตแพทย์ยินดีให้คุณพบ” มันเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์อยู่แล้วที่จะแยกระหว่าง ‘โรคซึมเศร้ากับคนเศร้า’ อารมณ์เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่คนยุคก่อนไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขามัน ‘เกินอารมณ์เศร้า’ แล้ว มันคือโรคซึมเศร้า การวินิจฉัยโดยจิตแพทย์จะใช้ตาข่ายกรองผู้ป่วยออกมา การสงสัยว่าตัวเองซึมเศร้าอาจดีกว่าเมื่อเทียบกับการที่คุณไม่ไปหาหมอเลย ปล่อยไว้นานจนบั่นทอน
ที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อคุณสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายซึมเศร้า จิตแพทย์ไม่แนะนำให้เที่ยวบอกคนนู้นคนนี้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าเพื่อให้ได้รับการยกเว้นบางอย่าง แต่ให้เริ่มจากคิดว่าตัวเองมีศักยภาพทำได้แค่ไหน
9. กลัว
ความกลัว (fear) เป็นเรื่องปกติที่สุดของสิ่งมีชีวิต เป็นกลไกทางธรรมชาติที่ติดตัวคุณผ่านวิวัฒนาการกว่า 300 ล้านปี สิ่งมีชีวิตที่ไม่กลัวเลยจะไม่มีทางเตรียมตัวเพื่อมีชีวิตในวันต่อไป ไม่หาอาหารกักตุน ไม่สร้างที่กำบังสู้กับสภาพแวดล้อม และทำให้คุณออกไปเดินเด็ดดอกไม้ขณะที่ช้างแมมมอธกำลังซัดกันอย่างไม่รู้เรื่องรู้ราว
ความกลัวทำให้เราตอบสนองกับวิกฤตที่ยังไม่เกิดขึ้น สร้างแบบจำลองต่างๆ นานาที่ทำให้คุณรู้สึกตกอยู่ในอันตรายโดยกลไกของฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ที่ทำให้หัวใจเต้นแรง น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพื่อมอบพลังงานจำเป็นชนิดเฉียบพลัน ลดความอยากอาหารลง และทำให้คุณนอนไม่หลับ แต่เมื่อภัยเหล่านั้นผ่านพ้นไป ร่างกายคุณจะปรับสู่สมดุลปกติ และฮอร์โมนคอร์ติซอลกลับมาอยู่ในระดับพอเหมาะอีกครั้ง
แต่ความกลัวหลายครั้งหลายคราที่มันไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย หรือที่เรียกว่าอาการ Phobia หรือ ‘โรคกลัว’ อาการของโรคนี้มีเป็นพันชนิดอย่าง โรคกลัวการนั่ง (Cathisophobia) โรคกลัวกระจก (Eisoptrophobia) โรคกลัวที่ว่าง (Kenophobia) หรืออาการกลัวความเป็นอื่น (Xenophobia) ที่ภัยของความกลัวอาจไม่ได้เป็นที่ประจักษ์แจ่มแจ้งนัก
ความกลัวแบบโฟเบียมีหลายเงื่อนไขโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในช่วงเวลาวัยเด็ก มีประสบการณ์ไม่ดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง และมีเหตุการณ์ต่างๆ หากมีสมการครบความกลัวจะทำงานโดยให้รู้สึกไม่สมเหตุสมผล ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ กับคุณ
หากคุณรู้สึกกลัวกับสิ่งใดที่ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย และต้องการเอาชนะมันโดยอยู่ในการดูแลของแพทย์ การเอาความกลัวของคุณไปสู่ที่โล่งแจ้งกับจิตแพทย์ ที่จะทำให้คุณก้าวข้ามความกลัวได้อย่างภาคภูมิ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- เครียดมากเหรอ ได้! คุยกับจิตแพทย์ปทานนท์ ขวัญสนิท และหลากเรื่องจิตๆ ในสังคมไทย
thematter.co/life/psychiatrist-interview/35271 - เรียนไม่ไหว กลัวทำวิจัยไม่ผ่าน : ชีวิตแสนกดดันของคนเรียนปริญญาโท-เอก
thematter.co/pulse/post-graduate-life-depression/50364 - คุณกระโจนหาความเครียดง่ายแค่ไหน? งานที่มีความเครียดสูงมีผลอย่างไรต่อตัวคุณ
thematter.co/byte/cortisol-stress-chemical-that-take-you-down/47516 - Phobias
www.mentalhealthamerica.net - Post-traumatic stress disorder (PTSD)
www.nhs.uk